ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 19 – 23 กันยายน 2559

ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติคงนโยบายดอกเบี้ยติดลบตามเดิม (-0.1%) และปรับแผนในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยมีเป้าหมายเพื่อพยุงให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 0% พร้อมกับเพิ่มฐานเงินให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนบรรลุเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา มีมติ 7 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% โดยระบุถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุล และคณะกรรมการส่วนใหญ่ปรับลดมุมมองอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมลง โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และให้มุมมองว่าปีหน้าอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ลดลงจาก 3 ครั้ง

ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนต่างเฝ้ารอผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปริมาณการซื้อขายจึงค่อนข้างน้อยและอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายของญี่ปุ่นและไม่ผิดคาดมากนักของสหรัฐฯ ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยรวมจึงค่อนข้างคงที่และปรับลดลงมากในรุ่นอายุประมาณ 10 ปี ส่วนการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเล็กน้อย 0.005-0.01% ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 16.3 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 9.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 12 – 16 กันยายน 2559

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 5-25 ปีปรับขึ้น 0.02-0.12% ซึ่งเป็นการปรับตัวตามตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเข้าใกล้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ 14 ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางของประเทศอังกฤษ (BOE) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% เท่าเดิม และคงปริมาณการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ตามที่ตลาดคาด โดยในแถลงการณ์ BOE ยังมองว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงจากผลประชามติ Brexit ที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

ทางด้านการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.005-0.03% จากความต้องการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วันมีผู้สนใจน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 11.2 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 5.9 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 5 – 9 กันยายน 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างผันผวน อัตราผลตอบแทนในช่วงต้นสัปดาห์ปรับขึ้นจากการเพิ่มมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมามาก จึงทำให้มีเงินบางส่วนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจึงกลับมาลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าอัตราผลตอบแทนปรับลดลง 0.02-0.11% นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ ซึ่งความเห็นของนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ต่างคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ สำหรับตลาดต่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) สร้างความผิดหวังให้ตลาด โดยมีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม

ทางด้านการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.02-0.04% ต่อปี จากความต้องการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 8.4 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 2.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในตลาดต่างปรับมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ว่ามีโอกาสเพิ่มมากขึ้น โดยอาจเกิดขึ้น 1 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในงานประชุมประจำปีว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดี แม้ว่าจะมีตัวเลขบางอย่าง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อยู่บ้าง เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด หลังจากที่ใน 2 เดือนก่อนหน้าสูงเกินกว่าที่คาดการณ์

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับผลของการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) นั้น ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะขายพันธบัตรตัวใหม่ให้ในอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดรองพอสมควร จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุประมาณ 5-25 ปีปรับเพิ่มขึ้น 0.07-0.11% ส่วนพันธบัตรระยะสั้นก็ปรับตัวขึ้น 0.01-0.04% นอกจากนี้ การประมูลพันธบัตรระยะยาว รุ่นอายุ 20 ปีในวันพุธ มีคนสนใจเข้าร่วมประมูลน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 2.68-2.72%, เฉลี่ย 2.7048% และ Bid-coverage-ratio 0.88

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 22 – 26 สิงหาคม 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกต่างรอการแถลงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมประจำปีของ FED ที่ Jackson Hole ที่มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาทรงตัวถึงค่อนข้างดี เช่น ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2550 / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นลดลงเป็น 50.9 ในเดือนส.ค. จากระดับ 51.4 ในเดือนก่อนหน้า และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้อัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.05-0.09% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดให้มีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) สำหรับพันธบัตรรุ่น LB176A ในระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนสถาบันมีปริมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากรอฟังผลของการทำธุรกรรมนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.13% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรรุ่นอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวนประมาณ 2.54 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไปประมาณ 3.97 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 15 – 19 สิงหาคม 2559

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวได้ดี โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ในไตรมาสที่สองขยายตัว 3.5% โดยมาจากการบริโภคภาคเอกชน (+3.8%) การลงทุนภาครัฐ (+10.4%) และการท่องเที่ยว (+12.1%) แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว (+0.1%) เนื่องจากการหดตัวในการก่อสร้างและการส่งออกสินค้าที่ยังคงอ่อนแอ (-3.1%) อย่างไรก็ดี สศช. คงประมาณการ GDP ในปีนี้ไว้ที่ 3.0-3.5% ทางด้านตลาดต่างประเทศ FOMC ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม โดยมีความเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงาน แต่กรรมการแต่ละรายยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของภาคธนาคารอิตาลี โดยประธานธนาคาร BMPS ของอิตาลีถูกสอบสวนในข้อหาแต่งบัญชีและปั่นตลาดในการธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์และยังมีทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อธนาคารรายอื่นของอิตาลีหรืออาจส่งผลกระทบต่อสถานภาพสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของอิตาลีด้วย

สำหรับตลาดพันธบัตรของไทย นักลงทุนสถาบันรอความชัดเจนของการทำ Bond Switching จากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศตลอดทั้งสัปดาห์ ซื้อสุทธิ 25.5 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 20.7 พันล้านบาท โดยรวมอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.05%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 8 – 11 สิงหาคม 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขเศรษฐกิจจากทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ออกมา เช่น เศรษฐกิจเยอรมันที่เติบโตถึง 3.1% yoy ในขณะที่ทางสหรัฐฯ มีข้อมูลเศรษฐกิจทั้งที่ดีขึ้นและต่ำกว่าคาด เช่น ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มิ.ย. ซึ่งผิดไปจากที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมา 3 เดือนติดต่อกัน แม้ว่ารายงานการจ้างงานเดือน ก.ค. ที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้วจะเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังรอการแสดงความเห็นจากประธาน FED ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

สำหรับตลาดพันธบัตรของไทย ตลาดค่อนข้างเงียบและมีปริมาณการซื้อขายน้อย ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาแทรกแซง (OMO) โดยการเรียกซื้อพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 4 ปีและ 9 ปี วงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนผลการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.01-0.03% และในวันพุธที่ผ่านมามีการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี (LB26DA, New On-the-run Bond) ซึ่งได้รับความสนใจจากตลาดพอสมควร อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.091% ต่อปี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 1 – 5 สิงหาคม 2559

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ต่อเนื่องตามคาดและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวอยู่ในระดับต่ำเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน อาทิ ความไม่แน่นอนภายหลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) ปัญหาภาคการเงินในยุโรป และพัฒนาการทางการเมืองในต่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป ในขณะที่ความเสี่ยงในภาคการเงินจีนยังมีอยู่

นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25% และเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินซึ่งจะช่วยหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ค่าเงินปอนด์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลง ในขณะที่ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่ออกมาในคืนวันศุกร์ คือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกรกฏาคมเพิ่มขึ้นถึง 255,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ ทำให้นักลงทุนกลับมาคาดหวังถึงโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้นอีกครั้ง

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยรับข่าวการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและอังกฤษ จึงทำให้อัตราผลตอบแทนปรับลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะรุ่นอายุประมาณ 7-20 ปี ลดลง 0.06-0.09% ต่อปี ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 30.1 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 27.7 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 20-22 กรกฎาคม 2559

ตัวเลขเศรษฐกิจจากทางสหรัฐฯ ที่ออกมาในเชิงบวก และผลประกอบการของบริษัทใหญ่ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้ภาพรวมของตลาดดูเป็น Risk-on ประกอบกับเริ่มมีการคาดการณ์ว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ จึงเริ่มมีการขายพันธบัตรออกมาบ้าง ทำให้พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (10-Year US Treasury) ซื้อขายกันอยู่ในช่วงอัตรา 1.55-1.60% ต่อปี ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสก็มีมติคงนโยบายการเงินตามคาด โดยประธาน ECB กล่าวว่าจะใช้เวลาในการประเมินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับแนวโน้มเศรษฐกิจ

สำหรับตลาดพันธบัตรของไทย ได้รับผลกระทบจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นตามโดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 5 ปีขึ้นไปอยู่ในช่วง 0.04-0.12% ต่อปี ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเข้ามาแทรกแซงโดยการซื้อพันธบัตร (Open Market Operation หรือ OMO) ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองต่อจากสัปดาห์ที่แล้วรวมวงเงินประมาณ 14 พันล้านบาท เพื่อช่วยไม่ให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับขึ้นแรง นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่แล้วผลกระประมูลพันธบัตรระยะสั้นที่ออกมา อัตราผลตอบแทนของทุกรุ่นก็ปรับขึ้น 0.01-0.02% ตลอดทั้ง 3 วันทำการ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 4.1 พันล้านบาท และในจำนวนนี้กว่า 3.7 พันล้านบาทเป็นพันธบัตรระยะสั้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย 11 กรกฎาคม – 15 กรกฎาคม 2559

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนในตราสารหนี้ไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงอยู่ในช่วงแคบ ๆ 0.01-0.05% ต่อปี อัตราที่ปรับขึ้นได้รับอิทธิพลจากตลาดสหรัฐฯ ที่พันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 1.60% ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวออกมาดี เช่น จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกทรงตัว / ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2558 / ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นเกินคาด ทำให้ตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่ามีโอกาสเกือบ 50% ที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม และยังคงคาดการณ์แนวโน้มของดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางบวกต่อไป ในขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในการประชุมครั้งแรกหลังเหตุการณ์ Brexit ซึ่งสวนทางกับกระแสการคาดการณ์ในตลาด

ส่วนการประมูลพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 6 ปีในช่วงกลางสัปดาห์ซึ่งได้รับการตอบรับดี อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 1.72-1.735% ต่อปี เฉลี่ยที่ 1.7272%, Bid-coverage ratio 2.47 เท่า และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางมาเลเซียซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมาได้บ้างจากแรงซื้อที่กลับเข้ามา สำหรับการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนปรับลดลงเล็กน้อย จากความต้องการพักเงินระยะสั้นก่อนช่วงวันหยุดยาว รวมถึงเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิจำนวน 5.97 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นถึง 6.08 พันล้านบาท