ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยรุ่นอายุประมาณ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ 2.31% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.41% ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น รายงานการประชุมล่าสุดของเฟดที่ไม่ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนการคาดการณ์เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป, ประเด็นการเมืองในฝรั่งเศส และสัญญาณล่าสุดจากรัฐบาลสหรัฐที่ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไป ในขณะที่ตลาดเฝ้ารอการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 28 ก.พ. และสุนทรพจน์ของประธานเฟดในวันที่ 3 มี.ค.

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกรุ่นอายุประมาณ 30 ปี จำนวน 12,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน ส่วนตลาดรองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.01-0.05% ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นการซื้อสุทธิ โดยซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.66 พันล้านบาทและ 1.15 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ในกรอบ 1,581-1,561 จุด แม้ว่าข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2559 จะออกมาในทิศทางที่ค่อนข้างดี กล่าวคือการประกาศ GDP ของไทยสำหรับไตรมาสที่ 4 มีการเติบโตที่ 3% ทำให้โดยรวมทั้งปี GDP เพิ่มขึ้น 3.2% YoY และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาประมาณ 70% แล้วนั้น ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้ถือโอกาสขายในช่วงที่มีการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้นั้น (Sell on Fact) หลังจากที่หุ้นหลายตัวมีการปรับตัวขึ้นรับข่าวการประกาศผลประกอบการไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการที่นายกรัฐมนตรีใช้คำสั่ง ม.44 สั่งปลดคณะกรรมการและผู้ว่าการ รฟท. และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้ว่าการ รฟม.ใหม่ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามากำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และทำให้กระบวนการประกวดราคาประมูลก่อสร้างรถไฟรางคู่ 5 เส้นทางล่าช้าออกไป และอาจส่งผลกระทบให้การประมูลก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ล่าช้าออกไปด้วย ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างออกมา ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็น Net Buy เล็กน้อยที่ 329 ล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบยังคงแกว่งที่ $53-54 ต่อบาร์เรล และทำจุดสูงสุดในรอบ 19 เดือน จากการประชุม Technical Meeting ติดตามผลการลดกำลังการผลิต ซึ่งกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ทำได้ดีตามปริมาณที่ตกลง และเชื่อว่าจะสามารถลดกำลังการผลิตถึงจุดที่ตกลงกันไว้ได้ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่คอยสนับสนุนหุ้นกลุ่มพลังงานได้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,564.59 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.84%

มุมมองตลาดระยะสั้น ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้ ตลาดยังคนให้ความสนใจกับนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะมีการแถลงนโยบายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และการประชุม FOMC ที่จะมีในวันที่ 14-15 มีนาคม ซึ่งนักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate แม้ว่าตลาดคาดการณ์โอกาสปรับขึ้นเพียง 34% สำหรับการประชุมในครั้งนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (14 – 17 กุมภาพันธ์ 2560)

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้แถลงต่อสภาคองเกรส โดยแสดงมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และยืนยันถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้แต่ไม่ได้บอกช่วงเวลาที่ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการ FOMC จะประเมินดูการจ้างงานและเงินเฟ้อว่าปรับตัวสอดคล้องกับระดับการคาดการณ์เป็นครั้งไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ประกาศออกมาและส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี / จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด เป็นต้น ประกอบกับความเคลื่อนไหวในเชิงบวกจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปรับลดภาษีและลดกฏระเบียบในภาคอุตสาหกรรม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ แต่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (US Treasury Yield) ปรับตัวขึ้นมาจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกรุ่นอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งได้รับความสนใจมากจากนักลงทุน เนื่องจากอยู่ในช่วง Yield Curve ที่ชันมากและปริมาณที่มีน้อย อัตราผลตอบแทนโดยรวมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 139 ล้านบาทและ 4.83 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (14 – 17 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,586 – 1,561 จุด จากถ้อยแถลงของประธาน Fed ในช่วงต้นสัปดาห์ เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ US ที่สามารถฟื้นตัวได้ดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอในการขึ้นของดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ทำให้มีความผันผวนในตลาดหุ้นไทย และนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาดหุ้นไทยคือการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2559 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมา ซึ่งโดยภาพรวมจะเป็นไปตามคาดหรือดีกว่าคาด ในขณะที่กลุ่มพลังงานยังถูกกดันจากการที่ปริมาณ Rig Count ในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้น และ Inventory ของน้ำมันในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวที่ระดับ $52-53 ต่อบาร์เรลก็ตาม

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,577.84 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.47%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังคงมีการแกว่งตัวในระดับ 1,570-1,600 จุด โดยนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น และเชื่อว่าหากผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ SET Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป นักลงทุนควรให้ความสนใจกับประเด็นการเลือกตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่พรรค National Front ของ นาง Marine Le Pen ซึ่งมีนโยบายชาตินิยมและต้องการนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก Euro Zone กำลังได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับคะแนนความนิยมถึง 34% ตามหลัง นาย Emmanuel Macron เพียง 5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 กุมภาพันธ์ 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศในปีนี้ทั้งฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และอิตาลี รวมถึงกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดการซื้อพันธบัตรรายเดือนลงด้วย ทำให้ค่าเงินยูโรปรับตัวลงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ ส่วนตลาดสหรัฐฯ ได้รับปัจจัยหนุนจากเรื่องดังกล่าว ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่ออกมาดี เช่น ยอดผู้รับเงินชดเชยการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าที่คาดไว้, การขาดดุลการค้าเดือนธ.ค. ปรับลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะประกาศแผนภาษีครั้งใหญ่ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ

ทางด้านตลาดการเงินของไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่องและพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ส่วนการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดรอง อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 26.22 พันล้านบาท และ 1.98 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ แต่ยังไม่สามารถปรับตัวทะลุระดับ 1,600 จุดไปได้ โดยตลาดหุ้นไทยได้รับการสนับสนุนจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯเตรียมลงนามประกาศการปรับลดภาษี Corporate Tax ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า การที่ TOT เปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมเสนอตัวให้บริการไร้สายในคลื่นความถี่ 2,300 MHz และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของกลุ่ม INTUCH ที่ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ ที่ทำให้หุ้นกลุ่ม ICT ปรับตัวขึ้น ในขณะที่ผลการปรับน้ำหนักการคำนวน MSCI ไม่มีหุ้นที่ถูกเสนอเข้าและถอนออก มีการปรับน้ำหนักเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญต่อตลาด ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาเป็น Net Buy ที่ 1.5 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $53.86 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา +0.06% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,585.24 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว +0.14%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังคงมีการแกว่งตัวในระดับ 1,570-1,600 จุด โดยนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น และเชื่อว่าหากผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Set Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป นักลงทุนควรให้ความสนใจกับประเด็นการเลือกตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่พรรค National Front ของ นาง Marine Le Pen ซึ่งมีนโยบายชาตินิยมและต้องการนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก Euro Zone กำลังได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น และการดำเนินนโยบายบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นที่อาจเกิดความขัดแย้งทางสังคมหรือความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ

บลจ.ทาลิส จัดสัมมนา “มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนปีไก่ทอง”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส (กลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กระทรวงการคลัง ให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกับ คุณฉัตรพี ตันติเฉลิม (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด ในงานสัมมนา

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560 )

ผลการประชุมนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ -0.1% คงอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และมีมุมมองว่าเศรษฐกิจมีการพัฒนาที่ดีเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงหลักจากนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50-0.75% โดยได้แสดงมุมมองในด้านบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในระยะกลางใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% และเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับปานกลาง และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยและคงวงเงินซื้อพันธบัตรไว้เท่าเดิม มีกรรมการบางท่านกังวลถึงการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อบ้าง และยังมองความเสี่ยงหลักเป็น Downside Risk จาก Brexit

ความกังวลถึงความไม่แน่นอนจากผลของนโยบายใหม่จากประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น คำสั่งพิเศษเพื่อระงับการผ่านเข้าประเทศสหรัฐฯ ของพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเป็นเวลา 90 วัน / ห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 120 วัน / การประชุมกับตัวแทนระดับสูงของธนาคารในสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ภาคการเงิน เป็นต้น ทำให้นักลงทุนในตลาดต่างประเทศหันมาถือทองและพันธบัตร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงปรับตัวลงบ้างตามตลาดต่างประเทศ ยกเว้นในรุ่นอายุประมาณ 10 ปีที่มีการประมูลในวันพุธและอัตราผลตอบแทนที่รับสูงกว่าตลาดรอง ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งสัปดาห์ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 17.33 พันล้านบาทและ 6.55 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการแกว่งตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็เบาบางลง เนื่องจากเทศกาลวันหยุดตรุษจีนในหลายประเทศในเอเชีย ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวลงมาจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเซ็นคำสั่งประธานาธิบดีระงับการเข้าประเทศสหรัฐฯของพลเมือง 7 ประเทศมุสลิม ซึ่งทำให้มีความวิตกกังวลว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ในขณะที่การประชุม FOMC นั้น ที่ประชุม FOMC มีมติคงดอกเบี้ย Fed Fund Rate ไว้ที่ 0.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ปัจจัยที่ยังสนับสนุนตลาดอยู่ยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ยังปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดสิ้นสัปดาห์อยู่ที่ $53.83 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.4% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell 4 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,582.95 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.15%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังมีการแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการเก็งกำไรการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน และการซื้อหุ้นเพื่อรอรับเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2559 ในขณะที่ปัจจัยที่ต้องจับตามอง ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (23 – 27 มกราคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าของแผนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษซึ่งรัฐบาลประกาศจะชี้แจงรายละเอียดของแผน หลังจากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ทางด้านตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี ทรัมป์ เริ่มพูดถึงรายละเอียดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น อาจจะมีการผ่อนคลายกฎสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และสิทธิพิเศษทางภาษี ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในสัปดาห์นี้แย่กว่าที่คาด เช่น GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวที่ 1.9% ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 2.2%, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกมากกว่าค่าเฉลี่ย และยอดขายบ้านใหม่เดือนธ.ค. 59 ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อมาตรการของรัฐบาลที่จะเอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน และรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทใหญ่หลายแห่งออกมาดี ทำให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวขึ้น และส่งผลกระทบต่อตลาดเงินของประเทศอื่นให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันด้วย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ 0.02-0.12% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกในรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งถูกรับประมาณ 31 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 35 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.10% สำหรับตลาดรองตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 25 ล้านบาทและ 5.5 พันล้านบาทตามลำดับ