ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่
-0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรไม่จำกัดที่ 0.25% ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในตลาดการเงิน จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตอุปทาน และผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลง และเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้ลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2023 และ ปี 2024 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% และ 1.3% จาก 1.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อได้เพิ่มคาดการณ์เป็น 2.3% ในปีนี้ จากเดิมที่ 1.9% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2023 และ 2024 เป็น 1.4% และ 1.3% ตามลำดับ จาก 1.1% จากผลของราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งผ่านต้นทุนพลังงานเป็นหลัก

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bps เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีและเป็นการออกจากดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) จาก -0.50% ไปอยู่ที่ 0.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) จาก 0.25% ไปอยู่ที่ 0.75% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมต่อไป โดยจะตัดสินใจในแต่ละการประชุมบนพื้นฐานของข้อมูลขณะนั้นเป็นหลัก และอาจไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงระดับในการปรับในรอบต่อไป นอกจากนี้ยังอนุมัติ Transmission Protection Instrument (TPI) เครื่องมือใหม่เพื่อช่วยการส่งผ่านของนโยบายการเงินอย่างราบรื่นทั่วทั้งยุโรป และเพื่อช่วยเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับขึ้นแตกต่างกันของแต่ละประเทศ การเข้าซื้อของเครื่องมือ TPI ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละประเทศ และสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดจากการคาดการณ์ โดยจะเข้าซื้อในสินทรัพย์ที่มีอายุ 1-10 ปี

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2565

การประชุมนโยบายการงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือนนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.75%-1.00% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อเนื่องในอีกสองการประชุมข้างหน้า รวมถึงมองว่าเป็นความสำคัญที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่จุดสมดุล และอาจจำเป็นที่จะปรับขึ้นจนถึงจุดที่ตึงตัวได้ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความกังวลต่อความเสี่ยงของระบบการเงินและสภาพคล่องในตลาด สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการยังได้ให้คำมั่นถึงความพยายามในการปรับลดเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ ในด้านกระบวนการลดขนาดงบดุล หรือ QT คณะกรรมการระบุจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. ในอัตราเดือนละ USD47.5bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD30bn และ MBS เดือนละ USD17.5bn) และจะทยอยปรับขึ้นในเวลา 3 เดือน สู่ระดับ USD95bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD60bn และ MBS เดือนละ USD35bn) ตามแผนเดิมที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยแถลงการณ์ระบุว่า FED ตั้งใจที่จะชะลอและยุติการลดขนาดงบดุลเมื่อดุลเงินสำรอง (Reserve Balance) อยู่เหนือระดับที่ FED มองว่าเป็นระดับที่เพียงพอ ทางด้านการประเมินเศรษฐกิจ คณะกรรมการมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะติดลบในไตรมาสที่ 1 แต่อุปสงค์ภายในประเทศดีกว่าในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในไตรมาสแรก การลงทุนสินค้าคงคลังปรับลดลงหลังจากเพิ่มขึ้นสูงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว คณะกรรมการคาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2 รวมถึงโตต่อเนื่องสำหรับช่วงที่เหลือของปี และชะลอลงในปี 2023 และ 2024 ตามการเริ่มถอนนโยบายช่วยเหลือต่างๆ และการตึงตัวของภาคการเงิน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้น 25bps สู่ระดับ 1% ตามคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง 4 รอบการประชุมสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นต่างมองว่าควรปรับขึ้นไป 50bps สู่ระดับ 1.25% นอกจากนี้ คณะกรรมการระบุจะเริ่มพิจารณาการขายสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในมาตรการ QE โดยคาดจะมีรายละเอียดมากขึ้นในเดือน ส.ค. BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจแย่ลงอย่างมาก ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นมากของราคาพลังงานที่หนุนเงินเฟ้อและกดดันความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยคาดเศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวราว -1.0% ในไตรมาส 4/2022 และคาดเศรษฐกิจปี 2023 จะหดตัว -0.25% (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.25% ในเดือน ก.พ.) และจะขยายตัวเพียง 0.25% ในปี 2024 (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.0% ในเดือน ก.พ.) ทางด้านเงินเฟ้อ BOE คาดจะขยายตัวทำจุดสูงสุดเหนือระดับ 10% เล็กน้อยในไตรมาส 4 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.พ. ว่าจะขยายตัวทำจุดสูงสุดที่ 7.25% ในไตรมาส 2 โดยเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ขยายตัว 7.0% ซึ่ง BOE คาดจะเร่งตัวขึ้นเป็น 9.1% ในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี BOE คาดเงินเฟ้อจะชะลอลงอย่างรวดเร็วหลังทำจุดสูงสุด โดยคาดจะขยายตัวลดลงเป็น 2.1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ปี 2024) และลดลงเป็น 1.3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2025) ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ คณะกรรมการ BOE มีความเห็นต่างมากขึ้นในแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยแถลงการณ์ระบุคณะกรรมการ ‘บางท่าน’ ตัดสินว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจยังมีความเหมาะสมในเดือนข้างหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเดือน มี.ค. ที่ระบุคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2565

การประชุมนโยบายการงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในเดือนนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.75%-1.00% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อเนื่องในอีกสองการประชุมข้างหน้า รวมถึงมองว่าเป็นความสำคัญที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่จุดสมดุล และอาจจำเป็นที่จะปรับขึ้นจนถึงจุดที่ตึงตัวได้ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความกังวลต่อความเสี่ยงของระบบการเงินและสภาพคล่องในตลาด สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการยังได้ให้คำมั่นถึงความพยายามในการปรับลดเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ ในด้านกระบวนการลดขนาดงบดุล หรือ QT คณะกรรมการระบุจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย. ในอัตราเดือนละ USD47.5bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD30bn และ MBS เดือนละ USD17.5bn) และจะทยอยปรับขึ้นในเวลา 3 เดือน สู่ระดับ USD95bn (แบ่งเป็น Treasury เดือนละ USD60bn และ MBS เดือนละ USD35bn) ตามแผนเดิมที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยแถลงการณ์ระบุว่า FED ตั้งใจที่จะชะลอและยุติการลดขนาดงบดุลเมื่อดุลเงินสำรอง (Reserve Balance) อยู่เหนือระดับที่ FED มองว่าเป็นระดับที่เพียงพอ ทางด้านการประเมินเศรษฐกิจ คณะกรรมการมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะติดลบในไตรมาสที่ 1 แต่อุปสงค์ภายในประเทศดีกว่าในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในไตรมาสแรก การลงทุนสินค้าคงคลังปรับลดลงหลังจากเพิ่มขึ้นสูงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว คณะกรรมการคาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2 รวมถึงโตต่อเนื่องสำหรับช่วงที่เหลือของปี และชะลอลงในปี 2023 และ 2024 ตามการเริ่มถอนนโยบายช่วยเหลือต่างๆ และการตึงตัวของภาคการเงิน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 6-3 ปรับดอกเบี้ยขึ้น 25bps สู่ระดับ 1% ตามคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง 4 รอบการประชุมสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยคณะกรรมการ 3 ท่านที่เห็นต่างมองว่าควรปรับขึ้นไป 50bps สู่ระดับ 1.25% นอกจากนี้ คณะกรรมการระบุจะเริ่มพิจารณาการขายสินทรัพย์ที่เข้าซื้อในมาตรการ QE โดยคาดจะมีรายละเอียดมากขึ้นในเดือน ส.ค. BOE มีมุมมองต่อเศรษฐกิจแย่ลงอย่างมาก ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นมากของราคาพลังงานที่หนุนเงินเฟ้อและกดดันความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยคาดเศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวราว -1.0% ในไตรมาส 4/2022 และคาดเศรษฐกิจปี 2023 จะหดตัว -0.25% (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.25% ในเดือน ก.พ.) และจะขยายตัวเพียง 0.25% ในปี 2024 (ลดลงจากที่คาดขยายตัว 1.0% ในเดือน ก.พ.) ทางด้านเงินเฟ้อ BOE คาดจะขยายตัวทำจุดสูงสุดเหนือระดับ 10% เล็กน้อยในไตรมาส 4 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1982 เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เมื่อเดือน ก.พ. ว่าจะขยายตัวทำจุดสูงสุดที่ 7.25% ในไตรมาส 2 โดยเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ขยายตัว 7.0% ซึ่ง BOE คาดจะเร่งตัวขึ้นเป็น 9.1% ในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี BOE คาดเงินเฟ้อจะชะลอลงอย่างรวดเร็วหลังทำจุดสูงสุด โดยคาดจะขยายตัวลดลงเป็น 2.1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ปี 2024) และลดลงเป็น 1.3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2025) ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ คณะกรรมการ BOE มีความเห็นต่างมากขึ้นในแนวโน้มของดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยแถลงการณ์ระบุคณะกรรมการ ‘บางท่าน’ ตัดสินว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจยังมีความเหมาะสมในเดือนข้างหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเดือน มี.ค. ที่ระบุคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ย โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% โดย ยังคงแผนการลด QE และจะจบการเข้าซื้อในไตรมาสที่ 3 กล่าวคือ คงแผนเดิมที่ประกาศการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ Asset Purchase Program (APP) ซึ่งเป็นมาตรการ QE ปกติ 4 หมื่นล้านยูโรในเดือนเมษายน 3 หมื่นล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม และ 2 หมื่นล้านยูโรในเดือนมิถุนายน และประเมินว่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP จะจบในไตรมาสที่ 3 นี้ โดยวันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและภาพรวมเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในขณะที่จะลงทุนต่อ (Reinvest) ในพันธบัตรจากมาตรการ QE : Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ถือครองจากโครงการนี้ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2024 ทั้งนี้ ประธาน ECB กล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยว่าอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่อาทิตย์หรือในไม่กี่เดือนหลังจากจบ QE ทางด้านเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนและเงินเฟ้อได้รับผลกระทบมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าของยูโรโซน และทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง มีความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในระยะสั้น และความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดย ECB พร้อมใช้เครื่องมือใหม่เมื่อจำเป็นหากเกิดสถานการณ์ที่น่ากังวลจากการยกเลิกการทำ QE

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องด้วยมติ 8-1 คะแนน ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 1 ท่านลงมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจลงทุนสินทรัพย์คงทนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ BOJ จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ที่อัตราผลตอบแทน 0.25% ทุกวันทำการ ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดย BOJ ยืนยันคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ทางด้านคาดการณ์เศรษฐกิจ ได้ปรับลด GDP ในปีนี้เป็น +2.9%YoY จากประมาณการในเดือนมกราคมที่ +3.8%YoY และปรับเพิ่ม GDP 2023 +1.1%YoY ไปอยู่ที่ +1.9%YoY ด้านเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มเป็น 1.9%YoY จากประมาณการในเดือนมกราคมที่ 1.1%YoY ผลจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นสำคัญ BOJ ประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะสั้นจากการระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่จะกลับมาสมดุลในระยะถัดไป ด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อประเมินว่าความเสี่ยงสูงขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงาน แต่จะกลับมาสมดุลในระยะถัดไป

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ได้ส่งสัญญาณยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ในไตรมาส 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ECB ได้ทำการปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบปกติหรือ APP (Asset Purchase Program) โดยระบุจะเข้าซื้อในอัตราเดือนละ EUR40bn ในเดือน เม.ย., EUR30bn ในเดือน พ.ค. และ EUR20bn ในเดือน มิ.ย. ส่วนการเข้าซื้อในไตรมาส 3 จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้คงไว้ที่ระดับต่ำในปัจจุบัน ได้แก่ Deposit Facility Rate ที่ -0.50%, Main Refinancing Rate ที่ 0.0% และ Marginal Lending Rate ที่ 0.25% และได้ส่งสัญญาณแนวโน้มของดอกเบี้ย (Forward Guidance) เพิ่มเติม โดยระบุว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นหลังการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่าน APP สิ้นสุดลงสักระยะหนึ่งและจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเป็น 3.7% จาก 4.2% ที่คาดไว้เดิมในเดือน ธ.ค. โดยหลักเป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน ความเชื่อมั่น และการค้า อย่างไรก็ดี GDP อาจขยายตัวลดลงเป็น 2.3-2.5% ในกรณีเลวร้ายที่มีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม และมีการลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการลดกำลังการผลิตในยุโรป ส่วนเงินเฟ้อ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้ขึ้นอย่างมากเป็น 5.1% จาก 3.2% ที่คาดไว้เดิม ท่ามกลางราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในกรณีเลวร้าย เงินเฟ้ออาจขยายตัวสูงถึง 7.1% ทั้งนี้ ECB ยังคาดเงินเฟ้อจะชะลอลงในระยะกลางอยู่ที่ 2.1% (เดิมคาด 1.8%) ในปี 2023F และอยู่ที่ 1.9% (เดิมคาด 1.8%) ในปี 2024F

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติ 8-1 ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 0.25-0.50% ตามการคาดการณ์เป็นวงกว้าง ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018โดยแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot ชี้ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 6 ครั้งในปีนี้ หรืออีก 150bps สู่ระดับ 2.0% นอกจากนี้ มีคณะกรรม 7 ท่านที่มองว่าควรปรับขึ้นสูงกว่าระดับ 2% หรือมีบางการประชุมที่ปรับขึ้น 50bpsสำหรับปี 2023 Dot plot ชี้ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง สู่ระดับ 2.75% และทรงตัวที่ระดับดังกล่าวในปี 2024 ขณะที่คาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาว (Longer-run Rate) ปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 2.4% จากเดิม 2.5% ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ FED ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสอดรับกับมุมมองด้านดอกเบี้ยที่ Hawkish มากขึ้น โดยปรับเงินเฟ้อ Core PCE ในปี 2022F เพิ่มขึ้นมากเป็น 4.1% (vs.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กุมภาพันธ์ 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ย ECB ประเมินว่าเงินเฟ้อมีความเสี่ยงจะพุ่งสูงขึ้นอีกและคงอยู่ยาวนานกว่าที่คาด โดยจะมีการประเมินผลของเงินเฟ้อเปรียบเทียบกับเป้าหมายระยะกลางในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ด้านนโยบายการเงินได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% นอกจากนี้ยังยืนยันการสิ้นสุด Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ตามกำหนดการในเดือนมีนาคม 2022 พร้อมทั้งปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ซื้อเฉลี่ย 13.2 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ และจะมีการลงทุนต่อในพันธบัตรที่ถือครองจากโครงการนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2024 อย่างไรก็ตาม ECB ยืนยันจะยังคงมาตรการ Asset Purchase Program (APP) ซึ่งเป็นมาตรการ QE ปกติของ ECB ต่อไป โดยจะเพิ่มวงเงิน APP ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2022 ที่ 4 หมื่น และ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตามลำดับ ก่อนจะปรับเข้าสู่ระดับการซื้อสินทรัพย์ปกติที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาด เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและดีกว่าที่คาด จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวเร็วกว่าที่คาดในขณะที่ความเสี่ยงลดลง และผลกระทบจากโอไมครอนมีแนวโน้มอยู่ในวงจำกัด โดยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยรวม ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ในช่วงแรกของปี เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์คอขวดภาคอุปทานที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand pull) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม โดยรวม ธปท. ยังประเมินว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี และเงินเฟ้อระยะกลางยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบสมดุลระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับการจัดการเงินเฟ้อ และปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเงินเฟ้อในวงกว้าง (Broad-based)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ขยายตัว 1.9%YoY (1.8%QoQ SA) ดีกว่าคาดการณ์ที่ 0.8%YoY ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ปรับหดตัวลดลง 0.2%YoY เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามการเปิดเมือง หลังผ่านการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัว 0.3%YoY ประกอบกับแรงหนุนจากการใช้จ่ายรัฐบาลที่ขยายตัว 8.1%YoY และการส่งออกขยายตัว 21.3%YoY โดยรวมจีดีพีไทยในปี 2021 ขยายตัว 1.6%YoY ดีกว่าคาดการณ์ที่ 1.2%YoY สศช. คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2022 ขยายตัว 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4.0%) โดยเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวเป็น 5.5 ล้านคน จาก 5 ล้านคน คาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 1.0% ต่อจีดีพี และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 1.5-2.5% จากคาดการณ์เดิม 0.9-1.9%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนมีปัจจัยที่เข้ามากระทบตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนทั่วโลก กล่าวคือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก หลังรัสเซียให้การรับรองเอกราช 2 แคว้นของยูเครน และในช่วงปลายเดือนรัสเซียนำกองกำลังบุกเข้ายูเครนและโจมตีกรุงเคียฟ ส่งผลให้สหรัฐฯ และยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรทางด้านการเงินและการค้ารัสเซีย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีจึงปรับลดจากระดับ 2.05% ลงมาอยู่ที่ 1.83% ณ สิ้นเดือน ทางด้านทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ ยังคงเป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 (นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564) โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 5.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.1 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 3.0 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 1.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการถือครอง ณ สิ้นปี 2021 ที่ 1.02 ล้านล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2565

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ โดยขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินกู้ในโครงการเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ไปอีก 1 ปี ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปีและซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยน ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2022 ทั้งนี้ BOJ ยืนยันการคงดอกเบี้ยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างมีเสถียรภาพ และจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ทางด้านการคาดการณ์เศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากประมาณการเดิมที่ 2.9% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2023 ลงเป็น 1.1% จาก 1.3% ในประมาณการเดือนตุลาคม นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีงบประมาณ 2022 เป็น 1.1% จากประมาณการเดิมที่ 0.9% และปรับเพิ่มเงินเฟ้อทั่วไปในปีงบประมาณ 2023 จาก 1.0% เป็น 1.1% เนื่องจากประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากราคาน้ำมัน และต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระยะข้างหน้า

ผลการประชุม FOMC ในเดือนนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% หลังการประชุม ประธาน FED ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด จากภาวะตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างมาก การลดขนาดงบดุลจะเกิดขึ้นภายหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้วอย่างน้อย 1 การประชุม ซึ่ง FED จะหารือเรื่องนี้ในการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ การลดขนาดงบดุลครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะลดในอัตราเร่งที่เร็วกว่าครั้งก่อน นอกจากนี้ FED ประกาศเร่งการลด QE เพิ่มขึ้น โดยจะดำเนินการซื้อสินทรัพย์ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดการทำ QE ในช่วยต้นเดือนมีนาคมนี้ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตลาดรับทราบข่าว FED ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้และเตรียมลดขนาดงบดุลในระยะถัดไป โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 4 ปีขึ้นไปปรับเพิ่มขึ้น 10-25bps ทางด้านทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ ยังคงเป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 6.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.7 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 4.1 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการถือครอง ณ สิ้นปี 2021 ที่ 1.02 ล้านล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2564

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ 11-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด หลังการประชุมประธาน FED ได้ประกาศเร่งการลด QE เป็น 2 เท่า โดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล และวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันไปพร้อมกันตามสัดส่วน 2 และ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน รวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิมที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทำให้ QE สำหรับในช่วงการแพร่ระบาดนี้จะสิ้นสุดเร็วขึ้นเป็นในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน เนื่องจากประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มพุ่งขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ FED ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า โดย Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2 ครั้ง นอกจากนี้ สมาชิก FED ยังมีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2023 ด้วย อย่างไรก็ตาม โพเวลระบุว่า FED จะยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นจนกว่าการลด QE จะสิ้นสุดลง ในขณะที่การแพร่ระบาดของโอไมครอนไม่ใช่ประเด็นหลักที่น่ากังวล โดยโพเวลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ ทางด้านเงินเฟ้อ FED ประเมินว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน โดยประเมินว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราวอีกต่อไป และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% และ 2.6% จากเดิมที่ 4.2% และ 2.2% ตามลำดับ รวมถึงมีมุมมองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับเหนือเป้าหมายที่ 2.0% ไปจนถึงปี 2024 ทั้งนี้ FED ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 5.9% เป็น 5.5% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการชะงักงันภาคอุปทาน และปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าเป็น 4.0% จากเดิมที่ 3.8% ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ FED ปรับลดคาดการณ์การว่างงานในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 4.3% และ 3.5% จากเดิมที่ 4.8% และ 3.8% ตามลำดับ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโอไมครอนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในระยะข้างหน้า รวมทั้งมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดควรเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยรวม กนง. ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และพร้อมใช้นโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2021-2023 ขยายตัวที่ 0.9%, 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัว 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวจากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท. คาดการณ์ว่าโอไมครอนจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ตลาดรับทราบข่าวการลดการผ่อนคลายทางการเงินในไม่ช้า ยกเว้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับลงมามากจากความต้องการพักเงินในช่วงข้ามปี โดยผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุประมาณ 3 เดือนในสัปดาห์สุดท้ายของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3906% ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 1.02 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.66 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2564

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ 11-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด และระบุเช่นเดิมว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับที่คณะกรรมการประเมินว่าเป็นระดับการจ้างงานเต็มอัตราและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังการประชุมประธาน FED ประกาศลด QE อย่างเป็นทางการโดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล (ABS) และวงเงินซื้อสินทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (MBS) ไปพร้อมกันตามสัดส่วน 10 และ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ และมีแนวโน้มจะลด QE ในความเร่งดังกล่าวในเดือนถัดไป อย่างไรก็ตาม อัตราความเร่งในการลด QE ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจและตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประธาน FED ส่งสัญญาณว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะขึ้นดอกเบี้ย โดยระบุว่าเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่บรรลุ ทั้งในส่วนของการจ้างงานและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ทั้งนี้ การประกาศลด QE เป็นการตัดสินใจที่แยกจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยการลด QE ในครั้งนี้เนื่องจาก FED บรรลุเป้าหมายความคืบหน้าที่ตั้งไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยยังคงต้องประเมินตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ในเรื่องของเงินเฟ้อ FED มองว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงอย่างมากเป็นปัจจัยชั่วคราว (เงินเฟ้อ PCE เดือน ก.ย. เร่งตัวขึ้นเป็น 4.4%YoY สูงสุดในรอบ 30 ปี เหนือเป้าหมาย FED ที่ 2% อย่างมาก) เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานจากการเปิดเมือง ทำให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลน แต่ไม่เกิดจากภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว โดยนายโพเวลยอมรับว่ายากที่จะประเมินว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ระดับปกติเมื่อไหร่ แต่ระบุว่าการดำเนินการของ FED เหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ สวนทางกับที่ตลาดการเงินคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 15bps ในการประชุมรอบนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงและการออกมาพูดส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะใกล้ โดยเฉพาะจากนาย Andrew Bailey ผู้ว่าฯ BOE ในช่วงก่อนหน้านี้ ทางด้านเงินเฟ้อ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปรับปี 2021 เป็น 4.25% (เดิม 4%) ปี 2022 เป็น 3.5% (เดิม 2.5%) และปี 2023 เป็น 2.25% (เดิม 2%) ส่วนปี 2024 คาดเงินเฟ้อจะขยายตัว 2% ทั้งนี้ BOE คาดเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 (4Q19) ในไตรมาส 1/2022 ช้ากว่าที่เคยคาดเมื่อเดือนสิงหาคม เล็กน้อยว่าจะเป็นไตรมาส 4 ของปีนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 แล้วและเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายปิดเมืองและเปิดประเทศ ประกอบกับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าไปมาก ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในครั้งก่อน ที่ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวภายหลังจากการผ่อนคลายปิดเมือง และการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งได้ปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจคู่ค้า และแรงหนุนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวในระยะข้างหน้ายังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดภายหลังจากการเปิดประเทศ ในด้านเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นได้ตามราคาพลังงานในตลาดโลกและภาวะชะงักงันของภาคอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในระยะปานกลาง ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยภาพรวมปรับลดลงมา โดยเฉพาะในช่วงอายุ 10-16 ปี ประมาณ 10-22 bps แม้ว่าระหว่างเดือนอัตราผลตอบแทนจะปรับขึ้นไปบ้างตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐที่นักลงทุนสถาบันแสดงความกังวลตัวเลขเงินเฟ้อมากขึ้น ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 4.38 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 3 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.8 แสนล้านบาท โดยการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.27 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2564

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ด้วยมติ 8 : 1 คะแนน โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0.1%, ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 1 ท่านลงมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์คงทนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยนถึงมีนาคม 2022 โดย BOJ ยังส่งสัญญาณว่าจะคงมาตรการซื้อสินทรัพย์และควบคุมอัตราผลตอบแทนไว้ยาวนาน จนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และระบุว่าพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น นอกจากนี้ BOJ ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.4%YoY จากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ 3.8%YoY และสำหรับปี 2022 คาดการณ์ว่าจะเติบโต 2.9%YoY จากเดิมที่ 2.7%YoY เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบการบริโภคภาคบริการ ในขณะที่ภาวะชะงักงันของภาคอุปทานกระทบการส่งออกและภาคการผลิต ด้านเงินเฟ้อ BOJ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ลง จากประมาณการในเดือนกรกฎาคมที่ 0.6%YoY เป็น 0.0%YoY เนื่องจากผลของการปรับฐาน และการปรับลดค่าบริการโทรศัพท์ ทั้งนี้ ในปี 2022 บีโอเจคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 0.9%YoY

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้จะยังคงชะลอการซื้อสินทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 จากเดิมที่ซื้อราว 1.8 และ 1.7 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ECB ซื้อสินทรัพย์ราว 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนยังคงแข็งแกร่ง แม้จะเผชิญกับภาวะชะงักงันด้านอุปทานในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นและอยู่ยาวนานกว่าที่คาด จากระดับ 3.4% ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ภาคอุปสงค์ที่ฟื้นตัวรวดเร็วกว่าภาคอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะคอขวดในภาคอุปทาน และผลจากฐานที่ต่ำจากการปรับสิ้นสุดการลดภาษีมูลค่าเพิ่มในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะชะลอลงแม้ยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2022 และคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ราว 2% ในระยะปานกลางและระยะยาว โดย ECB คงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2022 ตามเดิม

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว จากปัจจัยด้านราคาพลังงาน นโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง และมุมมองจากนักลงทุนว่าธปท. คงไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 8.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 4.0 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 5.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยประมาณ 9.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้การถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนตุลาคม ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ