ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 กุมภาพันธ์ 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศในปีนี้ทั้งฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และอิตาลี รวมถึงกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดการซื้อพันธบัตรรายเดือนลงด้วย ทำให้ค่าเงินยูโรปรับตัวลงต่ำสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ ส่วนตลาดสหรัฐฯ ได้รับปัจจัยหนุนจากเรื่องดังกล่าว ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่ออกมาดี เช่น ยอดผู้รับเงินชดเชยการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าที่คาดไว้, การขาดดุลการค้าเดือนธ.ค. ปรับลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะประกาศแผนภาษีครั้งใหญ่ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทำให้ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ

ทางด้านตลาดการเงินของไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่องและพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ส่วนการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดรอง อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 26.22 พันล้านบาท และ 1.98 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560 )

ผลการประชุมนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ -0.1% คงอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และมีมุมมองว่าเศรษฐกิจมีการพัฒนาที่ดีเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงหลักจากนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50-0.75% โดยได้แสดงมุมมองในด้านบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในระยะกลางใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% และเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับปานกลาง และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยและคงวงเงินซื้อพันธบัตรไว้เท่าเดิม มีกรรมการบางท่านกังวลถึงการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อบ้าง และยังมองความเสี่ยงหลักเป็น Downside Risk จาก Brexit

ความกังวลถึงความไม่แน่นอนจากผลของนโยบายใหม่จากประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น คำสั่งพิเศษเพื่อระงับการผ่านเข้าประเทศสหรัฐฯ ของพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเป็นเวลา 90 วัน / ห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 120 วัน / การประชุมกับตัวแทนระดับสูงของธนาคารในสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ภาคการเงิน เป็นต้น ทำให้นักลงทุนในตลาดต่างประเทศหันมาถือทองและพันธบัตร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงปรับตัวลงบ้างตามตลาดต่างประเทศ ยกเว้นในรุ่นอายุประมาณ 10 ปีที่มีการประมูลในวันพุธและอัตราผลตอบแทนที่รับสูงกว่าตลาดรอง ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งสัปดาห์ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 17.33 พันล้านบาทและ 6.55 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (23 – 27 มกราคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าของแผนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษซึ่งรัฐบาลประกาศจะชี้แจงรายละเอียดของแผน หลังจากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรปเพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ทางด้านตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี ทรัมป์ เริ่มพูดถึงรายละเอียดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น อาจจะมีการผ่อนคลายกฎสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และสิทธิพิเศษทางภาษี ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในสัปดาห์นี้แย่กว่าที่คาด เช่น GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวที่ 1.9% ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 2.2%, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกมากกว่าค่าเฉลี่ย และยอดขายบ้านใหม่เดือนธ.ค. 59 ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อมาตรการของรัฐบาลที่จะเอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน และรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทใหญ่หลายแห่งออกมาดี ทำให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวขึ้น และส่งผลกระทบต่อตลาดเงินของประเทศอื่นให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันด้วย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ 0.02-0.12% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกในรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งถูกรับประมาณ 31 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 35 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.10% สำหรับตลาดรองตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 25 ล้านบาทและ 5.5 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (16 – 20 มกราคม 2560 )

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลัก ๆ (Sovereign Bond Yield) เคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบตามหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษแถลงรายละเอียดของแผนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยระบุว่า อังกฤษจะหาทางทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งยังระบุด้วยว่าจะทำให้อังกฤษกลับมามีอำนาจใช้กฏหมายของประเทศโดยการถอนตัวออกจากศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) และจะทำให้อังกฤษสามารถควบคุมการเข้าประเทศของชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากยุโรป ซึ่งจะใช้หลักการเจรจา 4 ข้อ ได้แก่ ความแน่นอนและความชัดเจน การทำให้อังกฤษมีความแข็งแกร่งขึ้น การทำให้อังกฤษมีสภาพที่ดีขึ้น และการทำให้อังกฤษมีความเป็นระดับโลกอย่างแท้จริง ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.00% ตามความคาดหมาย พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ นอกจากนี้ จะยังคงดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์วงเงิน 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. และหลังจากนั้นจะซื้อสินทรัพย์วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ และเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างเฝ้ารอคือ การกล่าวสุนทรพจน์หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ซึ่งได้ย้ำจุดยืนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในด้านการค้า ภาษี ประเด็นคนเข้าเมือง และกิจการต่างประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ มากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวขึ้นลง 0.01-0.03% โดยยังคงมีความต้องการซื้อพันธบัตรระยะสั้นไปจนถึงรุ่นอายุประมาณ 6 ปี ซึ่งการเปิดประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 5.5 ปี (Re-open) ในวันพุธได้รับความสนใจซื้อจากนักลงทุนเต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท และใช้ Greenshoe Option ไปอีก 4,870 ล้านบาท โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 7.69 พันล้านบาทและ 16.31 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (9 – 13 มกราคม 2560 )

ตลาดเงินของประเทศหลัก ๆ ค่อนข้างผันผวนและค่าเงินปรับตัวลดลง ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ ออกมาพูดในเชิงว่าจะเริ่มกระบวนการ Hard Brexit ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ส่วนตลาดสหรัฐฯ มีทั้งการออกมาให้สัมภาษณ์ของสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินหลายท่านที่ค่อนข้างเห็นไปในแนวทางเดียวกันในเรื่องความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2-3 ครั้ง รวมถึงความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มองว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวได้ดี ตลาดแรงงานดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ไม่ได้มีนัยยะใหม่ ๆ ให้กับตลาด นอกจากนี้ ตลาดค่อนข้างผิดหวังกับการแถลงข่าวครั้งแรกของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายด้านการคลังและนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน และ US Treasury Yield ปรับตัวลงมา

อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยก็ปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นโดยเฉพาะรุ่นอายุต่ำกว่า 3 เดือน อัตราผลตอบแทนปรับลดลง 0.03-0.04% เนื่องจากจำนวนพันธบัตรระยะสั้นในตลาดรองมีไม่เพียงพอต่อความต้องการนับตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติในรุ่นอายุประมาณ 5 ปี โดยรวมตลอดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวน 1,421 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวจำนวน 5,248 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (4 – 6 มกราคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (Fed) ที่ประชุมในเดือนธันวาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการยังคงเน้นว่าในปีนี้การขึ้นดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป และกังวลเรื่องค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้คณะกรรมการจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของเศรษฐกิจจากผลของการดำเนินนโยบายการคลัง ในขณะเดียวกันมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจออกมาซึ่งมีทั้งดีขึ้นและน้อยกว่าที่คาด เช่น ดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวขึ้น 1.5% มาที่ระดับ 54.7 ในเดือนธ.ค. โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.2 ในเดือนพ.ย. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้, อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% สูงขึ้นเล็กน้อยจากในเดือนพ.ย. ที่ 4.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี

ทางด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยในสัปดาห์แรกของปี การประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอัตราผลตอบแทนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังตัวกลาง ๆ บ้าง เช่น รุ่นอายุประมาณ 5 ปี โดยรวมตลอด 3 วันทำการ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวน 1,693 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวจำนวน 196 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 ธันวาคม 2559 )

ตลาดต่างประเทศในสัปดาห์สุดท้ายของปี ช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากการที่สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นเป็น 113.7 จากระดับ 109.4 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของภาคธนาคารอิตาลี และการเจรจาเรื่องการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์มีแรงขายดอลลาร์สหรัฐออกมาบ้างจากความต้องการทำกำไรก่อนช่วงหยุดเทศกาล

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลงมา 0.01-0.05% เนื่องจากปริมาณพันธบัตรในตลาดรองมีจำนวนน้อย ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยงดการประมูลพันธบัตรระยะสั้นรุ่นอายุ 14 วัน ถึง 6 เดือนที่ปกติจะจัดให้มีการประมูลสัปดาห์ละครั้ง สำหรับพันธบัตรระยะยาว อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาเช่นกันโดยเฉพาะรุ่นอายุประมาณ 10 ปี เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งปี 2559 พบว่าซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 289.24 พันล้านบาทและ 41.69 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสรุปเป็นยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 638 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 571 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (19 – 23 ธันวาคม 2559 )

ความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% และคงอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ส่วนทางตลาดสหรัฐฯ ประธานธนาคารกลาง (FED) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ระบุว่า ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.3% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการณ์ครั้งที่สองที่ 3.2% การขยายตัวดังกล่าวหนุนโดยการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างและสินค้าเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นต้วของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าคู่ค้าคู่แข่งสำคัญโดยรวมซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดีแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด

ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากกระแสการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าในอัตราที่รวดเร็วว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ การซื้อขายยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยเนื่องจากเข้าใกล้วันหยุดเทศกาล โดยรวมอัตราผลตอบแทนจึงปรับตัวขึ้นต่อ 0.01-0.09% และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2.42 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.41 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 16 ธันวาคม 2559 )

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% เป็นระดับ 0.50-0.75% และให้ความเห็นว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้งในปีหน้า จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 2 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจด้วยการปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ขึ้นเป็น 1.9% จาก 1.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 เป็น 2.1% จาก 2.0% เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ (US Dollar Index) แตะระดับ 103.11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี และอัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับตัวขึ้นต่อ โดย 10-Year และ 30-Year US Treasury Yield แตะระดับ 2.60% และ 3.19% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย การซื้อขายค่อนข้างเบาบาง อัตราผลตอบแทนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรระยะสั้น โดยเฉพาะรุ่นอายุน้อยกว่า 3 เดือนอัตราผลตอบแทนจากการประมูลปรับเพิ่มขึ้นมาจนเข้าใกล้ระดับดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5.5 ปีให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดรอง จึงมีส่วนผลักดันให้เส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นต่อ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 5.1 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 3.01 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 9 ธันวาคม 2559 )

ตลาดต่างประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินโดยเฉพาะค่าเงินยูโรมีความผันผวน หลังจากผลการลงประชามติของอิตาลีบ่งชี้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินตามที่นักวิเคราะห์คาด โดยคงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ Refinancing (MRO) ที่ 0% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.40% นอกจากนี้ยังขยายเวลาโปรแกรมการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์จากเดิมที่จะหมดอายุในเดือนมีนาคมปีหน้า ไปยังมีผลไปจนถึงเดือนธันวาคมปีหน้าหรือนานกว่านั้นหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ECB ได้ปรับลดอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ลงเหลือ 60 พันล้านยูโรต่อเดือน จากเดิมที่ระดับ 80 พันล้านยูโรต่อเดือน ส่วนตลาดสหรัฐฯ นักลงทุนให้ความสนใจไปยังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจและความเห็นต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า

US Treasury Yield ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่น 2 ปีและ 10 ปีปิดที่ระดับ 1.15% และ 2.49% ตามลำดับ ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างเงียบ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 15 ปี มีผู้สนใจเสนอซื้อประมาณ 8 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 15 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 1.79 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 823 ล้านบาท