ภาวะตลาดหุ้นไทย 20 – 24 มีนาคม 2560

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนมีนาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประกาศยอดส่งออกลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ -2.8% โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากการส่งออกทองคำที่สูงกว่าปกติในปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมทองคำ ยอดส่งออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จะเติบโตขึ้น 8.5% โดยการเติบโตหลักมาจากกลุ่มสินค้ายางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับปัจจัยของต่างประเทศนั้น ในสหรัฐฯ มีประเด็นเรื่องสภาฯ มีการพิจารณายกเลิกกฎหมาย Obamacare โดยจะเปลี่ยนเป็นกฎหมาย American Healthcare ซึ่งตามกำหนดการจะมีการลงมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในช่วงกลางสัปดาห์ แต่เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของพรรครีพับลิกันเอง ทำให้ต้องเลื่อนการลงมติออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลถึงความเชื่อมั่นในนโยบายของประธานาธิปดีสหรัฐฯว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะสามารถทำให้สภาฯ เห็นชอบในนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ทั้งหมดหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี ทำให้มีการคาดการณ์ว่านักลงทุนอาจจะย้ายการลงทุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นแทน

ทิศทางของ Fund Flow ต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาเป็น Net Buy 4.3 พันล้านบาท หลังจากหมดความกังวลเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI แกว่งตัวอยู่ในระดับ $47 – 48 ต่อบาร์เรล จากความกังวลเรื่องการเพิ่มขึ้นของตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ 533 ล้านบาร์เรล โดยเพิ่มขึ้น 11% YTD หรือ 53 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์จะมีการประชุมร่วมกันของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ผ่าน Joint Ministerial Monitoring Committee เพื่อติดตามผลของการลดกำลังผลิต โดยคาดว่าผลของการประชุมนั้นจะเป็น Sentiment หลักของราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้า โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.97 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.66% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,573.51 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.80%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จาก Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนได้ โดยในสัปดาห์นี้ จะเริ่มมีการเจรจา Brexit ของอังกฤษและ EU และในปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13 – 17 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สามของเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยวันแรกของสัปดาห์ยังคงมีแรงขายอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน และทำให้ดัชนีปรับตัวลงไปที่ 1,535 จุด แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาหลัง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางสัปดาห์ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เป็น 0.75% – 1.00% และส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป Fed จะพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศว่ายังคงดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed คงปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ขึ้นอีกไม่เกิน 2 ครั้งและไม่รีบปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เดิมกังวลว่าอาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 3 ครั้ง และอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนั้น Dollar Index ก็เริ่มมีการอ่อนค่าลง โดยสิ้นสัปดาห์ Dollar Index อ่อนค่าลงกว่า 0.94% โดยปิดที่ 100.3 จุด และทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอีก โดยสิ้นสัปดาห์ ยูโรต่อดอลล่าร์ปิดที่ 1.07 แข็งค่าขึ้น 0.61% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลดีจากการที่หุ้น GL มีการดีดตัวขึ้นภายหลังถูก Force Sell ลงมาถึง 3 Floor และมีการชี้แจงข้อมูลเรื่องการปล่อยกู้ในต่างประเทศเพิ่มเติมจากผู้บริหาร ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่ม Leasing และหุ้นขนาดกลาง/เล็กปรับตัวขึ้นด้วย ในส่วนของ Fund Flow นั้น นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 4 พันล้านบาท ส่วนปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบเริ่มมีความผ่อนคลายลง เมื่อตัวเลข Stock น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลง 237,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่ม OPEC ลดการส่งน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ทำให้เป็นผลบวกต่อราคาน้ำมัน โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.42 ต่อบาร์เรล โดยปรับขึ้น 0.6% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,560.98 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หลังจากหมดข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนว่าจะมี Fund Flow ไหลออกจากตลาด Emerging Market ในระยะถัดไป ความสนใจของตลาดคงกลับมาที่การเลือกตั้งในยุโรป ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดพรรค Party for Freedom ที่จะนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรปมีคะแนนสูสีกับพรรคเสรีนิยม People’s Party for Freedom and Democracy ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน และจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเดือนปลายเมษายน

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สองของเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ จากปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่จะมีการประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของสมาชิกและประธาน FOMC ที่ให้ความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตดีพอที่จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ทำให้ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการขึ้นเป็น 100% และปรับเป้าการขึ้นดอกเบี้นจากเดิมที่เคยตั้งไว้ 2 ครั้งเป็น 3 ครั้งในปี 2560 นี้ ทำให้นักลงทุนมีลดการลงทุนในตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่ลง และส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 7 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศก็ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้น GL เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้ตรวจสอบบัญชีว่ามีการปล่อยกู้ให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์และไซปรัส โดยหลักประกันบางส่วนใช้หุ้น GL เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีการ Rollover เงินกู้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ และนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศของ GL และมีการขายหุ้น GL ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจาก 57 บาท เหลือ 25 บาท ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์

ภาวะตลาดหุ้นไทย (27 – 3 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม SET Index แกว่งตัวในช่วงแคบในกรอบ 1,573 – 1,555 จุด หลังจากผลประกอบการในไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนประกาศเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยภาพรวมแล้วในไตรมาสที่ 4 กำไรเติบโต 20% และในปี 2559 มีการเติบโตสูงถึง 37% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสภาคองเกรสในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ยังคงให้ภาพรวมที่จะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งการลงทุนด้านสาธารณูปโภค การลดภาษี และการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของพลเมืองอเมริกา แม้ว่าจะยังไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ทำให้มีแรงซื้อหุ้นเข้ามาในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การกล่าวสุนทรพจน์ของประธาน Fed หลายท่านในหลายวาระที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีการคาดการณ์ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ โดย Bloomberg Consensus ให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 94% ทำให้มีแรงขายกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิที่ 5.3 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI ยังแกว่งตัวในกรอบ $53-54 ต่อบาร์เรล แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะถูกกดดันโดยสต๊อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ แต่การลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาแกว่งอยู่เหนือ $50ต่อบาร์เรลได้ โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดที่ $53.33 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.22%

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.20 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.10%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลง จากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอาจจะเห็น Fund Flow ไหลออกจากภูมิภาค

ภาวะตลาดหุ้นไทย (20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ในกรอบ 1,581-1,561 จุด แม้ว่าข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2559 จะออกมาในทิศทางที่ค่อนข้างดี กล่าวคือการประกาศ GDP ของไทยสำหรับไตรมาสที่ 4 มีการเติบโตที่ 3% ทำให้โดยรวมทั้งปี GDP เพิ่มขึ้น 3.2% YoY และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาประมาณ 70% แล้วนั้น ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้ถือโอกาสขายในช่วงที่มีการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้นั้น (Sell on Fact) หลังจากที่หุ้นหลายตัวมีการปรับตัวขึ้นรับข่าวการประกาศผลประกอบการไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการที่นายกรัฐมนตรีใช้คำสั่ง ม.44 สั่งปลดคณะกรรมการและผู้ว่าการ รฟท. และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้ว่าการ รฟม.ใหม่ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามากำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และทำให้กระบวนการประกวดราคาประมูลก่อสร้างรถไฟรางคู่ 5 เส้นทางล่าช้าออกไป และอาจส่งผลกระทบให้การประมูลก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ล่าช้าออกไปด้วย ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างออกมา ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็น Net Buy เล็กน้อยที่ 329 ล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบยังคงแกว่งที่ $53-54 ต่อบาร์เรล และทำจุดสูงสุดในรอบ 19 เดือน จากการประชุม Technical Meeting ติดตามผลการลดกำลังการผลิต ซึ่งกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ทำได้ดีตามปริมาณที่ตกลง และเชื่อว่าจะสามารถลดกำลังการผลิตถึงจุดที่ตกลงกันไว้ได้ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่คอยสนับสนุนหุ้นกลุ่มพลังงานได้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,564.59 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.84%

มุมมองตลาดระยะสั้น ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้ ตลาดยังคนให้ความสนใจกับนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะมีการแถลงนโยบายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และการประชุม FOMC ที่จะมีในวันที่ 14-15 มีนาคม ซึ่งนักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate แม้ว่าตลาดคาดการณ์โอกาสปรับขึ้นเพียง 34% สำหรับการประชุมในครั้งนี้

ภาวะตลาดหุ้นไทย (14 – 17 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,586 – 1,561 จุด จากถ้อยแถลงของประธาน Fed ในช่วงต้นสัปดาห์ เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ US ที่สามารถฟื้นตัวได้ดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอในการขึ้นของดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ทำให้มีความผันผวนในตลาดหุ้นไทย และนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาดหุ้นไทยคือการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2559 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมา ซึ่งโดยภาพรวมจะเป็นไปตามคาดหรือดีกว่าคาด ในขณะที่กลุ่มพลังงานยังถูกกดันจากการที่ปริมาณ Rig Count ในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้น และ Inventory ของน้ำมันในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวที่ระดับ $52-53 ต่อบาร์เรลก็ตาม

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,577.84 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.47%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังคงมีการแกว่งตัวในระดับ 1,570-1,600 จุด โดยนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น และเชื่อว่าหากผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ SET Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป นักลงทุนควรให้ความสนใจกับประเด็นการเลือกตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่พรรค National Front ของ นาง Marine Le Pen ซึ่งมีนโยบายชาตินิยมและต้องการนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก Euro Zone กำลังได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับคะแนนความนิยมถึง 34% ตามหลัง นาย Emmanuel Macron เพียง 5%

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ แต่ยังไม่สามารถปรับตัวทะลุระดับ 1,600 จุดไปได้ โดยตลาดหุ้นไทยได้รับการสนับสนุนจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯเตรียมลงนามประกาศการปรับลดภาษี Corporate Tax ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า การที่ TOT เปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมเสนอตัวให้บริการไร้สายในคลื่นความถี่ 2,300 MHz และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของกลุ่ม INTUCH ที่ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ ที่ทำให้หุ้นกลุ่ม ICT ปรับตัวขึ้น ในขณะที่ผลการปรับน้ำหนักการคำนวน MSCI ไม่มีหุ้นที่ถูกเสนอเข้าและถอนออก มีการปรับน้ำหนักเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญต่อตลาด ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาเป็น Net Buy ที่ 1.5 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $53.86 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา +0.06% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,585.24 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว +0.14%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังคงมีการแกว่งตัวในระดับ 1,570-1,600 จุด โดยนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น และเชื่อว่าหากผลประกอบการออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Set Index ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป นักลงทุนควรให้ความสนใจกับประเด็นการเลือกตั้งที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 23 เมษายน และวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่พรรค National Front ของ นาง Marine Le Pen ซึ่งมีนโยบายชาตินิยมและต้องการนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก Euro Zone กำลังได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น และการดำเนินนโยบายบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นที่อาจเกิดความขัดแย้งทางสังคมหรือความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ SET Index มีการแกว่งตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็เบาบางลง เนื่องจากเทศกาลวันหยุดตรุษจีนในหลายประเทศในเอเชีย ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวลงมาจากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเซ็นคำสั่งประธานาธิบดีระงับการเข้าประเทศสหรัฐฯของพลเมือง 7 ประเทศมุสลิม ซึ่งทำให้มีความวิตกกังวลว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนมีการเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ในขณะที่การประชุม FOMC นั้น ที่ประชุม FOMC มีมติคงดอกเบี้ย Fed Fund Rate ไว้ที่ 0.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ปัจจัยที่ยังสนับสนุนตลาดอยู่ยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ยังปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดสิ้นสัปดาห์อยู่ที่ $53.83 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.4% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell 4 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,582.95 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.15%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าตลาดยังมีการแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการเก็งกำไรการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน และการซื้อหุ้นเพื่อรอรับเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2559 ในขณะที่ปัจจัยที่ต้องจับตามอง ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (23 – 27 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนมกราคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.78% ขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,600 จุดในช่วงกลางสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน โดยตัวแปรหลักยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ยังคงสามารถยืนได้เหนือ $50 ต่อบาร์เรล โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวที่ $52 – $53 ต่อบาร์เรล จากการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังคงต้องติดตามเกี่ยวกับ Stock น้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่องของสหรัฐฯที่อาจเป็นปัจจัยลบต่อตลาด ในส่วนของนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงมากขึ้น โดยประธานาธิบดีมีการลงนามการถอนตัวจาก TPP และให้สร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก เพื่อป้องกันแรงงานอพยพ ทั้งนี้ Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 500 ล้านบาท ผู้ซื้อหลักยังคงเป็นสถาบันในประเทศ

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,590.80 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.78%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น เริ่มเห็นทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากนโยบายการค้าของ Trump และจะมีการประชุม FOMC ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ทำให้เห็นต่างชาติเริ่มมีการชะลอการลงทุนอีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (16 – 20 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคม SET Index มีการแกว่งลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดยังคงมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยนักลงทุนมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นก่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยประธานาธิบดีคนใหม่มีการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชน ประเด็นหลัก ๆ ยังคงเป็นการสนับสนุนการจ้างงานในประเทศ การลดภาษีทั้งระบบ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกีดกันแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นนโนบายหลักตั้งแต่ตอนหาเสียง และจากการขายทำกำไรในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศมีการขายทำกำไรตามออกมาด้วย ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการขายของกองทุน LTF/RMF ที่ผู้ถือหน่วยไถ่ถอนเมื่อมีการลงทุนครบระยะเวลาเพื่อให้ได้สิทธิทางภาษี นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการผลประกอบการไตรมาส 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกำไรสุทธิเติบโตขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ในการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันเกี่ยวกับความคืบหน้าการลดกำลังการผลิตนั้น จากรายงานพบว่าบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันสามารถลดกำลังการผลิตได้แล้ว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเป้าหมายการลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $53.22 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.62% WoW ซึ่งช่วยให้หุ้นกลุ่มพลังงานฟื้นตัวขึ้นบ้าง

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,562.99 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.78%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จากปัจจัยการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ซึ่งเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ยังต้องติดตามการปฏิบัติตามนโยบายที่เคยหาเสียงของประธานาธิปดีสหรัฐฯในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง และความคืบหน้าของ Brexit ที่อังกฤษกำลังเริ่มกระบวนการ