ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (14 – 18 พฤศจิกายน 2559 )

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านในเดือนตุลาคมที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 43 ปี และประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาครองเกรสว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ อัตราผลตอบแทนของ US Treasury 10-Year จึงขึ้นไปแตะระดับ 2.34% หรือเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.83% ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากหลังทราบผลว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน (US Dollar Index) ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้เกิดแรงขายพันธบัตรในกลุ่มประเทศเอเชีย สำหรับพันธบัตรรัฐบาลไทย นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตั้งแต่วันที่ 10-18 พ.ย. ประมาณ 80.6 พันล้านบาท โดยเป็นการขายทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว และอัตราผลตอบแทนในช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.12-0.47%

ภาวะตลาดหุ้นไทย (7-11 พฤศจิกายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน SET Index ผันผวนในกรอบ 1,486- 1,522 จุด โดยในช่วงต้นสัปดาห์ SET Index สามารถกลับมายืนเหนือ 1,500 จุดได้อีกครั้ง เมื่อปรากฏข่าวว่า FBI ได้หยุดการพิจารณาในประเด็นการใช้ E-mail ส่วนตัวของนางฮิลลารี่ คลินตัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่านางคลินตันจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนกลับมา และจะทำให้นางคลินตันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ออกมา ปรากฏว่าเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับการที่พรรครีพับบลิกันได้รับชัยชนะครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ในช่วงแรกมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้น จากการคาดการณ์ว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ราบรื่นขึ้น เนื่องจากครองเสียงข้างมากทั้งในด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ได้เกิดแรงเทขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่านโยบายทางเศรษฐกิจของนายทรัมป์ ที่จะเร่งการลงทุนภาครัฐ จะทำให้สหรัฐฯขาดดุลงบประมาณมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่านายทรัมป์อาจจะออกมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นด้วย ทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพิ่มขึ้นอีก 9,273 ล้านบาท แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีตามที่นักวิเคราะห์คาดก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากการที่ราคาน้ำมันดิบยังคงลงต่อเนื่อง โดยสิ้นสัปดาห์ปิดที่ $43.41 ต่อบาร์เรล จากการที่กลุ่ม OPEC มีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้มีความกังวลว่าการประชุมเพื่อควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้จะล้มเหลว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,494.53 จุด ปรับเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.59%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ตลาดยังคงมีความผันผวน เนื่องจากยังมีแนวโน้มที่ Flow ต่างชาติยังคงไหลออกจากไทยและภูมิภาคอีกระยะหนึ่ง ตลาดยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับนโยบายของนายทรัมป์ ช่วงก่อนรับตำแหน่งประธานาธิปดี ในวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประกาศจะดำเนินนโยบายเร่งด่วนในช่วง 100 วันแรกหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (7 – 11 พฤศจิกายน 2559 )

คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในวันพุธที่ผ่านมา โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้าแม้มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นแต่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าคาดจากปัจจัยด้านอุปทาน สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทางด้านเหตุการณ์สำคัญคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย. นับตั้งแต่ผลโพลที่มีคะแนนสูสีกันจนกระทั่งเมื่อผลการเลือกตั้งจริงออกมา ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งนำไปสู่ความผันผวนในสกุลเงินอื่น ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นอีกด้วย ภายหลังผลการเลือกตั้งออกมาพลิกความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 และพรรครีพับลิกันได้รับเสียงข้างมากในสภาครองเกรส ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกต่างกังวลกับนโยบายสุดโต่งของนายทรัมป์ แต่หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ ตลาดกลับคลายกังวลส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาบวกและพันธบัตรสหรัฐเผชิญแรงขายอย่างรุนแรง โดยล่าสุด US Treasury 10-Yr ขึ้นไปแตะระดับ 2.20% เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมและอาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทย ทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.05-0.17% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวประมาณ 22.07 พันล้านบาท และ 5.14 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมนโยบายการเงินของหลายประเทศสำคัญ เช่น ช่วงต้นสัปดาห์ BOJ มีมติคงเครื่องมือทางการเงินไว้ดังเดิม และไม่เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ GDP Growth แต่ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อเป้าหมายจะถึง 2% ภายในครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2018 ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ก็มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังเดิม และให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจดูลดน้อยลง ส่วนการประชุมนโยบายการเงินของประเทศอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมและคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจยังดีอยู่เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Brexit นอกจากนี้ ตลาดการเงินตลาดทุนโดยรวมวิตกผลการเลือกตั้งในสหรัฐที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า จึงทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดสำคัญ ๆ ปรับตัวลง

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศดังกล่าวบ้าง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุประมาณ 20 ปี ได้รับการตอบรับไม่ดี ทั้งอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าวันก่อนประมาณ 0.10% และปริมาณผู้เสนอซื้อมีน้อยกว่าปริมาณขาย

ภาวะตลาดหุ้นไทย (31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน SET Index แกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,478- 1507 จุด โดย SET Index อ่อนตัวลงในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ทำให้ยังไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ ทั้งนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์เป็นต้นมา นักลงทุนได้มีการขายหุ้นขนาดใหญ่ ทั้งกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มสื่อสาร จากปัจจัยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. ที่เดิมนักลงทุนคาดหวังว่านางฮิลลารี คลินตัน จะชนะการเลือกตั้ง แต่การที่ FBI รื้อคดี E-mail ของนางฮิลลารี ทำให้นางฮิลลารีเสียคะแนนเสียงไปมาก และคะแนนเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ตีตื้นขึ้นจนใกล้เคียงกันมาก นอกจากนี้ ความกังวลจากภาวะน้ำมันล้นตลาดเนื่องจากกลุ่ม OPEC ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 5 วัน หรือลดลง 6.2% WoW และเป็นปัจจัยกดดันกลุ่มพลังงานที่เกี่ยวกับราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การที่ราคาถ่านหินได้ทำราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยสิ้นสับดาห์ปิดที่ 108.25$/ตัน และการประชุมของ BoE, BoJ และ FOMC ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม (0.25%, -0.1% และ 0.25-0.5% ตามลำดับ) ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดได้ระดับหนึ่ง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างโดดเด่น โดยปรับตัวขึ้น 4.42% เนื่องจากเป็นช่วงการเปิดประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง รวมมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,485.70 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.58 %

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ตลาดมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูงได้ เนื่องจากนางฮิลลารีมีโอกาสได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯมากขึ้น เนื่องจากผลสรุปจาก FBI ไม่พบสิ่งผิดปกติใน E-Mail ของนางฮิลลารี และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 3 ที่กำลังจะประกาศออกมา ยังคาดว่าส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดทั่วโลกให้ความสนใจ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (25 – 28 ตุลาคม 2559 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยการขยายตัว GDP ของอังกฤษในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทางด้านตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ตัวเลขทั้งยอดขายและราคาบ้านส่งสัญญาณที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาเติบโต 2.9% ดีกว่าการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ 1.4% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.5% นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นของกรรมการ FOMC บางรายว่าการประชุมในเดือนธันวาคมเหมาะสมที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดย 10-Year UST แตะระดับ 1.85% ในวันศุกร์ผ่านมา จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เคลื่อนไหวในช่วง 1.73-1.77%

ทางด้านตลาดพันธบัตรไทย การประมูลรุ่นอายุ 5 ปีจำนวน 30,000 ล้านบาท ในวันพุธได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 1.9209%, Bid Coverage Ratio 1.67 เท่า ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีประมาณ 10.4 พันล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 3.3 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของสัปดาห์มีนักลงทุนสถาบันต้องการลดจำนวนการถือครองลง ตามกระแสการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศหลัก (Sovereign Bond Yield) เนื่องจาก เข้าใกล้วันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.10% โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 2-10 ปี

ภาวะตลาดหุ้นไทย (25-28 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนตุลาคม SET Index มีการแกว่งตัวช่วงแคบในกรอบ 1,488- 1,508 จุด โดย SET Index ยังไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้อย่างมั่นคง นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 มียอดขายสุทธิรวมในเดือนตุลาคม (1-28 ตุลาคม) ถึง 1.56 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการคาดการณ์ว่า Fed น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในการประชุมเดือนธันวาคม และค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายเงินลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และกลับไปถือครองเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียน ที่ส่วนใหญ่ยังออกมาดี ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงไม่มากนัก

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,494.44 จุด ปรับลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -0.40%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้น ยังคงต้องติดตามการประชุมของ Fed, BOE, BOJ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-3 พฤศจิกายน และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตลาดมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากข่าวที่ FBI เตรียมรื้อคดีการใช้ E-mail ส่วนตัวของนาง Hillary Clinton ที่ทำให้ความนิยมของนาง Clinton ลดลงในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (17 – 21 ตุลาคม 2559 )

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งด้านบวกและลบ ทางด้านสหรัฐอเมริกา ยอดผู้ขอรับเงินชดเชยมากกว่าที่คาด ในขณะที่ยอดขายบ้านที่มีอยู่เดิมในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นดีกว่าคาด ส่วนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 6.7% ตามความคาดหมาย ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงนโยบายการเงินตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม และคงปริมาณการซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ (QE) ไว้ที่ระดับ 80 พันล้านยูโรต่อเดือน

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ของไทย อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงมาเกือบทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 5-20 ปี ปรับลง 3-13 bps ส่วนหนึ่งเกิดจากการคลายความกังวลจากสัปดาห์ก่อนหน้า จึงเริ่มกลับมาเพิ่มสถานะการถือครองมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวจำนวนประมาณ 4 พันล้านบาท และ 7.2 พันล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เข้ามาซื้อตราสารหนี้ภาครัฐในตลาดรอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการ Open Market Operations โดยซื้อคืนพันธบัตรอายุคงเหลือ 2-7 ปี จำนวน 7 พันล้านบาท จากจำนวนที่เสนอขายทั้งหมดประมาณ 22.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (17-21 ตุลาคม 2559)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ และปิดได้ที่จุดสูงสุดของสัปดาห์ที่ 1,500.37 จุด นักลงทุนสถาบันยังคงเข้าซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากปัจจัยที่วิตกกังวลในประเทศผ่านพ้นไป ทำให้ยอดซื้อสุทธิสะสมของนักลงทุนในประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาของเดือนตุลาคมสูงถึง 21,435 ล้านบาท โดยการซื้อกระจายไปในเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายขายสุทธิในเดือนตุลาคม โดยขายสุทธิ 11,620 ล้านบาท และคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นการขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ออกมาแล้ว แม้ว่ากำไรสุทธิจากเติบโตถึง 16% YoY แต่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งได้ให้มุมมองว่าอาจจะมีการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นในปี 2017 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวลง ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีการขายหุ้นกลุ่มอิเล็คทรอนิคส์ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ SET Index ยังได้รับผลที่จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะถ่านหินที่ราคาปรับตัวขึ้นทะลุ $90/ตัน

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,500.37 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.55%

ในส่วนของมุมมองระยะสั้นนั้น SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 1,500 จุดได้ จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ยังคงกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น โดยตลาดยังน่าจะได้รับผลดีจากการประกาศผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มทยอยออกมาจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ยังคาดว่าส่วนใหญ่จะประกาศผลประกอบการออกมาดี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (10 – 14 ตุลาคม 2559 )

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดยังเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แม้ว่าจะมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ทั้งสร้างความผิดหวังหรือตัวเลขที่แสดงการเติบโต เช่น ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.56 แสนตำแหน่งซึ่งน้อยกว่าที่คาด / อัตราการว่างงานขยับขึ้นเป็น 5%, ยอดผู้เข้ารับสวัสดิการการว่างงานใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 246,000 คน ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้และถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 42 ปี เป็นต้น แต่การแสดงท่าทีของสมาชิกในคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) ที่พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ของเดือนก่อนหน้าที่ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าเกินไปจะสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต กลับมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดมากกว่า ดังนั้น US Treasury Yield จึงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยรุ่น 10 ปีแตะที่ระดับ 1.81% ในวันศุกร์

จากปัจจัยภายนอกดังกล่าว ประกอบกับความผันผวนของตลาดหุ้นไทยอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ขายทั้งหุ้นและพันธบัตร โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรอายุสั้นกว่า 1 ปีต่อเนื่องทุกวันรวมเป็นจำนวนเกือบ 27 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีจำนวน 8.8 พันล้านบาท รวมขายสุทธิประมาณ 35.5 พันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าไปแตะระดับ 35.8 และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านตั้งแต่ -0.03% ถึง +0.11%