ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (20 – 24 พฤศจิกายน 2560)

จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐล่าสุด เปิดเผยว่ากรรมการบางท่านได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แม้อัตราการว่างงานจะปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี โดยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่บ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ในเดือนกันยายน ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายของ FED ที่ร้อยละ 2 ดังนั้นจึงเห็นว่า FED ควรดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม นอกจากนี้ สศช. ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.7 และคาดการณ์ GDP ในปี 2561 ว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 3.6-4.6

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย ในรอบสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิรวม 3.36 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อพันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.47 หมื่นล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.09 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นมาบ้าง เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการทำธุรกรรม Bond Switching ทำให้บางสถาบันการเงินมีการปรับสัดส่วนการถือครองพันธบัตรเพื่อรองรับธุรกรรมดังกล่าว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นในบางรุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยจากการประมูลตลาดแรกรุ่นอายุ 14 วัน 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ที่ 1.2075%, 1.2640% และ 1.4079% ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (13 – 17 พฤศจิกายน 2560)

ในรอบสัปดาห์นี้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจากหลายประเทศ โดยในกลุ่มยุโรป ได้แก่ เยอรมนี สเปน และอิตาลี ตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.1% ทางด้านสหรัฐฯ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.0% yoy และ 1.8% yoy ตามลำดับ ทำให้นักลงทุนในตลาดคงมุมมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือนหน้า ในขณะที่ยังมีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับอุปสรรคในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ว่าจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่อาจไม่ผ่านวุฒิสภา โดยเฉพาะข้อกังวลการขาดดุลงบประมาณ การประกันสุขภาพ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากผลประโยชน์ทางภาษี

เหตุการณ์ดังกล่าวประกอบกับการกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์นี้เป็นจำนวนรวม 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมาแตะที่ระดับ 32.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นกลับปรับขึ้นมา 0.02-0.11% สาเหตุจากแรงขายในตลาดรองและการประมูลในตลาดแรกที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือนในสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.2989%, 1.2943% และ 1.3976% ตามลำดับ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 2.32 หมื่นล้านบาทและ 2.27 พันล้านบาท ตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (6 – 10 พฤศจิกายน 2560)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลหลักอ่อนค่าลง จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการผลักดันแผนการปฏิรูปภาษีของคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากมีข่าวว่าบรรดาแกนนำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภากำลังพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูประบบภาษีออกไปอีก 1 ปี ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันพุธที่ผ่านมาซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ของปีนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามความคาดหมายและเนื้อหาในรายงานการประชุมแทบไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามแรงส่งจากภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่น 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1376% อันเป็นผลมาจากแรงขายในตลาดรอง ส่วนพันธบัตรระยะยาวอัตราผลตอบแทนปรับขึ้นเล็กน้อย ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.8 พันล้านบาท และขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 5.6 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560)

คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมให้ความเห็นว่าตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวแตะระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในปีหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่า FOMC น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้เสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวล ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยเลนที่จะหมดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งนักลงทุนในตลาดมองว่านายเจอโรม พาวเวล มีความเห็นไม่ต่างจากนางเจเน็ต เยเลน มากนัก และสนับสนุนการผ่อนคลายกฎระเบียบในสถาบันการเงิน ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จาก 0.25% เป็น 0.50% และคงวงเงิน QE ไว้ที่ระดับเดิมที่ 435 พันล้านปอนด์ แต่ไม่ได้บอกเป็นนัยว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในระยะอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% และปรับลดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายปีหน้าลงเหลือ 2.4% จาก 2.5%

ทางด้านเงินเฟ้อของไทยที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. +0.86% yoy เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.86% yoy ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน +0.58% yoy สูงกว่าเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ +0.53% yoy จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนอัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรระยะสั้นยังคงต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายมาก โดยเฉพาะการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 14 วัน ผลการประมูลอยู่ในช่วง 0.99-1.002%, อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 0.99991% และ Bid Coverage Ratio 1.50 ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 2.6 พันล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10.9 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (24 – 27 ตุลาคม 2560 )

ตลาดต่างประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐออกมาดีกว่าที่คาด เช่น GDP ไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 3% มากกว่าที่คาดไว้ที่ 2.6% แม้ว่าจะประสบกับภัยธรรมชาติ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังบ่งชี้ว่ามีการขยายตัว เป็นต้น นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างงบประมาณปี 2561 ฉบับวุฒิสภาซึ่งจะเป็นการปูทางให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ามาตรการปฏิรูปภาษีต่อไป ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญแข็งค่าขึ้นและ US Treasury Yield ปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐและความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศสเปน กดดันให้ US Treasury Yield ปรับลดลงจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ทางด้านการผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน และตกลงที่จะลดปริมาณ QE ลงเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในเดือนม.ค. ไปจนถึงเดือนก.ย. ปีหน้า ซึ่งเป็นการยืดอายุยาวออกไปจากเดิม

ตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบสัปดาห์นี้มีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องทั้งจากการประมูลในตลาดแรกและการซื้อขายในตลาดรอง ท่ามกลางสภาพคล่องบาทที่ล้นระบบ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังคงปรับขึ้นตามตลาดต่างประเทศ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 4.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 3.4 พันล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.5 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (16 – 20 ตุลาคม 2560 )

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้น ภายหลังจากวุฒิสภาลงมติผ่านร่างกฏหมายงบประมาณประจำปี 2561 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การพิจารณาร่างกฏหมายภาษี ในขณะที่นักลงทุนยังเฝ้ารอการประกาศว่าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนถัดไป ว่าจะสืบทอดนโยบายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกับนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบันหรือไม่ ทางด้านตลาดยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกันยายนที่ผ่านมาทั้งประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงให้ความสนใจไปที่มติธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการลดการซื้อสินทรัพย์ซึ่งน่าจะลดปริมาณ QE ในระดับที่น้อยกว่าคาด ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และสถานการณ์การเมืองภายในทวีปที่ยังคุกรุ่นต่อเนื่อง

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้มีการซื้อขายค่อนข้างน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องทั้งจากการประมูลในตลาดแรกและการซื้อขายในตลาดรอง ท่ามกลางสภาพคล่องบาทที่ล้นระบบ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นบ้างตามตลาดต่างประเทศ ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 6 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 7.1 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.1 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (9 – 12 ตุลาคม 2560)

ในสัปดาห์นี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลง ผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลยูโร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความเห็นเชิงสนับสนุนให้ ECB ลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณตั้งแต่ปีหน้า นอกจากนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมจากรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ยควรดำเนินต่อไปแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเห็นว่าในระยะกลางภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินประจำเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยปรับดีขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกโดยรวมดีขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และทำให้เงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระดับสูง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าในทิศทางสอดคล้องกับสกุลภูมิภาค ทำให้เงินบาทเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2561 และเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

ตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้มีปริมาณการซื้อขายเบาบาง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะรุ่นอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง 0.01-0.07% นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรรรัฐบาลระยะสั้น 785 ล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 1.26 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (2 – 6 ตุลาคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกันยายนของสหรัฐแสดงถึงการเติบโตต่อเนื่องหลายรายการ เช่น ดัชนีภาคการผลิตและดัชนีภาคบริการของ ISM ที่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2004-2005 จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่คาด และการขาดดุลการค้าในเดือนส.ค. ที่ปรับลดลงในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนดัชนีราคาหุ้นตลาดสหรัฐแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าสะท้อนว่ามีโอกาสเกิน 80% ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธ.ค. นี้

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 0.86% yoy (เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.32% yoy) ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.53% yoy (เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.46% yoy) สาเหตุจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในรอบสัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นของสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงปลายสัปดาห์จากกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเป็นการซื้อสุทธิในวันพฤหัส ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.2 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (25 – 29 กันยายน 2560 )

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่ามาตลอดในปีนี้ สาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น นักลงทุนปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ว่ายังคงมีแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้, การคาดหวังต่อมาตรการด้านการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ และการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา รวมถึงการปรับฐานของเงินยูโรหลังผลการเลือกตั้งในเยอรมนี ที่พรรคพันธมิตรของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีไม่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้อย่างเด็ดขาด ทำให้นักลงทุนบางส่วนที่เคยมองข้ามความเสี่ยงทางการเมืองในยูโรโซนต้องหันกลับมาระมัดระวังมากขึ้น

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี และเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับมาปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 2 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังกลับมาขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวหลังจากซื้อสุทธิถึง 82.7 พันล้านบาทในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 25.6 พันล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะยาวประมาณ 21 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 4.5 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (18 – 22 กันยายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ซึ่งมีมติคงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.00-1.25% และประกาศจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในเดือนตุลาคมปีนี้ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน และการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% จากผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนปรับเพิ่มโอกาสที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนธันวาคมปีนี้ อัตราผลตอบแทนของ 10-Year US Treasury จึงขึ้นมาแตะ 2.28% ในระหว่างสัปดาห์ก่อนที่จะปรับตัวลงมาปิดที่ 2.26% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา จากการกลับมากังวลถึงสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น จากการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลด Policy Rate ซึ่งการซื้อขายในตลาดรองโดยเฉพาะรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ลดลง 0.05-0.08% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก สำหรับมูลค่าการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 2.6 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 9.3 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 11.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุแล้ว ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยถึงเกือบ 8 หมื่นล้านบาท