ภาวะตลาดหุ้นไทย (31 กรกฏาคม – 4 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วง 1,576 – 1,581 จุด ตลาดหุ้นไทยแทบไม่ได้มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะไม่ค่อยดีนัก และรอดูท่าทีผลกระทบจากปัจจัยการเมืองในประเทศ จากกรณีที่จะมีการตัดสินคดีการเมืองหลายคดี

แม้ว่าตลาดหุ้นต่างประเทศจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่ FED มีแนวโน้มจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงระมัดระวังการลงทุน เนื่องจากเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเติบโตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YoY) รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนจะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลกลางปี ที่จะมีผลให้ราคาหุ้นหลัง XD ลดต่ำลงได้ ทั้งนี้ แรงขายหลักในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะอยู่ที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ไปก่อนหน้า และผลประกอบการยังไม่ดีนัก เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังไม่มีแนวโน้มลดลง และแรงขายในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่นักลงทุนกังวลว่าการแข่งขันจะรุนแรง เนื่องจาก ITD ชนะการประมูลรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ ด้วยราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 20% และการที่ PLE ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายเล็ก จับมือกับพันธมิตรต่างชาติ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ชนะการประมูลงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซทเทิ่ลไลท์) หลังที่ 1 ชั้น 2-4 ด้วยราคาต่ำกว่าราคากลางราว 12% รวมทั้งยังมีแรงขายในหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ ที่คาดว่าผลประกอบการจะไม่ดีจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าและราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้น โดยนักลงทุนย้ายการลงทุนไปยังกลุ่มการแพทย์ ที่ราคาหุ้นค่อนข้าง Underperform ในปีนี้ กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มพลังงานที่เกี่ยวกับราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น และกลุ่มขนส่ง ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูผลกระทบทางการเมืองจากการตัดสินคดีการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะการตัดสินคดีจำนำข้าวที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหา

ในด้านปัจจัยต่างประเทศ การที่ที่ประชุม FOMC ยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและไม่รีบปรับลด Balance sheet ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก และทำให้ค่าเงิน US$ อ่อนค่า

เงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า อยู่ที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 0.18% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $49.58 ต่อบาร์เรล อ่อนค่าลงเล็กน้อยหรือ 0.26% WoW ราคาน้ำมันดิบยังคงยืนอยู่ใกล้ระดับราคา $50 ต่อบาร์เรลได้ เนื่องจากความต้องการน้ำมันในช่วง Driving Season ค่อนข้างแข็งแกร่ง และปริมาณหัวเจาะ (Rig Count) ของสหรัฐฯ เริ่มคงที่

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net sell สุทธิถึง 13.32 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,578.26 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 2.8 จุด หรือ 0.18%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า Sentiment หลักในการกำหนดทิศทาง SET Index ยังคงเป็นการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน และผลกระทบทางการเมืองจากการตัดสินคดีจำนำข้าว

ภาวะตลาดหุ้นไทย (17 – 21 กรกฎาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวลงในกรอบแคบในช่วง 1,571 – 1,578 จุด เนื่องจากการชะลอการลงทุนเพื่อดูผลการประชุม ECB และ BOJ รวมทั้งการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2560 ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ แม้ว่า SET Index จะได้รับแรงสนับสนุนจากการซื้อจากกลุ่ม ICT และกลุ่มพลังงาน จากปัจจัยการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐเนื่องจากประกาศผลประกอบการที่ดีและราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แรงขายจากทั้งสถาบันในประเทศในหุ้นขนาดใหญ่อื่น ๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาไม่ค่อยจะดีนัก ทำให้ SET Index ยังคงแกว่งตัวในทิศทางขาลง

ในด้านปัจจัยต่างประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐยังเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่สามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้รับแรงสนับสนุนเล็กน้อยจากผลการประชุม ECB และ BOJ ที่ยังคงต่ำเน้นนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องต่อไป

ในด้านปัจจัยในประเทศ การประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ยกเว้น KTB ที่มีการตั้งสำรองหนี้เสียจากการปล่อยกู้ EARTH ทั้งจำนวน และ KBANK ที่ยังเพิ่มการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีแรงขายทำกำไรหุ้นธนาคารพาณิชย์ออกมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่าปัญหาหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์น่าจะเริ่มบรรเทาลงในครึ่งหลังของปี 2560 ตามการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีแรงขายไม่มากนัก

เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง อยู่ที่ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า ซึ่งในสัปดาห์นี้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 26 เดือนเนื่องจากดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่น ๆ จากแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $45.77 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.76% WoW เนื่องจากนักลงทุนมีการปรับสถานะการถือครองสัญญาซื้อขายล่วงหน้าราคาน้ำมัน เพื่อรอดูท่าทีการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้ง OPEC และ Non-OPEC ที่จะประชุมร่วมกันในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ที่อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการควบคุมการผลิตน้ำมัน รวมถึงการชะลอตัวของการผลิตน้ำมันจากสหรัฐเนื่องจากเปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันเพียง 1 แท่น ประกอบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีน

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก โดยในสัปดาห์นี้มีการซื้อสุทธิ 3.24 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,573.51 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4.07 จุด หรือ 0.27%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะยังคงแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอดูการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2560 ของบริษัทจดทะเบียน หลังจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมายังไม่ดีนัก

ภาวะตลาดหุ้นไทย (11 – 14 กรกฎาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ยังคงแกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,575 – 1,582 จุด โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ จากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีเกินคาดของ TISCO และ DTAC ที่ได้ส่งผลให้มีการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม ICT รวมถึงมีแรงซื้อกลับเข้ามาในกลุ่มพลังงานจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น แม้ว่าจะมีแรงขายในหุ้นกลุ่มพาณิชย์และกลุ่มอาหารที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 2 จะออกมาไม่ดีนักก็ตาม ทั้งนี้ SET Index ได้ปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่ม ICT หลังจากมีการซื้อเก็งกำไรเรื่องผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ในช่วงต้นสัปดาห์

ในด้านปัจจัยต่างประเทศ ตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ที่ออกมาน่าผิดหวัง เมื่อประกอบกับที่นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ให้ถ้อยแถลงแก่คณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และติดตามอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทำให้ตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีการส่งสัญญาณจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศ Emerging Market มากขึ้น ขณะที่จีนได้มีการรายงานตัวเลขยอดนำเข้าและส่งออกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 17.2% และ 11.3% ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตัวเลขส่งออกไทยที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง

ในด้านปัจจัยในประเทศที่สำคัญ คือ การประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยต่อหุ้นเป็นรายตัว

เงินบาทแข็งค่าขึ้นหลังจากการประกาศท่าทีของ FED ที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $46.54 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4.82% WoW เนื่องจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ และได้มีการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 10 เดือน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังดีดตัวขึ้นหลังจากบริษัทเชลล์ได้ประกาศภาวะสุดวิสัยสำหรับการส่งออกน้ำมันดิบบอนนี ไลท์ของไนจีเรีย เนื่องจากมีการปิดท่อส่งน้ำมัน 1 ใน 2 ท่อในประเทศ

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก โดยในสัปดาห์นี้มีการซื้อสุทธิ 3.40 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,577.79 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 8.35 จุด หรือ 0.53%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงแกว่งตัว Side Way โดยนักลงทุนยังคงติดตามการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยประกาศออกมา

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3 กรกฎาคม – 7 กรกฎาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,565 – 1,571 จุด โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ จากแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารที่มีการคาดการณ์ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 จะยังคงเติบโตไม่มากนัก รวมถึงแรงกดดันจากประเด็นเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชน (UNSC) เตรียมหามาตรการตอบโต้ ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

ในด้านปัจจัยในประเทศ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง และมีการปรับคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จาก 3.4% มาอยู่ที่ 3.5% แรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้าและขยายตัวดีในการส่งออกไปในแต่ละภูมิภาค และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าอัตราการเติบโตจะชะลอตัวบ้าง หลังจากเร่งตัวขึ้นไปมากในปีที่ผ่านมา

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย อยู่ที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $44.40 ต่อบาร์เรล ลดลง 3.56% WoW จากความกังวลของอุปทานน้ำมันส่วนเกินที่ยังคงเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน และความร่วมมือในกลุ่มประเทศ OPEC ที่จะลดกำลังการผลิตอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก โดยในสัปดาห์นี้มีการซื้อสุทธิ 1.97 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,569.44 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5.3 จุด หรือ 0.34%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะยังมีการแกว่งตัวช่วงแคบหรืออ่อนตัวลง โดยมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และนักลงทุนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเติบโตลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2559 เนื่องจากฐานที่สูงในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 จากการที่ภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการและราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วงปรับตัวขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทย (26 มิถุนายน – 30 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ โดยลดลง 0.48% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการที่นักลงทุนมีการขายหุ้นทำกำไรระยะสั้น จากที่เข้าซื้อมาก่อนหน้านี้เพื่อเก็งกำไรจากการทำ Window Dressing และการปรับหุ้นเข้า SET50 ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานที่คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่จะออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลง อย่าไรก็ตาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของไทยโดยรวมยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ทำให้สภาพัฒน์ฯมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ครึ่งปีหลังขยายตัวถึง 5% โดยได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนภาครัฐและภาคการส่งออกที่เติบโตดี

ปัจจัยต่างประเทศ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น หลังจากการรายงานตัวเลขทางเศรฐกิจออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐฯไตรมาส 1 ที่ 1.4% สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.2%

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นสวนทางกับ SET Index อยู่เหนือระดับ $45 ต่อบาร์เรล หลังจากการรายงานตัวเลขของ Department of Energy (US) ที่มีการปรับลดกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมองเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น ส่วนในระยะยาวราคาน้ำมันดิบยังคงน่ากังวล สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $46.04 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่ม 7.04% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็น Net buy ที่ 4.9 พันล้านบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,574.74 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.62 จุด หรือ -0.48%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 2 ในปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วงการปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 จะเริ่มจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะเริ่มทยอยประกาศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

ภาวะตลาดหุ้นไทย (19 มิถุนายน – 23 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 0.37% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดหุ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน โดยขยายตัวถึง 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำให้ 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวถึง 7.2% นำโดยกลุ่มสินค้าเกษตร ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางพารา และอิเล็คทรอนิกส์ และในช่วงกลางสัปดาห์ รัฐบาลร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดงาน Thailand Big Strategic Move ซึ่งในงานนี้ รัฐบาลได้เรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท และตั้งเป้า GDP เติบโต 3.5%

ปัจจัยต่างประเทศ ช่วงกลางสัปดาห์มีการประกาศนำหุ้นจีน A-Share เข้าคำนวณใน MSCI EM Index ในระดับ 0.37% และจะเริ่มใช้ในปี 2561 ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อ Fund Flow ของ Emerging Market ที่จะไหลเข้าจีน เหมือนที่นักลงทุนกังวลก่อนหน้านี้

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมายังถูกแรงกดดันจากที่นักลงทุนกังวลต่อสภาวะน้ำมันล้นตลาด จากข้อมูลของ EIA ที่จำนวน Rig Count ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรายงานการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศลิเบียและไนจีเรีย ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $43.01 ต่อบาร์เรล

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นขายสุทธิที่ 1.2 พันล้านบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,582.36 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5.78 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ จากการที่นักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากกลุ่มพลังงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลง เข้าหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดี

ภาวะตลาดหุ้นไทย (12 มิถุนายน – 16 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การที่รัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ทั้ง รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รวมถึงการเสนอให้ คสช. ใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะส่งผลดีต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และการที่จะมีการใช้ ม.44 ช่วยแก้ปัญหาการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ สปก. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมเดินหน้าเก็บภาษีนํ้าหวาน คาดเริ่มต้นประกาศ 16 ก.ย. 60 นี้ และเริ่มเก็บจริงในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานได้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุมของ Fed มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ตามที่ตลาดคาดการณ์ และมีการพิจารณาประเด็นการปรับลดขนาดของ Balance sheet ลง ซึ่งจะเริ่มในปีนี้ โดยเริ่มจากลดการถือครองพันธบัตรที่ $6 พันล้าน/เดือน และจะเพิ่มอีก $6 พันล้าน ในทุก ๆ 3 เดือน จนยอดลดการถือครองปรับตัวขึ้นสู่ระดับ $30พันล้าน/เดือน รวมถึงการปรับลด MBS จำนวน $4 พันล้าน/เดือน และจะเพิ่มครั้งละ $4 พันล้านในทุก ๆ 3 เดือนเช่นกัน จนถึงระดับ $20 พันล้าน/เดือน จนกว่า Balance sheet ของ Fed ลดลงสู่ระดับ 2.0-2.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และจากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจต่อการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $44.47 ต่อบาร์เรล ลดลง 2.38% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 2.3พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,576.58 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.93 จุด หรือ 0.63%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูง หรือที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การลงทุนภาครัฐ หรือภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมจัดงาน “Thailand Big Strategic Move” ในช่วงวันที่ 22-23 มิถุนายน 60 เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าหุ้นไทย หลังจากข้อมูล YTD ของ Fund Flow นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 9 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (5 – 9 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวในกรอบแคบ 1,562 – 1,573 จุด โดยสิ้นสัปดาห์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเพียง 0.06% จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ปรับลงอย่างต่อเนื่อง จากที่ Department of Energy ของสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นสวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง รวมทั้งกำลังการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $45.83 ต่อบาร์เรล ลดลง 3.84% WoW และความเสี่ยงทางการเมืองในอังกฤษ จากผลการเลือกตั้งที่อังกฤษอาจไม่เป็นไปตามคาด โดยพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ทำให้อาจจะเห็นกระบวนการ Brexit มีความยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นการคว่ำบาตรประเทศกาตาร์ของกลุ่มประเทศอาหรับนั้นยังไม่ส่งผลกระทบกับตลาดในระยะสั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตาม เนื่องจากเป็นประเทศเงินทุนใหญ่ของตลาดหุ้นโลก

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากการที่คณะรัฐมนตรีทยอยอนุมัติโครงการการลงทุนด้านคมนาคมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นก็ได้รับแรงกดดันจากประเด็นปัญหาการใช้พื้นที่ สปก.ของผู้ผลิตปิโตรเลียม ที่ส่งผลกระทบต่อหุ้น PTTEP และหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางราย รวมทั้งความกังวลต่อหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ที่มีความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการที่ EARTH ผิดนัดชำระหนี้

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นลบ โดยในสัปดาห์นี้มีการขายสุทธิ 1.3 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.65 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.95 จุด หรือ 0.06%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะยังมีการแกว่งตัวช่วงแคบ โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มสถาบันการเงินยังคงเป็นกลุ่มที่กดดันตลาดหุ้น ในขณะที่แรงซื้อจะกระจายไปในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเติบโตดี ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมของ FOMC โดยตลาดให้น้ำหนักกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นักลงทุนจะให้ความสนใจกับถ้อยแถลงเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปและนโยบายการปรับลด Balance Sheet ของ Fed

ภาวะตลาดหุ้นไทย (29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index มีความผันผวนมากขึ้น จากการปรับ Portfolio การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงสิ้นเดือนตามการปรับน้ำหนักของดัชนี MSCI ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลงแรงในวันทำการสุดท้ายของเดือน ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเริ่มเดือนใหม่ นำโดยแรงซื้อในหุ้น AOT ที่มีแนวโน้มเติบโตดีจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประชุม ครม. ที่มีการอนุมัติการจัดตั้ง Thailand Future Fund ที่คาดว่าจะเสนอขายนักลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ และการอนุมัติการเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 16 มิ.ย.

ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังผลิตของน้ำมันของสหรัฐฯ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.95 ต่อบาร์เรล ปรับลดลง 4.30% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวก มีการซื้อสุทธิที่ 4.9 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,567.60 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.67 จุด หรือ 0.11%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบ นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดีเป็นตัว ๆ มากขึ้น ในขณะที่ในสัปดาห์นี้มีปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามหลายประเด็น เช่น การเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ ที่จะส่งผลต่อความคืบหน้าและความรวดเร็วของกระบวนการ Brexit การประชุม ECB ที่อาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการผ่อนคลายทางการเงิน และการให้ข้อมูลประเด็นทรัมป์-รัสเวียของอดีต ผอ.FBI ต่อที่ประชุมวุฒิสภาของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (22 – 26 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ปิดที่ 1,569.27 จุด โดยได้รับผลบวกจาก Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการ Rebalance Portfolio ของนักลงทุนในประเทศหลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย เติบโต 8.5% YoY โดยสินค้าหลักยังคงมาจากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นและความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และการประชุมของ กนง. ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้น ผลการประชุมของ Fed มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป ทำให้ Bloomberg Consensus ปรับขึ้นความน่าจะเป็นกลับมาอยู่ในระดับ 100% จากที่เคยลดลงในระดับ 85% จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเด็นที่ FBI เข้าตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับรัสเซีย ในกรณีที่มีข่าวว่ารัสเซียช่วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี นอกจากนี้ Fed ยังได้หารือเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลของ Fed จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ $4.5 ล้านล้าน ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบจากการวางระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏฯและการก่อการร้ายในอีกหลายประเทศ

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากการประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่มีมติขยายการลดกำลังการผลิตต่อไปอีก 9 เดือน ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ทำให้มีการขายทำกำไรจากที่เคยเข้ามาเก็งกำไรก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI จึงปรับตัวลงไปต่ำกว่า $50 ต่อบาร์เรลอีกครั้ง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.80 ต่อบาร์เรลปรับลดลง 1.05% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวก มีการซื้อสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,569.27 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19.63 จุด หรือ 1.27%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดีเป็นตัว ๆ มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจการเลือกตั้งในอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน หลังจากผลสำรวจที่ล่าสุด พรรค Conservative ของนาง Theresa May ได้รับความนิยมลดลง ซึ่งสวนทางกับความนิยมของพรรค Labour ของนาย Jeremy Corbyn ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของ Bloomberg Online Poll Tracker พรรค Conservative ยังมีคะแนนความนิยมนำห่างพรรค Labour 44% ต่อ 36%