ภาวะตลาดหุ้นไทย – ตุลาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +1.1% สู่ระดับ 1,623.43 จุด จากการคลายความกังวลเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ตลาดยังมีแรงกดดันจากประเด็น QE Tapering อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลต่อตลาด คือ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้เป็นการชั่วคราว และประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายทันก่อนกำหนดในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ถือเป็นจิตวิทยาทางบวกต่อการลงทุน แต่ประเด็นหลักที่ตลาดให้ความสนใจอีกประเด็น คือ QE Tapering โดยประธาน FED ส่งสัญญาณว่า FED จะปรับลดการซื้อสินทรัพย์ในเดือนหน้า แต่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากการจ้างงานยังคงต่ำกว่าช่วงก่อน Covid-19 อยู่ประมาณ 5 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนั้น การประเมินจะสิ้นสุดในปีหน้า การทำ QE Tapering ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ Fund Flows ในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างผันผวน โดยในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดเอเชีย -3.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเกิดแรงเทขายอย่างหนักในภูมิภาคเอเชียเหนือ ในประเทศไต้หวัน และประเทศเกาหลีใต้ ในทางกลับกัน นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิในประเทศกลุ่ม TIPs ทุกประเทศ โดยมีเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซียมากที่สุด ตามด้วยตลาดหุ้นไทย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศได้รับแรงกระตุ้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีขึ้น และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดระดับลง ทำให้มีการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมมีการปรับเวลาเคอร์ฟิวลงเป็น 5 ทุ่มถึงตี 3 เริ่ม 16 ตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจัดงานแสดงสินค้า-ศูนย์ประชุม-จัดนิทรรศการได้ ให้สนามกีฬาทุกประเภท-สวนสาธารณะเปิดได้ตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นบวกจากยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่มีผลการทดลองว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา Covid-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะสามารถนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 เป็นการเพิ่มความคาดหวังเชิงบวกที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยเป็นการรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด 2) ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนอกเหนือจากข้อ 1 จะต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) และอยู่ 7 วัน เมื่อครบแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้ 3) กรณีไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ ต้องกักตัว 7-10 วัน นอกจากนี้ มาตรการเคอร์ฟิวจะถูกยกเลิกในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ทำให้ส่งผลในเชิงบวกต่อกลุ่ม Re-Opening อย่างต่อเนื่อง และทำให้กลุ่มอิงการท่องเที่ยวฟื้นตัว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,623.43 จุดปรับตัวขึ้น 17.75 จุดหรือ +1.1% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ที่ราว 50 จุดเท่านั้น เนื่องจากการปรับตัวขึ้นกระจุกตัวในกลุ่มที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น กลุ่มพลังงานที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นแรง และกลุ่มธนาคารที่รายงานงบไตรมาส 3 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่วนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองได้ปรับเพิ่มขึ้นก่อนหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังคงรอปัจจัยสนับสนุนใหม่ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 3 ของภาค Real Sector ที่มีแนวโน้มออกมาไม่ดีนัก จากผลกระทบจากการ Lockdown ในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดันให้เกิดแรงขายทำกำไรหุ้นไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 6.1% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 4.2% และกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 3.9% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -6.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -3.5% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -1.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 5,855 ล้านบาท และ 15,886 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 18,063 ล้านบาทและ 3,678 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 18,582 ล้านบาท และ 101,242 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 59,005 ล้านบาทและ 60,819 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 3 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ICT และปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กันยายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -2.0% สู่ระดับ 1,605.68 จุด โดยปัจจัยภายนอกเป็นแรงกดดันตลาด ประกอบด้วยเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศจีน การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เกี่ยวกับ QE Tapering ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่กดดันตลาด คือ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ซึ่งบริษัท เอเวอร์แกรนด์ มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในเดือนนี้ ในวันที่ 23 กันยายน มูลค่า 83.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 29 กันยายน มูลค่า 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้ทั้ง 2 งวด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ส่งสัญญาณที่จะทยอยปรับลดวงเงินของโครงการ PEPP ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 โดย ECB มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2021 ขึ้นสู่ 5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2021 ปรับเพิ่มเป็น 2.2% ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ 1.7% ในปี 2022 และ 1.4% ในปี 2023 ขณะที่ผลการประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับลดวงเงิน QE ในไม่ช้า ขณะที่ Dot Plots แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิมในปี 2023 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดคาดการณ์ว่า FED จะประกาศ Tapering ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2021 และมีในผลเดือนธันวาคม 2021 และคาดว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2023 โดยปรับดอกเบี้ยขึ้นทุก ๆ 6 เดือน และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งต่อปี ในภาพรวม การทำ QE Tapering ไม่ได้มีสัญญาณเร่งตัว แต่ภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED ส่งสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสู่ระดับ 4% ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจัยทั้งหมดทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสู่ระดับ 94.3 จุดและ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.53% กดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกและทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากทวีปเอเชีย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น เห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม ให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินได้ ประกอบด้วย ร้านเสริมสวย ธุรกิจร้านนวด ร้านสปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ ขณะที่ร้านอาหารสามารถเล่นดนตรีได้ตามปกติ นอกจากนี้ ได้ปรับลดระยะเวลามาตรการเคอร์ฟิวลง เป็น ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ขณะที่ห้างสรรพสินค้าปรับเวลาเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงมีการต่อพรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% โดยย้ำว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว โดยมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย จากการกระจายวัคซีนและผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่เร็วกว่าคาด และคงการคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ระดับ 0.7% ขณะที่ปี 2022 ปรับกลับมาที่ระดับ 3.9% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 3.7%

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,605.68 ปรับตัวลง 33.07 จุดหรือ -2.0% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร 6.8% (โดยได้รับผลกระทบหลักจากการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของ SCB) กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ 1.6% และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.5% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -14.7% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -11.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์ นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,378 ล้านบาท 11,137 ล้านบาท และ 2,809 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 15,325 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 12,727 ล้านบาท และ 104,920 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,942 ล้านบาทและ 76,705 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิติดต่อเป็นเดือนที่ 2 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ICT ปิโตรเคมี แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – สิงหาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +7.7% สู่ระดับ 1,638.75 จุด เป็นการปรับตัวลงแรงในช่วงต้นเดือน จากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ของ FED และการระบาดของ COVID-19 ในประเทศ แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวขึ้นแรงจากการที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดต่อวัน ตัวเลขผู้หายป่วยรายวันที่เพิ่มมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน และการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

ในช่วงต้นเดือน SET Index ได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐอเมริกาเปิดเผย FOMC Minutes สำหรับการประชุมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) ในปีนี้ ซึ่งบางส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 สะท้อนมุมมองหลักของ FED ที่มีแผนจะประกาศ QE Tapering ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อจะได้มีผลในปีนี้ เร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะประกาศ QE Tapering เดือนธันวาคม 2564 และมีผลเดือนมกราคม 2565 จากมุมมองล่าสุดของ FED ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็ว กดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของประธาน FED ที่การประชุม Jackson Hole ไม่ Hawkish มากนัก โดยเผยว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับลดวงเงิน QE ก่อนสิ้นปีนี้จริง แต่การที่ FED จะปรับลด QE นั้น ไม่ได้หมายความว่า FED จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

การฟื้นตัวของ SET Index ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เกิดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันลดลงระดับลงสู่ 1.5 หมื่นราย/วัน ขณะที่ยอดผู้หายป่วยกลับบ้านสูงกว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มเติม ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) การใช้อาคารสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา (ยกเว้นฟิตเนส) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป เป็นผลทำให้ SET Index และหุ้นกลุ่ม Re-opening ปรับตัวขึ้นได้ดี โดยประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 31 สิงหาคม อยู่ที่ 1,161,200 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 568,424 คน ขณะที่ผู้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 974,418 คน มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัว 176,137 คน

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนสิงหาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,638.75 จุด ปรับตัวขึ้น 116.83 จุด หรือ +7.7% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 14% กลุ่มธนาคาร 13% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 11% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -0.8% กลุ่มการแพทย์ 1.8% กลุ่มยานยนต์ 2.8% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 18,730.28 ล้านบาท, 1,88.47 ล้านบาท และ 5,439.71 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 26,058.45 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 11,349.37 ล้านบาท และ 102,110.50 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 25,617.32 ล้านบาทและ 87,842.55 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิในเดือนนี้หลังจากขายสุทธิติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 เดือน โดยนักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ปิโตรเคมี และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และ ICT ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กรกฎาคม 2564

SET Index ปรับตัวลง -4.1% สู่ระดับ 1,521.92 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายในคือ ปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังกระทบจากปัจจัยภายนอก ในเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET เกิดจากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น หลังจากที่หลายประเทศเผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้สหรัฐฯ ประกาศให้ประชาชนกลับมาใส่หน้ากากอนามัยในบางรัฐฯ เช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรป เช่น สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ที่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มเร่งตัวอีกครั้ง และหลายประเทศในเอเชียที่สถานการณ์การแพร่ระบาดย่ำแย่อย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้แต่ละประเทศมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง หลังการประชุม OPEC+ ที่มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 รวมถึงเพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันให้กับบางประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ทำให้การผลิตน้ำมันขั้นต่ำของ OPEC+ เพิ่มขึ้นจาก 43.853 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 45.485 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงกว่า 10,000 รายต่อวันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม อยู่ที่ 568,424 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 230,438 คน ส่งผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องประกาศมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ดังนี้ 1) ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ห้าง (เปิดได้เพียงซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ร้านขายยา) สวนสาธารณะ ปิด 20.00 น. 2) ปิดร้านนวด คลินิก สปา 3) ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน 4) ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. 5) ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด พร้อมทั้งขยายระยะเวลาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักรถึง 30 กันยายน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ก่อให้เกิด Downside ต่อประมาณการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าการ Lockdown รอบนี้จะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ขณะที่การกระจายวัคซีนค่อนข้างล่าช้า โดย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 17.63% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 27.32% และทั่วโลกที่ 27.34% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 ปี มาอยู่ที่ระดับ 32.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างจำกัด เป็นอีกปัจจัยที่กดดัน SET

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,521.92 จุด ปรับตัวลง 65.87 จุดหรือ -4.1% จากสิ้นเดือนที่แล้ว โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการ Lockdown ล้วนแต่ปรับตัวลงหนักในเดือนนี้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3.2% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 1.9% กลุ่มการแพทย์ 1.0% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -9.9% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -8.7% กลุ่มธนาคาร -8.3% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,912.09 ล้านบาท และ 17,663.85 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,555.86 ล้านบาท และ 17,020.08 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 9,460.91 ล้านบาท และ 128,168.95 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 44,347.59 ล้านบาทและ 93,282.26 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่ม ICT แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง พลังงาน อสังหาริมทรัพย์และขนส่ง ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มิถุนายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.4% สู่ระดับ 1,587.79 จุด โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือ การประชุมของ FED ซึ่งส่งสัญญาณในการลดมาตรการ QE และปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าการคาดการณ์เดิม นอกจากนี้ยังกระทบจากปัจจัยภายใน เรื่องปัญหาการกระจายวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน

ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SET คือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น โดย Dot Plots หรือ ประมาณการของการปรับอัตราดอกเบี้ยของ FED แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FED ส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2567 โดยตลาดคาดการณ์ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ FED มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จึงปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 7.0% จากเดิมคาดที่ระดับ 6.5% และคง GDP ปี 2565 ที่ 3.3% นอกจากนี้ ประธาน FED แถลงหลังการประชุม เผยว่า FED ได้เริ่มหารือกันในการปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน และจะชัดเจนมากขึ้นในการประชุมครั้งถัด ๆ ไป ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดว่า FED จะเริ่ม Tapering ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากในการขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา FED ได้ทำการ Tapering เป็นเวลา 1 ปีก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ถูกกดดันจากปัญหาการจัดสรรวัคซีน โดยโครงการไทยร่วมใจของกรุงเทพมหานคร มีการหยุดฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน จากปัญหาด้านการจัดสรรวัคซีน ก่อนที่จะกลับมาฉีดอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนรายวันยังต่ำ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 9.9% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 23.73% และทั่วโลกที่ 23.50% ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 4-5 พันรายต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) ณ วันที่ 30 มิถุนายน อยู่ที่ 230,438 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 130,929 คน ส่งผลให้ภาครัฐฯ ประกาศมาตรการป้องกันเข้มงวด ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา รวมทั้งหมด 10 จังหวัด โดยสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ห้างสรรพสินค้าเปิดทำการได้ถึง 21:00 น. รวมถึงตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางข้ามจังหวัด มาตรการทั้งหมดมีผลตั้งแต่ 28 มิถุนายนถึง 27 กรกฎาคม 2564 ส่งผลกระทบทางลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและทำให้แผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ยังกดดันกลุ่ม Reopening และทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากการระบาดระลอกนี้เป็นการระบาดในวงกว้างและกินเวลานาน ทำให้การฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน Covid-19 ต้องเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2566 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ไตรมาส 3 ปี 2565

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมิถุนายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.79 จุด ปรับตัวลง 5.8 จุดหรือ -0.4% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มการแพทย์ 5.3% กลุ่มยานยนต์ 4.0% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 2.1% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -8.7% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -8.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ -5.6% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 4,378.43 ล้านบาท และ 9,824.98 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4,155.37 ล้านบาท และ 10,048.03 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6,548.82 ล้านบาท และ 110,505.11 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 40,792.74 ล้านบาทและ 76,262.18 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาฯ ICT ขนส่ง แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่ Performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – พฤษภาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +0.7% สู่ระดับ 1,593.59 จุด โดยในช่วงแรกของเดือนเกิดภาวะที่เรียกว่า Sell in May จากการที่ FED มีแนวโน้มจะปรับลดวงเงินในโครงการ QE ประกอบกับ GDP ของประเทศไทยถูกปรับลดการคาดการณ์ลง แต่พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจของไทย งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ดี และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตดี มีผลทำให้ SET ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของเดือน

ในช่วงครึ่งเดือนแรก SET เผชิญกับแรงเทขายหรือ Sell in May จากความเสี่ยงที่ FED จะปรับลดวงเงินในโครงการ QE (QE Tapering) หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 4.2%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 13 ปี ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและ US Bond Yield 10 ปีปรับตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่ง FOMC Minutes กล่าวว่า FED ได้มีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และกรรมการ FED ส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการ QE หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น และประชาชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูง (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนไปแล้ว 51% ขณะที่ประชากร 41% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม) ขณะที่ในเอเชียเผชิญกับความไม่แน่นอนหลังจาก Covid-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้งในหลายประเทศ ประกอบด้วยญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทำให้ Fund Flows ในทวีปเอเชียมีความผันผวน โดยเฉพาะในไทยที่ MSCI ประกาศลดน้ำหนักการลงทุนลง -0.1% สู่ระดับ 1.73% คิดเป็นเงินทุนไหลออก 341 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงสู่ระดับ 1.5-2.5% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.5-3.5% โดยเป็นการปรับลดเพื่อสะท้อนการระบาดรอบที่ 3 โดยประมาณการรอบนี้มีการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลงเหลือ 5 แสนคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.2 ล้านคน ทำให้มี Downside Risk ต่อหุ้นในกลุ่มท่าอากาศยาน ท่องเที่ยว บริการ และการบริโภค แต่การโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท (คิดเป็น 3.21% ของ GDP) เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจไทย ถือเป็น Positive Surprise โดยคาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ในปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยเพิ่ม GDP ปี 2564 ได้ราว 0.71% แต่เมื่อรวมพ.ร.ก.กู้เงินนี้กับงบประมาณขาดดุลปี 2565 จะส่งผลให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ของ GDP สู่ระดับ 65.51% ของ GDP ณ สิ้น 2565 ทั้งนี้ แม้จะมีการออกพ.ร.ก.กู้เงินใหม่ แต่หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้และการกระจายฉีดวัคซีนที่ล่าช้า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับ Pre-Covid ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 3.6% ของประชากร ขณะที่ประชากรเพียง 1.6% ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 5.9% และทั่วโลกที่ 10.8% แม้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนใน SET เพิ่มขึ้น 130%YoY และ 45%QoQ โดยมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 2.66 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่ปรับตัวขึ้นจากยอดขายที่ขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมียังได้อานิสงส์จากส่วนต่างผลิตภัณฑ์ที่กว้างขึ้น กลุ่มประกันฯ ปรับตัวได้ดีจากเบี้ยประกันภัยที่ฟื้นตัว และอัตรากําไรจากการรับประกันภัยปรับตัวขึ้น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ปรับตัวขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และกระแส EV ขณะที่กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีพลิกมามีกำไร YoY หลังจาก 1Q63 ขาดทุนสต็อก และราคาผลิตภัณฑ์รวมทั้งปริมาณขายลดลงเป็นอย่างมาก ในทางตรงข้าม กลุ่มที่มีกำไรสุทธิหดตัวทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการ Lockdown บางส่วน คือ กลุ่มค้าปลีก จากยอดขายสาขาเดิมหดตัว กลุ่มการแพทย์ จากจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่ม ICT ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะที่กลุ่มโรงแรมและกลุ่มขนส่ง มีผลขาดทุนในไตรมาสนี้ จากการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวและการเดินทางต้องถูกระงับชั่วคราว

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,593.59 จุด ปรับตัวขึ้น 10.46 จุดหรือ 0.7% จากสิ้นเดือนเมษายน 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 49.6% กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 16.4% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 7.4% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธนาคาร -8.3% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.7% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -4.5% ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 362.22 ล้านบาท และ 34,132.08 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1,308.68 ล้านบาท และ 33,185.62 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,170.39 ล้านบาทและ 100,680.13 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,636.36 และ 66,214.15 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มหลักทั้งหมด ได้แก่ ธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ ICT ค้าปลีก ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – เมษายน 2564

SET Index ปรับตัวลง -0.3% สู่ระดับ 1,583.13 จุด เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ (Third Wave) ในประเทศไทย ขณะที่งบการเงินของหุ้นในกลุ่มธนาคารออกมาดีและปัจจัยภายนอกมีสัญญาณบวกจาก Global Indicators ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง

ปัจจัยภายนอกมีสัญญาณบวกจาก Global Indicators ที่ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ทั้ง US Bond Yield 10 ปี ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.63% ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 หลังจากปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ระดับ 1.74% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวอ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 เดือน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทยแม้ว่างบการเงินไตรมาส 1 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธนาคารจะออกมาดี จากการตั้งสํารองและงบลงทุนที่ลดลงช่วยชดเชยการชะลอการเติบโตของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ประเด็นภายในประเทศที่กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง คือ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ (Third Wave) ของไวรัส COVID-19 ซึ่งเริ่มแพร่กระจายจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ จากนั้นได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง และใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ประกาศปิด 31 สถานที่เสี่ยงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในการระบาดรอบนี้สูงกว่าการระบาดรอบแรกและรอบที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดเกือบ 3,000 รายต่อวัน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่โรงพยาบาลจะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้ ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากวัคซีนที่ไทยจะได้รับส่วนใหญ่จะอยู่ในครึ่งหลังของปี โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 1.6% ของประชากร ต่ำกว่าทวีปเอเชียที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.3% และทั่วโลกที่ 7.7% โดยจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเร็วในการฉีดวัคซีนด้วย ทั้งนี้ จากการเกิด Third Wave ในประเทศไทยอาจส่งผลให้มีการปรับลดประมาณการณ์ GDP ลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3% เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยทำให้แผนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าลงไปอีก

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ปิดที่ 1,583.13 จุด ปรับตัวลง 4.08 จุดหรือ 0.3% จากสิ้นเดือนมีนาคม 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 15.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 15.6% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 7.3% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ -7.8% กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -7.7% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -7.5% ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 17,987.86 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 14,232.63 ล้านบาท 396.08 ล้านบาท และ 3,359.14 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,479.07 ล้านบาท และ 66,548.05 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 36,998.59 ล้านบาท และ 33,028.53 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มปิโตรเคมีฯ แต่ลดการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ และขนส่ง

ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มีนาคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +6% สู่ระดับ 1,587.21 จุด เนื่องจากการที่ประธานาธิบดี Joe Biden ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ตลาดพันธบัตรผันผวนจาก US Bond Yield 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19

ประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ US Bond Yield 10 ปี ปรับตัวอย่างรวดเร็วขึ้นสู่ระดับ 1.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 เดือน ทำให้เกิด Sector Rotation ขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีการขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม High PER High Growth และเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มที่อิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Low PER นอกจากนี้การที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า FED จะยุติการใช้มาตรการผ่อนคลาย แต่ FED ยังยืนยันว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงปี 2023 โดย FED ประเมินว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเพียงการเร่งตัวชั่วคราวและ FED จะใช้มาตรการผ่อนคลายต่อไป และซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน เช่นเดียวกับแนวโน้มที่ Dovish จาก ECB ที่ส่งสัญญาณว่ามีความพร้อมในการเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์ (Weekly Purchase) ในกรณีที่ตลาดพันธบัตรมีความผันผวน ซึ่งการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายของทั้ง FED และ ECB ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ในส่วนของราคาน้ำมัน จากการประชุม OPEC+ มีมติเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบเพียง 150,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับซาอุดิอาระเบียสมัครใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วันต่อเนื่องอีก 1 เดือน ขณะที่ฝั่ง Demand มีสัญญาณฟื้นตัวได้ดี เห็นได้จากการที่จีนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น +4.1%YoY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ก่อนที่จะปรับตัวลงหลังจากยุโรปประกาศใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สีส้ม จากเดิมเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากนี้ยังมีมติลดเวลากักตัวสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งในกรณีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ลงเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ ยังคงต้องกักตัว 14 วันตามเดิม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทั้งโครงการทัวร์เที่ยวไทยและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รวมถึงพิจารณาการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีสัญญาณที่ดีขึ้น

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมีนาคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,587.21 จุดปรับตัวขึ้น 90.43 จุดหรือ 6% จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง 24.0% กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 18.7% กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ 13.3% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -18.7% กลุ่มธุรกิจการเกษตร -6.5% กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต 3.3%  ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีหลักทรัพย์ซื้อหุ้นไทยสุทธิ 7,303.24 และ 2,373.88 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายหุ้นไทยสุทธิ 68.37 ล้านบาท และ 9,608.74 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 3,875.15 และ 48,560.19 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 22,765.95 ล้านบาท และ 29,669.39 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ICT ค้าปลีก ปิโตรเคมี และขนส่ง ขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี MSCI Thailand ดีกว่า MSCI APAC ex.

ภาวะตลาดหุ้นไทย – กุมภาพันธ์ 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +2% สู่ระดับ 1,496.78 จุด เนื่องจากการเร่งกระจายวัคซีน COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ และการประกาศ GDP ไตรมาส 4 ปี 2563 ของประเทศไทยที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

ในสหรัฐฯ และยุโรปมีการเร่งกระจายวัคซีนและฉีดให้แก่ประชาชนในวงกว้าง เช่น ในประเทศอังกฤษ ประชากร 20 ล้านคนหรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก และประชากรกว่า 8 แสนคนได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่สองเรียบร้อยแล้ว ถือว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มีการกระจายวัคซีนได้ดีที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ประชากรกว่า 50 ล้านคนหรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก และประชากรกว่า 25 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่สองเรียบร้อยแล้ว โดยการเร่งฉีดวัคซีน COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นการสร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ตลาดยังคงมีแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ารุนแรง และทำจุดสูงสุดที่ 91.6 จุด ทำให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเริ่มพักฐาน ก่อนปรับตัวลงหลังจาก US Bond Yield 10 ปี ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 1.07% ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ที่ระดับ 1.41% ในช่วงสิ้นเดือน การปรับตัวของ Bond Yield อย่างรวดเร็วเกิดจากความคาดหวังเชิงบวกต่ออัตราเงินเฟ้อที่ถูกขับเคลื่อนด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ตลาดมีความกังวลว่า FED จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ส่งผลให้เกิด Sector Rotation โดยเงินลงทุนไหลออกจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี PE สูงและการเติบโตสูง เข้าสู่กลุ่มพลังงาน ธนาคาร อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องการยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ FED หลังประธาน FED ยืนยันว่าจะตรึงดอกเบี้ยต่ำไปอีกเป็นเวลานาน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทย ได้มีการรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ที่ -4.2%YoY ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยปี 2563 หดตัว -6.1% โดยภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร การส่งออกสามารถฟื้นตัวได้ดี และเห็นสัญญาณการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว แม้จะเกิดการระบาดของ COVID-19 รอบสองในเดือนธันวาคม 2563 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการปรับลดประมาณการคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงสู่ระดับ 2.5-3.5% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 3.5-4.5% เพื่อสะท้อนผลกระทบของการระบาดรอบ 2 ของ COVID-19 แต่ประเมินผลกระทบไม่รุนแรงเท่าการระบาดในรอบแรก ขณะที่ประเด็นสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการกระจายวัคซีน โดยยังคงย้ำถึงความจำเป็นของมาตรการภาครัฐฯ ในส่วนของการควบคุมโรคระบาด COVID-19 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่มีมติคลาย Lockdown ตามศบค.ชุดเล็ก โดย จังหวัดสมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่สีแดง ที่ยังคงเข้มงวดกับร้านอาหารและปิดสถานบันเทิง แต่สำหรับพื้นที่สีส้มลดลงเหลือ 8 จังหวัด จากเดิม 20 จังหวัด เหลือเพียง กทม. สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี โดยผ่อนคลายร้านอาหารให้ดื่มสุราในร้านได้ และเปิดสถานบันเทิง โดยดื่มสุราและแสดงดนตรีสดได้ไม่เกิน 5 ทุ่มและงดเต้นรำ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินต่อได้ เพิ่มความคาดหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 SET Index ปิดที่ 1,496.78 จุดปรับตัวขึ้น 29.82 จุดหรือ 2% จากสิ้นเดือนมกราคม 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเกษตร 42.7% กลุ่มธุรกิจการการท่องเที่ยวและสันทนาการ 17.3% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 9.7% ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ -20.4% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร -1.3% กลุ่มการแพทย์ -1.2% ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้  บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 2,442.08 และ 30,300.43 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 14,044.44 ล้านบาท และ 18,698.06 ล้านบาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 บัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,501.27 และ 58,168.93 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 30,069.19 ล้านบาท และ 29,601.02 ล้านบาท ตามลำดับ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน อสังหาฯ ค้าปลีก ปิโตรเคมีฯ และขนส่ง แต่ลดการถือครองในกลุ่ม ICT

ภาวะตลาดหุ้นไทย – มกราคม 2564

SET Index ปรับตัวขึ้น +1.2% สู่ระดับ 1,466.98 จุดเนื่องจากผลการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกในสหรัฐฯและการประกาศงบการเงินไตรมาส 4 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยแต่การระบาดของไวรัส COVID-19 รอบ 2 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยรวมถึงระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงในปี 2563 และการหดตัวของดัชนี MPI เดือนธันวาคม 2563 ของประเทศไทยยังเป็นปัจจัยที่น่ากังวลนอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำ

พรรค Democrat ได้รับชัยชนะทั้ง 2 ที่นั่งในการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกในรัฐ Georgia ของสหรัฐฯทำให้พรรค Democrat ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและครองเสียงกึ่งหนึ่งในวุฒิสภา (รองประธานาธิบดีจะเป็นผู้ชี้ขาดกรณีเสียงโหวตเท่ากัน) ทำให้เกิด Blue Wave อ่อนๆและเพิ่มความคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯแต่มาตรการนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาเนื่องจากต้องใช้เสียงสนับสนุนขั้นต่ำ 60 เสียงจึงต้องใช้เสียงสนับสุนนจากสว.ของพรรค Republican ประกอบด้วยนอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาสส.บางรายของพรรค Democrat เริ่มแสดงความกังวลต่อวงเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะสูงเกินไปทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องวงเงินและความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้มีเงินลงทุนเริ่มเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเห็นได้จาก US Bond Yield 10 ปีลดลงต่อเนื่องสู่ 1% และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าสู่ 90.7 จุดซึ่งเป็นกดดันทำให้ Fund Flows ในเอเชียมีความผันผวนในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการตรวจหาโรคเชิงรุกนอกจากนี้หนี้ครัวเรือนปี 2020 อยู่ที่ระดับ 4.8 แสนบาท/ครัวเรือนหรือขยายตัว 42% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีและดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคมหดตัว -2.44%YoY ทำให้ทั้งปี 2020 ดัชนี MPI หดตัวถึง -8.8% บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างไรก็ตามรัฐบาลเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อย่างค่อยเป็นค่อยไปในบางจังหวัดที่เริ่มควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินได้นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงกดดันจากการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังทบทวนหลักเกณฑ์ในการคำนวณดัชนีเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำโดยจะปรับจากเกณฑ์การใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณ (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) คาดว่าจะทำให้ดัชนี SET50 และ SET100 ผันผวนเชิงลบก่อนวันที่มีผลบังคับใช้

ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาราคาหุ้น GameStop เป็นร้านขายวิดีโอเกมส์ซึ่งจดทะเบียนอยู่ใน New York Stock Exchange (NYSE) ปรับตัวขึ้นเกือบ 900% ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์การปรับตัวขึ้นของหุ้น GameStop เกิดจากการที่นักลงทุนรายย่อยเห็นว่ากองทุนมีการทำ Short Sell ในหุ้น GameStop ในสัดส่วนที่สูงมากจึงเห็นโอกาสในการทำกำไรจึงเข้าซื้อหุ้นและ Stock Options ของหุ้น GameStop จากการได้รับการชักชวนจากเว็บบอร์ด WallStreetBets จนราคาหุ้น GameStop ปรับตัวสูงขึ้นขัดกับปัจจัยพื้นฐานและทำให้หองทุนที่ทำ Short Sell ไว้ต้องเข้าซื้อหุ้น GameStop เพื่อนำไปส่งมอบและตัดขาดทุนรวมทั้งต้องมีการขายหุ้นบริษัทอื่นเพื่อเอาผลกำไรไปกลบขาดทุนที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนในระยะสั้นอย่างไรก็ตามด้วยปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากทำให้ค่า PER ที่เหมาะสมของตลาดถูกปรับขึ้นสูงกว่าในอดีตรวมทั้งการพัฒนาวัคซีนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทำให้แม้ตลาดหุ้นจะถูกกดดันจากปัจจัยลบระยะสั้นแต่ในระยะกลางคาดว่าตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้

สรุปภาวะตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคม 2564 SET Index ปิดที่ 1,466.96 จุดปรับตัวขึ้น 17.61 จุดหรือ 1.2% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ในเดือนมกราคม 2564 กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการประกาศงบการเงินโดยกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2563 ของกลุ่มฯลดลง 25% YoY แต่เพิ่มขึ้น 8% QoQ ส่งผลให้ในปี 2563 กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารลดลง 32% โดยคาดว่าผลประกอบการของธนาคารส่วนใหญ่ผ่านจุดตํ่าสุดไปแล้วในปี 2563 หลังจากตั้งสํารองเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่ม LLR coverage นอกจากนี้ Credit Cost ได้ทําจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2563 โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นมากกว่าตลาดในเดือนมกราคม 2564โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 11.9% กลุ่มธุรกิจการเกษตร 6.0% กลุ่มยานยนต์ 5.8%ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (รวมเงินปันผล) ได้แก่กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง -2.6% กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ -2.2% กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -1.5% ซึ่งในเดือนมกราคมนี้นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อหุ้นไทยสุทธิ 27,868.51 ล้านบาทขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศบัญชีหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 16,024.75 ล้านบาท 904.81 ล้านบาทและ 10,902.95 ล้านบาทตามลำดับนักลงทุนต่างชาติมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์พลังงานและวัสดุก่อสร้างแต่ลดการถือครองในกลุ่ม ICT ค้าปลีกปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์และขนส่งและโลจิสติกส์