อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2561

ในเดือนมกราคม SET Index มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2560 และสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตดีพร้อม ๆ กันทั่วโลก และมีการปรับประมาณการการเติบโตในปี 2561 และ 2562 ขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นที่ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน

SET Index ในเดือนมกราคมมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2560 และสามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ได้ที่ระดับ 1,838.96 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการที่เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กันทุกภูมิภาคนี้ จะส่งผลดีต่อภาคการค้าการลงทุนด้วย นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาวะอากาศหนาว รวมทั้งการคาดการณ์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วย และทำให้น้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ มีการลดลงอย่างมากในปี 2560 แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีการผลิตน้ำมัน Shale Oil เพิ่มขึ้นมากก็ตาม ซึ่งการที่ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนนี้ ส่งผลดีต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงานอย่างมาก ทั้งจากการคาดการณ์ผลประกอบการที่ดีขึ้นและการปรับมูลค่าหุ้นให้สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากการตั้งสำรองฯ ที่สูงขึ้นเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเลย ทั้งการที่คะแนนความนิยมของรัฐบาลลดลงและแนวโน้มที่การเลือกตั้งจะมีการเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2562 เมื่อ สนช. มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 2 ให้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ 90 วันภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,826.86 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4.2% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี +10.4% กลุ่มพลังงาน +9.9% และกลุ่มเงินทุนฯ +8.7% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว -6.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -4.7% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -1.3% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 5,699 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 5,430 ล้านบาท

บลจ.ทาลิส ยังคาดว่าในปี 2561 นี้ ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ตลาดอาจจะมีความผันผวนบ้าง เนื่องจากตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก จากการคาดการณ์ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการเติบโตดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน Bitcoin เริ่มมีการปรับตัวลงแรงจากมาตรการควบคุมการซื้อขายเงิน Cryptocurrency ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ซึ่งหากตลาดใดเกิดความผันผวนสูง ก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบถึงกันได้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2560

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐรอบสุดท้ายของปีนี้ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.25-1.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในปี 2561 และ 3 ครั้งในปี 2562 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐปี 2560 เป็น 2.5% จากเดิมที่ 2.4% ส่วนในปี 2561, 2562 และ 2563 อยู่ที่ระดับ 2.5%, 2.1% และ 2.0% ตามลำดับ และมองว่าอัตราการขยายตัวในระยะยาวจะอยู่ที่ระดับ 1.8% แม้เฟดจะมีมุมมองว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายต่อไป จึงเป็นไปได้ว่าเฟดอาจไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก ทางด้านปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและราคาสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ความวิตกเกี่ยวกับความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์และความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล, การอนุมัติกฎหมายปฏิรูปภาษีโดยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% มีผลบังคับใช้ในปีหน้า, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 0.4% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์, เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.2% จากไตรมาสก่อน ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์มองไว้ที่ 3.3% เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญอื่นในเดือนนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม และยืนยันการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนที่ลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโร เริ่มเดือนม.ค.-ก.ย. ปีหน้า สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้ปรับเพิ่มการเติบโตเป็น 2.4% จาก 2.2% คงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.5% และปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2561 จาก 1.8% เป็น 2.3% และอัตราเงินเฟ้อจาก 1.2% เป็น 1.4%, ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยมองว่าในอนาคตการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ และต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศรวมถึงพัฒนาการเงินเฟ้อ นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค

ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ 32.659 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารจากธนาคารแห่งประเทศไทย) อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่แข็งค่าขึ้นกว่า 8.8% ในปีนี้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลรวม 17.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.7 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.3 พันล้านบาท และหักพันธบัตรที่ครบกำหนดจำนวน 2.06 หมื่นล้านบาท ทางด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นเดือน แต่กลับลดลงมามากในช่วงปลายเดือนจากแรงซื้อนักลงทุนสถาบัน ประกอบกับสภาพตลาดที่ค่อนข้างเงียบเนื่องจากเข้าใกล้วันหยุดยาว ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.0881%, 1.1301% และ 1.3458% ตามลำดับ ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในระหว่างเดือนมีการปรับตัวขึ้นตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐซึ่งในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนปรับขึ้น 0.02-0.14% อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดการเงินและมุมมองของตลาดตราสารหนี้ไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงมาในช่วงปลายเดือน สรุปการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 2560 ได้ดังตาราง ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุไม่เกิน 20 ปีปรับลดลงมา 0.11-0.42% ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่อัตราผลตอบแทนในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปีปรับเพิ่มขึ้น 0.03-0.92% อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินและความคาดหวังต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2560

ในเดือนธันวาคม SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน จนสามารถปิดที่จุดสูงสุดของปีที่ 1,753.71 จุด ต่ำกว่าจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์เพียง 0.02 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นที่ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน การออกกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯที่ช่วยสนับสนุน Sentiment การลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการซื้อกองทุน LTF/RMF ในช่วงสิ้นปี

SET Index ในเดือนธันวาคมมีการแกว่งตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน จนสามารถปิดที่จุดสูงสุดของปีที่ 1,753.71 จุด ต่ำกว่าจุดสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์เพียง 0.02 จุด (SET Index ปิดสูงสุดที่ 1,753.73 จุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2537) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตดีขึ้น และคาดว่า Momentum จะต่อเนื่องไปในปี 2561 ด้วย ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กันทุกภูมิภาคนี้ จะส่งผลดีต่อภาคการค้าการลงทุนด้วย และทำให้นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น และในช่วงสิ้นปี รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันโครงการลงทุนพื้นฐานออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวในหัวเมืองรอง 55 จังหวัด การออกมาตรการช่วยเหลือคนที่มีกำลังซื้อต่ำ ซึ่งรวมถึงกำลังพิจารณาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟส 2 สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี การลงนามสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง การอนุมัติการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทยจีนระยะแรก จากกลางดงถึงปางอโศก เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากแรงซื้อของกองทุน LTF/RMF ในช่วงสิ้นปี และทำให้ในเดือนธันวาคมนี้ สถาบันในประเทศมีการซื้อสุทธิสูงถึง 30,295 ล้านบาท

ปัจจัยภายนอกก็ส่วนสนับสนุนตลาดหุ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป หลังจากที่รอคอยมาตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี ซึ่งการปฏิรูปภาษีนี้คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2561 ได้มาก และส่งผลดีต่อ Sentiment การลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่การประชุม FOMC ในเดือนธันวาคม Fed มีการปรับขึ้น Fed Fund Rate ตามคาด นอกจากนี้ การที่ OPEC มีมติให้ขยายมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปถึงสิ้น 2561 และการที่ท่อส่งน้ำมันดิบในลิเบียระเบิดและส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในลิเบีย รวมถึงการที่น้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ $60/บาร์เรลได้ ส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี โดยคาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 4 และปี 2561 จะออกมาดีด้วย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2560 SET Index ปิดที่ 1,753.71 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.3% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงาน +7.4% กลุ่ม ICT +6.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +6.6% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ -7.6% กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -4.0% และกลุ่มการแพทย์ -3.4% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 8,957 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิถึง 30,295 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2560 นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 25,755 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิสูงถึง 103,632 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มตลาดในปี 2561 บลจ.ทาลิส ยังคาดว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้นได้ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นด้วย ในขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนยังคงสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น และหากมีการประกาศกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปว่าจะมีขึ้นภายในต้นปี 2562 ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

ในขณะที่ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยในปี 2561 ได้แก่ หากอัตราเงินเฟ้อมีการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาด ในขณะที่ Fed มีการปรับขึ้น Fed Fund Rate ต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่ ธปท.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ การเข้าจดทะเบียนของ Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคาดว่าจะมีการ IPO หุ้นประมาณ 5% แต่มีมูลค่าสูงถึง $100,000 ล้าน จะทำให้นักลงทุนสถาบันทั่วโลกต้องมีการปรับ Portfolio การลงทุน เพื่อรองรับการเข้าลงทุนใน Aramco และความเสี่ยงเกี่ยวกับ Bitcoin ที่หากฟองสบู่ Bitcoin แตก อาจจะส่งผลให้นักลงทุนมีการขายสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ถืออยู่ เพื่อไปชดเชยการขาดทุนจากการลงทุนใน Bitcoin ได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2560

ในเดือนพฤศจิกายน SET Index มีการแกว่งตัวช่วงแคบระหว่าง 1,687-1,714 จุดตลอดทั้งเดือน เนื่องจากการขายทำกำไรหลังจาก SET Index ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากและรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และนักลงทุนในประเทศมีการขายหุ้นบางส่วนเพื่อไปจองซื้อหุ้น IPO นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ปิดบัญชีสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับประมาณการตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการคาดหวังภาวะเศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้นในปี 2561

การแกว่งตัวของ SET Index ระหว่าง 1,687-1,714 จุด สืบเนื่องมาจาก SET Index ที่มีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากและรวดเร็วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,720 จุด ก็มีแรงขายทำกำไรออกมาค่อนข้างมาก ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาด ได้แก่ การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด คือทรงตัวจากไตรมาสที่ 3/2559 และลดลง 3% จากไตรมาสที่ 2/2560 อย่างไรก็ตาม การที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าคาดนี้ ประเด็นสำคัญมาจากการตั้ง Impartment แหล่ง Oil Sand ในแคนาดาของ PTTEP จำนวนกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิของ PTT ลดลงประมาณ 12,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งหากไม่นับรายการดังกล่าว ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 จะเติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของไตรมาสที่ 3/2559 และเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของไตรมาสที่ 2/2560 และทำให้กำไรสุทธิช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 มีการเติบโต 10% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ นักลงทุนในประเทศยังมีการขายหุ้นออกมาบางส่วนเพื่อรอการซื้อหุ้น IPO ของ GULF ที่คาดว่าเมื่อเข้าตลาดฯ จะมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1 แสนล้านบาท (ประมาณ 0.6% ของตลาดฯ) ซึ่งถือว่าเป็นหุ้น IPO ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทยในรอบหลายปี ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติได้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นเอเชีย เพราะเป็นช่วงใกล้ปิดบัญชีสิ้นปีและเข้าสู่ช่วงการพักผ่อนในเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งการย้ายเงินลงทุนบางส่วนกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ เนื่องจากคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมื่อมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะสามารถประกาศใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ กลุ่ม ICT มีการปรับตัวลงค่อนข้างมาก จากการที่ กสทช. ยังไม่อนุมัติให้ ทศท. ทำสัญญาการให้บริการข้ามโครงข่าย (Roaming) กับ DTAC บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ในการให้บริการการสื่อสารไร้สายได้ ทำให้มีความกังวลว่าการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ในปี 2561 จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก DTAC จะต้องประมูลคลื่นความถี่ให้ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตมีการกระจายไปในหลายภาคส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งทำให้หลายหน่วยงานมีการปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2561 ขึ้น รวมทั้งได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือการเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดปี 2561 เป็นต้น รวมทั้งการที่กระทรวงการคลังและ ธปท.มีการคาดการณ์ว่าไม่น่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปี 2561 เพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จากมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีการปรับประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2560 ลง เพื่อสะท้อนผลประกอบการช่วง 9 เดือนที่ประกาศออกมา แต่ยังคงประมาณการผลประกอบการปี 2561 ทำให้มีการคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 จะเติบโตถึง 12-13% จึงยังมีนักลงทุนทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ SET Index แกว่งตัวอยู่ในช่วง 1,700+/- จุด

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 SET Index ปิดที่ 1,697.39 จุด ปรับตัวลดลงจาก 1,721.37 จุด เดือนก่อนหน้า 1.4% โดยหุ้นกลุ่มหลักที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว +10.4% กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +3.4% และกลุ่มขนส่ง +2.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวลงมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -10.4% กลุ่ม ICT -8.6% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ -7.9% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิค่อนข้างมากถึง 19,163 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศยังเป็นผู้ซื้อสุทธิ 5,291 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มตลาดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ยังคาดว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนเพื่อการพักผ่อนระยะยาว ในขณะที่ยังมีแรงซื้อจากกองทุน LTF/RMF ที่จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไม่มากนัก แต่ในระยะยาว ยังคาดว่าตลาดหุ้นจะยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ ตามการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2560

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในปีหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่า FOMC น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้เสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยเลนที่จะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดมองว่านายเจอโรม พาวเวล มีความเห็นไม่ต่างจากนางเจเน็ต เยเลน มากนัก และสนับสนุนการผ่อนคลายกฏระเบียบในสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ว่าจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่อาจไม่ผ่านวุฒิสภา โดยเฉพาะข้อกังวลการขาดดุลงบประมาณ การประกันสุขภาพ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากผลประโยชน์ทางภาษี ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากประเทศในกลุ่มยุโรป ได้แก่ เยอรมนี, สเปน และอิตาลี ตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.1% นอกจากนี้ธนาคารกลางอังกฤษได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.50% และคงวงเงิน QE ไว้ที่ระดับเดิมที่ 435 พันล้านปอนด์ แต่ไม่ได้บอกเป็นนัยว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายปีหน้า ลงเหลือ 2.4% จาก 2.5%

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม โดยสศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.7% และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ 3.6-4.6% ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อของไทย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. +0.86% yoy เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.86% yoy ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน +0.58% yoy สูงกว่าเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ +0.53% yoy จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ของปีนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามความคาดหมายและเนื้อหาในรายงานการประชุมแทบไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้แตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบปีที่ระดับ 32.48 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายเดือน เป็นผลมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งปี โดยในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลสุทธิสูงถึง 4.15 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้นเกือบ 6 หมื่นล้านบาท, ขายพันธบัตรระยะยาว 1.46 หมื่นล้านบาท และหักพันธบัตรที่ครบกำหนดเพียง 2.85 พันล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในตลาดแรกออกมาต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายมาก โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน ผลการประมูลอยู่ในช่วง 0.99-1.002%, อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 0.99991% และ Bid Coverage Ratio 1.50 ส่วนรุ่นอายุ 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี อัตราผลตอบแทนปรับลดลงเช่นกัน กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเฉลี่ยรุ่น 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ 1.0352%, 1.3001% และ 1.3878% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นเกิดแรงเทขายในตลาด ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในตลาดรองและการประมูลในตลาดแรกกลับปรับตัวขึ้นมา นอกจากนี้ ในเดือนนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (BSwitching) สำหรับปีงบประมาณ 2561 เป็นครั้งแรก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดยอดหนี้คงค้างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB196A และออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ทดแทนจำนวน 4 รุ่น ได้แก่ LB22DA, LB26DA, LB366A และ LB676A ครบตามวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในตลาดเป็นอย่างดี มีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมเสนอแลกรวมเป็นจำนวนถึง 19,591 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยรวมจึงปรับตัวขึ้นมา 0.01-0.08% ยกเว้นรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไปซึ่งไม่ค่อยมีปริมาณเสนอขายในตลาด อัตราผลตอบแทนจึงปรับลดลง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2560)

ตลาดเงินตลาดทุนสหรัฐได้รับอิทธิพลจากข่าวและข้อมูลเศรษฐกิจต่าง ๆ ในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็น นายเจอโรม พาวเวล ว่าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภาว่าจะสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป และพร้อมที่จะผลักดันให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบอันเข้มงวดในระบบการเงิน นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกันซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะทำงานพิจารณาต่อไป เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ 3.3% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลทั้งจากการบริโภค การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนจากภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะในรุ่น 10 ปีปรับขึ้นจากช่วงต่ำสุดในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.32% มาแตะระดับ 2.42% ในสัปดาห์นี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ย. โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.99% yoy เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.86% yoy ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.61% yoy เที่ยบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.58% yoy ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยรวมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 844 ล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรระยะสั้น 1.46 พันล้านบาทและซื้อพันธบัตรระยะยาว 617 ล้านบาท นอกจากนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (BSwitching) ในปีงบประมาณ 2561 เป็นครั้งแรก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดยอดหนี้คงค้างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB196A และออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ทดแทนจำนวน 4 รุ่น ได้แก่ LB22DA, LB26DA, LB366A และ LB676A ครบตามวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในตลาดเป็นอย่างดี มีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมเสนอแลกรวมเป็นจำนวนถึง 19,591 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 พฤศจิกายน 2560)

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐล่าสุด เปิดเผยว่ากรรมการบางท่านได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แม้อัตราการว่างงานจะปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี โดยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่บ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ในเดือนกันยายน ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ร้อยละ 2 ดังนั้นจึงเห็นว่า FED ควรดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม นอกจากนี้ สศช. ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.7 และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.6-4.6

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ในรอบสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 3.36 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.47 หมื่นล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.09 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นมาบ้าง เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการทำธุรกรรม Bond Switching ทำให้บางสถาบันการเงินมีการปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรเพื่อรองรับธุรกรรมดังกล่าว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นในบางรุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยจากการประมูลตลาดแรกรุ่นอายุ 14 วัน 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ที่ 1.2075%, 1.2640% และ 1.4079% ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (20 – 24 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนพฤศจิกายน SET Index มีการปรับตัวลง นักลงทุนมีการขายทำกำไรมากขึ้นเมื่อเห็นว่า SET Index ไม่สามารถปรับตัวผ่านระดับ 1,720 จุดไปได้ แรงขายมีการกระจายตัวในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ตั้งแต่ต้นปีมีการปรับตัวขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 3 นี้ จะออกมาดีกว่าคาดการณ์ คือเติบโตถึง 4.3% ซึ่งสูงกว่าที่ Bloomberg Consensus ประมาณไว้ในระดับ 3.9% โดยแรงสนับสนุนหลักยังคงมาจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนรอการประกาศตัวเลขการเติบโตของ GDP ไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่จะออกภายในวันที่ 29 พ.ย. โดยตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.3% และคาดว่าวุฒิสภาสหรัฐฯจะมีการลงมติเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 32.67 บาทต่อดอลล่าร์ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ 0.55%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็น Net Sell ที่ 480 ล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,695.84 จุด ปรับตัวลดลง 13.54 จุด หรือ 0.79% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ และปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี จากการรายงานตัวเลขของ EIA สต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ และการปิดท่อส่งน้ำมันที่เกิดการรั่วไหลจากแคนาดามายังสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยสนันสนุนจากการคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC จะยังมีมติให้คงมาตรการลดกำลังการผลิตต่อเนื่องในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $58.95 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขื้น 4.24% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น คาดว่าตลาดจะยังคงแกว่งตัวช่วงแคบอีกระยะหนึ่ง จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนในช่วงสิ้นปี และการที่นักลงทุนต้องการถือเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อรอการลงทุนในหุ้น IPO ในช่วงสิ้นปี อย่างไรก็ตาม แรงซื้อของกองทุน LTF-RMF ที่ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี และตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น น่าจะทำให้ความเสี่ยงที่ SET Index ปรับตัวลงแรงลดลง และยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในระยะยาว

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13 – 17 พฤศจิกายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สามของเดือนพฤศจิกายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยแรงซื้อหลักยังคงมาจากสถาบันภายในประเทศ หุ้นกลุ่มหลักที่ปรับตัวขึ้นสูงในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มพาณิชย์นั้นมาจากการประการผลประกอบการที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ฯ คาดการณ์ ในขณะที่การประกาศงบการเงินไตรมาส 3 ที่ออกมานั้น กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1% YoY อย่างไรก็ตาม หากหักรายการพิเศษจาก PTT และ PTTEP ออกนั้นจะเห็นการเติบโตที่ 17% YoY ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ในช่วงกลางสัปดาห์ สภาผู้แทนฯสหรัฐฯ อนุมัติผ่านร่างกฎหมายภาษีใหม่ด้วยคะแนน 227 ต่อ 205 เป็นการปรับลดเงินได้ภาษีนิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ 35% ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการกังวลว่าร่างฯดังกล่าวจะไม่ผ่านการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ร่างฯ ดังกล่าวยังต้องรอการพิจารณาจากวุฒิสภาว่าจะมีแก้ไขหรือไม่

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 32.85 บาทต่อดอลล่าร์ บาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ 0.79%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็น Net Sell ที่ 6 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,709.28 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.10 จุด หรือ 1.19% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง จากการที่รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของ EIA ที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนยังคงมาจากการคาดการณ์ว่าซาอุฯ จะยังคงลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $56.55 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 0.33% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น หลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 เสร็จสิ้นไปแล้ว คาดว่า SET Index จะมีการแกว่งตัวในกรอบแคบ เพื่อรอปัจจัยใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ยังเชื่อว่า SET Index ยังมีโอกาสแกว่งตัวขึ้นได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง และสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังมีอยู่สูงในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำมาก

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 17 พฤศจิกายน 2560)

ในรอบสัปดาห์นี้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากหลายประเทศ โดยในกลุ่มยุโรป ได้แก่ เยอรมนี สเปน และอิตาลี ตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.1% ทางด้านสหรัฐฯ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.0% yoy และ 1.8% yoy ตามลำดับ ทำให้นักลงทุนในตลาดคงมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนหน้า ในขณะที่ยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ว่าจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่อาจไม่ผ่านวุฒิสภา โดยเฉพาะข้อกังวลการขาดดุลงบประมาณ การประกันสุขภาพ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากผลประโยชน์ทางภาษี

เหตุการณ์ดังกล่าวประกอบกับการกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์นี้เป็นจำนวนรวม 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมาแตะที่ระดับ 32.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นกลับปรับขึ้นมา 0.02-0.11% สาเหตุจากแรงขายในตลาดรองและการประมูลในตลาดแรกที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือนในสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.2989%, 1.2943% และ 1.3976% ตามลำดับ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 2.32 หมื่นล้านบาทและ 2.27 พันล้านบาท ตามลำดับ