ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (26 – 30 มิถุนายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและนโยบายซื้อพันธบัตร เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่อังกฤษจะต้องยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงินอีกด้วย ทำให้ค่าเงินสกุลยูโรและสกุลปอนด์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ทางประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) กล่าวย้ำว่าเฟดควรปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดปริมาณการถือครองตราสารหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดท่านอื่นจะแสดงความคิดเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเติบโตดี

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐและยุโรปจึงกลับมาปรับตัวขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นตาม โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 5-25 ปี ท่ามกลางปริมาณการซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.6 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตรระยะยาว 7.3 พันล้านบาท ส่วนพันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนปรับลดลงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2484%, 1.3295% และ 1.4415% ตามลำดับ ทางด้านสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้ประกาศตารางประมูลพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2560 รุ่นอายุ 5-49 ปี จำนวนรวม 128,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 2 และ 3 จำนวน 142,000 และ 138,000 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (26 มิถุนายน – 30 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ โดยลดลง 0.48% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการที่นักลงทุนมีการขายหุ้นทำกำไรระยะสั้น จากที่เข้าซื้อมาก่อนหน้านี้เพื่อเก็งกำไรจากการทำ Window Dressing และการปรับหุ้นเข้า SET50 ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานที่คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่จะออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลง อย่าไรก็ตาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของไทยโดยรวมยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ทำให้สภาพัฒน์ฯมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ครึ่งปีหลังขยายตัวถึง 5% โดยได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนภาครัฐและภาคการส่งออกที่เติบโตดี

ปัจจัยต่างประเทศ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น หลังจากการรายงานตัวเลขทางเศรฐกิจออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐฯไตรมาส 1 ที่ 1.4% สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.2%

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นสวนทางกับ SET Index อยู่เหนือระดับ $45 ต่อบาร์เรล หลังจากการรายงานตัวเลขของ Department of Energy (US) ที่มีการปรับลดกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมองเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น ส่วนในระยะยาวราคาน้ำมันดิบยังคงน่ากังวล สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $46.04 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่ม 7.04% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็น Net buy ที่ 4.9 พันล้านบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,574.74 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.62 จุด หรือ -0.48%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 2 ในปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วงการปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 จะเริ่มจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะเริ่มทยอยประกาศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (19 – 23 มิถุนายน 2560 )

จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมากว่า 20% นับตั้งแต่ต้นปี ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะทบทวนจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ เช่น 10-Year US Treasury ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 2.1423% ถึง 2.1879% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าเฟดจะเพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในสัปดาห์ก่อนหน้า และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐหลายท่านให้ความเห็นในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการกลับสู่สมดุลของนโยบาย

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักบริหารหนี้สาธารณะแถลงแผนการทำธุรกรรม (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในวงเงินรวมไม่เกิน 90,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดของรัฐบาล เพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตร และส่งเสริมการบริหารจัดการพอร์ตหนี้ของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเป็นการนำพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 1-2 ปีไปแลกเป็นพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 15-50 ปี ทำให้เกิดแรงซื้อขายส่วนใหญ่ในพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 1-2 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 3.07 และ 8.93 พันล้านบาทตามลำดับ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ปรับลดลงเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วัน, 91 วัน และ 182 วัน อยู่ที่ 1.2468%, 1.3417% และ 1.4489% ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (19 มิถุนายน – 23 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 0.37% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดหุ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน โดยขยายตัวถึง 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำให้ 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวถึง 7.2% นำโดยกลุ่มสินค้าเกษตร ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางพารา และอิเล็คทรอนิกส์ และในช่วงกลางสัปดาห์ รัฐบาลร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดงาน Thailand Big Strategic Move ซึ่งในงานนี้ รัฐบาลได้เรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท และตั้งเป้า GDP เติบโต 3.5%

ปัจจัยต่างประเทศ ช่วงกลางสัปดาห์มีการประกาศนำหุ้นจีน A-Share เข้าคำนวณใน MSCI EM Index ในระดับ 0.37% และจะเริ่มใช้ในปี 2561 ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อ Fund Flow ของ Emerging Market ที่จะไหลเข้าจีน เหมือนที่นักลงทุนกังวลก่อนหน้านี้

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมายังถูกแรงกดดันจากที่นักลงทุนกังวลต่อสภาวะน้ำมันล้นตลาด จากข้อมูลของ EIA ที่จำนวน Rig Count ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรายงานการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศลิเบียและไนจีเรีย ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $43.01 ต่อบาร์เรล

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นขายสุทธิที่ 1.2 พันล้านบาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,582.36 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5.78 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ จากการที่นักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากกลุ่มพลังงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลง เข้าหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (12 – 16 มิถุนายน 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.75%-1.00% สู่ระดับ 1.00%-1.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 2.2% ในปีนี้ ซึ่งดีขึ้นจาก 2.1% ในการประเมินครั้งก่อน, การว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ (4.3%) และปรับอัตราเงินเฟ้อเป็น 1.6% จาก 1.9% นอกจากนี้ FOMC ยังให้รายละเอียดในเรื่องการลดขนาดงบดุล โดยจะเริ่มลดทันทีที่ดอกเบี้ยเข้าสู่ทิศทางที่เหมาะสม การถือครองพันธบัตรรัฐบาลและ Mortgage-backed Securities (MBS) จะลดลง 6 และ 4 พันล้าน/เดือน ตามลำดับ และจะปรับเพดานดังกล่าวขึ้นครั้งละ 6 และ 4 พันล้าน/เดือน ทุก 3 เดือนจนไปแตะระดับ 3 หมื่นล้าน/เดือน สำหรับพันธบัตรรัฐบาล และ 2 หมื่นล้าน/เดือนสำหรับ MBS และในสัปดาห์นี้มีการประชุมของธนาคารกลางประเทศสำคัญอื่น ๆ ซึ่งต่างคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 5-3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% โดยมีกรรมการ 3 ท่านสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่กรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอังกฤษและสหภาพยุโรปใกล้จะมีการเจรจาประเด็น Brexit และธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1%

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่องในทุกระยะ การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่น 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.2567% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.2679% โดยพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไป อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมา 0.01-0.10% ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์มีทั้งซื้อสุทธิและขายสุทธิ โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2.95 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 14.8 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (12 มิถุนายน – 16 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การที่รัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ทั้ง รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รวมถึงการเสนอให้ คสช. ใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะส่งผลดีต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และการที่จะมีการใช้ ม.44 ช่วยแก้ปัญหาการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ สปก. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมเดินหน้าเก็บภาษีนํ้าหวาน คาดเริ่มต้นประกาศ 16 ก.ย. 60 นี้ และเริ่มเก็บจริงในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานได้

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุมของ Fed มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ตามที่ตลาดคาดการณ์ และมีการพิจารณาประเด็นการปรับลดขนาดของ Balance sheet ลง ซึ่งจะเริ่มในปีนี้ โดยเริ่มจากลดการถือครองพันธบัตรที่ $6 พันล้าน/เดือน และจะเพิ่มอีก $6 พันล้าน ในทุก ๆ 3 เดือน จนยอดลดการถือครองปรับตัวขึ้นสู่ระดับ $30พันล้าน/เดือน รวมถึงการปรับลด MBS จำนวน $4 พันล้าน/เดือน และจะเพิ่มครั้งละ $4 พันล้านในทุก ๆ 3 เดือนเช่นกัน จนถึงระดับ $20 พันล้าน/เดือน จนกว่า Balance sheet ของ Fed ลดลงสู่ระดับ 2.0-2.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และจากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจต่อการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $44.47 ต่อบาร์เรล ลดลง 2.38% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 2.3พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,576.58 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.93 จุด หรือ 0.63%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูง หรือที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การลงทุนภาครัฐ หรือภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมจัดงาน “Thailand Big Strategic Move” ในช่วงวันที่ 22-23 มิถุนายน 60 เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าหุ้นไทย หลังจากข้อมูล YTD ของ Fund Flow นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 9 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (5 – 9 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวในกรอบแคบ 1,562 – 1,573 จุด โดยสิ้นสัปดาห์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเพียง 0.06% จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ปรับลงอย่างต่อเนื่อง จากที่ Department of Energy ของสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นสวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง รวมทั้งกำลังการผลิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 สิ้นสัปดาห์ปิดที่ $45.83 ต่อบาร์เรล ลดลง 3.84% WoW และความเสี่ยงทางการเมืองในอังกฤษ จากผลการเลือกตั้งที่อังกฤษอาจไม่เป็นไปตามคาด โดยพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ทำให้อาจจะเห็นกระบวนการ Brexit มีความยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นการคว่ำบาตรประเทศกาตาร์ของกลุ่มประเทศอาหรับนั้นยังไม่ส่งผลกระทบกับตลาดในระยะสั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตาม เนื่องจากเป็นประเทศเงินทุนใหญ่ของตลาดหุ้นโลก

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากการที่คณะรัฐมนตรีทยอยอนุมัติโครงการการลงทุนด้านคมนาคมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นก็ได้รับแรงกดดันจากประเด็นปัญหาการใช้พื้นที่ สปก.ของผู้ผลิตปิโตรเลียม ที่ส่งผลกระทบต่อหุ้น PTTEP และหุ้นโรงกลั่นน้ำมันบางราย รวมทั้งความกังวลต่อหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ที่มีความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการที่ EARTH ผิดนัดชำระหนี้

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นลบ โดยในสัปดาห์นี้มีการขายสุทธิ 1.3 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.65 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.95 จุด หรือ 0.06%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index จะยังมีการแกว่งตัวช่วงแคบ โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มสถาบันการเงินยังคงเป็นกลุ่มที่กดดันตลาดหุ้น ในขณะที่แรงซื้อจะกระจายไปในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเติบโตดี ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมของ FOMC โดยตลาดให้น้ำหนักกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นักลงทุนจะให้ความสนใจกับถ้อยแถลงเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปและนโยบายการปรับลด Balance Sheet ของ Fed

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (5 – 9 มิถุนายน 2560 )

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ -0.4%, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.25% และคงวงเงินในการซื้อพันธบัตร (QE) ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนไปจนถึงเดือนธ.ค. ปีนี้ นอกจากนี้ได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของกลุ่มยูโรโซนเป็น 1.9% ในปีนี้และ 1.8% ในปีหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงสู่ระดับ 1.5% ในปีนี้และ 1.3% ในปีหน้า จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 1.7% และ 1.6% ตามลำดับ การปรับลดดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายเวลาในการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ในขณะที่ผลการเลือกตั้งของอังกฤษ แม้ว่านางเทเรซา เมย์ จากพรรคอนุรักษ์นิยมจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้ แต่ก็ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเจรจาถอนตัวจากอียูของอังกฤษ (Brexit)

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่อง การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่น 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.2679% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.2934% สำหรับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไป อัตราผลตอบแทนปรับลดลงมา 0.01-0.07% ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์มีทั้งซื้อสุทธิและขายสุทธิ โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 16.5 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 6 พันล้านบาท