ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2566

FED เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.50% และลดขนาดงบดุลตามแผนต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็ง ด้านตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แต่ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานเริ่มผ่อนคลายลง คณะกรรมการฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อแม้ยังอยู่สูงแต่เห็นการชะลอลง โดยมองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังโน้มไปทางด้านสูง และคณะกรรมการฯ พร้อมที่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการปรับดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา รายงานระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งมีความเหมาะสม ในขณะที่สมาชิกเพียงบางส่วนไม่ยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ อย่างไรก็ตามสมาชิกเห็นตรงกันว่ายังมีความจำเป็นที่ FED จะต้องคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยลดอุปสงค์และให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ภายในสองปีข้างหน้า

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างโดยนับเป็นครั้งแรกที่คงดอกเบี้ยหลังปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง +450bps ตั้งแต่การประชุมเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตรา Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% นอกจากนี้ จะยังทำตามแผนการลดขนาดงบดุลที่ได้เคยประกาศไว้เดิม โดยจะไม่ทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ขณะที่จะยังไม่แตะต้องพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ซึ่งแถลงการณ์ยังระบุเช่นเดิมว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการ PEPP ไปจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี ประธาน ECB เปิดเผยว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ชี้ชัดว่า ECB จะไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกแล้ว ขณะที่ยังเร็วเกินไปอย่างมากที่จะพิจารณาถึงการปรับลดดอกเบี้ยลงตอนนี้ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณในลักษณะเดียวกับธนาคารกลางหลักอื่น ๆ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังขยายตัวเหนือเป้าหมายและยังมีความเสี่ยงโน้มไปทางด้านสูงจากสงครามทั้งที่ยูเครนและอิสราเอล รวมถึงปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจหนุนราคาอาหารพุ่งขึ้น

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติเอกฉันท์ (9-0 เสียง) ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% นอกจากนี้ได้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และคงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่ 3 ล้านล้านเยนต่อปี และ BOJ มีมติไม่เอกฉันท์ (8-1 เสียง) ให้ปรับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) เป็นการยึดระดับที่ 1% จากเดิมที่กำหนดกรอบ ที่-1.0% ถึง 1.0% ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น BOJ ประเมินว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ด้านเงินเฟ้อญี่ปุ่น เร่งตัวขึ้นมาทั้งในปีนี้และปีหน้า จาก 2.5% เป็น 2.8% ในปีนี้ และจาก 1.9% เป็น 2.8% ในปีหน้า ผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยรวมมองว่าเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มากยิ่งขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลง 3-10 bps แม้ว่ากนง. จะเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในช่วงปลายเดือนกันยายนเป็น 2.50% แต่ผลการประมูลตลาดแรกของพันธบัตรอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้อัตราผลตอบแทนเพียง 2.18% - 2.21% สาเหตุหนึ่งคาดว่าเกิดจากการปรับลดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรอายุ 3 เดือนในตลาดแรกลงจากสัปดาห์ละ 6 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางตลาดพันธบัตรต่างประเทศ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 394 ล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.6 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 3.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยประธาน ECB เผยว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นชอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ขณะที่ส่วนที่เหลือเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ขึ้นไปอยู่ที่ 4.00% อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ไปอยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ขึ้นมาอยู่ที่ 4.75% พร้อมทำตามแผนเดิมของการลดขนาดงบดุลที่เคยประกาศไว้ ECB ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงเหลือ 0.7%YoY จาก 0.9%YoY และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2024 ลงเหลือ 1.0%YoY จาก 1.5%YoY นอกจากนี้ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2023 และ 2024 ขึ้นมาอยู่ที่ 5.6%YoY และ 3.2%YoY จากที่คาดไว้เดิมที่ 5.4%YoY และ 3.0%YoY ตามลำดับในเดือนมิถุนายน จากปัจจัยด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นหลัก แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2024 – 2025 เนื่องจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยจะยังถูกส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจทำให้เงื่อนไขทางการเงินจะเข้มงวดมากขึ้นและอุปสงค์รวมถึงการปล่อยสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง ECB ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเพียงพอแล้ว

FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด โดย FED ยังคงแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจใช้ระยะเวลากว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% พร้อมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง แม้ตลาดแรงงานตลาดแรงงานจะชะลอลงบางส่วน แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ยังคงแผนการลดงบดุล (QT) ต่อเนื่องตามเดิมที่ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้ FED ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานต่อเนื่องสะท้อนผ่าน Dot Plots ที่แม้จะคงคาดการณ์ดอกเบี้ยไว้ที่ 5.625% ในปีนี้ แต่มีการปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยในปี 2024 และ 2025 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.125% และ 3.875% จากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 4.625% และ 3.375% ตามลำดับ FED มีมุมองที่ดีขึ้นต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้า โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าดีขึ้นมาก เป็น 2.1% และ 1.5% จาก 1.0% และ 1.1% ตามลำดับ และคาดการณ์อัตราการว่างงาน ลดลงเหลือ 3.8% ในปีนี้จากเดิมที่ 4.1% และสำหรับมุมมองเงินเฟ้อ FED มองเงินเฟ้อจากดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานลงเหลือ 3.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.9%

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 5-4 ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% สวนทางกับตลาดที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น +0.25% เป็น 5.50% แถลงการณ์ได้ระบุว่ายังคงมีความกดดันของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งด้านตลาดเเรงงานที่ยังตึงตัว อัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ยังไม่ชะลอตัวลง และเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการดำเนินโยบายการเงินของ BOE นั้นต้องเข้มงวดเเละใช้ระยะเวลาที่เพียงพอจึงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าที่ 2% อย่างยั่งยืน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. ชะลอตัวลงเป็น 6.7% YoY จาก 6.8% ในเดือนก่อน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 เและต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ 7.0% ทั้งนี้ เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายอยู่มาก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเป็น 6.2% YoY จาก 6.9% ในเดือนก่อน

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลายตามเดิมต่อไป โดยมีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: ไว้ที่ -1.0 ถึง +1.0 ในถ้อยเเถลงได้ระบุถึงการที่อัตราเงินเฟ้อ Core CPI มีการชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเเรงหนุนของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านพลังงาน เเละมองว่าอัตราเงินเฟ้อ Core CPI จะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าจากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคที่ลดลง ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น จากเเรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ เเละเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.50% เพื่อให้มั่นใจว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) มีเพียงพอภายใต้แนวโน้มที่ไม่แน่นอน แม้ว่า กนง. ได้มีการลดคาดการณ์ส่งออก GDP และเงินเฟ้อในปีนี้ลง โดยมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแตกต่างไปจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่สำคัญไปกว่านั้น กนง. ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสม” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยได้สู่ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) แล้วภายใต้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ 24-45Bps จากความกังวลปริมาณพันธบัตรออกใหม่ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นไปตามแผนงบการคลังระยะปานกลาง และภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่ที่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนประมาณ 5% ในเดือนนี้ จากการส่งสัญญาณของ FED ว่าจะยังคงดำเนินนโยบายในทิศทางเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และการอ่อนค่าลงของเงินหยวนภายหลังเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2566

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 25Bps สู่ระดับ 5.25% ตามคาดการณ์ โดยนับเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการประชุมครั้งก่อนที่มีมติปรับขึ้นในอัตราสูง 50Bps โดยในการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราสูง และมีคณะกรรมการ 1 ท่านที่มองว่าควรคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม สะท้อนถึงแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นและอาจเข้าใกล้จุดจบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรนี้ ด้านเศรษฐกิจ BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.5% (vs.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) อีก 25Bps สู่ระดับ 5.25-5.50% และยังคงแผนลดการถือครองตราสารหนี้ อันได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองหรือ MBS เช่นเดิม โดยภาพรวมถ้อยแถลงหลังการประชุมแทบไม่แตกต่างจากการประชุมเมื่อครั้งก่อนในเดือนมิ.ย. กล่าวคือยังมองภาพการจ้างงานที่แข็งแกร่งและอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ขณะที่ยังมองกิจกรรมเศรษฐกิจขยายตัว ด้านเงินเฟ้อมองว่าเติบโตในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ นโยบายการเงินในระยะข้างหน้านั้น FED ยังคงเน้นย้ำว่าขึ้นอยู่กับ 1) การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2) ความล่าช้าของระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อและ 3) พัฒนาการเศรษฐกิจและการเงิน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations, Marginal Lending Facility และ Deposit Facility Rates สู่ระดับ 4.25%, 4.50% และ 3.75% ตามลำดับ จากความกังวลที่มีต่อเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินไปและยาวนานเกินไป ECB มองว่าแม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงต่อเนื่องแต่ยังถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่เหนือเป้าหมายกินระยะเวลานาน โดย ECB ยังคงยึดหลักของการพิจารณาข้อมูลในอนาคตที่จะเข้ามา เพื่อกำหนดระดับและระยะเวลาความเข้มงวดของนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะประเมินจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและการเงิน พลวัตรของพื้นฐานเงินเฟ้อที่แท้จริง และความแข็งแรงในการส่งผ่านของนโยบายการเงิน ทั้งนี้ประธาน ECB ได้กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่า ความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นหรือหยุด จะขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ เเละมีมติด้วยคะเเนนเสียงข้างมากให้คงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบอ้างอิง +/-0.5% โดยมิใช่เป็นเป้าหมายที่เข้มงวด เเละเปลี่ยนกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่อัตราผลตอบเเทน 1.0% จากเดิมที่ 0.5% ในขณะที่ BOJ มีมติเอกฉันท์ในการคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในส่วนของประมาณการเศรษฐกิจ คาด GDP ปีงบประมาณ FY2023F จะขยายตัว 1.3% ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อนเดือนเม.ย. ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.4% ขณะที่คงคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ FY2024F ไว้ระดับเดิมที่ 1.2% ทางด้านเงินเฟ้อ คาดการณ์ Core CPI ปีงบประมาณ FY2023F จะขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากผลของต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นเเละส่งผ่านไปยังผู้บริโภคสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ ส่วนเงินเฟ้อ Core CPI ในปีงบประมาณ FY2024F คาดจะอยู่ที่ 1.9% ลดลงจาก 2.0% ในประมาณการครั้งก่อน ภายหลังการประชุม ผู้ว่าฯ BOJ ได้ออกมาระบุว่า กรรมการหลายคนเล็งเห็นถึงเเนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าว่ามีความเสี่ยงไปทางด้านสูงมากขึ้น ในขณะที่ผ่านมาได้ประเมินเเรงกดดันจากเงินเฟ้อตํ่าเกินไป ทาง BOJ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินผ่านการเปลี่ยนกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้มาตรการ YCC

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจน โดยสรุป ณ สิ้นเดือน พันธบัตรรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปีปรับขึ้น 1-10Bps ส่วนอายุ 11 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง 2-8Bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยภาพรวมปรับขึ้นตลอดทั้งเส้น ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดว่า การประชุม FED ในช่วงปลายเดือนจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2566

ในเดือนนี้ FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00%-5.25% เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงิน ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน โดยค่ากลาง Dot Plot ได้ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีนี้เพิ่มขึ้น จาก 5.1% ในการประชุมเดือนมีนาคม ไปอยู่ที่ 5.6% ซึ่งมีกรรมการ 12 ท่านจาก 18 ท่านที่มองดอกเบี้ยเท่ากับหรือสูงกว่า 5.5%-5.75% ในปีนี้ แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น ความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนที่สูง ด้านเศรษฐกิจประเมินว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย และผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูงส่งผลต่อกิจกรรมตลาดบ้านและการลงทุน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และการจ้างงานยังคงขยายตัวดี โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ยังคงมากกว่าอุปทานค่อนข้างมาก โดย FED คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ในเดือนมีนาคมที่ 0.4% มาอยู่ที่ 1% และ อัตราการว่างงานปีนี้ลงจาก 4.5% ไปอยู่ที่ 4.1%

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ตามการคาด ทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.50% สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.00% ท่ามกลางเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอลง แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงยาวนานเกินไป ประธาน ECB แถลงหลังการประชุมว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในการประชุมเดือน ก.ค. นั้นมีความเป็นไปได้สูง สำหรับเศรษฐกิจ ECB ได้ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น 5.4%, 3.0% และ 2.2% ตามลำดับ เกินเป้าหมายที่ 2% เล็กน้อย และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น5.1%, 3.0% และ 2.3% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากค่าจ้างแรงงานที่ได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ด้าน GDP ได้ปรับลดประมาณการปี 2023-2024 ลงเล็กน้อย -0.1ppt เป็น 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ โดยหลักจากสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น รวมถึง GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาติดลบ (-0.1% QoQ) และคาดปี 2025 ที่ 1.6% เช่นเดิม ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps สู่ระดับ 5.00% สูงสุดในรอบ 15 ปี โดยนับเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นในอัตรา 25bps เท่านั้น แถลงการณ์ได้ระบุเช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อนว่า หากมีหลักฐานว่าแรงกดดันด้านราคาคงอยู่หรือเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยขึ้นในครั้งนี้ เป็นผลจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ซึ่งรายงานในวันก่อนหน้าการประชุม ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ (8.7% YoY เท่าเดือนก่อน เทียบกับที่คาดไว้ 8.4%) โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่เร่งตัวขึ้นสวนการคาดการณ์ สู่ระดับสูงสุดในรอบ 31 ปี (7.1% YoY)

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์คงนโยบายการเงินผ่อนคลายดังเดิมต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.5% รวมถึงคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุ BOJ มองอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงในช่วงกลางของปีงบประมาณ FY2023 จากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคที่จะลดลง ก่อนที่จะปรับขึ้นหลังจากนั้น จากแรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับขึ้น 2-12ps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-10ปี เป็นผลมาจากนักลงทุนในตลาดได้ปรับเปลี่ยนมุมมองว่า FED ยังไม่หยุดรอบของการขึ้นดอกเบี้ยนี้ รวมถึงจะยังคงไม่เห็นการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อีกด้วย แม้ว่าผลการประชุมของ FED ในเดือนนี้จะเป็นการคงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงินที่ผ่านมา สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 9.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.00%-5.25% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น ความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ แถลงการณ์ในครั้งนี้ได้ละเว้นประโยคที่ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไป โดยเปลี่ยนเป็นการประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงิน ทางด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสแรก แต่ยังต่ำกว่าเทรนด์ จากผลกระทบของดอกเบี้ยสูงที่ส่งผลต่อตลาดบ้าน และการลงทุน เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายมาก อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังคงอยู่ในระดับเดิม ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และการจ้างงานยังคงขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น แม้อุปสงค์ยังคงมากกว่าอุปทานค่อนข้างมาก

ECB มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ตามคาด โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 3.50% ไปอยู่ที่ 3.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.75% ไปอยู่ที่ 4.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.25% โดยเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งที่ชะลอลงจาก 50bps ในครั้งก่อนหน้า พร้อมประกาศสิ้นสุดการลงทุนต่อ (Reinvestment) โครงการ Asset Purchase Programme (APP) จนถึงกรกฎาคม 2023 และจะลงทุนต่อในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) จนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย ในถ้อยแถลงหลังผลการประชุม คริสตีน ลาการ์ด ระบุว่า ECB จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากเกินไป และ ECB ยังคงยึดมั่นกับการจัดการเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ 2% สำหรับการตัดสินใจของ ECB ในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และสภาวะการเงิน ปัจจุบันเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 1 ยังคงขยายตัว แม้ภาคการผลิตจะมีแนวโน้มแย่ลง แต่ภาคการบริการมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น จากผลของการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากสงครามรัสเซียยูเครน และการส่งผ่านของการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่เศรษฐกิจจริงที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ธนาคารอังกฤษมีมติ 7-2 ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 25bps สู่ระดับ 4.5% ตามคาด โดยมีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 4.25% โดยระบุถึงการส่งผ่านของนโยบายการเงินที่มีระยะเวลานานซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง ในแถลงการณ์ระบุเช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อนว่า หากมีหลักฐานว่าแรงกดดันด้านราคาคงอยู่หรือเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังเกิดขึ้นต่อ ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ มองเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 0.25% (เดิมคาด -0.5%), ปี 2024 ขยายตัว 0.75% (เดิมคาด -0.25%) และปี 2025 คาดจะขยายตัว 0.75% (เดิมคาด 0.25%) จากอุปสงค์โลกที่แข็งแกร่งขึ้น ราคาพลังงานที่ปรับลดลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวกว่าคาด ซึ่งทำให้การเก็บออมเผื่อฉุกเฉินของภาคครัวเรือนลดลง

กนง. มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 2% ตามคาดการณ์ และมีการกล่าวถึงภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการเเถลงผลการประชุม กนง. คงประมาณการการเติบโตของ GDP ไทยที่ระดับ 3.6% และ 3.8% ในปี 2023-24 ตามลำดับ โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างและการบริโภคภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าที่ประเมินไว้ ด้านเงินเฟ้อ ได้มีการปรับลดประมาณการทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานลง โดยล่าสุดคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.5% ในปี 2023 (2.9% ครั้งก่อน) และ 2.4% ในปี 2024 (2.4% ครั้งก่อน) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถูกปรับลดประมาณการลงมาอยู่ที่ระดับ 2.0% ในปีนี้ (2.4% ครั้งก่อน) และจะเติบโตอยู่ในระดับดังกล่าวในปีหน้าด้วย (2.0% ไม่มีการเปลี่ยนเเปลง) นอกจากนี้ กนง. ยังคงกล่าวถึงการที่ภาวะทางการเงินโดยรวมที่ผ่อนคลายลดลง โดยมาจากต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนที่สูงขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับขึ้น 1-25bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับขึ้นตลอดทั้งเส้น 18-93bps โดยพันธบัตรอายุที่สั้นกว่า 1 ปีปรับขึ้นมากกว่ารุ่นอื่น แม้ว่าช่วงกลางเดือนจะมีการตีความบทสัมภาษณ์กรรมการ FED บางท่านว่า อาจไม่มีการลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้แล้ว จึงทำในอัตราผลตอบแทนที่ซื้อขายในตลาดปรับลดลงมาบ้าง ในขณะที่รายงานการประชุมที่เปิดเผยออกมาช่วงปลายเดือนมีทั้งความเห็นในฝั่งที่สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยต่อและเสนอให้หยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 4.49-6.02%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.89-4.54% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.38-3.83% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.25 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2566

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องตามคาด ในการประชุมครั้งแรกของอูเอดะ ผู้ว่า BOJ คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ให้ (1) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และ (3) คงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.5% โดย BOJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องแต่ไม่ระบุถึงโอกาสการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันอย่างที่ระบุไว้ในการประชุมครั้งก่อน ๆ และส่งสัญญาณถึงการพิจารณานโยบายการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2023 ลงเป็น 1.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% พร้อมเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.6% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 2.36 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่ง แม้ชะลอลงจากระดับ 3.26 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.5% จาก 3.6% ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.6% จาก 62.5% ทางด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมชะลอลงมาอยู่ที่ 5.0% YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 5.1% YoY และชะลอจาก 6.0% YoY ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม ซึ่งสมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไปแม้จะชะลอลง รวมถึงจากค่ากลาง Dot plot ที่สมาชิกเฟดคาดไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วแสดงถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ตลาดคาดการณ์ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้ง ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบนี้ ซึ่งจะทำให้จุดสูงสุดของดอกเบี้ย FED ในรอบนี้อยู่ที่ 5.00-5.25% โดย FED มีแนวโน้มส่งสัญญาณการใกล้ถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ด้วย

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.83% YoY (-0.27% MoM) ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.79% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.25% YoY เนื่องจากการชะลอลงของราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.93% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.80% YoY สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) และคาดการณ์เงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. และฐานที่สูงจากปีก่อน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุปรับขึ้น 3-18bps โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรุ่นอายุ 3-10 ปี (11-18bps) ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความผันผวนมาก ในช่วงครึ่งเดือนแรกอัตราผลตอบแทนปรับลดลงจากความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ หลังจากนั้นในครึ่งเดือนหลัง จากการที่สมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไป ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับเพิ่มอีกครั้ง โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 3.40-4.70%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.82-4.19% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.30-3.60% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่อง จากเงินเฟ้อที่สูงเกินไปในระยะเวลาที่นานเกินไป โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% อัตราดอกเบี้ย (Main refinancing operations) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.25% ไปอยู่ที่ 3.75% พร้อมยังทำตามแผนเดิมของการประกาศลดขนาดงบดุลตามที่เคยประกาศไว้ในเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ECB กล่าวพร้อมเข้าดูแลและมีเครื่องมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงินของยุโรป อย่างไรก็ดีระบบธนาคารของยุโรปยังคงมีทุนและสภาพคล่องเพียงพอ ECB คาดเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ 5.3% จากที่คาดไว้เดิมที่ 6.3% สำหรับปี 2023 จากการลดลงของราคาพลังงาน และการคลี่คลายของปัญหาคอขวดด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี ECB ปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ไปอยู่ที่ 4.6% จากที่คาด 4.2% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากผลของการส่งผ่านราคาพลังงานที่สูงในอดีต นอกจากนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 ไปอยู่ที่ 1.0% จาก 0.5%

การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.75%-5.00% โดย FED ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยใกล้จบสิ้นลง สะท้อนจากค่ากลางของ Dot plot ที่อยู่ที่ 5.1% สำหรับปี 2023 ซึ่งหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียว ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน และประเมินในระยะข้างหน้าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเหมาะสมเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น และการล่มสลายของบางธนาคารในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้มีแนวโน้มทำให้เกิดความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร คณะกรรมการฯ ยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ FED ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตได้น้อย โดยปรับลดเป็น 0.4% จากที่คาดการณ์ที่ 0.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น โดยดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลไปอยู่ที่ 3.3% จาก 3.1% และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานอยู่ที่ 3.6% จาก 3.5%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.75% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านเงินเฟ้อยังคงมองมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปีนี้ โดย ธปท. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาด 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28 ล้านคน จากที่คาดไว้เดิม 22 ล้านคน และปรับเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 35 ล้านคนในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย จาก 3.0% ในปีนี้ เป็น 2.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 2.4% จาก 2.1%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง 1-28bps ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 เดือนที่ปรับขึ้นไปเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนทิศทางเป็นการปรับลดลงอย่างมากจากปัญหาการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้นักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร และคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 5.25% มาอยู่ที่ 4.06% ณ สิ้นเดือน ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 4.01% มาอยู่ที่ 3.48% ตอนสิ้นเดือน สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่องตามคาด พร้อมยืนยันการลดขนาดงบดุลเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2023 และระบุว่าแรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน มติในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.00% ไปอยู่ที่ 2.50% อัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 2.75% ไปอยู่ที่ 3.25% ในถ้อยแถลงหลังผลการประชุม ประธาน ECB ระบุว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องด้วยขนาดการขึ้นดอกเบี้ยที่คงที่ จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% จากการพิจารณาทั้งปัจจัยเงินเฟ้อและสภาวะทางการเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 4 เบื้องต้นเติบโต 0.1% แรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน ความเชื่อมั่นดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อยุโรปยังอยู่ในระดับสูงที่ 8.5% ในเดือนมกราคม 2023 แม้เงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7% ในเดือนตุลาคม 2022 และภาพรวมเงินเฟ้อโดยรวมของยุโรปยังคงอยู่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ แรงกดดันจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงจากการตรึงกำลังลดการผลิตของโอเปกพลัส ประกอบกับการเรียกร้องขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานในหลายประเทศทั่วยุโรป อาจเป็นปัจจัยเร่งต่อเงินเฟ้อ (Wage price spiral) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีเข้มแข็งต่อการขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish tone) โอกาสที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 50bps ในครั้งหน้า จึงมีความเป็นไปได้สูง โดยปัจจุบันตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบนี้ที่ราว 3.30% ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2023

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง FED ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 25bps และตอกย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นสิ่งเหมาะสม จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย พร้อมยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2022 ต่ำกว่าแนวโน้มในระยะยาว และคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ชะลอลงต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวปานกลาง ดังนั้น FED จึงประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นสิ่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ ยังคงการลดขนาดงบดุลต่อเนื่องในอัตราเท่าเดิม และมีสมาชิกบางท่านที่ไม่ได้มีสิทธิลงมติในการประชุมครั้งนี้ให้ความเห็นว่า FED ควรขึ้นดอกเบี้ย 50bps คณะกรรมการฯ ระบุว่าเงินเฟ้อปัจจุบันสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% และสูงเกินกว่าจะรับได้ พร้อมระบุว่าต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แม้เงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจะชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เงินเฟ้อในวงกว้างยังไม่ได้ส่งสัญญาณมีความคืบหน้ามากนัก โดยเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อในตลาดบ้านอาจจะเริ่มชะลอลงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ คณะกรรมการบางส่วนประเมินว่าค่าจ้างมีแนวโน้มปรับตัวช้ากว่าเงินเฟ้อ และอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ขยายตัว 1.4%YoY (-1.5%QoQ SA) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 3.6%YoY และจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6%YoY โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.9% และการส่งออกบริการขยายตัว 94.6% อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าหดตัว 10.5% และ การบริโภครัฐบาลหดตัว 8.0% โดยรวมปี 2022 GDP ไทยขยายตัว 2.6%YoY ดีขึ้นจากที่ขยายตัว 1.5%YoY ในปี 2021 สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ขยายตัว 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยคาดการณ์ส่งออกหดตัว 1.6% และคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 28 ล้านคน พร้อมคาดการณ์ค่าเงินบาทปีหน้าที่ 32.3-33.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดเงินเฟ้อชะลอลงเป็น 2.5-3.5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-16bps ยกเว้นพันธบัตรอายุยาวกว่า 30 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยพันธบัตรอายุ 6 เดือนและ 1 ปีได้แตะระดับ 5% ในเดือนนี้ สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากเริ่มมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนปรับเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าอาจจะไปแตะ 5.00-5.25% ตลอดจนลดความกังวลลงในเรื่องที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะถดถอย การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2566

BOJ คงการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสวนทางการคาดการณ์ของตลาด ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5%, คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยนและหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณ 2023 ลงเล็กน้อยเป็น 1.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมที่ 1.9% พร้อมคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.6% เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อจำกัดด้านอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2023 ชะลอลงด้วย จากคาดการณ์เงินเฟ้อ 3.0% ในปีงบประมาณ 2022

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.50% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน หากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่ 25.5 ล้านคน ในปี 2023 และ 34.0 ล้านคน ในปี 2024 จากประมาณการเดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 22.0 ล้านคน และ 31.5 ล้านคน ตามลำดับ โดย ธปท. ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหลักสนุนเศรษฐกิจไทยและการบริโภคภายในประเทศ แม้จะทำให้เงินเฟ้ออาจจะยังคงทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ แต่โดยรวม ธปท. คาดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในปีนี้ ด้านการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง