ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กันยายน 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic

Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร แต่ส่งสัญญาณชะลอความเร่งในการซื้อสินทรัพย์ จากเดิมที่ซื้อเฉลี่ยประมาณ 1.8 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 1.7 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ECB จึงปรับขึ้นคาดการณ์ GDP โดยคาดว่าในปี 2021 จะขยายตัว 5.0%yoy จากเดิมที่คาด 4.6%yoy โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มาตรการกระตุ้นทางการคลัง และแรงหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ECB ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2022 ลงเล็กน้อย โดยคาดว่าจะขยายตัว 4.6%yoy จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7%yoy นอกจากนี้ ECB ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 2.2% จากเดิม 1.9% เนื่องจากเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 3.0% จากราคาพลังงานและต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบการชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีหน้าเป็น 1.7% จาก 1.5% อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงประเมินว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเป็นปัจจัยชั่วคราว

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ในเดือนนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ประธาน FED ได้แถลงหลังการประชุมว่าจะประกาศลด QE อย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ และมีแนวโน้มว่าจะทยอยลด QE ให้สิ้นสุดในช่วงกลางปี 2022 โดยประเมินจากภาพรวมเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวเข้าใกล้สู่เป้าหมาย ในขณะที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะเฟดจะยังประเมินว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวก็ตาม นอกจากนี้ยังมีสมาชิก FED หลายท่านให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาจาก Dot Plot ในปี 2022 สมาชิกมีมุมมองคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 9 เสียง ลดลงจากครั้งก่อนที่ 11 เสียง ในขณะที่มุมมองขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 9 เสียง จาก 7 เสียง สำหรับปี 2023 สมาชิกคาดการณ์ถึงการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจ FED ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปีนี้ลงจาก 7.0% เป็น 5.9% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีหน้าเป็น 3.8% จากเดิมที่ 3.3% ทั้งนี้ FED ยังคงประเมินว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 4.2% จาก 3.4% ในขณะที่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.2% ในปี 2022 และ 2023 และอยู่ที่ 2.1% ในปี 2024 นอกจากนี้ FED ยังปรับคาดการณ์อัตราว่างงานในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.8% จาก 4.5% สืบเนื่องจากความเร่งในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานชะลอลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวจากผลบวกของการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และประเมินว่ามาตรการทางการเงินมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยคงคาดการณ์ GDP ที่ 0.7% ในปีนี้และเพิ่มคาดการณ์ GDP ในปีหน้าเป็น 3.9% จากเดิม 3.7% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีแนวโน้มชะลอลง ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวใกล้เคียงกับประมาณการเดิมในเดือนสิงหาคม และในปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกับประมาณการในเดือนมิถุนายน จากแรงหนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อยจากภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวประเมินว่าจะใกล้เคียงกับประมาณการในเดือนก่อน และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ แนวโน้มการแพร่ระบาดยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจำเป็นต้องพึ่งพาการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ และการสนับสนุนจากนโยบายการคลังด้วย ด้านเงินเฟ้อ มีแนวโน้มชะลอลง โดย ธปท. ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เป็น 1.0% จากประมาณการในเดือนมิถุนายนที่ 1.2% จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ และปรับเพิ่มเงินเฟ้อในปีหน้าเป็น 1.4% จากเดิมที่ 1.2% โดยในระยะปานกลาง ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว ตามทิศทางของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีการเปลี่ยนมุมมองของนักลงทุนว่า FED กำลังจะลดปริมาณ QE และมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้เปลี่ยนมาเป็นการขายสุทธิทั้งพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะยาว โดยในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทยรวม 3.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงเหลือประมาณ 9.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยอดการถือครองของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนกันยายน ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -2.0% สู่ระดับ 1,605.68 จุด โดยปัจจัยภายนอกเป็นแรงกดดันตลาด ประกอบด้วยเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศจีน การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เกี่ยวกับ QE Tapering ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่กดดันตลาด คือ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ซึ่งบริษัท เอเวอร์แกรนด์ มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในเดือนนี้ ในวันที่ 23 กันยายน มูลค่า 83.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 29 กันยายน มูลค่า 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้ทั้ง 2 งวด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ส่งสัญญาณที่จะทยอยปรับลดวงเงินของโครงการ PEPP ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 โดย ECB มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2021 ขึ้นสู่ 5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2021 ปรับเพิ่มเป็น 2.2% ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ 1.7% ในปี 2022 และ 1.4% ในปี 2023 ขณะที่ผลการประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับลดวงเงิน QE ในไม่ช้า ขณะที่ Dot Plots แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิมในปี 2023 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์ว่า FED จะประกาศ Tapering ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2021 และมีในผลเดือนธันวาคม 2021 และคาดว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2023 โดยปรับดอกเบี้ยขึ้นทุก ๆ 6 เดือน และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งต่อปี ในภาพรวม การทำ QE Tapering ไม่ได้มีสัญญาณเร่งตัว แต่ภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED ส่งสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสู่ระดับ 4% ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจัยทั้งหมดทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสู่ระดับ 94.3 จุดและ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.53% กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกและทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากทวีปเอเชีย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม ให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินได้ ประกอบด้วย ร้านเสริมสวย ธุรกิจร้านนวด ร้านสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ ขณะที่ร้านอาหารสามารถเล่นดนตรีได้ตามปกติ นอกจากนี้ ได้ปรับลดระยะเวลามาตรการเคอร์ฟิวลง เป็น ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ขณะที่ห้างสรรพสินค้าปรับเวลาเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงมีการต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% โดยย้ำว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว โดยมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย จากการกระจายวัคซีนและผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เร็วกว่าคาด และคงการคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ระดับ 0.7% ขณะที่ปี 2022 ปรับกลับมาที่ระดับ 3.9% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 3.7%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,605.68 ปรับตัวลง 33.07 จุดหรือ -2.0% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร 6.8% (โดยได้รับผลกระทบหลักจากการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB) กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.5% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -14.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,378 ล้านบาท 11,137 ล้านบาท และ 2,809 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 15,325 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 12,727 ล้านบาท และ 104,920 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,942 ล้านบาทและ 76,705 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 2 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ICT ปิโตรเคมี แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +7.7% สู่ระดับ 1,638.75 จุด เป็นการปรับตัวลงแรงในช่วงต้นเดือน จากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ของ FED และการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวขึ้นแรงจากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดต่อวัน ตัวเลขผู้หายป่วยรายวันที่เพิ่มมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน และการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

ในช่วงต้นเดือน SET Index ได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐอเมริกาเปิดเผย FOMC Minutes สำหรับการประชุมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปีนี้ ซึ่งบางส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 สะท้อนมุมมองหลักของ FED ที่มีแผนจะประกาศ QE Tapering ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อจะได้มีผลในปีนี้ เร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะประกาศ QE Tapering เดือนธันวาคม 2564 และมีผลเดือนมกราคม 2565 จากมุมมองล่าสุดของ FED ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็ว กดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของประธาน FED ที่การประชุม Jackson Hole ไม่ Hawkish มากนัก โดยเผยว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้จริง แต่การที่ FED จะปรับลด QE นั้น ไม่ได้หมายความว่า FED จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

การฟื้นตัวของ SET Index ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เกิดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงระดับลงสู่ 1.5 หมื่นราย/วัน ขณะที่ยอดผู้หายป่วยกลับบ้านสูงกว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มเติม ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) การใช้อาคารสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา (ยกเว้นฟิตเนส) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป เป็นผลทำให้ SET Index และหุ้นกลุ่ม Re-opening ปรับตัวขึ้นได้ดี โดยประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 31 สิงหาคม อยู่ที่ 1,161,200 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 568,424 คน ขณะที่ผู้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 974,418 คน มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว 176,137 คน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,638.75 จุด ปรับตัวขึ้น 116.83 จุด หรือ +7.7% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 14% กลุ่มธนาคาร 13% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 11% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -0.8% กลุ่มการแพทย์ 1.8% กลุ่มยานยนต์ 2.8% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 18,730.28 ล้านบาท, 1,88.47 ล้านบาท และ 5,439.71 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 26,058.45 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,349.37 ล้านบาท และ 102,110.50 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 25,617.32 ล้านบาทและ 87,842.55 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิในเดือนนี้หลังจากขายสุทธิติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 เดือน โดยนักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ปิโตรเคมี และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และ ICT ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – สิงหาคม 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงนโยบายการเงินเดิมตามคาดการณ์ของตลาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และมีมติ 7-1 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา GBP875bn โดยมีกรรมการท่านหนึ่งสนับสนุนให้ลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงเป็น GBP830bn BOE มีมุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นในระยะกลางและมองว่าจะมีอุปสงค์ส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีถัดไป ซึ่งจะหนุนให้นโยบายการเงินต้องมีความตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะจากเงินเฟ้อที่คาดจะพุ่งขึ้นสูงและอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ในระยะกลาง และคาดเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 4.0% ในไตรมาส 4 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.5% ในเดือนพ.ค. จากรายงานเงินเฟ้อที่ออกมาขยายตัวสูงกว่าคาด (2.5% เดือน มิ.ย.) และผลของการเปิดเศรษฐกิจ รวมถึงต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี BOE มองว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยคาดเงินเฟ้อจะชะลอลงเป็น 2.5% ในปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาด 2.0%) และชะลอลงเป็น 2.0% ในปี 2023 ผู้ว่าฯ BOE ระบุว่าแม้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่การที่เงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ในระยะกลางนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องลดมาตรการผ่อนคลายบางส่วน ส่วนด้านประมาณการเศรษฐกิจ ได้มีการคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 7.25% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2022 ขึ้นเป็น 6.0% จากที่คาด 5.0% ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ BOE คาดว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 4.75% ในปีนี้ ลดลงจากที่คาด 5.0% ในเดือน พ.ค. และคาดจะลดลงอยู่ที่ระดับ 4.25% ในปี 2023 (เท่ากับคาดการณ์เดิม)

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง และเห็นควรให้เริ่มลด QE ภายในปีนี้ แต่ยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากคณะกรรมการยังคงต้องการเห็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยประธาน FED ได้แสดงปาฐกถาในงานสัมมนาประจำปีที่แจ็คสันโฮล สนับสนุนการลด QE ในปีนี้ เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดการณ์ จน GDP สหรัฐฯ พุ่งเหนือระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.4% ของกำลังแรงงานรวม และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ไม่สามารถมองข้ามได้ แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงและเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ดังนั้น จึงเห็นควรเริ่มลด QE ในปีนี้ แม้ในระยะสั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า โพเวลส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังห่างไกลและไม่เกี่ยวข้องกับการลด QE เนื่องจาก FED ใช้วิธีที่แตกต่างกันในการพิจารณานโยบายทั้งสองแบบ FED จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ และเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ซึ่งโพเวลระบุว่ายังคงมีปัจจัยอีกมาก รวมถึงจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าการจ้างงานจะเข้าสู่ระดับสูงสุดตามที่ FED ตั้งเป้าหมายไว้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากมองว่ามาตรการทางการเงินมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการอีก 2 ท่านเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการ 1 ท่านลาประชุม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์จีดีพีมาอยู่ที่ 0.7% ปี 2021 และ 3.7% ในปี 2022 จากประมาณการเดิม ณ เดือนมิถุนายนที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ จากการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ส่งผลกระทบมากกว่าที่ประเมินไว้และยังมีความเสี่ยงสำคัญจากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยประเมินว่า ในกรณีฐานจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 1.5 แสนคน จากเดิมที่คาด 7 แสนคน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ จาก พรก. กู้เงินฉบับล่าสุด และการส่งออกที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธปท. ยังเห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ยืดเยื้อ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวไม่มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก ท่ามกลางความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอกนี้ ในขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี ทำให้ตลาดมีความกังวลถึงโอกาสที่ FED จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง ทำให้อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับขึ้นเล็กน้อย ในเดือนนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 4.76 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 2.92 หมื่นล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.84 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยรวมประมาณ 9.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.12 แสนล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – กรกฎาคม 2564

การประชุมนโยบายการเงินในช่วงกลางเดือนของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับลดประมาณ GDP ปี 2021 ลงมาที่ 3.8% จาก 4.0% ที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่เพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นมาที่ 0.6% จาก 0.1% และประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลางถึงยาวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ BOJ มีมาตรการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนถึงปีงบประมาณ 2030 ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% อายุ 1 ปีแก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้และสนับสนุนการลงทุนด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยสามารถต่ออายุได้ไม่จำกัด ขณะที่ตลาดประเมินว่า BOJ จะสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนแก่สถาบันการเงิน ทางด้านสัญญาณนโยบายการเงิน BOJ ยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ใกล้ศูนย์และคงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ด้านมาตรการซื้อสินทรัพย์ คงกำหนดการซื้อ ETFs ไม่เกิน 12 ล้านล้านเยน และ J-REITs ไม่เกิน 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่เกิน 20 ล้านล้านเยนถึงกันยายนปีนี้ ทั้งนี้ BOJ ส่งสัญญาณจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางโดยกำหนดไว้ที่ 2% จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใกล้เคียงแต่ต่ำกว่า 2% พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ สะท้อนว่า ECB จะยอมให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเกินกว่า 2% ได้เป็นการชั่วคราว โดย ECB จะคงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 เป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าวิกฤตโควิดจะจบลง ในไตรมาสนี้ ECB เพิ่มขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญที่ 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในไตรมาสแรก และ 1.8 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่สองของปีตามลำดับ และคงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) ที่ -0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal lending facility) 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main refinancing operations 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร

ในช่วงปลายเดือนมีการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) โดยมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00%-0.25% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อไป จนกว่าการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อจะมีพัฒนาที่ชัดเจนตามเป้าหมาย นายเจอโรม โพเวล ประธานเฟดแถลงหลังการประชุมว่า อีกสักพักกว่าจะเริ่มลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์เนื่องจากแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงระดับที่เฟดตั้งเป้าหมายไว้โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังมองว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นประเด็นที่ยังไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ จะฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มไปแล้วถึง 57% และได้รับวัคซีนครบจำนวนแล้ว 49% คณะกรรมการ FOMC จึงจะประเมินพัฒนาของเศรษฐกิจในการประชุมครั้งต่อๆ ไป

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 1 ปีไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงนัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวช่วงอายุ 10-30 ปีปรับลดลงมา 18-25 Bps ตามความกังวลสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และอยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับลดลงแรงอีกครั้งหลังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้น โดยระหว่างเดือนอัตราผลตอบแทน 10 ปี ลดลงไปต่ำสุดที่ 1.19% ก่อนที่จะปิดสิ้นเดือนที่ 1.24% ในเดือนกรกฎาคม 2564 นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยลง 8.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 3.1 พันล้านบาท ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 6.3 พันล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยรวมประมาณ 9.15 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2564

SET Index ปรับตัวลง -4.1% สู่ระดับ 1,521.92 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายในคือ ปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังกระทบจากปัจจัยภายนอก ในเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET เกิดจากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังจากที่หลายประเทศเผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้สหรัฐฯ ประกาศให้ประชาชนกลับมาใส่หน้ากากอนามัยในบางรัฐฯ เช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรป เช่น สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ที่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มเร่งตัวอีกครั้ง และหลายประเทศในเอเชียที่สถานการณ์การแพร่ระบาดย่ำแย่อย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้แต่ละประเทศมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง หลังการประชุม OPEC+ ที่มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 รวมถึงเพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันให้กับบางประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทำให้การผลิตน้ำมันขั้นต่ำของ OPEC+ เพิ่มขึ้นจาก 43.853 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 45.485 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงกว่า 10,000 รายต่อวันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม อยู่ที่ 568,424 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 230,438 คน ส่งผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องประกาศมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ดังนี้ 1) ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ห้าง (เปิดได้เพียงซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ร้านขายยา) สวนสาธารณะ ปิด 20.00 น. 2) ปิดร้านนวด คลินิก สปา 3) ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน 4) ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. 5) ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด พร้อมทั้งขยายระยะเวลาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 กันยายน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ก่อให้เกิด Downside ต่อประมาณการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าการ Lockdown รอบนี้จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ขณะที่การกระจายวัคซีนค่อนข้างล่าช้า โดย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 17.63% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 27.32% และทั่วโลกที่ 27.34% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 ปี มาอยู่ที่ระดับ 32.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างจำกัด เป็นอีกปัจจัยที่กดดัน SET

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,521.92 จุด ปรับตัวลง 65.87 จุดหรือ -4.1% จากสิ้นเดือนที่แล้ว โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการ Lockdown ล้วนแต่ปรับตัวลงหนักในเดือนนี้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3.2% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 1.9% กลุ่มการแพทย์ 1.0% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -9.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -8.7% กลุ่มธนาคาร -8.3% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,912.09 ล้านบาท และ 17,663.85 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,555.86 ล้านบาท และ 17,020.08 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 9,460.91 ล้านบาท และ 128,168.95 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 44,347.59 ล้านบาทและ 93,282.26 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่ม ICT แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง พลังงาน อสังหาริมทรัพย์และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.4% สู่ระดับ 1,587.79 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือ การประชุมของ FED ซึ่งส่งสัญญาณในการลดมาตรการ QE และปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม นอกจากนี้ยังกระทบจากปัจจัยภายใน เรื่องปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น โดย Dot Plots หรือ ประมาณการของการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2567 โดยตลาดคาดการณ์ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ FED มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จึงปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 7.0% จากเดิมคาดที่ระดับ 6.5% และคง GDP ปี 2565 ที่ 3.3% นอกจากนี้ ประธาน FED แถลงหลังการประชุม เผยว่า FED ได้เริ่มหารือกันในการปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน และจะชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งถัด ๆ ไป ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดว่า FED จะเริ่ม Tapering ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากในการขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา FED ได้ทำการ Tapering เป็นเวลา 1 ปีก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากปัญหาการจัดสรรวัคซีน โดยโครงการไทยร่วมใจของกรุงเทพมหานคร มีการหยุดฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน จากปัญหาด้านการจัดสรรวัคซีน ก่อนที่จะกลับมาฉีดอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนรายวันยังต่ำ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 9.9% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 23.73% และทั่วโลกที่ 23.50% ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 4-5 พันรายต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 30 มิถุนายน อยู่ที่ 230,438 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 130,929 คน ส่งผลให้ภาครัฐฯ ประกาศมาตรการป้องกันเข้มงวด ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมทั้งหมด 10 จังหวัด โดยสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ห้างสรรพสินค้าเปิดทำการได้ถึง 21:00 น. รวมถึงตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางข้ามจังหวัด มาตรการทั้งหมดมีผลตั้งแต่ 28 มิถุนายนถึง 27 กรกฎาคม 2564 ส่งผลกระทบทางลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทำให้แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังกดดันกลุ่ม Reopening และทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากการระบาดระลอกนี้เป็นการระบาดในวงกว้างและกินเวลานาน ทำให้การฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน Covid-19 ต้องเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2566 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ไตรมาส 3 ปี 2565

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.79 จุด ปรับตัวลง 5.8 จุดหรือ -0.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ 5.3% กลุ่มยานยนต์ 4.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.1% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -5.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,378.43 ล้านบาท และ 9,824.98 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4,155.37 ล้านบาท และ 10,048.03 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,548.82 ล้านบาท และ 110,505.11 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,792.74 ล้านบาทและ 76,262.18 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาฯ ICT ขนส่ง แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – มิถุนายน 2564

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเร่งขนาดการซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า จากเดิมที่ซื้อ 1.4 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์ เพื่อชะลอการเร่งตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ประธาน ECB ย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะหยุดมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจาก ECB ยังห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะลดลง ECB คงการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Facility) ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility) ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินซื้อสินทรัพย์มาตรการ Asset Purchase Program (APP) ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน และมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร โดย ECB จะการคงซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP ไปจนถึงมีนาคม 2022 ด้านประมาณการเศรษฐกิจ ECB ปรับขึ้นคาดการณ์ GDP โดยในปี 2021 คาดว่าจะขยายตัว 4.6%YoY จากเดิมที่คาด 4.0% ในปี 2022 คาดว่าจะขยายตัว 4.7%YoY จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1%YoY และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 1.9% จาก 1.5% เนื่องจากประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบน้อยลงต่อเศรษฐกิจ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลัก คือ (1) อัตราการฉีดวัคซีนที่เร่งเร็วขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (2) มาตรการกระตุ้นทางการคลัง และ (3) แรงหนุนการส่งออกจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐ รวมทั้งมาตรการทางการเงินจะช่วยจำกัดผลกระทบดังกล่าวได้

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ (11-0) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Federal Funds Rate ไว้ที่ระดับต่ำ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด ด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์ จะยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตราปัจจุบัน USD120bn ต่อเดือนเป็นอย่างน้อย แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล (Treasury) เดือนละ USD80bn และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ซึ่งออกโดยหน่วยงานภาครัฐ (MBS) เดือนละ USD40bn โดย FED ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโดยหลักยังขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัส ซึ่งความคืบหน้าของวัคซีนจะช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้ อย่างไรก็ดี FED มีท่าที Hawkish ขึ้นอย่างมาก สะท้อนผ่านแนวโน้มของดอกเบี้ยหรือ Dot plot ที่ชี้ว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ภายในปี 2023 จากเดิมที่จะคงดอกเบี้ยตลอดจนสิ้นปี 2023 โดยคณะกรรมการ 13 จากทั้งหมด 18 ท่าน มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน มี.ค.ที่มี 7 ท่าน ซึ่งในจำนวนนั้นมีคณะกรรมการถึง 11 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 นอกจากนี้ มีคณะกรรมการถึง 7 ท่านที่มองดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2022 (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่มี 4 ท่าน)

ในการประชุมวันที่ 23 มิ.ย. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตามคาดการณ์ โดย กนง. ยังคงหนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังในปัจจุบัน และมุ่งเน้นไปยังการกระจายสภาพคล่องในวงกว้างมากขึ้น การประชุมมีประเด็นที่สำคัญคือ ด้านเศรษฐกิจ กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2021 และ 2022 ลงมาอยู่ที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ (vs.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +0.7% สู่ระดับ 1,593.59 จุด โดยในช่วงแรกของเดือนเกิดภาวะที่เรียกว่า Sell in May จากการที่ FED มีแนวโน้มจะปรับลดวงเงินในโครงการ QE ประกอบกับ GDP ของประเทศไทยถูกปรับลดการคาดการณ์ลง แต่พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจของไทย งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ดี และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตดี มีผลทำให้ SET ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน

ในช่วงครึ่งเดือนแรก SET เผชิญกับแรงเทขายหรือ Sell in May จากความเสี่ยงที่ FED จะปรับลดวงเงินในโครงการ QE (QE Tapering) หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 4.2%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปี ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและ US Bond Yield 10 ปีปรับตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่ง FOMC Minutes กล่าวว่า FED ได้มีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และกรรมการ FED ส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการ QE หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น และประชาชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูง (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้ว 51% ขณะที่ประชากร 41% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม) ขณะที่ในเอเชียเผชิญกับความไม่แน่นอนหลังจาก Covid-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้งในหลายประเทศ ประกอบด้วยญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทำให้ Fund Flows ในทวีปเอเชียมีความผันผวน โดยเฉพาะในไทยที่ MSCI ประกาศลดน้ำหนักการลงทุนลง -0.1% สู่ระดับ 1.73% คิดเป็นเงินทุนไหลออก 341 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงสู่ระดับ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.5-3.5% โดยเป็นการปรับลดเพื่อสะท้อนการระบาดรอบที่ 3 โดยประมาณการรอบนี้มีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลงเหลือ 5 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.2 ล้านคน ทำให้มี Downside Risk ต่อหุ้นในกลุ่มท่าอากาศยาน ท่องเที่ยว บริการ และการบริโภค แต่การโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท (คิดเป็น 3.21% ของ GDP) เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไทย ถือเป็น Positive Surprise โดยคาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ในปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ปี 2564 ได้ราว 0.71% แต่เมื่อรวมพ.ร.ก.กู้เงินนี้กับงบประมาณขาดดุลปี 2565 จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ของ GDP สู่ระดับ 65.51% ของ GDP ณ สิ้น 2565 ทั้งนี้ แม้จะมีการออกพ.ร.ก.กู้เงินใหม่ แต่หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้และการกระจายฉีดวัคซีนที่ล่าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับ Pre-Covid ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 3.6% ของประชากร ขณะที่ประชากรเพียง 1.6% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 5.9% และทั่วโลกที่ 10.8% แม้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET เพิ่มขึ้น 130%YoY และ 45%QoQ โดยมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 2.66 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวขึ้นจากยอดขายที่ขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังได้อานิสงส์จากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ที่กว้างขึ้น กลุ่มประกันฯ ปรับตัวได้ดีจากเบี้ยประกันภัยที่ฟื้นตัว และอัตรากําไรจากการรับประกันภัยปรับตัวขึ้น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ปรับตัวขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และกระแส EV ขณะที่กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีพลิกมามีกำไร YoY หลังจาก 1Q63 ขาดทุนสต็อก และราคาผลิตภัณฑ์รวมทั้งปริมาณขายลดลงเป็นอย่างมาก ในทางตรงข้าม กลุ่มที่มีกำไรสุทธิหดตัวทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการ Lockdown บางส่วน คือ กลุ่มค้าปลีก จากยอดขายสาขาเดิมหดตัว กลุ่มการแพทย์ จากจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่ม ICT ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะที่กลุ่มโรงแรมและกลุ่มขนส่ง มีผลขาดทุนในไตรมาสนี้ จากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวและการเดินทางต้องถูกระงับชั่วคราว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,593.59 จุด ปรับตัวขึ้น 10.46 จุดหรือ 0.7% จากสิ้นเดือนเมษายน 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 49.6% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 16.4% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 7.4% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -8.3% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.5% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 362.22 ล้านบาท และ 34,132.08 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1,308.68 ล้านบาท และ 33,185.62 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,170.39 ล้านบาทและ 100,680.13 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,636.36 และ 66,214.15 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มหลักทั้งหมด ได้แก่ ธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ ICT ค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย – พฤษภาคม 2564

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงนโยบายการเงินเดิมตามคาดการณ์ของตลาด โดยมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.1% และมีมติ 8-1 คงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา GBP895bn อย่างไรก็ดี BOE จะลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์จาก GBP4.4bn/ สัปดาห์ เป็น GBP3.4bn/ สัปดาห์ โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของนโยบายการเงิน และยังไม่ลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินจนกว่าจะมีเครื่องยืนยันชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพและเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน BOE มองเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ท่ามกลางการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็วหนุนให้เศรษฐกิจน่าจะกลับมาเปิดทำการตามปกติได้นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ตามแผนการของรัฐบาล โดย BOE ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นอย่างมากเป็น 7.25% จากที่คาด 5.0% ในเดือน ก.พ. และระบุว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะกลับเข้าสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 1/2022 ส่วนเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าเป้าที่ 2.0% (0.7%YoY เดือน มี.ค.) จากผลกระทบของ COVID-19 แต่คาดจะเร่งตัวขึ้นในระยะใกล้หลังผลกระทบดังกล่าวทยอยหมดไป โดยคาดจะขยายตัวเกินเป้าหมายชั่วคราวในช่วงปลายปีจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ และชะลอลงอยู่ใกล้เป้าหมายที่ 2.0% ในระยะกลาง

ทางด้านการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.8% MoM มากที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2009 ต่อเนื่องจาก 0.6% ในเดือนก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็น 4.2% YoY (2.6% เดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 จากผลของฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.6% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้น 0.9% MoM มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 ต่อเนื่องจาก 0.3% ในเดือนก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.3% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเป็น 3.0% YoY (1.6% เดือนก่อน) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1996 จากผลของฐานต่ำ และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.3%

จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลง 3.4 หมื่นราย เป็น 4.73 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ในกลางเดือน มี.ค. 2020 และดีกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 4.90 แสนราย สะท้อนตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามการเปิดทำการตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ รวมทั้งการฉีดวัคซีนและอุปสงค์ของผู้บริโภค ส่วนจำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง (Continuing Claims) ลดลง 4.5 หมื่นราย เป็น 3.66 ล้านราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. แย่กว่าคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อยที่ 3.65 ล้านราย ด้านผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกผ่านโครงการ Pandemic Unemployment Assistance (PUA) ที่ให้สวัสดิการพิเศษแก่ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิผ่านสวัสดิการแบบปกติ เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและผู้รับเหมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.0 พันราย เป็น 1.04 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน GDP ไทยหดตัว 2.6%YoY ใน Q1/2021 หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าตลาดคาด (-3.3%YoY) และหดตัวลดลงจากไตรมาสก่อน (-4.2%YoY) โดยยังคงมีปัจจัยฉุดหลักจากการท่องเที่ยว และการระบาดของไวรัสรอบใหม่กระทบการบริโภคในประเทศ สศช. ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2021 ลงมาขยายตัวที่ 1.5-2.5% (ค่ากลางที่ 2.0%) จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.5-3.5% (ค่ากลางที่ 3.0%) เนื่องจากการระบาดของไวรัสที่รุนแรงขึ้นในไทย และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้มองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 5 แสนคนในปีนี้ และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ทั้งนี้ กนง. ย้ำถึงการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศและการให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดแก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบที่สาม และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การประชุมมีประเด็นที่สำคัญคือ ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรอบที่สาม ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลง และการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวล่าช้าออกไป ขณะที่การส่งออกและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐถูกคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในเอกสารแนบท้าย ธปท. เผยว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัว 2% ในปีนี้ (+4.7% ในปี 2022F) หากภาครัฐสามารถจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสได้ตามเป้าภายในสิ้นปี ด้านเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวในไตรมาส 2 จากแรงหนุนของฐานที่ต่ำในปีก่อน ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ ธปท. ด้านสภาพคล่อง สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ากว่าภูมิภาค โดยจะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือนนี้ อัตราผลตอบแทนโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุไม่เกิน 6 เดือนปรับขึ้นเล็กน้อยจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยขายสุทธิประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาวประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท เมื่อหักพันธบัตรที่ครบกำหนดแล้ว คงเหลือการถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมประมาณ 8.83 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

ตารางเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐ