ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2562

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัว -2.2% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน และความกังวลเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว สวนทางกับตลาดต่างประเทศ

Set Index อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากเดือนกันยายน แม้ว่าปัจจัยจากต่างประเทศค่อนข้างเป็นบวกในเดือนนี้ แต่ตลาดกลับให้น้ำหนักปัจจัยของการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยมากกว่า โดยในช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงการเริ่มต้นประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 2% YoY และ 5% QoQ การเติบโตส่วนใหญ่มาจากกำไรพิเศษจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งหากพิจารณาเพียงกำไรปกติของกลุ่มธนาคาร จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก จากการเพิ่มการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สินเชื่อโดยรวมขยายตัวเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังหดตัว รายได้ค่าธรรมเนียมยังคงหดตัวจากการฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับลดลง ในขณะที่ฝั่งต้นทุนนั้น ยังไม่สามารถลดลงได้เร็วนัก ทำให้หุ้นในกลุ่มธนาคารฉุดให้ SET Index ปรับตัวลง

ถัดมา เป็นช่วงการประกาศผลการดำเนินงานในกลุ่มพลังงานและปิโตรเครมี โดยหลายบริษัทมีการประกาศกำไรสุทธิออกมาต่ำกว่าคาด เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาปิโตรเคมีภัณฑ์ตกต่ำ และการบันทึกขาดทุนจากสินค้าคงคลัง ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดลดลง และยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่อง หากบริษัทในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ทยอยประกาศผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมาย

ประเด็น BREXIT เริ่มมีพัฒนาการทางบวกมากขึ้นหลังจากที่มีการยืดเยื้อมานาน หลังจากนายบอริส จอห์นสัน เสนอให้มีการลงมติเลือกตั้งใหม่ แล้วจึงค่อยนำร่าง BREXIT เข้าโหวตในสภา โดยสหภาพยุโรปมีมติยินยอมให้สหราชอาณาจักร (UK) ขยายเส้นตายออกไปจากเดิมวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไปเป็น 31 มกราคม 2563 และหากทาง UK พร้อมก็สามารถถอนตัวได้ก่อนกำหนด ทำให้โอกาสที่จะเกิดการถอนตัวอย่างไม่มีข้อตกลง (Hard Brexit) ลดลง จึงส่งผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวม

นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น โดยสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มจะบรรลุข้อตกลงทางการค้าในเฟสแรกภายในกรอบเวลาที่กำหนด แม้ว่าผู้นำทั้งสองประเทศจะไม่ได้พบกัน หลังการยกเลิกการประชุม APEC ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนในประเทศชิลี อันเนื่องมาจากสาเหตุความไม่สงบภายในประเทศ

และในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ผลการประชุม FOMC มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps สู่ระดับ 1.50% - 1.75% ตามที่นักวิเคราะห์คาด ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และส่งสัญญาณกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดซื้อคืนพันธบัตร และเตรียมซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มเติม นอกจากนี้ ประธาน FED ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และส่งสัญญาณพักการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากขึ้นในระยะถัดไป และเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดอย่างมาก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,601.49 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,637.22 จุด หรือประมาณ -2.2% จากสิ้นเดือนกันยายน 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ +3.8% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +2.3% และกลุ่ม ICT +1.5% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหาร -11.6% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ -9.3% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.5% ในเดือนตุลาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 7,845 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 409 ล้านบาท

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2562

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -1.07% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จากการปรับลดกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว และการขายหุ้นของกองทุนเพื่อเตรียมเงินไปจองซื้อหุ้น AWC

ในช่วงต้นเดือนกันยายน ตลาดหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม จากการที่สหรัฐฯ และจีนมีการนัดหมายเจรจาเรื่องสงครามการค้ากันในต้นเดือนกันยายน ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกในประเทศ เมื่อครม.เศรษฐกิจมีมติเห็นชอบ “ไทยแลนด์ พลัส แพคเกจ” ซึ่งเป็นแพคเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีการลงทุนขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

ต่อมา ในวันที่ 14 กันยายน เกิดเหตุโดรนโจมตีโรงงานน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท อารัมโก ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้กำลังการผลิตหายไปกว่า 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือกว่า 50% ของกำลังการผลิตของประเทศ และคิดเป็น 5% ของการผลิตน้ำมันของโลก โดยมีกลุ่มกบฏในเยเมนเป็นผู้โจมตีและยังคงข่มขู่ที่จะโจมตีต่อ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและพร้อมใช้กำลังทหารตอบโต้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดใน 1 วันเป็นประวัติการณ์ โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดกว่า +19.5% จากนั้นราคาน้ำมันค่อย ๆ อ่อนตัวลงหลังจากที่ซาอุดิอาระเบียประกาศแผนซ่อมแซมโรงกลั่นและคาดว่ากำลังการผลิตส่วนใหญ่จะกลับมาดำเนินงานปรกติได้ในเวลา 10-15 วัน

ตลาดหุ้นในช่วงครึ่งแรกของเดือนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ Fed ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.75% - 2.00% ทาง ECB ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.10% สู่ระดับ -0.50% และจะเริ่มการซื้อคืนพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป รวมทั้ง ทางจีนก็ได้ลด RRR ลง 0.50% ด้วย นอกจากนี้ ทางรัฐสภาอังกฤษก็มีการผ่านร่างกฎหมายป้องกัน Hard Brexit ทำให้นายกฯต้องไปเจรจากับทาง EU ในการขยายเส้นตาย Brexit ออกไปจากเดิม 31 ตุลาคม 2562 เป็น 31 มกราคม 2563 ซึ่งทำให้ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ Brexit ถูกเลื่อนออกไป

ทว่าในช่วงครึ่งเดือนหลัง SET Index ค่อย ๆ ปรับตัวลง สาเหตุหนึ่งมาจากการขายหุ้นของกองทุนเพื่อเตรียมเงินสำหรับการจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ “AWC” ในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง AWC มีการระดมทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่า IPO ประมาณ 48,000 ล้านบาท และมีมูลค่าตลาดประมาณ 192,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้เข้ามาอยู่ใน SET50 ทันที่หลังจากเข้าเทรดในวันแรก และทำให้หุ้นใน SET 50 บางตัวถูกขายเนื่องจากความกังวลว่าอาจจะถูกถอดออกจากอันดับ กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกนง. ประจำเดือนกันยายน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% แต่ในขณะเดียวกัน ได้มีการปรับลดการคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% และปรับลดจีดีพีในปี 2563 ลงจาก 3.7% เหลือ 3.3% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัว ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้านั่นเอง

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2562 SET Index ปิดที่ 1,637.22 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,654.92 จุด หรือประมาณ -1.07% จากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มพลังงาน +2.2% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.4% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ +1.2%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่ม ICT -4.9% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ -4.3% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม -3.5% ในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 11,658 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 8,164 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย (ตุลาคม 2562)

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่ของตลาด หลังจากที่ในการประชุมรอบก่อน (12 ก.ย.) ECB ได้ลดดอกเบี้ย Deposit facility rate ลง 10bps

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2562

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลง -3.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 จากการปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียน และแรงกดดันภายนอกเรื่องประเด็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น และการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เป็นฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาลดลงค่อนข้างมาก กำไรสุทธิรวมของตลาดอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท ลดลง -17% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2018 และลดลง -21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ในขณะที่มีกลุ่มธุรกิจที่ผลกำไรยังเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ล้วนมีกำไรสุทธิลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์ของพนักงานเพิ่มขึ้นตามกฎหมายจาก 300 วันเป็น 400 วัน และอีกส่วนมาจากตัวธุรกิจหลักเอง เช่น การลดลงของราคาน้ำมันดิบและปิโตรเคมีทำให้เกิดขาดทุนจากสินค้าคงคลัง การขาดทุนค่าเงินของบริษัทในกลุ่มส่งออกจากเงินบาทที่แข็งค่า และการชะลอตัวลงของยอดโอนอสังหาริมทรัพย์หลังมีการใช้มาตรการ LTV เป็นต้น ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดในปีนี้ลง จากเดิม ประเมินกำไรต่อหุ้นของตลาดอยู่ที่ระดับ 104 บาท ลดลงมาอยู่บริเวณ 100 -101 บาท จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2019 ลดลงเหลือเพียง 2 - 3% เท่านั้น

และในวันที่ 19 สิงหาคม ได้มีการประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ของไทย ที่มีการเติบโตเพียง 2.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เติบโต 2.8% คิดเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ 2.6% โดยภาคการส่งออกสินค้าและบริการหดตัว -6.1% จากปีที่แล้ว ผลผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรหดตัว ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้จะยังเติบโตเป็นบวก แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ทำให้สภาพัฒน์ฯปรับลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีลงอีกครั้ง จาก 3.3 - 3.8% มาอยู่ที่ 2.7 - 3.2%

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ ในอัตรา 15% โดยแบ่งเป็น 1.3 แสนล้านเหรียญ มีผลบังคับในวันที่ 1 กันยายน และอีก 1.6 แสนล้านเหรียญให้มีผลบังคับในวันที่ 15 ธันวาคม ในขณะที่ทางจีนจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน โดยมีมูลค่า 7.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ในอัตรา 5 – 10% โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน มีผลบังคับในวันที่ 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม เช่นเดียวกัน ซึ่งการตอบโต้ระหว่างกันดังกล่าว ส่งผลกระทบเป็นลบต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กระทบทั้งผู้บริโภคที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และเกษตรกรที่ส่งออกผลผลิตไปยังจีนได้ลดน้อยลง

SET Index ปรับตัวลดลงจากปัจจัยข้างต้น ลงสู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,590 จุด และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2019 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.0 - 2.25% ส่วนประเทศจีนนั้น ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน โดยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงจาก 4.35% ลงเหลือ 4.25% ในฝั่งยุโรป รัฐบาลเยอรมันมีการประกาศพร้อมใช้วงเงิน 55 พันล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น เพียง 1 สัปดาห์หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เช่นกัน ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่อยู่เหนือความคาดหมาย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ประกอบกับในวันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งโดยการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน มาตรการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ SME มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เช่น การแจกเงินเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ การเพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น คิดเป็นวงเงิน 3.16 แสนล้านบาทที่พร้อมอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ หลังจากนี้ไป คาดว่าเมื่อมาตรการทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศเริ่มทำงาน เศรษฐกิจน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ และ SET Index น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำและยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก ค่าพีอีที่เหมาะสมของตลาดหุ้นมักจะสูงขึ้น ค่าพีอีของ SET Index น่าจะยืนอยู่บริเวณ 16 -17 เท่าได้ในปีนี้และปีหน้า จากค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15.3 เท่า ซึ่งคิดเป็นระดับดัชนีที่ 1,600 – 1,700 จุด และการที่ SET Index ปรับตัวลงค่อนข้างแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในระยะสั้นน่าจะเห็นการรีบาวด์ของดัชนีได้ และในระยะกลาง หากกำไรสุทธิของตลาดไม่มีการถูกปรับลดลงอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นน่าจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อไป

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2562 SET Index ปิดที่ 1,654.92 จุด ปรับตัวลงจากระดับ 1,711.97 จุด หรือประมาณ -3.3% จากสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +4.5% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ +1.1% และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร -1.3%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -15.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -10.8% และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ -8.3% ในเดือนสิงหาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 54,274 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 35,596 ล้านบาท

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2562

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวในการประชุมประจำปีของ Fed ที่ Jackson Hole ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี จากการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยการลงทุนภาคเอกชนและภาคการผลิตที่อ่อนแอ และย้ำว่าจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ขณะที่ยอมรับว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและปัจจัยอื่น ๆ กำลังฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า นโยบายการเงินแม้ว่าจะหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค การลงทุนภาคเอกชนและเพิ่มความเชื่อมั่น แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการค้าระหว่างประเทศได้ โดย Fed ทำได้เพียงประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่อมุมมองเศรษฐกิจ และปรับเปลี่ยนโยบายให้มีความเหมาะสมเท่านั้นเพื่อหนุนให้ตลาดแรงงานและเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย

ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ประกาศในเดือนนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2019 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% YoY อัตราการขยายตัวดังกล่าวเท่ากับที่ตลาดคาดไว้ และเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2014 ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน GDP ขยายตัว 0.6% QoQ sa* ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.7% QoQ sa และน้อยกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.0% QoQ sa นอกจากนี้ สศช. ยังลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ลงจากประมาณการเดิม 3.3%-3.8% เหลือเพียง 2.7%-3.2%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 1.50% นับเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบมากกว่า 4 ปี ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ภายหลังจากที่มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยกนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยโดยรวมมีแนวโน้มอ่อนแอมากกว่าที่คาด ปัจจัยสำคัญคือ ผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง และเริ่มส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ รายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานลดลง สินเชื่อเพื่อธุรกิจและครัวเรือนชะลอลง โดยเฉพาะเมื่อนโยบายกีดกันการค้ารุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น การลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แถลงข่าวบ่งชี้ว่า กนง. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไปอีกระยะหนึ่ง ร่วมกับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Micro prudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macro prudential) มากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการอีก 2 ท่านมองว่าการลดดอกเบี้ยในช่วงที่นโยบายการเงินผ่อนคลายอยู่แล้วอาจไม่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจเท่าที่ควร และยังคงให้ความสำคัญของการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) มากกว่า

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ โดยรวมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงทั้งระยะสั้นและระยะยาว 24-54 Bps พันธบัตรระยะสั้นปรับลดลงตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวปรับลดลงตามตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนที่เกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรุนแรงขึ้น หลังจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้สหรัฐฯ และทางสหรัฐฯ ก็ประกาศตอบโต้จีนด้วยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจีนในกลุ่มที่ถูกปรับขึ้นภาษีไปแล้ว จนทำให้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ระหว่าง US Treasury อายุ 2 ปีและ 10 ปี ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงวันที่ 20 ส.ค. มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากการที่ผู้ลงทุนประเภทกองทุนรวมได้เริ่มเสียภาษีของการลงทุนในตราสารหนี้ นอกจากนี้ ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิประมาณ 3.46 หมื่นล้าน และเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แบ่งเป็นการขายสุทธิทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาวประมาณ 2.1 หมื่นล้าน และ 1.1 หมื่นล้าน ตามลำดับ เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดอายุแล้วคงเหลือยอดรวมถือครองสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 9.39 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากสิ้นปี 2018 ที่ถือครองจำนวน 9.86 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

หมายเหตุ:
* QoQ sa (Quarter on Quarter Seasonally Adjusted) เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงที่ปรับผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว