ภาวะตลาดหุ้นไทย (27 – 30 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของ SET Index ยังคงเป็น Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ (American Health Care Act) ที่ต้องการนำมาใช้แทนกฎหมาย Obama Care ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะสามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมาตรการปฏิรูปภาษี ทำให้นักลงทุนมีการย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ที่ประชุม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ขึ้นไปที่ 3.4% จาก 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่ม PTT ที่เคยเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลในการจัดการธุรกิจน้ำมันของชาติ

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์สามารถกลับมายืนเหนือระดับ $50 ต่อบาร์เรลได้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงไปแกว่งตัวที่ $47–$48 ต่อบาร์เรลในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับตัวขึ้นนั้นมาจากประเทศผู้ผลิตหลายรายได้ออกมาสนับสนุนการขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิต ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $50.60 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5.48% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.11 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.80%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จาก Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2560 ที่จะเริ่มทยอยออกมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ตลาดผันผวนยังเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ โดยในสัปดาห์นี้ จะเริ่มมีการเจรจา Brexit ของอังกฤษและ EU และในปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 – 31 มีนาคม 2560 )

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากตลาดมีมุมมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจากนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ทรัมป์ ลดลง หลังจากที่ไม่สามารถผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพแบบใหม่ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ นำไปสู่การคาดหวังว่าความถี่ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED อาจจะลดลงด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด ได้แก่ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2% และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 เป็นเติบโต 3.4% จากเดิม 3.2% ในขณะที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 1.5%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงต่อเนื่อง 0.02-0.15% โดยเฉพาะรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีกระแสเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาซื้อ และตารางปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะยาวในไตรมาสหน้าที่ลดลง รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตารางการเสนอขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายนที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินระยะสั้น ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว จำนวน 5.98 และ 11.29 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 มีนาคม 2560 )

ตลาดการเงินยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของสหรัฐที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะคุมเข้มนโยบายในอัตราที่เร็วขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า แม้แต่การกล่าวแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงช่วงเวลาและความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ นอกจากนี้ตลาดยังกังวลกับแนวโน้มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ หลังจากพรรครีพับลิกันถอนร่างกฎหมายประกันสุขภาพออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุน และกังวลต่อถึงอุปสรรคในมาตรการที่ตลาดฝากความหวังไว้สูง เช่น แผนปฏิรูปภาษีและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน US Treasury ปรับลดลงมา หลังจากขึ้นไปแตะระดับ 2.62% ในช่วงสัปดาห์ก่อนการประชุม FOMC โดย US Treasury 10-Year ปรับลดลงมาต่ำกว่า 2.40% สะท้อนความไม่เชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อย 0.01-0.02% เนื่องจากมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ ประมาณ 10 ปี และนักลงทุนสถาบันรอตารางการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลสำหรับไตรมาสหน้า และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 12.8 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 877 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย 20 – 24 มีนาคม 2560

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สี่ของเดือนมีนาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงกลางสัปดาห์มีการประกาศยอดส่งออกลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ -2.8% โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากการส่งออกทองคำที่สูงกว่าปกติในปีก่อน ซึ่งหากไม่รวมทองคำ ยอดส่งออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จะเติบโตขึ้น 8.5% โดยการเติบโตหลักมาจากกลุ่มสินค้ายางพารา เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับปัจจัยของต่างประเทศนั้น ในสหรัฐฯ มีประเด็นเรื่องสภาฯ มีการพิจารณายกเลิกกฎหมาย Obamacare โดยจะเปลี่ยนเป็นกฎหมาย American Healthcare ซึ่งตามกำหนดการจะมีการลงมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในช่วงกลางสัปดาห์ แต่เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของพรรครีพับลิกันเอง ทำให้ต้องเลื่อนการลงมติออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลถึงความเชื่อมั่นในนโยบายของประธานาธิปดีสหรัฐฯว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะสามารถทำให้สภาฯ เห็นชอบในนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ทั้งหมดหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี ทำให้มีการคาดการณ์ว่านักลงทุนอาจจะย้ายการลงทุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นแทน

ทิศทางของ Fund Flow ต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาเป็น Net Buy 4.3 พันล้านบาท หลังจากหมดความกังวลเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed

ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI แกว่งตัวอยู่ในระดับ $47 – 48 ต่อบาร์เรล จากความกังวลเรื่องการเพิ่มขึ้นของตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ 533 ล้านบาร์เรล โดยเพิ่มขึ้น 11% YTD หรือ 53 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์จะมีการประชุมร่วมกันของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ผ่าน Joint Ministerial Monitoring Committee เพื่อติดตามผลของการลดกำลังผลิต โดยคาดว่าผลของการประชุมนั้นจะเป็น Sentiment หลักของราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้า โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.97 ต่อบาร์เรล ลดลง 1.66% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,573.51 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.80%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จาก Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนได้ โดยในสัปดาห์นี้ จะเริ่มมีการเจรจา Brexit ของอังกฤษและ EU และในปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส

ภาวะตลาดหุ้นไทย (13 – 17 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สามของเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ โดยวันแรกของสัปดาห์ยังคงมีแรงขายอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน และทำให้ดัชนีปรับตัวลงไปที่ 1,535 จุด แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาหลัง Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางสัปดาห์ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เป็น 0.75% – 1.00% และส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป Fed จะพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศว่ายังคงดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า Fed คงปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ขึ้นอีกไม่เกิน 2 ครั้งและไม่รีบปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เดิมกังวลว่าอาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 3 ครั้ง และอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนั้น Dollar Index ก็เริ่มมีการอ่อนค่าลง โดยสิ้นสัปดาห์ Dollar Index อ่อนค่าลงกว่า 0.94% โดยปิดที่ 100.3 จุด และทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอีก โดยสิ้นสัปดาห์ ยูโรต่อดอลล่าร์ปิดที่ 1.07 แข็งค่าขึ้น 0.61% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลดีจากการที่หุ้น GL มีการดีดตัวขึ้นภายหลังถูก Force Sell ลงมาถึง 3 Floor และมีการชี้แจงข้อมูลเรื่องการปล่อยกู้ในต่างประเทศเพิ่มเติมจากผู้บริหาร ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่ม Leasing และหุ้นขนาดกลาง/เล็กปรับตัวขึ้นด้วย ในส่วนของ Fund Flow นั้น นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 4 พันล้านบาท ส่วนปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบเริ่มมีความผ่อนคลายลง เมื่อตัวเลข Stock น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลง 237,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่ม OPEC ลดการส่งน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ทำให้เป็นผลบวกต่อราคาน้ำมัน โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $48.42 ต่อบาร์เรล โดยปรับขึ้น 0.6% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,560.98 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หลังจากหมดข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนว่าจะมี Fund Flow ไหลออกจากตลาด Emerging Market ในระยะถัดไป ความสนใจของตลาดคงกลับมาที่การเลือกตั้งในยุโรป ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดพรรค Party for Freedom ที่จะนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรปมีคะแนนสูสีกับพรรคเสรีนิยม People’s Party for Freedom and Democracy ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน และจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเดือนปลายเมษายน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 17 มีนาคม 2560 )

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 9-1 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ โดย FOMC ระบุว่าตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตได้ดี การขยายตัวของการจ้างงานแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังคงประมาณการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินตามที่คาดการณ์ และยังมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้คงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 4.35 แสนล้านปอนด์ และคงวงเงินซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ระดับ 1 หมื่นล้านปอนด์

จากผลการประชุมนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ นักลงทุนต่างคลายความกังวลเนื่องจาก FED ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้มีแรงซื้อเข้ามายังตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนจึงปรับลดลง ซึ่งตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีทิศทางเช่นเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง 0.01-0.06% โดยเฉพาะในรุ่น 2-15 ปี ที่มีการซื้อขายกันมาก และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิบ้าง โดยขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 944 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 4.66 พันล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (6 – 10 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สองของเดือนมีนาคม SET Index ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ จากปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่จะมีการประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ของสมาชิกและประธาน FOMC ที่ให้ความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตดีพอที่จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ทำให้ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการขึ้นเป็น 100% และปรับเป้าการขึ้นดอกเบี้นจากเดิมที่เคยตั้งไว้ 2 ครั้งเป็น 3 ครั้งในปี 2560 นี้ ทำให้นักลงทุนมีลดการลงทุนในตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่ลง และส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Sell ที่ 7 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน นักลงทุนในประเทศก็ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้น GL เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้ตรวจสอบบัญชีว่ามีการปล่อยกู้ให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์และไซปรัส โดยหลักประกันบางส่วนใช้หุ้น GL เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีการ Rollover เงินกู้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ และนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศของ GL และมีการขายหุ้น GL ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจาก 57 บาท เหลือ 25 บาท ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 มีนาคม 2560)

ตลาดการเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นในตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ และยังได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. โดย ADP ที่แตะระดับ 298,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 187,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานภาคเอกชนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2014 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแตะระดับ 2.60% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0%, คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.4% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ขณะเดียวกัน ECB ได้ประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนจนถึงสิ้นเดือนมี.ค ก่อนที่จะปรับลดลงสู่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ธ.ค. โดยการปรับลดวงเงินการซื้อพันธบัตรในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นไปตามที่ ECB เคยประกาศไว้ในการประชุมเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากแรงหนุนเงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (27 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์นี้ ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดมุมมองในเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการเติบโต ซึ่งส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้น ค่าเงิน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ กล่าวคือ กรรมการ FOMC หลายท่านออกมาให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย และประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจเน็ต เยลเลน ออกมาย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้มีความเหมาะสม เหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยประกาศแผนงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภค แผนการปรับลดภาษีสำหรับชนชั้นกลางและปฏิรูประบบภาษีให้บริษัทสหรัฐสามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้มากขึ้น ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโต เช่น ยอดผู้เข้ารับรัฐสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ / ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.9% แม้จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในรายละเอียดประกอบไปด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้าง

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้นได้สะท้อนมุมมองดังกล่าว ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับมีการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุประมาณ 5 ปีในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีนักลงทุนถือครองมาก ทำให้มีแรงขายออกมาจากความกังวลถึงความเคลื่อนไหวในอัตราผลตอบแทนตามสหรัฐ โดยรวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้น 0.01-0.08% โดยเฉพาะในช่วงกลางของเส้นอัตราผลตอบแทน และตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 8.3 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (27 – 3 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม SET Index แกว่งตัวในช่วงแคบในกรอบ 1,573 – 1,555 จุด หลังจากผลประกอบการในไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนประกาศเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยภาพรวมแล้วในไตรมาสที่ 4 กำไรเติบโต 20% และในปี 2559 มีการเติบโตสูงถึง 37% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสภาคองเกรสในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ยังคงให้ภาพรวมที่จะดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งการลงทุนด้านสาธารณูปโภค การลดภาษี และการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของพลเมืองอเมริกา แม้ว่าจะยังไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ทำให้มีแรงซื้อหุ้นเข้ามาในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การกล่าวสุนทรพจน์ของประธาน Fed หลายท่านในหลายวาระที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีการคาดการณ์ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ โดย Bloomberg Consensus ให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 94% ทำให้มีแรงขายกลับเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิที่ 5.3 พันล้านบาท ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI ยังแกว่งตัวในกรอบ $53-54 ต่อบาร์เรล แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะถูกกดดันโดยสต๊อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ แต่การลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาแกว่งอยู่เหนือ $50ต่อบาร์เรลได้ โดยสิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดที่ $53.33 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา -1.22%

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.20 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.10%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลง จากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอาจจะเห็น Fund Flow ไหลออกจากภูมิภาค