ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2566

SET Index ในเดือนตุลาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,381.83 จุด ลดลง 6.09% จากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยกดดันมาจากผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นและดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น กดดันบรรยากาศการลงทุน ผนวกกับแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น หลังจากอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเข้าสู่ภาวะสงคราม ส่วนด้านปัจจัยภายในประเทศนั้นก็อยู่ในภาวะซบเซา โดยทิศทางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวดูอ่อนแอกว่าที่คาด จากเหตุกราดยิงที่ห้างฯสยามพารากอนกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และความไม่ชัดเจนของแนวทางมาตรการดิจิตอลวอลเล็ต มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 45,582 ล้านบาท (-4.84% MoM)

ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยกดดันเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนมาหักล้าง เป็นเหตุให้หุ้นหลายตัวปรับตัวลง ซึ่งนักลงทุนยังคงกังวลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในหุ้นกับผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลที่แคบลง โดยเฉพาะเมื่อนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์กว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมายเงินเฟ้อระยาวที่ 2% ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง บริษัทต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและยาวนานขึ้นไปอีก ส่งผลต่อภาวะการลงทุน การจ้างงาน กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งทำให้ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะได้รับผลกระทบหากสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลยืดเยื้อ นอกจากนี้ บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังเหตุการณ์ที่ห้างฯสยามพารากอนกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การฉีดยากระตุ้นเศรษฐกิจของไทยผ่านมาตรการดิจิตอลวอลเล็ตของรัฐบาลที่อาจจะเห็นผลดีในระยะสั้น แต่อาจจะทำให้มีผลข้างเคียงในระยะยาว ทำให้นโยบายการคลังของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตามอง โดยมีข่าวลบทยอยออกมาทั้งเดือน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาตัดคนรวยหรือผู้มีรายได้เกินเกณฑ์ เพื่อลดงบประมาณของโครงการ และเลื่อนกำหนดเวลาออกมาตรการเป็นช่วงเมษายน-พฤษภาคม ปี 2567 จากเดิมช่วงเดือนมกราคม รวมถึงความเสี่ยงที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในไตรมาสที่ 3/2566 จะออกมาต่ำกว่าที่คาด

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 9 ที่ 1.57 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 2.20 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีหุ้นกลุ่มไหนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ในขณะที่กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -11.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.3% และกลุ่มยานยนต์ -11.1% ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามว่าผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ และของไทยที่อาจจะทยอยปรับลดลงในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2566 ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันต่อ Valuations ของสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2566

SET Index ในเดือนกันยายน 2566 ปิดที่ระดับ 1,471.43 จุด ลดลง 6.04% จากเดือนก่อนหน้า จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ผลกระทบนโยบายภาครัฐ และ Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกันยายน อยู่ที่ 47,907 ล้านบาท (-15.73% MoM)

ตลาดกังวลนโยบายเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน และราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มอุปทานตึงตัวจากการลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วันของซาอุฯ โดยในช่วงต้นเดือน กกพ. มีมติปรับลดค่าไฟ Ft งวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 จากมติเดิม 4.45 บาท/kWh เหลือ 4.10 บาท/kWh เป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นโรงไฟฟ้า ต่อมารัฐบาลได้ประกาศลดค่าไฟ Ft ลงอีกจาก 4.10 บาท เหลือ 3.99 บาท ทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้ามีแรงขายต่อเนื่อง ซึ่งดัชนีอุตสาหกรรมพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าตลาดรวมของ SET Index จึงมีอิทธิพลต่อการปรับลดลงของภาพรวมตลาดหุ้นไทย อีกทั้งผลกระทบจากการดำเนินการนโยบาย Digital Wallet ในเรื่องการจัดหาเงินทุน ที่ยังไม่มีความชัดเจนจะมาจากทางใด ประกอบกับประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการปรับลด Credit Rating ของไทย หลังจากสถาบัน Moody’s ออกมาเตือน เป็นปัจจัยที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา

ด้านผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และไทย 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี และ 11 เดือน ตามลำดับ ในขณะที่ผลตอบแทน (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.6% และ 3.23% ตามลำดับ ทั้งนี้ กนง. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.50% ในการประชุมครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลให้ความน่าสนใจตลาดหุ้นโดยรวมลดลงโดย Forward Earning Yield Gap ของ SET ปรับตัวลดลงเหลือ 2.92% ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยและโลกในช่วงนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุน คือ นโยบายฟรีวีซ่าจีน-คาซัคสถาน มีผลตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยททท. คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2566 ได้ 4-4.4 ล้านคน เป็นปัจจัยบวกกับกลุ่มท่องเที่ยวในระยะกลาง

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 8 ที่ 2.20 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 1.54 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.0% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -21.4% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -13.9% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -12.1% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเราคาดว่าหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยเรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่า ที่จะช่วยลดความยุ่งยากให้แก่นักท่องเที่ยวจีน จะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ หากมาตรการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาทมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนันสนุนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2566

SET Index ในเดือนสิงหาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,565.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนก่อน โดยปัจจัยภายนอกกดดันในช่วงต้นเดือน แต่ปัจจัยภายในเรื่องการเมืองได้มาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงครึ่งเดือนหลัง

สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก ได้แก่ การที่ Fitch Ratings ปรับลด Credit Rating สหรัฐฯลง 1 notch ไปอยู่ที่ AA+ สร้างความกังวลว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ถูกประกาศออกมาก็อ่อนแอกว่าคาด และประเทศจีนยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจาก Country Garden ที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนมองว่าประชาชนชาวจีนจะยังหลีกเลี่ยงการจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงการออกมาท่องเที่ยว เนื่องจากมีความกังวลในความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ คือ ประเด็นการเมืองที่มีความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับคะแนนเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เกินกึ่งหนึ่งจากการประชุมสภาฯ ประกอบกับความชัดเจนของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจากสภาวะสุญญากาศทางการเมือง และเริ่มคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิเช่น การแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่าน Digital Wallet และมาตรการ Free Visa สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +10.9% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +9.2% และกลุ่มยานยนต์ +6.6% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.6% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.4% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.3% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนสิงหาคมนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1.5 หมื่นล้าน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.2 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.4 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน โดยเรามีความหวังว่าหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป โดยเรามองว่ามาตรการ Free Visa ที่จะช่วยลดความยุ่งยากให้แก่นักท่องเที่ยวจีนจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เรายังคงติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ หากเมื่อมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2566

SET Index ในเดือนกรกฎาคม 2566 ปิดที่ระดับ 1,556.06 จุด เพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนก่อน โดยดัชนีได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีการปรับตัวลงแรงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ของ SET Index อยู่ที่ -6.7%

สำหรับปัจจัยหลักภายนอก ได้แก่ การกลับมาเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทั้งจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันและรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันในช่วงต้นเดือน การที่นักลงทุนคาดหวังว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นหลังทางการจีนประกาศเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการคาดหวังว่า FED จะหยุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ผลักดันให้ราคาหุ้นกลุ่มธุรกิจน้ำมันปรับขึ้นตามด้วย ส่วนราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นได้แรงหนุนจากส่วนต่างค่าการกลั่นในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คือ การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประกาศส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ความกังวลต่อนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ไม่เอื้อต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯก็เบาบางลง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามีการปรับตัวขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันจากนโยบายพรรคก้าวไกลมากที่สุด

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 21.2% จากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น DELTA ซึ่งรายงานกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ดีกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้มาก กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 7.5% และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 5.2% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -4.2% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -3.3% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -3.3% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนมิถุนายนนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 1.3 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.4 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเราได้เห็นสัญญาณบวกจากการที่การส่งออกพลิกกลับเติบโตในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นกับการท่องเที่ยวที่แม้ว่าจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดี แต่สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนยังช้าตามเศรษฐกิจประเทศจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ทำให้เมื่อสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวก็ตาม

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2566

SET Index ปิดที่ระดับ 1,503.10 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.98% โดยดัชนีขยับขึ้นมาในช่วงครึ่งเดือนแรก ก่อนจะปรับตัวลงมาแรงในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยมีปัจจัยกดดันทั้งจากภายนอกและภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ของ SET Index อยู่ที่ -9.92% ให้ผลตอบแทนรั้งท้ายในตลาดภูมิภาคเอเชีย

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกปัจจัยแรก ได้แก่ การที่ FED ยังส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจทั้งการบริโภค ตลาดแรงงาน และราคาบ้าน ในเดือนล่าสุดยังออกมาแข็งแกร่งปัจจัยกดดันถัดมาคือ ความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว สะท้อนผ่านรายงานยอดส่งออกจีนเดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวลดลง 7.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของผู้เรียนจบใหม่ก็ยังสูง ทำให้มีการทยอยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GPD ประเทศจีนลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นประเทศไทยยังได้รับอานิสงส์จากข่าวรัฐบาลจีนกำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาพยุงตลาดไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยกดดันหลักนั้นหนีไม่พ้นเรื่องความไม่ชัดเจนทางการเมือง หลังมีข่าวว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สามารถตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรกันได้ และยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการที่นายพิธาจะขึ้นเป็นนายกฯ เนื่องจากอาจจะได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาไม่เพียงพอ นอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยลบจากหลายบริษัทในตลาด ได้แก่ (1) DELTA ที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงแรงหลังจากถูกมาตรการกำกับซื้อขาย (2) TRUE และ DIF ที่นักลงทุนกังวลเรื่องการเพิ่มทุนและ TRUE อาจยกเลิกการใช้เสาของ DIF (3) JMART และ JMT ที่ถูกเทขายเนื่องจากถูกถอดออกจากดัชนี SET50 รอบครึ่งปีหลัง (4) EA, NEX และ BYD ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงหลังมีข่าวรถบัสไฟฟ้าไฟไหม้ และท้ายที่สุด (5) STARK ที่มีข่าวการทุจริตและพยายามตกแต่งบัญชี ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อบริษัทในตลาดโดยรวม

สรุปในเดือนที่ผ่านมา กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4.2% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 2.1% และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 1.5% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ -10.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -9.9% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.7% สำหรับปริมาณการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนในเดือนมิถุนายนนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 9.1 พันล้าน โดยเป็นการขายสุทธิห้าเดือนติดต่อกัน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.9 พันล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1.9 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 8.1 พันล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เรายังคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีโอกาสในการฟื้นตัว นำโดยการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก และไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ปัจจัยกดดันตลาดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจจะกดดันบริษัทจดทะเบียนบางกลุ่มได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2566

SET Index แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อย โดยปรับตัวปิดที่ระดับ 1,533 จุด (+0.29% จากเดือนเมษายน) โดยมีปัจจัยบวกและลบสลับเข้ามากระทบตลาดตลอดทั้งเดือน สำหรับปัจจัยภายนอกคือ เรื่องความยืดเยื้อของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯหลังจากสภาบนและสภาล่างของสหรัฐฯมีความเห็นไม่ตรงกัน ก่อนที่จะมีข้อตกลงเชิงบวกช่วงท้ายเดือน ส่วนปัจจัยภายในจะเป็นในเรื่องของผลของการเลือกตั้งที่ผลลัพธ์นั้นออกมาผิดไปจากที่ตลาดคาด โดยพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด และได้สิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน สร้างความกังวลให้กับตลาดทุนจากนโยบายของพรรคที่มีโอกาสสร้างผลกระทบให้แก่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาด

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกนั้นนอกเหนือจากเรื่องการบรรลุข้อตกลงการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ทำให้ความกังวลต่อการผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯได้คลี่คลายออกไป ยังมีเรื่องโอกาสที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 bps จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังออกมาแข็งแกร่ง และยังคงมองว่าปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังไม่สิ้นสุดลง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ จะมีเรื่องผลของการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนสูงสุดและมีสิทธิในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่ใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทย ประกอบกับสมาชิกวุฒิสภาที่ยังคงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ยังมีความไม่ชัดเจนต่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะออกมาในรูปแบบไหน นอกจากนี้ จากนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้นโยบายหลายนโยบายส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาด อาทิ นโยบายลดค่าไฟที่สร้างความกังวลต่อโอกาสในการเติบโตในประเทศของโรงไฟฟ้าในกลุ่มใช้ก๊าซ การเพิ่มภาษีบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรเกิน 300 ล้านบาทจาก 20% เป็น 23% การเก็บภาษีผู้มีสินทรัพย์เกิน 300 ล้านบาท การเก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง และเรื่องของ Capital Gain Tax ที่สร้างความกังวลว่าจะทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดลดลง นโยบายทั้งหมดได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 31.7% กลุ่มยานยนต์ 5.8% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 4.0% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี
-8.3% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -6.5% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -6.2% โดยปริมาณการซื้อขายในเดือนพฤษภาคมนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.3 หมื่นล้านโดยเป็นการขายสี่เดือนติดต่อกัน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.5 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.2 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เราคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีโอกาสในการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยว เราคาดว่าหลังจากเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งแล้ว หากประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีการฟังความเห็นของภาคเศรษฐกิจมาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของประเทศ ตลาดหุ้นไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2566

SET Index เดือนเมษายน ปิดที่ระดับ 1,529.12 จุด (-4.97% จากเดือนมีนาคม) ปัจจัยภายในหลักมาจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น DELTA หลังจากบริษัทรายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด การรอดูผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง การลดการลงทุนของนักลงทุนในประเทศเนื่องจากเทศกาลวันหยุดยาว และปัญหาผลกระทบจากหุ้น STARK ที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ส่วนปัจจัยภายนอกก็ยังคงเป็นเรื่องความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันนักลงทุน

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกนั้นประกอบไปด้วย ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกา หลังจากรายงานตัวเลขภาคการบริโภคออกมาอ่อนตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค CCI เดือนเมษายนพลิกกลับมาลดลง -2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารในอเมริกายังกลับมาอีกครั้ง หลังจาก First Republic Bank รายงานฐานเงินฝากช่วง 1Q23 ลดลงกว่า 40% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงในธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

สำหรับภายในประเทศ ปัจจัยลบเริ่มจากการประกาศผลการดำเนินงานของ DELTA ที่รายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด ที่ถึงแม้จะเห็นกำไรสุทธิเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เริ่มเห็นการหดตัวที่ 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของกลุ่มธุรกิจ Data Center โดยผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ประมาณ 10% ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงกว่า 36% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยลบถัดมาคือเรื่องของการเลือกตั้ง หลังจากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความต่อเนื่องในการบริหารงาน ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวของไทยในช่วงกลางเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนยังเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ออกไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของ STARK ที่คณะกรรมการบริษัทลาออกทั้งหมดและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เข้ามาแทน ในขณะที่บริษัทยังไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้เนื่องจากการสอบทานของผู้สอบบัญชียังไม่แล้วเสร็จ ทำให้นักลงทุนบางส่วนมากังวลกับหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่ราคาปรับตัวลงมากว่าจะมีปัญหาเหมือน STARK หรือไม่ จึงมีการขายหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กออกมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยบวกจากผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จาก NIM ที่ขยายตัว และมีกำไรจากเครื่องมือทางการเงินและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มการแพทย์เป็นอีกกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเข้ามา จากการที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมมีมติเห็นชอบขึ้นอัตราค่าบริการเหมาจ่ายแก่สถานพยาบาลคู่สัญญา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร +3.6% และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +0.6% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -34.1% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -9.3% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -8.4% โดยปริมาณการซื้อขายในเดือนเมษายนนั้นค่อนข้างเบาบาง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 7.9 พันล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 7.6 พันล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.5 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.8 พันล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เราคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง เราคาดว่าหลังจากเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งแล้ว หากประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวดีขึ้นได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2566

SET Index เดือนมีนาคม ปิดที่ระดับ 1,609.17 จุด (-0.81% จากเดือนกุมภาพันธ์) เป็นการปรับลงแรงในช่วงครึ่งเดือนแรกจากความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆค่อย ๆ คลี่คลายลง หลังจากทางการได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเลือกตั้งในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง กกต.ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นแรงสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอก เริ่มจากความกังวลในช่วงต้นเดือนว่า FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง และตลาดได้มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนจากความตื่นตระหนกต่อข่าวธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (FDIC) สั่งปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการแห่ถอนเงินฝากของกลุ่มบริษัท Start-up จนทำให้ทาง SVB ต้องทำการขายขาดทุนพันธบัตรระยะยาวมาคืนผู้ฝาก นอกจากนี้ ตลาดยังโดนกดดันจากปัญหาในภาคธนาคารของยุโรป โดยธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกประสบปัญหาสภาพคล่องหลังมีข่าวว่า Credit Suisse อาจจะมีปัญหาในการเพิ่มทุนเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ติด Limit ในการถือหุ้น และทำให้มีการแห่ถอนเงินจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือนหลังจากทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว โดยในกรณีของ SVB ทาง FED ได้ประกาศการจัดตั้งโครงการ Bank Term Fund Programing โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ส่วนทางธนาคาร Credit Suisse ทางการสวิตเซอร์แลนด์เสนอให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ธนาคาร UBS เป็นมูลค่า 100,000 ล้านฟรังก์ เพื่อให้ทางธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการของธนาคาร Credit Suisse นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้หลักประกัน 9,000 ล้านฟรังก์สำหรับคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่ UBS เข้าครอบครอง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ ปัจจัยแรกคือรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและ กกต.ได้ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินที่ใช้สำหรับการหาเสียงออกมาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ส่วนปัจจัยถัดมาจะเป็นในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและทำให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนน้อยลง โดยมีสาเหตุจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง จากทั้งการคาดการณ์ว่า FED จะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และการที่ประเทศไทยก็มีการทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 20.8% จากแรงเก็งกำไรในหุ้น DELTA และกลุ่มการแพทย์ 3.7% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.4% และธุรกิจการเกษตร -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.2 หมื่นล้านบาทน้อยกว่าเดือนที่แล้วที่ขาย 4.4 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามอาจจะเห็นการอ่อนตัวของผลประกอบการภาคท่องเที่ยวบ้างในไตรมาสนี้เนื่องจากได้รับผลจากฤดูกาล แต่หากมองข้ามไปยังครึ่งปีหลัง เรายังคงมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2566

SET Index เดือนกุมภาพันธ์ ปิดระดับ 1,622.35 จุด (-2.9% จากเดือนมกราคม) เป็นการแกว่งตัวลงตลอดทั้งเดือน โดยรับแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกยังเป็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้ดึงเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้น Emerging Market ส่วนปัจจัยภายในเป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นำไปสู่โอกาสในการปรับประมาณการของปี 2566 ลง

สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ 6.4% และ 5.6% ตามลำดับ ลดลงจาก 6.5% และ 5.7% อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบที่ทาง FED กำหนดไว้ที่ 2% ทำให้ตลาดมีการปรับการคาดการณ์ว่า FED มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 50 bps และอาจจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมเพิ่มถึง 5.17 แสนตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานปรับลดลงสู่ 3.4% จาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงยังปรับตัวขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขทั้งหมดสนับสนุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เมื่อประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯและประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาถึง 3% ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาตินั้นพลิกไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศไทย

สำหรับปัจจัยภายในที่แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้ง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรสุทธิไตรมาสที่ 4/2565 ลดลงถึง 40% YoY และทำให้กำไรสุทธิของปี 2565 เติบโตเพียง 2% โดยมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิตและดำเนินงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงก่อนหน้า การจ่ายผลตอบแทนพิเศษให้พนักงานในช่วงปลายปี รวมไปถึงการตั้งสำรองสินทรัพย์ด้อยค่าของหลายบริษัท นอกจากนี้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของไทยยังขยายตัวต่ำกว่าคาด คือขยายตัวเพียง 1.4% YoY จากการหดตัวของภาคการส่งออก และการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั้งหมดทำให้ตลาดต้องมีการทบทวนประมาณการการเติบโตของ GDP และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนสำหรับปี 2566 ใหม่

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +5.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +0.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร -15.1% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.9% และกลุ่มกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 43.5 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 28.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 13.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่นักลงทุนน่าจะเริ่มลดความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เมื่อคณะกรรมการ FED บางท่านเริ่มส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากอ่อนตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าสู่ประเทศได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2566

SET Index เดือน มกราคม ปิดระดับ 1,671.46 จุด ทรงตัวในกรอบแคบ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.17% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยช่วงสัปดาห์แรกเป็นการแกว่งขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วตอบรับความคาดหวังเชิงบวกจากการที่ประเทศจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดค่อย ๆ ปรับตัวลง จากแรงกดดันของการทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นปัจจัยกดดันทำให้ SET Index ยังไม่สามารถปรับตัวเหนือ 1,700 จุดได้ในเดือนมกราคมนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกเริ่มที่ทางการประเทศจีนได้ตัดสินใจเปิดประเทศเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม โดยสาเหตุหลักมาจากภาคเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันอย่างมากจากนโยบาย Zero Covid19 ประกอบกับเริ่มมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจกับนโยบายข้างต้น รวมไปถึงการที่โควิดสายพันธุ์โอไมครอนก็ไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้าด้วย โดยนักลงทุนต่างคาดหวังว่าการเปิดประเทศของจีนจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม โดยนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว ภาพรวมการบริโภคภายในประเทศก็จะได้รับประโยชน์ทางอ้อม จากการจ้างงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้