ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (2 – 5 พฤษภาคม 2560 )

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด โดยเฟดระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกที่ผ่านมาซึ่งย่ำแย่นั้นเป็นเพียงระยะสั้น เศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ในระดับปานกลางท่ามกลางตลาดแรงงานที่ดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าใกล้เคียง 2% ในระยะกลางตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. ปรับตัวดีขึ้นเกินคาดที่ระดับ 211,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงมาที่ 4.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2007 ทางด้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครอง ซึ่งเป็นนักการเมืองสายกลางได้รับชัยชนะไปตามความคาดหมาย จึงลดความเสี่ยงด้านการเมืองของยูโรโซนลง

หลังผลการประชุมเฟดและการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า (เดือนมิ.ย.) มาที่เกือบ 80% และ 10-Year US Treasury Yield ในวันศุกร์ปรับขึ้นมาที่ระดับ 2.35% จากวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 2.28% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย พันธบัตรรุ่นอายุ 15-20 ปีอัตราผลตอบแทนกลับปรับลดลง นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 8.8 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 1.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 7.1 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (2 – 5 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 1,563 – 1,574 จุด เป็นสัปดาห์ที่สามของการประกาศงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1 กำไรที่ออกมานั้นโดยส่วนใหญ่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ พร้อมทั้งในช่วงกลางสัปดาห์ กระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อผลักดันการขยายตัวของ GDP โดยเน้นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม SET Index ยังถูกกดดันโดยหุ้นกลุ่มพลังงานจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมัน WTI ปิดที่ $46.22 ต่อบาร์เรล (-6.3% WoW) จากแรงกดดันของการเปิดเผยตัวเลขสต๊อก น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ การประชุม FOMC ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามที่นักวิเคราะห์คาด ทำให้นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์ ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นเป็น 90% FOMC กล่าวถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจใน US ว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (24 – 28 เมษายน 2560 )

ในด้านภาวะการเมืองในต่างประเทศ นักลงทุนคลายความกังวลลงหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในฝรั่งเศส โดยนายเอมมานูเอล มาครอง ผู้สมัครที่มีแนวคิดสายกลางได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งลดความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ทางด้านสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีคลังได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ซึ่งจะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ธุรกิจขนาดย่อม และบุคคลธรรมดา ส่วนทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต่างคงอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.02-0.14% ตามตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะในรุ่นช่วงอายุ 12-15 ปีปรับขึ้น 0.13-0.14% ในรอบสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 6.7 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.3 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 3.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (24 – 28 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนมีการปรับตัวลงสวนทางกับตลาดโลก ซึ่งเกิดจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเป็นการ Sell on fact หลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่ประกาศออกมาจะใกล้เคียงหรือดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่ราคาน้ำมันที่ยังไม่สามารถกลับมายืนเหนือ $50 ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.33 ต่อบาร์เรล ลงลด 0.58% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลิตนํ้ามันที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ รวมทั้งรายงานข่าวที่บ่อนํ้ามันขนาดใหญ่ของลิเบีย ได้เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานยอดส่งออกในช่วงเดือนมีนาคมมีการขยายตัว 9.2% จากการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัจจัยต่างประเทศที่เกิดการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเมืองในฝรั่งเศสในช่วงต้นสัปดาห์ที่นาย Emmanuel Macron ได้ชนะในการเลือกตั้งรอบแรก และมีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งช่วยให้ลดความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสจะออกจาก EU ลง

Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 3.6 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.32 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.70 จุด หรือ -0.24%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวขึ้นได้ หากผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการที่เม็ดเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เมื่อปัจจัยกดดันจากต่างประเทศในประเด็นการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 เมษายน 2560 )

ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในต่างประเทศ เช่น การที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ ได้ประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งจะจัดให้มีในวันที่ 8 มิ.ย. ปีนี้ /การเฝ้ารอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันอาทิตย์ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์และหันไปถือครองสกุลเงินที่มีความปลอดภัย โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ 6 สกุลเงินอื่นต่อดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่า 100 อีกครั้ง นอกจากนี้ ตลาดสหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมี.ค. ลดลง 0.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ระบุว่าเศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นต้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมาเล็กน้อยในรุ่นอายุมากกว่า 10 ปี ในขณะที่การประมูลตลาดแรกของพันธบัตรระยะสั้นยังได้รับการตอบรับที่ดี อัตราผลตอบแทนปรับลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.03% นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 2.66 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 274 ล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.38 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (17 – 21 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน หลังจากการหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ SET Index ปรับตัวลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น SET Index ถูกแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศมาจากปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ที่ทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นออกมาในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายหุ้นไทยในต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงกลางสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ ประกาศยุบสภาฯ และกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 8 มิถุนายน โดยคาดหวังว่าหากเธอได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคของเธอได้รับการเลือกตั้งเข้าสภามากขึ้น จะทำให้ได้รับแรงสนับสนุนจากสภามากกว่าที่ผ่านมาในการนำอังกฤษออกจาก EU ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่แม้ว่าจะประกาศออกมาใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่จากการที่ธนาคารขนาดใหญ่ยังมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ ทำให้ความกังวลในเรื่องของ NPL ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งมีการ Sell on fact ออกมาบางส่วนจากที่นักลงทุนได้เข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพื่อเก็งกำไรผลประกอบการก่อนหน้านี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Fund Flow ของนักลงทุนต่างประเทศได้ไหลกลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ตลาดหุ้นไทย Fund Flow ของนักลงทุนต่างประเทศเป็นยอดขายสุทธิที่ 4.2 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันปรับตัวลดตลอดทั้งสัปดาห์ โดยแกว่งตัวอยู่ในระดับ $49 – $52 ต่อบาร์เรล หลังจากการประกาศตัวเลขสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐที่ยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งความไม่มั่นใจใน OPEC ที่จะคงการลดกำลังผลิตหลังเดือนมิถุนายน ซึ่งในภาพระยะยาวแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะแกว่งตัวในระดับ $50 – $55 ต่อบาร์เรล สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.62 ต่อบาร์เรล ลดลง -4.64% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,570.02 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 19.48 จุด หรือ -1.23%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสฟื้นตัวได้ จากการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1 และการที่เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เมื่อปัจจัยกดดันจากต่างประเทศในประเด็นการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเริ่มลดลง เนื่องจากมีแนวโน้มที่นาย Macron จะชนะนาง Le Pen ในการเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการที่ฝรั่งเศสจะออกจาก EU หายไป

ภาวะตลาดหุ้นไทย (10 – 12 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1,577-1,589 จุด โดยตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุน หลังจากความผิดหวังในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำให้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะที่นักลงทุนในประเทศเริ่มมีการชะลอการลงทุน เนื่องจากอยู่ในช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มูลค่าการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างเบาบาง ทั้งนี้ เงินลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูงและการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่คาดว่าจะออกมาดี โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเริ่มประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 หลังเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ และการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งผลสำรวจยังพบว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครลำดับ 1-4 ยังค่อนข้างใกล้เคียงกัน และมีผู้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ใครมากถึง 50%

ราคาน้ำมันดิบ WTI ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ปิดที่ $53.18/บาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 หลังจากปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 533.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งช่วยสนับสนุนให้มีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงานทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,589.50 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.97 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยมีปัจจัยกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและการเลือกตั้งในฝรั่งเศส รวมทั้งการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับแนวต้านจิตวิทยาที่ 1,600 จุด ทำให้นักลงทุนในประเทศชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย คาดว่า SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาด Emerging Market ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย และแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มเติบโตสูงขึ้น ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (10 – 12 เมษายน 2560 )

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 นั้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการจ้างงานเต็มที่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละ 2 ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะร้อนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินตลาดทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐยิงขีปนาวุธไปยังซีเรีย เนื่องจากมีข้อมูลว่าประธานาธิบดีซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีร้ายแรงโจมตีกลุ่มกบฏในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และมีสัญญาณว่าเกาหลีเหนืออาจโจมตีสหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury ปรับลดลงมาแตะระดับ 2.20% ต่อปี เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ซื้อขายระหว่าง 2.31-2.38% ต่อปี ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาบ้าง แต่โดยรวมค่อนข้างเงียบ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 3.7 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.5 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 194 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 เมษายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์นี้ มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีทั้งที่ดีและแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 57.2 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 57.7 ในเดือนก.พ. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.0 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 94 ทั้งนี้ดัชนีที่เหนือระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิต/ ยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานที่ 234,000 รายซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้/ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่ระดับ 263,000 รายดีกว่าที่คาดไว้ที่ 187,000/ การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 98,000 รายซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 180,000 ราย เนื่องจากพายุฤดูหนาวทำให้การจ้างงานภาคก่อสร้างและภาคบริการชะลอลง เป็นต้น ในระหว่างสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลงต่อก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากรายงานการประชุมของ FED ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า กรรมการบางท่านคิดว่าราคาของตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับลดขนาดงบดุลลงก่อนสิ้นปี หากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยถือเป็นการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เคยใช้ในช่วงวิกฤติการเงิน ในขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมี.ค. ในเชิงสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป โดยยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในยุโรป

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.01-0.05% ทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงท้ายสัปดาห์การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมา 0.10% มาอยู่ที่ 1.37% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.47% จากจำนวนพันธบัตรระยะสั้นในตลาดรองที่ลดลงมามาก และยังคงมีเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจากช่วงปลายเดือนมี.ค. ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวจำนวน 9.89 และ 10.36 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3 – 7 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน SET Index แกว่งในช่วงแคบ 1,575 – 1,586 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เริ่มเบาบางลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลวันหยุดเดือนเมษายน SET Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $52.24 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 3.24% WoW โดยได้อานิสงส์จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่คาดการณ์การขยายเวลาการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ถึงสิ้นปี 2560 และจากคาดการณ์การประกาศตัวเลขน้ำมันคงคลังในสหรัฐที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล Driving Season ที่ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของ SET Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดาจากการขึ้น XD ของหุ้น Big Cap (SCC, INTUCH, ADVANC และ KBANK) และความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบในสินค้าที่ส่งออกแบ่งเป็น 3 จำพวก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอาหารแช่แข็ง แต่จากความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่าผลกระทบจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการผลิตสินค้าจากประเทศไทยนั้นเป็นส่วนของการผลิตขั้นต้นถึงขั้นกลาง

ในส่วนของ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Buy ตลอดทั้งสัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,583.53 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีแนวโน้มจะแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากเทศกาลหยุดยาวที่ทำให้นักลงทุนในประเทศส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หากมี Fund Flow ไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากความผิดหวังต่อความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ และการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2517 โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินที่คาดว่าจะออกมาดี ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของตลาดในระยะสั้นได้แก่ การเลือกตั้งในฝรั่งเศส และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จากการเคลื่อนกองเรือของสหรัฐฯเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิคตะวันตกใกล้คาบสมุทรเกาหลี