ภาวะตลาดหุ้นไทย (29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index มีความผันผวนมากขึ้น จากการปรับ Portfolio การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงสิ้นเดือนตามการปรับน้ำหนักของดัชนี MSCI ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลงแรงในวันทำการสุดท้ายของเดือน ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเริ่มเดือนใหม่ นำโดยแรงซื้อในหุ้น AOT ที่มีแนวโน้มเติบโตดีจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประชุม ครม. ที่มีการอนุมัติการจัดตั้ง Thailand Future Fund ที่คาดว่าจะเสนอขายนักลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ และการอนุมัติการเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 16 มิ.ย.

ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังผลิตของน้ำมันของสหรัฐฯ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.95 ต่อบาร์เรล ปรับลดลง 4.30% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวก มีการซื้อสุทธิที่ 4.9 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,567.60 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.67 จุด หรือ 0.11%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบ นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดีเป็นตัว ๆ มากขึ้น ในขณะที่ในสัปดาห์นี้มีปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามหลายประเด็น เช่น การเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ ที่จะส่งผลต่อความคืบหน้าและความรวดเร็วของกระบวนการ Brexit การประชุม ECB ที่อาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการผ่อนคลายทางการเงิน และการให้ข้อมูลประเด็นทรัมป์-รัสเวียของอดีต ผอ.FBI ต่อที่ประชุมวุฒิสภาของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์นี้ ทางด้านสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะออกมาดีและยังสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป ดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุดของเยอรมนีปรับตัวลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระดับใกล้ 2% ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันต่อ ECB ในการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป ยังส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนต่อไป

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนพ.ค. หดตัวลง 0.04% (yoy) จากที่ขยายตัว 0.38% ในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15% (mom) ส่งผลให้ Headline CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.81% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน (Core CPI) ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.46% (yoy) ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 0.50% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.01% (mom) ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 0.58%

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนยังปรับลดลงต่อเนื่อง ตามทิศทางตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ โดย 10-Year US Treasury Yield ในวันศุกร์ปรับลดลงมาต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.25% มาอยู่ที่ 2.16% สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะในรุ่น 3 ปีขึ้นไปปรับลดลงมา 0.01-0.05% ส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประมาณ 7.14 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 5.25 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (22 – 26 พฤษภาคม 2560 )

รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐประจำเดือนพ.ค. มีเนื้อหาโดยรวมไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระบุถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปหากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญคือการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการในครั้งแรก สภาวะตลาดโดยรวมยังคงกังวลว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่สามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำสุดของปี ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี (10-Year US Treasury) ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.2465% จากสิ้นสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.2346%

ทางด้านผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยครั้งที่ 3 ของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนปรับลดลงในรุ่น 5-10 ปี ส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาซื้อพันธบัตรจากตลาดรองในรุ่นอายุ 5-12 ปี โดยรับซื้อไปจำนวน 7.81 พันล้านบาทจากจำนวนเสนอขาย 15.12 พันล้านบาท และการเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในรอบสัปดาห์นี้จำนวน 14.18 พันล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 3.18 พันล้านบาทและ 11 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (22 – 26 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ปิดที่ 1,569.27 จุด โดยได้รับผลบวกจาก Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการ Rebalance Portfolio ของนักลงทุนในประเทศหลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย เติบโต 8.5% YoY โดยสินค้าหลักยังคงมาจากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นและความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และการประชุมของ กนง. ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้น ผลการประชุมของ Fed มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป ทำให้ Bloomberg Consensus ปรับขึ้นความน่าจะเป็นกลับมาอยู่ในระดับ 100% จากที่เคยลดลงในระดับ 85% จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเด็นที่ FBI เข้าตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับรัสเซีย ในกรณีที่มีข่าวว่ารัสเซียช่วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี นอกจากนี้ Fed ยังได้หารือเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลของ Fed จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ $4.5 ล้านล้าน ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบจากการวางระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏฯและการก่อการร้ายในอีกหลายประเทศ

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากการประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่มีมติขยายการลดกำลังการผลิตต่อไปอีก 9 เดือน ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ทำให้มีการขายทำกำไรจากที่เคยเข้ามาเก็งกำไรก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI จึงปรับตัวลงไปต่ำกว่า $50 ต่อบาร์เรลอีกครั้ง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.80 ต่อบาร์เรลปรับลดลง 1.05% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวก มีการซื้อสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,569.27 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19.63 จุด หรือ 1.27%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดีเป็นตัว ๆ มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจการเลือกตั้งในอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน หลังจากผลสำรวจที่ล่าสุด พรรค Conservative ของนาง Theresa May ได้รับความนิยมลดลง ซึ่งสวนทางกับความนิยมของพรรค Labour ของนาย Jeremy Corbyn ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของ Bloomberg Online Poll Tracker พรรค Conservative ยังมีคะแนนความนิยมนำห่างพรรค Labour 44% ต่อ 36%

ภาวะตลาดหุ้นไทย (15 – 19 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นและความมั่นใจของนักลงทุนจากการประกาศ GDP ไตรมาส 1/2560 ออกมาดีกว่าคาด โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ ปิดที่ $50.33 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 5.20% เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดเผยตัวเลขรายสัปดาห์ของ Department of Energy (DOE) ของสหรัฐฯ ที่ปริมาณน้ำมันดิบสำรองยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 และเก็งกำไรก่อนการประชุม OPEC ว่า OPEC จะต่ออายุมาตรการการลดกำลังการผลิตของกลุ่มออกไปถึงเดือนมีนาคม 2561 และการที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเหลือระดับ $50 ต่อบาร์เรลได้ ทำให้มีเงินไหลเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานมากขึ้น ในขณะที่การประการตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่มีการเติบโต 3.3% YoY ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และทำให้มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 1 ได้แรงสนับสนุนจากภาคส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัวดี โดย -1.1% YoY

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศนั้น จากการที่เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธเป็นครั้งที่ 8 ในรอบปี ซึ่งครั้งนี้ขีปนาวุธตกบริเวณน่านน้ำของญี่ปุ่น ทำให้ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเมืองในสหรัฐฯก็มีความตึงเครียดมากขึ้น จากข่าวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจถูกรัฐสภาลงมติถอดถอน ในกรณีที่ทรัมป์ปลด ผอ. FBI ที่เข้าสอบสวนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับรัสเซียในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยไม่ตอบรับต่อผลดังกล่าว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,549.64 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.70 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index คาดว่า SET Index จะมีการแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกหรือลบที่ชัดเจนเข้ามากระทบตลาด ทั้งนี้ ในวันที่ 24 พฤษภาคม จะมีการประชุมของ กนง. ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (15 – 19 พฤษภาคม 2560 )

ตลาดสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงทางการเมือง หลังประธานาธิบดีทรัมป์สั่งปลดผู้อำนวยการ FBI และสั่งให้ยุติการสืบสวนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติกับรัฐบาลรัสเซีย ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป นอกจากนี้ข้อมูลดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ และข้อมูลเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลง ยิ่งส่งผลให้การคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมิ.ย. มีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปี (10-Year US Treasury Yield) ในสัปดาห์ที่แล้วปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ 2.22% จากวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 2.32%

ในขณะที่สภาพัฒน์ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2560 ว่าขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ร้อยละ 1.3 และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2560 ว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3.3 – 3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับลดลงตามทิศทางตลาดสหรัฐ โดยรุ่นอายุ 5-10 ปี ลดลง 0.03-0.04% ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นอัตราผลตอบแทนคงที่ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 6.3 พันล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.7 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 2.6 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (8 – 12 พฤษภาคม 2560 )

กรรมการบางท่านของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ออกมาสนับสนุนให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากปัจจุบันการจ้างงานเต็มศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวเข้าใกล้เป้าหมาย 2% แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในบางช่วงเวลาอาจด้อยไปบ้าง และสนับสนุนให้ปรับลดขนาดงบดุลบัญชีลง ทำให้เกิดกระแสการคาดการณ์ในตลาดว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนหน้า ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้คณะกรรมการได้แสดงความเห็นว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% ในไตรมาส 4 ปีนี้และจะชะลอตัวลงในปีถัดไป พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้เป็น 1.9% จาก 2.0% แต่ปรับเพิ่ม GDP ปี 2018 และ 2019 ขึ้นเป็น 1.7% และ 1.8% ตามลำดับ

ตลาดตราสารหนี้ไทยการซื้อขายในสัปดาห์นี้มีปริมาณน้อยและอัตราผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยพันธบัตรระยะสั้น อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน ปรับลดลงมาประมาณ 0.01% มาอยู่ที่ 1.2979%, 1.4044% และ 1.4670% ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรระยะยาว ช่วงอายุ 5-10 ปีปรับตัวขึ้น 0.01-0.02% และการประมูลพันธบัตรตลาดแรกรุ่นอายุ 49 ปีได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุนสถาบัน อัตราผลตอบแทนอยู่ในช่วง 3.57-3.717%, เฉลี่ย 3.6742% และ Bid-Coverage Ratio 1.18 ทางด้านนักลงทุนต่างชาติ มีการซื้อสุทธิประมาณ 7.16 พันล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 6.38 พันล้านบาท และ 782 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (8 – 12 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม SET Index มีการแกว่งตัวลงและลดลงต่ำกว่า 1,550 จุด โดยสิ้นสัปดาห์ปิดที่ 1,543.94 จุด ปัจจัยหลักมาจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ของบริษัทในกลุ่มของ Mid–Small cap ที่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ รวมถึงการ Sell on fact ในบริษัทที่ประกาศผลประกอบการดีที่มีการเก็งกำไรก่อนหน้า ทำให้ดัชนี sSET และ MAI ปรับตัวลงแรงกว่า -4.41% และ -4.94% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแรงขายในหุ้นกลุ่มน้ำมันที่ถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI แกว่งตัวอยู่ในระดับ $45 - 47 ต่อบาร์เรล และหุ้นกลุ่มถ่านหินที่มีแรงขายจากการที่ราคาถ่านหินปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นเดือน โดยราคาถ่านหินที่ท่าเรือ Newcastle ปิดที่ $72.40 ต่อตัน ลงลดกว่า 9% จากต้นเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากมีข่าวว่า OPEC และรัสเซียพร้อมที่จะขยายเวลาลดกำลังผลิตต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2560 ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.84 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.5% WoW

Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเป็น Net Buy ที่ 4.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,543.94 จุด ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 25.08 จุด หรือ -1.60%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index ยังมีแนวโน้มอ่อนตัว จากแรงขายทำกำไรหลังการประกอบผลประกอบการไตรมาสที่ 1 และการปรับ Portfolio ของกองทุน อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสัปดาห์จะมีการประกาศ GDP ใน 1Q60 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนตลาดได้ในระยะสั้น จากมุมมองส่วนใหญ่ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่า GDP จะเติบโตขึ้นประมาณ 3.0% – 3.3% และการที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวขึ้น อาจจะส่งผลให้มีการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงานก่อนการประชุมของกลุ่ม OPEC ในปลายเดือนนี้