ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2563

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -4.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 เป็นการปรับตัวลงแรงจากปัจจัยความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไวรัสโคโนน่าระบาด และการล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ

ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือน หลังสหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่านเสียชีวิต ทางฝั่งอิหร่านจึงตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกถล่มฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในอิรัก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเพิ่มขึ้น นักลงทุนจึงเกิดความวิตกและเทขายหุ้นออกมา ก่อนที่ภายหลังสหรัฐฯ เลือกที่จะตอบโต้อิหร่านผ่านการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทนการใช้ความรุนแรง ความกังวลด้าน Geo-Political Risk จึงบรรเทาลงในระยะสั้น

หลังจากที่ตลาดปรับตัวลง นักลงทุนภายในประเทศให้ความหวังในการผ่านร่างงบประมาณของรัฐบาล ที่ล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปี 2562 มาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมี สส. อนุมัติร่างงบประมาณวาระ 2 และ 3 แล้ว ทว่า กลับพบว่ามี สส.บางท่านเสียบบัตรแทนกันในการโหวตในสภา ทำให้ประธาน สส. นำคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง โดยกระบวนการถัดไป สส. ที่ถูกกล่าวหาจะต้องไปให้ถ้อยคำในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ของร่างงบประมาณล่าช้าออกไปอีก SET Index จึงปรับตัวลงตอบสนองเป็นลบต่อข่าวนี้

ถัดมาในช่วงปลายเดือน เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงในประเทศจีน โดยภายในสิ้นเดือนมกราคม พบผู้ติดเชื้อไวรัสกว่า 9,814 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 213 ราย ทำให้ WHO ประกาศให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย และสั่งให้บริษัททัวร์ของจีนหยุดกิจกรรมท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 2 เดือน ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนจึงได้รับผลกระทบโดยตรง หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรม กลุ่มสายการบิน กลุ่มพาณิชย์ รวมไปถึงกลุ่มพลังงาน ถูกเทขายอย่างรุนแรงจากความกังวลผลกระทบด้านลบจากการที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง ซึ่งในเบื้องต้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 2563 น่าจะอยู่ในระดับสูง แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง หรือมีการค้นพบวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว และ SET index น่าจะกลับมาตอบสนองเป็นบวกเหมือนเช่นเหตุการณ์โรคระบาดในอดีต

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,514.14 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,579.84 จุด หรือประมาณ -4.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +7.8% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +2.7% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +1.8% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ -16.5% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -14.4% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -10.8% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 17,302 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 12,341 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (มกราคม 2563)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด และยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2562

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นการแกว่งตัวในกรอบแคบด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง โดยมีปัจจัยบวกส่วนใหญ่จากต่างประเทศ

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นเดือน จากความกังวลด้านปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องการพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ยื่นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคให้เงินยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ และการจัดการชุมนุมแฟล็ชม็อบที่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนหลายพันคน ทำให้ความกังวลเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง

สำหรับในต่างประเทศ มีข่าวดีเรื่องการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้แก่ (1) สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่กำหนดเก็บในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 วงเงิน 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) สหรัฐฯ ตกลงที่จะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่มีผลเมื่อเดือนกันยายน 2562 วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% จากเดิม 15% มีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันหลังการลงนาม และ (3) จีนตกลงที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ วงเงิน 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาษีก้อนที่สหรัฐฯ เรียกเก็บไปแล้ว 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตรา 25% จะยังคงเดิม แต่อาจทยอยลดลงในการเจรจาเฟสถัด ๆ ไป โดยผู้นำทั้งสองประเทศน่าจะลงนามข้อตกลงดังกล่าวนี้ได้ในวันที่ 15 มกราคม 2563 ข่าวนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทั่วโลก

ส่วนในฝั่งยุโรป ความเสี่ยง Brexit ของอังกฤษแบบไม่มีข้อตกลงก็ได้ลดลงไปเช่นกัน หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง และได้รับเสียงข้างมากในสภาอย่างมีนัย อีกทั้งสภาล่างของอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบในหลักการร่างกฏหมาย Brexit ของนาย Boris Johnson แล้ว และรอวุฒิสภาลงมติเป็นลำดับถัดไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผ่านมติอย่างราบรื่น ทำให้ปัญหา Brexit ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี น่าจะมีทางออกได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,579.84 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,590.59 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +10.8% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +3.9% และกลุ่มโรงพยาบาล +3.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มโรงแรม -9.6% กลุ่มสื่อสาร -4.9% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ -2.5% ในเดือนธันวาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 24,487 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 24,757 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (ธันวาคม 2562)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) ที่ 1.50%-1.75% ตามที่ตลาดคาด โดยมองอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2562

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นการแกว่งตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ในขณะที่ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังถูกปรับลดลง

ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือน จากการที่นักลงทุนคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผลการประชุมในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าคาด SET Index มีการตอบรับในเชิงบวกระยะสั้น และเริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3

กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมานั้น มีกำไรสุทธิรวม 2.13 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาส 2 แต่ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ในปีที่แล้ว หากรวมกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ 6.83 แสนล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2018 โดยกลุ่มที่กำไรเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร อาหาร และเงินทุนหลักทรัพย์ ส่วนกำไรลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมูลค่าตลาดสูง จึงเป็นตัวฉุดกำไรของตลาด ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ในปี 2019 ลดลงมาอยู่ที่ 94.5 บาท และในปี 2020 อยู่ที่ 105.2 บาท คิดเป็นการติดลบจากปีที่แล้ว -3.2% และฟื้นตัว 11% ในปีหน้า นอกจากนี้ ทางสภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 3 ของไทยออกมาอยู่ที่ 2.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.6% มีเพียงภาคบริการที่เติบโตค่อนข้างดี (+11%) ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้ายังหดตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้เล็กน้อย (+2.8%) ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว (-1.5%) ทำให้สภาพัฒน์มีการปรับลดการประมาณการการเติบโตของ GDP ทั้งปีนี้ลง จากเดิม 2.7-3.2% มาอยู่ที่ 2.6% อัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากปี 2018 ที่ 4.1%

ทั้งตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนและตัวเลข GDP ที่ออกมานั้น เป็นสิ่งยืนยันการชะลอตัวเศรษฐกิจของไทย และเป็นปัจจัยกดดัน SET Index ตั้งแต่กลางปี โดยดัชนีปรับลดลงจากจุดสูงสุดบริเวณ 1,740 จุดในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงถึง 8% ในเวลาเพียง 4 เดือน ปัจจัยเสี่ยงของตลาดหุ้นในเวลานี้ นอกจากจะมีปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความขัดแย้งในฮ่องกง หรือการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษแล้ว ปัจจัยหลักคือ ความกังวลการปรับลดลงต่อเนื่องของ SET EPS นั่นเอง

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจับตารอความชัดเจนประเด็นการค้า แม้สหรัฐฯ และจีนใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรก แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้อาจกระทบต่อการเจรจาการค้าได้ แต่ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มลดลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และ จีน เป็นต้น เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,590.59 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,601.49 จุด หรือประมาณ -0.68% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +13.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ +10.5% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ +5.0% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -8.6% กลุ่มเกษตรและอาหาร -5.0% และกลุ่มธุรกิจบันเทิง -3.3% ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,683 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,585 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (พฤศจิกายน 2562)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด และยังคงเป้าหมายการเข้าซื้อพันธบัตรไว้ที่ 4.35 แสนล้านปอนด์