ภาวะตลาดหุ้นไทย (9 – 13 ตุลาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม SET Index ยังคงแกว่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ และกลุ่มการแพทย์ โดยตลาดหุ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้ตลาดหุ้นไทยตอบรับข่าวดี ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,700 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี และจากการประกาศปลดธงแดงของ ICAO สำหรับสายการบินสัญชาติไทย ซึ่งทำให้สายการบินไทยสามารถเพิ่มเส้นทางบินได้มากขึ้น

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ IMF ปรับคาดการณ์การเติบโต GDP โลกปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 3.6% โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.1% จากประมาณการณ์ครั้งก่อนหน้าในเดือนกันยายน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้นแตะ 101.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในเดือนธันวาคม

เงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ 33.12 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.95%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 5.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,712.48 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.51 จุด หรือ 0.97% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นเหนือระดับ $50 ต่อบาร์เรล หลังงจากซาอุดิอาระเบียประกาศจะปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันในเดือน พฤศจิกายน ตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องน้ำมันล้นตลาด สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.45 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่ม 4.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มว่าปัญหาหนี้เสียจะลดลงในระยะเวลาถัดไป ก็จะส่งผลให้นักลงทุนเข้าลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย (2 – 6 ตุลาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มาปิดที่ 1,695 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 22.81 จุด หรือ 1.36% จากการที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เริ่มทำ Preview ผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนฯ ซึ่งภาพโดยรวมจาก Bloomberg consensus ประมาณว่าการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 8.5% YoY รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีไทย นายประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และได้บรรลุข้อตกลงว่าไทยจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯขาดดุลการค้าต่อไทยอยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากที่สุด

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า โดย Dollar Index ปรับตัวขึ้น 0.78% อยู่ที่ระดับ 93.8 จุด จากการที่ FED ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับดอกเบี้ยขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อ Fund Flow ของการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

เงินบาทอ่อนค่าลงมา อยู่ที่ 33.44 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.33%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net buy ที่ 2.0 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงแรงจากความกังวลว่าอุปทานของน้ำมันจะล้นตลาด จากการรายงานของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC ได้เพิ่มกำลังผลิตในเดือนกันยายน รวมทั้งการขายทำกำไรของนักลงทุนบางส่วนที่เห็นราคาน้ำมันอยู่เหนือ $50 ต่อบาร์เรล ณ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.29 ต่อบาร์เรล ลดลง 4.61% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นถึง 1,700 จุด หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาในสัปดาห์หน้า

ภาวะตลาดหุ้นไทย (25 – 29 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สุดท้ายของเดือนกันยายนและสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสที่ 3 SET Index ยังคงแกว่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และสามารถยืนเหนือแนวต้านที่ 1,670 จุดได้ โดยมีแรงซื้อหลักในหุ้นขนาดใหญ่ทั้งกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มค้าปลีก ในขณะที่ในช่วงกลางสัปดาห์มีการประชุม กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% และมีการปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ปี 2560 และ 2561 เป็น 3.8% และ 3.7% เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนทิศทางการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นได้

ปัจจัยต่างประเทศ ผู้ว่าการ FED ส่งสัญญาณว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม ส่งผลให้เงินดอลล่าร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.33 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.73%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 2.3 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นจากความร่วมมือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน รวมถึงการผลิตน้ำมันต่ำกว่าข้อตกลงของประเทศไนจีเรีย และการที่ตุรกีขู่จะปิดท่อส่งน้ำมันจากอิรักออกสู่ตลาดโลก หากชาวเคิร์ดเดินหน้าทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากอิรัก เป็นปัจจัยหลักในการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.67 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,673.16 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 14.11 จุด หรือ 0.85%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index คาดว่า SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นด้วยความผันผวนที่ลดลง จากการที่นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น เมื่อ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,700 จุด และนักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียน ที่จะเริ่มประกาศออกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคาดว่าจะเติบโตขึ้นทั้ง YoY และ QoQ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (18 – 22 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน SET Index เริ่มมีการปรับฐานหลักจากปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องถึง 5 สัปดาห์ โดย Fund Flow ของต่างชาติกลับมาเป็น Net Sell เล็กน้อย หลังจากมียอด Net Buy หลายสัปดาห์ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวกับตัวเลขทางเศรฐกิจยังคงออกมาดีอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขส่งออกของประเทศไทยในเดือนสิงหาคมมีการขยายตัวถึง 13.2%

ปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุม Fed เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์คือ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้คงเดิม และประกาศการทยอยปรับลดขนาดของงบดุลลง โดยจะเริ่มลดขนาดของงบดุลลงเดือนละ $10,000 ล้านในเดือนตุลาคม และทยอยเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ $10,000 ล้านทุกไตรมาส จนกว่าจะถึงระดับ $50,000 ล้านต่อเดือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองระหว่าง สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง จากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เห็นพ้องในการกดดันเกาหลีเหนือให้ระงับโครงการนิวเคลียร์ให้เร็วที่สุด และการตอบโต้ทางวาจาอย่างรุนแรงของผู้นำสหรัฐฯและเกาหลีเหนือหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) โจมตีผู้นำเกาหลีเหนือ

เงินบาทคงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.08 บาทต่อดอลล่าร์

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 2.4 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง แม้การรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ (EIA) ปรับตัวสูงขึ้น แต่ได้รับการสนับสนุนการพิจารณาขยายการลดกำลังการผลิตจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) โดยราคาน้ำมันดิบ WTI กลับขึ้นมายืนเหนือ $50 ต่อบาร์เรล สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $50.66 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 1.54% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,659.05 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.48 จุด หรือ -0.09%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index คาดว่า SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ Fund Flow ที่ยังคงไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทย (11 – 15 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถปรับตัวขึ้นผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,650 จุดได้ และปิดที่ 1,660 จุด ในวันสิ้นสัปดาห์ ขณะที่ Fund Flow ของต่างชาติที่เข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่ยังเป็นแรงสนับสนุนหลักในการผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้น ในขณะที่การเข้าพบรัฐบาลของนักธุรกิจญี่ปุ่นและเข้าเยี่ยมชมเขต EEC กว่า 500 คนในช่วงกลางสัปดาห์ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในทิศทางการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบหลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับ Demand น้ำมันดิบทั้งปีเพิ่มขึ้นหลังพายุฮาร์วีย์สงบลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น

ปัจจัยต่างประเทศ จากสถานการณ์วันชาติของเกาหลีเหนือเป็นไปด้วยความสงบ ทำให้ความตึงเครียดลดลง ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.08 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่า 0.03% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 8.0 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นแรง จากการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่เพิ่มการคาดการณ์ Demand น้ำมันตลาดโลกในปีนี้ แม้ว่าตัวเลข Demand ในช่วงเดือนสิงหาคมมีการปรับตัวลง ซึ่งแสดงถึงการคาดการณ์ Demand ที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงปีที่เหลือ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.89 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 5.08% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,660.53 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 24.92 จุด หรือ 1.52%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ในขณะที่นักวิเคราะห์ได้ทยอยปรับประมาณการ SET Index สิ้นปีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตลาดหุ้นยังได้รับอานิสงส์จาก Fund Flow ที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้น จะมีการประชุม FOMC ในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน ซึ่งคาดว่าจะคงมติดอกเบี้ยทางนโยบายที่ 1.25% คงเดิม แต่อาจจะมีการประกาศเริ่มกระบวนการการปรับลดงบดุลลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (4 – 8 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่ยังคงเข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาครัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าโครงการเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะเติบโตดี ด้วยการเปิดประมูลงานก่อสร้างภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประมูลรถไฟทางคู่เส้นทางประจวบคีรีขันธ์–ชุมพร และ ลพบุรี-ปากน้ำโพ รวมมูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท และการเตรียมการต้อนรับผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 570 รายที่จะเข้าพบ เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินมาสู่ปีที่ 130

ปัจจัยต่างประเทศ ปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลียังกดดันภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นในภูมิภาคใกล้เคียง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้วันชาติเกาหลีเหนือ ที่นักลงทุนไม่มั่นใจว่าจะมีการยิงขีปนาวุธเพื่อแสดงแสนยานุภาพหรือไม่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนเออร์มาที่จะพัดเข้าฝั่งรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่พายุเฮอริเคนฮาร์วีย์เพิ่งพัดเข้าถล่มรัฐเท็กซัสและรัฐหลุยเซียน่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งผลกระทบจากพายุเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้การเติบโตของ GDP ของสหรัฐฯต่ำกว่าที่คาดไว้

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.01 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าขึ้น 0.24% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 3.4 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ได้สงบตัวลง หลังจากได้สร้างแรงกดดันในตลาดน้ำมันดิบในสหรัฐระยะหนึ่งเนื่องจากการปิดตัวของโรงกลั่นเป็นการชั่วคราวจำนวนมาก สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.48 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.40% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,635.61 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 17.19 จุด หรือ 1.06%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีก โดยปัจจัยสนับสนุนหลักของ SET Index ยังคงมาจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากตลาดหุ้นไทย Laggard ในตลาดหุ้นในกลุ่มภูมิภาคเป็นเวลานาน

ภาวะตลาดหุ้นไทย (28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม SET Index ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบปีที่ 1,618 จุด หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจแสดงสัญญานการเติบโตที่เร่งตัวขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองจากการที่ศาลตัดสินคดีจำนำข้าวคลี่คลายลง และการที่นักลงทุนต่างประเทศมีการย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากหุ้นไทย Laggard ตลาดเพื่อนบ้านมาตลอดทั้งปี ซึ่งจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าลงทุนในหุ้น Big Cap ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านจิตวิทยาที่ 1,600 จุดได้

ปัจจัยต่างประเทศ สถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนในตลาดหุ้นแถบคาบสมุทรเกาหลีบางส่วน และเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มอาเซียนแทน ซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ของ Fund Flow ที่ไหลเข้าภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯที่ Jackson Holes ไม่มีแถลงการณ์ที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวล ทำให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.17 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนลง 0.38% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net buy ที่ 5.6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 1 เดือน จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน ฮาร์วีย์ ทำให้หลายโรงกลั่นในสหรัฐฯต้องปิดดำเนินการ ซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.29 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 1.21% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,618.42 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 42.57 จุด หรือ 2.70%

มุมมองตลาดในระยะสั้น หลังจาก SET Index ปรับตัวขึ้นผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,600 จุดแล้ว คาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะมีมากขึ้น และทำให้ SET Index สามารถแกว่งตัวในช่วง 1,600-1,650 จุดได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการไตรมาสที่ 3 กลับมาดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตมีการเร่งตัวขึ้น ก็จะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง หากเกาหลีเหนือยังคงมีการทดลองขีปนาวุธต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลีมีความตึงเครียดมากขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทย (21 – 25 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนสิงหาคม SET Index ยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ ได้รับแรงหนุนจากการประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.7% จากภาคเกษตรที่เติบโต 7.7% และการส่งออกที่เติบโต 6.6% ทำให้ธนาคารโลกปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ของไทยปี 2560 และ 2561 ขึ้นไปที่ระดับ 3.5% และ 3.6% ในขณะที่ข่าวการหลบหนีคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น โดยศาลฎีกาฯได้เลื่อนการฟังคำตัดสินเป็นวันที่ 20 กันยายนนี้

ทางด้านปัจจัยต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนของการเมืองของสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่จะไม่อนุมัติงบประมาณประจำปี หากสภา Congress ไม่บรรจุงบประมาณการสร้างกำแพงชายแดนระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโกไว้ในงบประมาณด้วย และประเด็นการปรับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เนื่องจากหนี้สาธารณะของสหรัฐฯกำลังจะชนเพดานหนี้ในเดือนกันยายนนี้ และปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี จากการที่เกาหลีเหนือยังคงทดการลองยิงขีปนาวุธข้ามทวีป ในขณะที่สหรัฐฯกับเกาหลีใต้กำลังร่วมกันซ้อมรบอยู่

เงินบาทแข็งขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.02 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งขึ้น 0.25% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากความกังวลของนักลงทุนที่พายุเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" จะพัดถล่มชายฝั่งสหรัฐในรัฐเท็กซัส และรัฐหลุยส์เซียนา จะทำให้ความต้องการการใช้น้ำมันลดลง ทั้ง ๆ ที่โดยปกติแล้วนักลงทุนจะกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตที่ลดลงจากการหยุดการผลิต เนื่องจากรัฐเท็กซัสเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของสหรัฐ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.87 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.32% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.85 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.32 จุด หรือ 0.59%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หลังจากความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองได้คลี่คลายลงระดับหนึ่ง รวมถึงจะมีการประมูลรถไฟทางคู่เส้น ประจวบฯ – ชุมพร ในวันที่ 30 สิงหาคม และ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ในวันที่ 1 กันยายนนี้

ภาวะตลาดหุ้นไทย (15 – 18 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคม SET Index ยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ แม้ว่าจะมีแรงขายทำกำไรหลังการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และการขายหุ้นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยจากข่าวลือเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E และการเพิ่มทุน แต่ตลาดก็ได้รับจากแรงสนับสนุนจากหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันและปิโตรเคมีที่ปรับตัว ในขณะที่ผลการประชุมของ กนง. เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 1.50%

ปัจจัยต่างประเทศ จากรายงานการประชุมของ FED ที่ยังมีความกังวลเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จากอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ทำให้การคาดการณ์ของ Bloomberg Consensus เกี่ยวกับโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนธันวาคมลดต่ำลงเหลือเพียง 40% แต่ยังคงมีการคาดการณ์ว่า FED จะเริ่มดำเนินการลดขนาดของ Balance Sheet ภายในปีนี้ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่ปัญหาการเมืองในสหรัฐฯ เกี่ยวกับความไม่ลงรอยในเรื่องลัทธิชาตินิยมสนับสนุนคนผิวขาว และเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์

เงินบาทคงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.22 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 1.6 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการรายงานตัวเลขกำลังการผลิตของสหรัฐฯ นั้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ได้ปรับแรงสนับสนุนจากการรายงานตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง 8.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.51 ต่อบาร์เรล ลดลง 0.6% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.53 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5.26 จุด หรือ 0.33%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index ยังคงถูกกดดันจากการลดการถือสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน จากความไม่แน่นอนของการเมืองสหรัฐฯและนักลงทุนยังจับตามองการประชุมของผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯที่ Jackson Hole ในวันที่ 24 สิงหาคม ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ อาจมีแรงขายหลังจากหุ้นขึ้นเครื่องหมาย XD จากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรก และยังต้องติดตามการประกาศ GDP ไตรมาส 2 ของประเทศไทย ซึ่งจากตัวเลขของ Bloomberg Consensus คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% และ การตัดสินคดีจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 สิงหาคม

ภาวะตลาดหุ้นไทย (7 สิงหาคม – 11 สิงหาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคมมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากการขายทำกำไรหลังการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะหุ้นที่มีการประกาศผลประกอบการต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การประกาศผลการประมูลการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม – หัวหิน ที่ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคาประมูลเพียงประมาณ 2% ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและการตัดราคาในการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานลง และทำให้มีการกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบตามตลาดหุ้นต่างประเทศจากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จากการที่เกาหลีเหนือขู่ที่จะยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวม ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐฯ และการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดี สหรัฐฯ นายโดนัลล์ ทรัมป์ ที่พร้อมจะตอบโต้หากเกาหลีเหนือยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ในการทดลองยิงขีปนาวุธใกล้เกาะกวม ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่จะเกิดสงคราม

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.22 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าลง 0.15% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy เพียงเล็กน้อย ที่ 921 ล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจากการรายงานการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC ในเดือนกรกฎาคม จาก 2 ประเทศหลัก คือลิเบียและไนจีเรีย สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.82 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลง 1.53% WoW
สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,561.31 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 16.95 จุด หรือ 1.07%

มุมมองตลาดในระยะสั้น ตลาดยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ นักลงทุนยังคงติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน และติดตามการประชุมของ กนง. ในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าที่ประชุมจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม