ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2561

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ได้ปรับตัวลง 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก เช่น ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ได้อ่อนตัวลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ได้เป็นปัจจัยลบต่อบริษัทในกลุ่มพลังงาน ในขณะที่บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

SET Index ได้เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยปัจจัยหลักที่ได้กดดันตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังที่นาย Jerome Powell ประธาน Fed ได้ออกมากล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้ถูกสะท้อนอยู่ในอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.26% ในช่วงตันเดือนตุลาคม

นอกจากความกังวลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของ Fed แล้ว ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้เพิ่มความผันผวนต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึง SET Index ด้วย โดยเกือบทุกข่าวและความเคลื่อนไหว รวมไปถึงข้อความจาก Twitter ของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีความเกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในวันที่ 30 ตุลาคม ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่าทางรัฐบาลอยู่ในกระบวนการร่างนโยบายภาษีที่จะมีผลใช้กับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมหากการหารือระหว่างประธานาธิบดี Donald Trump และประธานาธิบดี Xi Jingping ในการประชุม G20 ในวันที่ 30 พฤศจิกายนถึงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ไม่ได้ข้อสรุปอะไร โดยนโยบายดังกล่าวอาจจะคลอบคลุมสินค้าจากจีนอีกมูลค่าประมาณ 257,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากรวมกับนโยบายภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้นำออกมาใช้แล้ว จะเท่ากับว่ามูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนในปี 2017 จะถูกขึ้นภาษีทั้งหมด

อีกปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้แก่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งได้อ่อนตัวลงค่อนข้างมากในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมัน Brent และ WTI ได้ปรับตัวลง 8.8% และ 10.8% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนของมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ จะนำออกมาใช้กับอิหร่าน การอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานอ่อนตัวลงกันส่วนใหญ่ โดยราคาหุ้นของกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคได้ร่วงลงถึง 6.2%

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ได้กล่าวไปแล้ว SET Index ยังได้ถูกกดดันจากการอ่อนตัวของราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ ธปท. จะมีการปรับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการหลัก ๆ ที่ได้มีการเสนอออกมาได้แก่ การรวมสินเชื่อ Top-Up ทุกประเภทในการคำนวณอัตราส่วนมูลค่าสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และการปรับ LTV Limit สำหรับการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไปหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ให้เหลือ 80% โดยการเสนอมาตรการชุดนี้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มของอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะอ่อนตัวลงและส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงถึง 6.7% ในเดือนตุลาคม

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2561 SET Index ได้ปิดที่ 1,669.09 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,756.41 จุด หรือประมาณ 5.0% จากสิ้นเดือนกันยายน ราคาหลักทรัพย์ของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้ปิดตัวต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -0.2% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -2.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -2.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลงแรงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -9.2% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -6.7% และ กลุ่มยานยนต์ -6.6% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยสุทธิ 64,200 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศได้ทำการซื้อสุทธิ 23,284 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางว่ามีแนวโน้มจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 1,600-1,900 จุด จากปัจจัยความเสี่ยงต่างประเทศและแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย แต่ตลาดหุ้นก็ยังได้รับผลดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ ในระยะสั้น ตลาดทุนไทยยังมีโอกาสเกิดความผันผวนจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างที่ได้เผชิญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ผ่านพ้นไป และหากสหรัฐฯ กับจีนได้ทำการเจรจาข้อตกลงทางการค้าได้ในการประชุม G20 นี้ เราน่าจะเห็นความชัดเจนต่อปัจจัยภายนอกดังกล่าวมากขึ้น และจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นเพื่อตอบรับกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงเติบโตอยู่ และการเลือกตั้งทั่วไปของไทยในต้นปี 2562 ได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติคงนโยบายการเงิน และคาดว่าจะยุติมาตรการ QE ในสิ้นปีนี้ โดยประธาน ECB แถลงว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้นโยบายการเงินยังคงมีความผ่อนคลายต่อไปแม้มาตรการ QE จะสิ้นสุด และอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ในระดับต่ำ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ส่วนประเด็นร่างงบประมาณของอิตาลี ประธาน ECB ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า EU และอิตาลีจะหาทางแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณร่วมกันได้ แต่มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่า ECB จะไม่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ไม่ปฎิบัติตามกฎของ EU เด็ดขาด ทางด้านเงินเฟ้อ ECB ยังคงมุมมองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้ในระยะกลาง จากสภาพตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราค่าจ้างเร่งตัวขึ้น

ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีเพียงการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ที่ยืนยันสิ่งที่ตลาดคาดไว้ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2019 นอกจากนี้ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ประจำเดือนก.ย. ที่เปิดเผยออกมา ส่วนใหญ่ส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง เช่น การจ้างงานภาคเอกชนสำรวจโดย ADP เพิ่มขึ้น 2.3 แสนราย จาก 1.68 แสนรายในเดือนก่อน โดยนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 เดือนและมากกว่าที่ตลาดคาดไว้, อัตราการว่างงาน ลดลงเป็น 3.7% จาก 3.9% ในเดือนก่อน นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ย. จะทรงตัวที่ +0.1% mom เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดก็ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ นำมาซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยเฉพาะรุ่น 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมาแตะระดับ 3.23% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างอิตาลีและสหภาพยุโรป, ประเด็นการค้าระหว่างประเทศของจีนและสหรัฐ ได้กดดันให้ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน อัตราผลตอบแทนของ 10-Year US Treasury ในเดือนนี้จึงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 3.08-3.23%

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ย. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเป็น +1.33% yoy (เทียบกับ +1.62% เดือนก่อน, +1.23% ตลาดคาด) จากราคาพลังงานเริ่มชะลอลง และราคาอาหารสดที่กลับมาหดตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ +0.8% yoy (เทียบกับ +0.75% เดือนก่อน, +0.71% ตลาดคาด) ด้านความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้มีทิศทางปรับตัวขึ้นชัดเจน สาเหตุจากนักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยอาจพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ตามทิศทางของประเทศสำคัญคือสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยืนยันการผ่อนคลาย QE และ/หรือกำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน, 6 เดือน และประมาณ 1 ปี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดของเดือนที่ 1.3150%, 1.5830%, 1.7465% และ 1.8059% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก.ย. ที่ 1.1118%, 1.4000%, 1.5902% และ 1.7833% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวก็มีทิศทางปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศเช่นกัน แต่เนื่องจากยังคงมีความต้องการจากผู้เล่นในตลาดอยู่มาก จึงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นไม่มากนัก ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 3.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2561

ในเดือนกันยายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% จากปลายเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเลือกตั้งที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าประเด็นวิกฤติในตลาดเกิดใหม่และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เข้ามากดดันภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ได้แก่ ประเทศอาร์เจนตินาประกาศเพิ่มวินัยทางการคลังและขอความช่วยเหลือจาก IMF ประเทศตุรกีประกาศอัตราเงินเฟ้อสูงที่ 17.9% หลังจากที่ค่าเงินอ่อนค่ากว่า 10% ภายใน 1 เดือน ประเทศอินโดนีเซียเผชิญกับค่าเงินที่อ่อนค่าขึ้น 11% ตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น ทำให้ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดอื่น ๆ ในกลุ่ม เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และมีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศสูง จึงมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า

ต่อมาในช่วงกลางเดือน ตลาดหุ้นได้รับปัจจัยบวกจากเรื่องการเลือกตั้งภายในประเทศที่มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากที่พ.ร.บ. ที่มา ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ผ่านการโปรดเกล้าฯ และได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 กันยายน 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 18 กันยายน 2561 ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรงจากจุดต่ำสุดที่ 1,666 จุด ไปสู่ 1,720 จุด ในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากปัจจัยภายในประเทศที่เอื้อให้ SET Index ปรับตัวขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น หลังจากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 มิฉะนั้นสหรัฐฯ จะทำการคว่ำบาตรประเทศนั้น ๆ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันโดยรวมปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การประชุมโอเปกรอบล่าสุดมีมติให้คงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับปัจจุบัน ในขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทำให้เกิดภาวะอุปทานค่อนข้างตึงตัวในตลาดน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จึงพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบเกือบ 4 ปีที่ราคาสูงกว่าระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หุ้นในกลุ่มพลังงานจึงปรับตัวขึ้น และช่วยผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้วันที่ 24 กันยายน 2561 ส่วนจีนก็ดำเนินมาตรการตอบโต้โดยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐในมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และทรัมป์ยังวางแผนที่จะขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ภายในเดือนมกราคม 2562 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไม่ได้ตอบสนองเชิงลบกับข่าวนี้ แต่กลับตอบสนองในเชิงบวกว่าการเก็บภาษีรอบนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังมีเวลาในการเจรจากันได้อีก และทำให้มีแรงซื้อผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1,760 จุด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2561 SET Index ปิดที่ 1,756.41 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +10.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +10.0% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +7.3% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับขึ้นน้อยที่สุดหรือปรับตัวลดลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -2.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -1.6% ในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,756 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 16,955 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว และมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งจาก Election Rally และปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยเอง โดยภาพรวมของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งปี ยังมีแนวโน้มเติบโตในระดับ 10–12% แม้ว่าตลาดจะยังมีความเสี่ยงจากประเด็นสงครามการค้า ทว่า ตราบใดที่ผลกระทบยังไม่ชัดเจนและส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การตอบสนองของตลาดในเชิงลบน่าจะอยู่ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าที่คาด ทำให้ SET Index มีทิศทางที่ค่อนข้างดูดี และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2561

การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนนี้ มีมติให้ปรับลดอัตราการเข้าซื้อต่อเดือนลงเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรในไตรมาสสุดท้ายของปี จากปัจจุบันที่เข้าซื้อ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และคาดว่ามาตรการ QE จะยุติหลังจากนั้น โดย ECB จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) ECB ยังคงย้ำว่าจะคงอยู่ในระดับต่ำนี้ ยาวไปจนถึงไตรมาส 3/2019 เป็นอย่างน้อย ในการประชุมรอบนี้ ECB ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2018-2019 ลง -0.1pp เป็น +2.0% YoY และ +1.8% YoY ตามลำดับ และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2019-2020 ลง -0.1pp เป็น +1.5% YoY และ +1.8% YoY ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ECB คงประมาณการปี 2018-2020 ไว้ที่ +1.7% YoY โดยนาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับความเสี่ยงจากภายนอก ทั้งนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของ Brexit เนื่องจากตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างได้เร่งตัวขึ้น ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด หลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน แถลงการณ์หลังการประชุมระบุถึงความเสี่ยงจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และความผันผวนในประเทศตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ Brexit ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งได้ส่งผลกดดันการลงทุนของภาคธุรกิจ ทางด้านเงินเฟ้อ ผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นและอัตราค่าจ้างที่เร่งตัว (ค่าจ้างเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 2.9% YoY สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี) จะส่งผลให้เงินเฟ้อปีนี้ขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ที่ 2.3% YoY)

ต่อมาช่วงปลายเดือนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 8-0 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 2.00-2.25% ตามคาด โดยประเมินว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเป็น 3.1% (จาก 2.8%) และปี 2019 ปรับขึ้นเป็น 2.5% (จาก 2.4%) และคงคาดการณ์ปี 2020 ไว้ที่ 2.0% ส่วนปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็น 1.8% ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ Fed คงคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้ไว้ที่ 2.0% และคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2019 และ 2020 ไว้ที่ 2.1% ส่วนค่ากลางของ Dot Plot ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 5 ครั้ง ไปจนสิ้นสุดที่ 3.4% ณ สิ้นปี 2020 (ปีนี้อีก 1 ครั้ง; ปี 2019, 3 ครั้ง; ปี 2020, 1 ครั้ง) และจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 3.4% ไปจนถึงปี 2021 โดยในการประชุมรอบนี้ จำนวนกรรมการที่คาดว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นได้ทั้งหมด 4 ครั้งในปีนี้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ท่าน จากการประชุมครั้งก่อนที่ 8 ท่าน (ออกเสียงทั้งหมด 16 ท่าน) สะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค.ที่ค่อนข้างแน่นอน

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2561

ในเดือนสิงหาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นการแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังจากที่ SET Index ปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยที่ดีกว่าคาด

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2561

ในเดือนกรกฎาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 หลังจากที่ตลาดปรับตัวลงมากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการเติบโตดีกว่าที่คาด แม้ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน $34,000 ล้าน และจีนมีการตอบโต้ในระดับเดียวกัน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ประกาศจะเพิ่มการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น $200,000 ล้านก็ตาม

โดยภาพรวม ดัชนีตลาดในเดือนกรกฎาคมมีการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน อันเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นในตลาด Emerging Market (รวมถึงไทยด้วย) ลดลงเมื่อเทียบกับการขายออกมามากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการประกาศผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาด แม้ว่าจะเริ่มได้รับผลกระทบจากการลดค่าธรรมเนียมธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม โดยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการเติบโตถึง 17% YoY และทำให้ผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกกลับมาเติบโต 8% YoY เมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่มีการเติบโต 4.8% จึงมีการคาดการณ์ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน น่าจะมีโอกาสเติบโตได้ถึง 15-20% YoY ในขณะที่การที่สหรัฐฯ ผ่อนปรนท่าทีการเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจาก EU โดยทาง EU ยินยอมจะเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองและก๊าซธรรมชาติเหลว ทำให้ Sentiment ตลาดโดยรวมดีขึ้น และทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง

ในช่วงเดือนกรกฎาคม ตลาดหุ้นแทบจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยภายนอกประเทศเลย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง เนื่องจากสหรัฐฯ มีท่าทีผ่อนปรนลงเกี่ยวกับการ Sanction อิหร่าน และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการผลิตน้ำมันต่อเนื่อง การเริ่มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการที่สหรัฐฯเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน $34,000 ล้าน ในอัตรา 25% ในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องบิน และหุ่นยนต์ และกำลังพิจารณาจะเก็บภาษีเพิ่มอีกมูลค่า $16,000 ล้าน ในขณะที่จีนก็มีการตอบโต้ในระดับเดียวกัน โดยเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯจำนวน $34,000 ล้าน ในอัตรา 25% ในสินค้าประเภทสินค้าเกษตรและยานยนต์ และกำลังพิจารณาจะเก็บภาษีเพิ่มอีกมูลค่า $16,000 ล้านเช่นกัน ซึ่งทำให้สหรัฐฯประกาศจะเพิ่มการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก $200,000 ล้าน ในอัตรา 10% และการที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯปรับตัวลงแรง เนื่องจากผลประกอบการที่น่าผิดหวัง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 SET Index สามารถกลับมายืนเหนือระดับ 1,700 จุดได้อีกครั้ง โดยปิดที่ 1,701.79 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +13.1% กลุ่มปิโตรเคมี +9.8% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +9.4% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับขึ้นน้อยที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ +3.5% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +4.2% และกลุ่มโรงแรม +4.5% ในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 10,622 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 34,095 ล้านบาท

บลจ. ทาลิสคาดว่าในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังมีโอกาสจะเกิดความผันผวนสูง โดยเฉพาะภายหลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 แล้ว และเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะออกมากประกาศนโยบายชาตินิยมเพิ่มเติมเพื่อสร้างคะแนนเสียงให้มากขึ้น ประกอบกับการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 120 จุดในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ทำให้อาจจะมีแรงขายทำกำไรเพิ่มมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว บลจ.ทาลิสยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นว่ายังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเติบโตได้ดี และเริ่มมีการกระจายไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาคการบริโภค การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แม้ว่าการกระจายรายได้สู่ผู้มีรายได้น้อยยังเป็นปัญหาอยู่ก็ตาม รวมไปถึงโครงการ EEC ของรัฐบาลที่เริ่มเดินหน้าชัดเจนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้ ในขณะที่การประกาศช่วงเวลาการเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็จะช่วยให้ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้นด้วย

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ยังคงมีประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารอบแรกของสหรัฐฯและจีน การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ปัญหาผลประกอบการของกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและของไทย

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2561

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บลจ.ทาลิสมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2561 นี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้น โดยการเติบโตได้มีการกระจายตัวไปยังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีขึ้น นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่ยังเติบโตดี และนโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตได้ประมาณ 10% เมื่อประกอบกับแนวโน้มการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก็เชื่อว่าภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีทิศทางที่ดี และ SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ แม้ว่าการปรับตัวขึ้นในปีนี้จะน้อยกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

ในขณะที่ปัญหาเรื่องเงินลงทุนไหลออกนั้น ผลกระทบต่อตลาดหุ้นมีน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมามาก และเชื่อว่าสภาพคล่องในประเทศเองสามารถรองรับการลดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้ ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีการทยอยลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ถึง 180,077 ล้านบาท แต่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปี 2556 และ 2558 ที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิในระดับเดียวกัน แต่ SET Index มีการปรับตัวลดลงถึง 25% รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระดับที่น้อยมาก (ในช่วงปี 2551 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิเพียง 4 ปี จำนวน 274,779 ล้านบาท แต่มีการขายสุทธิถึง 7 ปี จำนวน 759,496 ล้านบาท และสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำนับตั้งแต่ปี 2546) ขณะเดียวกัน ในด้านความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น นักลงทุนในตลาดได้รับรู้ถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของ FED ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และประมาณการที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึงปี 2562 แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมาอย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่สูง ซึ่งสามารถรองรับเงินลงทุนสุทธิที่ไหลออกได้ และทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM)

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางลบในเดือนที่ผ่านมาจากปัจจัย “Trade War” หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศจีนที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจำนวนมากถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐฯ มีการตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับยานพาหนะ มูลค่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผลในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจีนได้ตอบโต้โดยการตั้งกำแพงภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ประเภทสินค้าเกษตรและอาหาร และรถยนต์ มูลค่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีผลวันที่ 6 กรกฎาคมเช่นกัน ทำให้สหรัฐฯ มีการประกาศจะตั้งกำแพงภาษีอีก 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเชื่อมโยงถึงการที่ FED อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้เพิ่มอีก 1 ครั้ง รวมถึงการที่สหรัฐฯ และ EU กำลังจะมีการลด QE (ซึ่ง 2 ปัจจัยหลังตลาดได้รับรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว) จึงทำให้กังวลว่าค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) จะอ่อนตัวลง และมีการย้ายเงินลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงเร่งให้มีการขายหุ้นในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ EM มากขึ้นและเร็วขึ้น

สำหรับประเทศไทยเอง ความกังวลดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยมากขึ้น และทำให้นักงทุนไทยมีความวิตกกังวลมากขึ้นและชะลอการลงทุน และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงมาระดับหนึ่ง ก็มีแรง Force ขายหุ้นของบัญชี Margin และ Block Trade ผสมโรงเข้ามา รวมถึงการปิด Position สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่หมดอายุในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย ทำให้ SET Index ในเดือนมิถุนายนปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถึง 7.6%

บลจ. ทาลิสคาดว่า แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจไม่ได้จบได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นยังมีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง แต่นักลงทุนก็มีการรับรู้และปรับการลงทุนไประดับหนึ่งแล้ว และเนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าไม่เป็นผลดีต่อทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ เอง ทำให้คาดว่าปัญหาสงครามการค้าดังกล่าวจะจบลงด้วยการเจรจาต่อรองกันมากกว่า ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐฯ และจีนประกาศกำแพงภาษีออกมาแล้วนั้น หากมีการบังคับใช้จริงก็คาดว่าจะกระทบต่อการเติบโตของ GDP ของจีนไม่เกิน 0.5% เท่านั้น ในทางกลับกัน หากปัญหาดังกล่าวมีการเจรจาตกลงกันได้ จะกลับมาเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น และทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกยังไม่มีปัจจัยใดที่ชี้ว่ากำลังเกิดวิกฤติในภูมิภาคใด จนส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดโลกหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ (การลด QE ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ได้ทำให้ Money Supply ของสหรัฐฯ ลดลง ส่วนกลุ่มประเทศ EU ก็ยังไม่หยุดการเพิ่ม QE จนถึงถึงสิ้นปีนี้)

นอกจากนี้ บลจ.ทาลิสมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมถึงสหรัฐฯ ในปีนี้ยังมีทิศทางเติบโตที่ดี แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อยในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจไทย ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และทิศทางการเมืองที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ในขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงนี้ ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นลดลงมาก จนทำให้ค่า PER ของตลาดอยู่ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับตัวขึ้นในปลายปีนี้ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 8-10% ต่อปี Valuation ของตลาดหุ้นในปัจจุบันสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2562 แล้ว