ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมารายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวแสดงถึงมุมมองเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ได้แก่ การประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ระดับ 3.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการณ์ครั้งแรกที่ระดับ 2.9% จากแรงหนุนของการส่งออกและการใช้จ่ายของผู้บริโภค, สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐรายงานผลการสำรวจธุรกรรมการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 53.2 ดีกว่าในเดือนต.ค. ที่ 51.9 และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดและมากกว่าเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำให้ราคาน้ำมันกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ

US Treasury Yield จึงปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและทรงตัวในระดับสูง โดยรุ่น 10Y ขึ้นมาแตะที่ 2.39% และรุ่น 30Y ปิดที่ระดับ 3.06% ทางด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.15% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ส่วนการประมูลพันธบัตรตลาดแรกในรุ่นอายุประมาณ 30 ปี อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.14% และ Accepted Amount เพียง 4.6 พันล้านบาทจากจำนวนที่เสนอขาย 14 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 766 ล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2,081 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (21 – 25 พฤศจิกายน 2559 )

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และประเมินว่าในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 7/2559 ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่มีความเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย และจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าประมาณการเดิม

ทางด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคมที่ฟื้นตัว เช่น ตัวเลขการขายบ้านที่เพิ่มขึ้นหมดในทุกภูมิภาคของสหรัฐฯ / ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ / จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่า 300,000 รายเป็นเวลา 90 สัปดาห์ติดต่อกัน เป็นต้น ทำให้นักลงทุนในตลาดมองว่ามีแนวโน้มสูงที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น พร้อมกับคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าและต่อเนื่องในปีหน้า อัตราผลตอบแทน 30Y US Treasury จึงขึ้นมาแตะระดับ 3% อีกครั้งนับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรของไทยยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในพันธบัตรระยะยาว แต่ยอดการขายพันธบัตรระยะสั้นเริ่มชะลอลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (14 – 18 พฤศจิกายน 2559 )

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านในเดือนตุลาคมที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 43 ปี และประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาครองเกรสว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ อัตราผลตอบแทนของ US Treasury 10-Year จึงขึ้นไปแตะระดับ 2.34% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.83% ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากหลังทราบผลว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน (US Dollar Index) ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรในกลุ่มประเทศเอเชีย สำหรับพันธบัตรรัฐบาลไทย นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตั้งแต่วันที่ 10-18 พ.ย. ประมาณ 80.6 พันล้านบาท โดยเป็นการขายทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว และอัตราผลตอบแทนในช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.12-0.47%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (7 – 11 พฤศจิกายน 2559 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในวันพุธที่ผ่านมา โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้าแม้มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นแต่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าคาดจากปัจจัยด้านอุปทาน สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทางด้านเหตุการณ์สำคัญคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย. นับตั้งแต่ผลโพลที่มีคะแนนสูสีกันจนกระทั่งเมื่อผลการเลือกตั้งจริงออกมา ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งนำไปสู่ความผันผวนในสกุลเงินอื่น ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นอีกด้วย ภายหลังผลการเลือกตั้งออกมาพลิกความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 และพรรครีพับลิกันได้รับเสียงข้างมากในสภาครองเกรส ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกต่างกังวลกับนโยบายสุดโต่งของนายทรัมป์ แต่หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ ตลาดกลับคลายกังวลส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาบวกและพันธบัตรสหรัฐเผชิญแรงขายอย่างรุนแรง โดยล่าสุด US Treasury 10-Yr ขึ้นไปแตะระดับ 2.20% เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมและอาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทย ทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.05-0.17% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 22.07 พันล้านบาท และ 5.14 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมนโยบายการเงินของหลายประเทศสำคัญ เช่น ช่วงต้นสัปดาห์ BOJ มีมติคงเครื่องมือทางการเงินไว้ดังเดิม และไม่เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ GDP Growth แต่ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อเป้าหมายจะถึง 2% ภายในครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2018 ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ก็มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังเดิม และให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจดูลดน้อยลง ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของประเทศอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมและคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจยังดีอยู่เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Brexit นอกจากนี้ ตลาดการเงินตลาดทุนโดยรวมวิตกผลการเลือกตั้งในสหรัฐที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า จึงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดสำคัญ ๆ ปรับตัวลง

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศดังกล่าวบ้าง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ได้รับการตอบรับไม่ดี ทั้งอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าวันก่อนประมาณ 0.10% และปริมาณผู้เสนอซื้อมีน้อยกว่าปริมาณขาย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (25 – 28 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยการขยายตัว GDP ของอังกฤษในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทางด้านตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ตัวเลขทั้งยอดขายและราคาบ้านส่งสัญญาณที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาเติบโต 2.9% ดีกว่าการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ 1.4% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.5% นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นของกรรมการ FOMC บางรายว่าการประชุมในเดือนธันวาคมเหมาะสมที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดย 10-Year UST แตะระดับ 1.85% ในวันศุกร์ผ่านมา จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เคลื่อนไหวในช่วง 1.73-1.77%

ทางด้านตลาดพันธบัตรไทย การประมูลรุ่นอายุ 5 ปีจำนวน 30,000 ล้านบาท ในวันพุธได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 1.9209%, Bid Coverage Ratio 1.67 เท่า ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 10.4 พันล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.3 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของสัปดาห์มีนักลงทุนสถาบันต้องการลดจำนวนการถือครองลง ตามกระแสการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศหลัก (Sovereign Bond Yield) เนื่องจาก เข้าใกล้วันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.10% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 2-10 ปี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 ตุลาคม 2559 )

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งด้านบวกและลบ ทางด้านสหรัฐอเมริกา ยอดผู้ขอรับเงินชดเชยมากกว่าที่คาด ในขณะที่ยอดขายบ้านที่มีอยู่เดิมในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นดีกว่าคาด ส่วนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 6.7% ตามความคาดหมาย ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม และคงปริมาณการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ไว้ที่ระดับ 80 พันล้านยูโรต่อเดือน

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ของไทย อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงมาเกือบทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 5-20 ปี ปรับลง 3-13 bps ส่วนหนึ่งเกิดจากการคลายความกังวลจากสัปดาห์ก่อนหน้า จึงเริ่มกลับมาเพิ่มสถานะการถือครองมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวจำนวนประมาณ 4 พันล้านบาท และ 7.2 พันล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เข้ามาซื้อตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดรอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการ Open Market Operations โดยซื้อคืนพันธบัตรอายุคงเหลือ 2-7 ปี จำนวน 7 พันล้านบาท จากจำนวนที่เสนอขายทั้งหมดประมาณ 22.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (10 – 14 ตุลาคม 2559 )

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดยังเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ทั้งสร้างความผิดหวังหรือตัวเลขที่แสดงการเติบโต เช่น ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.56 แสนตำแหน่งซึ่งน้อยกว่าที่คาด / อัตราการว่างงานขยับขึ้นเป็น 5%, ยอดผู้เข้ารับสวัสดิการการว่างงานใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 246,000 คน ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้และถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 42 ปี เป็นต้น แต่การแสดงท่าทีของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) ที่พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ของเดือนก่อนหน้าที่ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าเกินไปจะสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต กลับมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดมากกว่า ดังนั้น US Treasury Yield จึงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยรุ่น 10 ปีแตะที่ระดับ 1.81% ในวันศุกร์

จากปัจจัยภายนอกดังกล่าว ประกอบกับความผันผวนของตลาดหุ้นไทยอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ขายทั้งหุ้นและพันธบัตร โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุสั้นกว่า 1 ปีต่อเนื่องทุกวันรวมเป็นจำนวนเกือบ 27 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีจำนวน 8.8 พันล้านบาท รวมขายสุทธิประมาณ 35.5 พันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าไปแตะระดับ 35.8 และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านตั้งแต่ -0.03% ถึง +0.11%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) บางท่าน สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเฟด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบางอย่างแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 57.1 ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์และเพิ่มจากเดือนก่อนที่ระดับ 51.4 และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เป็นต้น ทำให้ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีหลายเหตุการณ์จากกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อังกฤษเตรียมแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่กล่าวว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า (Trigger Brexit Process) และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทยอยปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร

จากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น US Treasury 10-Year ปรับขึ้นเป็น 1.73% ต่อปี จาก 1.60% ต่อปีในสัปดาห์ก่อนหน้า และปัจจัยภายนอกเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยเช่นกัน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0.02-0.10% ในช่วงอายุ 3-15 ปี ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ ทั้งพันธบัตรที่อายุไม่เกิน 1 ปี และพันธบัตรระยะยาว จำนวนประมาณ 4.1 พันล้านบาท และ 4.7 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 กันยายน 2559 )

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ นักลงทุนในตลาดต่างเพิ่มการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ บนสมมติฐานว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญต้องแสดงการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสที่สอง (GDP 2Q16) เพิ่มขึ้น 1.4% และดีกว่าที่คาด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ ยังมีข่าวความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารดอยซ์แบงก์ที่ได้รับแรงกดดันมาก่อนหน้านี้ และล่าสุดกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐสั่งปรับเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในคดีการสร้างความเข้าใจผิดต่อลูกค้าในการขายตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS)

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในสัปดาห์ที่แล้ว มีการประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 6.5% ดีกว่าที่คาดไว้ -1% yoy ซึ่งตัวเลขกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และเร่งตัวที่สุดในรอบ 6 เดือน สาเหตุหลักมาจากการส่งออกรถยนต์และกลุ่มเหล็กที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับอิทธิพลจาก Global Yields มากกว่า อัตราผลตอบแทนโดยรวมจึงปรับลดลงต่อ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-20 ปี ปรับลดลง 0.04-0.12% ส่วนการประมูลพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนค่อนข้างคงที่และปรับลงเล็กน้อย ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปีประมาณ 27.7 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 11.5 พันล้านบาท