ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 เมษายน 2560 )

ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในต่างประเทศ เช่น การที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ ได้ประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งจะจัดให้มีในวันที่ 8 มิ.ย. ปีนี้ /การเฝ้ารอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันอาทิตย์ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์และหันไปถือครองสกุลเงินที่มีความปลอดภัย โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ 6 สกุลเงินอื่นต่อดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่า 100 อีกครั้ง นอกจากนี้ ตลาดสหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมี.ค. ลดลง 0.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ระบุว่าเศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นต้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมาเล็กน้อยในรุ่นอายุมากกว่า 10 ปี ในขณะที่การประมูลตลาดแรกของพันธบัตรระยะสั้นยังได้รับการตอบรับที่ดี อัตราผลตอบแทนปรับลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.03% นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 2.66 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 274 ล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.38 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (10 – 12 เมษายน 2560 )

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 นั้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการจ้างงานเต็มที่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละ 2 ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะร้อนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินตลาดทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐยิงขีปนาวุธไปยังซีเรีย เนื่องจากมีข้อมูลว่าประธานาธิบดีซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีร้ายแรงโจมตีกลุ่มกบฏในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และมีสัญญาณว่าเกาหลีเหนืออาจโจมตีสหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury ปรับลดลงมาแตะระดับ 2.20% ต่อปี เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ซื้อขายระหว่าง 2.31-2.38% ต่อปี ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาบ้าง แต่โดยรวมค่อนข้างเงียบ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 3.7 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.5 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 194 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 เมษายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์นี้ มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งที่ดีและแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 57.2 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 57.7 ในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.0 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 94 ทั้งนี้ดัชนีที่เหนือระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิต/ ยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานที่ 234,000 รายซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้/ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่ระดับ 263,000 รายดีกว่าที่คาดไว้ที่ 187,000/ การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 98,000 รายซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 180,000 ราย เนื่องจากพายุฤดูหนาวทำให้การจ้างงานภาคก่อสร้างและภาคบริการชะลอลง เป็นต้น ในระหว่างสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลงต่อก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากรายงานการประชุมของ FED ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า กรรมการบางท่านคิดว่าราคาของตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับลดขนาดงบดุลลงก่อนสิ้นปี หากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยถือเป็นการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เคยใช้ในช่วงวิกฤติการเงิน ในขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมี.ค. ในเชิงสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป โดยยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในยุโรป

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.01-0.05% ทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงท้ายสัปดาห์การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมา 0.10% มาอยู่ที่ 1.37% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.47% จากจำนวนพันธบัตรระยะสั้นในตลาดรองที่ลดลงมามาก และยังคงมีเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจากช่วงปลายเดือนมี.ค. ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวจำนวน 9.89 และ 10.36 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 – 31 มีนาคม 2560 )

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากตลาดมีมุมมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจากนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ทรัมป์ ลดลง หลังจากที่ไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพแบบใหม่ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ นำไปสู่การคาดหวังว่าความถี่ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED อาจจะลดลงด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด ได้แก่ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2% และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 เป็นเติบโต 3.4% จากเดิม 3.2% ในขณะที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 1.5%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.15% โดยเฉพาะรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีกระแสเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาซื้อ และตารางปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะยาวในไตรมาสหน้าที่ลดลง รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตารางการเสนอขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายนที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินระยะสั้น ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว จำนวน 5.98 และ 11.29 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 มีนาคม 2560 )

ตลาดการเงินยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของสหรัฐที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะคุมเข้มนโยบายในอัตราที่เร็วขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า แม้แต่การกล่าวแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงช่วงเวลาและความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ นอกจากนี้ตลาดยังกังวลกับแนวโน้มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ หลังจากพรรครีพับลิกันถอนร่างกฎหมายประกันสุขภาพออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุน และกังวลต่อถึงอุปสรรคในมาตรการที่ตลาดฝากความหวังไว้สูง เช่น แผนปฏิรูปภาษีและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับลดลงมา หลังจากขึ้นไปแตะระดับ 2.62% ในช่วงสัปดาห์ก่อนการประชุม FOMC โดย US Treasury 10-Year ปรับลดลงมาต่ำกว่า 2.40% สะท้อนความไม่เชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อย 0.01-0.02% เนื่องจากมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ ประมาณ 10 ปี และนักลงทุนสถาบันรอตารางการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลสำหรับไตรมาสหน้า และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 12.8 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 877 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 17 มีนาคม 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9-1 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ โดย FOMC ระบุว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตได้ดี การขยายตัวของการจ้างงานแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังคงประมาณการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินตามที่คาดการณ์ และยังมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์

จากผลการประชุมนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ นักลงทุนต่างคลายความกังวลเนื่องจาก FED ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีแรงซื้อเข้ามายังตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจึงปรับลดลง ซึ่งตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีทิศทางเช่นเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง 0.01-0.06% โดยเฉพาะในรุ่น 2-15 ปี ที่มีการซื้อขายกันมาก และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิบ้าง โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 944 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 4.66 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 มีนาคม 2560)

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นในตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. โดย ADP ที่แตะระดับ 298,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 187,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเอกชนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2014 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแตะระดับ 2.60% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.4% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ขณะเดียวกัน ECB ได้ประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงสิ้นเดือนมี.ค ก่อนที่จะปรับลดลงสู่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ธ.ค. โดยการปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่ ECB เคยประกาศไว้ในการประชุมเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากแรงหนุนเงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์นี้ ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการเติบโต ซึ่งส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้น ค่าเงิน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ กล่าวคือ กรรมการ FOMC หลายท่านออกมาให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย และประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจเน็ต เยลเลน ออกมาย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้มีความเหมาะสม เหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยประกาศแผนงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค แผนการปรับลดภาษีสำหรับชนชั้นกลางและปฏิรูประบบภาษีให้บริษัทสหรัฐสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้มากขึ้น ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโต เช่น ยอดผู้เข้ารับรัฐสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ / ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.9% แม้จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในรายละเอียดประกอบไปด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้าง

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้นได้สะท้อนมุมมองดังกล่าว ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับมีการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5 ปีในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีนักลงทุนถือครองมาก ทำให้มีแรงขายออกมาจากความกังวลถึงความเคลื่อนไหวในอัตราผลตอบแทนตามสหรัฐ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.08% โดยเฉพาะในช่วงกลางของเส้นอัตราผลตอบแทน และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 8.3 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยรุ่นอายุประมาณ 10 ปีลดลงมาอยู่ที่ 2.31% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.41% ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น รายงานการประชุมล่าสุดของเฟดที่ไม่ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนการคาดการณ์เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป, ประเด็นการเมืองในฝรั่งเศส และสัญญาณล่าสุดจากรัฐบาลสหรัฐที่ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไป ในขณะที่ตลาดเฝ้ารอการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 28 ก.พ. และสุนทรพจน์ของประธานเฟดในวันที่ 3 มี.ค.

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกรุ่นอายุประมาณ 30 ปี จำนวน 12,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน ส่วนตลาดรองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.01-0.05% ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นการซื้อสุทธิ โดยซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.66 พันล้านบาทและ 1.15 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (14 – 17 กุมภาพันธ์ 2560)

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้แถลงต่อสภาคองเกรส โดยแสดงมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และยืนยันถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้แต่ไม่ได้บอกช่วงเวลาที่ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการ FOMC จะประเมินดูการจ้างงานและเงินเฟ้อว่าปรับตัวสอดคล้องกับระดับการคาดการณ์เป็นครั้งไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ประกาศออกมาและส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี / จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด เป็นต้น ประกอบกับความเคลื่อนไหวในเชิงบวกจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปรับลดภาษีและลดกฏระเบียบในภาคอุตสาหกรรม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ แต่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (US Treasury Yield) ปรับตัวขึ้นมาจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตลาดแรกรุ่นอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งได้รับความสนใจมากจากนักลงทุน เนื่องจากอยู่ในช่วง Yield Curve ที่ชันมากและปริมาณที่มีน้อย อัตราผลตอบแทนโดยรวมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 139 ล้านบาทและ 4.83 พันล้านบาทตามลำดับ