ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (3 – 7 กรกฎาคม 2560 )

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิ.ย. โดยกรรมการหลายท่านให้ความเห็นว่า การปรับลดงบดุลบัญชีของ FED จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในขอบเขตที่จำกัด ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญยังแสดงถึงการขยายตัวของภาคการผลิต เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 222,000 ตำแหน่ง หลังจากในเดือนพ.ค. ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด (เพิ่มขึ้น 138,000) ทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญ ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยโดยรวมปรับตัวลงต่อ แม้ว่าในช่วงท้ายสัปดาห์จะปรับขึ้นตามตลาดสหรัฐบ้าง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนอายุน้อยกว่า 7 ปีลดลง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ในรอบสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 1.88 พันล้านบาทและ 2.06 พันล้านบาทตามลำดับ ส่วนพันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนจากการประมูลยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2049%, 1.3337% และ 1.4374% ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 มิถุนายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและนโยบายซื้อพันธบัตร เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่อังกฤษจะต้องยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินอีกด้วย ทำให้ค่าเงินสกุลยูโรและสกุลปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ทางประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) กล่าวย้ำว่าเฟดควรปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดปริมาณการถือครองตราสารหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดท่านอื่นจะแสดงความคิดเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตดี

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐและยุโรปจึงกลับมาปรับตัวขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นตาม โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5-25 ปี ท่ามกลางปริมาณการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.6 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตรระยะยาว 7.3 พันล้านบาท ส่วนพันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนปรับลดลงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2484%, 1.3295% และ 1.4415% ตามลำดับ ทางด้านสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้ประกาศตารางประมูลพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2560 รุ่นอายุ 5-49 ปี จำนวนรวม 128,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 2 และ 3 จำนวน 142,000 และ 138,000 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (19 – 23 มิถุนายน 2560 )

จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมากว่า 20% นับตั้งแต่ต้นปี ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะทบทวนจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 2.1423% ถึง 2.1879% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าเฟดจะเพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในสัปดาห์ก่อนหน้า และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐหลายท่านให้ความเห็นในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการกลับสู่สมดุลของนโยบาย

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักบริหารหนี้สาธารณะแถลงแผนการทำธุรกรรม (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในวงเงินรวมไม่เกิน 90,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดของรัฐบาล เพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตร และส่งเสริมการบริหารจัดการพอร์ตหนี้ของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเป็นการนำพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 1-2 ปีไปแลกเป็นพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 15-50 ปี ทำให้เกิดแรงซื้อขายส่วนใหญ่ในพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 1-2 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 3.07 และ 8.93 พันล้านบาทตามลำดับ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ปรับลดลงเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2468%, 1.3417% และ 1.4489% ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (12 – 16 มิถุนายน 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.75%-1.00% สู่ระดับ 1.00%-1.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 2.2% ในปีนี้ ซึ่งดีขึ้นจาก 2.1% ในการประเมินครั้งก่อน, การว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ (4.3%) และปรับอัตราเงินเฟ้อเป็น 1.6% จาก 1.9% นอกจากนี้ FOMC ยังให้รายละเอียดในเรื่องการลดขนาดงบดุล โดยจะเริ่มลดทันทีที่ดอกเบี้ยเข้าสู่ทิศทางที่เหมาะสม การถือครองพันธบัตรรัฐบาลและ Mortgage-backed Securities (MBS) จะลดลง 6 และ 4 พันล้าน/เดือน ตามลำดับ และจะปรับเพดานดังกล่าวขึ้นครั้งละ 6 และ 4 พันล้าน/เดือน ทุก 3 เดือนจนไปแตะระดับ 3 หมื่นล้าน/เดือน สำหรับพันธบัตรรัฐบาล และ 2 หมื่นล้าน/เดือนสำหรับ MBS และในสัปดาห์นี้มีการประชุมของธนาคารกลางประเทศสำคัญอื่น ๆ ซึ่งต่างคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 5-3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% โดยมีกรรมการ 3 ท่านสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่กรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอังกฤษและสหภาพยุโรปใกล้จะมีการเจรจาประเด็น Brexit และธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1%

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่องในทุกระยะ การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่น 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.2567% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.2679% โดยพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไป อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมา 0.01-0.10% ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์มีทั้งซื้อสุทธิและขายสุทธิ โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2.95 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 14.8 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (5 – 9 มิถุนายน 2560 )

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ -0.4%, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.25% และคงวงเงินในการซื้อพันธบัตร (QE) ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงเดือนธ.ค. ปีนี้ นอกจากนี้ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของกลุ่มยูโรโซนเป็น 1.9% ในปีนี้และ 1.8% ในปีหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงสู่ระดับ 1.5% ในปีนี้และ 1.3% ในปีหน้า จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.7% และ 1.6% ตามลำดับ การปรับลดดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายเวลาในการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ในขณะที่ผลการเลือกตั้งของอังกฤษ แม้ว่านางเทเรซา เมย์ จากพรรคอนุรักษ์นิยมจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แต่ก็ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเจรจาถอนตัวจากอียูของอังกฤษ (Brexit)

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่อง การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่น 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.2679% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.2934% สำหรับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไป อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมา 0.01-0.07% ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์มีทั้งซื้อสุทธิและขายสุทธิ โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 16.5 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 6 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์นี้ ทางด้านสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะออกมาดีและยังสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดของเยอรมนีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระดับใกล้ 2% ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันต่อ ECB ในการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ยังส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนต่อไป

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนพ.ค. หดตัวลง 0.04% (yoy) จากที่ขยายตัว 0.38% ในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15% (mom) ส่งผลให้ Headline CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.81% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน (Core CPI) ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.46% (yoy) ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 0.50% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.01% (mom) ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 0.58%

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่อง ตามทิศทางตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ โดย 10-Year US Treasury Yield ในวันศุกร์ปรับลดลงมาต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.25% มาอยู่ที่ 2.16% สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะในรุ่น 3 ปีขึ้นไปปรับลดลงมา 0.01-0.05% ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประมาณ 7.14 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 5.25 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (22 – 26 พฤษภาคม 2560 )

รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐประจำเดือนพ.ค. มีเนื้อหาโดยรวมไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระบุถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปหากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญคือการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการในครั้งแรก สภาวะตลาดโดยรวมยังคงกังวลว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่สามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำสุดของปี ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี (10-Year US Treasury) ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.2465% จากสิ้นสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.2346%

ทางด้านผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยครั้งที่ 3 ของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนปรับลดลงในรุ่น 5-10 ปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาซื้อพันธบัตรจากตลาดรองในรุ่นอายุ 5-12 ปี โดยรับซื้อไปจำนวน 7.81 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 15.12 พันล้านบาท และการเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์นี้จำนวน 14.18 พันล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 3.18 พันล้านบาทและ 11 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (15 – 19 พฤษภาคม 2560 )

ตลาดสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงทางการเมือง หลังประธานาธิบดีทรัมป์สั่งปลดผู้อำนวยการ FBI และสั่งให้ยุติการสืบสวนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติกับรัฐบาลรัสเซีย ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป นอกจากนี้ข้อมูลดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ และข้อมูลเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลง ยิ่งส่งผลให้การคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมิ.ย. มีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี (10-Year US Treasury Yield) ในสัปดาห์ที่แล้วปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ 2.22% จากวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 2.32%

ในขณะที่สภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2560 ว่าขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ร้อยละ 1.3 และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2560 ว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3.3 – 3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับลดลงตามทิศทางตลาดสหรัฐ โดยรุ่นอายุ 5-10 ปี ลดลง 0.03-0.04% ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนคงที่ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 6.3 พันล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 2.6 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (8 – 12 พฤษภาคม 2560 )

กรรมการบางท่านของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ออกมาสนับสนุนให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากปัจจุบันการจ้างงานเต็มศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวเข้าใกล้เป้าหมาย 2% แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในบางช่วงเวลาอาจด้อยไปบ้าง และสนับสนุนให้ปรับลดขนาดงบดุลบัญชีลง ทำให้เกิดกระแสการคาดการณ์ในตลาดว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนหน้า ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้คณะกรรมการได้แสดงความเห็นว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% ในไตรมาส 4 ปีนี้และจะชะลอตัวลงในปีถัดไป พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้เป็น 1.9% จาก 2.0% แต่ปรับเพิ่ม GDP ปี 2018 และ 2019 ขึ้นเป็น 1.7% และ 1.8% ตามลำดับ

ตลาดตราสารหนี้ไทยการซื้อขายในสัปดาห์นี้มีปริมาณน้อยและอัตราผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน ปรับลดลงมาประมาณ 0.01% มาอยู่ที่ 1.2979%, 1.4044% และ 1.4670% ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรระยะยาว ช่วงอายุ 5-10 ปีปรับตัวขึ้น 0.01-0.02% และการประมูลพันธบัตรตลาดแรกรุ่นอายุ 49 ปีได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุนสถาบัน อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 3.57-3.717%, เฉลี่ย 3.6742% และ Bid-Coverage Ratio 1.18 ทางด้านนักลงทุนต่างชาติ มีการซื้อสุทธิประมาณ 7.16 พันล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 6.38 พันล้านบาท และ 782 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (2 – 5 พฤษภาคม 2560 )

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด โดยเฟดระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกที่ผ่านมาซึ่งย่ำแย่นั้นเป็นเพียงระยะสั้น เศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ในระดับปานกลางท่ามกลางตลาดแรงงานที่ดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าใกล้เคียง 2% ในระยะกลางตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. ปรับตัวดีขึ้นเกินคาดที่ระดับ 211,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงมาที่ 4.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2007 ทางด้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครอง ซึ่งเป็นนักการเมืองสายกลางได้รับชัยชนะไปตามความคาดหมาย จึงลดความเสี่ยงด้านการเมืองของยูโรโซนลง

หลังผลการประชุมเฟดและการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า (เดือนมิ.ย.) มาที่เกือบ 80% และ 10-Year US Treasury Yield ในวันศุกร์ปรับขึ้นมาที่ระดับ 2.35% จากวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 2.28% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย พันธบัตรรุ่นอายุ 15-20 ปีอัตราผลตอบแทนกลับปรับลดลง นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยรวม 8.8 พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 1.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาวประมาณ 7.1 พันล้านบาท