ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (11 – 15 กันยายน 2560 )

การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ในขณะเดียวกันนักลงทุนในตลาดคลายกังวลจากสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ความรุนแรงของพายุเออร์มาที่อ่อนกำลังลงและไม่ได้สร้างความเสียหายมากเท่าที่คาด ตลอดจนความหวังครั้งใหม่ต่อแผนการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลทรัมป์และดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางตลาดโลก โดยเฉพาะรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้น 0.03-0.11% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก สำหรับมูลค่าการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นจำนวนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.7 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 9.7 พันล้านบาท โดยในครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายนมีการเข้ามาลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ (หักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ) สูงถึง 1.05 แสนล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (4 – 8 กันยายน 2560 )

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินตามคาดในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยประธาน ECB เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะเริ่มพิจารณาเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไม่ได้แสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินยูโรซึ่งแข็งค่าขึ้นประมาณ 15% ในปีนี้ โดยประเมินว่าเป็นผลของเศรษฐกิจยูโรโซนที่ฟื้นตัวดี ทางด้านตลาดสหรัฐ มีกระแสการคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมาย และความเสียหายจากพายุเฮอริเคนที่ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ FED หลายท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 0.01-0.09% ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โดย 10-Year US Treasury แตะที่ระดับ 2.06% ในวันศุกร์ และดัชนีดอลลาร์ลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งจากความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี สำหรับมูลค่าการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นจำนวนเกือบ 6.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.8 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 1.7 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 28 เดือน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.4% จากเดือนก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้นมากกว่า 7% ในปีนี้จากกระแสเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังเกิดจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเอง จากความไม่มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลได้ตามแผนหรือไม่ ความไม่มั่นใจว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะสามารถผ่านแผนเศรษฐกิจสำคัญได้ อีกทั้งยังมีภัยธรรมชาติจากเฮอริเคนฮาร์วีย์ที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ฮุสตัน เท็กซัส นอกจากนี้สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธข้ามประเทศญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ตลาดทุนโดยรวมอยู่ในภาวะ Risk-off โดย 10-Year US Treasury ลงมาแตะที่ระดับ 2.11%

ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามผลการประมูลในตลาดแรกที่ปรับขึ้นมา ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลดลงตามตลาดต่างประเทศ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 13.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 8.3 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 5.6 พันล้านบาท โดยสรุปนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิงหาคม 2560 จำนวน 762,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากธันวาคม 2559 ที่มีการถือครองจำนวน 634,338 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (21 – 25 สิงหาคม 2560 )

การประชุมผู้นำธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ๊คสัน โฮล ที่มีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีนัยสำคัญในทางนโยบายการเงินใหม่ ๆ ออกมาตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เฝ้ารอ โดยประธานธนาคารกลางยุโรปไม่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น และประธานธนาคารกลางสหรัฐก็เลี่ยงที่จะระบุถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐในการแถลงสุนทรพจน์ ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจของไทยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ไตรมาสที่สองของปีนี้ว่าขยายตัวได้ 3.7% จากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยภาคต่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อย ๆ ฟื้นตัวจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น โดย สศช. ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นขยายตัว 3.5-4.0% จากเดิม 3.3-3.8%

จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 27 เดือนในสัปดาห์นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินติดตามการทำธุรกรรมเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident : NR) และแจ้งให้ธปท. ทราบ หากพบความผิดปกติของการโอนเงินระหว่างบัญชี Non-resident Baht Account ระหว่างวันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก หรือได้ทราบข้อมูลหรือพฤติกรรมของ NR ในตลาดเงินตราต่างประเทศในลักษณะที่เป็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว ประมาณ 7.5 พันล้านบาทและ 1.7 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (15 – 18 สิงหาคม 2560 )

รายงานการประชุมประจำเดือนก.ค. ของ FOMC ได้ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่มีความกังวลกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% เป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงควรรอให้อัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการยังเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากตลาดแรงงานสหรัฐที่อยู่ในภาวะจ้างงานเต็มศักยภาพแล้ว ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค. เช่นกัน ซึ่งคณะกรรมการ ECB เห็นว่าค่าเงินยูโรแข็งค่ามากเกินไป และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนยังไม่ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนก.ค. ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิ.ย.

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจน เงินเฟ้อชะลอตัวจากด้านอุปทาน ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลาย และสภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับสูง คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (Underpricing of risks)

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงอายุไม่เกิน 1 ปีปรับตัวขึ้น 0.04-0.08% จากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์นี้และผลการประมูลพันธบัตรตลาดแรกที่มีนักลงทุนสนใจน้อยลง โดยอัตราผลตอบแทนการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1350%, 1.1568% และ 1.3084% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.0414%, 1.0521% และ 1.2151% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 19.6 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตรระยะยาวประมาณ 9.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (7 – 11 สิงหาคม 2560 )

ในช่วงกลางสัปดาห์ มีเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ โดยเกาหลีเหนือประกาศว่าจะยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐที่เกาะกวม และประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์อย่างแข็งกร้าวว่าจะตอบโต้เกาหลีเหนืออย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ตลาดทุน Risk-off โดยราคาหุ้นในตลาดสำคัญปรับตัวลดลง ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวขึ้น ทั้งราคาทองคำและ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินหลักปรับตัวลง นอกจากนี้ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญประกาศ ได้แก่ จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้นเป็น 244,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 240,000 ราย, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค. ลดลง 0.1% จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2016 อันเป็นผลจากการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายภาคบริการ

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ ช่วงปลายสัปดาห์ 10-Year US Treasury Yield ปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 2.20% จากความวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยตลอดทั้งสัปดาห์ยังคงมียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่อัตราผลตอบแทนจากการประมูลปรับลดลงต่อ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.0414%, 1.0521% และ 1.2151% ตามลำดับ เปลี่ยนแปลงจากในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.0383%, 1.094% และ 1.3195% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ -0.01% ถึง +0.03% ทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 16.8 พันล้านบาท และ 6.2 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารอังกฤษมีมติ 6-2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์ ทางด้านฝั่งสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งดีและแย่กว่าที่คาดเช่น ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (PCE) เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.3% สะท้อนให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยังห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อของ FED, รายงานการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฏาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้เล็กน้อยที่ 185,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ที่ประมาณ 183,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานที่ลดลงสู่ระดับ 4.3% จากเดือนก่อนหน้าที่ 4.4% ช่วยสร้างความหวังว่าเฟดน่าจะดำเนินการตามเป้าหมายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลบัญชีต่อไปในปีนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในรอบสัปดาห์นี้ปรับลดลงในทุกช่วงอายุ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นยังคงปรับลดลงต่อ 0.05-0.09% โดยอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.0383%, 1.094% และ 1.3195% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1182%, 1.1608% และ 1.3524% ตามลำดับ ทางด้านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงเช่นกัน การประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 5 ปีได้รับความสนใจมากจากนักลงทุน และในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 36.5 พันล้านบาท และ 10.4 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (24 – 27 กรกฎาคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ย Federal Funds Rate ที่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดย FED ยังคงให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง การจ้างงานขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนเติบโตดี มีเพียงเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับขึ้นได้ต่ำกว่าคาด และให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการลดขนาดงบดุลว่าจะเริ่มต้นเร็ว ๆ นี้ ซึ่งตลาดมองว่า FED จะประกาศวันอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งหน้า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นักลงทุนในตลาดมั่นใจว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า และอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นไปตามคาดและความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐ ทำให้เกิดความต้องการซื้อสกุลเงินยูโรและสกุลเงินอื่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ค่าเงินยูโรจึงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.175 ในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนนี้และประมาณ 11.7% ในปีนี้

ทางด้านเศรษฐกิจของไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงการคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ว่าจะเติบโต 3.6% แม้ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าส่งออกเป็นเติบโต 4.7% จาก 3.3% โดยระบุว่าต้องรอดูผลการเบิกจ่ายงบกลางปี ซึ่งสศค. ปรับลดคาดการณ์อัตราเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2560 เหลือ 68.5% จากเดิม 76.9% จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับเดิม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในรอบสัปดาห์นี้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1182%, 1.1608% และ 1.3524% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1203%, 1.1772% และ 1.3705% ตามลำดับ ทางด้านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวค่อนข้างคงที่ และในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 7.9 พันล้านบาท และ 2.1 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 กรกฎาคม 2560 )

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาต่างมีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด โดยประธาน ECB ได้แถลงว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะพิจารณาปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต ในขณะที่ BOJ ประเมินเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อลงซึ่งส่งสัญญาณว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ส่งผลให้ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี และค่าเงินเยนต่อดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน หลังนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลทรัมป์ในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ล่าสุดไม่ประสบความสำเร็จในการผ่านร่างกฏหมายระบบประกันสุขภาพแบบใหม่ อัตราผลตอบแทน 10-Year US Treasury ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยในรอบสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2.24-2.31% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.33-2.38%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยตลอดทุกช่วงอายุยังคงปรับลงต่อ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นลดลงต่อเนื่อง 0.01-0.10% โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1203%, 1.1772% และ 1.3705% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1098%, 1.2693% และ 1.4110% ตามลำดับ ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว รุ่นอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลงไม่มากนัก ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เป็นจำนวนประมาณ 1.6 พันล้านบาท และ 454 ล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (11 – 14 กรกฎาคม 2560 )

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานธนาคารกลางสหรัฐแถลงต่อสภาคองเกรส โดยยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เฟดจะคงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งเฟดจะคอยเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานที่เติบโตดีจะสามารถหนุนให้รายได้ ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังคงเน้นย้ำว่าจะสามารถลดงบดุลลงได้ในปีนี้ จากถ้อยแถลงดังกล่าว ไม่ได้มีนัยสำคัญใหม่ต่างไปจากที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้อัตราผลตอบแทน 10-Year US Treasury ปรับลดลงเล็กน้อย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2.32-2.36% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.34-2.39%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยตลอดทุกช่วงอายุยังคงปรับลงต่อ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะเป็นผู้ขายสุทธิในสัปดาห์นี้ โดยขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) เป็นจำนวนประมาณ 665 ล้านบาท และ 10.66 พันล้านบาท ตามลำดับ อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นยังคงลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.10% โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.1098%, 1.2693% และ 1.4110% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2049%, 1.3337% และ 1.4374% ตามลำดับ ส่วนผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก