ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2563

SET Index ปรับตัวขึ้น +17.9% สู่ระดับ 1,408.31 จุด เนื่องจากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของสหรัฐฯและความคืบหน้าของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ขณะที่ความเสี่ยงหลายประเด็นยังคงอยู่ ประกอบด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯที่ยังไม่ชัดเจน และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯอย่างไม่เป็นทางการ บ่งชี้ว่านาย Joe Biden ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 และพรรค Democrat ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พรรค Republican ที่ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ในกรณีนี้จะทำให้การออกนโยบายที่เข้มงวดของ Biden เป็นไปได้ยากมากขึ้น และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อขนาดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 4 ซึ่งอาจลดลงมาอยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญฯ (ต่ำกว่ากรณี Blue Wave หรือ Democrat ชนะการเลือกตั้งทั้งหมด ที่น่าจะมีวงเงิน 2.2 ล้านล้านเหรียญฯ) อย่างไรก็ตาม นโยบายของ Biden ค่อนข้างเป็นบวกต่อเอเชีย ในเชิงของนโยบายการค้าที่เข้มงวดน้อยกว่า และเป็นระเบียบแบบแผนมากกว่าในสมัยของ Trump ประกอบกับนโยบายของ Biden อาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯฟื้นตัวช้านั้น จะเพิ่มความน่าสนใจต่อการลงทุนในเอเชีย นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯและหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ และยุโรปที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศได้มีการประกาศใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในยุโรปชะลอตัวลง แต่ปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวและเทศกาลหยุดยาวช่วงปลายปีที่จะมีการเดินทางและจัดงานรื่นเริงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ยากต่อการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ตาม ในเดือนที่ผ่านมามีความคืบหน้าของวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างมาก ประกอบด้วยวัคซีนของบริษัท Pfizer ที่พัฒนาร่วมกับ BioNTech ที่มีประสิทธิภาพป้องกัน COVID-19 ถึง 95% และได้ยื่นต่อ FDA เพื่อพิจารณาใช้เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว วัคซีนของบริษัท Moderna มีประสิทธิภาพป้องกัน COVID-19 ถึง 94.5% และสามารถจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ได้ถึง 30 วัน ทำให้สะดวกต่อการขนส่ง และบริษัท AstraZeneca ที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford เปิดเผยผลการทดลองวัคซีนมีประสิทธิภาพต้าน COVID-19 ได้ 90% และสามารถป้องกัน COVID-19 ได้ในทุกช่วงอายุ ความคืบหน้าของวัคซีนที่กล่าวข้างต้นเพิ่มความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอ่อนค่าลง ส่งผลให้ Fund Flows ไหลเข้าเอเชียอย่างมากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเงินไหลเข้าทวีปเอเชีย 14,651 ล้านเหรียญฯ และการกลับมาซื้อสุทธิในไทย 1,225 ล้านเหรียญฯ หลังจากมีการขายสุทธิ 15 เดือนติดต่อกัน ทว่า ปัจจัยภายในประเทศยังคงมีแรงกดดันจากความเสี่ยงทางการเมือง หลังรัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และยังมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง สะท้อนอุณหภูมิทางการเมืองสูงขึ้น กดดันจิตวิทยาการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำ ให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,408.31 ปรับตัวขึ้น 213.36 จุด หรือ 17.9% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 37.4% กลุ่มธนาคาร 28.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 28.2% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 25.0%และกลุ่มยานยนต์ 22.4% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการเกษตร -9.9% ให้ผลตอบแทนติดลบเพียงกลุ่มเดียวในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 12,347.98 ล้านบาทและ 32,643.75 ล้านบาท ตามลำดับ  ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายหุ้นไทยสุทธิ 3,104.28 และ 41,887.45 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 51,953.03 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 16,550.19 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 266,906.46 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 198,403.25 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2563

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ 0-0.25% และระบุว่าจะคงอยู่ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าประเมินว่าตลาดแรงงานอยู่ในระดับการจ้างงานเต็มอัตรา เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2% และเกินระดับดังกล่าวพอสมควรเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ล่าสุด (เดือน ก.ย.) ชี้ว่า FED จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังคงระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างน้อยในอัตราปัจจุบันที่ USD120bn ต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐเดือนละ USD40bn ถ้อยแถลงในรายงานการประชุมครั้งนี้ไม่แตกต่างจากการประชุมรอบก่อนในเดือน ก.ย. นัก โดยระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตอนต้นปีก่อน COVID-19 ส่วนอุปสงค์ที่อ่อนแอและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงก่อนหน้านี้ได้กดดันอัตราเงินเฟ้อ ด้านสภาวะทางการเงินยังคงมีความผ่อนคลาย ส่วนหนึ่งสะท้อนผลดีของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินกู้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยแนวโน้มของเศรษฐกิจต่อจากนี้ยังคงขึ้นอยู่กับพัฒนาการของ COVID-19 เป็นสำคัญ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยังกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมทั้งเงินเฟ้อในระยะใกล้ และนับเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง

ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด โดยแสดงความเห็นว่า GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวดีกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ สินเชื่อภาคธุรกิจที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วจากเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามายังภูมิภาคหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และข่าวดีของการพัฒนาวัคซีน และรายได้แรงงานยังอยู่ในระดับต่ำและเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคบริการ หลังจากนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ ธปท. ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศและการฝากเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) จากเดิมที่มีแผนประกาศในช่วงต้นปี 2021 เพื่อลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า และจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระยะยาวมากกว่า

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัว -6.4% yoy ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -8.8% yoy และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน (-12.1% ไตรมาสก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. นอกจากนี้ สศช. ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้น จากเดิมคาด GDP หดตัวในช่วง -7.8% ถึง -7.3% ดีขึ้นเป็น -6.0% จากการคาดการณ์การบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นจากเดิมมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. นอกจากนี้ สศช. ยังได้คาดการณ์ว่า GDP ปี 2021 จะขยายตัวในช่วง 3.5%- 4.5%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ ภาพรวมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตลอดทั้งเส้นมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขึ้นและลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรองปรับลดลงมากจากเดือนก่อนสืบเนื่องมาจากการเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ 6 เดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3645%, 0.3971% และ 0.4963% ต่อปี ตามลำดับ ลดลงจากช่วงสิ้นเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.50%, 0.4894% และ 0.5478% ต่อปี ตามลำดับ การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิประมาณ 31.8 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 10.4 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 24.9 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.83 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2563

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติให้คงนโยบายการเงินเดิมทั้งเป้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาว ได้แก่ มีมติ 8 ต่อ 1 ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% สำหรับเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ (Excess Reserve) คงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Yield Curve Control: YCC) ไว้ที่ประมาณ “0%” และเคลื่อนไหวในกรอบ +/-0.2% และคงเป้าการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ ได้แก่ วงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs ต่อปีที่ JPY12trn และ JPY180bn ตามลำดับ และยังระบุจะเข้าซื้อในอัตราที่เหมาะสมตามสภาวะของตลาด วงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) และยาว (Corporate Bonds) รวมกันต่อปีที่ JPY20trn จนถึงเดือน มี.ค. 2021 ยกเลิกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากเดิมที่กำหนด JPY80trn ต่อปี และวงเงินโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย (Special Funds-Supplying Operations) ที่ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มูลค่า JPY90trn ในส่วนของเศรษฐกิจ BOJ คาดว่า GDP ปีงบประมาณ 2020F จะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -5.5% จากประมาณการครั้งก่อนในเดือนก.ค. ที่ -4.7% จากอุปสงค์ในภาคบริการที่อ่อนแอกว่าที่คาด ขณะที่คาด GDP ปีงบประมาณ 2021F จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จากเดิมที่คาด 3.3% ทางด้านเงินเฟ้อประมาณการไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบก่อนนัก โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะหดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น -0.6% ในปีงบประมาณ 2020F จากการประมาณการครั้งก่อนที่ -0.5% และจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 0.4% ในปีงบประมาณ 2021F แต่ยังคงห่างไกลเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างมาก สะท้อนได้ว่านโยบายการเงินจะยังคงผ่อนคลายเป็นระยะเวลานาน

ทางด้านการประชุมนโยบายการเงินในช่วงปลายเดือนของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร และยืนยันว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน 2021 ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ ประธาน ECB แถลงว่า GDP ยูโรโซนในไตรมาส 3 จะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่แนวโน้ม GDP ไตรมาส 4 มีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลง เนื่องจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณอ่อนแอลงมาตั้งแต่เดือนกันยายน และมีแนวโน้มย่ำแย่ลงมากในเดือนพฤศจิกายนจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นในยุโรป นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม และจะพิจารณาเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการขยายมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อลดทอนผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตลอดทั้งเส้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากการคลายความกังวลต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเสนอขายซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดเผยแผนการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2021 ในเบื้องต้นที่มีปริมาณน้อยกว่าที่ตลาดคาด ทางด้านปริมาณการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิเล็กน้อย คิดเป็นประมาณ 4.8 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.5 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.44 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย -ตุลาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -3.4% สู่ระดับ 1,194.95 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน เมษายน 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากตลาดยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงหลายประเด็นที่ยังคงอยู่ ประกอบด้วยการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และหลายประเทศในทวีปยุโรป เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ และยุโรปที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้หลายประเทศประกาศใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดอีกครั้ง เช่น ประเทศฝรั่งเศสประกาศเคอร์ฟิวคิดเป็นประชากรกว่า 70% จากประชากรทั้งหมด ประเทศอังกฤษประกาศยกระดับการเตือนภัยในกรุงลอนดอนและเมืองลิเวอร์พูลสู่ระดับสูงจากระดับปานกลาง ประเทศเยอรมนีกำลังพิจารณาการ Lockdown อีกครั้ง โดยจะสั่งปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ยกเว้นโรงเรียนและร้านค้าที่จำเป็น ซึ่งเป็นการ Lockdown ในระดับใกล้เคียงกับการระบาดครั้งแรก นอกจากนี้ ประเทศสเปนได้ออกมายอมรับการเข้าสู่การแพร่ระบาดรอบที่ 2 โดยสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลให้ยากต่อการควบคุมการระบาด ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน แม้ทำเนียบขาวได้ยื่นข้อเสนอครั้งใหม่ เพื่อเพิ่มวงเงินสู่ระดับ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังคงต่ำกว่าวงเงินที่พรรค Democrat ต้องการที่ 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงเจรจากันอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ขณะที่ FED ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการทางการคลัง หากต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับกรอบเวลาและวงเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 จะถูกอนุมัติหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ทั้งสองปัจจัยที่กล่าวข้างต้นส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กดดันตลาดสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก Demand ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,194.95 ปรับตัวลดลง 42.09 จุด หรือ -3.4% จากสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร 20.9% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 14.5% และเงินทุนและหลักทรัพย์ 5.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -10.8% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.5% และกลุ่มพาณิชย์ -8.2% นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,891.02 ล้านบาทและ 33,100.23 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 13,115.03 และ 21,876.22 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 55,057.30 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,202.21 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 299,550.21 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 240,290.70 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -5.6% สู่ระดับ 1,237.04 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯจะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรป ละตินอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อาจมีการล่าช้าออกไป เช่น บริษัทแอสตราเซเนกา ประกาศระงับการทดสอบวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทบีออนเทค เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่บริษัทพัฒนาร่วมกับไฟเซอร์อาจจะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากวัคซีนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย FED คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะใช้เวลานานในการฟื้นตัวได้เต็มที่ ซึ่ง FED จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐสภาสหรัฐฯ ยังไม่สามารถตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 4 ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ผลสำรวจการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 พบว่า นาย Joe Biden จากพรรค Democrat มีคะแนนนิยมนำประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านนโยบายหลายอย่างหากเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้ตลาดมีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงล่วงหน้า ส่วนปัจจัยภายในประเทศ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 ขึ้นสู่ -7.8% จาก -8.1% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการปิดเมืองที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้ปรับลด GDP ปี 2564 ลง โดยคาดเติบโตที่ +3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับมุมมองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประเมินกรณี Best Case โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2564 ประมาณ 20.5 ล้านคน ลดลง -48% เทียบปี 2562 นอกจากนี้ กนง.ยังคงย้ำว่าไทยจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาจุดเดิมก่อนเกิด COVID-19 ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นแรงกดดัน คือความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น หลังนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน โดยประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของมาตรการทางการคลังในช่วงถัดไป โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ การชุมนุมของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,237.04 ปรับตัวลดลง 73.62 จุด หรือประมาณ -5.6% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 24% กลุ่มยานยนต์ 3.5% และประกันภัยและประกันชีวิต 0.9% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -11.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -10.4% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -9.3% นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,326.54 ล้านบาทและ 33,737.22 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 12,874.46 และ 23,189.30 ล้านบาทตามลำดับ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2563

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (PEPP) ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร โดย ECB ยืนยันว่าจะเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP เต็มจำนวนและชี้ว่ามาตรการที่ผ่านมานั้นมีประสิทธิภาพ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงและไปในทางเดียวกัน ตลอดจนภาวะการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจ ECB ประเมินว่า GDP ในปีนี้จะหดตัว 8% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายนที่หดตัว 8.7% และจะกลับมาขยายตัว 5% ในปีหน้าตามประมาณการเดิม โดยประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวขึ้นมาก แต่เน้นย้ำว่าความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคงสูง ส่วนเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในปี 2021 ที่ 1.0% และปี 2022 ที่ 1.3% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าที่ 2% อยู่มาก

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0 – 0.25% ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2023 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่การจ้างงานระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวที่ 2% ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 2% ไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ FED ยังให้คำมั่นที่จะเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจ FED ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ และปรับประมาณการ GDP ปี 2020 เป็น -3.7% จากประมาณการเดิมเดือนมิถุนายนที่ -6.5% และคาดว่า GDP ปี 2021 จะขยายตัว 4% นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์อัตราการว่างงานปี 2020 มาที่ 7.6% จากเดิมที่ 9.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2% ในปี 2023 ทั้งนี้ FED ยังคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวที่ 2.5%

ทางด้านการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ให้คงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และย้ำว่าเงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ BOJ จะคงปริมาณซื้อสินทรัพย์ทุกชนิด โดยซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ไม่จำกัด ซื้อ ETFs 12 ล้านล้านเยน และซื้อ J-REITs ที่ 1.8 แสนล้านเยน ขณะที่คงปริมาณถือครองตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นและยาวไว้ที่ 2 และ 3 ล้านล้านเยนตามลำดับ และกำหนดเพดานปริมาณการถือครองตราสารหนี้เอกชนจนถึงสิ้นมีนาคม 2021 ไว้ที่อย่างละ 7.5 ล้านล้านเยน BOJ มองว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการส่งออกและการผลิตที่มีสัญญาณดีขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ขณะที่ความเชื่อมั่นและกำไรภาคธุรกิจยังย่ำแย่ และการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้ มองอัตราเงินเฟ้อจะติดลบในระยะนี้จากราคาน้ำมันที่กดดัน แต่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในระยะต่อไป และจะติดตามการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา

ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (MPC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด และเห็นควรให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น MPC มองว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวอยู่ที่ -7.8% ดีขึ้นจากประมาณการในครั้งก่อนที่ -8.1% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองที่ผ่านมา ทำให้การใช้จ่ายในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับมองว่าภาครัฐจะเร่งการลงทุนขึ้นมาก มาขยายตัวที่ 8.8% (จาก 5.8%) จึงช่วยชดเชยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มหดตัวสูงขึ้นได้ ธปท. มองว่า รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคือปัจจัยฉุดเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า ประเมินว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากนักในช่วงที่เหลือของปี ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2020 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน (จาก 8.0 ล้านคน) และปี 2021 อยู่ที่ 9.0 ล้านคน (จาก 16.2 ล้านคน) มาตรการภาครัฐคือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่ตรงจุดและทันกาล เพื่อเน้นทั้งสนับสนุนการจ้างงานและสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุปทานให้ทักษะแรงงานและรูปแบบธุรกิจสอดรับกับวิถีใหม่หลัง COVID-19 โดยสรุป ธปท. ประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่า GDP ในปี 2021 จะขยายตัวเพียง 3.6% (จาก 5.0%)

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงกลาง (ไม่เกิน 3 ปี) ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไปปรับลดลง 0.04%-0.11% จากการคลายกังวลถึงปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะเสนอขาย ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้เปิดเผยแผนการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาลไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2021 ในเบื้องต้นในปริมาณที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ทางด้านการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการซื้อสุทธิรวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.5 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.48 แสนล้านบาท หรือลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2563

SET Index ปรับตัวลดลง -1.3% สู่ระดับ 1,310.66 จุด โดยมีปัจจัยหลักที่กดดันตลาด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงลุกลามจนเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 หรือ Second Wave ในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง และทรงตัวที่ระดับ 3-4 หมื่นราย/วัน แต่ในยุโรปและหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันได้มีการทดลองและพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศรัสเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ว่าวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่คิดค้นในประเทศรัสเซียได้ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับด้านสาธารณสุขภายในประเทศแล้ว และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในเดือนกันยายน 2563

นอกจากประเด็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังมีประเด็นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ทั้งสองประเทศตอบโต้กันผ่านมาตรการทางกฎหมาย การคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และบริษัทต่าง ๆ และการใช้วิธีการข่มขู่ทางทหาร ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เลื่อนการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 กับจีนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ให้เวลาจีนในการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม แม้จะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น แต่ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ประธานาธิบดี Trump จะกดดันจีนเพิ่มเติม เพื่อเรียกคะแนนความนิยมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ดังนั้น การเลื่อนกำหนดการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟส 1 เป็นเพียงการยื้อเวลาในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยภายในประเทศ เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายมากขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภา และตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2563 ที่ยังคงหดตัวลง 12.2% ต่อเนื่องจากการหดตัว 2% ในไตรมาส 1/2563 โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ (-28.3%) การลงทุนภาคเอกชน (-15%) และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน (-6.6%) ขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของภาครัฐ (+1.4%) และการลงทุนของภาครัฐ (+12.5%) ขยายตัว โดยการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 2/2563 ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับลดกรอบคาดการณ์ GDP 2020 ลงสู่ -7.6% ถึง -7.3% จากเดิม -6% ถึง -5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ไว้ที่ -8.1% โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะทบทวนประมาณการ GDP อีกครั้งในเดือนกันยายน โดยการปรับประมาณการครั้งใหม่อาจถูกกดดันจาก 3 ปัจจัยคือ 1) การเปิดการเดินทางระหว่างประเทศที่ล่าช้า 2) ความเสี่ยงการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น 3) อัตราการว่างงานที่สูง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีต รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้มีโอกาสจะเห็นการผลิตวัคซีนได้ในหลายประเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้น แต่ในระยะกลาง ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับตัวลดลง 17.87 จุด หรือประมาณ -1.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 8.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 5.0% และสื่อและสิ่งพิมพ์ 4.6% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค -5.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.2% และกลุ่มการแพทย์ -2.6% นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,574 ล้านบาทและ 17,122 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้นไทยสุทธิ 27,661 และ 1,035 ล้านบาทตามลำดับ