ภาวะตลาดหุ้นไทย -ตุลาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -3.4% สู่ระดับ 1,194.95 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน เมษายน 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงหลายประเด็นที่ยังคงอยู่ ประกอบด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และหลายประเทศในทวีปยุโรป เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ และยุโรปที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้หลายประเทศประกาศใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดอีกครั้ง เช่น ประเทศฝรั่งเศสประกาศเคอร์ฟิวคิดเป็นประชากรกว่า 70% จากประชากรทั้งหมด ประเทศอังกฤษประกาศยกระดับการเตือนภัยในกรุงลอนดอนและเมืองลิเวอร์พูลสู่ระดับสูงจากระดับปานกลาง ประเทศเยอรมนีกำลังพิจารณาการ Lockdown อีกครั้ง โดยจะสั่งปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ยกเว้นโรงเรียนและร้านค้าที่จำเป็น ซึ่งเป็นการ Lockdown ในระดับใกล้เคียงกับการระบาดครั้งแรก นอกจากนี้ ประเทศสเปนได้ออกมายอมรับการเข้าสู่การแพร่ระบาดรอบที่ 2 โดยสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลให้ยากต่อการควบคุมการระบาด ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน แม้ทำเนียบขาวได้ยื่นข้อเสนอครั้งใหม่ เพื่อเพิ่มวงเงินสู่ระดับ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังคงต่ำกว่าวงเงินที่พรรค Democrat ต้องการที่ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงเจรจากันอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ขณะที่ FED ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการทางการคลัง หากต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับกรอบเวลาและวงเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 จะถูกอนุมัติหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ทั้งสองปัจจัยที่กล่าวข้างต้นส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กดดันตลาดสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก Demand ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,194.95 ปรับตัวลดลง 42.09 จุด หรือ -3.4% จากสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร 20.9% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 14.5% และเงินทุนและหลักทรัพย์ 5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -10.8% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.5% และกลุ่มพาณิชย์ -8.2% นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,891.02 ล้านบาทและ 33,100.23 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 13,115.03 และ 21,876.22 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 55,057.30 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,202.21 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 299,550.21 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 240,290.70 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -5.6% สู่ระดับ 1,237.04 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯจะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรป ละตินอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อาจมีการล่าช้าออกไป เช่น บริษัทแอสตราเซเนกา ประกาศระงับการทดสอบวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทบีออนเทค เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่บริษัทพัฒนาร่วมกับไฟเซอร์อาจจะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากวัคซีนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย FED คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะใช้เวลานานในการฟื้นตัวได้เต็มที่ ซึ่ง FED จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐสภาสหรัฐฯ ยังไม่สามารถตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ผลสำรวจการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 พบว่า นาย Joe Biden จากพรรค Democrat มีคะแนนนิยมนำประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านนโยบายหลายอย่างหากเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้ตลาดมีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงล่วงหน้า ส่วนปัจจัยภายในประเทศ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 ขึ้นสู่ -7.8% จาก -8.1% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการปิดเมืองที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้ปรับลด GDP ปี 2564 ลง โดยคาดเติบโตที่ +3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับมุมมองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประเมินกรณี Best Case โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2564 ประมาณ 20.5 ล้านคน ลดลง -48% เทียบปี 2562 นอกจากนี้ กนง.ยังคงย้ำว่าไทยจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาจุดเดิมก่อนเกิด COVID-19 ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นแรงกดดัน คือความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น หลังนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน โดยประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของมาตรการทางการคลังในช่วงถัดไป โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ การชุมนุมของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 ปรับตัวลดลง 73.62 จุด หรือประมาณ -5.6% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 24% กลุ่มยานยนต์ 3.5% และประกันภัยและประกันชีวิต 0.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -11.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -10.4% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -9.3% นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,326.54 ล้านบาทและ 33,737.22 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 12,874.46 และ 23,189.30 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -1.3% สู่ระดับ 1,310.66 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันได้มีการทดลองและพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศรัสเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ว่าวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่คิดค้นในประเทศรัสเซียได้ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับด้านสาธารณสุขภายในประเทศแล้ว และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในเดือนกันยายน 2563

นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ทั้งสองประเทศตอบโต้กันผ่านมาตรการทางกฎหมาย การคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และบริษัทต่าง ๆ และการใช้วิธีการข่มขู่ทางทหาร ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เลื่อนการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 กับจีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ให้เวลาจีนในการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม แม้จะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น แต่ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ประธานาธิบดี Trump จะกดดันจีนเพิ่มเติม เพื่อเรียกคะแนนความนิยมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดังนั้น การเลื่อนกำหนดการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 เป็นเพียงการยื้อเวลาในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยภายในประเทศ เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายมากขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภา และตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2563 ที่ยังคงหดตัวลง 12.2% ต่อเนื่องจากการหดตัว 2% ในไตรมาส 1/2563 โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ (-28.3%) การลงทุนภาคเอกชน (-15%) และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน (-6.6%) ขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของภาครัฐ (+1.4%) และการลงทุนของภาครัฐ (+12.5%) ขยายตัว โดยการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 2/2563 ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับลดกรอบคาดการณ์ GDP 2020 ลงสู่ -7.6% ถึง -7.3% จากเดิม -6% ถึง -5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ -8.1% โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะทบทวนประมาณการ GDP อีกครั้งในเดือนกันยายน โดยการปรับประมาณการครั้งใหม่อาจถูกกดดันจาก 3 ปัจจัยคือ 1) การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศที่ล่าช้า 2) ความเสี่ยงการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น 3) อัตราการว่างงานที่สูง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับตัวลดลง 17.87 จุด หรือประมาณ -1.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 5.0% และสื่อและสิ่งพิมพ์ 4.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -5.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.2% และกลุ่มการแพทย์ -2.6% นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,574 ล้านบาทและ 17,122 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้นไทยสุทธิ 27,661 และ 1,035 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.8% สู่ระดับ 1,328.53 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ปัญหาความตึงเครียดทางการฑูตระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 2.

การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก โดยในสหรัฐฯพบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 6-7 หมื่นราย เช่นเดียวกับประเทศบราซิลและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่อาจนำไปสู่การ Lockdown ครั้งใหม่ ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยหลักที่จะบ่งชี้ความเร่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ คือความคืบหน้าของยารักษาโรคและวัคซีนต้านโรค Covid-19 โดยในเดือนกรกฎาคม มีพัฒนาการของยารักษาโรคและวัคซีนดังนี้ 1) ยา Remdesivir ซึ่งเป็นยารักษาโรค Covid-19 ของบริษัท Gilead Sciences Inc สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน 2) วัคซีนที่ทดลองโดยบริษัท Pfizer ของสหรัฐ และบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ได้รับสถานะ Fast Track จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งจะทำให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น จากการผ่อนคลายกฏระเบียบของ FDA 3) ผลการทดลองเฟส 1 ของวัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna สามารถตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันได้ดี และอาจป้องกันโรค Covid-19 ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลองเฟส 2 และเริ่มการทดลองเฟส 3 ควบคู่ไปด้วย 4) วัคซีน AZD1222 ที่พัฒนาโดยบริษัท Astrazeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งการทดลองอยู่ในเฟส 2/3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสที่วัคซีนจะถูกผลิตออกมาในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯจำกัดการออกวีซ่าให้กับพนักงานบริษัทในกลุ่ม Technology ของจีน รวมถึงสั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมือง Houston โดยกล่าวอ้างว่าจีนจารกรรมข้อมูลลับของสหรัฐฯ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเฉิงตู ซึ่งข้อพิพาทต่าง ๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจในที่สุด ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ หลังมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรค Republican และ Democrat ยังคงเห็นต่างในหลายประเด็น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 60 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนหดตัวถึง -24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว -18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 29.0% ในเดือนพฤษภาคม ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นจากการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า แต่การหดตัวของการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากรายได้ของประเทศคู่ค้ายังคงอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,330 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งยังมีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการเริ่มผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53 จุด ปรับตัวลดลง 10.50 จุด หรือประมาณ -0.8% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +68.3% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +3.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +3.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -11.3% กลุ่มธนาคาร -7.8% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.6% ในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,178 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 4,690 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 14,375 และ 492 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.3% สู่ระดับ 1,339.03 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงลุกลาม และโอกาสของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave

หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง หลายๆ ประเทศจึงมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ให้หลัง พบว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มพบกับการแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 3-4 หมื่นราย โดยรัฐ California, Texas, Florida และ Arizona เผชิญยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ตอกย้ำผลกระทบเชิงลบจากการเร่งเปิดเมือง และการรวมกลุ่มประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีของ George Floyd เช่นเดียวกันกับที่จีน ปักกิ่งพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ หลังปลอดเชื้อมาเกือบ 2 เดือน และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดมาจากตลาดค้าส่งอาหารซินฟาตี้ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศ Lockdown ในหลายพื้นที่ในเมืองปักกิ่งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความกังวลว่าจีนจะต้องกลับมาปิดเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง หากการแพร่ระบาดรอบนี้รุนแรงมากขึ้น จะก่อให้เกิด Downside ต่อเศรษฐกิจ และทำให้เดิมที่คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในช่วง 2H20 จะชะลอออกไป โดยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2020 ลงสู่ -4.9% จากเดิมคาด -3% และปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2021 ลงสู่ 5.4% จาก 5.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลด GDP ทางฝั่งยุโรป อินเดีย และละตินอเมริกา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 30 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดี ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัวถึง -22.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งล่าสุด กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 ลงสู่ -8.1% จากเดิม -5.3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% และมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะที่ 2 ซึ่งได้แก่ การลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2-4% การขยายระยะเวลางดการผ่อนชำระต่ออีก 3 เดือน และการขยายระยะเวลาลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% ไปอีก 6 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวดปี 2563 และงดการซื้อหุ้นคืนหรือไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด รวมถึงให้จัดทำแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนระยะเวลา 1-3 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้สงสัยจะสูญปริมาณมหาศาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย และทำให้ SET Index ปรับตัวลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,350 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งในขณะนี้มีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างไปหยุดยั้ง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการกระจายวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,339.03จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 1,342.85 จุด หรือประมาณ -0.3% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +6.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง +5.9% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -8.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -3.4% และกลุ่ม ICT -3.3% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,717 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,576 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น 3.2% สู่ระดับ 1,342.85 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน บนความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน การกระตุ้นเศรษฐกิจของเหล่าธนาคารกลางทั่วโลก และความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดโลกฟื้นตัว มาจากความคืบหน้าของวัคซีนต้าน COVID-19 หลังบริษัท Moderna Inc แถลงผลการทดลองทางคลินิก ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสในผู้ป่วย COVID-19 ได้ โดยเตรียมจะทดลองในขั้นต่อไปในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับบริษัท Novavax ที่เริ่มทดลองวัคซีนทางคลีนิกเฟส 1 แล้ว และคาดว่าจะรู้ผลในเดือนกรกฎาคมนี้ จึงเพิ่มความคาดหวังที่จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ทำให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เนื่องจากจีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับการที่จีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ และออกมาตรการตอบโต้ นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติผ่านร่างกฎหมาย "Holding Foreign Companies Accountable Act" ซึ่งอาจทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสถูกถอดออกจากตลาด และอาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ หากไม่สามารถทำตามมาตรฐานบัญชีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอน เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทยนั้น GDP ในไตรมาส 1 ประกาศออกมาที่ -1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี แม้ว่าจะดีกว่าตัวเลขที่คาดไว้ที่ -4% โดยที่การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโต 3% yoy จากแรงกักตุนซื้อสินค้าก่อนการ Lockdown และการส่งออกเติบโต 2% yoy ซึ่งหลักๆ มาจากการส่งออกทองคำและอาวุธ ในขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ ติดลบค่อนข้างมาก การบริการซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรค COVID-19 -29.8% yoy การลงทุนของเอกชน -5.5% yoy จากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง การลงทุนของภาครัฐ -9.3% yoy จากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ ส่วนภาคการผลิตการเกษตร -5.7% yoy จากภาวะภัยแล้ง

ตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาเติบโต -52.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว และ -42.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่รายงานการขาดทุนสูงคือ กลุ่มพลังงาน ที่บันทึกขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงคลัง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงแรงในเดือนมีนาคม กลุ่มที่กำไรหดตัวรุนแรงรองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่กำไร -46.0% yoy และ -45.5% qoq โดยกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (ไม่รวม THAI และ NOK ที่เลื่อนการประกาศงบการเงิน) พลิกเป็นขาดทุน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ที่เหลือเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็น -38% yoy โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 60% yoy จากการปิดเมืองหลายเมืองในประเทศจีน และมาตรการ Lockdown ของไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศหยุดชะงัก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำไร -43.7% yoy และ -36.1% qoq จากผลกระทบต่อเนื่องของมาตรการควบคุม LTV ของธปท. ในปีที่แล้ว ผนวกกับกำลังซื้อในประเทศอ่อนตัว และผู้ประกอบการมีการออกโครงการใหม่ๆ น้อยลง ส่วนกลุ่มที่กำไรยังเติบโต ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโต 8.7% yoy จากอานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่า และคำสั่งซื้อที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงต้นปี กลุ่มอาหารกำไรยังเติบโตได้ดีจากราคาหมูและไก่ในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,342.85 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,301.66 จุด หรือประมาณ +3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +46.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +16.0% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +6.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -2.1% กลุ่ม ICT -0.3% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -0.2% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 31,598 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,838 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น 15.6% สู่ระดับ 1,301.66 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบรับความคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในหลายๆ ประเทศเริ่มจะควบคุมได้ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก

หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มมาตรการ Lockdown ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากเทียบระหว่างช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนเมษายน พบว่า สหรัฐอเมริกาฯ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นลดลงจาก 13% เป็น 4% อิตาลีลดลงจาก 5% เป็น 1% สเปนและเยอรมนี จาก 8% เป็น 1% รวมถึงประเทศไทยเองที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหลือเพียงหลักหน่วยต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าชาติต่าง ๆ เริ่มรู้วิธีการรับมือกับเชื้อโรค และควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี หลายๆ ประเทศเริ่มเตรียมการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยทยอยให้ธุรกิจบางประเภทเริ่มกลับมาเปิดได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ปริมาณเงินมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั้งสู่ประชาชนโดยตรงและผ่านการซื้อตราสารในตลาดทุน FED มีการประกาศอัดฉีด QE เข้าซื้อตราสารหนี้แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่จำกัดเรตติ้ง เมื่อรวมกับมาตรการการคลังที่แจกเงินเข้าสู่มือประชาชนที่ตกงานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าอีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การอัดฉีดชุดนี้ถือว่าออกมาได้รวดเร็วและเป็นการปล่อยกระสุนลูกใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ทางฝั่งเอเชียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน สิงคโปร์อัดฉีดเงิน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของ GDP ญี่ปุ่นวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP เป็นต้น

ทางด้านประเทศไทยนั้น BOT มีการประกาศให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังประกาศเข้าซื้อตราสารทางการเงินของบริษัทเอกชนโดยตรง ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่มีวงเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนดได้ เป็นวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการป้องกันบริษัทล้มละลายจากการขาดสภาพคล่องอย่างกระทันหันในภาวะวิกฤตินี้ ส่วนในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลได้มีการแจกเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดกิจการบางประเภท และเริ่มทยอยออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเกษตร ในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลกนี้ จึงส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวในลักษณะ V-shape

ส่วนสถานการณ์น้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนรุนแรง แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ยังคงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ของน้ำมันที่หายไป จากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับคลังน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเมือง Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI จะเต็มความจุในไม่ช้า เนื่องจากน้ำมันในคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI สำหรับสัญญาเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลงแรงและปิดที่ระดับ -37.63 เหรียญต่อบาร์เรลในวันก่อนวันซื้อขายวันสุดท้าย จากการเร่งปิด Position ของผู้ถือสัญญา เนื่องจากไม่สามารถรับมอบน้ำมันได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนเมษายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,301.66 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,125.86จุด หรือประมาณ +15.6% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +35.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +26.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +26.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +2.5% กลุ่ม ICT +2.6% และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ +7.6% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 46,976 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 23,675 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2563

ตลาดหุ้นยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง SET Index ปรับตัวลดลง 16% มาสู่ระดับ 1,125.86 จุด โดยปัจจัยที่ยังกดดันยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเร่งตัวถึงกว่า 7 แสนราย และมียอดผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3 หมื่นราย โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดได้ย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด

ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีการชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาธุรกิจรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง สหรัฐอเมริกามีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ และ FED ปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 50 bps ตามมาด้วยอีก 100 bps ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 0.0-0.25% พร้อมทั้งปล่อย QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ฝั่งยุโรปเอง ทาง ECB ประกาศเพิ่มวงเงิน QE เป็น 1.2 แสนล้านยูโรไปจนถึงสิ้นปีนี้ และประกาศซื้อหลักทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐวงเงินรวม 7.5 แสนล้านยูโร ส่วนอังกฤษ BOE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 0.5% ตามมาด้วย 0.15% สู่ระดับ 0.10% และเพิ่มวงเงิน QE อีก 2 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์ ทางฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ทาง BOJ เพิ่มวงเงินเข้าซื้อ ETF เป็น 12 ล้านเยนต่อปี และซื้อ JREIT เป็น 1.8 แสนล้านเยน รวมถึงเริ่มโครงการปล่อยเงินกู้ให้เอกชน ในอัตราดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปี ส่วนในประเทศจีน PBOC มีการปรับลด RRR ลด 0.5-1.0% เทียบเท่าการปล่อยสภาพคล่องกว่า 5.5 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงิน

สำหรับในไทยนั้น รัฐออกมาตรการปิดสถานที่ชุมนุมของคนจำนวนมากในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด อาทิ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ สนามมวย ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึง 30 เมษายน 2563 พร้อมกับออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ผ่านธนาคารออมสิน เป็นต้น ทั้ง กนง. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% สู่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ แต่ปรับลดการคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงสู่ระดับ -5.3%

ส่วนทางฝั่งน้ำมันดิบ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ ทำให้ทางซาอุดิอาระเบียปรับลดราคา Premium น้ำมันดิบลง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ก่อให้เกิดสงครามราคาน้ำมันขึ้น ราคาน้ำมันดิบ Brent จึงปรับลดลงแรงมาสู่ระดับ 22.7 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นการปรับลดลง 52.9% ภายใน 1 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลงต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ และทางฝั่งผู้ผลิตน้ำมันยังไม่สามารถเจรจากันได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,125.86 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,340.52จุด หรือประมาณ -16.0% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่ม ICT -2.2% กลุ่มพาณิชย์ -8.0% และกลุ่มประกัน -9.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -30.8% กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -29.6% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ -23.7% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 78,404 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 42,335 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2563

ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อภาวะการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อการระบาดเริ่มมีการกระจายไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากจีน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลง 9.1% และ MSCI Euro ปรับตัวลง 8.7% เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเอง SET Index ปรับตัวลง 10.3% ซึ่งนอกเหนือจากการระบาดของ COVID-19 ในภูมิภาคอื่นแล้ว นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการการเกิด Super Spreaders ในไทย เหมือนในเกาหลีใต้ เมื่อมีกรณีที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่ยอมแจ้งแก่สถานพยาบาลว่าไปเที่ยวประเทศที่มีความเสี่ยงกลับมาแล้วมีอาการไข้ ทำให้ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลง 174 จุด หรือปรับตัวลงถึง 11.5%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 SET Index ปิดที่ 1,340.52 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,514.14จุด หรือประมาณ -11.5% จากสิ้นเดือนมกราคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.3% กลุ่ม ICT -4.5% และกลุ่มยานยนต์ -6.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -18.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -15.0% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -13.7% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 19,649 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,921 ล้านบาท

หากเทียบเคียงเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่ตลาดหุ้นตกลงรุนแรงในเวลา 1 เดือนในอดีตที่ผ่านมานั้น พบว่ามาจากการเกิดความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจใน 2 ลักษณะคือ 1) ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ที่มีปัญหาเชื่อมต่อไปถึงการปิดสถาบันการเงิน เป็นเหตุการณ์ประเภท Demand Disruption หรือความต้องการหดหายยาวนานอันเนื่องมาจากการล่มสลายของภาวะเศรษฐกิจ และ 2) เหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกระทันหันช่วงเวลาหนึ่ง (Event Risk) เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือการเกิดโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประเภท Supply Disruption หรือไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ หรือ Demand Disruption จะเกิดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการชะลอการใช้จ่าย ความแตกต่างของเหตุการณ์ใน 2 ลักษณะคือ ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงรุนแรงและยาวนาน ใช้เวลาฟื้นตัวช้าและต้องรอตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เนื่องจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจกินเวลานาน ในขณะที่การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะหลัง ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 1-2 เดือนแรก และเมื่อเหตุการณ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ตลาดหุ้นก็จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว

ตารางตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่หุ้นตกแรง

การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดหุ้นมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์แล้ว และในปัจจุบันปัญหาการระบาดในจีนเหมือนจะผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการเดินทางประมาณ 3 สัปดาห์ (โดยทั่วไป COVID-19 ใช้เวลา 1-14 วันในการแสดงอาการ) ในญี่ปุ่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เริ่มทรงตัวหลังจากการเริ่มระบาดอย่างรุนแรงและรัฐบาลได้พยายามเข้าควบคุมปัญหาประมาณ 3 สัปดาห์เช่นกัน ในขณะที่การระบาดที่รุนแรงในอิตาลี เกาหลีใต้ และอิหร่าน เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นและรัฐบาลเริ่มพยายามเข้าควบคุมปัญหาอย่างเต็มที่ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น เรายังพอคาดหวังได้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะผ่านจุดสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และเริ่มคลี่คลายมากขึ้นเมื่อเข้าช่วงหน้าร้อนของประเทศในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตร ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็กำลังเร่งการวิจัยและทดลองยาต้าน/ยารักษาไวรัส COVID-19 ในขณะที่ Case การรักษาหายก็มีมากขึ้น ทำให้น่าจะเริ่มเห็นวิธีรักษา/ยารักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

ปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโรคระบาด จะมีความต่างจากเหตุการณ์ Supply Disruption ประเภทน้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะการเกิดโรคระบาดไม่มีการทำลายโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างการผลิต แต่เป็นการชะงักงันจากการหยุดการผลิตชั่วคราว ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า หากมีการช่วยเหลือทางการเงินให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกยังมีความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือผ่อนคลายสภาพคล่องทางการเงิน

สำหรับประเทศไทยเอง ในช่วงที่ผ่านมา เราประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าและปัญหาสงครามการค้า ที่ทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2563 และยังมาเจอปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างแรง ทำให้เราคาดว่าประเทศไทยอาจจะเกิด Technical Recession หรืออัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสได้ในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เราคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2563 มาก เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมามีการแนวโน้มคลี่คลายลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังการเกิดโรคระบาด ความต้องการสินค้าและบริการของโลกจะเพิ่มขึ้นมาก เพื่อชดเชยที่ขาดหายไปในช่วงการเกิดโรคระบาด เมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้การส่งออกของประเทศดีขึ้น ปัญหาภัยแล้งจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าฤดูฝน และราคาสินค้าเกษตรไม่น่าจะตกต่ำเนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นหลังโรคระบาด รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่หลังการอนุมัติงบประมาณปี 2563 อัตราดอกเบี้ยต่ำลงและสภาพคล่องมากขึ้นจากการออกมาตรการยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหลังจากปัญหาโรคระบาดคลี่คลายลง

ในช่วงที่ SET Index ปรับตัวลงมาถึงระดับปัจจุบัน บลจ.ทาลิสมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าการถอดใจหนีออกจากตลาดหุ้น และเราสามาถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระดับราคาที่ถูกลงมากได้ ดังนั้น เราจึงใช้จังหวะนี้ในการปรับ Portfolio การลงทุน โดยย้ายการลงทุน (Switching) จากหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ไปยังหุ้นที่ยังมีการเติบโตที่ดีและมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลังจากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2563

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -4.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 เป็นการปรับตัวลงแรงจากปัจจัยความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไวรัสโคโนน่าระบาด และการล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ

ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือน หลังสหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่านเสียชีวิต ทางฝั่งอิหร่านจึงตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกถล่มฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในอิรัก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเพิ่มขึ้น นักลงทุนจึงเกิดความวิตกและเทขายหุ้นออกมา ก่อนที่ภายหลังสหรัฐฯ เลือกที่จะตอบโต้อิหร่านผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทนการใช้ความรุนแรง ความกังวลด้าน Geo-Political Risk จึงบรรเทาลงในระยะสั้น

หลังจากที่ตลาดปรับตัวลง นักลงทุนภายในประเทศให้ความหวังในการผ่านร่างงบประมาณของรัฐบาล ที่ล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปี 2562 มาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมี สส. อนุมัติร่างงบประมาณวาระ 2 และ 3 แล้ว ทว่า กลับพบว่ามี สส.บางท่านเสียบบัตรแทนกันในการโหวตในสภา ทำให้ประธาน สส. นำคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง โดยกระบวนการถัดไป สส. ที่ถูกกล่าวหาจะต้องไปให้ถ้อยคำในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ของร่างงบประมาณล่าช้าออกไปอีก SET Index จึงปรับตัวลงตอบสนองเป็นลบต่อข่าวนี้

ถัดมาในช่วงปลายเดือน เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงในประเทศจีน โดยภายในสิ้นเดือนมกราคม พบผู้ติดเชื้อไวรัสกว่า 9,814 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 213 ราย ทำให้ WHO ประกาศให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย และสั่งให้บริษัททัวร์ของจีนหยุดกิจกรรมท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 2 เดือน ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนจึงได้รับผลกระทบโดยตรง หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรม กลุ่มสายการบิน กลุ่มพาณิชย์ รวมไปถึงกลุ่มพลังงาน ถูกเทขายอย่างรุนแรงจากความกังวลผลกระทบด้านลบจากการที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง ซึ่งในเบื้องต้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 2563 น่าจะอยู่ในระดับสูง แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง หรือมีการค้นพบวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว และ SET index น่าจะกลับมาตอบสนองเป็นบวกเหมือนเช่นเหตุการณ์โรคระบาดในอดีต

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,514.14 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,579.84 จุด หรือประมาณ -4.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +7.8% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +2.7% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +1.8% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ -16.5% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -14.4% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -10.8% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 17,302 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 12,341 ล้านบาท