ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2561

ในเดือนกุมภาพันธ์ SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย (+0.18% MoM) จากสิ้นเดือนมกราคม 2561 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามการปรับฐานของดัชนีหุ้นทั่วโลก จากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าที่คาดของธนาคารสหรัฐฯ

โดยภาพรวมตลาดในเดือนกุมภาพันธ์มีความผันผวนในช่วงต้นเดือนสูง จากมุมมองเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสัญญาณเร่งขึ้น เนื่องจากการบริโภคและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และแรงผลักดันของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไต่ระดับขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 ทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ย FED Fund Rate ที่มากกว่าตลาดคาดไว้เดิมที่ 3 ครั้ง เป็น 3-4 ครั้งในปี 2018 นักลงทุนจึงลดความเสี่ยงในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯระยะ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 2.71% สู่ 2.96% จึงเกิดการขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ S&P500 ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุดราว -10% และทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงตามสู่ระดับ 1,758 จุด แต่จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดีในปี 2561 ทำให้การปรับตัวลงของตลาดหุ้นเป็นการปรับตัวลงในระยะสั้นเท่านั้น

พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกรง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แม้ว่า GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ของไทยเติบโต 0.5% QoQ และ 4.0% YoY ซึ่งต่ำกว่าคาดเล็กน้อย เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนภาครัฐฯและการเพิ่มขึ้นของการนำเข้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังเติบโตได้ 3.9% ซึ่งเป็นไปตามคาดและเป็นระดับการเติบโตที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2555 เงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.7% และส่งออกขยายตัวได้ดีที่ระดับ 9.7% สำหรับปี 2561 สภาพัฒน์ฯคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.6% – 4.6% โดยคาดการเติบโตของการส่งออกที่ 6.8% การบริโภคภาคเอกชนที่ 3.2% และการลงทุนรวมที่ 5.5% ล่าสุดตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนมกราคมเติบโต 17.6% YoY สูงสุดในรอบ 62 เดือน ในภาพรวม การส่งออกที่กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง การลงทุนภาครัฐฯที่จะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการ EEC ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนตลาดหุ้น โดยล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือกฎหมาย EEC ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 PTT ได้ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปี 2560 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์รวมถึงได้ประกาศแตกพาร์ โดยตั้งแต่สิ้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์จนถึงสิ้นเดือน ราคาหุ้น PTT ได้ปรับตัวขึ้นเกือบ 16% และเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน SET Index โดยรวมให้ปรับตัวขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 SET Index ปิดที่ 1,830.13 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.18% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค +5.1%, กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +4.1% และกลุ่มพาณิชย์ +3.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -13.4%, กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -8.4% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม -6.8% ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,382 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 834 ล้านบาท

บลจ.ทาลิส ยังคาดว่าในปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

ในด้านของความเสี่ยงนั้น การแข็งค่าของค่าเงินบาท การปรับตัวขึ้นของ bond yield และการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ต้องจับตามอง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2561

ในเดือนมกราคม SET Index มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2560 และสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตดีพร้อม ๆ กันทั่วโลก และมีการปรับประมาณการการเติบโตในปี 2561 และ 2562 ขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นที่ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน

SET Index ในเดือนมกราคมมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2560 และสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ได้ที่ระดับ 1,838.96 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการที่เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กันทุกภูมิภาคนี้ จะส่งผลดีต่อภาคการค้าการลงทุนด้วย นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาวะอากาศหนาว รวมทั้งการคาดการณ์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วย และทำให้น้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ มีการลดลงอย่างมากในปี 2560 แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการผลิตน้ำมัน Shale Oil เพิ่มขึ้นมากก็ตาม ซึ่งการที่ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนนี้ ส่งผลดีต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงานอย่างมาก ทั้งจากการคาดการณ์ผลประกอบการที่ดีขึ้นและการปรับมูลค่าหุ้นให้สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเลย ทั้งการที่คะแนนความนิยมของรัฐบาลลดลงและแนวโน้มที่การเลือกตั้งจะมีการเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2562 เมื่อ สนช. มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 2 ให้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,826.86 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.2% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี +10.4% กลุ่มพลังงาน +9.9% และกลุ่มเงินทุนฯ +8.7% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว -6.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -4.7% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -1.3% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 5,699 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 5,430 ล้านบาท

บลจ.ทาลิส ยังคาดว่าในปี 2561 นี้ ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ตลาดอาจจะมีความผันผวนบ้าง เนื่องจากตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก จากการคาดการณ์ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการเติบโตดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน Bitcoin เริ่มมีการปรับตัวลงแรงจากมาตรการควบคุมการซื้อขายเงิน Cryptocurrency ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ซึ่งหากตลาดใดเกิดความผันผวนสูง ก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบถึงกันได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2560

ในเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน จนสามารถปิดที่จุดสูงสุดของปีที่ 1,753.71 จุด ต่ำกว่าจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์เพียง 0.02 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นที่ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน การออกกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯที่ช่วยสนับสนุน Sentiment การลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการซื้อกองทุน LTF/RMF ในช่วงสิ้นปี

SET Index ในเดือนธันวาคมมีการแกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน จนสามารถปิดที่จุดสูงสุดของปีที่ 1,753.71 จุด ต่ำกว่าจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์เพียง 0.02 จุด (SET Index ปิดสูงสุดที่ 1,753.73 จุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2537) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตดีขึ้น และคาดว่า Momentum จะต่อเนื่องไปในปี 2561 ด้วย ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กันทุกภูมิภาคนี้ จะส่งผลดีต่อภาคการค้าการลงทุนด้วย และทำให้นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น และในช่วงสิ้นปี รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันโครงการลงทุนพื้นฐานออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวในหัวเมืองรอง 55 จังหวัด การออกมาตรการช่วยเหลือคนที่มีกำลังซื้อต่ำ ซึ่งรวมถึงกำลังพิจารณาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 2 สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี การลงนามสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง การอนุมัติการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทยจีนระยะแรก จากกลางดงถึงปางอโศก เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ในช่วงสิ้นปี และทำให้ในเดือนธันวาคมนี้ สถาบันในประเทศมีการซื้อสุทธิสูงถึง 30,295 ล้านบาท

ปัจจัยภายนอกก็ส่วนสนับสนุนตลาดหุ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป หลังจากที่รอคอยมาตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี ซึ่งการปฏิรูปภาษีนี้คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2561 ได้มาก และส่งผลดีต่อ Sentiment การลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่การประชุม FOMC ในเดือนธันวาคม Fed มีการปรับขึ้น Fed Fund Rate ตามคาด นอกจากนี้ การที่ OPEC มีมติให้ขยายมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปถึงสิ้น 2561 และการที่ท่อส่งน้ำมันดิบในลิเบียระเบิดและส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในลิเบีย รวมถึงการที่น้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ $60/บาร์เรลได้ ส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี โดยคาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 4 และปี 2561 จะออกมาดีด้วย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2560 SET Index ปิดที่ 1,753.71 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.3% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงาน +7.4% กลุ่ม ICT +6.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +6.6% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ -7.6% กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -4.0% และกลุ่มการแพทย์ -3.4% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 8,957 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิถึง 30,295 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2560 นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 25,755 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิสูงถึง 103,632 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มตลาดในปี 2561 บลจ.ทาลิส ยังคาดว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น และหากมีการประกาศกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปว่าจะมีขึ้นภายในต้นปี 2562 ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

ในขณะที่ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยในปี 2561 ได้แก่ หากอัตราเงินเฟ้อมีการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาด ในขณะที่ Fed มีการปรับขึ้น Fed Fund Rate ต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่ ธปท.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ การเข้าจดทะเบียนของ Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคาดว่าจะมีการ IPO หุ้นประมาณ 5% แต่มีมูลค่าสูงถึง $100,000 ล้าน จะทำให้นักลงทุนสถาบันทั่วโลกต้องมีการปรับ Portfolio การลงทุน เพื่อรองรับการเข้าลงทุนใน Aramco และความเสี่ยงเกี่ยวกับ Bitcoin ที่หากฟองสบู่ Bitcoin แตก อาจจะส่งผลให้นักลงทุนมีการขายสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ถืออยู่ เพื่อไปชดเชยการขาดทุนจากการลงทุนใน Bitcoin ได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2560

ในเดือนพฤศจิกายน SET Index มีการแกว่งตัวช่วงแคบระหว่าง 1,687-1,714 จุดตลอดทั้งเดือน เนื่องจากการขายทำกำไรหลังจาก SET Index ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากและรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และนักลงทุนในประเทศมีการขายหุ้นบางส่วนเพื่อไปจองซื้อหุ้น IPO นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ปิดบัญชีสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับประมาณการตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการคาดหวังภาวะเศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้นในปี 2561

การแกว่งตัวของ SET Index ระหว่าง 1,687-1,714 จุด สืบเนื่องมาจาก SET Index ที่มีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากและรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,720 จุด ก็มีแรงขายทำกำไรออกมาค่อนข้างมาก ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาด ได้แก่ การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด คือทรงตัวจากไตรมาสที่ 3/2559 และลดลง 3% จากไตรมาสที่ 2/2560 อย่างไรก็ตาม การที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าคาดนี้ ประเด็นสำคัญมาจากการตั้ง Impartment แหล่ง Oil Sand ในแคนาดาของ PTTEP จำนวนกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิของ PTT ลดลงประมาณ 12,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งหากไม่นับรายการดังกล่าว ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 จะเติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของไตรมาสที่ 3/2559 และเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของไตรมาสที่ 2/2560 และทำให้กำไรสุทธิช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 มีการเติบโต 10% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ นักลงทุนในประเทศยังมีการขายหุ้นออกมาบางส่วนเพื่อรอการซื้อหุ้น IPO ของ GULF ที่คาดว่าเมื่อเข้าตลาดฯ จะมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1 แสนล้านบาท (ประมาณ 0.6% ของตลาดฯ) ซึ่งถือว่าเป็นหุ้น IPO ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทยในรอบหลายปี ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติได้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชีย เพราะเป็นช่วงใกล้ปิดบัญชีสิ้นปีและเข้าสู่ช่วงการพักผ่อนในเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งการย้ายเงินลงทุนบางส่วนกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ เนื่องจากคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมื่อมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะสามารถประกาศใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ กลุ่ม ICT มีการปรับตัวลงค่อนข้างมาก จากการที่ กสทช. ยังไม่อนุมัติให้ ทศท. ทำสัญญาการให้บริการข้ามโครงข่าย (Roaming) กับ DTAC บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ในการให้บริการการสื่อสารไร้สายได้ ทำให้มีความกังวลว่าการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ในปี 2561 จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก DTAC จะต้องประมูลคลื่นความถี่ให้ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตมีการกระจายไปในหลายภาคส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งทำให้หลายหน่วยงานมีการปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2561 ขึ้น รวมทั้งได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดปี 2561 เป็นต้น รวมทั้งการที่กระทรวงการคลังและ ธปท.มีการคาดการณ์ว่าไม่น่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปี 2561 เพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จากมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีการปรับประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2560 ลง เพื่อสะท้อนผลประกอบการช่วง 9 เดือนที่ประกาศออกมา แต่ยังคงประมาณการผลประกอบการปี 2561 ทำให้มีการคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 จะเติบโตถึง 12-13% จึงยังมีนักลงทุนทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ SET Index แกว่งตัวอยู่ในช่วง 1,700+/- จุด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 SET Index ปิดที่ 1,697.39 จุด ปรับตัวลดลงจาก 1,721.37 จุด เดือนก่อนหน้า 1.4% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว +10.4% กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +3.4% และกลุ่มขนส่ง +2.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -10.4% กลุ่ม ICT -8.6% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ -7.9% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิค่อนข้างมากถึง 19,163 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศยังเป็นผู้ซื้อสุทธิ 5,291 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มตลาดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ยังคาดว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนเพื่อการพักผ่อนระยะยาว ในขณะที่ยังมีแรงซื้อจากกองทุน LTF/RMF ที่จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไม่มากนัก แต่ในระยะยาว ยังคาดว่าตลาดหุ้นจะยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ ตามการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ภาวะตลาดหุ้นไทย (20 – 24 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนพฤศจิกายน SET Index มีการปรับตัวลง นักลงทุนมีการขายทำกำไรมากขึ้นเมื่อเห็นว่า SET Index ไม่สามารถปรับตัวผ่านระดับ 1,720 จุดไปได้ แรงขายมีการกระจายตัวในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ตั้งแต่ต้นปีมีการปรับตัวขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 3 นี้ จะออกมาดีกว่าคาดการณ์ คือเติบโตถึง 4.3% ซึ่งสูงกว่าที่ Bloomberg Consensus ประมาณไว้ในระดับ 3.9% โดยแรงสนับสนุนหลักยังคงมาจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนรอการประกาศตัวเลขการเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่จะออกภายในวันที่ 29 พ.ย. โดยตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.3% และคาดว่าวุฒิสภาสหรัฐฯจะมีการลงมติเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 32.67 บาทต่อดอลล่าร์ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ 0.55%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็น Net Sell ที่ 480 ล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,695.84 จุด ปรับตัวลดลง 13.54 จุด หรือ 0.79% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ และปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี จากการรายงานตัวเลขของ EIA สต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ และการปิดท่อส่งน้ำมันที่เกิดการรั่วไหลจากแคนาดามายังสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยสนันสนุนจากการคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC จะยังมีมติให้คงมาตรการลดกำลังการผลิตต่อเนื่องในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $58.95 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขื้น 4.24% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น คาดว่าตลาดจะยังคงแกว่งตัวช่วงแคบอีกระยะหนึ่ง จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนในช่วงสิ้นปี และการที่นักลงทุนต้องการถือเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อรอการลงทุนในหุ้น IPO ในช่วงสิ้นปี อย่างไรก็ตาม แรงซื้อของกองทุน LTF-RMF ที่ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี และตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น น่าจะทำให้ความเสี่ยงที่ SET Index ปรับตัวลงแรงลดลง และยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในระยะยาว

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13 – 17 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สามของเดือนพฤศจิกายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยแรงซื้อหลักยังคงมาจากสถาบันภายในประเทศ หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวขึ้นสูงในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มพาณิชย์นั้นมาจากการประการผลประกอบการที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ฯ คาดการณ์ ในขณะที่การประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ที่ออกมานั้น กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1% YoY อย่างไรก็ตาม หากหักรายการพิเศษจาก PTT และ PTTEP ออกนั้นจะเห็นการเติบโตที่ 17% YoY ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ในช่วงกลางสัปดาห์ สภาผู้แทนฯสหรัฐฯ อนุมัติผ่านร่างกฎหมายภาษีใหม่ด้วยคะแนน 227 ต่อ 205 เป็นการปรับลดเงินได้ภาษีนิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ 35% ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการกังวลว่าร่างฯดังกล่าวจะไม่ผ่านการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ร่างฯ ดังกล่าวยังต้องรอการพิจารณาจากวุฒิสภาว่าจะมีแก้ไขหรือไม่

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 32.85 บาทต่อดอลล่าร์ บาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ 0.79%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็น Net Sell ที่ 6 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,709.28 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.10 จุด หรือ 1.19% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง จากการที่รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของ EIA ที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนยังคงมาจากการคาดการณ์ว่าซาอุฯ จะยังคงลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $56.55 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 0.33% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น หลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 เสร็จสิ้นไปแล้ว คาดว่า SET Index จะมีการแกว่งตัวในกรอบแคบ เพื่อรอปัจจัยใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ยังเชื่อว่า SET Index ยังมีโอกาสแกว่งตัวขึ้นได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง และสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังมีอยู่สูงในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำมาก

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สองของเดือนพฤศจิกายน SET Index ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปรับตัวลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์จากแรงขายของหุ้นในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง หลังการประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน เป็นการ Sell on Fact จากการเก็งกำไรหุ้นที่ประกาศผลประกอบการออกมาดีตามคาดและหุ้นที่ประกาศผลประกอบการออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม จากที่ ครม. เห็นชอบมาตรการช้อปช่วยชาตินำค่าใช้จ่ายมาช่วยหักภาษีได้ในวงเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทำให้มีแรงซื้อหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นาย แพทริค ฮาร์เกอร์ หนึ่งในคณะกรรมการ FOMC ยอมรับในการสนับสนุนการปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือนหน้า ถึงแม้มีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธาน FED สาขาคลีฟแลนด์ ยังเห็นพ้องไปในทางเดียวกันในการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นในการปรับดอกบี้ยขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

เงินบาทคงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 33.11 บาทต่อดอลล่าร์

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็น Net Sell ที่ 3.93 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,689.28 จุด ปรับตัวลดลง 12.19 จุด หรือ 0.72% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากนโยบายการพยุงราคาน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบีย และผู้นำอื่น ๆ ในกลุ่ม OPEC ที่ร่วมมือในการลดกำลังการผลิตลง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $56.74 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.00% จากสัปดาห์ก่อนนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น แต่ในภาพรวม เรายังคงคาดว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีการกระจายตัวในหลายภาคส่วนมากขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทย (30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน SET Index ปรับตัวลดลง 14 จุด หรือคิดเป็น 0.85% โดยนักลงทุนเริ่มมีการขายทำกำไรเมื่อ SET Index ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,730 จุดได้ ประกอบกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์ที่ผ่านมาของหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมีการขายทำกำไรในหุ้นกลุ่ม ICT ออกมามาก และทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวลงแรงและฉุดให้ SET Index ปรับตัวลง เนื่องจาก กสทช. ได้ประกาศกำหนดแผนการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาในวันที่ 15 ก.ย 2561 โดยกำหนดราคาประมูลที่ขั้นต่ำ 3.7 หมื่นล้านบาท และจะประมูลด้วยระบบ N-1 รวมทั้งการอนุญาตให้ JAS เข้าร่วมประมูลได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้นักลงทุนคาดว่าราคาคลื่นใหม่จะค่อนข้างแพงและเป็นภาระกับผู้ประมูลได้มากกว่าที่เคยประมาณการไว้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ประธานาธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอชื่อนาย เจอโรม พาวเวล เป็นประธาน FED คนใหม่ ซึ่งต่างกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ นาย เจอโรม มีแนวคิดคล้ายนาง เจเนต เยเลน ประธาน FED คนปัจจุบัน ทำให้คาดว่าการปรับดอกเบี้ยในสหรัฐฯจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวม

เงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ 33.12 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.51%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 8.6 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,701.47 จุด ปรับตัวลดลง 14.56 จุด หรือ 0.85% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จากการรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปคที่จะขยายเวลาลดกำลังการผลิตไปต่ออีก 9 เดือน สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $55.64 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.23% จากสัปดาห์ก่อนนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น แต่ในภาพรวม เรายังคงคาดว่า SET Index ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีการกระจายตัวในหลายภาคส่วนมากขึ้น รวมถึงคาดการณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาเพิ่มเติมในช่วงปลายปี เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (23 – 27 ตุลาคม 2560)

ในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนตุลาคม ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลังจากเห็นการปรับฐานในสัปดาห์ก่อนหน้าจากการเปิดทำการของตลาดหลักทรัพย์เพียง 3 วัน โดยดัชนีสามารถกลับมายืนเหนือระดับ 1,700 จุด ได้ตลอดทั้งสัปดาห์ หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสูงได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรงบไตรมาส 3 ที่นักลงทุนคาดว่าจะออกมาดี การปรับตัวขึ้นนั้นได้กระจายไปในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น หลังจากที่หุ้นขนาดใหญ่ได้ขยับขึ้นในระยะก่อนหน้าแล้ว โดยดัชนี SET ได้ปรับขึ้นถึง 2.74% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ปัจจัยในประเทศอีกส่วน มาจากการคาดหวังของนักลงทุนที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงสิ้นปี

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ยังคงเป็นการรอประธาน Fed คนใหม่ที่คาดว่าจะรู้ผลในวันที่ 3 พฤศจิกายน และประเด็นที่รัฐบาลกลางสเปนเข้าควบคุมอำนาจของรัฐบาลแคว้น Catalonia เพื่อควบคุมสถานการณ์การแยกแคว้น โดยปัจจัยนี้ไม่มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.23%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 3.6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากการรายงานสต็อกน้ำมันดิบของ EIA ที่ได้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า และ ความร่วมมือของรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ที่ต้องการขยายเวลาการลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปีหน้า สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปิดที่ $53.9 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 4.72% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,716.03 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.45 จุด หรือ 1.39% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้นดัชนี SET มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปทดสอบที่ 1,750 จุด โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากเศรษฐกิจในประเทศ และการประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ที่คาดว่าหลายกลุ่มจะออกมาดี รวมถึงเม็ดเงิน LTF ที่จะน่าจะทยอยไหลเข้าในช่วงสิ้นปี ปัจจัยที่ต้องติดตามในต่างประเทศได้แก่การแต่งตั้งประธาน Fed คนใหม่ โดยหากนโยบายทางการเงินมีความรัดกุมขึ้น อาจเห็นความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และตลาดหุ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทย (16 – 20 ตุลาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม ได้มีแรงขายทำกำไรออกมาหลังจากที่ SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ซึ่งเป็นการขายทำกำไรในแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการขายทำกำไร ได้แก่ การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ประกาศออกมาต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ จากการตั้งสำรองหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูง และข่าวที่ PTTEP จะมีการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในโครงการ Oil Sand ในประเทศแคนาดาประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชียจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์มีการปรับตัวขึ้น หลังจาก กสทช. ประกาศปรับลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ Digital TV ตามระดับรายได้ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ในจังหวะที่หุ้นตกลงแรง ได้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้น Mid-Small Cap ที่มีแนวโน้มเติบโตดีด้วย

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนยังติดตามข่าวการเลือกประธาน FED คนใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่คาดว่าจะมีการตัดสินใจภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการเลือกประธาน FED นี้อาจจะส่งผลให้ FED ใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น และการที่วุฒิสภาสหรัฐฯผ่านร่างงบประมาณปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้แผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์มีโอกาสจะเริ่มดำเนินการได้มากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชียและค่าเงิน US$ แข็งค่าขึ้น ในส่วนปัญหาการแยกตัวของแคว้นกาตาลุญญาในสเปนนั้น จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28 ตุลาคม ซึ่งไม่มีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย

เงินบาทกลับมาอ่อนค่าที่ 33.18 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.18%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 7.2 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากการปรับลดลงของแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ และการรายงานตัวเลขส่งออกน้ำมันดิบในอิรักลดลง อย่าไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์มีแรงขายทำกำไรจากการปรับตัวขึ้นสูงของราคาน้ำมันดิบ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.47 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 0.04% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,692.58 จุด ปรับตัวลดลง 19.90 จุด หรือ 1.16% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้น และคาดว่า SET Index จะสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1,700 จุด ได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และเม็ดเงินของ LTF ในช่วงปลายปีกว่า 3-4 หมื่นล้านบาทจะช่วยสนับสนุน SET Index อย่างต่อเนื่อง