ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2563

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติให้คงนโยบายการเงินเดิมทั้งเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาว ได้แก่ มีมติ 8 ต่อ 1 ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” และเคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.2% และคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ ได้แก่ วงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs ต่อปีที่ JPY12trn และ JPY180bn ตามลำดับ และยังระบุจะเข้าซื้อในอัตราที่เหมาะสมตามสภาวะของตลาด วงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) และยาว (Corporate Bonds) รวมกันต่อปีที่ JPY20trn จนถึงเดือน มี.ค. 2021 ยกเลิกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากเดิมที่กำหนด JPY80trn ต่อปี และวงเงินโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย (Special Funds-Supplying Operations) ที่ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มูลค่า JPY90trn ในส่วนของเศรษฐกิจ BOJ คาดว่า GDP ปีงบประมาณ 2020F จะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -5.5% จากประมาณการครั้งก่อนในเดือนก.ค. ที่ -4.7% จากอุปสงค์ในภาคบริการที่อ่อนแอกว่าที่คาด ขณะที่คาด GDP ปีงบประมาณ 2021F จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จากเดิมที่คาด 3.3% ทางด้านเงินเฟ้อประมาณการไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบก่อนนัก โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะหดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น -0.6% ในปีงบประมาณ 2020F จากการประมาณการครั้งก่อนที่ -0.5% และจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 0.4% ในปีงบประมาณ 2021F แต่ยังคงห่างไกลเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างมาก สะท้อนได้ว่านโยบายการเงินจะยังคงผ่อนคลายเป็นระยะเวลานาน

ทางด้านการประชุมนโยบายการเงินในช่วงปลายเดือนของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร และยืนยันว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน 2021 ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ ประธาน ECB แถลงว่า GDP ยูโรโซนในไตรมาส 3 จะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่แนวโน้ม GDP ไตรมาส 4 มีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลง เนื่องจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณอ่อนแอลงมาตั้งแต่เดือนกันยายน และมีแนวโน้มย่ำแย่ลงมากในเดือนพฤศจิกายนจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นในยุโรป นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม และจะพิจารณาเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการขยายมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อลดทอนผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตลอดทั้งเส้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากการคลายความกังวลต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเสนอขายซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดเผยแผนการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2021 ในเบื้องต้นที่มีปริมาณน้อยกว่าที่ตลาดคาด ทางด้านปริมาณการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิเล็กน้อย คิดเป็นประมาณ 4.8 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.5 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.44 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2563

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (PEPP) ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP เต็มจำนวนและชี้ว่ามาตรการที่ผ่านมานั้นมีประสิทธิภาพ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงและไปในทางเดียวกัน ตลอดจนภาวะการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่า GDP ในปีนี้จะหดตัว 8% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายนที่หดตัว 8.7% และจะกลับมาขยายตัว 5% ในปีหน้าตามประมาณการเดิม โดยประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวขึ้นมาก แต่เน้นย้ำว่าความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคงสูง ส่วนเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในปี 2021 ที่ 1.0% และปี 2022 ที่ 1.3% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าที่ 2% อยู่มาก

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0 – 0.25% ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2023 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่การจ้างงานระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวที่ 2% ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 2% ไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ FED ยังให้คำมั่นที่จะเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ FED ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ และปรับประมาณการ GDP ปี 2020 เป็น -3.7% จากประมาณการเดิมเดือนมิถุนายนที่ -6.5% และคาดว่า GDP ปี 2021 จะขยายตัว 4% นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์อัตราการว่างงานปี 2020 มาที่ 7.6% จากเดิมที่ 9.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2% ในปี 2023 ทั้งนี้ FED ยังคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวที่ 2.5%

ทางด้านการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ให้คงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และย้ำว่าเงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ BOJ จะคงปริมาณซื้อสินทรัพย์ทุกชนิด โดยซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ไม่จำกัด ซื้อ ETFs 12 ล้านล้านเยน และซื้อ J-REITs ที่ 1.8 แสนล้านเยน ขณะที่คงปริมาณถือครองตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นและยาวไว้ที่ 2 และ 3 ล้านล้านเยนตามลำดับ และกำหนดเพดานปริมาณการถือครองตราสารหนี้เอกชนจนถึงสิ้นมีนาคม 2021 ไว้ที่อย่างละ 7.5 ล้านล้านเยน BOJ มองว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการส่งออกและการผลิตที่มีสัญญาณดีขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ขณะที่ความเชื่อมั่นและกำไรภาคธุรกิจยังย่ำแย่ และการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้ มองอัตราเงินเฟ้อจะติดลบในระยะนี้จากราคาน้ำมันที่กดดัน แต่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในระยะต่อไป และจะติดตามการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด และเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น MPC มองว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวอยู่ที่ -7.8% ดีขึ้นจากประมาณการในครั้งก่อนที่ -8.1% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองที่ผ่านมา ทำให้การใช้จ่ายในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับมองว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนขึ้นมาก มาขยายตัวที่ 8.8% (จาก 5.8%) จึงช่วยชดเชยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มหดตัวสูงขึ้นได้ ธปท. มองว่า รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคือปัจจัยฉุดเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า ประเมินว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากนักในช่วงที่เหลือของปี ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2020 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน (จาก 8.0 ล้านคน) และปี 2021 อยู่ที่ 9.0 ล้านคน (จาก 16.2 ล้านคน) มาตรการภาครัฐคือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่ตรงจุดและทันกาล เพื่อเน้นทั้งสนับสนุนการจ้างงานและสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุปทานให้ทักษะแรงงานและรูปแบบธุรกิจสอดรับกับวิถีใหม่หลัง COVID-19 โดยสรุป ธปท. ประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่า GDP ในปี 2021 จะขยายตัวเพียง 3.6% (จาก 5.0%)

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงกลาง (ไม่เกิน 3 ปี) ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.04%-0.11% จากการคลายกังวลถึงปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเสนอขาย ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดเผยแผนการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2021 ในเบื้องต้นในปริมาณที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ทางด้านการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิรวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.48 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2563

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 745 พันล้านปอนด์ ตามการคาดการณ์ของตลาด BOE มองพัฒนาการเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนในเดือนพ.ค. โดยปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2020 ขึ้นเป็น -9.5% YoY จากประมาณการครั้งก่อนที่ -14.0% และคาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 9% ในปี 2021 (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 15%) บนสมมติฐานว่าผลกระทบทางตรงจาก COVID-19 จะทยอยหายไป ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.25% ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากราคาน้ำมันที่ลดลงและการลดภาษี VAT ให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และคาดเงินเฟ้อจะทยอยเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในปี 2022 ด้านตลาดแรงงาน คาดว่าอัตราการว่างงาน ณ สิ้นปี 2020 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.5% ท่ามกลางความไม่แน่นอนภายหลังมาตรการภาครัฐที่คอยพยุงการจ้างงานได้หมดอายุลง โดย BOE ยังย้ำถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ทิศทางเศรษฐกิจต่อจากนี้จะยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของ COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ต่อปัจจัยดังกล่าว นอกจากนี้ BOE ระบุพร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินที่มีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจะยังไม่กลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนและสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญในการประชุมประจำปี Jackson Hole Symposium โดยระบุว่า FED จะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเดิม ก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะคงอยู่ที่ระดับต่ำในปัจจุบัน (0-0.25%) เป็นระยะเวลานาน โดยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ FED สามารถปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอดหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายถึง FED จะยังไม่จำเป็นต้องลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินในทันทีที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 2% และสะท้อนนโยบายการเงินในอนาคตมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ FED ยังได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) โดยจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจาก “การจ้างงานที่ขาดหายไป” จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา จากเดิมที่จะประเมินจาก “การจ้างงานที่เบี่ยงเบนไป” จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้ไม่ได้ส่งผลต่อค่าเงินบาทมากนัก คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ แต่จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีกว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาเป็นปกติ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2020 มีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ การผ่อนคลายนโยบายการเงินและนโยบายการคลังได้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ รวมทั้งเร่งรัดให้สถาบันการเงินให้เสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตรงจุดผ่านโครงการต่าง ๆ

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า GDP ไทยไตรมาสที่ 2/2020 หดตัวสูงที่ -12.2%YoY (-9.7%QoQ) สะท้อนว่าไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -13.0%YoY ขณะที่ สศช. ปรับปรุงตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 เป็น -2.0%YoY (-2.5%QoQ) จากประกาศครั้งก่อนที่ -1.8%YoY (-2.2%QoQ) อีกทั้ง สศช. ยังลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาที่ค่ากลาง -7.5% จากประมาณการครั้งก่อน -5.5% โดยมีสมมติฐานว่าในปีนี้ นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะยังไม่กลับมา และไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มเติม แต่มีความเสี่ยงจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ การระบาดของ COVID-19 ภัยแล้ง และการเมืองในประเทศ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น 0.08%-0.24% โดยเฉพาะในรุ่นอายุมากกว่า 1 ปี เนื่องจากมีรายการพิเศษในตลาดแรกและธุรกรรมพิเศษที่กระทบต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 2 รายการในเดือนนี้ ได้แก่ “พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนสำหรับบริหารหนี้ให้กู้ต่อ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1” และ “พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1” จำนวนรวม 30,000 ล้านบาท และการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 3 ที่เป็นการเพิ่มปริมาณพันธบัตรอายุระหว่าง 4.3 - 46.8 ปี จำนวนรวม 100,000 ล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับขึ้นเล็กน้อยจากการเสนอขายตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปริมาณพันธบัตรระยะสั้นมีมากขึ้นและกดดันให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิเล็กน้อย โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.7 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 4.7 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนสิงหาคมลดลง 2.3 พันล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.23 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2563

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ใกล้ 0% รวมทั้งคงขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ BOJ ลดคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ 2020 ลงมาที่ -5.7% ถึง -4.5% จากประมาณการเดิมในเดือนเมษายนที่ -5.0% ถึง -3.0% และประเมินว่าเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2021 จะกลับมาขยายตัว 3.0% ถึง 4.0% ด้านอัตราเงินเฟ้อปีงบประมาณ 2020 มีแนวโน้มติดลบในกรอบ -0.6% ถึง -0.4% นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินและสนับสนุนสภาพคล่องให้ธุรกิจและตลาดการเงิน ทั้งเงินเยนและเงินตราต่างประเทศให้เพียงพอผ่านมาตรการซื้อสินทรัพย์และ Dollar Funding Operations อย่างไม่จำกัด และส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาวที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าในระยะข้างหน้า

ทางด้านการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กล่าวคืออัตราเงินฝากที่ระดับ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ PEPP ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร และคงระยะเวลาของมาตรการถึงมิถุนายน 2021 โดย ECB มีมุมมองต่อเศรษฐกิจว่ายังมีความเสี่ยงสูง แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ควยคุมได้และการกลับมาเปิดเมือง แต่เศรษฐกิจยังอ่อนแอกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 มาก การจ้างงานและรายได้ที่ลดลงคาดว่าจะยังฉุดการบริโภคอยู่ โดยยังมองถึงความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังสูงมาก ทั้งนี้ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวถึง 8.7% ในปีนี้ และเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ไปถึงสิ้นปี 2022

ในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และชี้ว่าจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยในระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ยังขยายเวลาการทำธุรกรรม Swap Line และ Repo Facility ออกไปจนถึง 31 มีนาคม 2021 เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินดอลลาร์ และขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องไปอีก 3 เดือนไปสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2020 นายโพเวล ประธาน FED ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 และจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อลดลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงเมื่อการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทางด้านสภาพเศรษฐกิจของไทย ในช่วงปลายเดือนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะหดตัวที่ 8.5% โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ติดลบ 8-9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังขยายตัวได้ 2.4% โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหดตัวลง ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นช่วงอายุไม่เกิน 3 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 1-2 Bps จากการเสนอขายตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปริมาณพันธบัตรระยะสั้นมีมากขึ้นและกดดันให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มาก การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 23.5 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.3 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2563

ในช่วงต้นเดือน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อภายใต้มาตรการ Main Street Lending เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้นและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการในช่วงที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง โดย FED จะรับซื้อสินเชื่อดังกล่าวจากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ 0.00–0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ FED ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง FED พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ จากประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ FED จะรักษาระดับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงิน (พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และ MBS 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน) FED ประเมินเศรษฐกิจหดตัวสูงสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนจะกลับมาขยายตัว +5.0% ในปี 2021 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 9.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปี FED จะหารือรายละเอียดมาตรการ Yield Curve Control รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Forward Guidance) ในการประชุมครั้งถัดไป (28-29 กรกฎาคม)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) อีก GBP100 พันล้าน เป็น GBP745 พันล้าน เพื่อหนุนให้เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง โดยคาดมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการประชุมรอบก่อน โดยระบุว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะยังมีความอ่อนไหวต่อพัฒนาการของไวรัส COVID-19 ขณะที่ดัชนีวัดเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษและโลกในไตรมาส 2 อาจหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคการบริการเริ่มฟื้นตัวภายหลังการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังที่ออกมาแล้วจะคอยหนุนการฟื้นตัวต่อจากนี้ เศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวประมาณ -20% ในเดือนเมษายน (ต่อเนื่องจาก -6% ในเดือนมีนาคม) แต่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) เดือน พฤษภาคมที่ฟื้นตัวขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาด (+16.2, 30.0 จุด) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของไวรัส COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่อปัจจัยดังกล่าว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้มติดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนัก สาเหตุการคงอัตราดอกเบี้ยคือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าคาด แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกับประเทศที่คุมการระบาดของไวรัสได้ดี อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 และคณะกรรมการมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปีและนโยบายการคลังปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาที่ -8.1% จากประมาณการเดิม -5.3% โดยประเมินการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากกว่าเดิม รวมทั้งการระบาดไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ -1.7% จากเดิม -1.0% ในปีหน้าธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 5.0% และเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายโดยเฉลี่ย โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.9%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 ปีปรับลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 10 ปีปรับขึ้น จากความกังวลปริมาณพันธบัตรรัฐบาสที่จะออกประมูลในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2020 (กรกฎาคม-กันยายน 2020) ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เริ่มกลับมาเป็นการซื้อสุทธิหลังจากการขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 6 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 26 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.2 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2563

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่มีมติ 7-2 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนรวมกันที่ GBP645bn และแถลงการณ์ระบุว่าอาจมีการเพิ่มวงเงิน QE ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มิ.ย. ทางด้านเศรษฐกิจ BOE มองว่าประเมินได้ยาก เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ วิวัฒนาการของ COVID-19 และการตอบสนองของภาครัฐ ครัวเรือน ธุรกิจ และตลาดการเงิน โดยในกรณีฐาน (Base Case) BOE มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวแรงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เริ่มในวันที่ 10 พ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่า GDP ไตรมาส 2 ปี 2020 จะหดตัวแรง -25.0% QoQ และทั้งปีนี้จะหดตัว -14% YoY แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1706 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแรงเป็น 15% YoY ในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.6% YoY ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากการปรับลดลงแรงของราคาน้ำมันประกอบกับปริมาณความต้องการ (Demand) น้อย แต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ได้ในปี 2022 ด้านอัตราการว่างงาน BOE คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 8% ในปีนี้ แต่จะเป็นเพียงชั่วคราว จากนั้นอัตราการว่างงานจะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4% ในปี 2022

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ระบุในการเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เผชิญความเสี่ยงรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น แต่ยังไม่เห็นความเหมาะสมในการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจจะใช้เวลาสักระยะในการฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องในภาคธุรกิจลุกลามไปสู่การล้มละลายและการว่างงานถาวรจะเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติมแม้จะมีมูลค่าสูง กล่าวคือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นและการขาดดุลการคลังที่สูง แต่ยังมีความจำเป็นในการลดทอนผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด สะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่เคยประเมินกันไว้ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่กว่า 20 ล้านรายต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน อัตราการว่างงานในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นเป็น 14.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก็ดูจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากความกังวลต่อการกลับมาระบาดของไวรัส

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2014 ที่ -1.8% YoY จากที่ตลาดคาดว่า GDP จะหดตัวมากถึง -3.9% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดย GDP หดตัว -2.2% QoQ sa (Seasonally Adjusted) จาก +0.2%QoQ sa ในไตรมาสก่อน โดยถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -4.2%QoQ sa ทั้งปี 2020 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในช่วง -5.0% ถึง -6.0% จากประมาณการเดิมที่ +1.5 ถึง +2.5% โดยประเมินว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจถึง 15% ของ GDP

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยลดลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วทั้งสิ้น 0.75% สาระสำคัญจากการประชุมคือ (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ (2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าที่คาด และ (3) เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม สอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นค้าน สนับสนุนการคงดอกเบี้ย โดยมองว่าควรเร่งรัดประสิทธิภาพมาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงอายุ 10-20 ปีกลับเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการจัดประมูลในเดือนนี้ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.06 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.94 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนพฤษภาคมลดลง 1.08 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 7.97 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2563

ในช่วงต้นเดือนธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้ประกาศมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หลังจากยอดขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.6 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสูงถึง 16.8 ล้านคนในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวเป็นไปในแนวทางเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อแก่สถาบันการเงิน โดยอนุญาตให้นำสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลประเทศกรีซ สินเชื่อ SME และเงินกู้สกุลต่างประเทศมาค้ำประกันได้ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนภาวะการเงินตึงตัวทั้งในตลาดการเงินและภาคธุรกิจที่รุนแรง ต่อมาในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.00-0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินทุกอย่างที่มีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกหดตัวรุนแรง และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปจนกว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนจะกลับมาในทิศทางที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่เป้าหมายที่การจ้างงานเต็มที่และราคาสินค้าอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีใกล้ 0% พร้อมทั้งขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมให้เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่จำกัด ขยายการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะยาวและระยะสั้น และพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น โดย BOJ ปรับประมาณการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงมาอยู่ที่ -5.0% ถึง -3.0% และคาดเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.7% ถึง -0.3%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตช่วงปี 1930 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% ในปี 2020 จากประมาณการเดิมในเดือนมกราคมที่มองว่าจะขยายตัว 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีถัดไปโดยขยายตัว 5.8% ในปี 2021 (ในกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหากการปิดเมืองยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาสที่ 2 และการระบาดของไวรัสโคโรนายังมีอยู่บ้างในปี 2021) สำหรับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มหดตัว 6.1% โดยคาดเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 5.9% จากคาดการณ์รอบก่อนที่ +2% โดยประเมินว่าอัตราการว่างงานสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2019 มาที่ 10.4% ในปี 2020 และยังอยู่ในระดับสูงที่ 9.1% ในปี 2021 ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะหดตัว 7.5% โดยเศรษฐกิจจะอ่อนแอมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ขณะที่อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นจาก 7.6% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 10.4% ในปีนี้และ 8.9% ในปีหน้า ด้านเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชียคาดว่าจะขยายตัว 1% โดยประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ 1.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัว 6.7% ในปีนี้ และจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 6.1% ในปีหน้า

ทางด้านมาตรการด้านการเงินและการคลังของไทยในเดือนนี้ ได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยแบ่งเป็น พ.ร.ก. ด้านการคลัง 1 ฉบับ และ พ.ร.ก. ด้านการเงิน 2 ฉบับ กล่าวคือ (1) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปีงบประมาณ 2021 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และ (2) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มูลค่า 5 แสนล้านบาท และจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ (BSF) มูลค่า 4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยหนี้ส่วนหนึ่งหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ที่ภาครัฐประกาศออกมา และการคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมครั้งหน้า ทำให้ไม่มีกระแสนักลงทุนสถาบันขายพันธบัตรรัฐบาลออกมามากเท่าเดือนก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรองปรับขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง และทำให้ Credit Spread ของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรกหลายตัวที่เสนอขายในช่วงนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 919 ล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนเมษายนลดลง 1.9 หมื่นล้านบาท รวม 4 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 1.15 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2563

ในเดือนนี้เกิดภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลกเนื่องจากตลาดกังวลการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้น ตราสารหนี้เอกชน และสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ มาถือเงินดอลลาร์จนเกิดสภาวะการขาดแคลนสภาพคล่องดอลลาร์ในตลาดการเงินโลกอย่างรุนแรง กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงเอเชียและไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากภาวะสภาพคล่องดอลลาร์ขาดแคลนและความกังวลความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำาระหนี้ ธนาคารกลางของประเทศหลักรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยต่างผ่อนคลายนโยบายการเงินและเข้ามาแทรกแซงตลาดดังนี้

วันที่ 3 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติในการประชุมฉุกเฉินให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่กรอบ 1.00-1.25% ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม ได้มีการประชุมฉุกเฉินอีกครั้ง และเป็นการนัดประชุมทดแทนกำหนดการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม โดย Fed ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 100 bps มาอยู่ที่ระดับ 0-0.25% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตปี 2008 พร้อมออกมาตรการผ่อนคลายการเงินอย่างเต็มอัตรา สาเหตุสำคัญคือเพื่อลดผลกระทบของโรค Covid-19 ต่อเศรษฐกิจ สนับสนุนสินเชื่อภาคครัวเรือนและธุรกิจ และลดภาวะตลาดการเงินตึงตัวและขาดแคลนเงินดอลลาร์ มาตรการผ่อนคลายการเงินดังกล่าวได้แก่

(1) การลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ อัตราการดำรงเงินสดสำรองต่อเงินฝาก

(2) ออกมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน

(3) สนับสนุนธุรกรรม Dollar roll และ Coupon swap หากจำเป็นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในธุรกรรม MBS

(4) ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางหลัก 5 แห่งในการรักษาสภาพคล่องของเงินดอลลาร์

ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม Fed ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมแบบเต็มอัตรา โดยเฉพาะการขยายวงเงินการซื้อสินทรัพย์เป็นไม่จำกัดและไม่กำหนดวันสิ้นสุด เพิ่มวงเงินปล่อยกู้ใหม่แก่ภาคธุรกิจและประชาชนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งกองทุน 2 แห่งเพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจรายใหญ่ คือ Primary Market Corporate Credit Facility (PMCCF) และ Secondary Market Corporate Credit Facility (SMCCF) และตั้งกองทุนอีกแห่งเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและผู้บริโภค คือ Term Asset-Backed Securities Loan Facility (TALF) และยังขยายประเภทสินทรัพย์ใช้ค้ำประกันในมาตรการให้สภาพคล่องด้วยกองทุนทั้ง MMFF และ CPFF ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ มาตรการดังกล่าวออกมาในช่วงที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านต้องการช่วยเหลือแรงงานและครัวเรือนมากขึ้น โดยเสนอเพิ่มวงเงินเป็น 2.5 ล้านล้านดอลลาร์

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 0.25% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุม เพื่อลดแรงกดดันของตลาดจากผลของการระบาดของเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักรต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ BOE ได้ประกาศมาตรการปล่อยกู้ (Term Funding Scheme) ที่มีแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำใกล้ดอกเบี้ยนโยบายระยะ 4 ปี และประกาศลดสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์สวนทางกับวัฏจักร (Counter Cyclical buffer) ลงมาอยู่ที่ 0% ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.5% ผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 10 bps แต่ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดแรงกดดันในตลาดการเงิน ประกอบด้วย การซื้อสินทรัพย์ (QE) เม็ดเงิน 1.2 แสนล้านยูโรภายในปี 2020 และปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ (LTROs) รอบใหม่ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง ทั้งนี้ประธาน ECB สนับสนุนให้ภาครัฐร่วมมือกันออกมาตรการเยียวยาและป้องกันผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 16 มีนาคม ทั้งนี้ BOJ ตอบรับมติของธนาคารกลางหลักทั้ง 6 แห่งในการเพิ่มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกด้วยธุรกรรม Swap line

ในวันที่ 20 มีนาคม คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยได้มีการประชุมนัดพิเศษ และมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 0.75% ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม มีแถลงการณ์จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และก.ล.ต. ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ 3 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องดังนี้

(1) มาตรการสำหรับกองทุนรวม โดยการเพิ่มสภาพคล่องกองทุนรวมผ่านธนาคาร ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี และนำมาเป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่อง (Repurchase agreement) จาก ธปท.

(2) มาตรการสำหรับหุ้นกู้ โดยการตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่อง (BSF) ร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) วงเงิน 70,000 –100,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย BSF จะเข้าซื้อหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ Investment Grade โดยจะเป็นเงินลงทุนอายุไม่เกิน 270 วันและเข้าซื้อไม่เกิน 50% ของมูลค่าที่จะ Rollover

(3) มาตรการตราสารหนี้ภาครัฐ เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนลดวงเงินการประมูลพันธบัตร ธปท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรอีกทางหนึ่ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้มีความผันผวนมาก จากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจและกระแสเงินทุนไหลออกจนนำมาสู่ภาวะขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ในช่วงต้นเดือนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดของปี ตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากนั้นกลับปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงจากสาเหตุการขาดสภาพคล่องของการซื้อขายตราสารหนี้ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาแทรกแซงโดยการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลหลายช่วงอายุผ่าน Primary Dealers ตลอดทั้งเดือนรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นเกือบ 1.5 แสนล้านบาท โดยสรุป ณ สิ้นเดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลง 16-23 bps ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 1-55 bps จากสาเหตุสภาพคล่องและกระแสเงินทุนไหลออก การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองของปี โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.8 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว ยอดการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมีนาคมจึงลดลงจากปีที่แล้วสูงถึง 8.9 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (กุมภาพันธ์ 2563)

ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมนโยบายการเงินจากธนาคารกลางของประเทศหลัก มีเพียงรายงานการประชุมในเดือนมกราคมของ FOMC เปิดเผยว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีความเหมาะสมที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในระดับปานกลางและหนุนเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (มกราคม 2563)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด และยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน