ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +5.7% สู่ระดับ 1,657.62 จุด แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และตัวเลขเศรษฐกิจที่ค่อนข้างย่ำแย่ในไตรมาสที่ 3 แต่ปัจจัยลบเหล่านี้ดูเหมือนจะมีหนทางคลี่คลาย ประกอบกับช่วงเดือนธันวาคมเป็นเทศกาลหยุดยาว ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่อยากขายหุ้นจะปรับ Portfolio ไปตั้งแต่เดือนก่อนหน้าแล้ว ทำให้แรงซื้อที่เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจข้ามปีผลักดันใน SET Index ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ ความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมา โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 39 ปี ทำให้การประชุม FOMC ในวันที่ 14-15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา FED มีมติเร่งปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) จากเดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะทำให้ FED ยุติโครงการ QE ในเดือนมีนาคม 2565 และจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เป็นลำดับถัดไป โดยอ้างอิงจาก Dot Plot ของ FED นั้น เจ้าหน้าที่ FED ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จำนวน 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 3 ครั้งในปี 2566 และอีกจำนวน 2 ครั้งในปี 2567 รวมทั้งหมด 8 ครั้ง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะไปสิ้นสุดที่ 2.5% ในปี 2567 ซึ่งหลังจากที่มีการแถลงแนวโน้มที่ Hawkish มากขึ้นของ FED เนื่องจากเห็นว่า FED มีการดำเนินนโยบายนำหน้าปัญหา และคลายความกังวลของตลาดจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการตอบรับที่ดีขึ้น และส่งผลให้เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นซื้อสุทธิมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ตลาดก็มีการคลายความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถในการแพร่กระจายที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อาทิเช่น Delta หรือ Alpha แต่ทว่ามีความรุนแรงที่เบากว่า โดยหน่วยงานหลักประกันสุขภาพของอังกฤษได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ว่า โอกาสที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Omicron ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นน้อยกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Delta ถึง 50-70% ซึ่งจะช่วยบรรเทาความกดดันในระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศไปได้ส่วนหนึ่ง และคลายความกังวลของนักลงทุนว่าประเทศต่าง ๆ จะไม่ออกมาตรการ Lockdown ที่รุนแรงและยาวนานเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยภายในประเทศเองยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน SET Index ปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2564 แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ทำให้มีการ Lockdown ในหลายจังหวัดที่มีการระบาดรุนแรง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยก็เหมือนผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4/2564 และต่อเนื่องในปี 2565 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ความต้องการซื้อในประเทศเริ่มขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า และเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อใช้ในเทศกาลปีใหม่ ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ต่อศักยภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนธันวาคม 2564 SET Index ปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด เพิ่มขึ้น 88.93 จุดหรือ 5.67% จากเดือนก่อน โดยตลอดทั้งเดือนนั้น SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีจากการที่ตลาดคลายความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากท่าทีของ FED ที่ Hawkish มากขึ้น และการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่แม้จะมีความสามารถในการระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ทว่ามีความรุนแรงที่น้อยกว่า รวมไปถึงภาพของเศรษฐกิจไทยที่ได้ผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3/2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4/2564 เนื่องด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง โดยหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +15.0% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +10.5% และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +10.4% ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -5.1% กลุ่มพาณิชย์ +0.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร +1.2% ให้ผลตอบแทนการลงทุนน้อยที่สุดในช่วงเดียวกัน

ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิที่ 23,223 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิที่ 10,982 ล้านบาท นอกจากนี้ บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 2,391 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิที่ 8,630 ล้านบาทและ 16,984 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตลอดทั้งปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 13,672 ล้านบาทและ 112,241 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 77,336 ล้านบาทและ 48,578 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ แต่ลดการถือครองในกลุ่มค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

กองทุนเปิดทาลิส ตลาดเงิน (TLMMF) ได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2564

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด ได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2564 Best Mutual Fund of the Year 2021ประเภทกองทุนตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศบางส่วน (Fixed Income Fund) จากกองทุนเปิดทาลิส ตลาดเงิน (Talis Money Market Fund: TLMMF) โดยคุณประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน เข้าร่วมรับรางวัลในงานมอบรางวัลเกียรติยศ Money Banking Awards 2021 ที่จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร เมื่อเร็ว ๆ นี้

กองทุนเปิดทาลิส ตลาดเงิน (TLMMF) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐหรือภาคเอกชน เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน หรือตราสารการเงินอื่นใดที่เสนอขายในประเทศ ที่มีสภาพคล่องสูงและมีอายุคงเหลือไม่เกินกว่า 397 วันนับแต่วันที่ลงทุน

ทั้งนี้ ผู้สนใจลงทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ข้อมูลกองทุน ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

.wp-post-image {display: none;}

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -3.37% สู่ระดับ 1,568.69 จุด จากประเด็นความกังวลว่า FED จะมีการเร่งลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคม 2564 และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่เร็วกว่าการคาดการณ์เดิม รวมถึงประเด็นความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Omicron จึงทำให้ตลาดปรับตัวลงค่อนข้างมากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาดคือ ความกังวลว่า FED จะมีการเร่งลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ โดยก่อนหน้านี้ FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม ขณะที่ประกาศจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะทำให้โครงการ QE สิ้นสุดลงในช่วงกลางปี 2565 และในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะมีการประเมินอัตราเงินเฟ้อและตลาดแรงงานก่อนที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ตลาดเริ่มมีภาพการปรับตัวที่ดีขึ้นจากการคลายความกังวลในช่วงเวลาในการทำ QE Tapering อย่างไรก็ตาม จากรายงานการประชุม FOMC ที่ออกมาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการส่งสัญญาณว่า FED พร้อมที่จะเร่งเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดวงเงิน QE หากตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับถ้อยแถลงที่ Hawkish ของเจ้าหน้าที่ FED หลายท่าน ทำให้ FED Fund Futures Rate สะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2565 และคาดว่า FED จะประกาศเรื่องการเร่งการลดระดับการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในการประชุมเดือนธันวาคม (15-16 ธันวาคม) นี้ โดยจะเริ่มทำตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2565 และจบการซื้อหลังกลางเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยแนวโน้มที่ Hawkish มากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และ US Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น กดดันสินทรัพย์เสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหนึ่งประเด็นที่เข้ามากดดันคือ ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ ที่เรียกว่า Omicron ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอาจจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่หลายประเทศ อาทิเช่น ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ พบผู้ติดเชื้อสายพันธ์ Omicron ในประเทศแล้ว และหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสที่จะเผชิญกับผลประกอบการที่ลดลงอีกครั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบในทิศทางลบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศเองยังได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจาก 8,165 ราย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ลงไปที่ 4,306 ราย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 บวกกับจำนวนผู้หายป่วยในแต่ละวันที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายวัน ซึ่งช่วยให้ความกังวลต่อภาพรวมของระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นลดลง ส่งผลให้ SET Index ปรับขึ้นได้ในทิศทางบวกเกือบตลอดทั้งเดือน ก่อนที่ในช่วงปลายเดือนจะโดนผลกระทบในทิศทางลบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ได้กล่าวไปในข้างต้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 SET Index ปิดที่ระดับ 1,568.69 จุด ลดลง 54.74 จุดหรือ 3.37% จากเดือนก่อน โดยในช่วงต้นถึงกลางเดือนนั้น SET Index ปรับตัวขึ้นได้ดีจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ออกมาดีกว่าคาด ภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET อยู่ที่ 2.11 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ผลประกอบการเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มการแพทย์ สื่อและสิ่งพิมพ์ ขณะที่กลุ่มที่ผลประกอบการลดลง ทั้ง YoY และ QoQ คือ ICT วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 9.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6.5% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.0% ในขณะที่กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -10.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -7.6% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.4% ให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลงมากที่สุด ซึ่งแรงกดดันจากความกังวลจากภายนอกประเทศในช่วงสิ้นเดือน เข้ามากดดัน SET Index ให้ปรับตัวลงแรงหลุดระดับ 1,600 จุดอีกครั้ง

ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิที่ 10,982 ล้านบาทอีกครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิเป็นเดือนที่ 3 ที่ 15,886 ล้านบาท นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 9,701 ล้านบาทและ 7,301 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 27,983 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 11,282 ล้านบาทและ 129,225 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิที่ 68,706 ล้านบาทและ 71,801 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร ICT แต่ลดการถือครองในกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2564

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ 11-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด และระบุเช่นเดิมว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังการประชุมประธาน FED ประกาศลด QE อย่างเป็นทางการโดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล (ABS) และวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (MBS) ไปพร้อมกันตามสัดส่วน 10 และ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ และมีแนวโน้มจะลด QE ในความเร่งดังกล่าวในเดือนถัดไป อย่างไรก็ตาม อัตราความเร่งในการลด QE ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจและตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประธาน FED ส่งสัญญาณว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะขึ้นดอกเบี้ย โดยระบุว่าเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่บรรลุ ทั้งในส่วนของการจ้างงานและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ทั้งนี้ การประกาศลด QE เป็นการตัดสินใจที่แยกจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยการลด QE ในครั้งนี้เนื่องจาก FED บรรลุเป้าหมายความคืบหน้าที่ตั้งไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยยังคงต้องประเมินตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ในเรื่องของเงินเฟ้อ FED มองว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงอย่างมากเป็นปัจจัยชั่วคราว (เงินเฟ้อ PCE เดือน ก.ย. เร่งตัวขึ้นเป็น 4.4%YoY สูงสุดในรอบ 30 ปี เหนือเป้าหมาย FED ที่ 2% อย่างมาก) เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานจากการเปิดเมือง ทำให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลน แต่ไม่เกิดจากภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว โดยนายโพเวลยอมรับว่ายากที่จะประเมินว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ระดับปกติเมื่อไหร่ แต่ระบุว่าการดำเนินการของ FED เหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ สวนทางกับที่ตลาดการเงินคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 15bps ในการประชุมรอบนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงและการออกมาพูดส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะใกล้ โดยเฉพาะจากนาย Andrew Bailey ผู้ว่าฯ BOE ในช่วงก่อนหน้านี้ ทางด้านเงินเฟ้อ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปรับปี 2021 เป็น 4.25% (เดิม 4%) ปี 2022 เป็น 3.5% (เดิม 2.5%) และปี 2023 เป็น 2.25% (เดิม 2%) ส่วนปี 2024 คาดเงินเฟ้อจะขยายตัว 2% ทั้งนี้ BOE คาดเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 (4Q19) ในไตรมาส 1/2022 ช้ากว่าที่เคยคาดเมื่อเดือนสิงหาคม เล็กน้อยว่าจะเป็นไตรมาส 4 ของปีนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 แล้วและเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายปิดเมืองและเปิดประเทศ ประกอบกับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าไปมาก ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในครั้งก่อน ที่ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวภายหลังจากการผ่อนคลายปิดเมือง และการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งได้ปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจคู่ค้า และแรงหนุนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวในระยะข้างหน้ายังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดภายหลังจากการเปิดประเทศ ในด้านเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นได้ตามราคาพลังงานในตลาดโลกและภาวะชะงักงันของภาคอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในระยะปานกลาง ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยภาพรวมปรับลดลงมา โดยเฉพาะในช่วงอายุ 10-16 ปี ประมาณ 10-22 bps แม้ว่าระหว่างเดือนอัตราผลตอบแทนจะปรับขึ้นไปบ้างตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐที่นักลงทุนสถาบันแสดงความกังวลตัวเลขเงินเฟ้อมากขึ้น ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 4.38 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 3 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.8 แสนล้านบาท โดยการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.27 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

SSF – RMF PROMOTION

คว้าโอกาสการลงทุนในหุ้นไทย ต้อนรับการเปิดประเทศ และ เติบโตไปกับหุ้นสหรัฐ ผู้นำด้านนวัตกรรม พร้อมรับ Promotion “Fund Back”* ต่อยอดเงินลงทุน

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +1.1% สู่ระดับ 1,623.43 จุด จากการคลายความกังวลเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ตลาดยังมีแรงกดดันจากประเด็น QE Tapering อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาด คือ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้เป็นการชั่วคราว และประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายทันก่อนกำหนดในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ถือเป็นจิตวิทยาทางบวกต่อการลงทุน แต่ประเด็นหลักที่ตลาดให้ความสนใจอีกประเด็น คือ QE Tapering โดยประธาน FED ส่งสัญญาณว่า FED จะปรับลดการซื้อสินทรัพย์ในเดือนหน้า แต่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากการจ้างงานยังคงต่ำกว่าช่วงก่อน Covid-19 อยู่ประมาณ 5 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนั้น การประเมินจะสิ้นสุดในปีหน้า การทำ QE Tapering ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ Fund Flows ในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างผันผวน โดยในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดเอเชีย -3.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเกิดแรงเทขายอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียเหนือ ในประเทศไต้หวัน และประเทศเกาหลีใต้ ในทางกลับกัน นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิในประเทศกลุ่ม TIPs ทุกประเทศ โดยมีเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซียมากที่สุด ตามด้วยตลาดหุ้นไทย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศได้รับแรงกระตุ้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีขึ้น และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดระดับลง ทำให้มีการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมมีการปรับเวลาเคอร์ฟิวลงเป็น 5 ทุ่มถึงตี 3 เริ่ม 16 ตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจัดงานแสดงสินค้า-ศูนย์ประชุม-จัดนิทรรศการได้ ให้สนามกีฬาทุกประเภท-สวนสาธารณะเปิดได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นบวกจากยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่มีผลการทดลองว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา Covid-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะสามารถนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 เป็นการเพิ่มความคาดหวังเชิงบวกที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยเป็นการรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด 2) ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนอกเหนือจากข้อ 1 จะต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) และอยู่ 7 วัน เมื่อครบแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้ 3) กรณีไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ ต้องกักตัว 7-10 วัน นอกจากนี้ มาตรการเคอร์ฟิวจะถูกยกเลิกในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ทำให้ส่งผลในเชิงบวกต่อกลุ่ม Re-Opening อย่างต่อเนื่อง และทำให้กลุ่มอิงการท่องเที่ยวฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,623.43 จุดปรับตัวขึ้น 17.75 จุดหรือ +1.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ที่ราว 50 จุดเท่านั้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นกระจุกตัวในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น กลุ่มพลังงานที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นแรง และกลุ่มธนาคารที่รายงานงบไตรมาส 3 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่วนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองได้ปรับเพิ่มขึ้นก่อนหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังคงรอปัจจัยสนับสนุนใหม่ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 3 ของภาค Real Sector ที่มีแนวโน้มออกมาไม่ดีนัก จากผลกระทบจากการ Lockdown ในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดแรงขายทำกำไรหุ้นไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 6.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 4.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 3.9% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -6.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.5% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -1.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 5,855 ล้านบาท และ 15,886 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 18,063 ล้านบาทและ 3,678 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 18,582 ล้านบาท และ 101,242 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 59,005 ล้านบาทและ 60,819 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 3 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ICT และปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2564

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ด้วยมติ 8 : 1 คะแนน โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 1 ท่านลงมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์คงทนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยนถึงมีนาคม 2022 โดย BOJ ยังส่งสัญญาณว่าจะคงมาตรการซื้อสินทรัพย์และควบคุมอัตราผลตอบแทนไว้ยาวนาน จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และระบุว่าพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น นอกจากนี้ BOJ ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.4%YoY จากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ 3.8%YoY และสำหรับปี 2022 คาดการณ์ว่าจะเติบโต 2.9%YoY จากเดิมที่ 2.7%YoY เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบการบริโภคภาคบริการ ในขณะที่ภาวะชะงักงันของภาคอุปทานกระทบการส่งออกและภาคการผลิต ด้านเงินเฟ้อ BOJ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ลง จากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ 0.6%YoY เป็น 0.0%YoY เนื่องจากผลของการปรับฐาน และการปรับลดค่าบริการโทรศัพท์ ทั้งนี้ ในปี 2022 บีโอเจคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 0.9%YoY

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้จะยังคงชะลอการซื้อสินทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 จากเดิมที่ซื้อราว 1.8 และ 1.7 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ECB ซื้อสินทรัพย์ราว 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง แม้จะเผชิญกับภาวะชะงักงันด้านอุปทานในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นและอยู่ยาวนานกว่าที่คาด จากระดับ 3.4% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ภาคอุปสงค์ที่ฟื้นตัวรวดเร็วกว่าภาคอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะคอขวดในภาคอุปทาน และผลจากฐานที่ต่ำจากการปรับสิ้นสุดการลดภาษีมูลค่าเพิ่มในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะชะลอลงแม้ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2022 และคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ราว 2% ในระยะปานกลางและระยะยาว โดย ECB คงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2022 ตามเดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว จากปัจจัยด้านราคาพลังงาน นโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง และมุมมองจากนักลงทุนว่าธปท. คงไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 8.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.0 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 5.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้การถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนตุลาคม ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ