ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2562

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติเป็นเอกฉันท์ (9-0) คงนโยบายการเงินเดิมและอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด โดยแถลงการณ์หลังการประชุมระบุความเสี่ยงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนของ Brexit และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งผลให้ BoE ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงมากเป็น 1.2% YoY จาก 1.7% YoY ในประมาณการครั้งก่อนในเดือน พ.ย. 2018 ทางด้านเงินเฟ้อ BoE ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ลงเล็กน้อย เป็น 2.0% YoY โดยมองว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในระยะใกล้ตามการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ก่อนที่จะทยอยปรับขึ้นเกินเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ คณะกรรมการยังคงระบุว่าหากพัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ประเมินไว้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็มีความจำเป็นเพื่อให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ นาย Mark Carney ผู้ว่า BoE กล่าวว่าความไม่แน่นอนของ Brexit ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และมองความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU ไปแบบไร้ข้อตกลงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนาย Carney ได้กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP 4Q18 ขยายตัว +3.7% YoY ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด (+3.6% ตลาด, +3.2% ไตรมาสก่อน) จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัวเล็กน้อยหลังจากหดตัวในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2018 GDP ขยายตัว +4.1% YoY (+4.0% ปี 2017) อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งนำโดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว +5.3% YoY (+5.2% ไตรมาสก่อน) และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ +5.5% YoY (+3.8% ไตรมาสก่อน) การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัว +0.6% YoY หลังจากการหดตัวในไตรมาสก่อนที่หดตัว -0.9% YoY ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าในไตรมาสก่อน รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการชะลอตัวลงที่ +5.6% YoY (+11.0% ไตรมาสก่อน) สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ 3.5%–4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และสกุลเงินในภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นเพียง 158 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.9 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 14.33 พันล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยเฉพาะรุ่นอายุ 5-10 ปีขึ้นไปกลับปรับเพิ่มขึ้น 0.07-0.09% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นอายุยาวมาก เช่น รุ่นอายุ 48 ปีที่มีการประมูลในช่วงกลางเดือน ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม อัตราผลตอบแทนจากการประมูลจึงต่ำกว่า Indicative Yield ของวันก่อนหน้าการประมูล และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นใกใล้เคียงปรับลดลงตามด้วย

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2562

ในเดือนนี้มีทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองและการประชุมนโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน เช่น ที่ประเทศอังกฤษ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Theresa May รอดพ้นมติไม่ไว้วางใจ หลังจากที่ในวันก่อนหน้า ข้อตกลง Brexit ของรัฐบาลโหวตไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาด้วยเสียงต่างที่มากเป็นประวัติการณ์ (432-202 เสียง) ส่งผลให้แกนนำฝ่ายค้านเปิดมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยนายกฯ กล่าวว่าจะเร่งเดินหน้าหารือกับสภาเพื่อทำการแก้ไขข้อตกลง Brexit ให้เป็นไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงปลายเดือน สภาอังกฤษได้มีการอภิปรายและโหวตแนวทางการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งสภาได้โหวตไม่เห็นชอบการเลื่อนใช้มาตรา 50 (เพื่อออกจาก EU อย่างเป็นทางการ) ออกไปจากกำหนดวันที่ 29 มี.ค. นี้ แต่ได้โหวตเห็นชอบให้นายกฯ นำข้อตกลง Brexit เดิมกลับไปเจรจากับ EU อีกครั้ง เพื่อหามาตรการอื่นมาทดแทนมาตรการ “Backstop” ทั้งนี้ มาตรการ Backstop ได้กำหนดขึ้นมาในข้อตกลง Brexit เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงตามพรมแดนระหว่างประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก EU และไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (UK) เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม้ในกรณีที่อังกฤษและ EU ไม่สามารถสรุปข้อตกลงทางการค้าได้ทันในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period; 30 มี.ค. 2019-31 ธ.ค. 2020) บริเวณพรมแดนดังกล่าวจะไม่มีการตั้งด่านระหว่างกันขึ้น

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย โดยประธาน ECB ได้กล่าวว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ต่ำกว่าที่คาดค่อนข้างมาก อันเป็นผลจากทั้งอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงและความเสี่ยงเฉพาะในบางประเทศและบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าได้ส่งผลกดดันความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราค่าจ้างที่เร่งตัว จะยังหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง

ที่ประเทศสหรัฐฯ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25-2.50% ตามที่คาด และส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน โดยระบุว่าจะรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมถึงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายด้านงบดุล นอกจากนี้ Fed ยังระบุว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนขนาดและสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ ในงบดุล ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คาดและส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ นาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวหลังการประชุมว่าแม้ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ชะลอลง ความไม่แน่นอนของ Brexit การเจรจาการค้า รวมถึง Government Shutdown ที่กินระยะเวลา 5 สัปดาห์ ก็ได้ส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอน ซึ่งนาย Powell กล่าวว่า ควรรอให้สภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีความชัดเจนมากขึ้นก่อน ด้านการปรับลดขนาดงบดุล นาย Powell กล่าวว่าการลดขนาดงบดุลอาจสิ้นสุดเร็วกว่าที่คาด โดยที่งบดุลจะมีขนาดใหญ่กว่าที่เคยประเมินไว้ในตอนแรก เพื่อหนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 20.47 พันล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 13.03 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 7.88 พันล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนหลัง ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นมาแตะระดับที่ใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% โดยอัตราผลตอบแทนจากประมูลรุ่นอายุ 14 วันอยู่ระหว่าง 1.65-1.75% เฉลี่ย 1.71149%, รุ่นอายุ 91 วันอยู่ระหว่าง 1.72-1.74% เฉลี่ย 1.73557% และรุ่นอายุ 182 วันอยู่ระหว่าง 1.74-1.7760% เฉลี่ย 1.75736% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวกลับปรับลดลง 0.01-0.08% ตามทิศทางตลาดต่างประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยว่ามีโอกาสลดลง ตลอดจนความกังวลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่เป็นไปตามคาด

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2561

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศจะยุติมาตรการ QE ภายในปี 2018 ตามที่ตลาดคาด หลังจากดำเนินมาตรการนี้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี คิดเป็นมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย ECB จะยังทำการลงทุนต่อในพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ (Reinvestment) ยาวไปจนกว่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเป็นอย่างน้อย (ประมาณ 12 เดือน) เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบและเพื่อให้นโยบายการเงินยังมีความผ่อนคลายช่วยหนุนเศรษฐกิจ ก่อนที่จะทำการลดขนาดงบดุลลง ด้านอัตราดอกเบี้ย ECB ยังคงย้ำอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ที่ระดับต่ำนี้ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย หรือจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวใกล้เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนในระยะกลาง โดยขณะนี้ตลาดได้ชะลอคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ ECB ออกไปเป็นในไตรมาส 1 ปี 2020 ทางด้านเศรษฐกิจ ประธาน ECB กล่าวว่าความเสี่ยงมีเพิ่มมากขึ้นทั้งจากปัญหาการเมือง นโยบายกีดกันการค้า และความผันผวนในตลาดเงิน จึงปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้และปีหน้าลง เป็น 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ แต่มองว่าอุปสงค์ในประเทศยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวช่วยหนุนให้อัตราค่าจ้างเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติ 8-0 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 2.25-2.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี FED ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 3.0% (จาก 3.1%) และปี 2019 ปรับลงเป็น 2.3% (จาก 2.5%) แต่คงคาดการณ์ปี 2020 ไว้ที่ 2.0% และปี 2021 ที่ 1.8% ทางด้านเงินเฟ้อ ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้ลงเป็น 1.9% (จาก 2.0%) และปี 2019-2021 ลงเป็น 2.0% (จาก 2.1%) นอกจากนี้ FED ยังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลง 0.20% เป็น 2.8% ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของนาย Jerome Powell ประธาน FED ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่าอัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้ระดับปกติ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของ FED ในครั้งนี้ เป็นเพียงการปรับลดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดย FED ยังคงมองภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และย้ำว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าจะดูจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าภาคต่างประเทศจะชะลอลง กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินและสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2019 มีแนวโน้มชะลอลงเป็น +4.0% yoy จากที่คาดว่าจะขยายตัว +4.2% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยฉุดที่สำคัญจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยชดเชยภาคต่างประเทศที่ชะลอลง ทางด้านการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือน พ.ย. ชะลอตัวลงเป็น +0.94% yoy จาก +1.23% yoy ในเดือนก่อน และต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ +1.03% yoy ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอตัวลงเป็น +0.69% yoy จาก +0.95% yoy ในเดือนก่อน

ตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้มีทิศทางปรับตัวลงตลอดทุกช่วงอายุ ยกเว้นพันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีที่อัตราผลตอบแทนกลับปรับเพิ่มขึ้นหลังจากทราบผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับตัวลดลงตามทิศทางตลาดสหรัฐฯ ที่ในเดือนนี้มีความกังวลในหลายเรื่องทั้งปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง รวมถึงความเป็นไปได้ที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยลงกว่าแผนเดิม ทำให้ 10-Year US Treasury Yield ปิดสิ้นปีที่ 2.72% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32 bps โดยสรุปตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น 30-111 bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรของไทยปรับเพิ่มขึ้น 16-42 bps ยกเว้นรุ่นอายุ 10 ปี เป็นช่วงอายุเดียวที่ปรับลดลงจากปีก่อนหน้า ปิดสิ้นปีที่ 2.51% ลดลง 3 bps ในเดือนธันวาคมนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.11 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.58 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.86 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.34 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2561

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แถลงการณ์หลังการประชุมมีความกังวลถึงความเสี่ยงจากภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั้งจากเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอลง สถานการณ์ทางการเงินของประเทศในกลุ่ม Emerging Market ที่ตึงตัวขึ้น และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น ทั้งนี้ BOE ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงเป็น 1.3% yoy (จากเดิม 1.4%) และปีหน้าลงเป็น 1.7% yoy (จากเดิม 1.8%) จากการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอ ส่วนเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้ขึ้นเป็น 2.5% yoy (จากเดิม 2.3%) จากอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด และปรับลดคาดการณ์ปีหน้าลงเป็น 2.1% yoy (จากเดิม 2.2%) จากการเสนอให้มีการตั้งเพดานราคากลุ่มพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ส่วนกรณี Brexit ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และมองว่าการแยกตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการของอังกฤษ สามารถส่งผลต่อแนวทางการเปลี่่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบายได้ทั้งสองทาง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลของการเจรจา Brexit และการตอบสนองของภาคเอกชน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00-2.25% ตามที่ตลาดคาด โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่ง FED กล่าวถึงอัตราการว่างงานว่าได้ “ลดลง” จากเดิมที่กล่าวว่า “อยู่ในระดับต่ำ” (อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.7% ในเดือน ต.ค. ต่ำสุดในรอบ 49 ปี) อย่างไรก็ดี FED มองว่าการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่ขยายตัวแรงไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี ในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นปรับขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีขึ้นไปกลับลดลง จากความกังวลในหลายปัจจัย เช่น จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีอุปสรรคในการผ่านนโยบายต่าง ๆ, ในช่วงปลายเดือนราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงกว่า 6% สู่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำที่สุดในรอบปี จากความกังวลว่าตลาดน้ำมันดิบโลกจะเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกินในปีหน้าเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของความต้องการบริโภคน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการประชุม G20 ซึ่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจีนจะหารือเรื่องการค้าร่วมกัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะยังเดินหน้าปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์จาก 10% ขึ้นเป็น 25% ในปีหน้า

ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เป็นครั้งที่ 28 ติดต่อกัน โดยกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และการใช้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควรเป็นเวลานานจะส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาคการเงินต่ำไป นอกจากนี้ กนง. ยังคงมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจไทย คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายเพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทางด้านการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP 3Q18 ขยายตัว +3.3% yoy ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด (เทียบกับ +4.6% ไตรมาสก่อน) จากการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัว -0.1% yoy (เทียบกับ +6.8% ไตรมาสก่อน) ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัว +10.7% yoy (เทียบกับ +8.3% ไตรมาสก่อน) การส่งออกสินค้าหดตัว -0.2% yoy (เทียบกับ +7.4% ไตรมาสก่อน) จากผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่การส่งออกบริการขยายตัว +0.2% yoy (เทียบกับ +4.9% ไตรมาสก่อน) จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตและนักท่องเที่ยวยุโรปที่ลดลงในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยรวมปรับลดลงในทุกช่วงอายุทั้งจากตลาดแรกและการซื้อขายในตลาดรอง การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยแต่ละประเภทดังนี้ 14 วัน ที่อัตรา 1.3035%, 3 เดือนที่อัตรา 1.4025% และ 6 เดือนที่อัตรา 1.5635% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่อง แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.6 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.6 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.86 แสนล้าน ซึ่งเป็นยอดถือครองสูงสุดในรอบปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.3 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติคงนโยบายการเงิน และคาดว่าจะยุติมาตรการ QE ในสิ้นปีนี้ โดยประธาน ECB แถลงว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้นโยบายการเงินยังคงมีความผ่อนคลายต่อไปแม้มาตรการ QE จะสิ้นสุด และอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ส่วนประเด็นร่างงบประมาณของอิตาลี ประธาน ECB ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า EU และอิตาลีจะหาทางแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณร่วมกันได้ แต่มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่า ECB จะไม่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ไม่ปฎิบัติตามกฎของ EU เด็ดขาด ทางด้านเงินเฟ้อ ECB ยังคงมุมมองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง จากสภาพตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราค่าจ้างเร่งตัวขึ้น

ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีเพียงการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ที่ยืนยันสิ่งที่ตลาดคาดไว้ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2019 นอกจากนี้ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ประจำเดือนก.ย. ที่เปิดเผยออกมา ส่วนใหญ่ส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง เช่น การจ้างงานภาคเอกชนสำรวจโดย ADP เพิ่มขึ้น 2.3 แสนราย จาก 1.68 แสนรายในเดือนก่อน โดยนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือนและมากกว่าที่ตลาดคาดไว้, อัตราการว่างงาน ลดลงเป็น 3.7% จาก 3.9% ในเดือนก่อน นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ย. จะทรงตัวที่ +0.1% mom เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดก็ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ นำมาซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะรุ่น 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับ 3.23% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างอิตาลีและสหภาพยุโรป, ประเด็นการค้าระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐ ได้กดดันให้ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน อัตราผลตอบแทนของ 10-Year US Treasury ในเดือนนี้จึงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 3.08-3.23%

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ย. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเป็น +1.33% yoy (เทียบกับ +1.62% เดือนก่อน, +1.23% ตลาดคาด) จากราคาพลังงานเริ่มชะลอลง และราคาอาหารสดที่กลับมาหดตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ +0.8% yoy (เทียบกับ +0.75% เดือนก่อน, +0.71% ตลาดคาด) ด้านความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้มีทิศทางปรับตัวขึ้นชัดเจน สาเหตุจากนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยอาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ตามทิศทางของประเทศสำคัญคือสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยืนยันการผ่อนคลาย QE และ/หรือกำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน, 6 เดือน และประมาณ 1 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดของเดือนที่ 1.3150%, 1.5830%, 1.7465% และ 1.8059% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก.ย. ที่ 1.1118%, 1.4000%, 1.5902% และ 1.7833% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวก็มีทิศทางปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศเช่นกัน แต่เนื่องจากยังคงมีความต้องการจากผู้เล่นในตลาดอยู่มาก จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นไม่มากนัก ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 3.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติให้ปรับลดอัตราการเข้าซื้อต่อเดือนลงเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรในไตรมาสสุดท้ายของปี จากปัจจุบันที่เข้าซื้อ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และคาดว่ามาตรการ QE จะยุติหลังจากนั้น โดย ECB จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) ECB ยังคงย้ำว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำนี้ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ในการประชุมรอบนี้ ECB ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2018-2019 ลง -0.1pp เป็น +2.0% YoY และ +1.8% YoY ตามลำดับ และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2019-2020 ลง -0.1pp เป็น +1.5% YoY และ +1.8% YoY ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ECB คงประมาณการปี 2018-2020 ไว้ที่ +1.7% YoY โดยนาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับความเสี่ยงจากภายนอก ทั้งนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของ Brexit เนื่องจากตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างได้เร่งตัวขึ้น ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด หลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน แถลงการณ์หลังการประชุมระบุถึงความเสี่ยงจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความผันผวนในประเทศตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ Brexit ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งได้ส่งผลกดดันการลงทุนของภาคธุรกิจ ทางด้านเงินเฟ้อ ผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นและอัตราค่าจ้างที่เร่งตัว (ค่าจ้างเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.9% YoY สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี) จะส่งผลให้เงินเฟ้อปีนี้ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ที่ 2.3% YoY)

ต่อมาช่วงปลายเดือนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 8-0 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 2.00-2.25% ตามคาด โดยประเมินว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเป็น 3.1% (จาก 2.8%) และปี 2019 ปรับขึ้นเป็น 2.5% (จาก 2.4%) และคงคาดการณ์ปี 2020 ไว้ที่ 2.0% ส่วนปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็น 1.8% ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ Fed คงคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้ไว้ที่ 2.0% และคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2019 และ 2020 ไว้ที่ 2.1% ส่วนค่ากลางของ Dot Plot ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 5 ครั้ง ไปจนสิ้นสุดที่ 3.4% ณ สิ้นปี 2020 (ปีนี้อีก 1 ครั้ง; ปี 2019, 3 ครั้ง; ปี 2020, 1 ครั้ง) และจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 3.4% ไปจนถึงปี 2021 โดยในการประชุมรอบนี้ จำนวนกรรมการที่คาดว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นได้ทั้งหมด 4 ครั้งในปีนี้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ท่าน จากการประชุมครั้งก่อนที่ 8 ท่าน (ออกเสียงทั้งหมด 16 ท่าน) สะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค.ที่ค่อนข้างแน่นอน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2560

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐรอบสุดท้ายของปีนี้ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในปี 2561 และ 3 ครั้งในปี 2562 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐปี 2560 เป็น 2.5% จากเดิมที่ 2.4% ส่วนในปี 2561, 2562 และ 2563 อยู่ที่ระดับ 2.5%, 2.1% และ 2.0% ตามลำดับ และมองว่าอัตราการขยายตัวในระยะยาวจะอยู่ที่ระดับ 1.8% แม้เฟดจะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายต่อไป จึงเป็นไปได้ว่าเฟดอาจไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก ทางด้านปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและราคาสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ความวิตกเกี่ยวกับความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์และความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล, การอนุมัติกฎหมายปฏิรูปภาษีโดยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% มีผลบังคับใช้ในปีหน้า, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 0.4% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์, เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.2% จากไตรมาสก่อน ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์มองไว้ที่ 3.3% เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญอื่นในเดือนนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม และยืนยันการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนที่ลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโร เริ่มเดือนม.ค.-ก.ย. ปีหน้า สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้ปรับเพิ่มการเติบโตเป็น 2.4% จาก 2.2% คงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.5% และปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2561 จาก 1.8% เป็น 2.3% และอัตราเงินเฟ้อจาก 1.2% เป็น 1.4%, ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยมองว่าในอนาคตการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ และต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศรวมถึงพัฒนาการเงินเฟ้อ นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค

ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ 32.659 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารจากธนาคารแห่งประเทศไทย) อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่แข็งค่าขึ้นกว่า 8.8% ในปีนี้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลรวม 17.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.7 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.3 พันล้านบาท และหักพันธบัตรที่ครบกำหนดจำนวน 2.06 หมื่นล้านบาท ทางด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นเดือน แต่กลับลดลงมามากในช่วงปลายเดือนจากแรงซื้อนักลงทุนสถาบัน ประกอบกับสภาพตลาดที่ค่อนข้างเงียบเนื่องจากเข้าใกล้วันหยุดยาว ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.0881%, 1.1301% และ 1.3458% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในระหว่างเดือนมีการปรับตัวขึ้นตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.02-0.14% อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดการเงินและมุมมองของตลาดตราสารหนี้ไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงมาในช่วงปลายเดือน สรุปการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2560 ได้ดังตาราง ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุไม่เกิน 20 ปีปรับลดลงมา 0.11-0.42% ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่อัตราผลตอบแทนในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปีปรับเพิ่มขึ้น 0.03-0.92% อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินและความคาดหวังต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2560

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในปีหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่า FOMC น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้เสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยเลนที่จะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดมองว่านายเจอโรม พาวเวล มีความเห็นไม่ต่างจากนางเจเน็ต เยเลน มากนัก และสนับสนุนการผ่อนคลายกฏระเบียบในสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ว่าจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่อาจไม่ผ่านวุฒิสภา โดยเฉพาะข้อกังวลการขาดดุลงบประมาณ การประกันสุขภาพ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากผลประโยชน์ทางภาษี ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากประเทศในกลุ่มยุโรป ได้แก่ เยอรมนี, สเปน และอิตาลี ตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.1% นอกจากนี้ธนาคารกลางอังกฤษได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.50% และคงวงเงิน QE ไว้ที่ระดับเดิมที่ 435 พันล้านปอนด์ แต่ไม่ได้บอกเป็นนัยว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายปีหน้า ลงเหลือ 2.4% จาก 2.5%

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม โดยสศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.7% และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ 3.6-4.6% ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อของไทย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. +0.86% yoy เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.86% yoy ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน +0.58% yoy สูงกว่าเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ +0.53% yoy จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ของปีนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามความคาดหมายและเนื้อหาในรายงานการประชุมแทบไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้แตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบปีที่ระดับ 32.48 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายเดือน เป็นผลมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี โดยในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลสุทธิสูงถึง 4.15 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้นเกือบ 6 หมื่นล้านบาท, ขายพันธบัตรระยะยาว 1.46 หมื่นล้านบาท และหักพันธบัตรที่ครบกำหนดเพียง 2.85 พันล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในตลาดแรกออกมาต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายมาก โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน ผลการประมูลอยู่ในช่วง 0.99-1.002%, อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 0.99991% และ Bid Coverage Ratio 1.50 ส่วนรุ่นอายุ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี อัตราผลตอบแทนปรับลดลงเช่นกัน กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ 1.0352%, 1.3001% และ 1.3878% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นเกิดแรงเทขายในตลาด ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในตลาดรองและการประมูลในตลาดแรกกลับปรับตัวขึ้นมา นอกจากนี้ ในเดือนนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (BSwitching) สำหรับปีงบประมาณ 2561 เป็นครั้งแรก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดยอดหนี้คงค้างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB196A และออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ทดแทนจำนวน 4 รุ่น ได้แก่ LB22DA, LB26DA, LB366A และ LB676A ครบตามวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในตลาดเป็นอย่างดี มีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมเสนอแลกรวมเป็นจำนวนถึง 19,591 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยรวมจึงปรับตัวขึ้นมา 0.01-0.08% ยกเว้นรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไปซึ่งไม่ค่อยมีปริมาณเสนอขายในตลาด อัตราผลตอบแทนจึงปรับลดลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2560)

ตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐได้รับอิทธิพลจากข่าวและข้อมูลเศรษฐกิจต่าง ๆ ในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็น นายเจอโรม พาวเวล ว่าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภาว่าจะสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป และพร้อมที่จะผลักดันให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบอันเข้มงวดในระบบการเงิน นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกันซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะทำงานพิจารณาต่อไป เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ 3.3% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลทั้งจากการบริโภค การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนจากภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะในรุ่น 10 ปีปรับขึ้นจากช่วงต่ำสุดในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.32% มาแตะระดับ 2.42% ในสัปดาห์นี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ย. โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.99% yoy เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.86% yoy ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.61% yoy เที่ยบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.58% yoy ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยรวมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 844 ล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรระยะสั้น 1.46 พันล้านบาทและซื้อพันธบัตรระยะยาว 617 ล้านบาท นอกจากนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (BSwitching) ในปีงบประมาณ 2561 เป็นครั้งแรก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดยอดหนี้คงค้างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB196A และออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ทดแทนจำนวน 4 รุ่น ได้แก่ LB22DA, LB26DA, LB366A และ LB676A ครบตามวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในตลาดเป็นอย่างดี มีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมเสนอแลกรวมเป็นจำนวนถึง 19,591 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 พฤศจิกายน 2560)

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐล่าสุด เปิดเผยว่ากรรมการบางท่านได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แม้อัตราการว่างงานจะปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี โดยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่บ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ในเดือนกันยายน ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ร้อยละ 2 ดังนั้นจึงเห็นว่า FED ควรดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม นอกจากนี้ สศช. ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.7 และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.6-4.6

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ในรอบสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 3.36 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.47 หมื่นล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.09 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นมาบ้าง เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการทำธุรกรรม Bond Switching ทำให้บางสถาบันการเงินมีการปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรเพื่อรองรับธุรกรรมดังกล่าว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นในบางรุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยจากการประมูลตลาดแรกรุ่นอายุ 14 วัน 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ที่ 1.2075%, 1.2640% และ 1.4079% ตามลำดับ