ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2563

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 745 พันล้านปอนด์ ตามการคาดการณ์ของตลาด BOE มองพัฒนาการเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนในเดือนพ.ค. โดยปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2020 ขึ้นเป็น -9.5% YoY จากประมาณการครั้งก่อนที่ -14.0% และคาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 9% ในปี 2021 (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 15%) บนสมมติฐานว่าผลกระทบทางตรงจาก COVID-19 จะทยอยหายไป ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.25% ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากราคาน้ำมันที่ลดลงและการลดภาษี VAT ให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และคาดเงินเฟ้อจะทยอยเร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในปี 2022 ด้านตลาดแรงงาน คาดว่าอัตราการว่างงาน ณ สิ้นปี 2020 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.5% ท่ามกลางความไม่แน่นอนภายหลังมาตรการภาครัฐที่คอยพยุงการจ้างงานได้หมดอายุลง โดย BOE ยังย้ำถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ทิศทางเศรษฐกิจต่อจากนี้จะยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของ COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ต่อปัจจัยดังกล่าว นอกจากนี้ BOE ระบุพร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินที่มีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจะยังไม่กลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนและสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญในการประชุมประจำปี Jackson Hole Symposium โดยระบุว่า FED จะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเดิม ก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะคงอยู่ที่ระดับต่ำในปัจจุบัน (0-0.25%) เป็นระยะเวลานาน โดยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ FED สามารถปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอดหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายถึง FED จะยังไม่จำเป็นต้องลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินในทันทีที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 2% และสะท้อนนโยบายการเงินในอนาคตมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ FED ยังได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) โดยจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจาก “การจ้างงานที่ขาดหายไป” จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา จากเดิมที่จะประเมินจาก “การจ้างงานที่เบี่ยงเบนไป” จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้ไม่ได้ส่งผลต่อค่าเงินบาทมากนัก คณะกรรมการฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ แต่จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีกว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาเป็นปกติ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2020 มีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ การผ่อนคลายนโยบายการเงินและนโยบายการคลังได้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ รวมทั้งเร่งรัดให้สถาบันการเงินให้เสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตรงจุดผ่านโครงการต่าง ๆ

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า GDP ไทยไตรมาสที่ 2/2020 หดตัวสูงที่ -12.2%YoY (-9.7%QoQ) สะท้อนว่าไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -13.0%YoY ขณะที่ สศช. ปรับปรุงตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 เป็น -2.0%YoY (-2.5%QoQ) จากประกาศครั้งก่อนที่ -1.8%YoY (-2.2%QoQ) อีกทั้ง สศช. ยังลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาที่ค่ากลาง -7.5% จากประมาณการครั้งก่อน -5.5% โดยมีสมมติฐานว่าในปีนี้ นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะยังไม่กลับมา และไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มเติม แต่มีความเสี่ยงจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ การระบาดของ COVID-19 ภัยแล้ง และการเมืองในประเทศ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น 0.08%-0.24% โดยเฉพาะในรุ่นอายุมากกว่า 1 ปี เนื่องจากมีรายการพิเศษในตลาดแรกและธุรกรรมพิเศษที่กระทบต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 2 รายการในเดือนนี้ ได้แก่ “พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนสำหรับบริหารหนี้ให้กู้ต่อ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1” และ “พันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1” จำนวนรวม 30,000 ล้านบาท และการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 3 ที่เป็นการเพิ่มปริมาณพันธบัตรอายุระหว่าง 4.3 - 46.8 ปี จำนวนรวม 100,000 ล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับขึ้นเล็กน้อยจากการเสนอขายตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปริมาณพันธบัตรระยะสั้นมีมากขึ้นและกดดันให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิเล็กน้อย โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.7 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 4.7 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนสิงหาคมลดลง 2.3 พันล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.23 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.8% สู่ระดับ 1,328.53 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ปัญหาความตึงเครียดทางการฑูตระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการไตรมาสที่ 2.

การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก โดยในสหรัฐฯพบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 6-7 หมื่นราย เช่นเดียวกับประเทศบราซิลและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่อาจนำไปสู่การ Lockdown ครั้งใหม่ ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยหลักที่จะบ่งชี้ความเร่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ คือความคืบหน้าของยารักษาโรคและวัคซีนต้านโรค Covid-19 โดยในเดือนกรกฎาคม มีพัฒนาการของยารักษาโรคและวัคซีนดังนี้ 1) ยา Remdesivir ซึ่งเป็นยารักษาโรค Covid-19 ของบริษัท Gilead Sciences Inc สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน 2) วัคซีนที่ทดลองโดยบริษัท Pfizer ของสหรัฐ และบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ได้รับสถานะ Fast Track จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งจะทำให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น จากการผ่อนคลายกฏระเบียบของ FDA 3) ผลการทดลองเฟส 1 ของวัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna สามารถตอบสนองด้านภูมิคุ้มกันได้ดี และอาจป้องกันโรค Covid-19 ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลองเฟส 2 และเริ่มการทดลองเฟส 3 ควบคู่ไปด้วย 4) วัคซีน AZD1222 ที่พัฒนาโดยบริษัท Astrazeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งการทดลองอยู่ในเฟส 2/3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสที่วัคซีนจะถูกผลิตออกมาในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯจำกัดการออกวีซ่าให้กับพนักงานบริษัทในกลุ่ม Technology ของจีน รวมถึงสั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมือง Houston โดยกล่าวอ้างว่าจีนจารกรรมข้อมูลลับของสหรัฐฯ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเฉิงตู ซึ่งข้อพิพาทต่าง ๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจในที่สุด ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ หลังมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ซึ่งพรรค Republican และ Democrat ยังคงเห็นต่างในหลายประเด็น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 60 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดีนัก ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนหดตัวถึง -24.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว -18.4% น้อยลงมากเมื่อเทียบกับ 29.0% ในเดือนพฤษภาคม ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นจากการทยอยเปิดเมืองของประเทศคู่ค้า แต่การหดตัวของการส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากรายได้ของประเทศคู่ค้ายังคงอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,330 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งยังมีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการเริ่มผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53 จุด ปรับตัวลดลง 10.50 จุด หรือประมาณ -0.8% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +68.3% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +3.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +3.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -11.3% กลุ่มธนาคาร -7.8% และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.6% ในเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,178 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 4,690 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 14,375 และ 492 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2563

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ใกล้ 0% รวมทั้งคงขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ BOJ ลดคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ 2020 ลงมาที่ -5.7% ถึง -4.5% จากประมาณการเดิมในเดือนเมษายนที่ -5.0% ถึง -3.0% และประเมินว่าเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2021 จะกลับมาขยายตัว 3.0% ถึง 4.0% ด้านอัตราเงินเฟ้อปีงบประมาณ 2020 มีแนวโน้มติดลบในกรอบ -0.6% ถึง -0.4% นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินและสนับสนุนสภาพคล่องให้ธุรกิจและตลาดการเงิน ทั้งเงินเยนและเงินตราต่างประเทศให้เพียงพอผ่านมาตรการซื้อสินทรัพย์และ Dollar Funding Operations อย่างไม่จำกัด และส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาวที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าในระยะข้างหน้า

ทางด้านการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กล่าวคืออัตราเงินฝากที่ระดับ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ PEPP ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร และคงระยะเวลาของมาตรการถึงมิถุนายน 2021 โดย ECB มีมุมมองต่อเศรษฐกิจว่ายังมีความเสี่ยงสูง แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ควยคุมได้และการกลับมาเปิดเมือง แต่เศรษฐกิจยังอ่อนแอกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 มาก การจ้างงานและรายได้ที่ลดลงคาดว่าจะยังฉุดการบริโภคอยู่ โดยยังมองถึงความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังสูงมาก ทั้งนี้ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวถึง 8.7% ในปีนี้ และเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ไปถึงสิ้นปี 2022

ในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และชี้ว่าจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยในระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ยังขยายเวลาการทำธุรกรรม Swap Line และ Repo Facility ออกไปจนถึง 31 มีนาคม 2021 เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินดอลลาร์ และขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องไปอีก 3 เดือนไปสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2020 นายโพเวล ประธาน FED ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 และจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อลดลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงเมื่อการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทางด้านสภาพเศรษฐกิจของไทย ในช่วงปลายเดือนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะหดตัวที่ 8.5% โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ติดลบ 8-9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังขยายตัวได้ 2.4% โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหดตัวลง ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นช่วงอายุไม่เกิน 3 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 1-2 Bps จากการเสนอขายตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ปริมาณพันธบัตรระยะสั้นมีมากขึ้นและกดดันให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงไม่มาก การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 23.5 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.3 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2563

ในช่วงต้นเดือน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อภายใต้มาตรการ Main Street Lending เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้นและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการในช่วงที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง โดย FED จะรับซื้อสินเชื่อดังกล่าวจากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในเดือนนี้ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ 0.00–0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ FED ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง FED พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ จากประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ FED จะรักษาระดับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงิน (พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และ MBS 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน) FED ประเมินเศรษฐกิจหดตัวสูงสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนจะกลับมาขยายตัว +5.0% ในปี 2021 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 9.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปี FED จะหารือรายละเอียดมาตรการ Yield Curve Control รวมถึงการส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Forward Guidance) ในการประชุมครั้งถัดไป (28-29 กรกฎาคม)

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) อีก GBP100 พันล้าน เป็น GBP745 พันล้าน เพื่อหนุนให้เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง โดยคาดมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการประชุมรอบก่อน โดยระบุว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะยังมีความอ่อนไหวต่อพัฒนาการของไวรัส COVID-19 ขณะที่ดัชนีวัดเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษและโลกในไตรมาส 2 อาจหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ยังระบุว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคการบริการเริ่มฟื้นตัวภายหลังการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังที่ออกมาแล้วจะคอยหนุนการฟื้นตัวต่อจากนี้ เศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวประมาณ -20% ในเดือนเมษายน (ต่อเนื่องจาก -6% ในเดือนมีนาคม) แต่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) เดือน พฤษภาคมที่ฟื้นตัวขึ้นดีกว่าที่ตลาดคาด (+16.2, 30.0 จุด) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของไวรัส COVID-19 มาตรการทางด้านสุขภาพ และการตอบสนองของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่อปัจจัยดังกล่าว

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้มติดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนัก สาเหตุการคงอัตราดอกเบี้ยคือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าคาด แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกับประเทศที่คุมการระบาดของไวรัสได้ดี อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ แต่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2021 และคณะกรรมการมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปีและนโยบายการคลังปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาที่ -8.1% จากประมาณการเดิม -5.3% โดยประเมินการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากกว่าเดิม รวมทั้งการระบาดไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ -1.7% จากเดิม -1.0% ในปีหน้าธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 5.0% และเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายโดยเฉลี่ย โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.9%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 3 ปีปรับลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 10 ปีปรับขึ้น จากความกังวลปริมาณพันธบัตรรัฐบาสที่จะออกประมูลในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2020 (กรกฎาคม-กันยายน 2020) ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เริ่มกลับมาเป็นการซื้อสุทธิหลังจากการขายสุทธิ 4 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 6 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 26 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2.2 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 8.2 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -0.3% สู่ระดับ 1,339.03 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงลุกลาม และโอกาสของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave

หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง หลายๆ ประเทศจึงมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ให้หลัง พบว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มพบกับการแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 3-4 หมื่นราย โดยรัฐ California, Texas, Florida และ Arizona เผชิญยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ตอกย้ำผลกระทบเชิงลบจากการเร่งเปิดเมือง และการรวมกลุ่มประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีของ George Floyd เช่นเดียวกันกับที่จีน ปักกิ่งพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ หลังปลอดเชื้อมาเกือบ 2 เดือน และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดมาจากตลาดค้าส่งอาหารซินฟาตี้ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศ Lockdown ในหลายพื้นที่ในเมืองปักกิ่งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความกังวลว่าจีนจะต้องกลับมาปิดเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้ง หากการแพร่ระบาดรอบนี้รุนแรงมากขึ้น จะก่อให้เกิด Downside ต่อเศรษฐกิจ และทำให้เดิมที่คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในช่วง 2H20 จะชะลอออกไป โดยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2020 ลงสู่ -4.9% จากเดิมคาด -3% และปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2021 ลงสู่ 5.4% จาก 5.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับลด GDP ทางฝั่งยุโรป อินเดีย และละตินอเมริกา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนในประเทศปลอดเชื้อมากว่า 30 วัน แต่เนื่องจากไทยพึ่งพิงภายนอกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก และในปัจจุบัน สถานการณ์ภายนอกยังไม่สู้ดี ซึ่งกระทบต่อ External Demand อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราการส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัวถึง -22.50% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งล่าสุด กนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 ลงสู่ -8.1% จากเดิม -5.3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% และมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในระยะที่ 2 ซึ่งได้แก่ การลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2-4% การขยายระยะเวลางดการผ่อนชำระต่ออีก 3 เดือน และการขยายระยะเวลาลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% ไปอีก 6 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวดปี 2563 และงดการซื้อหุ้นคืนหรือไถ่ถอนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือชั้นที่ 2 ก่อนครบกำหนด รวมถึงให้จัดทำแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนระยะเวลา 1-3 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้สงสัยจะสูญปริมาณมหาศาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย และทำให้ SET Index ปรับตัวลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาจากระดับ 1,450 มาอยู่บริเวณ 1,350 ในปัจจุบัน ทำให้ระดับ Valuation เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง อีกทั้งในขณะนี้มีปริมาณเงินจำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต และการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างไปหยุดยั้ง ทำให้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการกระจายวัคซีนได้ในหลายประเทศ ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,339.03จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 1,342.85 จุด หรือประมาณ -0.3% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง +6.0% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง +5.9% และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต +5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -8.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -3.4% และกลุ่ม ICT -3.3% ในเดือนมิถุนายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,717 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6,576 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2563

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่มีมติ 7-2 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนรวมกันที่ GBP645bn และแถลงการณ์ระบุว่าอาจมีการเพิ่มวงเงิน QE ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มิ.ย. ทางด้านเศรษฐกิจ BOE มองว่าประเมินได้ยาก เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ วิวัฒนาการของ COVID-19 และการตอบสนองของภาครัฐ ครัวเรือน ธุรกิจ และตลาดการเงิน โดยในกรณีฐาน (Base Case) BOE มองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวแรงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เริ่มในวันที่ 10 พ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่า GDP ไตรมาส 2 ปี 2020 จะหดตัวแรง -25.0% QoQ และทั้งปีนี้จะหดตัว -14% YoY แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1706 อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแรงเป็น 15% YoY ในปีหน้า ทางด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.6% YoY ในปี 2020 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จากการปรับลดลงแรงของราคาน้ำมันประกอบกับปริมาณความต้องการ (Demand) น้อย แต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ได้ในปี 2022 ด้านอัตราการว่างงาน BOE คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 8% ในปีนี้ แต่จะเป็นเพียงชั่วคราว จากนั้นอัตราการว่างงานจะทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4% ในปี 2022

นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ระบุในการเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เผชิญความเสี่ยงรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น แต่ยังไม่เห็นความเหมาะสมในการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจจะใช้เวลาสักระยะในการฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องในภาคธุรกิจลุกลามไปสู่การล้มละลายและการว่างงานถาวรจะเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติมแม้จะมีมูลค่าสูง กล่าวคือหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นและการขาดดุลการคลังที่สูง แต่ยังมีความจำเป็นในการลดทอนผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด สะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าที่เคยประเมินกันไว้ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่กว่า 20 ล้านรายต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน อัตราการว่างงานในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นเป็น 14.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก็ดูจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากความกังวลต่อการกลับมาระบาดของไวรัส

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงาน GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2014 ที่ -1.8% YoY จากที่ตลาดคาดว่า GDP จะหดตัวมากถึง -3.9% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดย GDP หดตัว -2.2% QoQ sa (Seasonally Adjusted) จาก +0.2%QoQ sa ในไตรมาสก่อน โดยถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -4.2%QoQ sa ทั้งปี 2020 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในช่วง -5.0% ถึง -6.0% จากประมาณการเดิมที่ +1.5 ถึง +2.5% โดยประเมินว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจถึง 15% ของ GDP

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในเดือนนี้ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยลดลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วทั้งสิ้น 0.75% สาระสำคัญจากการประชุมคือ (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ (2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าที่คาด และ (3) เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม สอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นค้าน สนับสนุนการคงดอกเบี้ย โดยมองว่าควรเร่งรัดประสิทธิภาพมาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยส่วนใหญ่ปรับลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในช่วงอายุ 10-20 ปีกลับเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการจัดประมูลในเดือนนี้ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.06 พันล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 7.94 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนพฤษภาคมลดลง 1.08 หมื่นล้านบาท คงเหลือการถือครองประมาณ 7.97 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น 3.2% สู่ระดับ 1,342.85 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน บนความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน การกระตุ้นเศรษฐกิจของเหล่าธนาคารกลางทั่วโลก และความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดโลกฟื้นตัว มาจากความคืบหน้าของวัคซีนต้าน COVID-19 หลังบริษัท Moderna Inc แถลงผลการทดลองทางคลินิก ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสในผู้ป่วย COVID-19 ได้ โดยเตรียมจะทดลองในขั้นต่อไปในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับบริษัท Novavax ที่เริ่มทดลองวัคซีนทางคลีนิกเฟส 1 แล้ว และคาดว่าจะรู้ผลในเดือนกรกฎาคมนี้ จึงเพิ่มความคาดหวังที่จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ทำให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไป

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เนื่องจากจีนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับการที่จีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ และออกมาตรการตอบโต้ นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯมีมติผ่านร่างกฎหมาย "Holding Foreign Companies Accountable Act" ซึ่งอาจทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯมีโอกาสถูกถอดออกจากตลาด และอาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ หากไม่สามารถทำตามมาตรฐานบัญชีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอน เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทยนั้น GDP ในไตรมาส 1 ประกาศออกมาที่ -1.8% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี แม้ว่าจะดีกว่าตัวเลขที่คาดไว้ที่ -4% โดยที่การบริโภคภาคเอกชนยังเติบโต 3% yoy จากแรงกักตุนซื้อสินค้าก่อนการ Lockdown และการส่งออกเติบโต 2% yoy ซึ่งหลักๆ มาจากการส่งออกทองคำและอาวุธ ในขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ ติดลบค่อนข้างมาก การบริการซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรค COVID-19 -29.8% yoy การลงทุนของเอกชน -5.5% yoy จากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง การลงทุนของภาครัฐ -9.3% yoy จากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ ส่วนภาคการผลิตการเกษตร -5.7% yoy จากภาวะภัยแล้ง

ตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาเติบโต -52.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว และ -42.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่รายงานการขาดทุนสูงคือ กลุ่มพลังงาน ที่บันทึกขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงคลัง อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงแรงในเดือนมีนาคม กลุ่มที่กำไรหดตัวรุนแรงรองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่กำไร -46.0% yoy และ -45.5% qoq โดยกลุ่มท่องเที่ยวและสันทนาการ และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (ไม่รวม THAI และ NOK ที่เลื่อนการประกาศงบการเงิน) พลิกเป็นขาดทุน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ที่เหลือเพียง 6.7 ล้านคน คิดเป็น -38% yoy โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลงประมาณ 60% yoy จากการปิดเมืองหลายเมืองในประเทศจีน และมาตรการ Lockdown ของไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้การเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศหยุดชะงัก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำไร -43.7% yoy และ -36.1% qoq จากผลกระทบต่อเนื่องของมาตรการควบคุม LTV ของธปท. ในปีที่แล้ว ผนวกกับกำลังซื้อในประเทศอ่อนตัว และผู้ประกอบการมีการออกโครงการใหม่ๆ น้อยลง ส่วนกลุ่มที่กำไรยังเติบโต ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโต 8.7% yoy จากอานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่า และคำสั่งซื้อที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงต้นปี กลุ่มอาหารกำไรยังเติบโตได้ดีจากราคาหมูและไก่ในต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,342.85 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,301.66 จุด หรือประมาณ +3.2% จากสิ้นเดือนเมษายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร +46.4% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ +16.0% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +6.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง -2.1% กลุ่ม ICT -0.3% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -0.2% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 31,598 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 17,838 ล้านบาท