ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2562

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยบวกใหม่ และมีปัจจัยกดดันตลาด ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาท การลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจจะน้อยกว่าที่คาด และความเสี่ยงของ Brexit เป็นต้น

หลังจากที่ SET Index ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนมาอยู่บริเวณ 1,730 – 1,740 จุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ตลาดเริ่มแกว่งตัวออกข้างในกรอบแคบ ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ระดับ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่านั้นมาจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น Fund Flow ที่เข้ามาในตลาดหุ้น ความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเฟดมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมากในเวลาอันสั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเท่าไรนัก เนื่องจากประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกสูง ทำให้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในวันเดียวกันประมาณ -0.7% ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับฐานของ SET Index

ถัดมาในช่วงกลางเดือน เป็นช่วงการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่กำไรของทั้งกลุ่มรวมกันยังติดลบประมาณ -3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว จากการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารขนาดใหญ่มีการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มมากขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ KBANK และ BBL เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง จากการเติบโตของสินเชื่อและการลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญ

ตลาดยังปรับลดลงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายเดือน ทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดทั่วโลก จากความผิดหวังที่ Fed ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยว่าอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างที่นักลงทุนคาดหวัง กอปรกับทางฝั่งอังกฤษเอง นาย Borris Johnson ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ และได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงมากขึ้น เนื่องจากนาย Borris Johnson สนับสนุนและพร้อมเดินหน้า Brexit ตามเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

ในช่วงปลายเดือน ประเด็นบวกทางการเมืองช่วยพยุงตลาดหุ้นเอาไว้ได้ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชาได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นที่การบริโภค การท่องเที่ยว และการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย แต่ยังไม่มีนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันประกาศออกมา

และในวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม การประชุม FOMC ของเฟดก็มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 2.0-2.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดปรับตัวลงจากการ Sell on fact นั่นเอง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,711.97 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,730.34 จุด หรือประมาณ -1.1% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.5% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +4.8% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +1.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -12.9% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -7.7% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.6% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 20,054 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 26,565 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2562

ในเดือนนี้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศสำคัญ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ 0.0% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.25% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.40% และคงขนาดงบดุลของธนาคารกลาง อย่างไรก็ตาม ECB ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันหรือลดระดับของอัตราดอกเบี้ยลงไปอย่างน้อยถึงช่วงกลางปี 2020 นอกจากนี้ ยังได้ทบทวนความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรการซื้อสินทรัพย์ (Quantitative Easing – QE) กลับมาใช้ ทางด้านเศรษฐกิจ ได้ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอ่อนแอลง แม้ว่าการจ้างงานและอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังถูกกดดันจากวัฏจักรการค้าโลกซึ่งอยู่ในขาลง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะผู้ประกอบกอบการในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง

ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติ 7 ต่อ 2 ให้คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมนโยบายการเงิน และส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยมีสาระสำคัญ คือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ใกล้ระดับ 0% รวมทั้งคงปริมาณมาตรการการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่ 80 ล้านล้านเยนต่อไป คง Forward guidance ว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับต่ำอย่างน้อยไปจนถึงช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 และส่งสัญญาณว่า BOJ พร้อมที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายนั้นมีความเป็นไปได้ลดน้อยลง

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.00%-2.25% โดยเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ด้วยมติ 8 ต่อ 2 ตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดหมายไว้ นอกจากนี้ยังยุติมาตรการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening – QT) ในเดือนสิงหาคมซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม 2 เดือน นายเจอโรม โพเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับนโยบายในช่วงกลางของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น (Mid-cycle Adjustment) จึงมิใช่เป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงยาวนาน แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเช่นกัน การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จึงถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงภายนอกประเทศ อาทิ สงครามการค้าและการชะลอลงของเศรฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะแข็งแรง รวมทั้งความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ต่ำ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแรงโดยเฉพาะในตลาดแรงงานของสหรัฐฯ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี และค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ ขณะที่ยังคงเน้นย้ำว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่สำคัญนั้นมาจากปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อทั้งการผลิตและการลงทุนภาคธุรกิจ สรุปได้ว่า ถ้อยแถลงของเฟดที่ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีทำให้แนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปมีความไม่แน่นอน แม้ความเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าจะยังกดดันภาวะตลาดการเงินของโลก แต่ประเมินว่าการตัดสินใจนโยบายของเฟดในระยะต่อไปน่าจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

ทางด้านเศรษฐกิจของไทย ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ในปีนี้จะขยายตัว 3.5% จากระดับเติบโต 4.1% ในปี 2018 (และเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ 3.8%) เป็นผลจากจีดีพีไตรมาสแรกที่ขยายตัวต่ำกว่าระดับ 3% จากการลดลงของการลงทุนภาครัฐ และผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่กดดันกิจกรรมเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังประเมินว่าความไม่แน่นอนของภาวะการเมืองที่ยืดเยื้อ นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ซึ่งจะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นและส่งผลให้เกิดความล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ส่วนประเด็นความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยอ่อนแอลงต่อเนื่อง และกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมส่งออก

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศกลับมาขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประมาณ 4.23 หมื่นล้าน คาดว่าเป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยให้สถาบันการเงินคุมบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศและปรับปรุงเงื่อนไขการรายงานยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ที่ออกในประเทศไทยของผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวประมาณ 1.72 หมื่นล้าน เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนด ทำให้ยอดการถือครองในเดือนก.ค. ลดลงประมาณ 2.55 หมื่นล้านบาท ส่วนความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ในเดือนนี้มีทิศทางแตกต่างไปจากตลาดสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับตัวขึ้นจากความไม่แน่นอนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังคงลดลงต่อโดยเฉพาะพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปี จากการคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2562

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด เนื่องจากยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย ประกอบกับเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ทำให้ ECB ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปอีก จากเดิมที่กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ที่ระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อยเป็นกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย โดยในการประชุมรอบนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ขึ้นเล็กน้อย +0.1% เป็น 1.2% YoY จาก GDP ไตรมาส 1 ที่ออกมาดีกว่าคาด และปรับเงินเฟ้อปีนี้ขึ้นเล็กน้อย +0.1% เป็น 1.3% YoY แต่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2020 ลง -0.2% เป็น 1.4% YoY และปรับเงินเฟ้อของปี 2020 ลง -0.1% เป็น 1.4% YoY สะท้อนโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงต่อ นาย Mario Draghi ประธาน ECB ระบุว่า ECB พร้อมใช้เครื่องมือที่มีเพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจ หากชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดจากความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ทั้งการเจรจา Brexit และนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ โดยนาย Draghi ระบุว่าคณะกรรมการได้มีการพูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมรวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือทำ QE อีกครั้ง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติ 9-1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25-2.50% ตามที่คาด นาย Jerome Powell ประธาน Fed ระบุว่าคณะกรรมการ Fed พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีต่อไป และคณะกรรมการ Fed หลายท่านมองความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินมีมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงโดยเฉพาะจากการเจรจาการค้า ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อได้อ่อนแอลง โดย Fed ได้นำคำว่า “จะอดทนรอเพื่อประเมินสถานการณ์” ออกจากแถลงการณ์การประชุมรอบนี้ สะท้อนว่า Fed พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงในระยะใกล้ทันทีหากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีแนวโน้มอ่อนแอลงกว่าที่คาด นอกจากนี้ยังได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ Core PCE ปีนี้ (-0.2% เป็น 1.8%) และปีหน้า (-0.1% เป็น 1.9%) ลงจากประมาณการครั้งก่อนในเดือนมี.ค. ขณะที่คงคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 2.1% และปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีหน้าขึ้นเล็กน้อย +0.1% เป็น 2.0% อย่างไรก็ดี มีคณะกรรมการ Fed จำนวน 8 จากทั้งหมด 17 ท่านที่มองว่าควรปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้เลย ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะลดดอกเบี้ยลงในปีนี้

ธนาคารกลางอังกฤษมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามคาด โดยมองความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง และแรงกดดันเงินเฟ้ออ่อนแอ อย่างไรก็ดีหากอังกฤษแยกตัวออกจาก EU ไปแบบราบรื่น ก็จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า BoE ระบุสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางตรงจะมีจำกัด แต่ผลกระทบทางอ้อมจากความเชื่อมั่นและสภาวะทางเงินนั้นน่ากังวล ขณะที่การเจรจา Brexit มีความไม่แน่นอนสูง โดยโอกาสที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง (No Deal) ได้มีสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่มีมติ 7-2 คงนโยบายผ่อนคลายการเงินเดิมตามที่คาด ได้แก่ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserves) บางส่วน คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไว้ที่ “ประมาณ 0%” และเคลื่อนไหวในกรอบ +/- 0.2% คงอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี นอกจากนี้ BoJ ยังย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับต่ำยาวไปจนถึงกลางปี 2020 เป็นอย่างน้อย

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามคาด กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ และแสดงความกังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นซึ่งไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในการประชุมรอบนี้ กนง. ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2019 ลงเป็นครั้งที่สามเหลือ +3.3%YoY (จาก +3.8% ในเดือนมี.ค.และ +4.0% ในเดือนธ.ค.) ตามการส่งออกที่อ่อนแรงและการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี กนง. ยังมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2020 ทั้งนี้ กนง. ยังคงมีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ โดยระบุว่าเสถียรภาพระบบการเงินยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macroprudential) ที่จะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.8 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 3.4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการซื้อสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท หรือถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย 9.84 แสนล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้ยังคงได้รับอิทธิพลจากการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของ US Treasury Yield จากความกังวลสงครามการค้าและความผันผวนของตลาดหุ้น โดยทางฝั่งสหรัฐฯ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงมา 0.08%-0.29 % ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 1 ปีปรับลดลงเล็กน้อย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 3 ปีขึ้นไปปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ 0.10%-0.30 %

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2562

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลง -3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน จากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ต่ำกว่าคาด การทวีความรุนแรงขึ้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากบริเวณ 1,679 จุด ลงมาทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,602 จุดในช่วงกลางเดือน จากการทยอยประกาศงบกำไรขาดทุนของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาด โดยกำไรในไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 2.53 แสนล้านบาท คิดเป็นการลดลง -9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 73% จากไตรมาส 4 ปี 2561 โดยกลุ่มธุรกิจที่ยังมีกำไรเติบโตจากปีที่แล้ว ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น จากตัวเลขกำไรที่ประกาศออกมา ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดประมาณกำไรสุทธิของปี 2562 ลงเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นผลให้กำไรต่อหุ้นของตลาดถูกปรับลดลงประมาณ 6-7% เป็นสาเหตุให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง

เมื่อพิจารณาตามรายกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่เติบโตถึง 182% จากไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ตามความคืบหน้าที่เพิ่มขึ้นของงานในมือ ทั้งงานเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชมพู น้ำเงิน และส้ม ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากงานรถไฟฟ้าให้อัตรากำไรค่อนข้างดี แม้บางบริษัทมีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองการจ่ายชดเชยพนักงาน แต่กำไรรวมของกลุ่มก็ยังเติบโตได้ดี

กลุ่มธุรกิจการแพทย์มีกำไรรวมเติบโตดี เพิ่มขึ้น 83% จากไตรมาส 1 ปี 2561 เนื่องจาก BDMS มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในหุ้น RAM เป็นจำนวนกว่า 6 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการนี้ กำไรรวมของกลุ่มเติบโตได้เล็กน้อยจากปีที่แล้ว แต่แนวโน้มของหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลยังไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการออกกฎหมายควบคุมราคายา ซึ่งจะกระทบการทำกำไรของกลุ่มโรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งที่กำไรเติบโตได้ดีจากรายการพิเศษนั่นคือ กลุ่มโทรคมนาคม จากการที่ TRUE มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนและการตีมูลค่าสินทรัพย์ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) เป็นจำนวนกว่า 1.1 พันล้านบาท

อีกกลุ่มหนึ่งที่กำไรออกมาค่อนข้างดี คือ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 กว่า 60% เนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการเร่งยอดโอนให้ทันภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้วงเงินต่อหลักประกัน (Loan-to-Value: LTV) ต่ำกว่า 95% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่สองขึ้นไป หรือต่ำกว่า 80% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านที่มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างเร่งการโอน ก่อนการประกาศใช้มาตรการนี้วันที่ 1 เมษายน 2019 แต่หากมองภาพยอดขายล่วงหน้า (Presales) พบว่าลดลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต็อกเก่า จึงชะลอการเปิดโครงการใหม่ รวมทั้งผู้บริโภคก็ตัดสินใจซื้อยากขึ้น แนวโน้มของกำไรในกลุ่มนี้ในภาพระยะกลางยังมีโอกาสผันผวนจากมาตรการ LTV บ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ค่อนข้างสูง

จากนั้นในช่วงปลายเดือน พัฒนาการของสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญจากระดับ 10% เป็นระดับ 25% และประกาศห้ามบริษัทสัญชาติอเมริกันใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ เช่น บริษัท Huawei ของจีน ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการยุติการสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญ จากระดับ 10% เป็นระดับ 25% อีกทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตแร่ Rare Earth ในประเทศจีน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแม่เหล็ก ชิป ไมโครชิป และอุปกรณ์ที่ใช้ในสินค้า High Technology ต่าง ๆ โดยจีนเป็นผู้ผลิตแร่ Rare Earth เกือบ 90% ของอุปทานทั้งหมดในตลาดโลก เป็นการส่งสัญญาณข่มขู่สหรัฐฯ ทำให้ในท้ายสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขยายระยะเวลาการแบน Huawai ออกไป 90 วัน อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ได้จุดชนวนให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยี (Tech War) ขึ้น หุ้นในกลุ่มไอทีในจีนและสหรัฐฯ ปรับลดลงรุนแรง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไอที

หุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันปรับตัวลงเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดล่วงหน้าปรับตัวลดลงถึง -16.3% สู่ระดับ 53.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อันเนื่องมาจากความกังวลประเด็นสงครามการค้าจะกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน

ในช่วงปลายเดือน SET Index มีการฟื้นตัวเล็กน้อย จาก MSCI Rebalance ที่น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.8% ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2 แสนล้านบาทในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 และน่าจะยังมีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จากการปรับ Port การลงทุนของกองทุนต่าง ๆ ที่ใช้ MSCI Index เป็น Benchmark

สำหรับการเมืองในประเทศ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นหลังจากมีการเปิดประชุมสภา และมีมติเลือกประธานสภาเป็นนายชวน หลีกภัย โดยมีแนวโน้มสูงที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐขับเคลื่อนต่อไปได้ และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,620.22 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,676.60 จุด หรือประมาณ -3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม +2.3% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -0.2% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -0.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -17.5% กลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ -13.3% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -5.9% ในเดือนพฤษภาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,672 ล้านบาท โดยในวันที่ 28 พฤษภาคมมีการซื้อสุทธิสูงถึง 12,535 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 15,549 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2562

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของประเทศสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25-2.50% ตามที่คาด โดยรายงานการประชุมระบุว่า Fed มองเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ดีและตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ในขณะที่เงินเฟ้อขยายตัวในระดับ “ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%” ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนที่ระบุว่าขยายตัว “ใกล้เป้าหมายที่ 2%” หลังจากเงินเฟ้อ Core PCE ล่าสุดเดือน มี.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 1.6% YoY นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ทำให้ Fed รอประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันยังมีความเหมาะสม ทั้งนี้ Fed ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Interest on Excess Reserves: IOER) ลง -5bps เป็น 2.35% เพื่อควบคุมไม่ให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (Effective Fed Funds rate) ขยับเข้าใกล้กรอบบนของดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป ทางด้านนาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวว่าเงินเฟ้อที่อ่อนแอในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวและไม่ได้ชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกจากนี้ นาย Powell ระบุว่านโยบายการเงินตอนนี้มีความเหมาะสมและไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนในตอนนี้ และยังมองว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดี จะหนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะข้างหน้า

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามคาด และย้ำว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายขึ้นอยู่กับผลการเจรจา Brexit โดยในการประชุมรอบนี้ BOE ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2019-2021 ขึ้นเป็น 1.5% YoY, 1.6% YoY และ 2.1% YoY ตามลำดับ จากการบริโภคเอกชนซึ่งได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ขณะที่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2019-2020 ลงเป็น 1.6% YoY และ 2.0% YoY ตามลำดับจากราคาน้ำมันขายปลีก แต่ยังคงคาดเงินเฟ้อปี 2021 ที่ 2.1% YoY นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็มีความเหมาะสม เพื่อให้เงินเฟ้อขยายตัวที่เป้าหมาย 2% โดย BOE จะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับผลการเจรจา Brexit ว่าจะออกมาในรูปแบบใด นาย Mark Carney ผู้ว่าการ BOE ระบุว่าหากรัฐบาลสามารถได้ข้อตกลง Brexit และออกจาก EU ไปแบบราบรื่น อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้น และอาจปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามที่ตลาดคาด โดยกนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกและการลงทุน อย่างไรก็ดี คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากการจ้างงานในภาคก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่เริ่มทรงตัว กนง. มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ดังนั้นมาตรการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในระยะถัดไปจะต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไตรมาส 1/2019 ชะลอตัวลงเป็น +2.8% YoY เท่ากับที่ตลาดคาด จาก +3.6% YoY ในไตรมาสก่อน โดยเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เงินบาทที่แข็งค่า และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวดี นำโดยการบริโภคเอกชน (+4.6% YoY) และการลงทุนภาคเอกชน (+4.4% YoY) อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐยังคงอ่อนแอ (-0.1% YoY) ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ปรับลดเป้า GDP ปี 2019 ลงเป็น 3.3-3.8% (จากเดิมที่ 3.5-4.5%)

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ไทย ในเดือนนี้เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ต้นปีที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.03 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 8.6 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการซื้อสุทธิ 1.34 หมื่นล้านบาท หรือถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย 9.37 แสนล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าการถือครอง ณ สิ้นปีที่ผ่านมาที่ 9.86 แสนล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนนี้ได้รับอิทธิพลจากการปรับลดลงอย่างมากของ US Treasury Yield จากความกังวลสงครามการค้าและความผันผวนของตลาดหุ้น โดยทางฝั่งสหรัฐฯ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงมา 6-32 Bps โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวมีการปรับลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ส่วนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 1 ปีปรับขึ้น 1-5Bps ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศ 6-17Bps

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2562

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.13% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2562 โดยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ปัจจัยที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นในรอบนี้ ได้แก่ การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน และไม่มีปัจจัยลบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือน จากระดับบริเวณ 1,627 จุด และขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1,684 จุด ก่อนจะปรับตัวลงมาบริเวณ 1,674 จุดในปลายเดือน นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 กอปรกับการเกิดความไม่สงบในประเทศลิเบีย และการลดการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศเวเนซุเอลา ทำให้ความกังวลด้าน Oversupply ของน้ำมันดิบลดลง จึงทำให้ราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้น 5.37% ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ตลาดมีปัจจัยลบเล็กน้อยเนื่องจากทาง IMF ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกปี 2562 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.5% ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน ส่วนการเติบโตของจีดีพีในปี 2563 ยังคงประมาณการเดิม โดยประเทศที่ถูกปรับลดการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ ประเทศเยอรมัน -0.5% จากเรื่องการปรับมาตรฐานการปล่อยก๊าซพิษจากรถยนต์ ที่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศอิตาลี -0.5% จากปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ประเทศอังกฤษ -0.3% จากการออกสหภาพยุโรปฯ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป และสหรัฐอเมริกา -0.2% จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุติการจ่ายงบประมาณ (Government Shutdown) ในเดือนมกราคม และการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาด ส่วนประเทศจีนถูกปรับขึ้น 0.1% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจีน แต่ SET Index ไม่ได้ปรับลงเท่าใดนัก และจะเห็นว่าการปรับลดการเติบโตของจีดีพีโลกของ IMF นั้น ส่วนใหญ่เป็นการลดในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าและยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้และปีหน้า

ในช่วงกลางเดือน เป็นการประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งว่าหลาย ๆ ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์เกษียณอายุพนักงานตามกฎหมายใหม่ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากธุรกิจประกันที่ลดลงค่อนข้างมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ แต่หากดูกำไรรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะพบว่ายังเติบโตได้ประมาณ 2% ทั้งนี้มาจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจเงินติดล้อของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 8.6 พันล้านบาท โดยรวมแล้ว ผลกำไรไม่ได้สร้างความผิดหวังหรือความยินดีให้กับนักลงทุน ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์จึงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเท่านั้น

อีกปัจจัยที่อาจสนับสนุนตลาดในระยะอันใกล้ ได้แก่ การปรับเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของดัชนี MSCI ในรอบเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ที่ให้นำหุ้น NDVR เข้ามารวมในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยถูกเพิ่มน้ำหนักการลงทุนจาก 2.3% เป็น 2.8% (รวมผลกระทบของการรวมดัชนี China A Share ซาอุดิอาระเบีย และอาร์เจนติน่าด้วยแล้ว) คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 7.6 หมื่นล้านบาทที่มีแนวโน้มไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังการ Rebalance MSCI ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะยังถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และมีกำหนดที่จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงด้านการค้ากันได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะเป็นข่าวดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ จะถือเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นในระยะถัดไป
สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง แม้ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นมาจากต้นปี แต่ SET Index บริเวณปัจจุบันที่ 1,674 จุด ยังให้ค่า PE ของตลาดในปี 2019 เท่ากับ 15.5 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับไม่แพง อีกทั้งการถือครองหุ้นของต่างชาติ (รวม NVDR) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2005 และภายในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ตลาดหุ้นไทยจะปลดล็อคเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มจะพิจารณากลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง พร้อมกับ Fund Flow จาก MSCI Rebalance ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจในระยะสั้นนี้ โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี และมีมูลค่าที่เหมาะสม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2562

ในเดือนนี้ตลาดสหรัฐฯ มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น +1.96 แสนราย ดีกว่าตลาดคาดไว้ที่ +1.77 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำที่ 3.8% เท่ากับเดือนก่อนและเท่ากับที่ตลาดคาด ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น +0.1% MoM แต่ต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ +0.3% MoM และเดือนก่อนที่ +0.4% MoM ส่งผลให้เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ค่าจ้างชะลอตัวลงเป็น +3.2% YoY นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือน มีการประกาศ GDP ไตรมาส 1/2019 ในเบื้องต้นว่าขยายตัว +3.2% เร่งขึ้นจาก +2.2% ในไตรมาสก่อน และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้อย่างมากที่ +2.3% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีกว่าคาดในไตรมาสนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง และยอดส่งออกสุทธิ เป็นสำคัญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4%) จะคงอยู่ที่ระดับต่ำนี้ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย และจะซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ (Reinvest) ต่อไปจนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย นาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงและเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อจากนี้ ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อในระยะข้างหน้า (เงินเฟ้อเดือน มี.ค. ขยายตัว 1.4% YoY ยังห่างไกลจากเป้า 2% ค่อนข้างมาก) ซึ่งนาย Draghi ยังคงย้ำว่า ECB พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่เพื่อหนุนเศรษฐกิจและให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเข้าสู่เป้าหมายที่ 2%

ในการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเดิมตามที่ตลาดคาด ได้แก่ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserves) บางส่วน, คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไว้ที่ “ประมาณ 0%” และคงอัตราเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี BOJ ยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาวจะคงอยู่ที่ระดับต่ำนี้ต่อไปอีกจนถึงกลางปี 2020 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับเปลี่ยนมาตรการบางส่วนเล็กน้อยในเชิงเทคนิคเพื่อสนับสนุนให้สามารถใช้นโยบายที่ผ่อนคลายต่อไปได้ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจ BOJ ได้ออกประมาณการเงินเฟ้อไม่นับรวมอาหารสด (Core CPI) ของปีงบประมาณปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 1.6% YoY ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% และปรับลดคาดการณ์ GDP ของปีงบประมาณ 2019 และ 2020 ลง -0.1ppt เป็น 0.8% YoY และ 0.9% YoY ตามลำดับ

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นประมาณ 9 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวประมาณ 8.8 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และเป็นการถือครองลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสรุปนักลงทุนต่างชาติลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนเม.ย. คงเหลือ 9.29 แสนล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2018 ที่ 9.86 แสนล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มีเพียงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2-5 Bps ส่วนการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 14 วัน ถึง 6 เดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูล มีทิศทางปรับขึ้นมาแตะระดับ 1.70% โดยในสัปดาห์สุดท้ายอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรุ่น 14 วันอยู่ที่ 1.7053%, 3 เดือนที่ 1.7085% และ 6 เดือนที่ 1.7658%

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ