Source: กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 พฤษภาคม 2563
กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังน่ากังวล
ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2563
SET Index ปรับตัวขึ้น 15.6% สู่ระดับ 1,301.66 จุด เป็นการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอบรับความคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในหลายๆ ประเทศเริ่มจะควบคุมได้ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก
หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มมาตรการ Lockdown ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นรายวันเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากเทียบระหว่างช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนเมษายน พบว่า สหรัฐอเมริกาฯ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นลดลงจาก 13% เป็น 4% อิตาลีลดลงจาก 5% เป็น 1% สเปนและเยอรมนี จาก 8% เป็น 1% รวมถึงประเทศไทยเองที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเหลือเพียงหลักหน่วยต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าชาติต่าง ๆ เริ่มรู้วิธีการรับมือกับเชื้อโรค และควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี หลายๆ ประเทศเริ่มเตรียมการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยทยอยให้ธุรกิจบางประเภทเริ่มกลับมาเปิดได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน ปริมาณเงินมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั้งสู่ประชาชนโดยตรงและผ่านการซื้อตราสารในตลาดทุน FED มีการประกาศอัดฉีด QE เข้าซื้อตราสารหนี้แบบไม่จำกัดวงเงินและไม่จำกัดเรตติ้ง เมื่อรวมกับมาตรการการคลังที่แจกเงินเข้าสู่มือประชาชนที่ตกงานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าอีก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การอัดฉีดชุดนี้ถือว่าออกมาได้รวดเร็วและเป็นการปล่อยกระสุนลูกใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ทางฝั่งเอเชียก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน สิงคโปร์อัดฉีดเงิน 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11% ของ GDP ญี่ปุ่นวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP เป็นต้น
ทางด้านประเทศไทยนั้น BOT มีการประกาศให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังประกาศเข้าซื้อตราสารทางการเงินของบริษัทเอกชนโดยตรง ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่มีวงเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่จะครบกำหนดได้ เป็นวงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการป้องกันบริษัทล้มละลายจากการขาดสภาพคล่องอย่างกระทันหันในภาวะวิกฤตินี้ ส่วนในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลได้มีการแจกเงินเยียวยารายละ 5,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดกิจการบางประเภท และเริ่มทยอยออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างประเภทอื่น ๆ รวมถึงภาคเกษตร ในวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลกนี้ จึงส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวในลักษณะ V-shape
ส่วนสถานการณ์น้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนรุนแรง แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ยังคงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ของน้ำมันที่หายไป จากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับคลังน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเมือง Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI จะเต็มความจุในไม่ช้า เนื่องจากน้ำมันในคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาวะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI สำหรับสัญญาเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลงแรงและปิดที่ระดับ -37.63 เหรียญต่อบาร์เรลในวันก่อนวันซื้อขายวันสุดท้าย จากการเร่งปิด Position ของผู้ถือสัญญา เนื่องจากไม่สามารถรับมอบน้ำมันได้
สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนเมษายน 2563 SET Index ปิดที่ 1,301.66 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,125.86จุด หรือประมาณ +15.6% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ +35.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ +26.7% และกลุ่มปิโตรเคมี +26.4% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ +2.5% กลุ่ม ICT +2.6% และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ +7.6% ในเดือนเมษายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 46,976 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 23,675 ล้านบาท
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – เมษายน 2563
ในช่วงต้นเดือนธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้ประกาศมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หลังจากยอดขอรับสวัสดิการการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.6 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสูงถึง 16.8 ล้านคนในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวเป็นไปในแนวทางเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อแก่สถาบันการเงิน โดยอนุญาตให้นำสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลประเทศกรีซ สินเชื่อ SME และเงินกู้สกุลต่างประเทศมาค้ำประกันได้ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนภาวะการเงินตึงตัวทั้งในตลาดการเงินและภาคธุรกิจที่รุนแรง ต่อมาในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.00-0.25% และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินทุกอย่างที่มีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกหดตัวรุนแรง และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปจนกว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนจะกลับมาในทิศทางที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่เป้าหมายที่การจ้างงานเต็มที่และราคาสินค้าอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีใกล้ 0% พร้อมทั้งขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมให้เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่จำกัด ขยายการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะยาวและระยะสั้น และพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น โดย BOJ ปรับประมาณการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงมาอยู่ที่ -5.0% ถึง -3.0% และคาดเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.7% ถึง -0.3%
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตช่วงปี 1930 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3% ในปี 2020 จากประมาณการเดิมในเดือนมกราคมที่มองว่าจะขยายตัว 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีถัดไปโดยขยายตัว 5.8% ในปี 2021 (ในกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหากการปิดเมืองยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาสที่ 2 และการระบาดของไวรัสโคโรนายังมีอยู่บ้างในปี 2021) สำหรับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มหดตัว 6.1% โดยคาดเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 5.9% จากคาดการณ์รอบก่อนที่ +2% โดยประเมินว่าอัตราการว่างงานสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2019 มาที่ 10.4% ในปี 2020 และยังอยู่ในระดับสูงที่ 9.1% ในปี 2021 ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะหดตัว 7.5% โดยเศรษฐกิจจะอ่อนแอมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ขณะที่อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นจาก 7.6% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 10.4% ในปีนี้และ 8.9% ในปีหน้า ด้านเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชียคาดว่าจะขยายตัว 1% โดยประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ 1.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัว 6.7% ในปีนี้ และจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 6.1% ในปีหน้า
ทางด้านมาตรการด้านการเงินและการคลังของไทยในเดือนนี้ ได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน โดยแบ่งเป็น พ.ร.ก. ด้านการคลัง 1 ฉบับ และ พ.ร.ก. ด้านการเงิน 2 ฉบับ กล่าวคือ (1) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปีงบประมาณ 2021 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และ (2) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มูลค่า 5 แสนล้านบาท และจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ (BSF) มูลค่า 4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยหนี้ส่วนหนึ่งหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ที่ภาครัฐประกาศออกมา และการคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมครั้งหน้า ทำให้ไม่มีกระแสนักลงทุนสถาบันขายพันธบัตรรัฐบาลออกมามากเท่าเดือนก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย จึงทำให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรองปรับขึ้น ด้วยปริมาณการซื้อขายเบาบาง และทำให้ Credit Spread ของหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรกหลายตัวที่เสนอขายในช่วงนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามของปี แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 919 ล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนเมษายนลดลง 1.9 หมื่นล้านบาท รวม 4 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 1.15 แสนล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ
ตลาดหุ้น น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มีนาคม 2563
ในเดือนนี้เกิดภาวะการเงินตึงตัวทั่วโลกเนื่องจากตลาดกังวลการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากการระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้น ตราสารหนี้เอกชน และสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ มาถือเงินดอลลาร์จนเกิดสภาวะการขาดแคลนสภาพคล่องดอลลาร์ในตลาดการเงินโลกอย่างรุนแรง กระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงเอเชียและไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากภาวะสภาพคล่องดอลลาร์ขาดแคลนและความกังวลความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำาระหนี้ ธนาคารกลางของประเทศหลักรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยต่างผ่อนคลายนโยบายการเงินและเข้ามาแทรกแซงตลาดดังนี้
วันที่ 3 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติในการประชุมฉุกเฉินให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่กรอบ 1.00-1.25% ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม ได้มีการประชุมฉุกเฉินอีกครั้ง และเป็นการนัดประชุมทดแทนกำหนดการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม โดย Fed ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 100 bps มาอยู่ที่ระดับ 0-0.25% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตปี 2008 พร้อมออกมาตรการผ่อนคลายการเงินอย่างเต็มอัตรา สาเหตุสำคัญคือเพื่อลดผลกระทบของโรค Covid-19 ต่อเศรษฐกิจ สนับสนุนสินเชื่อภาคครัวเรือนและธุรกิจ และลดภาวะตลาดการเงินตึงตัวและขาดแคลนเงินดอลลาร์ มาตรการผ่อนคลายการเงินดังกล่าวได้แก่
(1) การลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ อัตราการดำรงเงินสดสำรองต่อเงินฝาก
(2) ออกมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QE) ไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน
(3) สนับสนุนธุรกรรม Dollar roll และ Coupon swap หากจำเป็นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในธุรกรรม MBS
(4) ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางหลัก 5 แห่งในการรักษาสภาพคล่องของเงินดอลลาร์
ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม Fed ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมแบบเต็มอัตรา โดยเฉพาะการขยายวงเงินการซื้อสินทรัพย์เป็นไม่จำกัดและไม่กำหนดวันสิ้นสุด เพิ่มวงเงินปล่อยกู้ใหม่แก่ภาคธุรกิจและประชาชนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งกองทุน 2 แห่งเพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจรายใหญ่ คือ Primary Market Corporate Credit Facility (PMCCF) และ Secondary Market Corporate Credit Facility (SMCCF) และตั้งกองทุนอีกแห่งเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและผู้บริโภค คือ Term Asset-Backed Securities Loan Facility (TALF) และยังขยายประเภทสินทรัพย์ใช้ค้ำประกันในมาตรการให้สภาพคล่องด้วยกองทุนทั้ง MMFF และ CPFF ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ มาตรการดังกล่าวออกมาในช่วงที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านต้องการช่วยเหลือแรงงานและครัวเรือนมากขึ้น โดยเสนอเพิ่มวงเงินเป็น 2.5 ล้านล้านดอลลาร์
ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps มาอยู่ที่ 0.25% ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุม เพื่อลดแรงกดดันของตลาดจากผลของการระบาดของเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักรต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ BOE ได้ประกาศมาตรการปล่อยกู้ (Term Funding Scheme) ที่มีแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำใกล้ดอกเบี้ยนโยบายระยะ 4 ปี และประกาศลดสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์สวนทางกับวัฏจักร (Counter Cyclical buffer) ลงมาอยู่ที่ 0% ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ -0.5% ผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 10 bps แต่ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดแรงกดดันในตลาดการเงิน ประกอบด้วย การซื้อสินทรัพย์ (QE) เม็ดเงิน 1.2 แสนล้านยูโรภายในปี 2020 และปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ (LTROs) รอบใหม่ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกลง ทั้งนี้ประธาน ECB สนับสนุนให้ภาครัฐร่วมมือกันออกมาตรการเยียวยาและป้องกันผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 16 มีนาคม ทั้งนี้ BOJ ตอบรับมติของธนาคารกลางหลักทั้ง 6 แห่งในการเพิ่มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกด้วยธุรกรรม Swap line
ในวันที่ 20 มีนาคม คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยได้มีการประชุมนัดพิเศษ และมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 0.75% ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม มีแถลงการณ์จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และก.ล.ต. ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ 3 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องดังนี้
(1) มาตรการสำหรับกองทุนรวม โดยการเพิ่มสภาพคล่องกองทุนรวมผ่านธนาคาร ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี และนำมาเป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่อง (Repurchase agreement) จาก ธปท.
(2) มาตรการสำหรับหุ้นกู้ โดยการตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่อง (BSF) ร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) วงเงิน 70,000 –100,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย BSF จะเข้าซื้อหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ Investment Grade โดยจะเป็นเงินลงทุนอายุไม่เกิน 270 วันและเข้าซื้อไม่เกิน 50% ของมูลค่าที่จะ Rollover
(3) มาตรการตราสารหนี้ภาครัฐ เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานอย่างราบรื่น นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนลดวงเงินการประมูลพันธบัตร ธปท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรอีกทางหนึ่ง
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้มีความผันผวนมาก จากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจและกระแสเงินทุนไหลออกจนนำมาสู่ภาวะขาดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ในช่วงต้นเดือนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดของปี ตามความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากนั้นกลับปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงจากสาเหตุการขาดสภาพคล่องของการซื้อขายตราสารหนี้ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาแทรกแซงโดยการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลหลายช่วงอายุผ่าน Primary Dealers ตลอดทั้งเดือนรวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นเกือบ 1.5 แสนล้านบาท โดยสรุป ณ สิ้นเดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับลดลง 16-23 bps ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 1-55 bps จากสาเหตุสภาพคล่องและกระแสเงินทุนไหลออก การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองของปี โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.8 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว ยอดการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมีนาคมจึงลดลงจากปีที่แล้วสูงถึง 8.9 หมื่นล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ
ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2563
ตลาดหุ้นยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง SET Index ปรับตัวลดลง 16% มาสู่ระดับ 1,125.86 จุด โดยปัจจัยที่ยังกดดันยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเร่งตัวถึงกว่า 7 แสนราย และมียอดผู้เสียชีวิตรวมกว่า 3 หมื่นราย โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดได้ย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด
ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีการชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาธุรกิจรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง สหรัฐอเมริกามีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ และ FED ปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 50 bps ตามมาด้วยอีก 100 bps ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 0.0-0.25% พร้อมทั้งปล่อย QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ฝั่งยุโรปเอง ทาง ECB ประกาศเพิ่มวงเงิน QE เป็น 1.2 แสนล้านยูโรไปจนถึงสิ้นปีนี้ และประกาศซื้อหลักทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐวงเงินรวม 7.5 แสนล้านยูโร ส่วนอังกฤษ BOE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง ครั้งแรก 0.5% ตามมาด้วย 0.15% สู่ระดับ 0.10% และเพิ่มวงเงิน QE อีก 2 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 6.45 แสนล้านปอนด์ ทางฝั่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ทาง BOJ เพิ่มวงเงินเข้าซื้อ ETF เป็น 12 ล้านเยนต่อปี และซื้อ JREIT เป็น 1.8 แสนล้านเยน รวมถึงเริ่มโครงการปล่อยเงินกู้ให้เอกชน ในอัตราดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปี ส่วนในประเทศจีน PBOC มีการปรับลด RRR ลด 0.5-1.0% เทียบเท่าการปล่อยสภาพคล่องกว่า 5.5 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงิน
สำหรับในไทยนั้น รัฐออกมาตรการปิดสถานที่ชุมนุมของคนจำนวนมากในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด อาทิ โรงเรียน โรงภาพยนตร์ สนามมวย ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึง 30 เมษายน 2563 พร้อมกับออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ผ่านธนาคารออมสิน เป็นต้น ทั้ง กนง. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% สู่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ แต่ปรับลดการคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงสู่ระดับ -5.3%
ส่วนทางฝั่งน้ำมันดิบ กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ ทำให้ทางซาอุดิอาระเบียปรับลดราคา Premium น้ำมันดิบลง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ก่อให้เกิดสงครามราคาน้ำมันขึ้น ราคาน้ำมันดิบ Brent จึงปรับลดลงแรงมาสู่ระดับ 22.7 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นการปรับลดลง 52.9% ภายใน 1 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลงต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ และทางฝั่งผู้ผลิตน้ำมันยังไม่สามารถเจรจากันได้
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,125.86 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,340.52จุด หรือประมาณ -16.0% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่ม ICT -2.2% กลุ่มพาณิชย์ -8.0% และกลุ่มประกัน -9.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -30.8% กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ -29.6% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ -23.7% ในเดือนมีนาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 78,404 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 42,335 ล้านบาท
กำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 หลัง COVID-19
ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (กุมภาพันธ์ 2563)
ในเดือนนี้ไม่มีการประชุมนโยบายการเงินจากธนาคารกลางของประเทศหลัก มีเพียงรายงานการประชุมในเดือนมกราคมของ FOMC เปิดเผยว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีความเหมาะสมที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในระดับปานกลางและหนุนเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง
ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2563
ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อภาวะการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อการระบาดเริ่มมีการกระจายไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากจีน ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลง 9.1% และ MSCI Euro ปรับตัวลง 8.7% เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเอง SET Index ปรับตัวลง 10.3% ซึ่งนอกเหนือจากการระบาดของ COVID-19 ในภูมิภาคอื่นแล้ว นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับการการเกิด Super Spreaders ในไทย เหมือนในเกาหลีใต้ เมื่อมีกรณีที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่ยอมแจ้งแก่สถานพยาบาลว่าไปเที่ยวประเทศที่มีความเสี่ยงกลับมาแล้วมีอาการไข้ ทำให้ SET Index ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลง 174 จุด หรือปรับตัวลงถึง 11.5%
สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 SET Index ปิดที่ 1,340.52 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,514.14จุด หรือประมาณ -11.5% จากสิ้นเดือนมกราคม 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -3.3% กลุ่ม ICT -4.5% และกลุ่มยานยนต์ -6.2% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -18.3% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -15.0% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง -13.7% ในเดือนมกราคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 19,649 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,921 ล้านบาท
หากเทียบเคียงเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่ตลาดหุ้นตกลงรุนแรงในเวลา 1 เดือนในอดีตที่ผ่านมานั้น พบว่ามาจากการเกิดความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจใน 2 ลักษณะคือ 1) ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ที่มีปัญหาเชื่อมต่อไปถึงการปิดสถาบันการเงิน เป็นเหตุการณ์ประเภท Demand Disruption หรือความต้องการหดหายยาวนานอันเนื่องมาจากการล่มสลายของภาวะเศรษฐกิจ และ 2) เหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกระทันหันช่วงเวลาหนึ่ง (Event Risk) เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือการเกิดโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประเภท Supply Disruption หรือไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ หรือ Demand Disruption จะเกิดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการชะลอการใช้จ่าย ความแตกต่างของเหตุการณ์ใน 2 ลักษณะคือ ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงรุนแรงและยาวนาน ใช้เวลาฟื้นตัวช้าและต้องรอตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เนื่องจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจกินเวลานาน ในขณะที่การเกิดเหตุการณ์ในลักษณะหลัง ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงอย่างรุนแรงในช่วง 1-2 เดือนแรก และเมื่อเหตุการณ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ตลาดหุ้นก็จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว
ตารางตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่หุ้นตกแรง
การระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดหุ้นมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์แล้ว และในปัจจุบันปัญหาการระบาดในจีนเหมือนจะผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมการเดินทางประมาณ 3 สัปดาห์ (โดยทั่วไป COVID-19 ใช้เวลา 1-14 วันในการแสดงอาการ) ในญี่ปุ่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เริ่มทรงตัวหลังจากการเริ่มระบาดอย่างรุนแรงและรัฐบาลได้พยายามเข้าควบคุมปัญหาประมาณ 3 สัปดาห์เช่นกัน ในขณะที่การระบาดที่รุนแรงในอิตาลี เกาหลีใต้ และอิหร่าน เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นและรัฐบาลเริ่มพยายามเข้าควบคุมปัญหาอย่างเต็มที่ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น เรายังพอคาดหวังได้ว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะผ่านจุดสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และเริ่มคลี่คลายมากขึ้นเมื่อเข้าช่วงหน้าร้อนของประเทศในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตร ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็กำลังเร่งการวิจัยและทดลองยาต้าน/ยารักษาไวรัส COVID-19 ในขณะที่ Case การรักษาหายก็มีมากขึ้น ทำให้น่าจะเริ่มเห็นวิธีรักษา/ยารักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า
ปัญหาความตกต่ำของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโรคระบาด จะมีความต่างจากเหตุการณ์ Supply Disruption ประเภทน้ำท่วม แผ่นดินไหว เพราะการเกิดโรคระบาดไม่มีการทำลายโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างการผลิต แต่เป็นการชะงักงันจากการหยุดการผลิตชั่วคราว ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า หากมีการช่วยเหลือทางการเงินให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเริ่มการผลิตได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกยังมีความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือผ่อนคลายสภาพคล่องทางการเงิน
สำหรับประเทศไทยเอง ในช่วงที่ผ่านมา เราประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าและปัญหาสงครามการค้า ที่ทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2563 และยังมาเจอปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระทบภาคการท่องเที่ยวอย่างแรง ทำให้เราคาดว่าประเทศไทยอาจจะเกิด Technical Recession หรืออัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสได้ในครึ่งแรกของปี 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เราคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2563 มาก เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมามีการแนวโน้มคลี่คลายลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหลังการเกิดโรคระบาด ความต้องการสินค้าและบริการของโลกจะเพิ่มขึ้นมาก เพื่อชดเชยที่ขาดหายไปในช่วงการเกิดโรคระบาด เมื่อผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้การส่งออกของประเทศดีขึ้น ปัญหาภัยแล้งจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าฤดูฝน และราคาสินค้าเกษตรไม่น่าจะตกต่ำเนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นหลังโรคระบาด รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่หลังการอนุมัติงบประมาณปี 2563 อัตราดอกเบี้ยต่ำลงและสภาพคล่องมากขึ้นจากการออกมาตรการยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาหลังจากปัญหาโรคระบาดคลี่คลายลง
ในช่วงที่ SET Index ปรับตัวลงมาถึงระดับปัจจุบัน บลจ.ทาลิสมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าการถอดใจหนีออกจากตลาดหุ้น และเราสามาถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระดับราคาที่ถูกลงมากได้ ดังนั้น เราจึงใช้จังหวะนี้ในการปรับ Portfolio การลงทุน โดยย้ายการลงทุน (Switching) จากหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ไปยังหุ้นที่ยังมีการเติบโตที่ดีและมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลังจากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง