ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2566

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องตามคาด ในการประชุมครั้งแรกของอูเอดะ ผู้ว่า BOJ คนใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ให้ (1) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และ (3) คงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.5% โดย BOJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องแต่ไม่ระบุถึงโอกาสการคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปัจจุบันอย่างที่ระบุไว้ในการประชุมครั้งก่อน ๆ และส่งสัญญาณถึงการพิจารณานโยบายการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2023 ลงเป็น 1.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% พร้อมเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.6% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นรอบด้าน

ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดือนมีนาคมออกมาดีกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 2.36 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่ง แม้ชะลอลงจากระดับ 3.26 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.5% จาก 3.6% ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 62.6% จาก 62.5% ทางด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมชะลอลงมาอยู่ที่ 5.0% YoY น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 5.1% YoY และชะลอจาก 6.0% YoY ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะชะลอลง แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม ซึ่งสมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไปแม้จะชะลอลง รวมถึงจากค่ากลาง Dot plot ที่สมาชิกเฟดคาดไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วแสดงถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ตลาดคาดการณ์ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้ง ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบนี้ ซึ่งจะทำให้จุดสูงสุดของดอกเบี้ย FED ในรอบนี้อยู่ที่ 5.00-5.25% โดย FED มีแนวโน้มส่งสัญญาณการใกล้ถึงจุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ด้วย

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.83% YoY (-0.27% MoM) ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.79% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.25% YoY เนื่องจากการชะลอลงของราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.93% YoY และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.80% YoY สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.7-2.7% (ค่ากลาง 2.2%) ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 2.0-3.0% (ค่ากลาง 2.5%) และคาดการณ์เงินเฟ้อจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. และฐานที่สูงจากปีก่อน ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุปรับขึ้น 3-18bps โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรุ่นอายุ 3-10 ปี (11-18bps) ส่วนตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความผันผวนมาก ในช่วงครึ่งเดือนแรกอัตราผลตอบแทนปรับลดลงจากความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ หลังจากนั้นในครึ่งเดือนหลัง จากการที่สมาชิกเฟดหลายท่านได้ออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ยังสูงเกินไป ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับเพิ่มอีกครั้ง โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 1 เดือนเคลื่อนไหวระหว่าง 3.40-4.70%, รุ่นอายุ 2 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.82-4.19% และรุ่นอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวระหว่าง 3.30-3.60% สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่อง จากเงินเฟ้อที่สูงเกินไปในระยะเวลาที่นานเกินไป โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% อัตราดอกเบี้ย (Main refinancing operations) จาก 3.00% ไปอยู่ที่ 3.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 3.25% ไปอยู่ที่ 3.75% พร้อมยังทำตามแผนเดิมของการประกาศลดขนาดงบดุลตามที่เคยประกาศไว้ในเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ECB กล่าวพร้อมเข้าดูแลและมีเครื่องมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงินของยุโรป อย่างไรก็ดีระบบธนาคารของยุโรปยังคงมีทุนและสภาพคล่องเพียงพอ ECB คาดเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ 5.3% จากที่คาดไว้เดิมที่ 6.3% สำหรับปี 2023 จากการลดลงของราคาพลังงาน และการคลี่คลายของปัญหาคอขวดด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี ECB ปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้ไปอยู่ที่ 4.6% จากที่คาด 4.2% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากผลของการส่งผ่านราคาพลังงานที่สูงในอดีต นอกจากนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 ไปอยู่ที่ 1.0% จาก 0.5%

การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 25bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.75%-5.00% โดย FED ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยใกล้จบสิ้นลง สะท้อนจากค่ากลางของ Dot plot ที่อยู่ที่ 5.1% สำหรับปี 2023 ซึ่งหมายถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียว ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน และประเมินในระยะข้างหน้าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเหมาะสมเพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น และการล่มสลายของบางธนาคารในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้มีแนวโน้มทำให้เกิดความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร คณะกรรมการฯ ยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ FED ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตได้น้อย โดยปรับลดเป็น 0.4% จากที่คาดการณ์ที่ 0.5% และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น โดยดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลไปอยู่ที่ 3.3% จาก 3.1% และดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานอยู่ที่ 3.6% จาก 3.5%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.75% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านเงินเฟ้อยังคงมองมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปีนี้ โดย ธปท. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% ในปีนี้ และ 3.8% ในปีหน้า จากเดิมที่คาด 3.7% และ 3.9% ตามลำดับ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28 ล้านคน จากที่คาดไว้เดิม 22 ล้านคน และปรับเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 35 ล้านคนในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ ธปท. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลงเล็กน้อย จาก 3.0% ในปีนี้ เป็น 2.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อปีหน้าเป็น 2.4% จาก 2.1%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละช่วงอายุโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง 1-28bps ยกเว้นพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 เดือนที่ปรับขึ้นไปเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนทิศทางเป็นการปรับลดลงอย่างมากจากปัญหาการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้นักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลว่าวิกฤตการเงินจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างไร และคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากไปกว่านี้ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 5.25% มาอยู่ที่ 4.06% ณ สิ้นเดือน ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีได้ลดลงจากช่วงต้นเดือนที่ 4.01% มาอยู่ที่ 3.48% ตอนสิ้นเดือน สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.66 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps ต่อเนื่องตามคาด พร้อมยืนยันการลดขนาดงบดุลเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2023 และระบุว่าแรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน มติในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก 2.00% ไปอยู่ที่ 2.50% อัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 2.50% ไปอยู่ที่ 3.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 2.75% ไปอยู่ที่ 3.25% ในถ้อยแถลงหลังผลการประชุม ประธาน ECB ระบุว่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องด้วยขนาดการขึ้นดอกเบี้ยที่คงที่ จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% จากการพิจารณาทั้งปัจจัยเงินเฟ้อและสภาวะทางการเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 4 เบื้องต้นเติบโต 0.1% แรงกดดันจากราคาพลังงานเริ่มชะลอลงบางส่วน ความเชื่อมั่นดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อยุโรปยังอยู่ในระดับสูงที่ 8.5% ในเดือนมกราคม 2023 แม้เงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7% ในเดือนตุลาคม 2022 และภาพรวมเงินเฟ้อโดยรวมของยุโรปยังคงอยู่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ แรงกดดันจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงจากการตรึงกำลังลดการผลิตของโอเปกพลัส ประกอบกับการเรียกร้องขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานในหลายประเทศทั่วยุโรป อาจเป็นปัจจัยเร่งต่อเงินเฟ้อ (Wage price spiral) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีเข้มแข็งต่อการขึ้นดอกเบี้ย (Hawkish tone) โอกาสที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 50bps ในครั้งหน้า จึงมีความเป็นไปได้สูง โดยปัจจุบันตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบนี้ที่ราว 3.30% ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2023

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง FED ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 25bps และตอกย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นสิ่งเหมาะสม จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย พร้อมยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2022 ต่ำกว่าแนวโน้มในระยะยาว และคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ชะลอลงต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวปานกลาง ดังนั้น FED จึงประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นสิ่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ ยังคงการลดขนาดงบดุลต่อเนื่องในอัตราเท่าเดิม และมีสมาชิกบางท่านที่ไม่ได้มีสิทธิลงมติในการประชุมครั้งนี้ให้ความเห็นว่า FED ควรขึ้นดอกเบี้ย 50bps คณะกรรมการฯ ระบุว่าเงินเฟ้อปัจจุบันสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% และสูงเกินกว่าจะรับได้ พร้อมระบุว่าต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แม้เงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจะชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เงินเฟ้อในวงกว้างยังไม่ได้ส่งสัญญาณมีความคืบหน้ามากนัก โดยเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อในตลาดบ้านอาจจะเริ่มชะลอลงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ คณะกรรมการบางส่วนประเมินว่าค่าจ้างมีแนวโน้มปรับตัวช้ากว่าเงินเฟ้อ และอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ขยายตัว 1.4%YoY (-1.5%QoQ SA) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 3.6%YoY และจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6%YoY โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.9% และการส่งออกบริการขยายตัว 94.6% อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าหดตัว 10.5% และ การบริโภครัฐบาลหดตัว 8.0% โดยรวมปี 2022 GDP ไทยขยายตัว 2.6%YoY ดีขึ้นจากที่ขยายตัว 1.5%YoY ในปี 2021 สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ขยายตัว 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยคาดการณ์ส่งออกหดตัว 1.6% และคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 28 ล้านคน พร้อมคาดการณ์ค่าเงินบาทปีหน้าที่ 32.3-33.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดเงินเฟ้อชะลอลงเป็น 2.5-3.5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-16bps ยกเว้นพันธบัตรอายุยาวกว่า 30 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยพันธบัตรอายุ 6 เดือนและ 1 ปีได้แตะระดับ 5% ในเดือนนี้ สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากเริ่มมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนปรับเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าอาจจะไปแตะ 5.00-5.25% ตลอดจนลดความกังวลลงในเรื่องที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะถดถอย การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2566

BOJ คงการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสวนทางการคาดการณ์ของตลาด ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5%, คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยนและหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณ 2023 ลงเล็กน้อยเป็น 1.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมที่ 1.9% พร้อมคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.6% เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อจำกัดด้านอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2023 ชะลอลงด้วย จากคาดการณ์เงินเฟ้อ 3.0% ในปีงบประมาณ 2022

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.50% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน หากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่ 25.5 ล้านคน ในปี 2023 และ 34.0 ล้านคน ในปี 2024 จากประมาณการเดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 22.0 ล้านคน และ 31.5 ล้านคน ตามลำดับ โดย ธปท. ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหลักสนุนเศรษฐกิจไทยและการบริโภคภายในประเทศ แม้จะทำให้เงินเฟ้ออาจจะยังคงทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ แต่โดยรวม ธปท. คาดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในปีนี้ ด้านการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25%-4.50% สูงสุดในรอบ 15 ปี และยังคงประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทั้งนี้ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดย FED คาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้าปรับขึ้นจาก 2.8% ไปอยู่ที่ 3.1% ปัจจุบันมองว่านโยบายดอกเบี้ยยังไม่ตึงตัวพอ และจะทำต่อจนกว่าจะสำเร็จ โดยค่ากลาง dot plot ของสมาชิกเฟด ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในการประชุมเดือนกันยายนไปอยู่ที่ 5.1% โดยมีสมาชิก FED 7 คนจาก 19 คน ที่มีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยควรขึ้นสูงกว่า 5.25% นอกจากนี้ ค่ากลาง dot plot ของอัตราดอกเบี้ยปี 2024 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% จาก 3.9% ทางด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว โดยถึงแม้ GDP จะขยายตัวในไตรมาสที่สาม แต่ระดับ GDP แทบไม่ต่างจากช่วงต้นปี เครื่องชี้เศรษฐกิจปัจจุบันแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิต กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่สูงและการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ FED ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2022 ขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.5% จาก 0.2% และปรับคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงไปอยู่ที่ 0.5% จาก 1.2% รวมถึงปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปีหน้าขึ้นจาก 4.4% ไปอยู่ที่ 4.6%

BOJ คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่ปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตร ด้วยมติเอกฉันท์ให้ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และปรับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน BOJ แสดงท่าทีเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน โดยการปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กว้างขึ้น แม้จะยังระบุอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเสถียรภาพในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน

ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามตลาดคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม ส่งผลให้ Deposit Facility Rate ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมายในระยะปานกลางที่ 2% ได้ นอกจากนี้จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุล ผ่านการลดการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ APP (Asset Purchase Program) ในเดือน มี.ค. 2023 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มต้นปรับลดการถือครองสินทรัพย์เฉลี่ยต่อเดือนราว EUR15bn ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. ขณะที่การลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์หลังจากเดือน มิ.ย. นั้นจะมีการพิจารณาเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ดี สำหรับการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ PEPP (Pandemic Purchase Program) จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกระทั่งผ่านพ้นปี 2024 ไปเป็นอย่างน้อย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ECB ได้มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้น โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 8.4% ในปี 2022, 6.3% ในปี 2023, 3.4% ในปี 2024 นอกจากนี้ ECB ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0.5% ในปี 2023 จากปี 2022 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ ประมาณ 4-40bps สวนทางกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนส่วนใหญ่ยังคงปรับขึ้นตามการทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีในเดือนนี้ ส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนธันวาคม เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.75%-4.00% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 FEDประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทางด้านเงินเฟ้อประเมินว่ายังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก FED ให้ความสำคัญอย่างมากกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับผลของนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่ผ่านมาต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน ทางด้านเศรษฐกิจ FED ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว เครื่องชี้เศรษฐกิจแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิตในไตรมาสนี้ กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่สูง และการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ ประธาน FED กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยอาจขึ้นไปสูงกว่าที่คาดไว้เดิม แต่อัตราการขึ้นอาจเริ่มชะลอลง และอาจเริ่มชะลอลงได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในตอนนี้ และยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอยู่ นอกจากนี้ ยังเร็วเกินไปมากที่จะตัดสินใจเรื่องการหยุดการขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75bps สู่ระดับ 3.00% สูงสุดในรอบ 14 ปี ตามการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นปรับขึ้นในอัตราที่มากที่สุดในรอบ 33 ปี โดยมีกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยกว่านั้น ทั้งนี้คณะกรรมการส่วนใหญ่ตัดสินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจมีความจำเป็นเพื่อกดให้เงินเฟ้อกลับเข้าเป้า 2% ได้อย่างยั่งยืน แต่อัตราอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะต่ำกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้าง Dovish โดย BOE ประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ (5.25%) จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง โดยจะส่งผลให้ GDP หายไป 3% และกดให้เงินเฟ้อชะลอลงแตะระดับ 0.0% ในปี 2025 ขณะที่หากอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ที่ระดับ 3.00% ในปัจจุบัน จะทำให้ภาวะ Recession ไม่รุนแรงและยาวนานนัก และเงินเฟ้อจะชะลอเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ได้ภายใน 2 ปี ด้านเงินเฟ้อ BOE คาดว่าจะทำจุดสูงสุดที่ราว 11% ในไตรมาส 4/2022 (จากปัจจุบันที่ 10.1% ในเดือนก.ย.) ต่ำกว่าที่เคยประเมินในเดือนส.ค. ที่ 11-13% จากผลของมาตรการ Energy Price Guarantee (EPG) ของรัฐบาล ที่ได้จำกัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนที่ GBP2,500 เป็นเวลา 6 เดือน (จนถึงเดือนมี.ค. 2023) และคาด GDP ปีนี้จะขยายตัว 4.25% เพิ่มขึ้นจากประมาณครั้งก่อนในเดือนส.ค. ที่ 3.5% อย่างไรก็ดี BOE ยังคงมอง GDP จะหดตัวต่อเนื่องหลังจากนั้น โดยคาดปี 2023 จะหดตัวที่ 1.5% และปี 2024 หดตัวที่ 1.0% (เดิมคาด -0.75%) ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 0.5% ในปี 2025

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2565

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 20-21 กันยายน ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ย 75bps เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว และเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ คณะกรรมการมองการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังคงเหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อกลับสู่กรอบที่ 2% โดยย้ำถึงความจำเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่จุดตึงตัวเพื่อเสถียรภาพของราคาและสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นควบคุมเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ซึ่งกรรมการบางท่านมองว่าการทำมากเกินไปเพื่อสู้เงินเฟ้อยังดีกว่าการทำน้อยเกินไป โดยอัตราการขึ้นในครั้งถัดไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กระทบต่อการคาดการณ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการมองเมื่อขึ้นไปถึงจุดตึงตัวที่เหมาะสมแล้วอาจคงอัตราดอกเบี้ยระยะนึงเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อปรับลดลงสู่เป้าหมายที่ 2%

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps เป็นครั้งที่สอง และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่สาม โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) จาก 0.75% ไปอยู่ที่ 1.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) จาก 1.50% ไปอยู่ที่ 2.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations จาก 1.25% ไปอยู่ที่ 2.00% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยอัตราการขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% พร้อมกันนี้ ECB ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยภายใต้โครงการ TLTRO III ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายนเป็นต้นไป และมีการให้ค่าตอบแทนสำหรับเงินสำรองขั้นต่ำที่ระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ECB คาดภาพรวมเศรษฐกิจชะลอลงมากในไตรมาสที่สามและจะชะลอลงในระยะข้างหน้าทั้งในไตรมาสที่สี่และต้นปีหน้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจปรับลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง ตามปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทางด้านเงินเฟ้อ ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเกินรับได้และขยายในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดแรงงานยังคงแข็งแรงและเป็นแรงสนับสนุนให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้น ทางด้านความเสี่ยง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจอยู่ในด้านลบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในระยะอันใกล้นี้ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในด้านสูง โดยความเสี่ยงหลักในระยะสั้นของเงินเฟ้อมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้เอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) 3 ล้านล้านเยน โดย BOJ พร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ในระยะข้างหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ด้านสภาพเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP 2022 ขยายตัว 2.0% จากที่คาด 2.4% ในขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อไปอยู่ที่ 2.9% จาก 2.3% ที่คาดไว้เดิม จากราคาพลังงาน ราคาอาหาร และสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจอยู่ในทางด้านลบและความเสี่ยงของเงินเฟ้ออยู่ในด้านสูง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยส่วนใหญ่ปรับขึ้น 2-20bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นไปต่อเนื่อง 20-94bps นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า FED จริงจังกับการสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.00-1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 9.2 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ประมาณ 9.8 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) จาก 0.75% ไปอยู่ที่ 1.50% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations จาก 0.50% ไปอยู่ที่ 1.25% พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ย 0% สำหรับเงินฝากภาครัฐ ประธาน ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป พร้อมไม่ปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในการประชุมครั้งถัดไป โดยจะพิจารณาจากข้อมูลเป็นหลัก (Data Dependent) และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% นอกจากนี้ได้คาดการณ์เศรษฐกิจชะลอลงและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง จากประเด็นการขาดแคลนก๊าซเป็นหลัก ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าชะลอลง เงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูง ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ยุโรปในปีนี้ขึ้นเป็น 3.1% จากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ปรับลดคาดการณ์ปี 2023 และ 2024 ลงเป็น 0.9% และ 1.9% ตามลำดับ จาก 2.1% ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากประเด็นการขาดแคลนก๊าซ ทำให้ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 8.0% 5.5% และ 2.3% สำหรับปี 2022 2023 และ 2024 ตามลำดับ

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3.0%-3.25% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ในขณะที่ค่ากลางของ Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยให้ถึง 4.4% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ที่ระบุไว้รอบเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ กรรมการยังมีมุมมองดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.6% ในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.75% ที่คาดไว้ตอนเดือนมิถุนายน FED ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก FED ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.4% จากเดิมที่ 5.2% และสำหรับปีหน้าเงินเฟ้อปรับขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% ไปอยู่ที่ 2.8% ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 1.7% เป็น 0.2% และปีหน้าจาก 1.7% เป็น 1.2% จากเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต รวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง ด้านตลาดแรงงาน ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี FED ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการว่างงานจาก 3.7% ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 3.8% และปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.4% ในปีหน้า จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 3.9%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.00% จาก 0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงหนุนการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและเริ่มเห็นการส่งผ่านทางต้นทุนที่มากขึ้น ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ที่ 3.3% และปรับลดคาดการณ์ปีหน้าเป็น 3.8% จาก 4.2% โดยยังประเมินว่าการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และมีการปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านคน และ 21.0 ล้านคนตามลำดับ ในขณะที่ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ในประเทศปีหน้าลงเป็น 2.5% จาก 3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าจะส่งผลให้การส่งออกในปีหน้าชะลอลงด้วย ด้านอัตราเงินเฟ้อ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้และปีหน้าเป็น 6.3% และ 2.6% จาก 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้และปีหน้าที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.0-3.0%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเส้น ในช่วงอายุ 5-11 ปีปรับขึ้นมากที่สุด 60-74bps ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 13-27bps ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น 37-79bps จากการคาดการณ์ว่า FED จะจริงจังกับการสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.00-1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.9 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 13.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท ยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่
-0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดที่ 0.25% ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในตลาดการเงิน จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอุปทาน และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 และ ปี 2024 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% และ 1.3% จาก 1.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อได้เพิ่มคาดการณ์เป็น 2.3% ในปีนี้ จากเดิมที่ 1.9% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 เป็น 1.4% และ 1.3% ตามลำดับ จาก 1.1% จากผลของราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนพลังงานเป็นหลัก

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีและเป็นการออกจากดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก -0.50% ไปอยู่ที่ 0.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 0.25% ไปอยู่ที่ 0.75% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมต่อไป โดยจะตัดสินใจในแต่ละการประชุมบนพื้นฐานของข้อมูลขณะนั้นเป็นหลัก และอาจไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงระดับในการปรับในรอบต่อไป นอกจากนี้ยังอนุมัติ Transmission Protection Instrument (TPI) เครื่องมือใหม่เพื่อช่วยการส่งผ่านของนโยบายการเงินอย่างราบรื่นทั่วทั้งยุโรป และเพื่อช่วยเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นแตกต่างกันของแต่ละประเทศ การเข้าซื้อของเครื่องมือ TPI ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละประเทศ และสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดจากการคาดการณ์ โดยจะเข้าซื้อในสินทรัพย์ที่มีอายุ 1-10 ปี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่
-0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดที่ 0.25% ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในตลาดการเงิน จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอุปทาน และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 และ ปี 2024 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% และ 1.3% จาก 1.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อได้เพิ่มคาดการณ์เป็น 2.3% ในปีนี้ จากเดิมที่ 1.9% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 เป็น 1.4% และ 1.3% ตามลำดับ จาก 1.1% จากผลของราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนพลังงานเป็นหลัก

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีและเป็นการออกจากดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก -0.50% ไปอยู่ที่ 0.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 0.25% ไปอยู่ที่ 0.75% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมต่อไป โดยจะตัดสินใจในแต่ละการประชุมบนพื้นฐานของข้อมูลขณะนั้นเป็นหลัก และอาจไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงระดับในการปรับในรอบต่อไป นอกจากนี้ยังอนุมัติ Transmission Protection Instrument (TPI) เครื่องมือใหม่เพื่อช่วยการส่งผ่านของนโยบายการเงินอย่างราบรื่นทั่วทั้งยุโรป และเพื่อช่วยเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นแตกต่างกันของแต่ละประเทศ การเข้าซื้อของเครื่องมือ TPI ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละประเทศ และสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดจากการคาดการณ์ โดยจะเข้าซื้อในสินทรัพย์ที่มีอายุ 1-10 ปี