ภาวะตลาดหุ้นไทย (29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index มีความผันผวนมากขึ้น จากการปรับ Portfolio การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงสิ้นเดือนตามการปรับน้ำหนักของดัชนี MSCI ที่ทำให้ SET Index ปรับตัวลงแรงในวันทำการสุดท้ายของเดือน ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเริ่มเดือนใหม่ นำโดยแรงซื้อในหุ้น AOT ที่มีแนวโน้มเติบโตดีจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประชุม ครม. ที่มีการอนุมัติการจัดตั้ง Thailand Future Fund ที่คาดว่าจะเสนอขายนักลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ และการอนุมัติการเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู โดยคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 16 มิ.ย.

ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังผลิตของน้ำมันของสหรัฐฯ สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.95 ต่อบาร์เรล ปรับลดลง 4.30% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวก มีการซื้อสุทธิที่ 4.9 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,567.60 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.67 จุด หรือ 0.11%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบ นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดีเป็นตัว ๆ มากขึ้น ในขณะที่ในสัปดาห์นี้มีปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามหลายประเด็น เช่น การเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ ที่จะส่งผลต่อความคืบหน้าและความรวดเร็วของกระบวนการ Brexit การประชุม ECB ที่อาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการผ่อนคลายทางการเงิน และการให้ข้อมูลประเด็นทรัมป์-รัสเวียของอดีต ผอ.FBI ต่อที่ประชุมวุฒิสภาของสหรัฐฯ

ภาวะตลาดหุ้นไทย (22 – 26 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สี่ของเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ปิดที่ 1,569.27 จุด โดยได้รับผลบวกจาก Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการ Rebalance Portfolio ของนักลงทุนในประเทศหลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย เติบโต 8.5% YoY โดยสินค้าหลักยังคงมาจากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นและความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และการประชุมของ กนง. ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สำหรับปัจจัยต่างประเทศนั้น ผลการประชุมของ Fed มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป ทำให้ Bloomberg Consensus ปรับขึ้นความน่าจะเป็นกลับมาอยู่ในระดับ 100% จากที่เคยลดลงในระดับ 85% จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเด็นที่ FBI เข้าตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับรัสเซีย ในกรณีที่มีข่าวว่ารัสเซียช่วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี นอกจากนี้ Fed ยังได้หารือเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุลของ Fed จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ $4.5 ล้านล้าน ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบจากการวางระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏฯและการก่อการร้ายในอีกหลายประเทศ

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากการประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่มีมติขยายการลดกำลังการผลิตต่อไปอีก 9 เดือน ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ทำให้มีการขายทำกำไรจากที่เคยเข้ามาเก็งกำไรก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI จึงปรับตัวลงไปต่ำกว่า $50 ต่อบาร์เรลอีกครั้ง สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.80 ต่อบาร์เรลปรับลดลง 1.05% WoW

ทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นบวก มีการซื้อสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,569.27 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19.63 จุด หรือ 1.27%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวช่วงแคบหลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตดีเป็นตัว ๆ มากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ นักลงทุนจะเริ่มให้ความสนใจการเลือกตั้งในอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน หลังจากผลสำรวจที่ล่าสุด พรรค Conservative ของนาง Theresa May ได้รับความนิยมลดลง ซึ่งสวนทางกับความนิยมของพรรค Labour ของนาย Jeremy Corbyn ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของ Bloomberg Online Poll Tracker พรรค Conservative ยังมีคะแนนความนิยมนำห่างพรรค Labour 44% ต่อ 36%

ภาวะตลาดหุ้นไทย (15 – 19 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม SET Index ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นและความมั่นใจของนักลงทุนจากการประกาศ GDP ไตรมาส 1/2560 ออกมาดีกว่าคาด โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ ปิดที่ $50.33 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 5.20% เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดเผยตัวเลขรายสัปดาห์ของ Department of Energy (DOE) ของสหรัฐฯ ที่ปริมาณน้ำมันดิบสำรองยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 และเก็งกำไรก่อนการประชุม OPEC ว่า OPEC จะต่ออายุมาตรการการลดกำลังการผลิตของกลุ่มออกไปถึงเดือนมีนาคม 2561 และการที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเหลือระดับ $50 ต่อบาร์เรลได้ ทำให้มีเงินไหลเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานมากขึ้น ในขณะที่การประการตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่มีการเติบโต 3.3% YoY ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และทำให้มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 1 ได้แรงสนับสนุนจากภาคส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัวดี โดย -1.1% YoY

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศนั้น จากการที่เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธเป็นครั้งที่ 8 ในรอบปี ซึ่งครั้งนี้ขีปนาวุธตกบริเวณน่านน้ำของญี่ปุ่น ทำให้ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเมืองในสหรัฐฯก็มีความตึงเครียดมากขึ้น จากข่าวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจถูกรัฐสภาลงมติถอดถอน ในกรณีที่ทรัมป์ปลด ผอ. FBI ที่เข้าสอบสวนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับรัสเซียในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยไม่ตอบรับต่อผลดังกล่าว

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,549.64 จุด ปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.70 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index คาดว่า SET Index จะมีการแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกหรือลบที่ชัดเจนเข้ามากระทบตลาด ทั้งนี้ ในวันที่ 24 พฤษภาคม จะมีการประชุมของ กนง. ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม

ภาวะตลาดหุ้นไทย (8 – 12 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม SET Index มีการแกว่งตัวลงและลดลงต่ำกว่า 1,550 จุด โดยสิ้นสัปดาห์ปิดที่ 1,543.94 จุด ปัจจัยหลักมาจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ของบริษัทในกลุ่มของ Mid–Small cap ที่ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ รวมถึงการ Sell on fact ในบริษัทที่ประกาศผลประกอบการดีที่มีการเก็งกำไรก่อนหน้า ทำให้ดัชนี sSET และ MAI ปรับตัวลงแรงกว่า -4.41% และ -4.94% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแรงขายในหุ้นกลุ่มน้ำมันที่ถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI แกว่งตัวอยู่ในระดับ $45 - 47 ต่อบาร์เรล และหุ้นกลุ่มถ่านหินที่มีแรงขายจากการที่ราคาถ่านหินปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นเดือน โดยราคาถ่านหินที่ท่าเรือ Newcastle ปิดที่ $72.40 ต่อตัน ลงลดกว่า 9% จากต้นเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากมีข่าวว่า OPEC และรัสเซียพร้อมที่จะขยายเวลาลดกำลังผลิตต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2560 ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $47.84 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.5% WoW

Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเป็น Net Buy ที่ 4.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,543.94 จุด ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 25.08 จุด หรือ -1.60%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index ยังมีแนวโน้มอ่อนตัว จากแรงขายทำกำไรหลังการประกอบผลประกอบการไตรมาสที่ 1 และการปรับ Portfolio ของกองทุน อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสัปดาห์จะมีการประกาศ GDP ใน 1Q60 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนตลาดได้ในระยะสั้น จากมุมมองส่วนใหญ่ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่า GDP จะเติบโตขึ้นประมาณ 3.0% – 3.3% และการที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวขึ้น อาจจะส่งผลให้มีการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงานก่อนการประชุมของกลุ่ม OPEC ในปลายเดือนนี้

ภาวะตลาดหุ้นไทย (2 – 5 พฤษภาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม แกว่งตัวขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 1,563 – 1,574 จุด เป็นสัปดาห์ที่สามของการประกาศงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1 กำไรที่ออกมานั้นโดยส่วนใหญ่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ พร้อมทั้งในช่วงกลางสัปดาห์ กระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อผลักดันการขยายตัวของ GDP โดยเน้นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม SET Index ยังถูกกดดันโดยหุ้นกลุ่มพลังงานจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมัน WTI ปิดที่ $46.22 ต่อบาร์เรล (-6.3% WoW) จากแรงกดดันของการเปิดเผยตัวเลขสต๊อก น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ การประชุม FOMC ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามที่นักวิเคราะห์คาด ทำให้นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์ ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นเป็น 90% FOMC กล่าวถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจใน US ว่าเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

ภาวะตลาดหุ้นไทย (24 – 28 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนมีการปรับตัวลงสวนทางกับตลาดโลก ซึ่งเกิดจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเป็นการ Sell on fact หลังจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่ประกาศออกมาจะใกล้เคียงหรือดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่ราคาน้ำมันที่ยังไม่สามารถกลับมายืนเหนือ $50 ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.33 ต่อบาร์เรล ลงลด 0.58% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลิตนํ้ามันที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ รวมทั้งรายงานข่าวที่บ่อนํ้ามันขนาดใหญ่ของลิเบีย ได้เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานยอดส่งออกในช่วงเดือนมีนาคมมีการขยายตัว 9.2% จากการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัจจัยต่างประเทศที่เกิดการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเมืองในฝรั่งเศสในช่วงต้นสัปดาห์ที่นาย Emmanuel Macron ได้ชนะในการเลือกตั้งรอบแรก และมีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่งช่วยให้ลดความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสจะออกจาก EU ลง

Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 3.6 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,566.32 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.70 จุด หรือ -0.24%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวขึ้นได้ หากผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และการที่เม็ดเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เมื่อปัจจัยกดดันจากต่างประเทศในประเด็นการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ภาวะตลาดหุ้นไทย (17 – 21 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายน หลังจากการหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ SET Index ปรับตัวลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น SET Index ถูกแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศมาจากปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ที่ทำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นออกมาในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายหุ้นไทยในต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงกลางสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ ประกาศยุบสภาฯ และกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 8 มิถุนายน โดยคาดหวังว่าหากเธอได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคของเธอได้รับการเลือกตั้งเข้าสภามากขึ้น จะทำให้ได้รับแรงสนับสนุนจากสภามากกว่าที่ผ่านมาในการนำอังกฤษออกจาก EU ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่แม้ว่าจะประกาศออกมาใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่จากการที่ธนาคารขนาดใหญ่ยังมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ ทำให้ความกังวลในเรื่องของ NPL ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งมีการ Sell on fact ออกมาบางส่วนจากที่นักลงทุนได้เข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพื่อเก็งกำไรผลประกอบการก่อนหน้านี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Fund Flow ของนักลงทุนต่างประเทศได้ไหลกลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาค แต่ตลาดหุ้นไทย Fund Flow ของนักลงทุนต่างประเทศเป็นยอดขายสุทธิที่ 4.2 พันล้านบาท

ราคาน้ำมันปรับตัวลดตลอดทั้งสัปดาห์ โดยแกว่งตัวอยู่ในระดับ $49 – $52 ต่อบาร์เรล หลังจากการประกาศตัวเลขสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐที่ยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งความไม่มั่นใจใน OPEC ที่จะคงการลดกำลังผลิตหลังเดือนมิถุนายน ซึ่งในภาพระยะยาวแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะแกว่งตัวในระดับ $50 – $55 ต่อบาร์เรล สิ้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $49.62 ต่อบาร์เรล ลดลง -4.64% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,570.02 จุด ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 19.48 จุด หรือ -1.23%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสฟื้นตัวได้ จากการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1 และการที่เม็ดเงินลงทุนไหลกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เมื่อปัจจัยกดดันจากต่างประเทศในประเด็นการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเริ่มลดลง เนื่องจากมีแนวโน้มที่นาย Macron จะชนะนาง Le Pen ในการเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการที่ฝรั่งเศสจะออกจาก EU หายไป

ภาวะตลาดหุ้นไทย (10 – 12 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน SET Index มีการแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1,577-1,589 จุด โดยตลาดหุ้นยังได้รับผลดีจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุน หลังจากความผิดหวังในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำให้มีการขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในขณะที่นักลงทุนในประเทศเริ่มมีการชะลอการลงทุน เนื่องจากอยู่ในช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มูลค่าการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างเบาบาง ทั้งนี้ เงินลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูงและการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่คาดว่าจะออกมาดี โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเริ่มประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 หลังเทศกาลสงกรานต์ ตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ และการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งผลสำรวจยังพบว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครลำดับ 1-4 ยังค่อนข้างใกล้เคียงกัน และมีผู้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ใครมากถึง 50%

ราคาน้ำมันดิบ WTI ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ปิดที่ $53.18/บาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 หลังจากปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 533.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งช่วยสนับสนุนให้มีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มพลังงานทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,589.50 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.97 จุด หรือ 0.37%

มุมมองตลาดระยะสั้น คาดว่า SET Index ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยมีปัจจัยกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและการเลือกตั้งในฝรั่งเศส รวมทั้งการที่ SET Index ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับแนวต้านจิตวิทยาที่ 1,600 จุด ทำให้นักลงทุนในประเทศชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย คาดว่า SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาด Emerging Market ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย และแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มเติบโตสูงขึ้น ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นได้

ภาวะตลาดหุ้นไทย (3 – 7 เมษายน 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน SET Index แกว่งในช่วงแคบ 1,575 – 1,586 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เริ่มเบาบางลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลวันหยุดเดือนเมษายน SET Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $52.24 ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้น 3.24% WoW โดยได้อานิสงส์จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่คาดการณ์การขยายเวลาการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non OPEC ถึงสิ้นปี 2560 และจากคาดการณ์การประกาศตัวเลขน้ำมันคงคลังในสหรัฐที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล Driving Season ที่ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของ SET Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดาจากการขึ้น XD ของหุ้น Big Cap (SCC, INTUCH, ADVANC และ KBANK) และความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบในสินค้าที่ส่งออกแบ่งเป็น 3 จำพวก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอาหารแช่แข็ง แต่จากความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่าผลกระทบจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการผลิตสินค้าจากประเทศไทยนั้นเป็นส่วนของการผลิตขั้นต้นถึงขั้นกลาง

ในส่วนของ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็น Net Buy ตลอดทั้งสัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2.1 พันล้านบาท

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,583.53 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีแนวโน้มจะแกว่งตัวช่วงแคบ เนื่องจากเทศกาลหยุดยาวที่ทำให้นักลงทุนในประเทศส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม SET Index ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ หากมี Fund Flow ไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากความผิดหวังต่อความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ และการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2517 โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินที่คาดว่าจะออกมาดี ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของตลาดในระยะสั้นได้แก่ การเลือกตั้งในฝรั่งเศส และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จากการเคลื่อนกองเรือของสหรัฐฯเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิคตะวันตกใกล้คาบสมุทรเกาหลี

ภาวะตลาดหุ้นไทย (27 – 30 มีนาคม 2560)

ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม SET Index ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของ SET Index ยังคงเป็น Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ (American Health Care Act) ที่ต้องการนำมาใช้แทนกฎหมาย Obama Care ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจอื่น ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะสามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมาตรการปฏิรูปภาษี ทำให้นักลงทุนมีการย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ที่ประชุม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ขึ้นไปที่ 3.4% จาก 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่ม PTT ที่เคยเป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลในการจัดการธุรกิจน้ำมันของชาติ

ราคาน้ำมันดิบ WTI สิ้นสัปดาห์สามารถกลับมายืนเหนือระดับ $50 ต่อบาร์เรลได้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงไปแกว่งตัวที่ $47–$48 ต่อบาร์เรลในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับตัวขึ้นนั้นมาจากประเทศผู้ผลิตหลายรายได้ออกมาสนับสนุนการขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิต ทำให้สิ้นสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ $50.60 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5.48% WoW

สิ้นสัปดาห์ SET Index ปิดที่ 1,575.11 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.80%

มุมมองตลาดระยะสั้น SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ จาก Fund Flow ที่มีโอกาสไหลกลับมายังตลาด Emerging Market จากการที่นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2560 ที่จะเริ่มทยอยออกมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ตลาดผันผวนยังเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ โดยในสัปดาห์นี้ จะเริ่มมีการเจรจา Brexit ของอังกฤษและ EU และในปลายเดือนเมษายนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส