ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2562

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นการแกว่งตัวในกรอบแคบด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง โดยมีปัจจัยบวกส่วนใหญ่จากต่างประเทศ

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือน จากความกังวลด้านปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ยื่นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคให้เงินยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ และการจัดการชุมนุมแฟล็ชม็อบที่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนหลายพันคน ทำให้ความกังวลเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง

สำหรับในต่างประเทศ มีข่าวดีเรื่องการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้แก่ (1) สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่กำหนดเก็บในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 วงเงิน 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) สหรัฐฯ ตกลงที่จะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่มีผลเมื่อเดือนกันยายน 2562 วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% จากเดิม 15% มีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันหลังการลงนาม และ (3) จีนตกลงที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ วงเงิน 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาษีก้อนที่สหรัฐฯ เรียกเก็บไปแล้ว 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตรา 25% จะยังคงเดิม แต่อาจทยอยลดลงในการเจรจาเฟสถัด ๆ ไป โดยผู้นำทั้งสองประเทศน่าจะลงนามข้อตกลงดังกล่าวนี้ได้ในวันที่ 15 มกราคม 2563 ข่าวนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทั่วโลก

ส่วนในฝั่งยุโรป ความเสี่ยง Brexit ของอังกฤษแบบไม่มีข้อตกลงก็ได้ลดลงไปเช่นกัน หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง และได้รับเสียงข้างมากในสภาอย่างมีนัย อีกทั้งสภาล่างของอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบในหลักการร่างกฏหมาย Brexit ของนาย Boris Johnson แล้ว และรอวุฒิสภาลงมติเป็นลำดับถัดไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผ่านมติอย่างราบรื่น ทำให้ปัญหา Brexit ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี น่าจะมีทางออกได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,579.84 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,590.59 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +10.8% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +3.9% และกลุ่มโรงพยาบาล +3.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มโรงแรม -9.6% กลุ่มสื่อสาร -4.9% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ -2.5% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 24,487 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 24,757 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2562

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นการแกว่งตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ในขณะที่ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังถูกปรับลดลง

ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือน จากการที่นักลงทุนคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผลการประชุมในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าคาด SET Index มีการตอบรับในเชิงบวกระยะสั้น และเริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3

กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมานั้น มีกำไรสุทธิรวม 2.13 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 แต่ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ในปีที่แล้ว หากรวมกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2018 โดยกลุ่มที่กำไรเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อาหาร และเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนกำไรลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง จึงเป็นตัวฉุดกำไรของตลาด ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ในปี 2019 ลดลงมาอยู่ที่ 94.5 บาท และในปี 2020 อยู่ที่ 105.2 บาท คิดเป็นการติดลบจากปีที่แล้ว -3.2% และฟื้นตัว 11% ในปีหน้า นอกจากนี้ ทางสภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 3 ของไทยออกมาอยู่ที่ 2.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% มีเพียงภาคบริการที่เติบโตค่อนข้างดี (+11%) ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้ายังหดตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย (+2.8%) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว (-1.5%) ทำให้สภาพัฒน์มีการปรับลดการประมาณการการเติบโตของ GDP ทั้งปีนี้ลง จากเดิม 2.7-3.2% มาอยู่ที่ 2.6% อัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2018 ที่ 4.1%

ทั้งตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนและตัวเลข GDP ที่ออกมานั้น เป็นสิ่งยืนยันการชะลอตัวเศรษฐกิจของไทย และเป็นปัจจัยกดดัน SET Index ตั้งแต่กลางปี โดยดัชนีปรับลดลงจากจุดสูงสุดบริเวณ 1,740 จุดในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงถึง 8% ในเวลาเพียง 4 เดือน ปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นในเวลานี้ นอกจากจะมีปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความขัดแย้งในฮ่องกง หรือการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแล้ว ปัจจัยหลักคือ ความกังวลการปรับลดลงต่อเนื่องของ SET EPS นั่นเอง

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจับตารอความชัดเจนประเด็นการค้า แม้สหรัฐฯ และจีนใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรก แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้อาจกระทบต่อการเจรจาการค้าได้ แต่ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มลดลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และ จีน เป็นต้น เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,590.59 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,601.49 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +13.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +10.5% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +5.0% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -8.6% กลุ่มเกษตรและอาหาร -5.0% และกลุ่มธุรกิจบันเทิง -3.3% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,683 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,585 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2562

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัว -2.2% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน และความกังวลเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว สวนทางกับตลาดต่างประเทศ

Set Index อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากเดือนกันยายน แม้ว่าปัจจัยจากต่างประเทศค่อนข้างเป็นบวกในเดือนนี้ แต่ตลาดกลับให้น้ำหนักปัจจัยของการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยมากกว่า โดยในช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงการเริ่มต้นประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 2% YoY และ 5% QoQ การเติบโตส่วนใหญ่มาจากกำไรพิเศษจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งหากพิจารณาเพียงกำไรปกติของกลุ่มธนาคาร จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก จากการเพิ่มการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สินเชื่อโดยรวมขยายตัวเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังหดตัว รายได้ค่าธรรมเนียมยังคงหดตัวจากการฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับลดลง ในขณะที่ฝั่งต้นทุนนั้น ยังไม่สามารถลดลงได้เร็วนัก ทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารฉุดให้ SET Index ปรับตัวลง

ถัดมา เป็นช่วงการประกาศผลการดำเนินงานในกลุ่มพลังงานและปิโตรเครมี โดยหลายบริษัทมีการประกาศกำไรสุทธิออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาปิโตรเคมีภัณฑ์ตกต่ำ และการบันทึกขาดทุนจากสินค้าคงคลัง ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดลดลง และยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่อง หากบริษัทในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ทยอยประกาศผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมาย

ประเด็น BREXIT เริ่มมีพัฒนาการทางบวกมากขึ้นหลังจากที่มีการยืดเยื้อมานาน หลังจากนายบอริส จอห์นสัน เสนอให้มีการลงมติเลือกตั้งใหม่ แล้วจึงค่อยนำร่าง BREXIT เข้าโหวตในสภา โดยสหภาพยุโรปมีมติยินยอมให้สหราชอาณาจักร (UK) ขยายเส้นตายออกไปจากเดิมวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไปเป็น 31 มกราคม 2563 และหากทาง UK พร้อมก็สามารถถอนตัวได้ก่อนกำหนด ทำให้โอกาสที่จะเกิดการถอนตัวอย่างไม่มีข้อตกลง (Hard Brexit) ลดลง จึงส่งผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวม

นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น โดยสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกภายในกรอบเวลาที่กำหนด แม้ว่าผู้นำทั้งสองประเทศจะไม่ได้พบกัน หลังการยกเลิกการประชุม APEC ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนในประเทศชิลี อันเนื่องมาจากสาเหตุความไม่สงบภายในประเทศ

และในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ผลการประชุม FOMC มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps สู่ระดับ 1.50% - 1.75% ตามที่นักวิเคราะห์คาด ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และส่งสัญญาณกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดซื้อคืนพันธบัตร และเตรียมซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มเติม นอกจากนี้ ประธาน FED ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และส่งสัญญาณพักการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากขึ้นในระยะถัดไป และเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดอย่างมาก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,601.49 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,637.22 จุด หรือประมาณ -2.2% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +3.8% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +2.3% และกลุ่ม ICT +1.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร -11.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ -9.3% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.5% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,845 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 409 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2562

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -1.07% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว และการขายหุ้นของกองทุนเพื่อเตรียมเงินไปจองซื้อหุ้น AWC

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ตลาดหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม จากการที่สหรัฐฯ และจีนมีการนัดหมายเจรจาเรื่องสงครามการค้ากันในต้นเดือนกันยายน ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกในประเทศ เมื่อครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบ “ไทยแลนด์ พลัส แพคเกจ” ซึ่งเป็นแพคเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีการลงทุนขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

ต่อมา ในวันที่ 14 กันยายน เกิดเหตุโดรนโจมตีโรงงานน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท อารัมโก ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้กำลังการผลิตหายไปกว่า 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือกว่า 50% ของกำลังการผลิตของประเทศ และคิดเป็น 5% ของการผลิตน้ำมันของโลก โดยมีกลุ่มกบฏในเยเมนเป็นผู้โจมตีและยังคงข่มขู่ที่จะโจมตีต่อ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและพร้อมใช้กำลังทหารตอบโต้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดใน 1 วันเป็นประวัติการณ์ โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดกว่า +19.5% จากนั้นราคาน้ำมันค่อย ๆ อ่อนตัวลงหลังจากที่ซาอุดิอาระเบียประกาศแผนซ่อมแซมโรงกลั่นและคาดว่ากำลังการผลิตส่วนใหญ่จะกลับมาดำเนินงานปรกติได้ในเวลา 10-15 วัน

ตลาดหุ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ Fed ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.75% - 2.00% ทาง ECB ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.10% สู่ระดับ -0.50% และจะเริ่มการซื้อคืนพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป รวมทั้ง ทางจีนก็ได้ลด RRR ลง 0.50% ด้วย นอกจากนี้ ทางรัฐสภาอังกฤษก็มีการผ่านร่างกฎหมายป้องกัน Hard Brexit ทำให้นายกฯต้องไปเจรจากับทาง EU ในการขยายเส้นตาย Brexit ออกไปจากเดิม 31 ตุลาคม 2562 เป็น 31 มกราคม 2563 ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ Brexit ถูกเลื่อนออกไป

ทว่าในช่วงครึ่งเดือนหลัง SET Index ค่อย ๆ ปรับตัวลง สาเหตุหนึ่งมาจากการขายหุ้นของกองทุนเพื่อเตรียมเงินสำหรับการจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ “AWC” ในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง AWC มีการระดมทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่า IPO ประมาณ 48,000 ล้านบาท และมีมูลค่าตลาดประมาณ 192,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้เข้ามาอยู่ใน SET50 ทันที่หลังจากเข้าเทรดในวันแรก และทำให้หุ้นใน SET 50 บางตัวถูกขายเนื่องจากความกังวลว่าอาจจะถูกถอดออกจากอันดับ กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกนง. ประจำเดือนกันยายน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% แต่ในขณะเดียวกัน ได้มีการปรับลดการคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% และปรับลดจีดีพีในปี 2563 ลงจาก 3.7% เหลือ 3.3% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัว ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้านั่นเอง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,637.22 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,654.92 จุด หรือประมาณ -1.07% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มพลังงาน +2.2% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.4% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ +1.2%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -4.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -4.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม -3.5% ในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 11,658 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 8,164 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2562

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -3.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 จากการปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียน และแรงกดดันภายนอกเรื่องประเด็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น และการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เป็นฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาลดลงค่อนข้างมาก กำไรสุทธิรวมของตลาดอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท ลดลง -17% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2018 และลดลง -21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในขณะที่มีกลุ่มธุรกิจที่ผลกำไรยังเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ล้วนมีกำไรสุทธิลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์ของพนักงานเพิ่มขึ้นตามกฎหมายจาก 300 วันเป็น 400 วัน และอีกส่วนมาจากตัวธุรกิจหลักเอง เช่น การลดลงของราคาน้ำมันดิบและปิโตรเคมีทำให้เกิดขาดทุนจากสินค้าคงคลัง การขาดทุนค่าเงินของบริษัทในกลุ่มส่งออกจากเงินบาทที่แข็งค่า และการชะลอตัวลงของยอดโอนอสังหาริมทรัพย์หลังมีการใช้มาตรการ LTV เป็นต้น ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดในปีนี้ลง จากเดิม ประเมินกำไรต่อหุ้นของตลาดอยู่ที่ระดับ 104 บาท ลดลงมาอยู่บริเวณ 100 -101 บาท จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2019 ลดลงเหลือเพียง 2 - 3% เท่านั้น

และในวันที่ 19 สิงหาคม ได้มีการประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ของไทย ที่มีการเติบโตเพียง 2.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เติบโต 2.8% คิดเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ 2.6% โดยภาคการส่งออกสินค้าและบริการหดตัว -6.1% จากปีที่แล้ว ผลผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรหดตัว ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้จะยังเติบโตเป็นบวก แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ทำให้สภาพัฒน์ฯปรับลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีลงอีกครั้ง จาก 3.3 - 3.8% มาอยู่ที่ 2.7 - 3.2%

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ ในอัตรา 15% โดยแบ่งเป็น 1.3 แสนล้านเหรียญ มีผลบังคับในวันที่ 1 กันยายน และอีก 1.6 แสนล้านเหรียญให้มีผลบังคับในวันที่ 15 ธันวาคม ในขณะที่ทางจีนจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน โดยมีมูลค่า 7.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ในอัตรา 5 – 10% โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน มีผลบังคับในวันที่ 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม เช่นเดียวกัน ซึ่งการตอบโต้ระหว่างกันดังกล่าว ส่งผลกระทบเป็นลบต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กระทบทั้งผู้บริโภคที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และเกษตรกรที่ส่งออกผลผลิตไปยังจีนได้ลดน้อยลง

SET Index ปรับตัวลดลงจากปัจจัยข้างต้น ลงสู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,590 จุด และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2019 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.0 - 2.25% ส่วนประเทศจีนนั้น ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน โดยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงจาก 4.35% ลงเหลือ 4.25% ในฝั่งยุโรป รัฐบาลเยอรมันมีการประกาศพร้อมใช้วงเงิน 55 พันล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น เพียง 1 สัปดาห์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เช่นกัน ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่อยู่เหนือความคาดหมาย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ประกอบกับในวันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งโดยการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน มาตรการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ SME มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เช่น การแจกเงินเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ การเพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น คิดเป็นวงเงิน 3.16 แสนล้านบาทที่พร้อมอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ หลังจากนี้ไป คาดว่าเมื่อมาตรการทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศเริ่มทำงาน เศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ และ SET Index น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำและยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก ค่าพีอีที่เหมาะสมของตลาดหุ้นมักจะสูงขึ้น ค่าพีอีของ SET Index น่าจะยืนอยู่บริเวณ 16 -17 เท่าได้ในปีนี้และปีหน้า จากค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15.3 เท่า ซึ่งคิดเป็นระดับดัชนีที่ 1,600 – 1,700 จุด และการที่ SET Index ปรับตัวลงค่อนข้างแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในระยะสั้นน่าจะเห็นการรีบาวด์ของดัชนีได้ และในระยะกลาง หากกำไรสุทธิของตลาดไม่มีการถูกปรับลดลงอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นน่าจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อไป

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,654.92 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,711.97 จุด หรือประมาณ -3.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +4.5% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.1% และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร -1.3%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -15.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -10.8% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ -8.3% ในเดือนสิงหาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 54,274 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 35,596 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2562

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยบวกใหม่ และมีปัจจัยกดดันตลาด ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาท การลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจจะน้อยกว่าที่คาด และความเสี่ยงของ Brexit เป็นต้น

หลังจากที่ SET Index ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนมาอยู่บริเวณ 1,730 – 1,740 จุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ตลาดเริ่มแกว่งตัวออกข้างในกรอบแคบ ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ระดับ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่านั้นมาจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น Fund Flow ที่เข้ามาในตลาดหุ้น ความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเฟดมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากในเวลาอันสั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเท่าไรนัก เนื่องจากประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกสูง ทำให้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในวันเดียวกันประมาณ -0.7% ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับฐานของ SET Index

ถัดมาในช่วงกลางเดือน เป็นช่วงการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่กำไรของทั้งกลุ่มรวมกันยังติดลบประมาณ -3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว จากการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารขนาดใหญ่มีการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มมากขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ KBANK และ BBL เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง จากการเติบโตของสินเชื่อและการลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญ

ตลาดยังปรับลดลงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายเดือน ทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดทั่วโลก จากความผิดหวังที่ Fed ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยว่าอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างที่นักลงทุนคาดหวัง กอปรกับทางฝั่งอังกฤษเอง นาย Borris Johnson ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ และได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงมากขึ้น เนื่องจากนาย Borris Johnson สนับสนุนและพร้อมเดินหน้า Brexit ตามเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

ในช่วงปลายเดือน ประเด็นบวกทางการเมืองช่วยพยุงตลาดหุ้นเอาไว้ได้ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชาได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นที่การบริโภค การท่องเที่ยว และการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย แต่ยังไม่มีนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันประกาศออกมา

และในวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม การประชุม FOMC ของเฟดก็มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 2.0-2.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดปรับตัวลงจากการ Sell on fact นั่นเอง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,711.97 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,730.34 จุด หรือประมาณ -1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.5% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +4.8% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +1.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -12.9% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -7.7% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.6% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 20,054 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 26,565 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2562

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลง -3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน จากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าคาด การทวีความรุนแรงขึ้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากบริเวณ 1,679 จุด ลงมาทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,602 จุดในช่วงกลางเดือน จากการทยอยประกาศงบกำไรขาดทุนของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาด โดยกำไรในไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาท คิดเป็นการลดลง -9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 73% จากไตรมาส 4 ปี 2561 โดยกลุ่มธุรกิจที่ยังมีกำไรเติบโตจากปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น จากตัวเลขกำไรที่ประกาศออกมา ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดประมาณกำไรสุทธิของปี 2562 ลงเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นผลให้กำไรต่อหุ้นของตลาดถูกปรับลดลงประมาณ 6-7% เป็นสาเหตุให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง

เมื่อพิจารณาตามรายกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่เติบโตถึง 182% จากไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ตามความคืบหน้าที่เพิ่มขึ้นของงานในมือ ทั้งงานเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชมพู น้ำเงิน และส้ม ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากงานรถไฟฟ้าให้อัตรากำไรค่อนข้างดี แม้บางบริษัทมีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองการจ่ายชดเชยพนักงาน แต่กำไรรวมของกลุ่มก็ยังเติบโตได้ดี

กลุ่มธุรกิจการแพทย์มีกำไรรวมเติบโตดี เพิ่มขึ้น 83% จากไตรมาส 1 ปี 2561 เนื่องจาก BDMS มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในหุ้น RAM เป็นจำนวนกว่า 6 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการนี้ กำไรรวมของกลุ่มเติบโตได้เล็กน้อยจากปีที่แล้ว แต่แนวโน้มของหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลยังไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการออกกฎหมายควบคุมราคายา ซึ่งจะกระทบการทำกำไรของกลุ่มโรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งที่กำไรเติบโตได้ดีจากรายการพิเศษนั่นคือ กลุ่มโทรคมนาคม จากการที่ TRUE มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนและการตีมูลค่าสินทรัพย์ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เป็นจำนวนกว่า 1.1 พันล้านบาท

อีกกลุ่มหนึ่งที่กำไรออกมาค่อนข้างดี คือ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 กว่า 60% เนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการเร่งยอดโอนให้ทันภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้วงเงินต่อหลักประกัน (Loan-to-Value: LTV) ต่ำกว่า 95% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือต่ำกว่า 80% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านที่มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างเร่งการโอน ก่อนการประกาศใช้มาตรการนี้วันที่ 1 เมษายน 2019 แต่หากมองภาพยอดขายล่วงหน้า (Presales) พบว่าลดลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต็อกเก่า จึงชะลอการเปิดโครงการใหม่ รวมทั้งผู้บริโภคก็ตัดสินใจซื้อยากขึ้น แนวโน้มของกำไรในกลุ่มนี้ในภาพระยะกลางยังมีโอกาสผันผวนจากมาตรการ LTV บ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ค่อนข้างสูง

จากนั้นในช่วงปลายเดือน พัฒนาการของสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญจากระดับ 10% เป็นระดับ 25% และประกาศห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกันใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ เช่น บริษัท Huawei ของจีน ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการยุติการสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญ จากระดับ 10% เป็นระดับ 25% อีกทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแร่ Rare Earth ในประเทศจีน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแม่เหล็ก ชิป ไมโครชิป และอุปกรณ์ที่ใช้ในสินค้า High Technology ต่าง ๆ โดยจีนเป็นผู้ผลิตแร่ Rare Earth เกือบ 90% ของอุปทานทั้งหมดในตลาดโลก เป็นการส่งสัญญาณข่มขู่สหรัฐฯ ทำให้ในท้ายสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขยายระยะเวลาการแบน Huawai ออกไป 90 วัน อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ได้จุดชนวนให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยี (Tech War) ขึ้น หุ้นในกลุ่มไอทีในจีนและสหรัฐฯ ปรับลดลงรุนแรง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไอที

หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันปรับตัวลงเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดล่วงหน้าปรับตัวลดลงถึง -16.3% สู่ระดับ 53.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อันเนื่องมาจากความกังวลประเด็นสงครามการค้าจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน

ในช่วงปลายเดือน SET Index มีการฟื้นตัวเล็กน้อย จาก MSCI Rebalance ที่น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.8% ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2 แสนล้านบาทในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 และน่าจะยังมีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จากการปรับ Port การลงทุนของกองทุนต่าง ๆ ที่ใช้ MSCI Index เป็น Benchmark

สำหรับการเมืองในประเทศ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นหลังจากมีการเปิดประชุมสภา และมีมติเลือกประธานสภาเป็นนายชวน หลีกภัย โดยมีแนวโน้มสูงที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐขับเคลื่อนต่อไปได้ และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,620.22 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,676.60 จุด หรือประมาณ -3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม +2.3% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -0.2% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -0.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -17.5% กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ -13.3% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -5.9% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,672 ล้านบาท โดยในวันที่ 28 พฤษภาคมมีการซื้อสุทธิสูงถึง 12,535 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 15,549 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2562

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.13% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2562 โดยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ปัจจัยที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นในรอบนี้ ได้แก่ การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน และไม่มีปัจจัยลบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือน จากระดับบริเวณ 1,627 จุด และขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1,684 จุด ก่อนจะปรับตัวลงมาบริเวณ 1,674 จุดในปลายเดือน นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 กอปรกับการเกิดความไม่สงบในประเทศลิเบีย และการลดการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศเวเนซุเอลา ทำให้ความกังวลด้าน Oversupply ของน้ำมันดิบลดลง จึงทำให้ราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้น 5.37% ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ตลาดมีปัจจัยลบเล็กน้อยเนื่องจากทาง IMF ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกปี 2562 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.5% ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน ส่วนการเติบโตของจีดีพีในปี 2563 ยังคงประมาณการเดิม โดยประเทศที่ถูกปรับลดการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ ประเทศเยอรมัน -0.5% จากเรื่องการปรับมาตรฐานการปล่อยก๊าซพิษจากรถยนต์ ที่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศอิตาลี -0.5% จากปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ประเทศอังกฤษ -0.3% จากการออกสหภาพยุโรปฯ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป และสหรัฐอเมริกา -0.2% จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติการจ่ายงบประมาณ (Government Shutdown) ในเดือนมกราคม และการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาด ส่วนประเทศจีนถูกปรับขึ้น 0.1% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจีน แต่ SET Index ไม่ได้ปรับลงเท่าใดนัก และจะเห็นว่าการปรับลดการเติบโตของจีดีพีโลกของ IMF นั้น ส่วนใหญ่เป็นการลดในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าและยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้และปีหน้า

ในช่วงกลางเดือน เป็นการประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งว่าหลาย ๆ ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์เกษียณอายุพนักงานตามกฎหมายใหม่ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากธุรกิจประกันที่ลดลงค่อนข้างมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ แต่หากดูกำไรรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะพบว่ายังเติบโตได้ประมาณ 2% ทั้งนี้มาจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจเงินติดล้อของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 8.6 พันล้านบาท โดยรวมแล้ว ผลกำไรไม่ได้สร้างความผิดหวังหรือความยินดีให้กับนักลงทุน ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์จึงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเท่านั้น

อีกปัจจัยที่อาจสนับสนุนตลาดในระยะอันใกล้ ได้แก่ การปรับเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของดัชนี MSCI ในรอบเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ที่ให้นำหุ้น NDVR เข้ามารวมในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยถูกเพิ่มน้ำหนักการลงทุนจาก 2.3% เป็น 2.8% (รวมผลกระทบของการรวมดัชนี China A Share ซาอุดิอาระเบีย และอาร์เจนติน่าด้วยแล้ว) คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 7.6 หมื่นล้านบาทที่มีแนวโน้มไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังการ Rebalance MSCI ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะยังถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และมีกำหนดที่จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงด้านการค้ากันได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะเป็นข่าวดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ จะถือเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นในระยะถัดไป
สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง แม้ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นมาจากต้นปี แต่ SET Index บริเวณปัจจุบันที่ 1,674 จุด ยังให้ค่า PE ของตลาดในปี 2019 เท่ากับ 15.5 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับไม่แพง อีกทั้งการถือครองหุ้นของต่างชาติ (รวม NVDR) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2005 และภายในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ตลาดหุ้นไทยจะปลดล็อคเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มจะพิจารณากลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง พร้อมกับ Fund Flow จาก MSCI Rebalance ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจในระยะสั้นนี้ โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี และมีมูลค่าที่เหมาะสม

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2562

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 1,610 – 1,650 จุด โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวนในเดือนนี้ คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ส่วนปัจจัยบวกจากต่างประเทศ ได้แก่ การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการชะลอการลดขนาดงบดุลของ FED

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน จากระดับบริเวณ 1,655 ลงมาบริเวณ 1,620 ตลอดทั้งเดือน เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการคือ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้จำนวนสส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด และทางพรรคได้ออกมาประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ในขณะที่เสียงสนับสนุนพรรคทั้งสองให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็มีความก่ำกึ่งกัน และ กกต.แถลงว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากกว่า 200 เรื่อง ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูง แม้จะผ่านช่วงการเลือกตั้งมาแล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่สหรัฐฯ เลื่อนวันประกาศใช้อัตราภาษีที่เก็บเพิ่มจากสินค้าจากขึ้นจาก 10% เป็น 25% ออกไป และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา โดยมีโอกาสสูงที่ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ การประชุม FOMC ในวันที่ 19 – 20 มีนาคม ที่ผ่านมา FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (จากเดิมคาดขึ้น 2 ครั้ง) และคงมุมมองปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 2563 อีกทั้งยังส่งสัญญาณจะชะลอการปรับลดงบดุลในเดือนพฤษภาคม จาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และจะยุติการปรับลดงบดุลในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นการสะท้อนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นสัญญาณบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.43% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 เดือน และได้ปรับลดลงมาต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะนี้เรียกว่า “Inverted Yield Curve” ที่มักเกิดก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดความกังวลมากในหมู่นักลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง

ในฝั่งยุโรปนั้น วันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษมีมติโหวตไม่ผ่านข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นครั้งที่ 3 ทำให้นางเทเรเซ่า เมย์ ต้องกลับไปคุยกับ EU ในวันที่ 12 เมษายนนี้ เพื่อกำหนดข้อตกลงใหม่ แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่อังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งประเทศอังกฤษและ EU ที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,638.65 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,653.48 จุด หรือประมาณ -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.2% กลุ่มการแพทย์ +3.2% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +2.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -7.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.1% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 16,397 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 5,719 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนนั้น คาดว่าจะมี Fund Flow ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ แม้ว่าอาจจะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะอยู่ได้นานเพียงไร แต่สิ่งหนึ่งที่ทางคสช. ได้ทำไว้ คือ การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แม้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ยังคงต้องเดินหน้าแผนปฏิบัติการที่ได้ระบุไว้ ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ยุค 4.0 เป็นต้น ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้น่าจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่องได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รวมถึงรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยเร่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี และมีมูลค่าที่เหมาะสม

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2562

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวขึ้น +4.39% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 จากปัจจัยบวกภายในประเทศ ได้แก่ การเมืองไทยที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น และปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และการส่งสัญญาณการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED

SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากระดับประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 52 - 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคม ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มน้ำมันปรับตัวขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายเดือน

สำหรับด้านต่างประเทศ ทางฝั่งของสหรัฐฯ ได้ยุติการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยราชการบางส่วน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยินยอมลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว เพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลกลับมาเปิดดำเนินงานและมีงบประมาณบริหารงานได้จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 นอกจากนี้ ในวันที่ 30 มกราคม 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย และอาจจะยุติการลดขนาดของงบดุลในไม่ช้า ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนทั่วโลกเข้าสู่ภาวะชอบความเสี่ยงมากขึ้น และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดไทยปรับตัวขึ้น กระแส Fund Flows เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดไทยและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 9 เดือน

ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และจีน เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจีนเตรียมที่จะนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ จำนวน 5 ล้านตัน ซึ่งเป็น 2 เท่าของจำนวนที่นำเข้าในเดือนธันวาคม 2561 และทางผู้นำของจีนและสหรัฐฯ จะมีการเจรจากันเพิ่มเติมในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดเริ่มมีความหวังว่าทั้งสองประเทศนี้ จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะต่อไป

ส่วนในฝั่งยุโรป ผลการลงมติต่อร่าง Brexit ฉบับแก้ไข มีมติเห็นชอบไม่ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (Hard Exit) และให้นางเทเรซ่า เมย์ เจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องข้อตกลงพรมแดนไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์อีกครั้ง (Irish Backstop) ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ นางเมย์จะปรับปรุงร่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ และมีโอกาสสูงที่จะได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากทราบความต้องการของรัฐสภาอย่างแน่ชัดแล้ว ทำให้ความกังวลเรื่องนี้ลดลงไป และการที่ประเด็น Brexit ยังอยู่ในกรอบเวลา ทำให้ค่อนข้างเป็นปัจจัยที่เป็นกลางต่อตลาด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2562 SET Index ได้ปิดที่ 1,641.73 จุด ปรับตัวขึ้นจากระดับ 1,563.88 จุด หรือประมาณ +4.39% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +9.0% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +8.9% และกลุ่มพาณิชย์ +7.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.1% กลุ่มการแพทย์ -1.8% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +1.2% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,722 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 10,031 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มของ SET Index ในระยะต่อไปนั้น คาดว่ายังคงมีทิศทางค่อยๆ ปรับตัวขึ้น และอาจมีแรงขายทำกำไรบ้างหลังการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน และช่วงใกล้วันเลือกตั้งในเดือนมีนาคม แม้ว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นมาพอสมควร แต่หากดู Valuation แล้ว ณ ระดับปัจจุบัน ค่าพีอีของ SET Index ในปี 2019 ที่ระดับ 14.8 เท่า ยังอยู่ในกรอบค่าพีอีที่ทางบลจ.ทาลิส ประเมินไว้ในช่วง 13.5 – 16 เท่า หรือ SET Index มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้ถึงบริเวณ 1,840 จุด โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีอัตราการเติบโตสูง และมีมูลค่าเหมาะสม