ภาวะตลาดหุ้นไทย (23 – 27 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนมกราคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดย SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.78% ขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,600 จุดในช่วงกลางสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน โดยตัวแปรหลักยังคงเป็นราคาน้ำมันดิบที่ยังคงสามารถยืนได้เหนือ $50 ต่อบาร์เรล โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวที่ $52 – $53 ต่อบาร์เรล จากการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังคงต้องติดตามเกี่ยวกับ Stock น้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่องของสหรัฐฯที่อาจเป็นปัจจัยลบต่อตลาด ในส่วนของนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงมากขึ้น โดยประธานาธิบดีมีการลงนามการถอนตัวจาก TPP และให้สร้างกำแพงชายแดนเม็กซิโก เพื่อป้องกันแรงงานอพยพ ทั้งนี้ Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 500 ล้านบาท ผู้ซื้อหลักยังคงเป็นสถาบันในประเทศ

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,590.80 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.78%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น เริ่มเห็นทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากนโยบายการค้าของ Trump และจะมีการประชุม FOMC ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ทำให้เห็นต่างชาติเริ่มมีการชะลอการลงทุนอีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (16 – 20 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคม SET Index มีการแกว่งลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดยังคงมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยนักลงทุนมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นก่อนพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยประธานาธิบดีคนใหม่มีการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชน ประเด็นหลัก ๆ ยังคงเป็นการสนับสนุนการจ้างงานในประเทศ การลดภาษีทั้งระบบ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกีดกันแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นนโนบายหลักตั้งแต่ตอนหาเสียง และจากการขายทำกำไรในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศมีการขายทำกำไรตามออกมาด้วย ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการขายของกองทุน LTF/RMF ที่ผู้ถือหน่วยไถ่ถอนเมื่อมีการลงทุนครบระยะเวลาเพื่อให้ได้สิทธิทางภาษี นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการผลประกอบการไตรมาส 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกำไรสุทธิเติบโตขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการขายทำกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ในการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันเกี่ยวกับความคืบหน้าการลดกำลังการผลิตนั้น จากรายงานพบว่าบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันสามารถลดกำลังการผลิตได้แล้ว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเป้าหมายการลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $53.22 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.62% WoW ซึ่งช่วยให้หุ้นกลุ่มพลังงานฟื้นตัวขึ้นบ้าง

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,562.99 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว -0.78%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จากปัจจัยการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ซึ่งเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ยังต้องติดตามการปฏิบัติตามนโยบายที่เคยหาเสียงของประธานาธิปดีสหรัฐฯในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง และความคืบหน้าของ Brexit ที่อังกฤษกำลังเริ่มกระบวนการ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (16 – 20 มกราคม 2560 )

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลัก ๆ (Sovereign Bond Yield) เคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบตามหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษแถลงรายละเอียดของแผนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยระบุว่า อังกฤษจะหาทางทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งยังระบุด้วยว่าจะทำให้อังกฤษกลับมามีอำนาจใช้กฏหมายของประเทศโดยการถอนตัวออกจากศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) และจะทำให้อังกฤษสามารถควบคุมการเข้าประเทศของชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากยุโรป ซึ่งจะใช้หลักการเจรจา 4 ข้อ ได้แก่ ความแน่นอนและความชัดเจน การทำให้อังกฤษมีความแข็งแกร่งขึ้น การทำให้อังกฤษมีสภาพที่ดีขึ้น และการทำให้อังกฤษมีความเป็นระดับโลกอย่างแท้จริง ส่วนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.00% ตามความคาดหมาย พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ นอกจากนี้ จะยังคงดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์วงเงิน 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. และหลังจากนั้นจะซื้อสินทรัพย์วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ และเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างเฝ้ารอคือ การกล่าวสุนทรพจน์หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ซึ่งได้ย้ำจุดยืนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในด้านการค้า ภาษี ประเด็นคนเข้าเมือง และกิจการต่างประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ มากขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวขึ้นลง 0.01-0.03% โดยยังคงมีความต้องการซื้อพันธบัตรระยะสั้นไปจนถึงรุ่นอายุประมาณ 6 ปี ซึ่งการเปิดประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 5.5 ปี (Re-open) ในวันพุธได้รับความสนใจซื้อจากนักลงทุนเต็มจำนวน 25,000 ล้านบาท และใช้ Greenshoe Option ไปอีก 4,870 ล้านบาท โดยตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 7.69 พันล้านบาทและ 16.31 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (9 – 13 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม SET Index ผันผวนในกรอบ 1,563- 1,583 จุด โดยสิ้นสัปดาห์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.24% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนหลัก ๆ ยังมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ได้มีถ้อยแถลงในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงย้ำนโยบายจากที่เคยหาเสียงหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการชะลอการลงทุนเพื่อรอแนวทางหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของ นาย โดนัล ทรัมป์ โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีสถานะ Net Sell เป็นบางวัน อย่างไรก็ตาม สิ้นสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Buy ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ มีความสับสนของกำลังการผลิต ทั้งสหรัฐฯและอิรัก มีตัวเลขการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม OPEC ที่ได้เริ่มลดกำลังการผลิตตามที่ตกลงกันไว้กว่า 70% โดยตัวเลขจะถูกยืนยันในการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 20-21 มกราคมนี้ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $52.37 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.14% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.24 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.24%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น อาจมีการชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อรอนโยบายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของนาย โดนัล ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม และการแถลงแนวทาง Brexit ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในวันที่ 17 มกราคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (9 – 13 มกราคม 2560 )

ตลาดเงินของประเทศหลัก ๆ ค่อนข้างผันผวนและค่าเงินปรับตัวลดลง ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ ออกมาพูดในเชิงว่าจะเริ่มกระบวนการ Hard Brexit ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ส่วนตลาดสหรัฐฯ มีทั้งการออกมาให้สัมภาษณ์ของสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินหลายท่านที่ค่อนข้างเห็นไปในแนวทางเดียวกันในเรื่องความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 2-3 ครั้ง รวมถึงความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มองว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวได้ดี ตลาดแรงงานดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่ไม่ได้มีนัยยะใหม่ ๆ ให้กับตลาด นอกจากนี้ ตลาดค่อนข้างผิดหวังกับการแถลงข่าวครั้งแรกของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายด้านการคลังและนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน และ US Treasury Yield ปรับตัวลงมา

อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยก็ปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นโดยเฉพาะรุ่นอายุต่ำกว่า 3 เดือน อัตราผลตอบแทนปรับลดลง 0.03-0.04% เนื่องจากจำนวนพันธบัตรระยะสั้นในตลาดรองมีไม่เพียงพอต่อความต้องการนับตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติในรุ่นอายุประมาณ 5 ปี โดยรวมตลอดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวน 1,421 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวจำนวน 5,248 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (4 – 6 มกราคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของปี 2560 ถึงแม้จะเปิดทำการเพียง 3 วันแต่ SET Index ปรับตัวขึ้นได้อย่างน่าพอใจ โดยปรับตัวขึ้นจากระดับ 1,542.94 จุด และปิดสิ้นสัปดาห์ที่ 1,571.48 จุด โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของ SET Index ยังคงมาจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF จากปลายปีที่แล้วที่ยังคงเหลืออยู่ และจาก Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาเป็น Net Buy ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว และเริ่มสัปดาห์แรกของปี นักลงทุนต่างชาติ Net Buy ทั้งหมดกว่า 7 พันล้านบาท โดยรวมตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามียอด Net Buy แล้วทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจัยบวกภายในประเทศได้แก่รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมที่ดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีของรัฐบาล ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $53.90 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.37% WoW จากการรายงานตัวเลขของ EIA ว่า Inventory น้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงกว่า 7.4 ล้านบาร์เรล และประเทศซาอุฯ เริ่มลดกำลังการผลิตน้ำมันในเดือน มกราคม 4.86 แสนบาร์เรลต่อวัน หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นสูงสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.96% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,571.48 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.85%

ในส่วนของมุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่าอาจจะมีแรงขาย LTF จากผู้ที่ถือครบกำหนด 5 ปี ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ทำให้เป็นแรงกดดัน SET Index ได้ และการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่อาจจะทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (4 – 6 มกราคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (Fed) ที่ประชุมในเดือนธันวาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการยังคงเน้นว่าในปีนี้การขึ้นดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป และกังวลเรื่องค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้คณะกรรมการจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของเศรษฐกิจจากผลของการดำเนินนโยบายการคลัง ในขณะเดียวกันมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจออกมาซึ่งมีทั้งดีขึ้นและน้อยกว่าที่คาด เช่น ดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวขึ้น 1.5% มาที่ระดับ 54.7 ในเดือนธ.ค. โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.2 ในเดือนพ.ย. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้, อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% สูงขึ้นเล็กน้อยจากในเดือนพ.ย. ที่ 4.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี

ทางด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยในสัปดาห์แรกของปี การประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอัตราผลตอบแทนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังตัวกลาง ๆ บ้าง เช่น รุ่นอายุประมาณ 5 ปี โดยรวมตลอด 3 วันทำการ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นจำนวน 1,693 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวจำนวน 196 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 ธันวาคม 2559 )

ตลาดต่างประเทศในสัปดาห์สุดท้ายของปี ช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากการที่สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นเป็น 113.7 จากระดับ 109.4 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของภาคธนาคารอิตาลี และการเจรจาเรื่องการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายสัปดาห์มีแรงขายดอลลาร์สหรัฐออกมาบ้างจากความต้องการทำกำไรก่อนช่วงหยุดเทศกาล

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลงมา 0.01-0.05% เนื่องจากปริมาณพันธบัตรในตลาดรองมีจำนวนน้อย ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยงดการประมูลพันธบัตรระยะสั้นรุ่นอายุ 14 วัน ถึง 6 เดือนที่ปกติจะจัดให้มีการประมูลสัปดาห์ละครั้ง สำหรับพันธบัตรระยะยาว อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมาเช่นกันโดยเฉพาะรุ่นอายุประมาณ 10 ปี เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตลอดทั้งปี 2559 พบว่าซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 289.24 พันล้านบาทและ 41.69 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสรุปเป็นยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 638 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 571 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (26-30 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สุดท้ายของปี SET Index มีการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยสิ้นปี Set Index ปิดที่ 1,542 จุด จาก 1,512 จุด ในสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศมีปริมาณการซื้อขายที่เบาบางลง Fund Flow ต่างชาติพลิกกลับมาเป็น Ney Buy ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยต่างชาติซื้อสุทธิ 7.1 พันล้านบาท โดยปัยจัยหลักของ SET Index ที่ปรับตัวขึ้นยังคงมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF และการทำ Window Dressing ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นปีราคาน้ำมันสามารถยืนเหนือ $50 ต่อบาร์เรลได้ โดย ปิดที่ $53.72 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 1.32% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,542.94 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.98%

ในภาพรวมของทั้งปี 2559 นั้น SET Index ปรับตัวขึ้นถึง 19.79% และเมื่อรวมผลตอบแทนจากเงินปันผล ผลตอบแทนทั้งหมดอยู่ที่ 23.90% ซึ่งทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในตลาดหุ้นเอเชีย โดยหุ้นกลุ่มหลักที่มีผลต่อดัชนี ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มพาณิชย์ โดยผลตอบแทนอยู่ที่ 17.71%, 38.45% และ 40.98% ตามลำดับ ในส่วนของหุ้นที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ โดยปรับตัวลดลง -3.5% และ -7.93% ตามลำดับ โดยตลอดทั้งปี Fund Flow นักลงทุนต่างชาติ และ Proprietary Trade เป็นผู้ซื้อสุทธิที่ 7.8 หมื่นล้านบาท และ 2.5 หมื่นล้าน ตามลำดับ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และรายย่อย ขายสุทธิ 8.6 พันล้านบาท และ 9.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น 45.03% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยปิดที่ $53.72 ต่อบาร์เรล

ในส่วนของมุมมองปี 2560 จากปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ในปี 2560 โดยรวมแล้วเป็นความเสี่ยงจากต่างประเทศ ในมุมมองระยะสั้นนั้น คงเป็นการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2560 จะเน้นนโยบาย American First ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะสั้น เนื่องจากการลดอัตราภาษี การเพิ่มการจ้างงาน และการทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น อันจะทำให้ค่าเงิน US$ แข็งค่าขึ้นได้ และอาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากไทยได้ ส่วนในส่วนของระยะกลาง – ยาวนั้น จากการที่คณะกรรมการ FOMC ส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ของสหรัฐฯ ประมาณ 3 ครั้งในปี 2560 เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และจะสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยได้รวดเร็วแค่ไหน ซึ่งหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการปรับส่วนใหญ่จะไปอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไม่มากนัก แต่หากปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก ในส่วนของฝั่งยุโรปนั้น จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) และในประเทศเยอรมัน (เดือนตุลาคม) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ฝ่ายขวาในยุโรป ที่ชูนโยบายแยกประเทศออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งหากพรรคการเมืองเหล่านี้ชนะการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมัน จะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างมาก ซึ่งผลกระทบจะมีมากกว่าเหตุการณ์ Brexit ทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มจะชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปและไปลงทุนในภูมิภาคอื่นแทน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (19 – 23 ธันวาคม 2559 )

ความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% และคงอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QQE) ที่ระดับ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ส่วนทางตลาดสหรัฐฯ ประธานธนาคารกลาง (FED) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ระบุว่า ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.3% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการณ์ครั้งที่สองที่ 3.2% การขยายตัวดังกล่าวหนุนโดยการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างและสินค้าเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นต้วของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าคู่ค้าคู่แข่งสำคัญโดยรวมซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดีแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด

ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากกระแสการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าในอัตราที่รวดเร็วว่าที่คาดไว้ ประกอบกับการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ การซื้อขายยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยเนื่องจากเข้าใกล้วันหยุดเทศกาล โดยรวมอัตราผลตอบแทนจึงปรับตัวขึ้นต่อ 0.01-0.09% และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2.42 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.41 พันล้านบาท