อัพเดทข่าวสาร

ภาวะตลาดหุ้นไทย (2 – 6 ตุลาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มาปิดที่ 1,695 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 22.81 จุด หรือ 1.36% จากการที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เริ่มทำ Preview ผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนฯ ซึ่งภาพโดยรวมจาก Bloomberg consensus ประมาณว่าการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ 8.5% YoY รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีไทย นายประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และได้บรรลุข้อตกลงว่าไทยจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯขาดดุลการค้าต่อไทยอยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากที่สุด

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า โดย Dollar Index ปรับตัวขึ้น 0.78% อยู่ที่ระดับ 93.8 จุด จากการที่ FED ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับดอกเบี้ยขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อ Fund Flow ของการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

เงินบาทอ่อนค่าลงมา อยู่ที่ 33.44 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.33%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net buy ที่ 2.0 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงแรงจากความกังวลว่าอุปทานของน้ำมันจะล้นตลาด จากการรายงานของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC ได้เพิ่มกำลังผลิตในเดือนกันยายน รวมทั้งการขายทำกำไรของนักลงทุนบางส่วนที่เห็นราคาน้ำมันอยู่เหนือ $50 ต่อบาร์เรล ณ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.29 ต่อบาร์เรล ลดลง 4.61% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นถึง 1,700 จุด หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาในสัปดาห์หน้า

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (2 – 6 ตุลาคม 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกันยายนของสหรัฐแสดงถึงการเติบโตต่อเนื่องหลายรายการ เช่น ดัชนีภาคการผลิตและดัชนีภาคบริการของ ISM ที่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2004-2005 จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงจากเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่คาด และการขาดดุลการค้าในเดือนส.ค. ที่ปรับลดลงในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนดัชนีราคาหุ้นตลาดสหรัฐแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าสะท้อนว่ามีโอกาสเกิน 80% ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธ.ค. นี้

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 0.86% yoy (เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.32% yoy) ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.53% yoy (เดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 0.46% yoy) สาเหตุจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในรอบสัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นของสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงปลายสัปดาห์จากกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเป็นการซื้อสุทธิในวันพฤหัส ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7.2 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.4 พันล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (25 – 29 กันยายน 2560 )

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่ามาตลอดในปีนี้ สาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น นักลงทุนปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ว่ายังคงมีแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้, การคาดหวังต่อมาตรการด้านการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะแผนปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ และการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา รวมถึงการปรับฐานของเงินยูโรหลังผลการเลือกตั้งในเยอรมนี ที่พรรคพันธมิตรของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีไม่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้อย่างเด็ดขาด ทำให้นักลงทุนบางส่วนที่เคยมองข้ามความเสี่ยงทางการเมืองในยูโรโซนต้องหันกลับมาระมัดระวังมากขึ้น

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี และเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับมาปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 2 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังกลับมาขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวหลังจากซื้อสุทธิถึง 82.7 พันล้านบาทในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 25.6 พันล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะยาวประมาณ 21 พันล้านบาท และพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 4.5 พันล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (25 – 29 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สุดท้ายของเดือนกันยายนและสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสที่ 3 SET Index ยังคงแกว่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และสามารถยืนเหนือแนวต้านที่ 1,670 จุดได้ โดยมีแรงซื้อหลักในหุ้นขนาดใหญ่ทั้งกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มค้าปลีก ในขณะที่ในช่วงกลางสัปดาห์มีการประชุม กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% และมีการปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ปี 2560 และ 2561 เป็น 3.8% และ 3.7% เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนทิศทางการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นได้

ปัจจัยต่างประเทศ ผู้ว่าการ FED ส่งสัญญาณว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม ส่งผลให้เงินดอลล่าร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.33 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า 0.73%

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 2.3 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นจากความร่วมมือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน รวมถึงการผลิตน้ำมันต่ำกว่าข้อตกลงของประเทศไนจีเรีย และการที่ตุรกีขู่จะปิดท่อส่งน้ำมันจากอิรักออกสู่ตลาดโลก หากชาวเคิร์ดเดินหน้าทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากอิรัก เป็นปัจจัยหลักในการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $51.67 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,673.16 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 14.11 จุด หรือ 0.85%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index คาดว่า SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นด้วยความผันผวนที่ลดลง จากการที่นักลงทุนจะระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น เมื่อ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,700 จุด และนักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจกับการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียน ที่จะเริ่มประกาศออกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคาดว่าจะเติบโตขึ้นทั้ง YoY และ QoQ

บลจ.ทาลิส ส่งมอบดอกไม้จันทน์ในกิจกรรม “ตลาดทุนร่วมใจถวายพ่อ ๙๙ วัน ดอกไม้จันทน์ ๙๙,๙๙๙ ดอก”

คุณณฤดี จันทร์แจ่มจรัส (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด พร้อมด้วยคุณนริศรา อมาตยกุล (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานการตลาด เป็นตัวแทนบริษัทส่งมอบดอกไม้จันทน์ ในกิจกรรม “ตลาดทุนร่วมใจถวายพ่อ ๙๙ วัน ดอกไม้จันทน์ ๙๙,๙๙๙ ดอก”

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (18 – 22 กันยายน 2560 )

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ซึ่งมีมติคงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.00-1.25% และประกาศจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในเดือนตุลาคมปีนี้ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน และการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% จากผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนปรับเพิ่มโอกาสที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนธันวาคมปีนี้ อัตราผลตอบแทนของ 10-Year US Treasury จึงขึ้นมาแตะ 2.28% ในระหว่างสัปดาห์ก่อนที่จะปรับตัวลงมาปิดที่ 2.26% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา จากการกลับมากังวลถึงสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งหนึ่ง

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น จากการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลด Policy Rate ซึ่งการซื้อขายในตลาดรองโดยเฉพาะรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ลดลง 0.05-0.08% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก สำหรับมูลค่าการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 2.6 พันล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 9.3 พันล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 11.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุแล้ว ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยถึงเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (18 – 22 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนกันยายน SET Index เริ่มมีการปรับฐานหลักจากปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องถึง 5 สัปดาห์ โดย Fund Flow ของต่างชาติกลับมาเป็น Net Sell เล็กน้อย หลังจากมียอด Net Buy หลายสัปดาห์ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวกับตัวเลขทางเศรฐกิจยังคงออกมาดีอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขส่งออกของประเทศไทยในเดือนสิงหาคมมีการขยายตัวถึง 13.2%

ปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุม Fed เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์คือ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้คงเดิม และประกาศการทยอยปรับลดขนาดของงบดุลลง โดยจะเริ่มลดขนาดของงบดุลลงเดือนละ $10,000 ล้านในเดือนตุลาคม และทยอยเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ $10,000 ล้านทุกไตรมาส จนกว่าจะถึงระดับ $50,000 ล้านต่อเดือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองระหว่าง สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง จากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เห็นพ้องในการกดดันเกาหลีเหนือให้ระงับโครงการนิวเคลียร์ให้เร็วที่สุด และการตอบโต้ทางวาจาอย่างรุนแรงของผู้นำสหรัฐฯและเกาหลีเหนือหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) โจมตีผู้นำเกาหลีเหนือ

เงินบาทคงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.08 บาทต่อดอลล่าร์

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Sell ที่ 2.4 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง แม้การรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ (EIA) ปรับตัวสูงขึ้น แต่ได้รับการสนับสนุนการพิจารณาขยายการลดกำลังการผลิตจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) โดยราคาน้ำมันดิบ WTI กลับขึ้นมายืนเหนือ $50 ต่อบาร์เรล สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $50.66 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 1.54% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,659.05 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.48 จุด หรือ -0.09%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index คาดว่า SET Index ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ Fund Flow ที่ยังคงไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้น

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (11 – 15 กันยายน 2560 )

การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ในขณะเดียวกันนักลงทุนในตลาดคลายกังวลจากสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ความรุนแรงของพายุเออร์มาที่อ่อนกำลังลงและไม่ได้สร้างความเสียหายมากเท่าที่คาด ตลอดจนความหวังครั้งใหม่ต่อแผนการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลทรัมป์และดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางตลาดโลก โดยเฉพาะรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้น 0.03-0.11% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก สำหรับมูลค่าการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลไทยตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นจำนวนประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.7 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรระยะยาว 9.7 พันล้านบาท โดยในครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายนมีการเข้ามาลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ (หักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุ) สูงถึง 1.05 แสนล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย (11 – 15 กันยายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถปรับตัวขึ้นผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,650 จุดได้ และปิดที่ 1,660 จุด ในวันสิ้นสัปดาห์ ขณะที่ Fund Flow ของต่างชาติที่เข้าซื้อหุ้นขนาดใหญ่ยังเป็นแรงสนับสนุนหลักในการผลักดันให้ SET Index ปรับตัวขึ้น ในขณะที่การเข้าพบรัฐบาลของนักธุรกิจญี่ปุ่นและเข้าเยี่ยมชมเขต EEC กว่า 500 คนในช่วงกลางสัปดาห์ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในทิศทางการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบหลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับ Demand น้ำมันดิบทั้งปีเพิ่มขึ้นหลังพายุฮาร์วีย์สงบลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น

ปัจจัยต่างประเทศ จากสถานการณ์วันชาติของเกาหลีเหนือเป็นไปด้วยความสงบ ทำให้ความตึงเครียดลดลง ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 33.08 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่า 0.03% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็น Net Buy ที่ 8.0 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นแรง จากการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่เพิ่มการคาดการณ์ Demand น้ำมันตลาดโลกในปีนี้ แม้ว่าตัวเลข Demand ในช่วงเดือนสิงหาคมมีการปรับตัวลง ซึ่งแสดงถึงการคาดการณ์ Demand ที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงปีที่เหลือ ทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.89 ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 5.08% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,660.53 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 24.92 จุด หรือ 1.52%

มุมมองตลาดในระยะสั้น SET Index สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ในขณะที่นักวิเคราะห์ได้ทยอยปรับประมาณการ SET Index สิ้นปีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตลาดหุ้นยังได้รับอานิสงส์จาก Fund Flow ที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้น จะมีการประชุม FOMC ในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน ซึ่งคาดว่าจะคงมติดอกเบี้ยทางนโยบายที่ 1.25% คงเดิม แต่อาจจะมีการประกาศเริ่มกระบวนการการปรับลดงบดุลลง