ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2561

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -4.7% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยได้รับแรงกดดันหลักจากปัจจัยลบจากต่างประเทศ ได้แก่ พัฒนาการด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED ส่วนปัจจัยภายในที่กดดันตลาดคือ การขึ้นดอกเบี้ยของกนง.

SET Index ปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือนไปทดสอบแนวต้านที่ 1,680 จุด จากข่าวการเจรจาการค้าสหรัฐฯ และจีน ที่ประกาศสงบศึกการค้า 90 วันนับจากต้นเดือนธันวาคม 2561 ส่งผลให้เส้นตายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2562 และในช่วงตลอดเดือนธันวาคม ก็มีพัฒนาการเชิงบวก โดยเฉพาะจากทางฝั่งจีน ที่มีการส่งสัญญาณลดภาษีนำเข้ารถยนต์สหรัฐฯ และจะมีการนำเข้าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากสหรัฐอีกครั้ง

หลังจากสัปดาห์แรกของเดือน SET Index ปรับตัวลงตลอดจนถึงสิ้นเดือน พร้อมกับการพักฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก จากปัจจัยข่าวร้ายที่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจับกุม CFO ของ Huawei ที่สร้างความกังวลให้กับตลาดหุ้น เนื่องจากเกรงว่าจะบานปลายไปกระทบการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองในสหรัฐฯ ว่าจะเกิด Government Shutdown หลังจากสภาฯไม่อนุมัติร่างงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกตามความต้องการของประธานาธิบดี Trump และในฝั่งยุโรปเอง ก็มีความเสี่ยงจากการเลื่อนการพิจารณาร่าง Brexit ของรัฐสภาอังกฤษ

นอกจากนี้ ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เดือนธันวาคม มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามคาด มาอยู่ที่ 2.5% แต่โทนการประชุมมีแนวโน้มที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง จากเดิม 3 ครั้งในปี 2019 เหลือเพียง 2 ครั้ง ถือเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนในฝั่งของไทย กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปีสู่ระดับ 1.75% พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2018 ลงเหลือ 4.2% และปี 2019 ลงเหลือ 4% จากการชะลอตัวของภาคการส่งออก แต่ยังประเมินว่าเศรษฐกิจภายในประเทศยังแข็งแกร่ง รวมทั้งการบริโภคยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยด้านราคาน้ำมันนั้น ยังคงไม่ฟื้นตัวจากเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กอปรกับปัญหาด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก ยิ่งไปกว่านั้น หลัง PTTEP ชนะการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณตามตลาดคาด แต่ราคาที่เสนอต่ำกว่าคาดมาก ทำให้ตลาดเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะลดลง ทำให้ราคาหุ้นลดลงแรงและกดดัน SET Index มาอยู่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุด และเคลื่อนไหวในกรอบ 1,550 – 1,600 จนสิ้นปี

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,563.88 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,641.08 จุด หรือประมาณ -4.7% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.1% กลุ่มพาณิชย์ -1.8% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -12.5% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -9.3% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -7.6% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 293 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 5,671 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนในปี 2018 ที่ผ่านมา แม้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยจะยังเติบโตได้ดี โดยคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 13% เมื่อเทียบกับปี 2017 ซึ่งน่าจะผลักดันให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นในทางเดียวกันกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยจากต่างประเทศกลับเข้ามามีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก เช่น ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED ภาวะหนี้ของประเทศในกลุ่มอียู เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สกุลเงินของประเทศเกิดใหม่อ่อนค่าลง และการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนมากตามปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะราคาหุ้นในกลุ่มขนาดกลาง-เล็ก ที่หลาย ๆ บริษัทปรับลดลงกว่า 50% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index ในปี 2019 นั้น ปัจจัยหลักภายในประเทศที่ต้องติดตามคือผลการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งในสถานการณ์ปรกติ ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นก่อนการเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า “Election Rally” แต่ในรอบนี้ นักลงทุนไทยและต่างชาติจะเฝ้ารอผลการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาถึงความมีสเถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่และความต่อเนื่องของนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศหลักที่ต้องติดตามคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการบริหารสภาพคล่องของ FED ซึ่งหากปัจจัยต่าง ๆ มีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ก็เชื่อว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง หลังจากการขายและถือเงินสดมากขึ้นในปี 2018 ทั้งนี้ บลจ.ทาลิสคาดว่า SET Index น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบค่าพีอีประมาณ 13.5 – 16 เท่า หรือคิดเป็นดัชนีอยู่ในช่วง 1,550 – 1,840 จุด ซึ่ง ณ ระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 1,600 จุด คิดเป็นค่าพีอีตลาดเพียง 13.9 เท่า จึงเป็นระดับที่น่าสนใจเข้าลงทุนในหุ้นสำหรับการลงทุนในระยะยาว

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2561

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา SET Index ได้ปรับตัวลง -1.64% จากสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งมีหลายปัจจัยกดดันตลาดด้วยกัน ทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรง ประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และปัจจัยภายใน ได้แก่ การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของไทยที่ออกมาต่ำกว่าคาดมาก

SET Index แกว่งตัวอยู่บริเวณระดับ 1,650-1,670 จุดในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 โดยกำไรรวมของบริษัททั้งหมดอยู่ที่ 2.57 แสนล้านบาท (+21% YoY และ +2% QoQ) โดยกลุ่มธุรกิจที่มีกำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโตจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก ได้แก่ กลุ่มบันเทิง กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมีภัณฑ์ ส่วนกลุ่มที่มีการเติบโตต่ำหรือหดตัวแรง ได้แก่ กลุ่มขนส่งทางอากาศ กลุ่มพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กำไรบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดรวมกัน 9 เดือน คิดเป็น 73% ของประมาณการกำไรสุทธิของปี 2018 ทั้งปี ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดหุ้นตอบสนองไม่มากนักกับผลประกอบการในไตรมาสนี้

ต่อมา วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 มีการประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 อยู่ที่ขยายตัว 3.3% YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.2% และชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 4.6% YoY นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากภาคการส่งออกของสินค้าไทย ที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และการชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้ดีจากยอดขายรถยนต์ และการลงทุนโดยรวมยังขยายตัว ซึ่งจากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคม พบว่าการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัว

ในด้านต่างประเทศ สหรัฐฯ มีการจัดการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคเดโมแครตชนะและครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรครีพับลีกันยังคงเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้แนวโน้มต่อจากนี้ไป การผ่านกฎหมายหรือนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้ส่งผล Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นในเอเชียเล็กน้อย นอกจากนี้ ตลาดยังคงรอผลการเจรจาของสหรัฐฯ และจีนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง จะพบกันในการประชุม G20 ในต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ หากพบว่าสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มเจรจากันได้และมีการผ่อนปรนการเก็บภาษี ข่าวนี้จะส่งบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาดคือ ราคาน้ำมันดิบ ที่ยังอ่อนตัวลงต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลงจากระดับกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือนมาสู่ระดับ 59 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปลายเดือน ด้วยความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกิน จากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยยังคงให้ 8 ประเทศสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ นอกจากนี้ กำลังการผลิตของ OPEC ก็มีการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปีเช่นกัน จากการเพิ่มการผลิตของซาอุดิอาระเบียและลิเบีย ราคาน้ำมันดิบจึงปรับตัวลงมาก กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องติดตามความคืบหน้าในการหารือเรื่องการลดกำลังการผลิตในการประชุม OPEC ในเดือนธันวาคมนี้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,641.80 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,669.09 จุด หรือประมาณ -1.6% จากสิ้นเดือนตุลาคม โดยราคาหลักทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการแพทย์ +2.42% กลุ่มขนส่ง +0.4% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +0.0% ในขณะที่ราคาหลักทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงแรงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ -7.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร -5.1% และ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -5.0% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยสุทธิ 13,993 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศได้ทำการซื้อสุทธิ 14,677 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสยังคงมุมมองแนวโน้มระยะกลางของตลาดหุ้นไทยว่ามีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบกว้างที่ 1,600-1,900 จุด โดยตลาดเริ่มซึมซับปัจจัยลบจากต่างประเทศไปมากแล้ว เช่น ข่าวสงครามการค้าและการลดลงของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น ในระยะต่อไป ปัจจัยภายในประเทศน่าจะเริ่มส่งผลต่อตลาดมากขึ้น ทั้งเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังเติบโตได้ดี ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 และแนวโน้มการเติบโตของ GDP ปีหน้า และเรื่องความคืบหน้าของการเลือกตั้ง ที่น่าจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในเดือนธันวาคม และหากการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม คือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 น่าจะส่งผลบวกในแง่จิตวิทยาต่อตลาด และทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2561

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ได้ปรับตัวลง 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก เช่น ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ได้อ่อนตัวลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ได้เป็นปัจจัยลบต่อบริษัทในกลุ่มพลังงาน ในขณะที่บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

SET Index ได้เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยปัจจัยหลักที่ได้กดดันตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังที่นาย Jerome Powell ประธาน Fed ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้ถูกสะท้อนอยู่ในอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.26% ในช่วงตันเดือนตุลาคม

นอกจากความกังวลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของ Fed แล้ว ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้เพิ่มความผันผวนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึง SET Index ด้วย โดยเกือบทุกข่าวและความเคลื่อนไหว รวมไปถึงข้อความจาก Twitter ของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีความเกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในวันที่ 30 ตุลาคม ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่าทางรัฐบาลอยู่ในกระบวนการร่างนโยบายภาษีที่จะมีผลใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมหากการหารือระหว่างประธานาธิบดี Donald Trump และประธานาธิบดี Xi Jingping ในการประชุม G20 ในวันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ไม่ได้ข้อสรุปอะไร โดยนโยบายดังกล่าวอาจจะคลอบคลุมสินค้าจากจีนอีกมูลค่าประมาณ 257,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากรวมกับนโยบายภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้นำออกมาใช้แล้ว จะเท่ากับว่ามูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนในปี 2017 จะถูกขึ้นภาษีทั้งหมด

อีกปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้แก่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งได้อ่อนตัวลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมัน Brent และ WTI ได้ปรับตัวลง 8.8% และ 10.8% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนของมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ จะนำออกมาใช้กับอิหร่าน การอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานอ่อนตัวลงกันส่วนใหญ่ โดยราคาหุ้นของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคได้ร่วงลงถึง 6.2%

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ได้กล่าวไปแล้ว SET Index ยังได้ถูกกดดันจากการอ่อนตัวของราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ ธปท. จะมีการปรับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการหลัก ๆ ที่ได้มีการเสนอออกมาได้แก่ การรวมสินเชื่อ Top-Up ทุกประเภทในการคำนวณอัตราส่วนมูลค่าสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และการปรับ LTV Limit สำหรับการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไปหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้เหลือ 80% โดยการเสนอมาตรการชุดนี้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มของอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะอ่อนตัวลงและส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงถึง 6.7% ในเดือนตุลาคม

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,669.09 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,756.41 จุด หรือประมาณ 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน ราคาหลักทรัพย์ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้ปิดตัวต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -0.2% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -2.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -2.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงแรงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.2% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -6.7% และ กลุ่มยานยนต์ -6.6% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยสุทธิ 64,200 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศได้ทำการซื้อสุทธิ 23,284 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางว่ามีแนวโน้มจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 1,600-1,900 จุด จากปัจจัยความเสี่ยงต่างประเทศและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย แต่ตลาดหุ้นก็ยังได้รับผลดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ ในระยะสั้น ตลาดทุนไทยยังมีโอกาสเกิดความผันผวนจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างที่ได้เผชิญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ผ่านพ้นไป และหากสหรัฐฯ กับจีนได้ทำการเจรจาข้อตกลงทางการค้าได้ในการประชุม G20 นี้ เราน่าจะเห็นความชัดเจนต่อปัจจัยภายนอกดังกล่าวมากขึ้น และจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นเพื่อตอบรับกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงเติบโตอยู่ และการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในต้นปี 2562 ได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2561

ในเดือนกันยายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% จากปลายเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเลือกตั้งที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าประเด็นวิกฤติในตลาดเกิดใหม่และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เข้ามากดดันภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินาประกาศเพิ่มวินัยทางการคลังและขอความช่วยเหลือจาก IMF ประเทศตุรกีประกาศอัตราเงินเฟ้อสูงที่ 17.9% หลังจากที่ค่าเงินอ่อนค่ากว่า 10% ภายใน 1 เดือน ประเทศอินโดนีเซียเผชิญกับค่าเงินที่อ่อนค่าขึ้น 11% ตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ทำให้ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดอื่น ๆ ในกลุ่ม เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และมีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศสูง จึงมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า

ต่อมาในช่วงกลางเดือน ตลาดหุ้นได้รับปัจจัยบวกจากเรื่องการเลือกตั้งภายในประเทศที่มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากที่พ.ร.บ. ที่มา ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ผ่านการโปรดเกล้าฯ และได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 กันยายน 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 18 กันยายน 2561 ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรงจากจุดต่ำสุดที่ 1,666 จุด ไปสู่ 1,720 จุด ในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากปัจจัยภายในประเทศที่เอื้อให้ SET Index ปรับตัวขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น หลังจากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 มิฉะนั้นสหรัฐฯ จะทำการคว่ำบาตรประเทศนั้น ๆ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันโดยรวมปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การประชุมโอเปกรอบล่าสุดมีมติให้คงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับปัจจุบัน ในขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทำให้เกิดภาวะอุปทานค่อนข้างตึงตัวในตลาดน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จึงพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบเกือบ 4 ปีที่ราคาสูงกว่าระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หุ้นในกลุ่มพลังงานจึงปรับตัวขึ้น และช่วยผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้วันที่ 24 กันยายน 2561 ส่วนจีนก็ดำเนินมาตรการตอบโต้โดยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐในมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และทรัมป์ยังวางแผนที่จะขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ภายในเดือนมกราคม 2562 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไม่ได้ตอบสนองเชิงลบกับข่าวนี้ แต่กลับตอบสนองในเชิงบวกว่าการเก็บภาษีรอบนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังมีเวลาในการเจรจากันได้อีก และทำให้มีแรงซื้อผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1,760 จุด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2561 SET Index ปิดที่ 1,756.41 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +10.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +10.0% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +7.3% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับขึ้นน้อยที่สุดหรือปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -2.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -1.6% ในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,756 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 16,955 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว และมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งจาก Election Rally และปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยเอง โดยภาพรวมของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งปี ยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับ 10–12% แม้ว่าตลาดจะยังมีความเสี่ยงจากประเด็นสงครามการค้า ทว่า ตราบใดที่ผลกระทบยังไม่ชัดเจนและส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การตอบสนองของตลาดในเชิงลบน่าจะอยู่ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าที่คาด ทำให้ SET Index มีทิศทางที่ค่อนข้างดูดี และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2561

ในเดือนสิงหาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นการแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังจากที่ SET Index ปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยที่ดีกว่าคาด

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2561

ในเดือนกรกฎาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 หลังจากที่ตลาดปรับตัวลงมากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการเติบโตดีกว่าที่คาด แม้ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน $34,000 ล้าน และจีนมีการตอบโต้ในระดับเดียวกัน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ประกาศจะเพิ่มการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น $200,000 ล้านก็ตาม

โดยภาพรวม ดัชนีตลาดในเดือนกรกฎาคมมีการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน อันเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นในตลาด Emerging Market (รวมถึงไทยด้วย) ลดลงเมื่อเทียบกับการขายออกมามากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการประกาศผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาด แม้ว่าจะเริ่มได้รับผลกระทบจากการลดค่าธรรมเนียมธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม โดยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการเติบโตถึง 17% YoY และทำให้ผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกกลับมาเติบโต 8% YoY เมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่มีการเติบโต 4.8% จึงมีการคาดการณ์ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน น่าจะมีโอกาสเติบโตได้ถึง 15-20% YoY ในขณะที่การที่สหรัฐฯ ผ่อนปรนท่าทีการเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจาก EU โดยทาง EU ยินยอมจะเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองและก๊าซธรรมชาติเหลว ทำให้ Sentiment ตลาดโดยรวมดีขึ้น และทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง

ในช่วงเดือนกรกฎาคม ตลาดหุ้นแทบจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยภายนอกประเทศเลย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง เนื่องจากสหรัฐฯ มีท่าทีผ่อนปรนลงเกี่ยวกับการ Sanction อิหร่าน และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการผลิตน้ำมันต่อเนื่อง การเริ่มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการที่สหรัฐฯเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน $34,000 ล้าน ในอัตรา 25% ในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องบิน และหุ่นยนต์ และกำลังพิจารณาจะเก็บภาษีเพิ่มอีกมูลค่า $16,000 ล้าน ในขณะที่จีนก็มีการตอบโต้ในระดับเดียวกัน โดยเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯจำนวน $34,000 ล้าน ในอัตรา 25% ในสินค้าประเภทสินค้าเกษตรและยานยนต์ และกำลังพิจารณาจะเก็บภาษีเพิ่มอีกมูลค่า $16,000 ล้านเช่นกัน ซึ่งทำให้สหรัฐฯประกาศจะเพิ่มการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก $200,000 ล้าน ในอัตรา 10% และการที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯปรับตัวลงแรง เนื่องจากผลประกอบการที่น่าผิดหวัง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 SET Index สามารถกลับมายืนเหนือระดับ 1,700 จุดได้อีกครั้ง โดยปิดที่ 1,701.79 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +13.1% กลุ่มปิโตรเคมี +9.8% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +9.4% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับขึ้นน้อยที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ +3.5% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +4.2% และกลุ่มโรงแรม +4.5% ในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,622 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 34,095 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังมีโอกาสจะเกิดความผันผวนสูง โดยเฉพาะภายหลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 แล้ว และเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะออกมากประกาศนโยบายชาตินิยมเพิ่มเติมเพื่อสร้างคะแนนเสียงให้มากขึ้น ประกอบกับการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 120 จุดในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ทำให้อาจจะมีแรงขายทำกำไรเพิ่มมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว บลจ.ทาลิสยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นว่ายังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเติบโตได้ดี และเริ่มมีการกระจายไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาคการบริโภค การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แม้ว่าการกระจายรายได้สู่ผู้มีรายได้น้อยยังเป็นปัญหาอยู่ก็ตาม รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาลที่เริ่มเดินหน้าชัดเจนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้ ในขณะที่การประกาศช่วงเวลาการเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็จะช่วยให้ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้นด้วย

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารอบแรกของสหรัฐฯและจีน การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ปัญหาผลประกอบการของกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและของไทย

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2561

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บลจ.ทาลิสมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2561 นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้น โดยการเติบโตได้มีการกระจายตัวไปยังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีขึ้น นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่ยังเติบโตดี และนโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตได้ประมาณ 10% เมื่อประกอบกับแนวโน้มการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก็เชื่อว่าภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีทิศทางที่ดี และ SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ แม้ว่าการปรับตัวขึ้นในปีนี้จะน้อยกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

ในขณะที่ปัญหาเรื่องเงินลงทุนไหลออกนั้น ผลกระทบต่อตลาดหุ้นมีน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมามาก และเชื่อว่าสภาพคล่องในประเทศเองสามารถรองรับการลดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้ ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีการทยอยลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ถึง 180,077 ล้านบาท แต่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปี 2556 และ 2558 ที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิในระดับเดียวกัน แต่ SET Index มีการปรับตัวลดลงถึง 25% รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระดับที่น้อยมาก (ในช่วงปี 2551 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิเพียง 4 ปี จำนวน 274,779 ล้านบาท แต่มีการขายสุทธิถึง 7 ปี จำนวน 759,496 ล้านบาท และสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำนับตั้งแต่ปี 2546) ขณะเดียวกัน ในด้านความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น นักลงทุนในตลาดได้รับรู้ถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของ FED ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และประมาณการที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึงปี 2562 แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมาอย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่สูง ซึ่งสามารถรองรับเงินลงทุนสุทธิที่ไหลออกได้ และทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM)

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางลบในเดือนที่ผ่านมาจากปัจจัย “Trade War” หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศจีนที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจำนวนมากถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐฯ มีการตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับยานพาหนะ มูลค่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผลในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจีนได้ตอบโต้โดยการตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ประเภทสินค้าเกษตรและอาหาร และรถยนต์ มูลค่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีผลวันที่ 6 กรกฎาคมเช่นกัน ทำให้สหรัฐฯ มีการประกาศจะตั้งกำแพงภาษีอีก 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเชื่อมโยงถึงการที่ FED อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้เพิ่มอีก 1 ครั้ง รวมถึงการที่สหรัฐฯ และ EU กำลังจะมีการลด QE (ซึ่ง 2 ปัจจัยหลังตลาดได้รับรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว) จึงทำให้กังวลว่าค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) จะอ่อนตัวลง และมีการย้ายเงินลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงเร่งให้มีการขายหุ้นในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ EM มากขึ้นและเร็วขึ้น

สำหรับประเทศไทยเอง ความกังวลดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยมากขึ้น และทำให้นักงทุนไทยมีความวิตกกังวลมากขึ้นและชะลอการลงทุน และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงมาระดับหนึ่ง ก็มีแรง Force ขายหุ้นของบัญชี Margin และ Block Trade ผสมโรงเข้ามา รวมถึงการปิด Position สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่หมดอายุในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย ทำให้ SET Index ในเดือนมิถุนายนปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถึง 7.6%

บลจ. ทาลิสคาดว่า แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจไม่ได้จบได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นยังมีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง แต่นักลงทุนก็มีการรับรู้และปรับการลงทุนไประดับหนึ่งแล้ว และเนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าไม่เป็นผลดีต่อทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ เอง ทำให้คาดว่าปัญหาสงครามการค้าดังกล่าวจะจบลงด้วยการเจรจาต่อรองกันมากกว่า ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐฯ และจีนประกาศกำแพงภาษีออกมาแล้วนั้น หากมีการบังคับใช้จริงก็คาดว่าจะกระทบต่อการเติบโตของ GDP ของจีนไม่เกิน 0.5% เท่านั้น ในทางกลับกัน หากปัญหาดังกล่าวมีการเจรจาตกลงกันได้ จะกลับมาเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น และทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกยังไม่มีปัจจัยใดที่ชี้ว่ากำลังเกิดวิกฤติในภูมิภาคใด จนส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ (การลด QE ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ได้ทำให้ Money Supply ของสหรัฐฯ ลดลง ส่วนกลุ่มประเทศ EU ก็ยังไม่หยุดการเพิ่ม QE จนถึงถึงสิ้นปีนี้)

นอกจากนี้ บลจ.ทาลิสมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมถึงสหรัฐฯ ในปีนี้ยังมีทิศทางเติบโตที่ดี แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อยในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจไทย ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และทิศทางการเมืองที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ในขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงนี้ ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นลดลงมาก จนทำให้ค่า PER ของตลาดอยู่ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับตัวขึ้นในปลายปีนี้ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 8-10% ต่อปี Valuation ของตลาดหุ้นในปัจจุบันสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2562 แล้ว

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2561

ในเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวลง 3.0% จากสิ้นเดือนเมษายน 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และการ Rebalance ดัชนี MSCI

โดยภาพรวมตลาดในเดือนพฤษภาคมมีการปรับตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ในช่วงต้นเดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน โดยปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 3.10% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบ 7 ปี ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนัก ส่วนในฝั่งยุโรป เริ่มมีความเสี่ยงทางการเมืองในอิตาลีและสเปนที่เพิ่มขึ้น จากการที่อิตาลีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังจากที่เลือกตั้งผ่านมา 2-3 เดือนแล้ว และนายกรัฐมนตรีสเปนถูกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบทั้งสิ้น กดดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 1 ของไทยออกมาสูงกว่าคาดอยู่ที่ 4.8% และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส เป็นตัวชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฟื้นตัวและกำลังเติบโตต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทย อีกทั้งในปลายเดือน การเลือกตั้งของไทยที่มีพัฒนาการในเชิงบวก หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายที่มา สว. และร่างกฎหมายการเลือกตั้ง สส. ว่าไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตาม Road Map ที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งคาดจะเกิดการเลือกตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2562 ปัจจัยเหล่านี้น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมยังเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 2.89 แสนล้านบาท เติบโต 15.9% เทียบกับไตรมาส 4 และ 0.6% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2560 โดยกลุ่มที่ผลประกอบการดีกว่าคาดมากที่สุดคือกลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มที่ผลประกอบการต่ำกว่าคาดมากที่สุดคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิออกมาเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มการแพทย์ และกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ แม้ว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 จะออกมาตามที่คาด แต่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงค่อนข้างแรง สาเหตุมาจากการที่กระทรวงการคลังจะออกร่างพ.ร.บ. กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน (ยกเว้นสถาบันการเงิน) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่าง ๆ หากอัตราดอกเบี้ยใหม่ถูกปรับลดลง สำหรับหุ้น SAWAD นั้น แม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับร่างพ.ร.บ. ใหม่นี้ เนื่องจากได้ปรับโครงสร้างองค์กรไปอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้น แต่ผลประกอบการในไตรมาส 1 กลับออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยภายในประเทศจะยังค่อนข้างเป็นบวกต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ปัจจัยภายนอกได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ MSCI มีการเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นจีน และลดน้ำหนักของตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค และการที่คาดการณ์ว่า OPEC จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมเดือนมิถุนายน ทำให้มีแรงขายหุ้นไทยออกมามาก โดยเฉพาะหุ้น Market Cap ขนาดใหญ่ เช่น PTT, AOT, CPALL และ PTTEP เป็นต้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,726.97 จุด ปรับตัวลดลง 3.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +13.5% กลุ่มการแพทย์ +10.2% และกลุ่มยานยนต์ +5.4% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.8% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -7.4% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 51,859 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 23,167 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าหลังจากตลาดหุ้นปรับฐานในเดือนพฤษภาคม ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากตลาดได้ซึมซับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศไปค่อนข้างมากแล้ว และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี และเริ่มมีการกระจายไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาคการบริโภค การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แม้ว่าการกระจายรายได้สู่ผู้มีรายได้น้อยยังเป็นปัญหาอยู่ก็ตาม รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาลที่เริ่มเดินหน้าชัดเจนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง หนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน และผลักดันตลาดหุ้นให้มีแนวโน้มขึ้นต่อไปได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2561

ในเดือนเมษายน SET Index ปรับตัวขึ้น (+0.24% MoM) จากสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากปัญหาด้านสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ลดความรุนแรงลง และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ โดยมีปัจจัยการเมืองในประเทศและผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นปัจจัยกดดันเล็กน้อย

โดยภาพรวมตลาดในเดือนเมษายนมีความผันผวนสูง ในช่วงต้นเดือนตลาดได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากจีนและสหรัฐฯ ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กันอย่างเข้มข้น แต่ในกลางเดือนก็เริ่มผ่อนคลายลงและพร้อมเข้าสู่การเจรจา ทางฝั่งยุโรป ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.0% และคงนโยบาย QE ที่ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2561 ซึ่งไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการยุติ QE ก่อนกำหนดแต่อย่างใด และในช่วงปลายเดือนเมษายน ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี กดดันดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การเลือกตั้งของไทย หลังสนช.ยื่นร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งคาดว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณาราว 2 เดือน ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าการเลือกตั้งอาจจะล่าช้าออกไป หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับผลกระทบจากการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ได้รับผลกระทบจากกระทรวงพลังงานจะปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นใหม่ ส่งผลให้ตลาดปรับฐานแรงในช่วงต้นเดือน ประกอบกับการรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ด้วยระดับการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแย่กว่าที่คาด ต่อมาในช่วงปลายเดือน ความคืบหน้าด้านการประมูลแหล่งน้ำมันบงกช และเอราวัณ และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยเข้ามาผลักดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ PTTEP การยืดอายุการชำระใบอนุญาตดิจิตอลทีวีของ คสช. ก็ผลักดันราคาหุ้นในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ขึ้นเช่นกัน ทำให้ SET Index สามารถฟื้นตัวและกลับมาปิดที่ระดับเป็นบวกได้ในเดือนเมษายน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2561 SET Index ปิดที่ 1,780.11 จุด ปรับตัวขึ้น +0.24% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +5.4% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +3.3%และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ +2.5% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -5.8% กลุ่มการแพทย์ -4.9% และกลุ่มธนาคาร -3.4% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 21,450 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 15,552 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าตลาดหุ้นจะแกว่งตัวแบบ Sideway ในช่วงสั้น แต่ในครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขึ้น เนื่องจากตลาดซึมซับกับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศไปค่อนข้างมากแล้ว และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี ทั้งภาคการส่งออกและท่องเที่ยว โดยธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวถึง 4.1% ระบบการเงินยังมีสภาพคล่องสูง อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง หนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน และผลักดันตลาดหุ้นให้มีแนวโน้มขึ้นต่อไปได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการประกาศกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 และความเสี่ยงด้านการปรับลดประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2561

ในเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวลง (-2.94% MoM) จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงตามการปรับฐานของดัชนีหุ้นทั่วโลก จากความกังวลต่อการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยภายในประเทศ

โดยภาพรวมตลาดในเดือนมีนาคมมีการแกว่งตัว Sideway ในช่วงต้นเดือน หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ขึ้น 25 bps ไปอยู่ที่ช่วง 1.50 – 1.75% และคงมุมมองที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดการเงินไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก แต่ในช่วงปลายเดือน ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ลงนามเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อกดดันจีนที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ขณะที่จีนก็ออกมาตอบโต้ด้วยการจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื้อหมู ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์ จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของสงครามการค้าอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -5.9% ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากข่าวกีดกันทางการค้านี้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่มีการระบุตัวสินค้าชัดเจน

ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ได้แก่ การประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมธนาคารทางอินเตอร์เน็ตของหลายธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น ทำให้เกิดความกังวลต่อผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารทหารไทย ที่อาจเกิดผลกระทบเชิงลบมากที่สุด เนื่องจากเดิมเป็นธนาคารเดียวที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากลูกค้า ทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลง / การหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า จึงสมควรหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นโครงการใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน / ข่าวเรื่องคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อาจจะพิจารณาปรับสูตรคำนวณราคาค่าการกลั่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกำไรของหุ้นกลุ่มโรงกลั่น รวมไปถึงการประกาศจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,776.26 จุด ปรับตัวลดลง -2.94% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ +3.1% กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ +3.0% และกลุ่มพาณิชย์ +0.8% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -7.1% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -6.2% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -5.4% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากที่สุดมูลค่า 11,219 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 9,484 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าตลาดหุ้นจะยังอยู่ในช่วงปรับฐานในช่วงสั้น แต่ในครึ่งหลังของปี 2561 ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยก็ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งสิ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงอยู่ที่ปัจจัยระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด