ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2566

SET Index เดือนเมษายน ปิดที่ระดับ 1,529.12 จุด (-4.97% จากเดือนมีนาคม) ปัจจัยภายในหลักมาจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น DELTA หลังจากบริษัทรายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด การรอดูผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง การลดการลงทุนของนักลงทุนในประเทศเนื่องจากเทศกาลวันหยุดยาว และปัญหาผลกระทบจากหุ้น STARK ที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก ส่วนปัจจัยภายนอกก็ยังคงเป็นเรื่องความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกาที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันนักลงทุน

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอกนั้นประกอบไปด้วย ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกา หลังจากรายงานตัวเลขภาคการบริโภคออกมาอ่อนตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค CCI เดือนเมษายนพลิกกลับมาลดลง -2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคารในอเมริกายังกลับมาอีกครั้ง หลังจาก First Republic Bank รายงานฐานเงินฝากช่วง 1Q23 ลดลงกว่า 40% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงในธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

สำหรับภายในประเทศ ปัจจัยลบเริ่มจากการประกาศผลการดำเนินงานของ DELTA ที่รายงานผลกำไรต่ำกว่าที่ตลาดคาด ที่ถึงแม้จะเห็นกำไรสุทธิเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เริ่มเห็นการหดตัวที่ 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของกลุ่มธุรกิจ Data Center โดยผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ประมาณ 10% ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงกว่า 36% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยลบถัดมาคือเรื่องของการเลือกตั้ง หลังจากผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความต่อเนื่องในการบริหารงาน ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวของไทยในช่วงกลางเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนยังเลี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ออกไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของ STARK ที่คณะกรรมการบริษัทลาออกทั้งหมดและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เข้ามาแทน ในขณะที่บริษัทยังไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้เนื่องจากการสอบทานของผู้สอบบัญชียังไม่แล้วเสร็จ ทำให้นักลงทุนบางส่วนมากังวลกับหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กที่ราคาปรับตัวลงมากว่าจะมีปัญหาเหมือน STARK หรือไม่ จึงมีการขายหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กออกมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงมีปัจจัยบวกจากผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จาก NIM ที่ขยายตัว และมีกำไรจากเครื่องมือทางการเงินและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มการแพทย์เป็นอีกกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเข้ามา จากการที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมมีมติเห็นชอบขึ้นอัตราค่าบริการเหมาจ่ายแก่สถานพยาบาลคู่สัญญา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร +3.6% และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +0.6% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -34.1% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -9.3% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -8.4% โดยปริมาณการซื้อขายในเดือนเมษายนนั้นค่อนข้างเบาบาง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 7.9 พันล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 7.6 พันล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.5 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 0.8 พันล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เราคงมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง เราคาดว่าหลังจากเห็นความชัดเจนจากการเลือกตั้งแล้ว หากประเทศไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวดีขึ้นได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2566

SET Index เดือนมีนาคม ปิดที่ระดับ 1,609.17 จุด (-0.81% จากเดือนกุมภาพันธ์) เป็นการปรับลงแรงในช่วงครึ่งเดือนแรกจากความกังวลต่อวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆค่อย ๆ คลี่คลายลง หลังจากทางการได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเลือกตั้งในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง กกต.ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นแรงสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยกดดันภายนอก เริ่มจากความกังวลในช่วงต้นเดือนว่า FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง และตลาดได้มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนจากความตื่นตระหนกต่อข่าวธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (FDIC) สั่งปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการแห่ถอนเงินฝากของกลุ่มบริษัท Start-up จนทำให้ทาง SVB ต้องทำการขายขาดทุนพันธบัตรระยะยาวมาคืนผู้ฝาก นอกจากนี้ ตลาดยังโดนกดดันจากปัญหาในภาคธนาคารของยุโรป โดยธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลกประสบปัญหาสภาพคล่องหลังมีข่าวว่า Credit Suisse อาจจะมีปัญหาในการเพิ่มทุนเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ติด Limit ในการถือหุ้น และทำให้มีการแห่ถอนเงินจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตลาดมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือนหลังจากทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว โดยในกรณีของ SVB ทาง FED ได้ประกาศการจัดตั้งโครงการ Bank Term Fund Programing โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ส่วนทางธนาคาร Credit Suisse ทางการสวิตเซอร์แลนด์เสนอให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ธนาคาร UBS เป็นมูลค่า 100,000 ล้านฟรังก์ เพื่อให้ทางธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการของธนาคาร Credit Suisse นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้หลักประกัน 9,000 ล้านฟรังก์สำหรับคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์ที่ UBS เข้าครอบครอง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ ปัจจัยแรกคือรัฐบาลได้ประกาศยุบสภาและ กกต.ได้ประกาศให้วันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินที่ใช้สำหรับการหาเสียงออกมาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน ส่วนปัจจัยถัดมาจะเป็นในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและทำให้กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดทุนน้อยลง โดยมีสาเหตุจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง จากทั้งการคาดการณ์ว่า FED จะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และการที่ประเทศไทยก็มีการทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 20.8% จากแรงเก็งกำไรในหุ้น DELTA และกลุ่มการแพทย์ 3.7% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.4% และธุรกิจการเกษตร -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 3.2 หมื่นล้านบาทน้อยกว่าเดือนที่แล้วที่ขาย 4.4 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสสองของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเม็ดเงินจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามอาจจะเห็นการอ่อนตัวของผลประกอบการภาคท่องเที่ยวบ้างในไตรมาสนี้เนื่องจากได้รับผลจากฤดูกาล แต่หากมองข้ามไปยังครึ่งปีหลัง เรายังคงมั่นใจว่าการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2566

SET Index เดือนกุมภาพันธ์ ปิดระดับ 1,622.35 จุด (-2.9% จากเดือนมกราคม) เป็นการแกว่งตัวลงตลอดทั้งเดือน โดยรับแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายนอกยังเป็นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้ดึงเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้น Emerging Market ส่วนปัจจัยภายในเป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นำไปสู่โอกาสในการปรับประมาณการของปี 2566 ลง

สำหรับปัจจัยกดดันจากภายนอก เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ 6.4% และ 5.6% ตามลำดับ ลดลงจาก 6.5% และ 5.7% อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบที่ทาง FED กำหนดไว้ที่ 2% ทำให้ตลาดมีการปรับการคาดการณ์ว่า FED มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 50 bps และอาจจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคมเพิ่มถึง 5.17 แสนตำแหน่ง ในขณะที่อัตราว่างงานปรับลดลงสู่ 3.4% จาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงยังปรับตัวขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขทั้งหมดสนับสนุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง เมื่อประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯและประเทศไทยที่ปรับขึ้นมาถึง 3% ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาตินั้นพลิกไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศไทย

สำหรับปัจจัยภายในที่แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้ง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยกำไรสุทธิไตรมาสที่ 4/2565 ลดลงถึง 40% YoY และทำให้กำไรสุทธิของปี 2565 เติบโตเพียง 2% โดยมีปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิตและดำเนินงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงก่อนหน้า การจ่ายผลตอบแทนพิเศษให้พนักงานในช่วงปลายปี รวมไปถึงการตั้งสำรองสินทรัพย์ด้อยค่าของหลายบริษัท นอกจากนี้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของไทยยังขยายตัวต่ำกว่าคาด คือขยายตัวเพียง 1.4% YoY จากการหดตัวของภาคการส่งออก และการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทั้งหมดทำให้ตลาดต้องมีการทบทวนประมาณการการเติบโตของ GDP และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนสำหรับปี 2566 ใหม่

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดคือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +5.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +2.7% และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +0.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร -15.1% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.9% และกลุ่มกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.7% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 43.5 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 28.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.1 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศซื้อสุทธิ 13.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับมุมมองในการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 เรามองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่นักลงทุนน่าจะเริ่มลดความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เมื่อคณะกรรมการ FED บางท่านเริ่มส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากอ่อนตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าสู่ประเทศได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2566

SET Index เดือน มกราคม ปิดระดับ 1,671.46 จุด ทรงตัวในกรอบแคบ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.17% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยช่วงสัปดาห์แรกเป็นการแกว่งขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วตอบรับความคาดหวังเชิงบวกจากการที่ประเทศจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดค่อย ๆ ปรับตัวลง จากแรงกดดันของการทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นปัจจัยกดดันทำให้ SET Index ยังไม่สามารถปรับตัวเหนือ 1,700 จุดได้ในเดือนมกราคมนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกเริ่มที่ทางการประเทศจีนได้ตัดสินใจเปิดประเทศเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม โดยสาเหตุหลักมาจากภาคเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันอย่างมากจากนโยบาย Zero Covid19 ประกอบกับเริ่มมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจกับนโยบายข้างต้น รวมไปถึงการที่โควิดสายพันธุ์โอไมครอนก็ไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้าด้วย โดยนักลงทุนต่างคาดหวังว่าการเปิดประเทศของจีนจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม โดยนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว ภาพรวมการบริโภคภายในประเทศก็จะได้รับประโยชน์ทางอ้อม จากการจ้างงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2565

SET Index เดือนธันวาคมปิดที่ระดับ 1,668.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.04% จากเดือนก่อน โดยเป็นการปรับลดลงในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือน จากสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย อาทิเช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือนพฤศจิกายน (PMI) ของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในปี 2563 นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นส่งสัญญาณการใช้นโนบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยการประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากทั้งเรื่องที่ทางการจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาด และความชัดเจนจากมาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในไตรมาสแรกของปีถัดไป
สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกนั้นเริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการประชุมของ FED ในช่วงต้นเดือน โดยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps เข้าสู่ระดับ 3.75% – 4.00% และให้ภาพกับนักลงทุนว่า FED จะยังมีความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มให้สัญญาณว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสชะลอปรับการเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Terminal Rate ของ FED จะอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มอ่อนตัวลง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ 3.7% และรายงานเงินเฟ้อ CPI และ PPI ประจำเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่าตลาดคาด ยิ่งสนับสนุนมุมมองของนักลงทุนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝั่งเอเชียเอง ประเทศจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งความรุนแรงของอาการ Covid สายพันธุ์โอไมครอนก็น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทำให้ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมการระบาด

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนพฤศจิกายน: ดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้ ปิดที่ระดับ 1,635.36 จุด เพิ่มขึ้น 1.65% จากเดือนก่อน แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการปรับลงของราคาพลังงานจนทำให้ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มพลังงานปรับลดลง อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มชะลอตัวการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมกับการที่รัฐบาลจีนเริ่มส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid และประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยสามารถกลับมาปิดในแดนบวกได้ในเดือนที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกนั้นเริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการประชุมของ FED ในช่วงต้นเดือน โดยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps เข้าสู่ระดับ 3.75% – 4.00% และให้ภาพกับนักลงทุนว่า FED จะยังมีความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มให้สัญญาณว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสชะลอปรับการเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Terminal Rate ของ FED จะอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มอ่อนตัวลง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ 3.7% และรายงานเงินเฟ้อ CPI และ PPI ประจำเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่าตลาดคาด ยิ่งสนับสนุนมุมมองของนักลงทุนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝั่งเอเชียเอง ประเทศจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งความรุนแรงของอาการ Covid สายพันธุ์โอไมครอนก็น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทำให้ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมการระบาด

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคม SET Index ปิดที่ระดับ 1,608.76 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.21% จากเดือนก่อน โดยปรับลงในช่วงครึ่งเดือนแรกตามทิศทางตลาดหุ้นโลก กดดันจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังปรับสูงกว่าที่ตลาดคาด และ FED จะยังคงนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโลกสามารถฟื้นตัวขึ้นในครึ่งเดือนหลัง จากความคาดหวังว่า FED จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลงหลังการประชุมเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงการคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย และรัฐอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี นอกจกนี้ ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่ทยอยประกาศออกมาก็มีแนวโน้มเติบโตดี ทำให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นได้

สำหรับปัจจัยกดดันจากต่างประเทศนั้น หลังจากสหรัฐฯรายงานเงินเฟ้อประจำเดือนกันยายนออกมาที่ 8.3% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 8.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ที่ 6.6% มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 6.5% เช่นกัน โดยมีปัจจัยผลักดันหลักจากราคาอาหารและค่าเช่าบ้าน ทำให้ตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปอีก 75 bps ซึ่งจะเป็นการขึ้นที่ 75 bps ครั้งที่ 4 และตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะไปจบที่ 5% ในสิ้นปี 2565 จากสถานการณ์ข้างต้นสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย โดยทางรัสเซียได้เรียกระดมพลถึงสามแสนนาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโจมตีที่เน้นไปยังโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนมากขึ้น เพื่อตอบโต้ที่สะพานเชื่อมรัสเซีย-ไครเมียนั้นถูกทำลาย โดยความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อรวมกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ กลายเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อคลี่คลายได้ยาก

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน SET Index ปิดที่ระดับ 1,589.51 จุด ลดลง 3.02% จากเดือนก่อน แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ความกังวลเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่มากกว่าคาด กลายเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงในเดือนนี้

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศนั้น ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่ 8.3% แม้ว่าจะน้อยกว่าเดือนก่อนที่ 8.5% แต่ยังเป็นตัวเลขที่มากกว่าตลาดที่ 8.1% นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ปรับลดลงและคงระดับอยู่ที่ 6.3% โดยมีสาเหตุมาจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งประกอบกับค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวขึ้นตามราคาที่อยู่อาศัย จึงสร้างความกังวลว่า FED จะยังคงนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจ แม้จะต้องแลกมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยการประชุมล่าสุด FED ยังคงประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps และจากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้นักลงทุนคาดว่ายังมีโอกาสที่ FED จะเพิ่มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps ได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยรายงาน Dot Plot ชี้ว่า FED คาดอัตราดอกเบี้ยปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 4.375% และ 4.625% ตามลำดับ ทิศทางดังกล่าวสร้างความกังวลต่อโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นำไปสู่ความผันผวนต่อตลาดพันธบัตรและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐได้เข้าสู่ระดับ 3.57% สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ผลักดันให้เงินดอลล่าสหรัฐฯ แข็งค่าจนกดค่าเงินบาททะลุ 38 บาท

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ที่ 10 ล้านคนหรือประมาณ 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังคงอยู่ในทิศทางสนับสนุนการฟื้นตัว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 25 bps โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการพยุงค่าเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่าสาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเกิดจากการแข็งค่าผิดปกติของเงินดอลล่าสหรัฐฯ โดยจะสังเกตได้จากการอ่อนค่าของเงินเกือบทุกสกุล ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยตาม FED อาจจะไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาเงินบาทอ่อนลงมากนัก ในทางกลับกันเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจกลายเป็นการสร้างภาระให้แทน ส่วนในเรื่องความกังวลว่าค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการนำเข้าที่จะต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้เหตุผลว่าการส่งผ่านต้นทุนการนำเข้าสู่ผู้บริโภคนั้นอยู่ในระดับที่จำกัด นอกจากนี้ ประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักมายังประเทศไทยก็มีค่าเงินที่อ่อนค่าใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้ผลกระทบในส่วนนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยข้างต้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงที่ 3.02% น้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ

สรุปในเดือนกันยายน หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 17.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 6.4% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 4.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -11.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -9.5% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.1% โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิที่ 5.7 หมื่นล้านบาทในเดือนก่อน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 0.5 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2565

SET index เดือนสิงหาคม 2565 ปิดที่ระดับ 1,638.93 จุด เพิ่มขึ้น 3.97% จากเดือนก่อน กลับมาทะลุ 1,600 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถึง 5.7 หมื่นล้านบาท มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเพียง 4.7 พันล้าน

สำหรับปัจจัยภายในปัจจัยแรกที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาด คือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกาศกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ที่ 3.41 แสนล้านบาท เติบโต 15.3% YoY 36.1% QoQ โดยกลุ่มที่มีกำไรเติบโตโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ ส่วนกลุ่มที่กำไรมีการหดตัว ได้แก่ กลุ่มเกษตร และกลุ่มเหล็ก จากผลประกอบการที่ฟื้นตัวโดดเด่น ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการกำไรของปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 6.24% ถัดมาคือเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ กนง.ส่งสัญญาณปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ภาพรวมนโยบายการเงินไทยถือว่าไม่ได้ตึงตัวมากจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษกิจ และท้ายที่สุดคือการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากทาง ศคบ. ได้ปรับระดับโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นเฝ้าระวัง และผ่อนคลายมาตรการกักกันต่าง ๆ ลง ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดเร็วขึ้นกว่าประมาณการเดิม คือจากปลายปี 2567 เป็นปลายปี 2566

ส่วนปัจจัยภายนอกที่สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาด ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประจำเดือนกรกฎาคม ที่8.5% ปรับตัวลดลงจาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมองว่าการเร่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่ 75 bps จะเป็นการเพิ่มอย่างรุนแรงครั้งสุดท้ายและจะลดระดับการเพิ่มขึ้นในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป อย่างไรก็ตาม จากงานสัมมนาประจำปีที่ Jackson Hole กรรมการ FED ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 2% FED ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพราคามากกว่าผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดเริ่มกลับมามีความกังวลว่า FED อาจจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดนานกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนปัจจัยภายนอกที่สร้างความผันผวนต่อการฟื้นตัวในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน หลังจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ของสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนไต้หวันโดยไม่สนใจคำเตือนของทางการจีนที่เรียกร้องให้สหรัฐฯยึดมั่นในหลักการจีนเดียว โดยทางการจีนได้ตอบโต้การเยือนไต้หวันในครั้งนี้ด้วยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน ทำให้ตลาดกังวลว่าจะไปซ้ำเติมภาวะติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวก็ได้คลี่คลายลงและเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่เข้ามารบกวนในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือกลุ่มพลังงาน +5.3% กลุ่มการแพทย์ +5.1% และกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ +4.4% โดยมีกลุ่มที่ปรับตัวลง ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -1.8% กลุ่มการเงิน -1.1% และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -1.0% โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิถึง 5.7 หมื่นล้านบาท นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2565

SET index เดือนกรกฎาคม 2565 ปิดที่ระดับ 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.52% จากเดือนก่อน ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของเดือนเป็นไปในทิศทางปรับลง จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศตะวันตก การกลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องล็อกดาวน์บางเมืองในจีน รวมทั้งปัญหาราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กดดันให้ SET ปรับลงไปทำจุดต่ำสุดของปีที่บริเวณ 1,517 จุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่ออกมาดีกว่าคาด การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งประธาน Fed สาขาต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

สำหรับในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม SET index ได้ปรับลงไปทำจุดต่ำสุดของปีที่บริเวณ 1,517 จุด จากแรงกัดดันจากภายนอก ได้แก่ (1) ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป โดยความกังวลได้สะท้อนออกมาที่ Bond Yield สหรัฐอเมริกา อายุ 2 ปี และ 10 ปี ที่มีลักษณะเป็น Inverted Yield Curve อันเนื่องมาจากความต้องการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (2) การกลับมาเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในจีน และทำให้จีนยังคงต้อง Lockdown บางเมือง ซึ่งนำมาสู่การชะลอตัวของการบริโภค และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังไม่บรรเทาลง (3) ความกังวลต่อราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยล่าสุดทางรัสเซียได้ลดปริมาณการส่งแก๊สผ่านทางท่อ Nord Stream ลง สร้างแรงกดดันให้ประเทศในยุโรปต้องหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนเพื่อรองรับกับหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

อย่างไรก็ตาม SET index ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือน โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นแรงสนับสนุน ทั้งผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาที่ออกมาดีกว่าคาด การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นำโดยราคาน้ำมันที่แกว่งตัวในช่วงต้นเดือนที่ประมาณ $120/Barrel ได้ปรับลดลงมาอยู่ในช่วง $100/Barrel รวมทั้งประธาน Fed สาขาต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เนื่องจากมีสัญญาณบวกจากความคาดหวังเงินเฟ้อระยะยาวผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงเหลือ 2.8% ต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยในการประชุมครั้งล่าสุดช่วงปลายเดือน Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% และนักลงทุนเริ่มมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed ได้ผ่านไปแล้ว เนื่องจากในระยะเวลาต่อไป Fed คงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงระดับ 0.75% อีก นอกจากนี้ SET index ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของไทย ซึ่งเท่าที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่จะดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะ DELTA ที่รายงานผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์ไว้มาก ส่งผลให้ SET index สามารถกลับไปปิดที่ระดับ 1,576.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.52% จากเดือนก่อน

สรุปในเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +31.6% นำโดย DELTA ที่ผลประกอบการออกมาดีกว่าตลาดคาดมาก กลุ่มการแพทย์ +4.7% และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค +1.1% ในขณะที่กลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -6.3% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -6.1% ในเดือนนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง ที่ 4.7 พันล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศที่ซื้อสุทธิ 5.5 พันล้านบาท ในขณะที่บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 0.4 พันล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 9.8 พันล้านบาท