Source: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 เม.ย. 2562
ตลาดหุ้นไทย ยังน่าลงทุนหรือไม่
บลจ.ทาลิส จัดสัมมนาให้ความรู้ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล

นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ขวา) และนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (ซ้าย) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด จัดงานสัมมนาให้กับลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนหลังการเลือกตั้ง” โดยได้รับเกียรติจากนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)(กลาง) ร่วมเสวนาให้ข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมาและปี 2562 พร้อมพูดคุยถึงสถานการณ์ ทิศทางการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2562
ในเดือนนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายเงินของหลายประเทศสำคัญต่างเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินนโยบายเป็นการผ่อนคลาย (Dovish) และปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจลง ดังเช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่มองเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกออกไป โดยอัตราดอกเบี้ย Refinancing rate ที่ 0.0% และ Deposit facility rate ที่ -0.4% จะอยู่ที่ระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย นาย Mario Draghi ประธาน ECB กล่าวว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยุโรปจากปัจจัยก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ ทั้งความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้า และเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแอ ยังคงกดดันความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรปอย่างต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นั้นยังมีจำกัด ภาพรวมเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งผลให้ ECB ตัดสินใจออกโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ (TLTRO3) ในการประชุมรอบนี้ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อและลดแรงกดดันด้านสภาพคล่องเนื่องจากเงินกู้ในโครงการ TLTRO2 ได้ใกล้ครบกำหนดชำระคืน โดยโครงการ TLTRO3 นี้จะดำเนินการตั้งแต่เดือนก.ย. 2019 จนถึงเดือนมี.ค. 2021 แบ่งเป็นไตรมาสละครั้ง (รวม 7 ครั้ง) ซึ่งแต่ละครั้งจะมีกำหนดชำระคืน (Maturity date) ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยจะอิงตาม Main Refinancing rate ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.0%
ธนาคารกลางของสหรัฐ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ (10-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25-2.50% แต่มีท่าที Dovish มากกว่าที่คาด และยังคงย้ำว่าจะรอประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมถึงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง โดย Fed ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 2.1% ปี 2020 เป็น 1.9% แต่คงปี 2021 ไว้ที่ 1.8% ส่วนเงินเฟ้อ Fed คงคาดการณ์ Core PCE ของปี 2019-2021 ไว้ที่ 2.0% ด้านนโยบายงบดุล Fed กล่าวว่าจะยุติการปรับลดขนาดงบดุลลงในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเริ่มชะลอการลดพันธบัตรในเดือนพ.ค. นี้ นาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวว่านโยบายการเงินตอนนี้มีความเหมาะสมต่อสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคณะกรรมการฯ เชื่อว่าควรที่จะรอประเมินสถานการณ์ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน จึงอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังระบุว่า ตอนนี้ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ สะท้อนว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน
ทางด้านนโยบายการเงินของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ (7-0) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการ 2 ท่านที่โหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อนเปลี่ยนเป็นโหวตให้คงอัตราดอกเบี้ย แม้ว่า กนง. จะยังคงมีมุมมองด้านบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน แต่ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2019 ลงเหลือ +3.8% YoY (เทียบกับ +4.0% ครั้งก่อน) ตามการส่งออกที่ชะลอลงและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเบิกจ่ายล่าช้า ทั้งนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกลงเหลือ +3.0% YoY (เทียบกับ +3.8% ครั้งก่อน) ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง วัฎจักรขาลงของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้มาตรการกีดดันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ กนง. ได้ปรับลดการลงทุนภาครัฐลงเหลือ +6.1% YoY (เทียบกับ +6.6% ครั้งก่อน) ด้านเสถียรภาพทางด้านราคา กนง. คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ +1.0% YoY แต่ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเป็น +0.8% YoY (เทียบกับ +0.9% ครั้งก่อน)
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 8 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และเป็นการถือครองลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสรุปนักลงทุนต่างชาติลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมี.ค. คงเหลือ 9.45 แสนล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2018 ที่ 9.86 แสนล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 1-5 bps ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวของไทยได้รับผลกระทบจากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลง จึงกดดันให้ธนาคารกลางหลายแห่งรวมทั้ง กนง. มีท่าทีเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินและอาจจะปรับไปสู่การผ่อนคลายนโยบายการเงินแทน ส่งผลให้ US Treasury อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลงสู่แตะระดับ 2.39% ในช่วงปลายเดือน (เทียบกับสิ้นปี 2018 ที่ประมาณ 2.70%) จนเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในช่วงอายุพันธบัตร 1-6 เดือน เมื่อเทียบกับอายุ 10 ปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยปรับลดลงตาม โดยพันธบัตรรัฐบาลไทย อัตราผลตอบแทนในรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลง 3-10 bps และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในรุ่นอายุ 10 ปีกลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าของสหรัฐฯ ในเดือนนี้อีกด้วย
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ
ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2562
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 1,610 – 1,650 จุด โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดค่อนข้างผันผวนในเดือนนี้ คือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย ส่วนปัจจัยบวกจากต่างประเทศ ได้แก่ การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการชะลอการลดขนาดงบดุลของ FED
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน จากระดับบริเวณ 1,655 ลงมาบริเวณ 1,620 ตลอดทั้งเดือน เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการคือ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้จำนวนสส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด และทางพรรคได้ออกมาประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ในขณะที่เสียงสนับสนุนพรรคทั้งสองให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็มีความก่ำกึ่งกัน และ กกต.แถลงว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากกว่า 200 เรื่อง ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูง แม้จะผ่านช่วงการเลือกตั้งมาแล้ว
สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่สหรัฐฯ เลื่อนวันประกาศใช้อัตราภาษีที่เก็บเพิ่มจากสินค้าจากขึ้นจาก 10% เป็น 25% ออกไป และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา โดยมีโอกาสสูงที่ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
นอกจากนี้ การประชุม FOMC ในวันที่ 19 – 20 มีนาคม ที่ผ่านมา FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม และส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (จากเดิมคาดขึ้น 2 ครั้ง) และคงมุมมองปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 2563 อีกทั้งยังส่งสัญญาณจะชะลอการปรับลดงบดุลในเดือนพฤษภาคม จาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เหลือ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และจะยุติการปรับลดงบดุลในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นการสะท้อนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นสัญญาณบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.43% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 เดือน และได้ปรับลดลงมาต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะนี้เรียกว่า “Inverted Yield Curve” ที่มักเกิดก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดความกังวลมากในหมู่นักลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง
ในฝั่งยุโรปนั้น วันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐสภาอังกฤษมีมติโหวตไม่ผ่านข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นครั้งที่ 3 ทำให้นางเทเรเซ่า เมย์ ต้องกลับไปคุยกับ EU ในวันที่ 12 เมษายนนี้ เพื่อกำหนดข้อตกลงใหม่ แต่หากไม่สามารถเจรจากันได้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่อังกฤษจะต้องออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง (No Deal Brexit) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งประเทศอังกฤษและ EU ที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,638.65 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,653.48 จุด หรือประมาณ -0.90% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +6.2% กลุ่มการแพทย์ +3.2% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +2.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -7.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.5% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.1% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 16,397 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 5,719 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มการลงทุนนั้น คาดว่าจะมี Fund Flow ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ แม้ว่าอาจจะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะอยู่ได้นานเพียงไร แต่สิ่งหนึ่งที่ทางคสช. ได้ทำไว้ คือ การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แม้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ยังคงต้องเดินหน้าแผนปฏิบัติการที่ได้ระบุไว้ ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่ยุค 4.0 เป็นต้น ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้น่าจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่องได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รวมถึงรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยเร่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี และมีมูลค่าที่เหมาะสม
ตลาดหุ้นไทย หลังการเลือกตั้ง
แรงหนุนจากธนาคารกลาง
บลจ.ทาลิส ได้รับความวางใจบริหารกองทุนส่วนบุคคล มสธ.
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2562
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติเป็นเอกฉันท์ (9-0) คงนโยบายการเงินเดิมและอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ตามที่ตลาดคาด โดยแถลงการณ์หลังการประชุมระบุความเสี่ยงจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนของ Brexit และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซน ส่งผลให้ BoE ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงมากเป็น 1.2% YoY จาก 1.7% YoY ในประมาณการครั้งก่อนในเดือน พ.ย. 2018 ทางด้านเงินเฟ้อ BoE ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ลงเล็กน้อย เป็น 2.0% YoY โดยมองว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ในระยะใกล้ตามการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ก่อนที่จะทยอยปรับขึ้นเกินเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ คณะกรรมการยังคงระบุว่าหากพัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ประเมินไว้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็มีความจำเป็นเพื่อให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ นาย Mark Carney ผู้ว่า BoE กล่าวว่าความไม่แน่นอนของ Brexit ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และมองความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU ไปแบบไร้ข้อตกลงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนาย Carney ได้กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP 4Q18 ขยายตัว +3.7% YoY ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด (+3.6% ตลาด, +3.2% ไตรมาสก่อน) จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัวเล็กน้อยหลังจากหดตัวในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2018 GDP ขยายตัว +4.1% YoY (+4.0% ปี 2017) อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งนำโดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว +5.3% YoY (+5.2% ไตรมาสก่อน) และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ +5.5% YoY (+3.8% ไตรมาสก่อน) การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัว +0.6% YoY หลังจากการหดตัวในไตรมาสก่อนที่หดตัว -0.9% YoY ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าในไตรมาสก่อน รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการชะลอตัวลงที่ +5.6% YoY (+11.0% ไตรมาสก่อน) สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้ 3.5%–4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ
ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และสกุลเงินในภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้นเพียง 158 ล้านบาท แต่ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.9 พันล้านบาท เมื่อรวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้วเป็นการถือครองลดลงประมาณ 14.33 พันล้านบาท ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยเฉพาะรุ่นอายุ 5-10 ปีขึ้นไปกลับปรับเพิ่มขึ้น 0.07-0.09% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นอายุยาวมาก เช่น รุ่นอายุ 48 ปีที่มีการประมูลในช่วงกลางเดือน ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม อัตราผลตอบแทนจากการประมูลจึงต่ำกว่า Indicative Yield ของวันก่อนหน้าการประมูล และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นใกใล้เคียงปรับลดลงตามด้วย
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ
หุ้นขึ้นรอบนี้ เพราะอะไร?
ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2562
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวขึ้น +4.39% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 จากปัจจัยบวกภายในประเทศ ได้แก่ การเมืองไทยที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น และปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และการส่งสัญญาณการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED
SET Index เคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากระดับประมาณ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 52 - 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคม ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มน้ำมันปรับตัวขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ดัชนีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายเดือน
สำหรับด้านต่างประเทศ ทางฝั่งของสหรัฐฯ ได้ยุติการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยราชการบางส่วน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยินยอมลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว เพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลกลับมาเปิดดำเนินงานและมีงบประมาณบริหารงานได้จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 นอกจากนี้ ในวันที่ 30 มกราคม 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย และอาจจะยุติการลดขนาดของงบดุลในไม่ช้า ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนทั่วโลกเข้าสู่ภาวะชอบความเสี่ยงมากขึ้น และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดไทยปรับตัวขึ้น กระแส Fund Flows เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดไทยและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 9 เดือน
ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และจีน เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจีนเตรียมที่จะนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ จำนวน 5 ล้านตัน ซึ่งเป็น 2 เท่าของจำนวนที่นำเข้าในเดือนธันวาคม 2561 และทางผู้นำของจีนและสหรัฐฯ จะมีการเจรจากันเพิ่มเติมในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดเริ่มมีความหวังว่าทั้งสองประเทศนี้ จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะต่อไป
ส่วนในฝั่งยุโรป ผลการลงมติต่อร่าง Brexit ฉบับแก้ไข มีมติเห็นชอบไม่ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (Hard Exit) และให้นางเทเรซ่า เมย์ เจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องข้อตกลงพรมแดนไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์อีกครั้ง (Irish Backstop) ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ นางเมย์จะปรับปรุงร่างข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ และมีโอกาสสูงที่จะได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากทราบความต้องการของรัฐสภาอย่างแน่ชัดแล้ว ทำให้ความกังวลเรื่องนี้ลดลงไป และการที่ประเด็น Brexit ยังอยู่ในกรอบเวลา ทำให้ค่อนข้างเป็นปัจจัยที่เป็นกลางต่อตลาด
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2562 SET Index ได้ปิดที่ 1,641.73 จุด ปรับตัวขึ้นจากระดับ 1,563.88 จุด หรือประมาณ +4.39% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2561 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +9.0% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +8.9% และกลุ่มพาณิชย์ +7.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -6.1% กลุ่มการแพทย์ -1.8% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +1.2% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,722 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิ 10,031 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มของ SET Index ในระยะต่อไปนั้น คาดว่ายังคงมีทิศทางค่อยๆ ปรับตัวขึ้น และอาจมีแรงขายทำกำไรบ้างหลังการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน และช่วงใกล้วันเลือกตั้งในเดือนมีนาคม แม้ว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นมาพอสมควร แต่หากดู Valuation แล้ว ณ ระดับปัจจุบัน ค่าพีอีของ SET Index ในปี 2019 ที่ระดับ 14.8 เท่า ยังอยู่ในกรอบค่าพีอีที่ทางบลจ.ทาลิส ประเมินไว้ในช่วง 13.5 – 16 เท่า หรือ SET Index มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้ถึงบริเวณ 1,840 จุด โดยกองทุนยังคงเน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีอัตราการเติบโตสูง และมีมูลค่าเหมาะสม