ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงนโยบายการเงินเดิมตามคาดการณ์ของตลาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และมีมติ 7-1 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา GBP875bn โดยมีกรรมการท่านหนึ่งสนับสนุนให้ลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงเป็น GBP830bn BOE มีมุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นในระยะกลางและมองว่าจะมีอุปสงค์ส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีถัดไป ซึ่งจะหนุนให้นโยบายการเงินต้องมีความตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะจากเงินเฟ้อที่คาดจะพุ่งขึ้นสูงและอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ในระยะกลาง และคาดเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 4.0% ในไตรมาส 4 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.5% ในเดือนพ.ค. จากรายงานเงินเฟ้อที่ออกมาขยายตัวสูงกว่าคาด (2.5% เดือน มิ.ย.) และผลของการเปิดเศรษฐกิจ รวมถึงต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี BOE มองว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดเงินเฟ้อจะชะลอลงเป็น 2.5% ในปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาด 2.0%) และชะลอลงเป็น 2.0% ในปี 2023 ผู้ว่าฯ BOE ระบุว่าแม้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่การที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ในระยะกลางนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องลดมาตรการผ่อนคลายบางส่วน ส่วนด้านประมาณการเศรษฐกิจ ได้มีการคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 7.25% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2022 ขึ้นเป็น 6.0% จากที่คาด 5.0% ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 4.75% ในปีนี้ ลดลงจากที่คาด 5.0% ในเดือน พ.ค. และคาดจะลดลงอยู่ที่ระดับ 4.25% ในปี 2023 (เท่ากับคาดการณ์เดิม)

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง และเห็นควรให้เริ่มลด QE ภายในปีนี้ แต่ยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากคณะกรรมการยังคงต้องการเห็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยประธาน FED ได้แสดงปาฐกถาในงานสัมมนาประจำปีที่แจ็คสันโฮล สนับสนุนการลด QE ในปีนี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดการณ์ จน GDP สหรัฐฯ พุ่งเหนือระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.4% ของกำลังแรงงานรวม และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ไม่สามารถมองข้ามได้ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงและเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ดังนั้น จึงเห็นควรเริ่มลด QE ในปีนี้ แม้ในระยะสั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า โพเวลส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังห่างไกลและไม่เกี่ยวข้องกับการลด QE เนื่องจาก FED ใช้วิธีที่แตกต่างกันในการพิจารณานโยบายทั้งสองแบบ FED จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ และเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ซึ่งโพเวลระบุว่ายังคงมีปัจจัยอีกมาก รวมถึงจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าการจ้างงานจะเข้าสู่ระดับสูงสุดตามที่ FED ตั้งเป้าหมายไว้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากมองว่ามาตรการทางการเงินมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการอีก 2 ท่านเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการ 1 ท่านลาประชุม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์จีดีพีมาอยู่ที่ 0.7% ปี 2021 และ 3.7% ในปี 2022 จากประมาณการเดิม ณ เดือนมิถุนายนที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ จากการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมินไว้และยังมีความเสี่ยงสำคัญจากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยประเมินว่า ในกรณีฐานจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 1.5 แสนคน จากเดิมที่คาด 7 แสนคน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ จาก พรก. กู้เงินฉบับล่าสุด และการส่งออกที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธปท. ยังเห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ยืดเยื้อ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวไม่มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก ท่ามกลางความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกนี้ ในขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี ทำให้ตลาดมีความกังวลถึงโอกาสที่ FED จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง ทำให้อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อย ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 4.76 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.92 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.84 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยรวมประมาณ 9.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.12 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2564

การประชุมนโยบายการเงินในช่วงกลางเดือนของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับลดประมาณ GDP ปี 2021 ลงมาที่ 3.8% จาก 4.0% ที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่เพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นมาที่ 0.6% จาก 0.1% และประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลางถึงยาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ BOJ มีมาตรการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงปีงบประมาณ 2030 ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปีแก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้และสนับสนุนการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยสามารถต่ออายุได้ไม่จำกัด ขณะที่ตลาดประเมินว่า BOJ จะสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนแก่สถาบันการเงิน ทางด้านสัญญาณนโยบายการเงิน BOJ ยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คงกำหนดการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยน และ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยนถึงกันยายนปีนี้ ทั้งนี้ BOJ ส่งสัญญาณจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางโดยกำหนดไว้ที่ 2% จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใกล้เคียงแต่ต่ำกว่า 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ สะท้อนว่า ECB จะยอมให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเกินกว่า 2% ได้เป็นการชั่วคราว โดย ECB จะคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 เป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าวิกฤตโควิดจะจบลง ในไตรมาสนี้ ECB เพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญที่ 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในไตรมาสแรก และ 1.8 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สองของปีตามลำดับ และคงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร

ในช่วงปลายเดือนมีการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) โดยมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00%-0.25% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อไป จนกว่าการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อจะมีพัฒนาที่ชัดเจนตามเป้าหมาย นายเจอโรม โพเวล ประธานเฟดแถลงหลังการประชุมว่า อีกสักพักกว่าจะเริ่มลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์เนื่องจากแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงระดับที่เฟดตั้งเป้าหมายไว้โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังมองว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นประเด็นที่ยังไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ จะฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มไปแล้วถึง 57% และได้รับวัคซีนครบจำนวนแล้ว 49% คณะกรรมการ FOMC จึงจะประเมินพัฒนาของเศรษฐกิจในการประชุมครั้งต่อๆ ไป

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวช่วงอายุ 10-30 ปีปรับลดลงมา 18-25 Bps ตามความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับลดลงแรงอีกครั้งหลังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้น โดยระหว่างเดือนอัตราผลตอบแทน 10 ปี ลดลงไปต่ำสุดที่ 1.19% ก่อนที่จะปิดสิ้นเดือนที่ 1.24% ในเดือนกรกฎาคม 2564 นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยลง 8.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.1 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยรวมประมาณ 9.15 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเร่งขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า จากเดิมที่ซื้อ 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ เพื่อชะลอการเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ประธาน ECB ย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะหยุดมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจาก ECB ยังห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะลดลง ECB คงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB จะการคงซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP ไปจนถึงมีนาคม 2022 ด้านประมาณการเศรษฐกิจ ECB ปรับขึ้นคาดการณ์ GDP โดยในปี 2021 คาดว่าจะขยายตัว 4.6%YoY จากเดิมที่คาด 4.0% ในปี 2022 คาดว่าจะขยายตัว 4.7%YoY จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1%YoY และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.9% จาก 1.5% เนื่องจากประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบน้อยลงต่อเศรษฐกิจ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลัก คือ (1) อัตราการฉีดวัคซีนที่เร่งเร็วขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (2) มาตรการกระตุ้นทางการคลัง และ (3) แรงหนุนการส่งออกจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐ รวมทั้งมาตรการทางการเงินจะช่วยจำกัดผลกระทบดังกล่าวได้

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด ด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ จะยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตราปัจจุบัน USD120bn ต่อเดือนเป็นอย่างน้อย แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล (Treasury) เดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (MBS) เดือนละ USD40bn โดย FED ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโดยหลักยังขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัส ซึ่งความคืบหน้าของวัคซีนจะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ อย่างไรก็ดี FED มีท่าที Hawkish ขึ้นอย่างมาก สะท้อนผ่านแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot ที่ชี้ว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ภายในปี 2023 จากเดิมที่จะคงดอกเบี้ยตลอดจนสิ้นปี 2023 โดยคณะกรรมการ 13 จากทั้งหมด 18 ท่าน มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน มี.ค.ที่มี 7 ท่าน ซึ่งในจำนวนนั้นมีคณะกรรมการถึง 11 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 นอกจากนี้ มีคณะกรรมการถึง 7 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่มี 4 ท่าน)

ในการประชุมวันที่ 23 มิ.ย. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาดการณ์ โดย กนง. ยังคงหนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังในปัจจุบัน และมุ่งเน้นไปยังการกระจายสภาพคล่องในวงกว้างมากขึ้น การประชุมมีประเด็นที่สำคัญคือ ด้านเศรษฐกิจ กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2021 และ 2022 ลงมาอยู่ที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ (vs.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงนโยบายการเงินเดิมตามคาดการณ์ของตลาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และมีมติ 8-1 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา GBP895bn อย่างไรก็ดี BOE จะลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์จาก GBP4.4bn/ สัปดาห์ เป็น GBP3.4bn/ สัปดาห์ โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของนโยบายการเงิน และยังไม่ลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินจนกว่าจะมีเครื่องยืนยันชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพและเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน BOE มองเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ท่ามกลางการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็วหนุนให้เศรษฐกิจน่าจะกลับมาเปิดทำการตามปกติได้นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ตามแผนการของรัฐบาล โดย BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นอย่างมากเป็น 7.25% จากที่คาด 5.0% ในเดือน ก.พ. และระบุว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 1/2022 ส่วนเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าเป้าที่ 2.0% (0.7%YoY เดือน มี.ค.) จากผลกระทบของ COVID-19 แต่คาดจะเร่งตัวขึ้นในระยะใกล้หลังผลกระทบดังกล่าวทยอยหมดไป โดยคาดจะขยายตัวเกินเป้าหมายชั่วคราวในช่วงปลายปีจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ และชะลอลงอยู่ใกล้เป้าหมายที่ 2.0% ในระยะกลาง

ทางด้านการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.8% MoM มากที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2009 ต่อเนื่องจาก 0.6% ในเดือนก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็น 4.2% YoY (2.6% เดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 จากผลของฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.6% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 0.9% MoM มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 ต่อเนื่องจาก 0.3% ในเดือนก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.3% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเป็น 3.0% YoY (1.6% เดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1996 จากผลของฐานต่ำ และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.3%

จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลง 3.4 หมื่นราย เป็น 4.73 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ในกลางเดือน มี.ค. 2020 และดีกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 4.90 แสนราย สะท้อนตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการเปิดทำการตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ รวมทั้งการฉีดวัคซีนและอุปสงค์ของผู้บริโภค ส่วนจำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง (Continuing Claims) ลดลง 4.5 หมื่นราย เป็น 3.66 ล้านราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. แย่กว่าคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อยที่ 3.65 ล้านราย ด้านผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกผ่านโครงการ Pandemic Unemployment Assistance (PUA) ที่ให้สวัสดิการพิเศษแก่ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิผ่านสวัสดิการแบบปกติ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและผู้รับเหมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.0 พันราย เป็น 1.04 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยหดตัว 2.6%YoY ใน Q1/2021 หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าตลาดคาด (-3.3%YoY) และหดตัวลดลงจากไตรมาสก่อน (-4.2%YoY) โดยยังคงมีปัจจัยฉุดหลักจากการท่องเที่ยว และการระบาดของไวรัสรอบใหม่กระทบการบริโภคในประเทศ สศช. ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2021 ลงมาขยายตัวที่ 1.5-2.5% (ค่ากลางที่ 2.0%) จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.5-3.5% (ค่ากลางที่ 3.0%) เนื่องจากการระบาดของไวรัสที่รุนแรงขึ้นในไทย และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้มองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 5 แสนคนในปีนี้ และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ทั้งนี้ กนง. ย้ำถึงการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศและการให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบที่สาม และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การประชุมมีประเด็นที่สำคัญคือ ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบที่สาม ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลง และการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวล่าช้าออกไป ขณะที่การส่งออกและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐถูกคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในเอกสารแนบท้าย ธปท. เผยว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัว 2% ในปีนี้ (+4.7% ในปี 2022F) หากภาครัฐสามารถจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสได้ตามเป้าภายในสิ้นปี ด้านเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวในไตรมาส 2 จากแรงหนุนของฐานที่ต่ำในปีก่อน ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ ธปท. ด้านสภาพคล่อง สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ากว่าภูมิภาค โดยจะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 6 เดือนปรับขึ้นเล็กน้อยจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยขายสุทธิประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.83 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงการผ่อนคลายทางการเงิน แต่ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันจะซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงมีนาคม 2022 ECB ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากกังวลว่าอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเร็วจะกระทบต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แถลงการณ์ระบุว่า ปริมาณซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ PEPP น้อยกว่าปกติในไตรมาสที่ 1 แต่ ECB มีแผนจะเพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาข้างหน้า นอกจากนี้ ประธาน ECB ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเสี่ยงหดตัวในไตรมาสที่ 1/2021 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จากการกระจายวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว โดย ECB คาดเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปีนี้ที่ 4.0% จาก 3.9% และ 1.5% จาก 1.0% ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงการผ่อนคลายทางการเงิน แต่ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันจะซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงมีนาคม 2022 ECB ส่งสัญญาณเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากกังวลว่าอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเร็วจะกระทบต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แถลงการณ์ระบุว่า ปริมาณซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ PEPP น้อยกว่าปกติในไตรมาสที่ 1 แต่ ECB มีแผนจะเพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาข้างหน้า นอกจากนี้ ประธาน ECB ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเสี่ยงหดตัวในไตรมาสที่ 1/2021 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จากการกระจายวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว โดย ECB คาดเศรษฐกิจและเงินเฟ้อปีนี้ที่ 4.0% จาก 3.9% และ 1.5% จาก 1.0% ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 0.1% และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 895 พันล้านปอนด์ ตามการคาดการณ์ของตลาด BOE มองเศรษฐกิจในระยะใกล้อ่อนแอลงจากประมาณการครั้งก่อนในเดือน พ.ย. จากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นและนำไปสู่การกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง (เป็นครั้งที่ 3) ซึ่งส่งผลกดดันเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2020 และต่อเนื่องมาสู่ไตรมาส 1/2021 ซึ่ง BOE คาดว่าจะหดตัว -4.2% QoQ อย่างไรก็ดีการแจกจ่ายวัคซีนคาดว่าจะทำให้มาตรการ Lockdown ผ่อนคลายลงในไตรมาส 2 รวมทั้ง ลดความกังวลของผู้คนในเรื่องไวรัส และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 อย่างรวดเร็วในช่วงที่เหลือของปี โดย BOE คาดว่าเศรษฐกิจปี 2021 จะขยายตัว 5.0% (vs.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2564

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องจนกว่าเสถียรภาพด้านราคาจะกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% โดยได้คงอัตราดอกเบี้ยและมาตรการซื้อสินทรัพย์ได้แก่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีใกล้ 0% รวมทั้งคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ทั้งพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นแบบไม่จำกัดคงวงเงินการเข้าซื้อ ETFs ที่ 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ที่ 1.8 แสนล้านเยนซื้อตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 20 ล้านล้านเยนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2021 นอกจากนี้ยังขยายเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อทั้งหมดออกไป 1 ปีเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องแก่ครัวเรือนและธุรกิจBOJ มองเศรษฐกิจดีขึ้นในปี 2021 โดยขยายตัว 3.9% จากเดิมที่ 3.6% ณเดือนตุลาคมอีกทั้งปรับขึ้นคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไม่รวมอาหารสดมาที่ 0.5% จาก 0.4% เนื่องจากมาตรการใช้จ่ายของภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมเป็นรอบที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคมมูลค่า 7.08 แสนล้านดอลลาร์ทำให้มีเม็ดเงินของภาครัฐเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจแล้วทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์และช่วยพยุงการบริโภคในประเทศขณะที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะออกมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนและมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโรโดย ECB ยืนยันว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงเดือนมีนาคม 2022นายคริสตินลาร์การ์ดประธาน ECB กล่าวว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีความเสี่ยงที่จะถดถอยซ้ำซ้อน (Double-dip Recession) ในไตรมาสที่ 4/2020 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ส่งผลให้รัฐบาลของนานาประเทศในภูมิภาคกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มขึ้นอย่างไรก็ตาม ECB ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจาก (1) การกระจายวัคซีนของประเทศต่างๆซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว (2) เม็ดเงินช่วยเหลือภายใต้กองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (3) การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและ (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯลดลงทั้งนี้ลาร์การ์ดมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามเป้าที่ 3.9% ในปี 2021

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาดด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ FED ยังคงระบุเช่นเดิมว่าจะเข้าซื้อที่อัตราปัจจุบัน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนเป็นอย่างน้อยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์และระบุจะเข้าซื้อจนกว่าจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่าการจ้างงานจะกลับเข้าสู่ระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายFED ระบุแนวโน้มเศรษฐกิจโดยหลักขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัสรวมถึงความคืบหน้าของวัคซีนวิกฤตครั้งนี้จะยังคงกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจการจ้างงานและเงินเฟ้อและยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับประเด็นการชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ตลาดให้ความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะหลังการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจไบเดนที่คาดว่าจะหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นแรงนั้นนายเจอโรมโพเวลประธาน FED กล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะเริ่มพิจารณาปรับเปลี่ยนการเข้าซื้อสินทรัพย์ได้โดยระบุว่าการมุ่งให้ความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวนั้นเร็วเกินไป

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น 1-10 Bps โดยรุ่นอายุ 15-21 ปีมีการปรับตัวขึ้นมากกว่ารุ่นอายุอื่นๆซึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากการปริมาณเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกที่มีการประมูลในเดือนนี้ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นมา 3-5 Bps จากการที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันเริ่มมีมุมมองที่แตกต่างกันว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนกุมภาพันธ์จะคงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยในขณะที่การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.9 พันล้านบาทซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 พันล้านบาทเมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วคงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.54 แสนล้านบาทหรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3 พันล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2563

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด และระบุว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ชี้ว่า FED จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย ซึ่งไม่แตกต่างจาก Dot Plot ครั้งก่อนในเดือน ก.ย. ด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ จะเข้าซื้อที่อัตราปัจจุบัน USD120bn ต่อเดือน เป็นอย่างน้อย โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล (Treasury) เดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (MBS) เดือนละ USD40bn และจะเข้าซื้อจนกว่าจะเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนว่าการจ้างงานจะกลับเข้าสู่ระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้นาย Jerome Powell ประธาน FED กล่าวภายหลังการประชุมว่า ไม่สามารถระบุเป้าชัดเจนได้ว่าอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อในระดับใดที่จะส่งผลให้ FED ปรับเปลี่ยนวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อเดือน โดยนาย Powell ระบุเพียงว่า ยังห่างไกลจากจุดนั้น ด้านประมาณการเศรษฐกิจ FED มีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยคาดว่า GDP ปี 2020 จะหดตัว -2.4% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนในเดือน ก.ย. ที่คาด -3.7% และคาด GDP ปี 2021 จะพลิกกลับมาขยายตัว 4.2% เพิ่มขึ้นจาก 4.0% ในประมาณการครั้งก่อน และคาดอัตราการว่างงานจะลดลงอยู่ที่ 5.0% ณ สิ้นปี 2021 (เทียบกับ 6.7% เดือน พ.ย.)

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และรักษาขีดความสามารถนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีอยู่จำกัดเพื่อใช้ในยามที่เหมาะสม ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ กนง. ปรับ GDP ปี 2020 ดีขึ้นเป็น -6.6% จาก -7.8% ผลจากการบริโภคและส่งออกที่ฟื้นตัว และมอง GDP ปี 2021 โตน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในรอบก่อนที่ 3.2% จาก 3.6% เนื่องจากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยที่ 5.5 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเดิม และประเมินว่าไทยจะสามารถเริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ในปี 2020 หลังมีการกระจายวัคซีน ขณะที่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในปี 2021 จะลดลงมาที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งต่ำกว่าปี 2019 ที่อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2022 จะขยายตัวได้ 4.8% ในเบื้องต้น ธปท. ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ว่าจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่นานนัก เนื่องจากสถานการณ์ยังควบคุมได้ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่า โดยจะพิจารณามาตรการลดการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตลอดทั้งเส้นปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาขายสุทธิในเดือนนี้ โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงขึ้นในไทยและในอีกหลายประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.24849%, 0.18690% และ 0.23614% ตามลำดับ ลดลงจากช่วงสิ้นเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.36447%, 0.39705% และ 0.49629% ตามลำดับ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 5.6 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 10.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.6 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2563

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% และระบุว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าประเมินว่าตลาดแรงงานอยู่ในระดับการจ้างงานเต็มอัตรา เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ล่าสุด (เดือน ก.ย.) ชี้ว่า FED จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังคงระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างน้อยในอัตราปัจจุบันที่ USD120bn ต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐเดือนละ USD40bn ถ้อยแถลงในรายงานการประชุมครั้งนี้ไม่แตกต่างจากการประชุมรอบก่อนในเดือน ก.ย. นัก โดยระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตอนต้นปีก่อน COVID-19 ส่วนอุปสงค์ที่อ่อนแอและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงก่อนหน้านี้ได้กดดันอัตราเงินเฟ้อ ด้านสภาวะทางการเงินยังคงมีความผ่อนคลาย ส่วนหนึ่งสะท้อนผลดีของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินกู้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยแนวโน้มของเศรษฐกิจต่อจากนี้ยังคงขึ้นอยู่กับพัฒนาการของ COVID-19 เป็นสำคัญ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยังกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมทั้งเงินเฟ้อในระยะใกล้ และนับเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด โดยแสดงความเห็นว่า GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวดีกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ สินเชื่อภาคธุรกิจที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วจากเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามายังภูมิภาคหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และข่าวดีของการพัฒนาวัคซีน และรายได้แรงงานยังอยู่ในระดับต่ำและเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคบริการ หลังจากนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ ธปท. ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศและการฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) จากเดิมที่มีแผนประกาศในช่วงต้นปี 2021 เพื่อลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า และจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระยะยาวมากกว่า

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัว -6.4% yoy ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -8.8% yoy และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน (-12.1% ไตรมาสก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. นอกจากนี้ สศช. ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้น จากเดิมคาด GDP หดตัวในช่วง -7.8% ถึง -7.3% ดีขึ้นเป็น -6.0% จากการคาดการณ์การบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นจากเดิมมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. นอกจากนี้ สศช. ยังได้คาดการณ์ว่า GDP ปี 2021 จะขยายตัวในช่วง 3.5%- 4.5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ ภาพรวมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตลอดทั้งเส้นมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขึ้นและลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับลดลงมากจากเดือนก่อนสืบเนื่องมาจากการเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3645%, 0.3971% และ 0.4963% ต่อปี ตามลำดับ ลดลงจากช่วงสิ้นเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.50%, 0.4894% และ 0.5478% ต่อปี ตามลำดับ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิประมาณ 31.8 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 10.4 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 24.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.83 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ