ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2565

ในเดือนมิถุนายน 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 5.7% สู่ระดับ 1,568.33 จุด โดยเป็นการปรับตัวลงแรงช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนจากปัจจัยกดดันจากภายนอก คือ ปัญหาเงินเฟ้อ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังออกมาร้อนแรงและราคาน้ำมันกลับมาเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ $120 ต่อบาร์เรล ซึ่งท้ายที่สุดรายงานเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาประจำเดือน พฤษภาคม 2565 ออกมาสูงถึง 8.6% YoY สูงสุดในรอบ 40 ปี และมากกว่าตลาดคาดไว้ที่ 8.3%

นอกจากแรงกดดันในเรื่องของการลดงบดุลของ Fed ที่เริ่มต้นในเดือนมิถุนายนในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านเหรียญฯ/เดือน และจะเพิ่มเป็น 9.5 หมื่นล้านเหรียญฯ/เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป ตลาดยังปรับมุมมองคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่เร่งตัวขึ้นอย่างมากในรอบการประชุมที่เหลือของปี และจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมในด้านสภาพคล่องที่ถูกดึงออกเร็วขึ้น โดย Fed มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps ในรอบประชุมมิถุนายน และคาดว่าจะปรับเพิ่มอีก 75 bps ในรอบประชุมกรกฎาคม โดยปรับจากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มครั้งละ 50 bps

ส่วนปัจจัยกดดันภายใน ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของไทยอยู่ที่ 7.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นประเด็นที่นักลงทุนเชื่อว่าจะกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกอย่างน้อย 25 bps โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด มีคณะกรรมการ 3 คน จากทั้งหมด 7 คน มีความเห็นให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps นอกจากนี้ กลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดยังเผชิญกับความกังวลต่ออุปสงค์ที่อาจจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และเรื่องที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้โรงกลั่นนำส่งกำไรส่วนเกินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เพื่อนำเงินดังกล่าวอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน SET Index มีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากไม่มีประเด็นสร้างความเสี่ยงตลาดเพิ่มเติม และเริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามา ได้แก่ จีนเริ่มผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid Strategy ลดจำนวนวันกักตัวของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีน ขณะที่ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้ประเด็นสนับสนุนจากเรื่อง ครม.อนุมัติให้ยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass ของชาวต่างชาติ และอนุมัติมาตรการภาษีแก่บริษัทเอกชน โดยให้นำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองหลักมาหักภาษี โดยหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกที่ 4.3% ในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่น ๆ ให้ผลตอบแทนติดลบ นำโดยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -12.99% กลุ่มพาณิชย์ -10.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -9.9% ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 29,378 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 3 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 1,878 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 27,513 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2565

ในเดือนพฤษภาคม 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 0.24% สู่ระดับ 1,663.41 จุด โดยปรับตัวลงมากในช่วงครึ่งเดือนแรก จากความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก และกังวลว่า Fed จะเร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลัง SET Index มีการปรับตัวขึ้น จากการที่ Fed ประกาศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามที่เคยประกาศไว้ การที่จีนมีแนวโน้มจะคลายการ Lockdown การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด และการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม 2565 ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกในประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นมากในสหรัฐฯ และทำให้มีความกังวลว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์เดิม เป็น 0.75% ประกอบกับประเทศไทยมีวันหยุดหลายวันในช่วงครึ่งแรกของเดือน ทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นเพื่อถือเงินสดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.50% และมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.50% อีก 1-2 ครั้ง โดยไม่มีความตั้งใจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.75% รวมถึงการประกาศลดงบดุล (Quantitative Tightening) ลงเดือนละ $4.75 หมื่นล้านตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 และจะเพิ่มเป็นเดือนละ $9.5 หมื่นล้านตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลว่า Fed จะเร่งนโยบายตึงตัวมากขึ้น และอาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงแรงได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวขึ้น จากการลดความกังวลเกี่ยวกับการที่ Fed จะเร่งการทำนโยบายการเงินตึงตัว รวมถึงการที่จีนมีแนวโน้มจะเริ่มควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในเมืองใหญ่ ๆ ที่ถูก Lockdown ก่อนหน้าได้ และมีโอกาสจะเริ่มคลายการ Lockdown ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศก็มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เมื่อการระบาดของ COVID-19 ลดความรุนแรงลงมาก ทำให้รัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้มีความคาดหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นในครึ่งหลังของปี รวมถึงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด โดยกำไรสุทธิมีการเติบโต 6% YoY และ 10% QoQ ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ยังเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เดือนพฤษภาคม ราคาน้ำมันดิบ (Brent) ยังปรับตัวขึ้น 12.7% ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานกลับตัวขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,663.41 จุด ลดลง 4.03 จุด หรือ -0.24% จากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายต่อวันยังคงอยู่ในระดับที่เบาบางที่ 73,281 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มปิโตรเคมี +3.2% กลุ่มพลังงาน +3.0% และกลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด คือ กลุ่ม ICT -9.9% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -4.4% และกลุ่มประกันภัยฯ -3.8% ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 20,284 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,745 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 4,466 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิ 26,495 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2565

ในเดือนเมษายน 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 1.64% สู่ระดับ 1,667.44 จุด จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้ Fed มีแนวโน้มที่จะเร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และการระบาดของ Covid-19 ในจีน ที่ทำให้จีนต้อง Lockdown เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ดีกว่าคาด และการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ช่วยทำให้ SET Index ลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ยังคงเป็นความเสี่ยงจากสงครามยูเครน-รัสเซียยังไม่มีแนวโน้มที่จะเจรจากันได้ และทางกลุ่มประเทศตะวันตกพยายามจะเพิ่มความกดดันด้วยการออกมาตรการ Sanction มากขึ้น ในขณะที่รัสเซียก็พยายามกดดันด้วยการจำกัดการส่งออกกาซธรรมชาติให้แก่กลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่ยอมรับการซื้อกาซด้วยเงินรูเบิล ทำให้ราคาพลังงานยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมาก ทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต้องพิจารณานโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ Fed มีแนวโน้มจะเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน โดยมีการคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และอาจจะขึ้นอีกครั้งละ 0.50% ต่อเนื่องอีก 2-3 ครั้งด้วย ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวขึ้นอย่างมาก และมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต ในขณะที่การระบาดของ Covid-19 ในจีนมีการขยายวงมากขึ้นจากเซี่ยงไฮ้ไปยังปักกิ่ง ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าจีนจะขยายมาตรการ Lockdown จากเซียงไฮ้ไปยังปักกิ่งด้วย ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลงในเดือนเมษายน โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกภายในประเทศของไทยก็ยังช่วยประคองให้ SET Index ปรับตัวลดลงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ จากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการที่การระบาดของ Covid-19 ในประเทศมีแนวโน้มลดลง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าการระบาดจะเร่งตัวขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประทศมากขึ้น ทั้งการยกเลิกการตรวจ RT-PCR มาเป็นการตรวจ ATK และการยกเลิก Test & Go ซึ่งทำให้มีความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ยังมีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาวะการลงทุนในเดือนเมษายนค่อนข้างซบเซา เนื่องจากมีเทศกาลหยุดยาวประจำปี นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเงินเฟ้อ และความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,667.44 จุด ลดลง 27.80 จุดหรือ -1.64% จากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายต่อวันลดลงจาก 89,195 ล้านบาทในเดือนมีนาคม เหลือ 71,959 ล้านบาทในเดือนเมษายน โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +11.1% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +4.7% และกลุ่มการแพทย์ +2.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ -9.5% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -6.3% และกลุ่มบันเทิงและสันทนาการ -2.9%

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 10,869 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,350 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 13,152 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 3,634 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม

SET Index ปรับตัวขึ้น 0.6% สู่ระดับ 1,695.24 จุด จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่เริ่มเบาบางลงในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องด้วยความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย หลังจากที่มีการปรับตัวลงไปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องด้วยความกังวลถึงผลกระทบจาก Geopolitical Risks ระหว่างยูเครน-รัสเซีย ประกอบกับการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 คือ ความเสี่ยงจากสงครามยูเครน-รัสเซียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยทั้งสองประเทศยังคงสู้รบกันอย่างต่อเนื่องและหลังจากการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าเป็นรอบที่ 3 ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่ตลาดจะเริ่มรับรู้ และฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่คอยกดดันตลาดหุ้นตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2565 โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระดับสูงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของหลายๆ ประเทศทั่วโลกจากการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วและปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมไปถึงถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ที่จะมีการหารือกับสมาชิก Fed ถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 50 bps ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินตึงตัวยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะการลงทุนในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ อีกทั้งยังมีประเด็นความเสี่ยงเพิ่มเติมของสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศจีนที่กลับมาระบาดอีกครั้ง จนเกิดการ Lockdown ขึ้นในหลายเมืองสำคัญ อาทิเช่น เซิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าหลายๆ ประเภท แต่ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ตลาดกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งจากประเด็นบวกของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียที่ดีขึ้น เนื่องด้วยการเจรจาในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งรัสเซียยอมตกลงที่จะถอยกำลังทหารออกจากกรุงเคียฟ เพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างทั้งสองประเทศ

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนมีนาคม 2565 คือตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยที่อัตราผู้ป่วยใหม่รายวันยังคงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้ที่หายป่วยรายวัน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการเริ่มผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยบวกภายในประเทศ คือ การที่รัฐบาลออกนโยบายจะทยอยเปิดเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,695.24 จุด เพิ่มขึ้น 10.06 จุดหรือ 0.6% จากเดือนก่อน โดยช่วงครึ่งแรกของเดือน ปัจจัยแวดล้อมเป็นไปในเชิงลบอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่รุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้สหรัฐฯและประเทศในกลุ่ม EU ตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงความกังวลว่าจะมีการคว่ำบาตรสินค้าพลังงานจากรัสเซียด้วย ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน สร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลกที่ Fed มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในจีนจนเกิดการ Lockdown ในหัวเมืองต่างๆ ปัจจัยลบเหล่านี้กดดันให้ดัชนี SET Index ลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,619 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ก่อนที่ครึ่งหลังของเดือนมีนาคม 2565 ดัชนี SET Index จะฟื้นขึ้นจากแรงซื้อกลับหลังตลาดรับรู้ข่าวลบไปมากแล้ว และความคาดหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครน-รัสเซีย และนโยบายการเปิดเมืองของประเทศ โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการแพทย์ 8.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.9% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5.1% ในขณะที่กลุ่มธนาคาร -3.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -2.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.1% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 33,530 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 7,079 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิที่ 17,684 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิที่ 8,767 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2565

SET Index ปรับตัวขึ้น 2.21% สู่ระดับ 1,685.18 จุด โดยได้รับแรงสนับสนุนจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่ออกมาดีกว่าคาด และ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากความตึงเครียดของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศไทยที่พุ่งสูงขึ้นเกิน 20,000 รายต่อวัน

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คือแรงกดดันจากความตึงเครียดของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยหลังจากการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่สัมฤทธิ์ผล รัสเซียจึงเปิดฉากเข้าโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลง ตลาดหุ้นของรัสเซีย (ดัชนี MOEX) ปรับตัวลดลง 45% จากวันทำการก่อนหน้า และ SET Index ปรับตัวลดลง 0.65% จากวันทำการก่อนหน้า โดยหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้ทยอยคว่ำบาตรรัสเซียด้วยวิธีต่างๆ อาทิเช่น ควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินทุน การห้ามค้าขาย การห้ามการเดินทางของผู้อำนาจของรัสเซีย และการชะลอการอนุมัติโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 ของเยอรมัน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญของรัสเซียในการควบคุมอุปทานของก๊าซธรรมชาติในประเทศแถบทวีปยุโรป โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นจำกัดเนื่องจากไทยกับรัสเซียค้าขายกันในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณยอดส่งออก/นำเข้าทั้งหมดของประเทศไทย แต่แรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นยังส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนรุนแรงอยู่ในระยะสั้น และจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมหากสงครามนั้นยังยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คือตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 24,932 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อด้วยวิธีการตรวจผ่านชุดตรวจ ATK รายวันสูงทะลุ 20,000 ราย โดยทางภาครัฐยังไม่ได้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นเพิ่มเติม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นน้อยมาก ในทางกลับกัน ภาครัฐยังมีการผ่อนคลายมาตรการทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ในโครงการ Test&Go ได้ปรับลดจำนวนครั้งของการตรวจ RT-PCR จาก 2 ครั้งเป็น 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และให้เปลี่ยนเป็นการตรวจแบบ ATK แทน รวมไปถึงการปรับลดวงเงินประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากขั้นต่ำที่ 50,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็เป็นช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่แสดงผลการดำเนินงานที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ มีการฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 3 ที่มีการระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์เดลต้า และเติบโตมากกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ทำให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นได้แม้ว่าสถานการณ์ในต่างประเทศจะไม่ดีนัก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,685.18 จุด เพิ่มขึ้น 36.37 จุดหรือ 2.21% จากเดือนก่อน โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดัชนีปรับตัวขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 1,718.55 จุด ด้วยแรงสนับสนุนจากการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่ดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างประเทศจากแรงกดดันจาก Geopolitical Risks ระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ว่าจะมีความพยายามให้เกิดการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมทั้ง SET Index ร่วงลงอย่างหนัก จน SET Index หลุดต่ำกว่า 1,700 จุด ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่มการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 7.3% และกลุ่มพาณิชย์ 6.6% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการเกษตร -5.5% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -4.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.9% ให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลงมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 62,975 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 4,630 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิที่ 39,299 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิที่ 28,306 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2565

SET Index ปรับตัวลดลง 0.53% สู่ระดับ 1,648.81 จุด สะท้อนภาพความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิเช่น นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯที่มีแนวโน้ม Hawkish มากขึ้น และต้นทุนผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ทว่ายังมีปัจจัยบวกภายในประเทศที่คอยสนับสนุนตลาดฯ อยู่ อาทิเช่น การผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron และการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด

ปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ การที่ Fed ได้ส่งสัญญาณที่ Hawkish มากขึ้นในการดำเนินนโยบายทางการเงินในปีนี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนธันวาคม 2564 ของ Fed ออกมา เนื้อหาในการประชุมนั้นได้มีการกล่าวถึงการทำ Quantitative Tightening หรือ นโยบายทางการเงินในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบภายในปี 2565 หลังจากที่จะมีการเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า Fed จะลงมือดำเนินนโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบหลังจากที่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯไปสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเหตุผลหลักในการตัดสินใจของ Fed คือตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่สูง ไปแตะระดับ 7% เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี สืบเนื่องมาจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายลง เพราะระยะเวลาการส่งสินค้าของผู้ผลิตที่นานขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันสถานการณ์อุปสงค์ของสินค้าทั่วโลกที่มีมากกว่าอุปทานของสินค้า ผู้ผลิตจึงมีอำนาจต่อรองในการเพิ่มราคาสินค้าได้ ราคาสินค้าทั่วโลกจึงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกให้คงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยหลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมของ Fed นั้น ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะดำเนินนโยบายทางการเงินในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา

ปัจจัยบวกภายในประเทศที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ SET Index ไม่ปรับตัวลงแรงได้คือ การผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดที่รวดเร็วในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา แต่ระดับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม 2565 โดยอยู่ที่ระดับ 7,000 – 9,000 รายต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ Best Case ที่ ศบค. ได้คาดการณ์ไว้ โดยจากการคาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มที่จะลดลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการลง โดยปรับลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัดเหลือเพียงแค่ 44 จังหวัด และเปิดลงทะเบียน Test&Go ได้อีกครั้งตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่คอยสนับสนุน SET Index คือการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด โดยเริ่มจากการประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดในไตรมาสที่ 4/2564

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,648.81 จุด ลดลง 8.81 จุดหรือ 0.53% จากเดือนก่อนที่ SET Index ได้ทำจุดสูงสุดในรอบ 29 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1682.93 จุด ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนมกราคม 2565 นั้น เป็นไปในทิศทางบวกในช่วงครึ่งเดือนแรก จากการผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron และการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม SET Index มีทิศทางปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือน ซึ่งแรงกดดันต่างๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่ Fed ส่งสัญญาณการดำเนินการนโยบายทางการเงินที่ Hawkish มากขึ้น โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 5.9% กลุ่มธนาคาร 3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.9% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -15.9% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -5.4% กลุ่มการแพทย์ -3.0% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 14,359 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 3,501 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิที่ 7,322 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 25,183 ล้านบาท ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +5.7% สู่ระดับ 1,657.62 จุด แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อนข้างย่ำแย่ในไตรมาสที่ 3 แต่ปัจจัยลบเหล่านี้ดูเหมือนจะมีหนทางคลี่คลาย ประกอบกับช่วงเดือนธันวาคมเป็นเทศกาลหยุดยาว ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่อยากขายหุ้นจะปรับ Portfolio ไปตั้งแต่เดือนก่อนหน้าแล้ว ทำให้แรงซื้อที่เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจข้ามปีผลักดันใน SET Index ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ ความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมา โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 39 ปี ทำให้การประชุม FOMC ในวันที่ 14-15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา FED มีมติเร่งปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) จากเดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะทำให้ FED ยุติโครงการ QE ในเดือนมีนาคม 2565 และจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เป็นลำดับถัดไป โดยอ้างอิงจาก Dot Plot ของ FED นั้น เจ้าหน้าที่ FED ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จำนวน 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 3 ครั้งในปี 2566 และอีกจำนวน 2 ครั้งในปี 2567 รวมทั้งหมด 8 ครั้ง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะไปสิ้นสุดที่ 2.5% ในปี 2567 ซึ่งหลังจากที่มีการแถลงแนวโน้มที่ Hawkish มากขึ้นของ FED เนื่องจากเห็นว่า FED มีการดำเนินนโยบายนำหน้าปัญหา และคลายความกังวลของตลาดจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการตอบรับที่ดีขึ้น และส่งผลให้เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นซื้อสุทธิมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ตลาดก็มีการคลายความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถในการแพร่กระจายที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อาทิเช่น Delta หรือ Alpha แต่ทว่ามีความรุนแรงที่เบากว่า โดยหน่วยงานหลักประกันสุขภาพของอังกฤษได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ว่า โอกาสที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นน้อยกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Delta ถึง 50-70% ซึ่งจะช่วยบรรเทาความกดดันในระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศไปได้ส่วนหนึ่ง และคลายความกังวลของนักลงทุนว่าประเทศต่าง ๆ จะไม่ออกมาตรการ Lockdown ที่รุนแรงและยาวนานเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยภายในประเทศเองยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน SET Index ปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2564 แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ทำให้มีการ Lockdown ในหลายจังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยก็เหมือนผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/2564 และต่อเนื่องในปี 2565 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ความต้องการซื้อในประเทศเริ่มขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า และเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในเทศกาลปีใหม่ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต่อศักยภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2564 SET Index ปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด เพิ่มขึ้น 88.93 จุดหรือ 5.67% จากเดือนก่อน โดยตลอดทั้งเดือนนั้น SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีจากการที่ตลาดคลายความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากท่าทีของ FED ที่ Hawkish มากขึ้น และการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่แม้จะมีความสามารถในการระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ทว่ามีความรุนแรงที่น้อยกว่า รวมไปถึงภาพของเศรษฐกิจไทยที่ได้ผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4/2564 เนื่องด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +15.0% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +10.5% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +10.4% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -5.1% กลุ่มพาณิชย์ +0.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +1.2% ให้ผลตอบแทนการลงทุนน้อยที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิที่ 23,223 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิที่ 10,982 ล้านบาท นอกจากนี้ บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 2,391 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิที่ 8,630 ล้านบาทและ 16,984 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตลอดทั้งปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 13,672 ล้านบาทและ 112,241 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 77,336 ล้านบาทและ 48,578 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ แต่ลดการถือครองในกลุ่มค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -3.37% สู่ระดับ 1,568.69 จุด จากประเด็นความกังวลว่า FED จะมีการเร่งลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคม 2564 และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่เร็วกว่าการคาดการณ์เดิม รวมถึงประเด็นความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Omicron จึงทำให้ตลาดปรับตัวลงค่อนข้างมากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ ความกังวลว่า FED จะมีการเร่งลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ โดยก่อนหน้านี้ FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม ขณะที่ประกาศจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะทำให้โครงการ QE สิ้นสุดลงในช่วงกลางปี 2565 และในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะมีการประเมินอัตราเงินเฟ้อและตลาดแรงงานก่อนที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ตลาดเริ่มมีภาพการปรับตัวที่ดีขึ้นจากการคลายความกังวลในช่วงเวลาในการทำ QE Tapering อย่างไรก็ตาม จากรายงานการประชุม FOMC ที่ออกมาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการส่งสัญญาณว่า FED พร้อมที่จะเร่งเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดวงเงิน QE หากตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับถ้อยแถลงที่ Hawkish ของเจ้าหน้าที่ FED หลายท่าน ทำให้ FED Fund Futures Rate สะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2565 และคาดว่า FED จะประกาศเรื่องการเร่งการลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุมเดือนธันวาคม (15-16 ธันวาคม) นี้ โดยจะเริ่มทำตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2565 และจบการซื้อหลังกลางเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยแนวโน้มที่ Hawkish มากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และ US Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น กดดันสินทรัพย์เสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหนึ่งประเด็นที่เข้ามากดดันคือ ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ ที่เรียกว่า Omicron ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอาจจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่หลายประเทศ อาทิเช่น ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ พบผู้ติดเชื้อสายพันธ์ Omicron ในประเทศแล้ว และหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสที่จะเผชิญกับผลประกอบการที่ลดลงอีกครั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบในทิศทางลบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศเองยังได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจาก 8,165 ราย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ลงไปที่ 4,306 ราย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 บวกกับจำนวนผู้หายป่วยในแต่ละวันที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายวัน ซึ่งช่วยให้ความกังวลต่อภาพรวมของระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นลดลง ส่งผลให้ SET Index ปรับขึ้นได้ในทิศทางบวกเกือบตลอดทั้งเดือน ก่อนที่ในช่วงปลายเดือนจะโดนผลกระทบในทิศทางลบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ได้กล่าวไปในข้างต้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 SET Index ปิดที่ระดับ 1,568.69 จุด ลดลง 54.74 จุดหรือ 3.37% จากเดือนก่อน โดยในช่วงต้นถึงกลางเดือนนั้น SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ออกมาดีกว่าคาด ภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET อยู่ที่ 2.11 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลประกอบการเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มการแพทย์ สื่อและสิ่งพิมพ์ ขณะที่กลุ่มที่ผลประกอบการลดลง ทั้ง YoY และ QoQ คือ ICT วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 9.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6.5% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.0% ในขณะที่กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -10.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -7.6% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.4% ให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลงมากที่สุด ซึ่งแรงกดดันจากความกังวลจากภายนอกประเทศในช่วงสิ้นเดือน เข้ามากดดัน SET Index ให้ปรับตัวลงแรงหลุดระดับ 1,600 จุดอีกครั้ง

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิที่ 10,982 ล้านบาทอีกครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15,886 ล้านบาท นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 9,701 ล้านบาทและ 7,301 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 27,983 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 11,282 ล้านบาทและ 129,225 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 68,706 ล้านบาทและ 71,801 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร ICT แต่ลดการถือครองในกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +1.1% สู่ระดับ 1,623.43 จุด จากการคลายความกังวลเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ตลาดยังมีแรงกดดันจากประเด็น QE Tapering อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาด คือ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้เป็นการชั่วคราว และประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายทันก่อนกำหนดในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ถือเป็นจิตวิทยาทางบวกต่อการลงทุน แต่ประเด็นหลักที่ตลาดให้ความสนใจอีกประเด็น คือ QE Tapering โดยประธาน FED ส่งสัญญาณว่า FED จะปรับลดการซื้อสินทรัพย์ในเดือนหน้า แต่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากการจ้างงานยังคงต่ำกว่าช่วงก่อน Covid-19 อยู่ประมาณ 5 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนั้น การประเมินจะสิ้นสุดในปีหน้า การทำ QE Tapering ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ Fund Flows ในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างผันผวน โดยในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดเอเชีย -3.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเกิดแรงเทขายอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียเหนือ ในประเทศไต้หวัน และประเทศเกาหลีใต้ ในทางกลับกัน นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิในประเทศกลุ่ม TIPs ทุกประเทศ โดยมีเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซียมากที่สุด ตามด้วยตลาดหุ้นไทย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศได้รับแรงกระตุ้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีขึ้น และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดระดับลง ทำให้มีการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมมีการปรับเวลาเคอร์ฟิวลงเป็น 5 ทุ่มถึงตี 3 เริ่ม 16 ตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจัดงานแสดงสินค้า-ศูนย์ประชุม-จัดนิทรรศการได้ ให้สนามกีฬาทุกประเภท-สวนสาธารณะเปิดได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นบวกจากยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่มีผลการทดลองว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา Covid-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะสามารถนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 เป็นการเพิ่มความคาดหวังเชิงบวกที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยเป็นการรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด 2) ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนอกเหนือจากข้อ 1 จะต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) และอยู่ 7 วัน เมื่อครบแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้ 3) กรณีไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ ต้องกักตัว 7-10 วัน นอกจากนี้ มาตรการเคอร์ฟิวจะถูกยกเลิกในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ทำให้ส่งผลในเชิงบวกต่อกลุ่ม Re-Opening อย่างต่อเนื่อง และทำให้กลุ่มอิงการท่องเที่ยวฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,623.43 จุดปรับตัวขึ้น 17.75 จุดหรือ +1.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ที่ราว 50 จุดเท่านั้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นกระจุกตัวในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น กลุ่มพลังงานที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นแรง และกลุ่มธนาคารที่รายงานงบไตรมาส 3 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่วนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองได้ปรับเพิ่มขึ้นก่อนหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังคงรอปัจจัยสนับสนุนใหม่ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 3 ของภาค Real Sector ที่มีแนวโน้มออกมาไม่ดีนัก จากผลกระทบจากการ Lockdown ในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดแรงขายทำกำไรหุ้นไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 6.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 4.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 3.9% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -6.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.5% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -1.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 5,855 ล้านบาท และ 15,886 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 18,063 ล้านบาทและ 3,678 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 18,582 ล้านบาท และ 101,242 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 59,005 ล้านบาทและ 60,819 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 3 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ICT และปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -2.0% สู่ระดับ 1,605.68 จุด โดยปัจจัยภายนอกเป็นแรงกดดันตลาด ประกอบด้วยเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศจีน การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เกี่ยวกับ QE Tapering ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่กดดันตลาด คือ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ซึ่งบริษัท เอเวอร์แกรนด์ มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในเดือนนี้ ในวันที่ 23 กันยายน มูลค่า 83.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 29 กันยายน มูลค่า 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้ทั้ง 2 งวด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ส่งสัญญาณที่จะทยอยปรับลดวงเงินของโครงการ PEPP ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 โดย ECB มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2021 ขึ้นสู่ 5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2021 ปรับเพิ่มเป็น 2.2% ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ 1.7% ในปี 2022 และ 1.4% ในปี 2023 ขณะที่ผลการประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับลดวงเงิน QE ในไม่ช้า ขณะที่ Dot Plots แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิมในปี 2023 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์ว่า FED จะประกาศ Tapering ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2021 และมีในผลเดือนธันวาคม 2021 และคาดว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2023 โดยปรับดอกเบี้ยขึ้นทุก ๆ 6 เดือน และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งต่อปี ในภาพรวม การทำ QE Tapering ไม่ได้มีสัญญาณเร่งตัว แต่ภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED ส่งสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสู่ระดับ 4% ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจัยทั้งหมดทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสู่ระดับ 94.3 จุดและ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.53% กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกและทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากทวีปเอเชีย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม ให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินได้ ประกอบด้วย ร้านเสริมสวย ธุรกิจร้านนวด ร้านสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ ขณะที่ร้านอาหารสามารถเล่นดนตรีได้ตามปกติ นอกจากนี้ ได้ปรับลดระยะเวลามาตรการเคอร์ฟิวลง เป็น ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ขณะที่ห้างสรรพสินค้าปรับเวลาเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงมีการต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% โดยย้ำว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว โดยมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย จากการกระจายวัคซีนและผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เร็วกว่าคาด และคงการคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ระดับ 0.7% ขณะที่ปี 2022 ปรับกลับมาที่ระดับ 3.9% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 3.7%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,605.68 ปรับตัวลง 33.07 จุดหรือ -2.0% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร 6.8% (โดยได้รับผลกระทบหลักจากการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB) กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.5% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -14.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,378 ล้านบาท 11,137 ล้านบาท และ 2,809 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 15,325 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 12,727 ล้านบาท และ 104,920 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,942 ล้านบาทและ 76,705 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 2 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ICT ปิโตรเคมี แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.