ภาวะตลาดหุ้นไทย (19-23 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวลงจากระดับ 1,524 จุด ลงไปถึงระดับ 1,502 จุด โดยปัยจัยหลักยังคงเป็นแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ที่ตลอดสัปดาห์มีการขายสุทธิ 4.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ การที่นักลงทุนต่างชาติยังคงมีการขายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขายทำกำไรในช่วงปลายปี การปรับสถานะการลงทุนก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินดอลล่าร์จะแข็งค่าเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมีการชะลอการลงทุนเนื่องจากเทศกาลในช่วงสิ้นปี ทำให้มูลค่าการซื้อขายเริ่มเบาบางลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกของ SET Index ยังคงมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF และการทำ Window Dressing และจากผลการประชุมของ กนง. ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI ตัวเลข Inventory ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้ว แต่ปริมาณการซื้อขายเริ่มเบาบางลง สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $52.95 ต่อบาร์เรล ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่แล้ว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,509.98 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.82%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายของปี คาดว่า SET Index จะแกว่งตัวช่วงแคบๆ ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนและตลาดหุ้นในหลายประเทศหยุดทำการเนื่องในช่วงคริสต์มาส ส่งผลให้ในสัปดาห์สุดท้ายของปี Fund Flow อาจเห็นการชะลอตัวลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 16 ธันวาคม 2559 )

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% เป็นระดับ 0.50-0.75% และให้ความเห็นว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้งในปีหน้า จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 2 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจด้วยการปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ขึ้นเป็น 1.9% จาก 1.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 เป็น 2.1% จาก 2.0% เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ (US Dollar Index) แตะระดับ 103.11 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี และอัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับตัวขึ้นต่อ โดย 10-Year และ 30-Year US Treasury Yield แตะระดับ 2.60% และ 3.19% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย การซื้อขายค่อนข้างเบาบาง อัตราผลตอบแทนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรระยะสั้น โดยเฉพาะรุ่นอายุน้อยกว่า 3 เดือนอัตราผลตอบแทนจากการประมูลปรับเพิ่มขึ้นมาจนเข้าใกล้ระดับดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5.5 ปีให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดรอง จึงมีส่วนผลักดันให้เส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นต่อ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 5.1 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 3.01 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13-16 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,514-1,531 Sideway Down จากปัจจัยหลักของการประชุม FOMC ที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.25-0.50% เป็น 0.50-0.75% และ Primary Credit Rate จาก 1% เป็น 1.25% นอกจากนี้ ในการประชุมนั้น Fed ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2017 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง จึงส่งผลกระทบต่อกระแส Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิอีกครั้งหนึ่ง โดยขายสุทธิติดต่อกันตลอดทั้งสัปดาห์ยอดรวมทั้งสิ้น 6.4 พันล้านบาท และจากการส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่คาดการณ์นั้น ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าจนทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 13 ปี ที่ 102.95 จุด เพิ่มขึ้น 1.34% WoW ซึ่งสวนทางกับราคาทองคำที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาทองคำในตลาด COMEX ปิดที่ $1,133.3 ต่อ ทรอยออนซ์ ลดลง 2.17% WoW อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินของกองทุน LTF/RMF ยังคงเป็นตัวหลักที่คอยหนุน SET Index ตามแรงซื้อของกลุ่มสถาบัน และจากที่การประชุม ครม. มีมติออกมาตรการ ”ช็อบช่วยชาติ” สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีก 15,000 บาท ในการใช้จ่ายในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคมนี้ ทำให้มีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศเข้ามา และช่วยให้ SET Index ปรับตัวลงไม่มากนัก นอกจากนี้ ตลาดได้ยังได้รับผลดีจากการที่ศาลอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของ SSI ที่ทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับ SSI จะมีภาระในการตั้งสำรองฯน้อยลงในอนาคต และทำให้ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง ในส่วนของราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,522.51 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.25 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี คาดว่า SET Index จะสามารถแกว่งตัวยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ จากปัจจัยหลักมาจากเม็ดเงิน LTF/RMF ในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม กระแส Fund Flow ไหลออกยังคงเป็นแรงกดหลักของ SET Index ในส่วนของปัจจัยที่น่าควรติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายทางการเงินของ BOJ และ กนง. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 9 ธันวาคม 2559 )

ตลาดต่างประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินโดยเฉพาะค่าเงินยูโรมีความผันผวน หลังจากผลการลงประชามติของอิตาลีบ่งชี้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินตามที่นักวิเคราะห์คาด โดยคงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ Refinancing (MRO) ที่ 0% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.40% นอกจากนี้ยังขยายเวลาโปรแกรมการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์จากเดิมที่จะหมดอายุในเดือนมีนาคมปีหน้า ไปยังมีผลไปจนถึงเดือนธันวาคมปีหน้าหรือนานกว่านั้นหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ECB ได้ปรับลดอัตราการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ลงเหลือ 60 พันล้านยูโรต่อเดือน จากเดิมที่ระดับ 80 พันล้านยูโรต่อเดือน ส่วนตลาดสหรัฐฯ นักลงทุนให้ความสนใจไปยังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจและความเห็นต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้า

US Treasury Yield ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่น 2 ปีและ 10 ปีปิดที่ระดับ 1.15% และ 2.49% ตามลำดับ ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างเงียบ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 15 ปี มีผู้สนใจเสนอซื้อประมาณ 8 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 15 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 1.79 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 823 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6-9 ธันวาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ และสามารถยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ แม้ว่าในช่วงต้นสัปดาห์จะมีประเด็นการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลีที่ทำให้ความเสี่ยงในยุโรปเพิ่มขึ้น จากการที่นายกรัฐมนตรีของอิตาลีลาออก และมีความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งใหม่ ที่มีโอกาสที่พรรค Five Star Movement ซึ่งชูนโยบายนำอิตาลีออกจากสหภาพยูโร จะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น รวมถึงความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของอิตาลี แต่นักลงทุนแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงนี้ เพราะคาดว่าโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงยังต้องใช้เวลา แต่ผลการลงประชามติทำให้ความไม่แน่นอนหมดไป ตลาดหุ้นในต่างประเทศจึงปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผล Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยด้วย นอกจากนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากผลการประชุมของ ECB ที่ได้ขยายเวลาการทำ QE ออกไปอีก 9 เดือน (จากสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2560 ไปเป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2560) แต่ในช่วงต่อขยายนั้นได้ลดวงเงินจาก 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนเหลือ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ทั้งนี้ ผลของการขยายเวลานั้น ทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินยังคงอยู่สูง และมีโอกาสเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากขึ้นและนานขึ้น ตลาดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 4 วันติดต่อกันรวม 2.9 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมัน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยหลังจากมีการชะลอการลงทุน เพื่อรอผลการประชุมระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่จะมีในช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง -0.3% ปิดที่ $51.5 ต่อบาร์เรล

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,526.32 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.64 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี ตลาดยังมีแนวโน้มแกว่งขึ้นได้ เนื่องจากตลาดหุ้นยังน่าจะได้รับผลบวกจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ในช่วงปลายปี และการปรับหุ้นเข้าคำนวณ SET50 และ SET100 รอบใหม่ ที่จะประกาศในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ ในขณะที่ความเสี่ยงของตลาดในช่วงที่เหลือของปี จะอยู่ที่ถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและปรับขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่

ภาวะตลาดหุ้นไทย (28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 )

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรในวันสุดท้ายของสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงวันหยุดยาวและความกังวลเกี่ยวกับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลี ในวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและทำให้นายกรัฐมนตรีของอิตาลีต้องลาออก ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ การ Rebalance Portfolio ของนักลงทุนต่างชาติจากการปรับน้ำหนักการลงทุนใหม่ของดัชนี MSCI ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยเป็นรายตัวมากขึ้น และการประชุม OPEC ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ที่มีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้กำลังการผลิตเหลือ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นมติข้อตกลงที่ตกลงกันได้ในรอบ 8 ปี และนอกเหนือจากการคาดการณ์ของนักลงทุนที่เชื่อว่าจะไม่สามารถตกลงกันได้ โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.79 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 12.44% WoW สำหรับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นั้น Bloomberg Consensus ได้ปรับประมาณการขึ้นเป็น 100% แล้ว ซึ่งคาดว่าประเด็นดังกล่าวตลาดได้รับรู้ข่าวไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังเฝ้าติดตามถ้อยแถลงของ Fed ว่าจะให้แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยอย่างไร จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกในระยะเวลาอันสั้นอีกหรือไม่ และหากปรับขึ้นจะรวดเร็วเพียงใด

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,501.66 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.08 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี ตลาดมีแนวโน้มแกว่งขึ้นได้ เนื่องจากตลาดหุ้นยังน่าจะได้รับผลบวกจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ในช่วงปลายปี ในขณะที่ความเสี่ยงของตลาดในช่วงที่เหลือของปี จะอยู่ที่ถ้อยแถลงเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและปรับขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2559 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมารายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวแสดงถึงมุมมองเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ได้แก่ การประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ระดับ 3.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการณ์ครั้งแรกที่ระดับ 2.9% จากแรงหนุนของการส่งออกและการใช้จ่ายของผู้บริโภค, สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐรายงานผลการสำรวจธุรกรรมการจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 53.2 ดีกว่าในเดือนต.ค. ที่ 51.9 และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดและมากกว่าเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำให้ราคาน้ำมันกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ

US Treasury Yield จึงปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและทรงตัวในระดับสูง โดยรุ่น 10Y ขึ้นมาแตะที่ 2.39% และรุ่น 30Y ปิดที่ระดับ 3.06% ทางด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทยก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.15% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ส่วนการประมูลพันธบัตรตลาดแรกในรุ่นอายุประมาณ 30 ปี อัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.14% และ Accepted Amount เพียง 4.6 พันล้านบาทจากจำนวนที่เสนอขาย 14 พันล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 766 ล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2,081 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (21-25 พฤศจิกายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนพฤศจิกายน SET Index มีการแกว่งตัวขึ้น และสามารถกลับขึ้นมาปิดที่ 1,500 จุดได้ในวันสิ้นสัปดาห์ จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่มียอดซื้อสุทธิ 5,305 ล้านบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งจะมาจากแรงซื้อของเม็ดเงิน LTF/RMF ในช่วงปลายปี และการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการลดภาษี “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกันกับที่ใช้ในปีที่แล้ว แม้ว่าสภาพัฒน์ฯ จะรายงาน GDP Growth ในไตรมาส 3 ที่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบของการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญของภาครัฐที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวก็ตาม นอกจากนี้ SET Index ยังได้รับผลดีจากการที่ Fund flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเบาบางลง โดยมียอดขายสุทธิในระดับประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน จากที่เคยสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน ในส่วนของราคาน้ำมัน WTI ยังคงความผันผวน จากข่าวการเจรจาเรื่องกำลังการผลิตของแต่ละประเทศในกลุ่ม OPEC ก่อนการประชุมในวันที่ 30 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ราคาน้ำมัน WTI ยังปรับขึ้น 0.81% WoW ปิดที่ $46.06 ต่อบาร์เรล

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,500.41 จุด ปรับเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.80%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะยังคงผันผวน จากเรื่องการประชุม OPEC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลีในวันที่ 4 ธันวาคม และการประชุม FOMC ในวันที่ 13-14 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงรุนแรงไม่มากนัก

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (21 – 25 พฤศจิกายน 2559 )

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2559 ว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และประเมินว่าในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 7/2559 ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่มีความเสี่ยงเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย และจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าประมาณการเดิม

ทางด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคมที่ฟื้นตัว เช่น ตัวเลขการขายบ้านที่เพิ่มขึ้นหมดในทุกภูมิภาคของสหรัฐฯ / ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ / จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่า 300,000 รายเป็นเวลา 90 สัปดาห์ติดต่อกัน เป็นต้น ทำให้นักลงทุนในตลาดมองว่ามีแนวโน้มสูงที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น พร้อมกับคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าและต่อเนื่องในปีหน้า อัตราผลตอบแทน 30Y US Treasury จึงขึ้นมาแตะระดับ 3% อีกครั้งนับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรของไทยยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในพันธบัตรระยะยาว แต่ยอดการขายพันธบัตรระยะสั้นเริ่มชะลอลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย (14-18 พฤศจิกายน 2559)

ในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน SET Index ได้ขยับตัวในกรอบ 1,463 – 1,486 จุด ปัจจัยหลักที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องยังเป็นเงินทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากประเทศ ณ วันสิ้นสุดสัปดาห์สถาบันต่างชาติได้ขายสุทธิรวมถึง 10,470 ล้านบาท ทำให้ยอดการขายสุทธิตั้งแต่เดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านบาท อีกปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทยคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ เห็นได้จากผลสำรวจมุมมองนักลงทุนถึงโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ของ Bloomberg ที่สูงถึงร้อยละ 96 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 30 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นไปแตะที่ระดับร้อยละ 3.0 ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ WTI ที่สิ้นสัปดาห์ปิดที่ 46.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 จากสัปดาห์ก่อนหน้า บวกกับแรงซื้อของหุ้นที่ได้เข้าคำนวณในดัชนี MSCI ในรอบใหม่

ณ สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดตัวที่ 1,473.86 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 1.38 ในระยะสั้นคาดว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ นาย Donald Trump ซึ่งเป็นความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งต่อตลาดทุนที่ต้องคอยจับตามอง