ลูกค้าโอน LTF/SSF/RMF และ/หรือลงทุน SSF RMF ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 30 ธ.ค. 2565 ทุกยอดการลงทุน 25,000 บาท รับหน่วยลงทุน TLMMF 50 บาท สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
ในเดือนเมษายน 2565 SET Index ปรับตัวลดลง 1.64% สู่ระดับ 1,667.44 จุด จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก ทำให้ Fed มีแนวโน้มที่จะเร่งใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และการระบาดของ Covid-19 ในจีน ที่ทำให้จีนต้อง Lockdown เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ดีกว่าคาด และการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ช่วยทำให้ SET Index ลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ
ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อ SET Index ในช่วงเดือนเมษายน 2565 ยังคงเป็นความเสี่ยงจากสงครามยูเครน-รัสเซียยังไม่มีแนวโน้มที่จะเจรจากันได้ และทางกลุ่มประเทศตะวันตกพยายามจะเพิ่มความกดดันด้วยการออกมาตรการ Sanction มากขึ้น ในขณะที่รัสเซียก็พยายามกดดันด้วยการจำกัดการส่งออกกาซธรรมชาติให้แก่กลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่ยอมรับการซื้อกาซด้วยเงินรูเบิล ทำให้ราคาพลังงานยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมาก ทำให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต้องพิจารณานโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ Fed มีแนวโน้มจะเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน โดยมีการคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และอาจจะขึ้นอีกครั้งละ 0.50% ต่อเนื่องอีก 2-3 ครั้งด้วย ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวขึ้นอย่างมาก และมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในอนาคต ในขณะที่การระบาดของ Covid-19 ในจีนมีการขยายวงมากขึ้นจากเซี่ยงไฮ้ไปยังปักกิ่ง ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าจีนจะขยายมาตรการ Lockdown จากเซียงไฮ้ไปยังปักกิ่งด้วย ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลงในเดือนเมษายน โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกภายในประเทศของไทยก็ยังช่วยประคองให้ SET Index ปรับตัวลดลงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ จากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการที่การระบาดของ Covid-19 ในประเทศมีแนวโน้มลดลง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าการระบาดจะเร่งตัวขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลเริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประทศมากขึ้น ทั้งการยกเลิกการตรวจ RT-PCR มาเป็นการตรวจ ATK และการยกเลิก Test & Go ซึ่งทำให้มีความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้ยังมีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาวะการลงทุนในเดือนเมษายนค่อนข้างซบเซา เนื่องจากมีเทศกาลหยุดยาวประจำปี นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเงินเฟ้อ และความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,667.44 จุด ลดลง 27.80 จุดหรือ -1.64% จากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายต่อวันลดลงจาก 89,195 ล้านบาทในเดือนมีนาคม เหลือ 71,959 ล้านบาทในเดือนเมษายน โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ +11.1% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +4.7% และกลุ่มการแพทย์ +2.0% ในขณะที่หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ -9.5% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -6.3% และกลุ่มบันเทิงและสันทนาการ -2.9%
ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 10,869 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,350 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 13,152 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 3,634 ล้านบาท
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ย โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% โดย ยังคงแผนการลด QE และจะจบการเข้าซื้อในไตรมาสที่ 3 กล่าวคือ คงแผนเดิมที่ประกาศการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ Asset Purchase Program (APP) ซึ่งเป็นมาตรการ QE ปกติ 4 หมื่นล้านยูโรในเดือนเมษายน 3 หมื่นล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม และ 2 หมื่นล้านยูโรในเดือนมิถุนายน และประเมินว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP จะจบในไตรมาสที่ 3 นี้ โดยวันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและภาพรวมเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในขณะที่จะลงทุนต่อ (Reinvest) ในพันธบัตรจากมาตรการ QE : Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ถือครองจากโครงการนี้ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2024 ทั้งนี้ ประธาน ECB กล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยว่าอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่อาทิตย์หรือในไม่กี่เดือนหลังจากจบ QE ทางด้านเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนและเงินเฟ้อได้รับผลกระทบมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าของยูโรโซน และทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง มีความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในระยะสั้น และความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดย ECB พร้อมใช้เครื่องมือใหม่เมื่อจำเป็นหากเกิดสถานการณ์ที่น่ากังวลจากการยกเลิกการทำ QE
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องด้วยมติ 8-1 คะแนน ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 1 ท่านลงมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจลงทุนสินทรัพย์คงทนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ BOJ จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ที่อัตราผลตอบแทน 0.25% ทุกวันทำการ ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ทางด้านคาดการณ์เศรษฐกิจ ได้ปรับลด GDP ในปีนี้เป็น +2.9%YoY จากประมาณการในเดือนมกราคมที่ +3.8%YoY และปรับเพิ่ม GDP 2023 +1.1%YoY ไปอยู่ที่ +1.9%YoY ด้านเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มเป็น 1.9%YoY จากประมาณการในเดือนมกราคมที่ 1.1%YoY ผลจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นสำคัญ BOJ ประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่จะกลับมาสมดุลในระยะถัดไป ด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อประเมินว่าความเสี่ยงสูงขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงาน แต่จะกลับมาสมดุลในระยะถัดไป
SET Index ปรับตัวขึ้น 0.6% สู่ระดับ 1,695.24 จุด จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครน-รัสเซียที่เริ่มเบาบางลงในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องด้วยความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย หลังจากที่มีการปรับตัวลงไปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 เนื่องด้วยความกังวลถึงผลกระทบจาก Geopolitical Risks ระหว่างยูเครน-รัสเซีย ประกอบกับการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 คือ ความเสี่ยงจากสงครามยูเครน-รัสเซียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยทั้งสองประเทศยังคงสู้รบกันอย่างต่อเนื่องและหลังจากการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าเป็นรอบที่ 3 ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่ตลาดจะเริ่มรับรู้ และฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสงครามต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่คอยกดดันตลาดหุ้นตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2565 โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระดับสูงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งสัญญาณในการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของหลายๆ ประเทศทั่วโลกจากการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วและปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมไปถึงถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ที่จะมีการหารือกับสมาชิก Fed ถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 50 bps ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินตึงตัวยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะการลงทุนในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ อีกทั้งยังมีประเด็นความเสี่ยงเพิ่มเติมของสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศจีนที่กลับมาระบาดอีกครั้ง จนเกิดการ Lockdown ขึ้นในหลายเมืองสำคัญ อาทิเช่น เซิ่นเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าหลายๆ ประเภท แต่ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ตลาดกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งจากประเด็นบวกของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียที่ดีขึ้น เนื่องด้วยการเจรจาในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งรัสเซียยอมตกลงที่จะถอยกำลังทหารออกจากกรุงเคียฟ เพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างทั้งสองประเทศ
ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนมีนาคม 2565 คือตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยที่อัตราผู้ป่วยใหม่รายวันยังคงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้ที่หายป่วยรายวัน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อภายในประเทศที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการเริ่มผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยบวกภายในประเทศ คือ การที่รัฐบาลออกนโยบายจะทยอยเปิดเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,695.24 จุด เพิ่มขึ้น 10.06 จุดหรือ 0.6% จากเดือนก่อน โดยช่วงครึ่งแรกของเดือน ปัจจัยแวดล้อมเป็นไปในเชิงลบอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่รุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้สหรัฐฯและประเทศในกลุ่ม EU ตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงความกังวลว่าจะมีการคว่ำบาตรสินค้าพลังงานจากรัสเซียด้วย ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวขึ้นตามเช่นกัน สร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลกที่ Fed มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในจีนจนเกิดการ Lockdown ในหัวเมืองต่างๆ ปัจจัยลบเหล่านี้กดดันให้ดัชนี SET Index ลดลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,619 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ก่อนที่ครึ่งหลังของเดือนมีนาคม 2565 ดัชนี SET Index จะฟื้นขึ้นจากแรงซื้อกลับหลังตลาดรับรู้ข่าวลบไปมากแล้ว และความคาดหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครน-รัสเซีย และนโยบายการเปิดเมืองของประเทศ โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการแพทย์ 8.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.9% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5.1% ในขณะที่กลุ่มธนาคาร -3.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -2.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -2.1% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน
ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 33,530 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 7,079 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิที่ 17,684 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิที่ 8,767 ล้านบาท
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ได้ส่งสัญญาณยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ในไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ECB ได้ทำการปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติหรือ APP (Asset Purchase Program) โดยระบุจะเข้าซื้อในอัตราเดือนละ EUR40bn ในเดือน เม.ย., EUR30bn ในเดือน พ.ค. และ EUR20bn ในเดือน มิ.ย. ส่วนการเข้าซื้อในไตรมาส 3 จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้คงไว้ที่ระดับต่ำในปัจจุบัน ได้แก่ Deposit Facility Rate ที่ -0.50%, Main Refinancing Rate ที่ 0.0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% และได้ส่งสัญญาณแนวโน้มของดอกเบี้ย (Forward Guidance) เพิ่มเติม โดยระบุว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นหลังการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP สิ้นสุดลงสักระยะหนึ่งและจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 3.7% จาก 4.2% ที่คาดไว้เดิมในเดือน ธ.ค. โดยหลักเป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน ความเชื่อมั่น และการค้า อย่างไรก็ดี GDP อาจขยายตัวลดลงเป็น 2.3-2.5% ในกรณีเลวร้ายที่มีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม และมีการลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการลดกำลังการผลิตในยุโรป ส่วนเงินเฟ้อ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้ขึ้นอย่างมากเป็น 5.1% จาก 3.2% ที่คาดไว้เดิม ท่ามกลางราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในกรณีเลวร้าย เงินเฟ้ออาจขยายตัวสูงถึง 7.1% ทั้งนี้ ECB ยังคาดเงินเฟ้อจะชะลอลงในระยะกลางอยู่ที่ 2.1% (เดิมคาด 1.8%) ในปี 2023F และอยู่ที่ 1.9% (เดิมคาด 1.8%) ในปี 2024F
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติ 8-1 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 0.25-0.50% ตามการคาดการณ์เป็นวงกว้าง ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018โดยแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot ชี้ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 6 ครั้งในปีนี้ หรืออีก 150bps สู่ระดับ 2.0% นอกจากนี้ มีคณะกรรม 7 ท่านที่มองว่าควรปรับขึ้นสูงกว่าระดับ 2% หรือมีบางการประชุมที่ปรับขึ้น 50bpsสำหรับปี 2023 Dot plot ชี้ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 2.75% และทรงตัวที่ระดับดังกล่าวในปี 2024 ขณะที่คาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาว (Longer-run Rate) ปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 2.4% จากเดิม 2.5% ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ FED ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสอดรับกับมุมมองด้านดอกเบี้ยที่ Hawkish มากขึ้น โดยปรับเงินเฟ้อ Core PCE ในปี 2022F เพิ่มขึ้นมากเป็น 4.1% (vs.
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ย ECB ประเมินว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงจะพุ่งสูงขึ้นอีกและคงอยู่ยาวนานกว่าที่คาด โดยจะมีการประเมินผลของเงินเฟ้อเปรียบเทียบกับเป้าหมายระยะกลางในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ด้านนโยบายการเงินได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% นอกจากนี้ยังยืนยันการสิ้นสุด Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ตามกำหนดการในเดือนมีนาคม 2022 พร้อมทั้งปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ซื้อเฉลี่ย 13.2 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ และจะมีการลงทุนต่อในพันธบัตรที่ถือครองจากโครงการนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2024 อย่างไรก็ตาม ECB ยืนยันจะยังคงมาตรการ Asset Purchase Program (APP) ซึ่งเป็นมาตรการ QE ปกติของ ECB ต่อไป โดยจะเพิ่มวงเงิน APP ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2022 ที่ 4 หมื่น และ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตามลำดับ ก่อนจะปรับเข้าสู่ระดับการซื้อสินทรัพย์ปกติที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาด เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและดีกว่าที่คาด จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวเร็วกว่าที่คาดในขณะที่ความเสี่ยงลดลง และผลกระทบจากโอไมครอนมีแนวโน้มอยู่ในวงจำกัด โดยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยรวม ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ในช่วงแรกของปี เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์คอขวดภาคอุปทานที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand pull) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม โดยรวม ธปท. ยังประเมินว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี และเงินเฟ้อระยะกลางยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบสมดุลระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับการจัดการเงินเฟ้อ และปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเงินเฟ้อในวงกว้าง (Broad-based)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ขยายตัว 1.9%YoY (1.8%QoQ SA) ดีกว่าคาดการณ์ที่ 0.8%YoY ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ปรับหดตัวลดลง 0.2%YoY เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามการเปิดเมือง หลังผ่านการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัว 0.3%YoY ประกอบกับแรงหนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาลที่ขยายตัว 8.1%YoY และการส่งออกขยายตัว 21.3%YoY โดยรวมจีดีพีไทยในปี 2021 ขยายตัว 1.6%YoY ดีกว่าคาดการณ์ที่ 1.2%YoY สศช. คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2022 ขยายตัว 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4.0%) โดยเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวเป็น 5.5 ล้านคน จาก 5 ล้านคน คาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 1.0% ต่อจีดีพี และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.5-2.5% จากคาดการณ์เดิม 0.9-1.9%
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนมีปัจจัยที่เข้ามากระทบตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนทั่วโลก กล่าวคือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก หลังรัสเซียให้การรับรองเอกราช 2 แคว้นของยูเครน และในช่วงปลายเดือนรัสเซียนำกองกำลังบุกเข้ายูเครนและโจมตีกรุงเคียฟ ส่งผลให้สหรัฐฯ และยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรทางด้านการเงินและการค้ารัสเซีย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีจึงปรับลดจากระดับ 2.05% ลงมาอยู่ที่ 1.83% ณ สิ้นเดือน ทางด้านทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ ยังคงเป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 (นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564) โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 5.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.1 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 3.0 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 1.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการถือครอง ณ สิ้นปี 2021 ที่ 1.02 ล้านล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ
SET Index ปรับตัวขึ้น 2.21% สู่ระดับ 1,685.18 จุด โดยได้รับแรงสนับสนุนจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่ออกมาดีกว่าคาด และ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากความตึงเครียดของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศไทยที่พุ่งสูงขึ้นเกิน 20,000 รายต่อวัน
ปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คือแรงกดดันจากความตึงเครียดของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยหลังจากการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่สัมฤทธิ์ผล รัสเซียจึงเปิดฉากเข้าโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลง ตลาดหุ้นของรัสเซีย (ดัชนี MOEX) ปรับตัวลดลง 45% จากวันทำการก่อนหน้า และ SET Index ปรับตัวลดลง 0.65% จากวันทำการก่อนหน้า โดยหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้ทยอยคว่ำบาตรรัสเซียด้วยวิธีต่างๆ อาทิเช่น ควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินทุน การห้ามค้าขาย การห้ามการเดินทางของผู้อำนาจของรัสเซีย และการชะลอการอนุมัติโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 ของเยอรมัน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญของรัสเซียในการควบคุมอุปทานของก๊าซธรรมชาติในประเทศแถบทวีปยุโรป โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นจำกัดเนื่องจากไทยกับรัสเซียค้าขายกันในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณยอดส่งออก/นำเข้าทั้งหมดของประเทศไทย แต่แรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นยังส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนรุนแรงอยู่ในระยะสั้น และจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมหากสงครามนั้นยังยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ
ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คือตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 24,932 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อด้วยวิธีการตรวจผ่านชุดตรวจ ATK รายวันสูงทะลุ 20,000 ราย โดยทางภาครัฐยังไม่ได้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นเพิ่มเติม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นน้อยมาก ในทางกลับกัน ภาครัฐยังมีการผ่อนคลายมาตรการทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ในโครงการ Test&Go ได้ปรับลดจำนวนครั้งของการตรวจ RT-PCR จาก 2 ครั้งเป็น 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป และให้เปลี่ยนเป็นการตรวจแบบ ATK แทน รวมไปถึงการปรับลดวงเงินประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากขั้นต่ำที่ 50,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็เป็นช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่แสดงผลการดำเนินงานที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ มีการฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 3 ที่มีการระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์เดลต้า และเติบโตมากกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ทำให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นได้แม้ว่าสถานการณ์ในต่างประเทศจะไม่ดีนัก
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,685.18 จุด เพิ่มขึ้น 36.37 จุดหรือ 2.21% จากเดือนก่อน โดยในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดัชนีปรับตัวขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 1,718.55 จุด ด้วยแรงสนับสนุนจากการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่ดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างประเทศจากแรงกดดันจาก Geopolitical Risks ระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ว่าจะมีความพยายามให้เกิดการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมทั้ง SET Index ร่วงลงอย่างหนัก จน SET Index หลุดต่ำกว่า 1,700 จุด ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่มการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 7.3% และกลุ่มพาณิชย์ 6.6% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการเกษตร -5.5% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต -4.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.9% ให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลงมากที่สุดในช่วงเดียวกัน
ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 62,975 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 4,630 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิที่ 39,299 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศขายสุทธิที่ 28,306 ล้านบาท
SET Index ปรับตัวลดลง 0.53% สู่ระดับ 1,648.81 จุด สะท้อนภาพความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิเช่น นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯที่มีแนวโน้ม Hawkish มากขึ้น และต้นทุนผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบไปถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ทว่ายังมีปัจจัยบวกภายในประเทศที่คอยสนับสนุนตลาดฯ อยู่ อาทิเช่น การผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron และการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด
ปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ การที่ Fed ได้ส่งสัญญาณที่ Hawkish มากขึ้นในการดำเนินนโยบายทางการเงินในปีนี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนธันวาคม 2564 ของ Fed ออกมา เนื้อหาในการประชุมนั้นได้มีการกล่าวถึงการทำ Quantitative Tightening หรือ นโยบายทางการเงินในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบภายในปี 2565 หลังจากที่จะมีการเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า Fed จะลงมือดำเนินนโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบหลังจากที่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯไปสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเหตุผลหลักในการตัดสินใจของ Fed คือตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่สูง ไปแตะระดับ 7% เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี สืบเนื่องมาจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลายลง เพราะระยะเวลาการส่งสินค้าของผู้ผลิตที่นานขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันสถานการณ์อุปสงค์ของสินค้าทั่วโลกที่มีมากกว่าอุปทานของสินค้า ผู้ผลิตจึงมีอำนาจต่อรองในการเพิ่มราคาสินค้าได้ ราคาสินค้าทั่วโลกจึงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกให้คงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยหลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมของ Fed นั้น ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะดำเนินนโยบายทางการเงินในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา
ปัจจัยบวกภายในประเทศที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ SET Index ไม่ปรับตัวลงแรงได้คือ การผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดที่รวดเร็วในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา แต่ระดับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม 2565 โดยอยู่ที่ระดับ 7,000 – 9,000 รายต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ Best Case ที่ ศบค. ได้คาดการณ์ไว้ โดยจากการคาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มที่จะลดลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการลง โดยปรับลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัดเหลือเพียงแค่ 44 จังหวัด และเปิดลงทะเบียน Test&Go ได้อีกครั้งตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อีกหนึ่งปัจจัยบวกที่คอยสนับสนุน SET Index คือการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด โดยเริ่มจากการประกาศผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดในไตรมาสที่ 4/2564
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2565 SET Index ปิดที่ระดับ 1,648.81 จุด ลดลง 8.81 จุดหรือ 0.53% จากเดือนก่อนที่ SET Index ได้ทำจุดสูงสุดในรอบ 29 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1682.93 จุด ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนมกราคม 2565 นั้น เป็นไปในทิศทางบวกในช่วงครึ่งเดือนแรก จากการผ่อนคลายความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron และการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 4/2564 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม SET Index มีทิศทางปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือน ซึ่งแรงกดดันต่างๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการที่ Fed ส่งสัญญาณการดำเนินการนโยบายทางการเงินที่ Hawkish มากขึ้น โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 5.9% กลุ่มธนาคาร 3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.9% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -15.9% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -5.4% กลุ่มการแพทย์ -3.0% ให้ผลตอบติดลบมากที่สุดในช่วงเดียวกัน
ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 14,359 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 3,501 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิที่ 7,322 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 25,183 ล้านบาท ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ โดยขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินกู้ในโครงการเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ไปอีก 1 ปี ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปีและซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยน ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2022 ทั้งนี้ BOJ ยืนยันการคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ทางด้านการคาดการณ์เศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากประมาณการเดิมที่ 2.9% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2023 ลงเป็น 1.1% จาก 1.3% ในประมาณการเดือนตุลาคม นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีงบประมาณ 2022 เป็น 1.1% จากประมาณการเดิมที่ 0.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อทั่วไปในปีงบประมาณ 2023 จาก 1.0% เป็น 1.1% เนื่องจากประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากราคาน้ำมัน และต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระยะข้างหน้า
ผลการประชุม FOMC ในเดือนนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% หลังการประชุม ประธาน FED ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด จากภาวะตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างมาก การลดขนาดงบดุลจะเกิดขึ้นภายหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้วอย่างน้อย 1 การประชุม ซึ่ง FED จะหารือเรื่องนี้ในการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ การลดขนาดงบดุลครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะลดในอัตราเร่งที่เร็วกว่าครั้งก่อน นอกจากนี้ FED ประกาศเร่งการลด QE เพิ่มขึ้น โดยจะดำเนินการซื้อสินทรัพย์ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดการทำ QE ในช่วยต้นเดือนมีนาคมนี้ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตลาดรับทราบข่าว FED ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้และเตรียมลดขนาดงบดุลในระยะถัดไป โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 4 ปีขึ้นไปปรับเพิ่มขึ้น 10-25bps ทางด้านทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ ยังคงเป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 6.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.7 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 4.1 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการถือครอง ณ สิ้นปี 2021 ที่ 1.02 ล้านล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ
ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ 11-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด หลังการประชุมประธาน FED ได้ประกาศเร่งการลด QE เป็น 2 เท่า โดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล และวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันไปพร้อมกันตามสัดส่วน 2 และ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน รวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทำให้ QE สำหรับในช่วงการแพร่ระบาดนี้จะสิ้นสุดเร็วขึ้นเป็นในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน เนื่องจากประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ FED ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า โดย Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2 ครั้ง นอกจากนี้ สมาชิก FED ยังมีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2023 ด้วย อย่างไรก็ตาม โพเวลระบุว่า FED จะยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นจนกว่าการลด QE จะสิ้นสุดลง ในขณะที่การแพร่ระบาดของโอไมครอนไม่ใช่ประเด็นหลักที่น่ากังวล โดยโพเวลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ ทางด้านเงินเฟ้อ FED ประเมินว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน โดยประเมินว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราวอีกต่อไป และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% และ 2.6% จากเดิมที่ 4.2% และ 2.2% ตามลำดับ รวมถึงมีมุมมองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับเหนือเป้าหมายที่ 2.0% ไปจนถึงปี 2024 ทั้งนี้ FED ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 5.9% เป็น 5.5% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการชะงักงันภาคอุปทาน และปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าเป็น 4.0% จากเดิมที่ 3.8% ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ FED ปรับลดคาดการณ์การว่างงานในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 4.3% และ 3.5% จากเดิมที่ 4.8% และ 3.8% ตามลำดับ
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโอไมครอนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในระยะข้างหน้า รวมทั้งมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดควรเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยรวม กนง. ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และพร้อมใช้นโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2021-2023 ขยายตัวที่ 0.9%, 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัว 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวจากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดการณ์ว่าโอไมครอนจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตลาดรับทราบข่าวการลดการผ่อนคลายทางการเงินในไม่ช้า ยกเว้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับลงมามากจากความต้องการพักเงินในช่วงข้ามปี โดยผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3906% ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 1.02 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.66 แสนล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ