ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2567

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ตามที่คาดการณ์ โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility อยู่ที่ 4.75% ในการประชุมครั้งนี้ ECB ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ได้ใกล้เข้ามาซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วสุดในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน สะท้อนผ่านแถลงการณ์ที่ระบุเป็นครั้งแรกว่า หากประมาณการเงินเฟ้ออันใหม่ได้สร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอลงกลับเข้าเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน การลดอัตราดอกเบี้ยลงก็มีความเหมาะสม ECB ระบุเช่นเดิมว่าการตัดสินใจเรื่องระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา และจะพิจารณาในแต่ละรอบการประชุมไป โดยไม่ได้ผูกมัดถึงแนวทางการลดดอกเบี้ยแบบใดแบบหนึ่ง สะท้อนถึงการลดดอกเบี้ยที่อาจไม่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ด้านการลดขนาดงบดุล ECB ระบุเช่นเดิมว่าจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิด (Pandemic Emergency Purchase Program - PEPP) ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโร และตั้งใจที่จะยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี ขณะที่ได้ยุติการซื้อคืนพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ไปแล้ว

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.1% และคงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ตามที่เคยระบุไว้ในการประชุมเดือนมีนาคมที่ผ่านมา BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสภาวะการเงินผ่อนคลาย ทำให้คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 2.8%YoY ในปีนี้ จากคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ 2.4%YoY แม้บางภาคส่วนของเศรษฐกิจมีความอ่อนแอบ้าง ทำให้คาดการณ์ GDP ในปีนี้ลดลงเป็น 0.8%YoY จากเดิมที่ 1.2%YoY ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมว่ายังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อพันธบัตรในระยะข้างหน้า แต่ไม่ต้องการใช้การเข้าซื้อพันธบัตรเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ด้านการอ่อนค่าของค่าเงินเยนในระยะนี้ นายอูเอดะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และ BOJ กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตามตลาดคาดการณ์ด้วยมติ 5 ต่อ 2 ในการประชุมวันที่ 10 เมษายน เช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นครั้งที่สาม สวนทางความต้องการของรัฐบาลที่พยายามกดดันให้ลดดอกเบี้ยลง กรรมการส่วนใหญ่มองอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน อีกทั้งมองว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลที่จำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อให้สอดรับกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และเพื่อช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ลงบ้าง ธปท. มองเศรษฐกิจปี 2024 จะเติบโตดีขึ้นอยู่ที่ 2.6% จากปีก่อนหน้าที่โตเพียง 1.9% และคาดจะดีต่อเนื่องในปี 2025 ที่ 3.0% โดยหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่หนุนกิจกรรมในภาคบริการ รวมถึงการบริโภคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ส่งออกทยอยฟื้นตัวขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงฉุดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านเงินเฟ้อทั่วไป ธปท. คาดจะขยายตัวเฉลี่ย 0.6% ในปีนี้ โดยมองว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ได้ในช่วงปลายปี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เนื่องจากเฟดมีแนวโน้มชะลอการลดดอกเบี้ย จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยตรง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีกลับขึ้นมาแตะระดับ 5% อีกครั้งเทียบกับตอนสิ้นปีที่ 4.26% และเคยอยู่ในระดับ 5% ช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นมาอยู่ที่ 4.69% จาก 3.84% สิ้นปีที่ผ่านมา ทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับขึ้น 5-33Bps ส่วนการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ยังคงเป็นการขายสุทธิ โดยแบ่งเป็นขายพันธบัตรระยะสั้น 1.3 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 หมื่นล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 8.7 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023 ประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2567

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดการณ์ของตลาด โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate อยู่ที่ระดับ 4.00%, Main Refinancing Rate ที่ 4.50% และ Marginal Lending Rate ที่ 4.75% ทั้งนี้ ECB คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลงได้ต่อเนื่อง จากผลของการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง แม้ความเข้มงวดจะลดลงเร็วกว่าปี 2023 แรงกดดันด้านราคาน่าจะลดลงต่อไปเนื่องจากการหยุดชะงักในการขนส่งใน Red Sea ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างจำกัดเท่านั้น และราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 ที่ 2.3% (จาก 2.7% ในครั้งก่อน) และปี 2025 ที่ 2.0% (จาก 2.1% ในครั้งก่อน) และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2024 ที่ 2.6% (จาก 2.7% ในครั้งก่อน) และปี 2025 ที่ 2.1% (จาก 2.3% ในครั้งก่อน) อย่างไรก็ดีทาง ECB มองแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้แย่ลง โดยปรับคาดการณ์ GDP ลงมาที่ 0.6% ในปี 2024 (จาก 0.8% ในครั้งก่อน) ขณะที่คงคาดการณ์สำหรับปี 2025 ที่ 1.5% และปรับคาดการณ์สำหรับปี 2026 ขึ้นเล็กน้อย (1.6% จาก 1.5% ในครั้งก่อน) ด้านการทำ QE ทาง ECB ยังระบุเช่นเดิมว่ามีแผนที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการ PEPP ต่อไปจนจบครึ่งแรกของปี 2024 ก่อนที่จะเริ่มปรับลดขนาดของการเข้าซื้อลงเป็นเดือนละ 7.5 พันล้านยูโร และจะยุติการลงทุนทั้งหมดตั้งแต่สิ้นปี 2024 เป็นต้นไป (ไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน)

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 ปี โดยยุติการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy: NIRP) ยกเลิกการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control: YCC) และหยุดการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน ETFs กับ J-REITs ในการประชุมมีมติสำคัญกล่าวคือ มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากในการสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในกรอบประมาณ 0% ถึง 0.1% การเข้าซื้อพันธบัตรในปริมาณใกล้เคียงเดิม ซึ่งตามคำแถลงระบุว่าอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านล้านเยนต่อเดือน (หรือประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทาง BOJ สามารถเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในอัตราที่เพิ่มขึ้นได้ และมีมติเอกฉันท์ในการยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์บางประเภท อาทิ ETFs และ J-REITs นอกจากนี้ทาง BOJ จะลดวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Papers) และตราสารหนี้เอกชนระยะยาว (Corporate Bonds) อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้มีการระบุว่าจะยุติการเข้าซื้อในอีกประมาณหนึ่งปี

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยที่นโยบายที่ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนนี้ พร้อมคงคาดการณ์การลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง หรือ 75Bps ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม Dot Plot ในเดือนมีนาคมแสดงให้เห็นว่าสมาชิกจำนวนหนึ่งเริ่มเห็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยลงในปีนี้ โดยเหลือสมาชิกเพียง 1 รายที่ยังคงเห็นความจำเป็นในการปรับลด 100Bps ในปีนี้ ลดลงจาก 5 รายในเดือนธันวาคม และสมาชิกส่วนใหญ่เห็นตรงกันมากขึ้นในการลดอัตราดอกเบี้ยที่ 75Bps คณะกรรมการฯ ปรับลดขนาดการลดดอกเบี้ยในปีหน้าลง โดยปรับขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 ลงเหลือ 3 ครั้ง หรือ 75Bps จากที่มองว่าจะลดได้ 4 ครั้งในการประชุมรอบเดือนธันวาคม และประเมินอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมในระยะยาว (Neutral rate หรือ r*) สูงขึ้น เป็น 2.6% จาก 2.5% ที่ประเมินไว้ในเดือนธันวาคม บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวมีแนวโน้มอยู่สูงกว่าระดับในอดีต เพื่อให้ FED สามารถควบคุมเงินเฟ้อและเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ทางด้านมุมมองเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ ขยับประมาณการการเติบโต GDP ปีนี้ขึ้นเป็น 2.1% จาก 1.4% ก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ในระยะยาวที่ 1.8% แต่นับเป็นการชะลอลงจาก 3.1% ในปีที่แล้วมาก ส่วนประมาณการการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2025 และ 2026 ถูกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.1% (เทียบกับ 1.8% ก่อนหน้า) และ 2.0% (เทียบกับ 1.9% ก่อนหน้า) ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับขึ้น 1-6Bps ส่วนพันธบัตรระยะยาวที่อายุ 1 ปีขึ้นไปกลับลดลง 1-6Bps ในขณะค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง คิดเป็นการอ่อนค่าประมาณ 6.4% นับตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากได้รับอิทธิพลของสกุลเงินหลัก กล่าวคือ ทิศทางอ่อนค่าเขิงเงินเยน แม้ว่าผลการประชุมของ BOJ ที่เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบหลายปี แต่ในที่สุดค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ก็กลับมาอ่อนค่าต่อ เนื่องจากตลาดมองว่านโยบายการเงินของ BOJ ใกล้สู่จุดสมดุลแล้ว อาจไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวไปมากกว่านี้ และทิศทางแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการปรับลดจำนวนครั้งการลดดอกเบี้ยของ FED ลงและยืดระยะเวลาการลดดอกเบี้ยครั้งแรกไปเป็นเดือนมิถุนายน ด้านการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ยังคงเป็นการขายสุทธิ โดยแบ่งเป็นขายพันธบัตรระยะสั้น 9.2 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2 ร้อยล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 1.2 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023 ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2567

BOJ มีมติเอกฉันท์ให้คง (1) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% (2) ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% โดยมีระดับอ้างอิงการเข้าซื้อที่ 1% (3) คงการเข้าซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และคงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่ 3 ล้านล้านเยนต่อปี BOJ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2024 ขึ้น แต่ประเมินว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในต่างประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปี 2024 ขึ้นมาอยู่ที่ 1.2% จาก 1.0% ที่เคยคาดไว้ในเดือนตุลาคม 2023 ขณะที่คงคาดการณ์ GDP ในปี 2025 ไว้ที่ 1.0% ด้านมุมมองต่อเงินเฟ้อ BOJ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2024 ลง มาอยู่ที่ 2.4% จาก 2.8% ที่เคยคาดไว้ในเดือนตุลาคม 2023 จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง โดยประเมินว่าความเสี่ยงของทิศทางเงินเฟ้อยังมีอยู่สูง จากความไม่แน่นอนของการกำหนดค่าจ้างและราคาของภาคธุรกิจ ซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด และพัฒนาการของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อราคานำเข้าและเงินเฟ้อภายในประเทศ

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม ตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้าง โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility อยู่ที่ 4.75% ขณะที่ระบุเช่นเดิมว่าการตัดสินใจเรื่องระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา (Data-dependent Approach) ECB มีท่าทีกังวลต่อเงินเฟ้อลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องและข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาสอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลางที่ได้ประเมินเมื่อเดือนธันวาคม ขณะที่ได้นำประโยคที่ว่า “แรงกดดันด้านราคาจากปัจจัยในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยหลักจากการเติบโตแข็งแกร่งของค่าจ้าง” ออกจากแถลงการณ์ ด้านการลดขนาดงบดุล เช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อน ECB ระบุจะลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิดหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) เร็วขึ้น โดยจะเริ่มลดการถือครองในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโรในช่วงครึ่งหลังของปี และยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี ขณะที่ได้ยุติการซื้อคืนพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ไปแล้วก่อนหน้านี้

FED มีมติเป็นเอกฉันท์ (12-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สี่ตามที่คาดการณ์เป็นวงกว้างในการประชุมวันที่ 30-31 มกราคม ท่ามกลางเงินเฟ้อที่มีพัฒนาการที่ดีแต่ยังคงสูง ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจยังขยายตัวแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แถลงการณ์ย้ำว่าการพิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา แต่ได้นำประโยคที่บ่งชี้ถึงการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติมออกไป ขณะที่เพิ่มประโยค “คณะกรรมการไม่คิดว่าการลดดอกเบี้ยจะมีความเหมาะสม จนกว่าจะมีความมั่นใจมากกว่านี้ว่าเงินเฟ้อเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน”” เข้ามา ซึ่งนับเป็นการเปิดประตูสู่การลดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่จะไม่รีบร้อน ด้านการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Run-offs) แถลงการณ์ยังระบุจะลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) ในอัตราเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับตามแผนที่ได้ระบุไว้เดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 6 เดือนปรับขึ้น 7-16Bps ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวอายุ 1 ปีขึ้นไปกลับลดลง 3-9Bps จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ซึ่งขายพันธบัตรระยะสั้น 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท และมีพันธบัตรครบกำหนด 1.8 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.3 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2023ประมาณ 6.4 พันล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ที่กลับมาอยู่ในทิศทางแข็งค่าในเดือนนี้ และค่าเงินบาทยังได้รับอิทธิพลไปในทางอ่อนค่าจากค่าเงินสกุลเอเชียสกุลหลักอย่างเงินเยนที่คงนโยบายการเงิน และเงินหยวนที่ตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณน่ากังวลและกำลังพิจารณาออกพันธบัตร 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 การออกพันธบัตรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 26 ปี

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ (12-0 เสียง) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ในการประชุมวันที่ 12–13 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยในแถลงการณ์ของคณะกรรมการฯ ยอมรับว่าเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเห็นการชะลอลงชัดเจนขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี ยังคงมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเมินระบบการเงินว่ายังมีเสถียรภาพ โดยมองว่าผลของภาวะการเงินและเงื่อนไขสินเชื่อที่ตึงตัวจะทยอยส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ในแง่ของคาดการณ์เศรษฐกิจ FED ประเมินว่าในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ 2.6% แข็งแกร่งกว่าที่เคยคาดไว้เดิมเมื่อเดือนกันยายนที่ 2.1% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอลงมาอยู่ที่ 1.4% ชะลอลงมากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.5% ด้านอัตราการว่างงานยังคงคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% ในปีหน้าจาก 3.8% ในปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการปรับลดคาดการณ์ดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) ทั้งดัชนีทั่วไปและพื้นฐานลงตลอดช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์ โดยคาดว่าดัชนีจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายของ FED ที่ 2% ได้ภายในปี 2026

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง โดยอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ย Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% และระบุเช่นเดิมว่าที่ระดับดอกเบี้ยดังกล่าวหากคงไว้เป็นระยะเวลานานเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำพาเงินเฟ้อกลับเข้าเป้าหมายที่ 2% ด้านการลดขนาดงบดุล ECB ระบุจะลดการถือครองพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตโควิดหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) เร็วขึ้น โดยระบุจะทำการซื้อคืนพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุจนถึงครึ่งแรกของปี 2024 ก่อนที่จะเริ่มทยอยลดการถือครองในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 7.5 พันล้านยูโรในครึ่งหลังของปี และยุติการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าว ณ สิ้นปี จากเดิมที่ระบุว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย ขณะที่พันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ได้ยุติการซื้อคืนไปแล้วก่อนหน้านี้ ทางด้านเงินเฟ้อ ECB มองว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นและจะทยอยชะลอลงในปีหน้า ก่อนที่จะกลับเข้าเป้าหมาย 2% ได้ในปี 2025 โดยได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปลงเป็น 5.4% ในปีนี้และ 2.7% ในปีหน้า จากเมื่อเดือนกันยายนที่คาด 5.6% และ 3.2% ตามลำดับ โดยคาดเงินเฟ้อจะขยายตัว 2.1% ในปี 2025 และ 1.9% ในปี 2026 ในแง่ของเศรษฐกิจ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 0.6% จากเดิมที่คาด 0.7% และคาดปีหน้าจะขยายตัวเพียง 0.8% จากเดิมที่คาด 1.0% ส่วนปี 2025-2026 คาด GDP จะขยายตัว 1.5%

BOJ มีมติเอกฉันท์ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ระดับอ้างอิง 1% นอกจากนี้ BOJ ได้คงแนวทางนโยบายการเงินไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยระบุว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางและจะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไปก่อน แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในทิศทางฟื้นตัวและคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง โดยประเมินว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนทางธุรกิจมีสัญญาณที่ต้องระวังเพิ่มขึ้น ตลาดประเมินการสื่อสารของ BOJ บ่งชี้ว่าโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมกราคมยังต่ำอยู่

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยส่วนใหญ่ปรับลดลงทุกช่วงอายุ 1-29Bps โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวยังคงปรับลดลงต่อจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 3 เดือนมีความผันผวน จากสภาพคล่องและปริมาณธุรกรรมที่ลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการประมูลอยู่ในช่วงกว้างระหว่าง 1.98-2.50% เทียบกับในเดือนพฤศจิกายนที่อยู่ในช่วงระหว่าง 1.90-2.13% ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 5.8 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6 พันล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 7.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2566

FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% ตามที่คาดการณ์กันเป็นวงกว้างในการประชุมวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี โดยชี้ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยลดความจำเป็นในการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการ FED หลายท่านได้ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุว่า สภาวะการเงินและการปล่อยสินเชื่อสู่ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ตึงตัวจะกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีความไม่แน่นอนอยู่มากและจะยังคงเฝ้าระวังต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ในแง่ของเศรษฐกิจ FED ระบุว่าการจ้างงานในไตรมาส 3 ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะชะลอลงนับตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ FED ยังคงเปิดประตูการขยับดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติมเอาไว้ก่อน และจะยังคงดำเนินการลดขนาดงบดุล (QT) ในอัตราเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่ได้ระบุไว้เช่นเดิม

BOE มีมติ 6-3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% ตามที่ตลาดคาด ขณะที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอย่างน้อยจนกระทั่งช่วงครึ่งแรกของปีหน้า โดยการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 3 ท่าน ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +25Bps สู่ระดับ 5.50% ในถ้อยแถลงมีการระบุถึงการปรับขึ้นของ Bond Yield ที่สูงขึ้นในประเทศหลัก ซึ่งคล้ายคลึงกับผลประชุม FED ก่อนหน้าที่มองว่า ภาวะการเงินที่ตึงตัวจะเสมือนเป็นการกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ด้านเศรษฐกิจ BOE คาดว่า GDP จะไม่ขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน และคาดว่า GDP จะขยายตัว 0.1% ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนเช่นเดียวกัน สะท้อนผ่านเครื่องบ่งชี้ของผลสำรวจภาคธุรกิจบางตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ไม่เป็นแปลงจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 6.7% YoY ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 6.1% YoY ทั้งนี้ BOE คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอลงมากอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 4.75% ในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะปรับลดลงสู่ระดับ 4.50% และ 3.75% ในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้า แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงขยายตัวสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด พร้อมระบุว่าการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ธปท. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจาก 2.8% เป็น 2.4% ในปี 2023 และลดลงจาก 4.4% เป็น 3.8% ในปี 2024 และคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.3% และ 2.2% ในปีนี้ และปีหน้าตามลำดับ ทั้งนี้ หากไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจากภาครัฐ ธปท. คาดการณ์ GDP ปีหน้าเติบโตที่ 3.2% และเงินเฟ้อที่ 2.0% โดย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้แรงขับเคลื่อนยังมาไม่ครบ โดยแรงหนุนหลักมาจากภาคบริการ ธปท. คาดการณ์นักท่องเที่ยวเข้าไทย 28.3 ล้านคนในปีนี้ และ 34.5 ล้านคนในปีหน้า จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน แต่คาดการณ์ว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงหนุนเพิ่มขึ้น และประเมินว่าเงินเฟ้อไทยจะทรงตัวในกรอบเป้าหมาย ในขณะที่ผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเห็นผลทันทีหลังเริ่มดำเนินการ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ 2-39Bps ตามทิศทางตลาดประเทศเศรษฐกิจหลัก หลังผลการประชุมนโยบายการเงินต่างมีข้อสรุปในแนวทางเดียวกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินจะหยุดที่ระดับนี้หรือไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีก จากเงินเฟ้อที่ชะลอลงและมีแนวโน้มเข้าใกล้เป้าหมาย ตลอดจนผลของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาช่วยกดดันภาวะตลาดการเงินอีกด้วย และยังคาดการณ์ว่ามีโอกาสเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ด้านการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 3 เดือน ในเดือนนี้ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยลดลงมาอยู่ในระดับ 1.97-2.11% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2.19-2.28% ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 6.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 6.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.6 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2566

FED เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.50% และลดขนาดงบดุลตามแผนต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็ง ด้านตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แต่ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานเริ่มผ่อนคลายลง คณะกรรมการฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อแม้ยังอยู่สูงแต่เห็นการชะลอลง โดยมองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังโน้มไปทางด้านสูง และคณะกรรมการฯ พร้อมที่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการปรับดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา รายงานระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งมีความเหมาะสม ในขณะที่สมาชิกเพียงบางส่วนไม่ยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ อย่างไรก็ตามสมาชิกเห็นตรงกันว่ายังมีความจำเป็นที่ FED จะต้องคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยลดอุปสงค์และให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ภายในสองปีข้างหน้า

ECB มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์เป็นวงกว้างโดยนับเป็นครั้งแรกที่คงดอกเบี้ยหลังปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง +450bps ตั้งแต่การประชุมเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility อยู่ที่ 4.00%, อัตราดอกเบี้ย Main refinancing อยู่ที่ 4.50% และอัตรา Marginal lending facility อยู่ที่ 4.75% นอกจากนี้ จะยังทำตามแผนการลดขนาดงบดุลที่ได้เคยประกาศไว้เดิม โดยจะไม่ทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการปกติหรือ Asset Purchase Program (APP) ขณะที่จะยังไม่แตะต้องพันธบัตรที่เข้าซื้อผ่านมาตรการพิเศษที่เริ่มช่วงวิกฤตหรือ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ซึ่งแถลงการณ์ยังระบุเช่นเดิมว่าจะทำการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดอายุที่เข้าซื้อผ่านมาตรการ PEPP ไปจนถึงสิ้นปี 2024 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี ประธาน ECB เปิดเผยว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ชี้ชัดว่า ECB จะไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกแล้ว ขณะที่ยังเร็วเกินไปอย่างมากที่จะพิจารณาถึงการปรับลดดอกเบี้ยลงตอนนี้ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณในลักษณะเดียวกับธนาคารกลางหลักอื่น ๆ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังขยายตัวเหนือเป้าหมายและยังมีความเสี่ยงโน้มไปทางด้านสูงจากสงครามทั้งที่ยูเครนและอิสราเอล รวมถึงปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจหนุนราคาอาหารพุ่งขึ้น

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติเอกฉันท์ (9-0 เสียง) ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% นอกจากนี้ได้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และคงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) ที่ 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) ที่ 3 ล้านล้านเยนต่อปี และ BOJ มีมติไม่เอกฉันท์ (8-1 เสียง) ให้ปรับการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) เป็นการยึดระดับที่ 1% จากเดิมที่กำหนดกรอบ ที่-1.0% ถึง 1.0% ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น BOJ ประเมินว่ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ด้านเงินเฟ้อญี่ปุ่น เร่งตัวขึ้นมาทั้งในปีนี้และปีหน้า จาก 2.5% เป็น 2.8% ในปีนี้ และจาก 1.9% เป็น 2.8% ในปีหน้า ผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยรวมมองว่าเงินเฟ้อขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มากยิ่งขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลดลง 3-10 bps แม้ว่ากนง. จะเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในช่วงปลายเดือนกันยายนเป็น 2.50% แต่ผลการประมูลตลาดแรกของพันธบัตรอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้อัตราผลตอบแทนเพียง 2.18% - 2.21% สาเหตุหนึ่งคาดว่าเกิดจากการปรับลดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรอายุ 3 เดือนในตลาดแรกลงจากสัปดาห์ละ 6 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางตลาดพันธบัตรต่างประเทศ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยขายพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 394 ล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.6 หมื่นล้านบาท มีพันธบัตรครบกำหนด 3.4 พันล้านบาท คงเหลือนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2566

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยประธาน ECB เผยว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นชอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ขณะที่ส่วนที่เหลือเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ขึ้นไปอยู่ที่ 4.00% อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ไปอยู่ที่ 4.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ขึ้นมาอยู่ที่ 4.75% พร้อมทำตามแผนเดิมของการลดขนาดงบดุลที่เคยประกาศไว้ ECB ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงเหลือ 0.7%YoY จาก 0.9%YoY และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2024 ลงเหลือ 1.0%YoY จาก 1.5%YoY นอกจากนี้ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2023 และ 2024 ขึ้นมาอยู่ที่ 5.6%YoY และ 3.2%YoY จากที่คาดไว้เดิมที่ 5.4%YoY และ 3.0%YoY ตามลำดับในเดือนมิถุนายน จากปัจจัยด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นหลัก แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2024 – 2025 เนื่องจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยจะยังถูกส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจทำให้เงื่อนไขทางการเงินจะเข้มงวดมากขึ้นและอุปสงค์รวมถึงการปล่อยสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง ECB ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเพียงพอแล้ว

FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด โดย FED ยังคงแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจใช้ระยะเวลากว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% พร้อมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง แม้ตลาดแรงงานตลาดแรงงานจะชะลอลงบางส่วน แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ยังคงแผนการลดงบดุล (QT) ต่อเนื่องตามเดิมที่ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้ FED ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานต่อเนื่องสะท้อนผ่าน Dot Plots ที่แม้จะคงคาดการณ์ดอกเบี้ยไว้ที่ 5.625% ในปีนี้ แต่มีการปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยในปี 2024 และ 2025 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.125% และ 3.875% จากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 4.625% และ 3.375% ตามลำดับ FED มีมุมองที่ดีขึ้นต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้า โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้าดีขึ้นมาก เป็น 2.1% และ 1.5% จาก 1.0% และ 1.1% ตามลำดับ และคาดการณ์อัตราการว่างงาน ลดลงเหลือ 3.8% ในปีนี้จากเดิมที่ 4.1% และสำหรับมุมมองเงินเฟ้อ FED มองเงินเฟ้อจากดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานลงเหลือ 3.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.9%

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 5-4 ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% สวนทางกับตลาดที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น +0.25% เป็น 5.50% แถลงการณ์ได้ระบุว่ายังคงมีความกดดันของเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งด้านตลาดเเรงงานที่ยังตึงตัว อัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ยังไม่ชะลอตัวลง และเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการดำเนินโยบายการเงินของ BOE นั้นต้องเข้มงวดเเละใช้ระยะเวลาที่เพียงพอจึงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าที่ 2% อย่างยั่งยืน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. ชะลอตัวลงเป็น 6.7% YoY จาก 6.8% ในเดือนก่อน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 เและต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ 7.0% ทั้งนี้ เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายอยู่มาก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเป็น 6.2% YoY จาก 6.9% ในเดือนก่อน

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลายตามเดิมต่อไป โดยมีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: ไว้ที่ -1.0 ถึง +1.0 ในถ้อยเเถลงได้ระบุถึงการที่อัตราเงินเฟ้อ Core CPI มีการชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเเรงหนุนของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านพลังงาน เเละมองว่าอัตราเงินเฟ้อ Core CPI จะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าจากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคที่ลดลง ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น จากเเรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ เเละเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.50% เพื่อให้มั่นใจว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) มีเพียงพอภายใต้แนวโน้มที่ไม่แน่นอน แม้ว่า กนง. ได้มีการลดคาดการณ์ส่งออก GDP และเงินเฟ้อในปีนี้ลง โดยมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแตกต่างไปจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่สำคัญไปกว่านั้น กนง. ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับเหมาะสม” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยได้สู่ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) แล้วภายใต้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตลอดทุกช่วงอายุ 24-45Bps จากความกังวลปริมาณพันธบัตรออกใหม่ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นไปตามแผนงบการคลังระยะปานกลาง และภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่ที่เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนประมาณ 5% ในเดือนนี้ จากการส่งสัญญาณของ FED ว่าจะยังคงดำเนินนโยบายในทิศทางเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง และการอ่อนค่าลงของเงินหยวนภายหลังเศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.2 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2566

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 25Bps สู่ระดับ 5.25% ตามคาดการณ์ โดยนับเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการประชุมครั้งก่อนที่มีมติปรับขึ้นในอัตราสูง 50Bps โดยในการประชุมรอบนี้มีคณะกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราสูง และมีคณะกรรมการ 1 ท่านที่มองว่าควรคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม สะท้อนถึงแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นและอาจเข้าใกล้จุดจบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรนี้ ด้านเศรษฐกิจ BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.5% (vs.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2566

FED มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) อีก 25Bps สู่ระดับ 5.25-5.50% และยังคงแผนลดการถือครองตราสารหนี้ อันได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองหรือ MBS เช่นเดิม โดยภาพรวมถ้อยแถลงหลังการประชุมแทบไม่แตกต่างจากการประชุมเมื่อครั้งก่อนในเดือนมิ.ย. กล่าวคือยังมองภาพการจ้างงานที่แข็งแกร่งและอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ขณะที่ยังมองกิจกรรมเศรษฐกิจขยายตัว ด้านเงินเฟ้อมองว่าเติบโตในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ นโยบายการเงินในระยะข้างหน้านั้น FED ยังคงเน้นย้ำว่าขึ้นอยู่กับ 1) การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2) ความล่าช้าของระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อและ 3) พัฒนาการเศรษฐกิจและการเงิน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations, Marginal Lending Facility และ Deposit Facility Rates สู่ระดับ 4.25%, 4.50% และ 3.75% ตามลำดับ จากความกังวลที่มีต่อเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินไปและยาวนานเกินไป ECB มองว่าแม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงต่อเนื่องแต่ยังถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่เหนือเป้าหมายกินระยะเวลานาน โดย ECB ยังคงยึดหลักของการพิจารณาข้อมูลในอนาคตที่จะเข้ามา เพื่อกำหนดระดับและระยะเวลาความเข้มงวดของนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะประเมินจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและการเงิน พลวัตรของพื้นฐานเงินเฟ้อที่แท้จริง และความแข็งแรงในการส่งผ่านของนโยบายการเงิน ทั้งนี้ประธาน ECB ได้กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่า ความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นหรือหยุด จะขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ เเละมีมติด้วยคะเเนนเสียงข้างมากให้คงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบอ้างอิง +/-0.5% โดยมิใช่เป็นเป้าหมายที่เข้มงวด เเละเปลี่ยนกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่อัตราผลตอบเเทน 1.0% จากเดิมที่ 0.5% ในขณะที่ BOJ มีมติเอกฉันท์ในการคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในส่วนของประมาณการเศรษฐกิจ คาด GDP ปีงบประมาณ FY2023F จะขยายตัว 1.3% ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อนเดือนเม.ย. ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.4% ขณะที่คงคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ FY2024F ไว้ระดับเดิมที่ 1.2% ทางด้านเงินเฟ้อ คาดการณ์ Core CPI ปีงบประมาณ FY2023F จะขยายตัว 2.5% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากผลของต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นเเละส่งผ่านไปยังผู้บริโภคสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ ส่วนเงินเฟ้อ Core CPI ในปีงบประมาณ FY2024F คาดจะอยู่ที่ 1.9% ลดลงจาก 2.0% ในประมาณการครั้งก่อน ภายหลังการประชุม ผู้ว่าฯ BOJ ได้ออกมาระบุว่า กรรมการหลายคนเล็งเห็นถึงเเนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าว่ามีความเสี่ยงไปทางด้านสูงมากขึ้น ในขณะที่ผ่านมาได้ประเมินเเรงกดดันจากเงินเฟ้อตํ่าเกินไป ทาง BOJ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินผ่านการเปลี่ยนกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้มาตรการ YCC

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจน โดยสรุป ณ สิ้นเดือน พันธบัตรรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปีปรับขึ้น 1-10Bps ส่วนอายุ 11 ปีขึ้นไปกลับปรับลดลง 2-8Bps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยภาพรวมปรับขึ้นตลอดทั้งเส้น ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดว่า การประชุม FED ในช่วงปลายเดือนจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2566

ในเดือนนี้ FED มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00%-5.25% เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงิน ซึ่ง FED จะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน โดยค่ากลาง Dot Plot ได้ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีนี้เพิ่มขึ้น จาก 5.1% ในการประชุมเดือนมีนาคม ไปอยู่ที่ 5.6% ซึ่งมีกรรมการ 12 ท่านจาก 18 ท่านที่มองดอกเบี้ยเท่ากับหรือสูงกว่า 5.5%-5.75% ในปีนี้ แถลงการณ์ของ FED กล่าวว่าระบบธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น ความตึงตัวด้านสินเชื่อของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนที่สูง ด้านเศรษฐกิจประเมินว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย และผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูงส่งผลต่อกิจกรรมตลาดบ้านและการลงทุน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และการจ้างงานยังคงขยายตัวดี โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ยังคงมากกว่าอุปทานค่อนข้างมาก โดย FED คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ในเดือนมีนาคมที่ 0.4% มาอยู่ที่ 1% และ อัตราการว่างงานปีนี้ลงจาก 4.5% ไปอยู่ที่ 4.1%

ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับดอกเบี้ยขึ้น 25Bps ตามการคาด ทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.50% สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate เพิ่มขึ้นเป็น 4.00% ท่ามกลางเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอลง แต่ก็คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงยาวนานเกินไป ประธาน ECB แถลงหลังการประชุมว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องในการประชุมเดือน ก.ค. นั้นมีความเป็นไปได้สูง สำหรับเศรษฐกิจ ECB ได้ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น 5.4%, 3.0% และ 2.2% ตามลำดับ เกินเป้าหมายที่ 2% เล็กน้อย และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานขึ้น สำหรับปี 2023-2025 เป็น5.1%, 3.0% และ 2.3% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากค่าจ้างแรงงานที่ได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ด้าน GDP ได้ปรับลดประมาณการปี 2023-2024 ลงเล็กน้อย -0.1ppt เป็น 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ โดยหลักจากสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น รวมถึง GDP ไตรมาสแรกที่ออกมาติดลบ (-0.1% QoQ) และคาดปี 2025 ที่ 1.6% เช่นเดิม ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps สู่ระดับ 5.00% สูงสุดในรอบ 15 ปี โดยนับเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. และมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นในอัตรา 25bps เท่านั้น แถลงการณ์ได้ระบุเช่นเดียวกับในการประชุมครั้งก่อนว่า หากมีหลักฐานว่าแรงกดดันด้านราคาคงอยู่หรือเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็มีความจำเป็น การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยขึ้นในครั้งนี้ เป็นผลจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ซึ่งรายงานในวันก่อนหน้าการประชุม ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ (8.7% YoY เท่าเดือนก่อน เทียบกับที่คาดไว้ 8.4%) โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่เร่งตัวขึ้นสวนการคาดการณ์ สู่ระดับสูงสุดในรอบ 31 ปี (7.1% YoY)

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเอกฉันท์คงนโยบายการเงินผ่อนคลายดังเดิมต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) เเละคงเป้าหมายอัตราผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” เเละเคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.5% รวมถึงคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ระบุ BOJ มองอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอตัวลงในช่วงกลางของปีงบประมาณ FY2023 จากผลของการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคที่จะลดลง ก่อนที่จะปรับขึ้นหลังจากนั้น จากแรงหนุนของค่าจ้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับขึ้น 2-12ps ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นโดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-10ปี เป็นผลมาจากนักลงทุนในตลาดได้ปรับเปลี่ยนมุมมองว่า FED ยังไม่หยุดรอบของการขึ้นดอกเบี้ยนี้ รวมถึงจะยังคงไม่เห็นการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อีกด้วย แม้ว่าผลการประชุมของ FED ในเดือนนี้จะเป็นการคงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อให้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของการเพิ่มการตึงตัวของนโยบายการเงินที่ผ่านมา สำหรับการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนนี้ เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 9.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลงประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 1.01 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ