ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มกราคม 2566

BOJ คงการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสวนทางการคาดการณ์ของตลาด ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1%, คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5%, คงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยนและหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณ 2023 ลงเล็กน้อยเป็น 1.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมที่ 1.9% พร้อมคงคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.6% เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 และข้อจำกัดด้านอุปทาน อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2023 ชะลอลงด้วย จากคาดการณ์เงินเฟ้อ 3.0% ในปีงบประมาณ 2022

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.50% ตามคาด โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน หากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ ธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่ 25.5 ล้านคน ในปี 2023 และ 34.0 ล้านคน ในปี 2024 จากประมาณการเดิมในเดือนพฤศจิกายนที่ 22.0 ล้านคน และ 31.5 ล้านคน ตามลำดับ โดย ธปท. ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหลักสนุนเศรษฐกิจไทยและการบริโภคภายในประเทศ แม้จะทำให้เงินเฟ้ออาจจะยังคงทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ แต่โดยรวม ธปท. คาดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในปีนี้ ด้านการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2566

SET Index เดือน มกราคม ปิดระดับ 1,671.46 จุด ทรงตัวในกรอบแคบ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.17% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยช่วงสัปดาห์แรกเป็นการแกว่งขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วตอบรับความคาดหวังเชิงบวกจากการที่ประเทศจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดค่อย ๆ ปรับตัวลง จากแรงกดดันของการทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นปัจจัยกดดันทำให้ SET Index ยังไม่สามารถปรับตัวเหนือ 1,700 จุดได้ในเดือนมกราคมนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกเริ่มที่ทางการประเทศจีนได้ตัดสินใจเปิดประเทศเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม โดยสาเหตุหลักมาจากภาคเศรษฐกิจได้รับแรงกดดันอย่างมากจากนโยบาย Zero Covid19 ประกอบกับเริ่มมีการชุมนุมประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจกับนโยบายข้างต้น รวมไปถึงการที่โควิดสายพันธุ์โอไมครอนก็ไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้าด้วย โดยนักลงทุนต่างคาดหวังว่าการเปิดประเทศของจีนจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม โดยนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว ภาพรวมการบริโภคภายในประเทศก็จะได้รับประโยชน์ทางอ้อม จากการจ้างงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ธันวาคม 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามคาด เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25%-4.50% สูงสุดในรอบ 15 ปี และยังคงประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทั้งนี้ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดย FED คาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้าปรับขึ้นจาก 2.8% ไปอยู่ที่ 3.1% ปัจจุบันมองว่านโยบายดอกเบี้ยยังไม่ตึงตัวพอ และจะทำต่อจนกว่าจะสำเร็จ โดยค่ากลาง dot plot ของสมาชิกเฟด ปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยปีหน้าเพิ่มขึ้นจาก 4.6% ในการประชุมเดือนกันยายนไปอยู่ที่ 5.1% โดยมีสมาชิก FED 7 คนจาก 19 คน ที่มีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยควรขึ้นสูงกว่า 5.25% นอกจากนี้ ค่ากลาง dot plot ของอัตราดอกเบี้ยปี 2024 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% จาก 3.9% ทางด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว โดยถึงแม้ GDP จะขยายตัวในไตรมาสที่สาม แต่ระดับ GDP แทบไม่ต่างจากช่วงต้นปี เครื่องชี้เศรษฐกิจปัจจุบันแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิต กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่สูงและการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ FED ได้ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2022 ขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.5% จาก 0.2% และปรับคาดการณ์ GDP ปี 2023 ลงไปอยู่ที่ 0.5% จาก 1.2% รวมถึงปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปีหน้าขึ้นจาก 4.4% ไปอยู่ที่ 4.6%

BOJ คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่ปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตร ด้วยมติเอกฉันท์ให้ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% คงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (Yield curve control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ 0% และปรับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ที่ -0.5% ถึง 0.5% จากเดิมที่ -0.25% ถึง 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate bond) 3 ล้านล้านเยน BOJ แสดงท่าทีเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงิน โดยการปรับกรอบการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กว้างขึ้น แม้จะยังระบุอัดฉีดเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเสถียรภาพในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในระยะข้างหน้าประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน

ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps ตามตลาดคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม ส่งผลให้ Deposit Facility Rate ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมายในระยะปานกลางที่ 2% ได้ นอกจากนี้จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุล ผ่านการลดการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ APP (Asset Purchase Program) ในเดือน มี.ค. 2023 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มต้นปรับลดการถือครองสินทรัพย์เฉลี่ยต่อเดือนราว EUR15bn ในช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. ขณะที่การลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์หลังจากเดือน มิ.ย. นั้นจะมีการพิจารณาเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ดี สำหรับการถือครองสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ PEPP (Pandemic Purchase Program) จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนกระทั่งผ่านพ้นปี 2024 ไปเป็นอย่างน้อย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ECB ได้มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อขึ้น โดยคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 8.4% ในปี 2022, 6.3% ในปี 2023, 3.4% ในปี 2024 นอกจากนี้ ECB ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0.5% ในปี 2023 จากปี 2022 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุ ประมาณ 4-40bps สวนทางกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนส่วนใหญ่ยังคงปรับขึ้นตามการทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีในเดือนนี้ ส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเดือนธันวาคม เป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว นักลงทุนต่างชาติถือครองเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยสรุปยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ธันวาคม 2565

SET Index เดือนธันวาคมปิดที่ระดับ 1,668.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.04% จากเดือนก่อน โดยเป็นการปรับลดลงในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือน จากสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย อาทิเช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือนพฤศจิกายน (PMI) ของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในปี 2563 นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นส่งสัญญาณการใช้นโนบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยการประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากทั้งเรื่องที่ทางการจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาด และความชัดเจนจากมาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในไตรมาสแรกของปีถัดไป
สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกนั้นเริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการประชุมของ FED ในช่วงต้นเดือน โดยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps เข้าสู่ระดับ 3.75% – 4.00% และให้ภาพกับนักลงทุนว่า FED จะยังมีความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มให้สัญญาณว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสชะลอปรับการเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Terminal Rate ของ FED จะอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มอ่อนตัวลง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ 3.7% และรายงานเงินเฟ้อ CPI และ PPI ประจำเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่าตลาดคาด ยิ่งสนับสนุนมุมมองของนักลงทุนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝั่งเอเชียเอง ประเทศจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งความรุนแรงของอาการ Covid สายพันธุ์โอไมครอนก็น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทำให้ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมการระบาด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤศจิกายน 2565

FED มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.75%-4.00% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 FEDประเมินการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมาะสมสำหรับการทำให้นโยบายการเงินตึงตัวพอที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้า 2% ทางด้านเงินเฟ้อประเมินว่ายังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก FED ให้ความสำคัญอย่างมากกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับผลของนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่ผ่านมาต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน ทางด้านเศรษฐกิจ FED ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอลงมากจากปีที่แล้ว เครื่องชี้เศรษฐกิจแสดงถึงการขยายตัวได้บ้างของการใช้จ่ายและการผลิตในไตรมาสนี้ กิจกรรมของตลาดบ้านปรับลดลงมาก จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อบ้านที่ปรับขึ้นสูงมาก นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่สูง และการชะลอของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคการลงทุน อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงตึงตัว การจ้างงานยังคงดี และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ ประธาน FED กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยอาจขึ้นไปสูงกว่าที่คาดไว้เดิม แต่อัตราการขึ้นอาจเริ่มชะลอลง และอาจเริ่มชะลอลงได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในตอนนี้ และยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอยู่ นอกจากนี้ ยังเร็วเกินไปมากที่จะตัดสินใจเรื่องการหยุดการขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติ 7-2 ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75bps สู่ระดับ 3.00% สูงสุดในรอบ 14 ปี ตามการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งนับเป็นปรับขึ้นในอัตราที่มากที่สุดในรอบ 33 ปี โดยมีกรรมการ 2 ท่านที่มองว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยกว่านั้น ทั้งนี้คณะกรรมการส่วนใหญ่ตัดสินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจมีความจำเป็นเพื่อกดให้เงินเฟ้อกลับเข้าเป้า 2% ได้อย่างยั่งยืน แต่อัตราอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) จะต่ำกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณที่ค่อนข้าง Dovish โดย BOE ประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ (5.25%) จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง โดยจะส่งผลให้ GDP หายไป 3% และกดให้เงินเฟ้อชะลอลงแตะระดับ 0.0% ในปี 2025 ขณะที่หากอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ที่ระดับ 3.00% ในปัจจุบัน จะทำให้ภาวะ Recession ไม่รุนแรงและยาวนานนัก และเงินเฟ้อจะชะลอเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ได้ภายใน 2 ปี ด้านเงินเฟ้อ BOE คาดว่าจะทำจุดสูงสุดที่ราว 11% ในไตรมาส 4/2022 (จากปัจจุบันที่ 10.1% ในเดือนก.ย.) ต่ำกว่าที่เคยประเมินในเดือนส.ค. ที่ 11-13% จากผลของมาตรการ Energy Price Guarantee (EPG) ของรัฐบาล ที่ได้จำกัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนที่ GBP2,500 เป็นเวลา 6 เดือน (จนถึงเดือนมี.ค. 2023) และคาด GDP ปีนี้จะขยายตัว 4.25% เพิ่มขึ้นจากประมาณครั้งก่อนในเดือนส.ค. ที่ 3.5% อย่างไรก็ดี BOE ยังคงมอง GDP จะหดตัวต่อเนื่องหลังจากนั้น โดยคาดปี 2023 จะหดตัวที่ 1.5% และปี 2024 หดตัวที่ 1.0% (เดิมคาด -0.75%) ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 0.5% ในปี 2025

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤศจิกายน 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนพฤศจิกายน: ดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้ ปิดที่ระดับ 1,635.36 จุด เพิ่มขึ้น 1.65% จากเดือนก่อน แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการปรับลงของราคาพลังงานจนทำให้ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มพลังงานปรับลดลง อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มชะลอตัวการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมกับการที่รัฐบาลจีนเริ่มส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid และประเทศไทยมีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยสามารถกลับมาปิดในแดนบวกได้ในเดือนที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกนั้นเริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการประชุมของ FED ในช่วงต้นเดือน โดยมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 bps เข้าสู่ระดับ 3.75% – 4.00% และให้ภาพกับนักลงทุนว่า FED จะยังมีความจำเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มให้สัญญาณว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีโอกาสชะลอปรับการเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ผิดไปจากที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Terminal Rate ของ FED จะอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มอ่อนตัวลง โดยอัตราว่างงานที่เพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ 3.7% และรายงานเงินเฟ้อ CPI และ PPI ประจำเดือนตุลาคมก็ต่ำกว่าตลาดคาด ยิ่งสนับสนุนมุมมองของนักลงทุนว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝั่งเอเชียเอง ประเทศจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจีนอย่างมาก อีกทั้งความรุนแรงของอาการ Covid สายพันธุ์โอไมครอนก็น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า ทำให้ทางการจีนเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมการระบาด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – ตุลาคม 2565

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 20-21 กันยายน ที่ผ่านมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ย 75bps เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว และเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ คณะกรรมการมองการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังคงเหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อกลับสู่กรอบที่ 2% โดยย้ำถึงความจำเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่จุดตึงตัวเพื่อเสถียรภาพของราคาและสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นควบคุมเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน ซึ่งกรรมการบางท่านมองว่าการทำมากเกินไปเพื่อสู้เงินเฟ้อยังดีกว่าการทำน้อยเกินไป โดยอัตราการขึ้นในครั้งถัดไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กระทบต่อการคาดการณ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการมองเมื่อขึ้นไปถึงจุดตึงตัวที่เหมาะสมแล้วอาจคงอัตราดอกเบี้ยระยะนึงเพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อปรับลดลงสู่เป้าหมายที่ 2%

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps เป็นครั้งที่สอง และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่สาม โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) จาก 0.75% ไปอยู่ที่ 1.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) จาก 1.50% ไปอยู่ที่ 2.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations จาก 1.25% ไปอยู่ที่ 2.00% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยอัตราการขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% พร้อมกันนี้ ECB ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยภายใต้โครงการ TLTRO III ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายนเป็นต้นไป และมีการให้ค่าตอบแทนสำหรับเงินสำรองขั้นต่ำที่ระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ECB คาดภาพรวมเศรษฐกิจชะลอลงมากในไตรมาสที่สามและจะชะลอลงในระยะข้างหน้าทั้งในไตรมาสที่สี่และต้นปีหน้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจปรับลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง ตามปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทางด้านเงินเฟ้อ ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเกินรับได้และขยายในวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดแรงงานยังคงแข็งแรงและเป็นแรงสนับสนุนให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้น ทางด้านความเสี่ยง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจอยู่ในด้านลบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในระยะอันใกล้นี้ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในด้านสูง โดยความเสี่ยงหลักในระยะสั้นของเงินเฟ้อมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน

ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ด้วยมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) อายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์ และคงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไม่จำกัดที่ 0.25% รวมถึงคงการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยนและ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้เอกชนในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมทั้งซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น (Commercial Paper) 2 ล้านล้านเยน และหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond) 3 ล้านล้านเยน โดย BOJ พร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น ในระยะข้างหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปัจจุบัน ด้านสภาพเศรษฐกิจ BOJ ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP 2022 ขยายตัว 2.0% จากที่คาด 2.4% ในขณะที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อไปอยู่ที่ 2.9% จาก 2.3% ที่คาดไว้เดิม จากราคาพลังงาน ราคาอาหาร และสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจอยู่ในทางด้านลบและความเสี่ยงของเงินเฟ้ออยู่ในด้านสูง

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยส่วนใหญ่ปรับขึ้น 2-20bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นไปต่อเนื่อง 20-94bps นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า FED จริงจังกับการสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.00-1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 7 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 9.2 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ประมาณ 9.8 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคม SET Index ปิดที่ระดับ 1,608.76 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.21% จากเดือนก่อน โดยปรับลงในช่วงครึ่งเดือนแรกตามทิศทางตลาดหุ้นโลก กดดันจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังปรับสูงกว่าที่ตลาดคาด และ FED จะยังคงนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นโลกสามารถฟื้นตัวขึ้นในครึ่งเดือนหลัง จากความคาดหวังว่า FED จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลงหลังการประชุมเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงการคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย และรัฐอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี นอกจกนี้ ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่ทยอยประกาศออกมาก็มีแนวโน้มเติบโตดี ทำให้ SET Index มีการปรับตัวขึ้นได้

สำหรับปัจจัยกดดันจากต่างประเทศนั้น หลังจากสหรัฐฯรายงานเงินเฟ้อประจำเดือนกันยายนออกมาที่ 8.3% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 8.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นอยู่ที่ 6.6% มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 6.5% เช่นกัน โดยมีปัจจัยผลักดันหลักจากราคาอาหารและค่าเช่าบ้าน ทำให้ตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไปอีก 75 bps ซึ่งจะเป็นการขึ้นที่ 75 bps ครั้งที่ 4 และตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะไปจบที่ 5% ในสิ้นปี 2565 จากสถานการณ์ข้างต้นสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย โดยทางรัสเซียได้เรียกระดมพลถึงสามแสนนาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโจมตีที่เน้นไปยังโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนมากขึ้น เพื่อตอบโต้ที่สะพานเชื่อมรัสเซีย-ไครเมียนั้นถูกทำลาย โดยความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อรวมกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ กลายเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อคลี่คลายได้ยาก

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2565

ตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน SET Index ปิดที่ระดับ 1,589.51 จุด ลดลง 3.02% จากเดือนก่อน แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ความกังวลเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่มากกว่าคาด กลายเป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลดลงในเดือนนี้

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศนั้น ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่ 8.3% แม้ว่าจะน้อยกว่าเดือนก่อนที่ 8.5% แต่ยังเป็นตัวเลขที่มากกว่าตลาดที่ 8.1% นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ปรับลดลงและคงระดับอยู่ที่ 6.3% โดยมีสาเหตุมาจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งประกอบกับค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวขึ้นตามราคาที่อยู่อาศัย จึงสร้างความกังวลว่า FED จะยังคงนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจ แม้จะต้องแลกมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดยการประชุมล่าสุด FED ยังคงประกาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps และจากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้นักลงทุนคาดว่ายังมีโอกาสที่ FED จะเพิ่มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps ได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยรายงาน Dot Plot ชี้ว่า FED คาดอัตราดอกเบี้ยปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 4.375% และ 4.625% ตามลำดับ ทิศทางดังกล่าวสร้างความกังวลต่อโอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นำไปสู่ความผันผวนต่อตลาดพันธบัตรและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐได้เข้าสู่ระดับ 3.57% สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ผลักดันให้เงินดอลล่าสหรัฐฯ แข็งค่าจนกดค่าเงินบาททะลุ 38 บาท

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ที่ 10 ล้านคนหรือประมาณ 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังคงอยู่ในทิศทางสนับสนุนการฟื้นตัว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 25 bps โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการพยุงค่าเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่าสาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเกิดจากการแข็งค่าผิดปกติของเงินดอลล่าสหรัฐฯ โดยจะสังเกตได้จากการอ่อนค่าของเงินเกือบทุกสกุล ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยตาม FED อาจจะไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาเงินบาทอ่อนลงมากนัก ในทางกลับกันเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจกลายเป็นการสร้างภาระให้แทน ส่วนในเรื่องความกังวลว่าค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการนำเข้าที่จะต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้เหตุผลว่าการส่งผ่านต้นทุนการนำเข้าสู่ผู้บริโภคนั้นอยู่ในระดับที่จำกัด นอกจากนี้ ประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าหลักมายังประเทศไทยก็มีค่าเงินที่อ่อนค่าใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้ผลกระทบในส่วนนี้ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยข้างต้น ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงที่ 3.02% น้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ

สรุปในเดือนกันยายน หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 17.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 6.4% และกลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 4.1% ในขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร -11.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -9.5% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -6.1% โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิที่ 5.7 หมื่นล้านบาทในเดือนก่อน นักลงทุนทั่วไปภายในประเทศซื้อสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 0.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศขายสุทธิ 0.5 หมื่นล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2565

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 75bps โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) จาก 0.00% ไปอยู่ที่ 0.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) จาก 0.75% ไปอยู่ที่ 1.50% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations จาก 0.50% ไปอยู่ที่ 1.25% พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ย 0% สำหรับเงินฝากภาครัฐ ประธาน ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป พร้อมไม่ปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในการประชุมครั้งถัดไป โดยจะพิจารณาจากข้อมูลเป็นหลัก (Data Dependent) และยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายใกล้เคียง 2% นอกจากนี้ได้คาดการณ์เศรษฐกิจชะลอลงและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง จากประเด็นการขาดแคลนก๊าซเป็นหลัก ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าชะลอลง เงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูง ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ยุโรปในปีนี้ขึ้นเป็น 3.1% จากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ปรับลดคาดการณ์ปี 2023 และ 2024 ลงเป็น 0.9% และ 1.9% ตามลำดับ จาก 2.1% ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากประเด็นการขาดแคลนก๊าซ ทำให้ ECB ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 8.0% 5.5% และ 2.3% สำหรับปี 2022 2023 และ 2024 ตามลำดับ

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 75bps ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% พร้อมดำเนินการลดงบดุลต่อเนื่องตามแผนเดิม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3.0%-3.25% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ในขณะที่ค่ากลางของ Dot Plot ล่าสุดระบุว่าสมาชิก FED ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการขึ้นดอกเบี้ยให้ถึง 4.4% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ที่ระบุไว้รอบเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ กรรมการยังมีมุมมองดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.6% ในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.75% ที่คาดไว้ตอนเดือนมิถุนายน FED ประเมินว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากภาวะความไม่สมดุลระหว่างภาคอุปสงค์และอุปทาน จากการระบาดของโควิด ราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และความกดดันจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก FED ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.4% จากเดิมที่ 5.2% และสำหรับปีหน้าเงินเฟ้อปรับขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% ไปอยู่ที่ 2.8% ทั้งนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 1.7% เป็น 0.2% และปีหน้าจาก 1.7% เป็น 1.2% จากเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต รวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง ด้านตลาดแรงงาน ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี FED ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการว่างงานจาก 3.7% ในปีนี้ ไปอยู่ที่ 3.8% และปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.4% ในปีหน้า จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 3.9%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.00% จาก 0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงหนุนการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและเริ่มเห็นการส่งผ่านทางต้นทุนที่มากขึ้น ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ที่ 3.3% และปรับลดคาดการณ์ปีหน้าเป็น 3.8% จาก 4.2% โดยยังประเมินว่าการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และมีการปรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านคน และ 21.0 ล้านคนตามลำดับ ในขณะที่ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ในประเทศปีหน้าลงเป็น 2.5% จาก 3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่ง ธปท. ประเมินว่าจะส่งผลให้การส่งออกในปีหน้าชะลอลงด้วย ด้านอัตราเงินเฟ้อ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้และปีหน้าเป็น 6.3% และ 2.6% จาก 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้และปีหน้าที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.0-3.0%

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเส้น ในช่วงอายุ 5-11 ปีปรับขึ้นมากที่สุด 60-74bps ในขณะที่พันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับขึ้นเล็กน้อย 13-27bps ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น 37-79bps จากการคาดการณ์ว่า FED จะจริงจังกับการสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.00-1.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ส่วนทิศทางการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.9 พันล้านบาทและขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 13.8 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท ยอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ